1/1 Close

หน้าแรก >[04] กสิกรรม > วังน้ำเขียว > ที่ตั้งสำนักงาน-ประวัติ บุคลากร ระเบียบ กิจกรรม องค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์

 

 

 

การขยายเชื้อภูมินทรีย์
การทำปุ๋ยคอก
ประโยชน์ของปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์
ในการเกษตร
ประโยชน์ของปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์
ในครัวเรือน
การทำปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยแห้ง)
ยาไล่แมลง
การประยุกต์ใช้ในนาข้าว
การทำฮอร์โมนพืช (สารเร่ง)
น้ำหมักจากพืชสีเขียว
ปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์

ปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์

การขยายเชื้อภูมินทรีย์

น้ำภูมินทรีย์ที่ได้จากการหมักมีความเข้มข้นสูง สามารถนำไปขยายเชื้อเพื่อเพิ่มปริมาณก่อนนำไปใช้ได้โดยวิธีการดังนี้

ส่วนผสม

  • น้ำภูมินทรีย์ จำนวน 1 ส่วน
  • กากน้ำตาล จำนวน 1 ส่วน
  • น้ำสะอาด จำนวน 8 ส่วน

วิธีขยาย

นำส่วนผสมทั้งสาม ผสมให้เข้ากันในภาชนะทิ้งไว้ 7-10 วัน นำไปใช้ได้ต่อ
(ไม่ควรขยายเกิน 10 ครั้ง)

การทำปุ๋ยคอก

ปุ๋ยคอกหมักจากมูลสัตว์ ถ้านำมาโดยตรงอาจมีโรคและแมลงศัตรูพืช
จึงควรหมักเสียก่อน

ส่วนผสม

  • รำอ่อน 1 ปี๊บ
  • แกลบเผา ,มูลสัตว์ อย่างละ 10 ปี๊บ
  • ปุ๋ยภูมินทรีย์และกากน้ำตาล อย่างละ 2 ช้อนแกง
  • น้ำ 10 ลิตร

วิธีผสม

  • ผสมมูลสัตว์ แกลบเผา และรำละเอียดเข้าด้วยกัน
  • นำปุ๋ยภูมินทรีย์ และกากน้ำตาล ผสมในน้ำ รดกองปุ๋ยให้ทั่วให้มีความชื้น
    ในระดับเดียวกับการทำปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยแห้ง)
  • เกลี่ยกองปุ๋ยบนพื้นให้หนาไม่เกิน 15 ซม. คลุมด้วยกระสอบป่าน ทิ้งไว้นาน
    3-5 วัน โดยไม่กลับกองปุ๋ย เมื่อปุ๋ยเย็นลงนำมาใช้ได้

ประโยชน์ของปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์ในการเกษตร

  • ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด – ด่าง ในดินและน้ำ
  • ช่วยแก้ปัญหาจากศัตรูพืชและโรคระบาดต่างๆ
  • ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำ และให้อากาศอย่างเหมาะสม
  • ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้เป็นอาหารแก่พืช พืชสามารถ
    ดูดซึมไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนการใช้ปุ๋ยเคมี
  • ช่วยสร้างโฮโมนพืช พืชจะให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี และคงทนสามารถ
    เก็บได้นาน
  • ช่วยกำจัดน้ำเสียภายในฟาร์ม ได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์
  • ช่วยป้องกันอหิวาห์และโรคระบาดต่างๆ ในสัตว์ แทนการใช้ยาปฏิชีวนะ
    และอื่นๆ ได้
  • ช่วยกำจัดแมลงวันโดยการตัดวงจรชีวิตของหนอนแมลงวัน ไม่ให้เข้าดักแด้
    เป็นตัวแมลงวัน
  • ช่วยเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์แข็งแรงมีความต้านทานโรค
    ให้ผลผลิตสูง อัตราตายต่ำ
  • ช่วยรักษาสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้สะอาดนานกว่าปกติ โดยช่วยย่อยสลาย
    มูล และ อาหารที่เหลือกินของสัตว์น้ำ พร้อมสร้างแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารเสริม
    ของสัตว์เลี้ยง

ประโยชน์ของปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์ในครัวเรือน

นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ในการเกษตรแล้ว เรายังสามารถนำภูมินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้คือ

  • ราดส้วมที่มีกลิ่นเหม็น จะช่วยเร่งการย่อยสลายกากอาหารทำให้หมดกลิ่นเหม็น
  • ราดท่อระบายน้ำอ่างล้างจาน เพื่อย่อยสลายคราบไขมันและกลิ่นบูดเน่า
  • นำภูมินทรีย์ตามสูตรสารไล่แมลง เพื่อฉีดพ่นมดและแมลงสาบภายในบ้าน โดยใช้น้ำหมักที่ได้จากการหมักจากเปลือกผลไม้ หรือผลไม้ดิบ เช่น มะละกอ
    สับปะรด มะม่วง หรือสมุนไพร เช่น สะเดา
  • ใส่ตู้ปลาเพื่อย่อยสลายขี้ปลาและเศษอาหาร
  • ผสมน้ำอาบให้สัตว์เพื่อกำจัดกลิ่น และผสมในน้ำดื่มให้สัตว์เลี้ยงกิน

ข้อควรระวังในการใช้

  1. ปุ๋ยภูมินทรีย์ เป็นของเหลวที่มีจุลินทรีย์ย่อยสลายสิ่งต่างๆ ภายในเซลล์มีความ
    เข้มข้นของสารละลาย เมื่อนำไปฉีดพ่นต้นไม้ต้องเจือจางมาก พืชแต่ละชนิด
    จะตอบสนองต่อปุ๋ยภูมินทรีย์คล้ายกันกับการได้รับฮอร์โมนที่ส่งเสริมการเจริญ
    เติบโตของพืช ถ้าใช้ในความเข้มข้นสูงพืชจะชะงักการเจริญเติบโตหรือตายได้
  2. กากที่เหลือจากการหมักปุ๋ยภูมินทรีย์ เมื่อนำไปเป็นปุ๋ยต้นไม้ ควรใช้แต่น้อย
    และใส่ห่างจากโคนต้นพอสมควร เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่มีความเข้มข้นสูง

การทำปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยแห้ง)

การเตรียมพื้นที่และอุปกรณ์

  • เตรียมพื้นที่ผสมปุ๋ยบนพื้นซีเมนต์ หรือถ้าเป็นพื้นดินให้ปูผ้ายางเพื่อป้องกัน
    ปุ๋ยซึมลงดิน
  • กระสอบป่านเก่าๆ สำหรับคลุมปุ๋ยที่ผสมแล้ว
  • ฝักบัวรดน้ำ พลั่ว จอบ

ส่วนผสม

  1. รำละเอียด 1 ปี๊บ
  2. เศษอาหารจากพืช เช่น เปลือกมัน เปลือกถั่ว แกลบเผา 10 ปี๊บ (ใช้อย่างเดียวหรือหลายอย่างผสมกันก็ได้ โดยให้รวมกันแล้วมีปริมาณ
    ตามอัตราส่วนที่กำหนด)
  3. แกลบ มูลสัตว์ อย่างละ 10 ปี๊บ
  4. ปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์ และกากน้ำตาล อย่างละ 2-3 ช้อนแกง / ถังฝักบัว

วิธีผสม

  • นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกให้เข้ากันนำน้ำที่ผสมภูมินทรีย์และกากน้ำตาลรดให้ทั่ว
  • เพิ่มน้ำรดส่วนผสมไปเรื่อยๆ (โดยผสมปุ๋ยภูมินทรีย์กับกากน้ำตาลในน้ำ ตามส่วนที่กำหนด) พร้อมกับคลุกเพื่อให้น้ำซึมหมาดไปทั่วทั้งกองปุ๋ย
  • ตรวจความชื้นของปุ๋ยให้เสมอกัน โดยทดลองกำไว้ในมือ เมื่อปล่อยมือออกจะจับเป็นก้อนหลวมๆ พอแตะก้อนแล้วแตกเป็นใช้ได้
  • เกลี่ยกองปุ๋ยให้เสมอกันสูงจากพื้นไม่เกิน 30 ซม. คลุมด้วยกระสอบป่านให้มิดชิด
  • ประมาณ 12 ชั่วโมง ให้ทดสอบโดยสอดมือเข้าไปในกองปุ๋ยจะร้อนมาก เมื่อครบ 24 ชั่วโมง จะเริ่มมีเส้นขาวๆ ปรากฏขึ้นบนผิวกองปุ๋ย แสดงว่าจุลินทรีย์เริ่มทำงาน
  • อีก 3-4 วัน ต่อมาให้ทดสอบอีกครั้ง ถ้าปุ๋ยเย็นลงถือว่าใช้ได้ ถ้ายังมีความร้อนอยู่ให้ทิ้งไว้ต่อจนกว่าจะเย็น จึงสามารถนำไปใช้ได้

ยาไล่แมลง

สูตรนี้ช่วยป้องกันและขับไล่แมลงศัตรูพืช พร้อมทั้งเสริมความต้านทานเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพืชบางชนิดด้วย

ส่วนผสม

1. ปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์, กากน้ำตาล, น้ำส้มสายชู 5 %, เหล้าขาว อย่างละ 1 ขวด
2. น้ำสะอาด 10 ขวด

วิธีผสม

  • นำกากน้ำตาลผสมน้ำให้ละลายเข้ากันดีโดยบรรจุในพลาสติก
  • ใส่เหล้าขาว, น้ำส้มสายชู 5 %, ปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์ลงไป คนให้เข้ากันแล้วปิดฝาให้สนิท
  • หมักไว้ 15 วัน ให้เปิดฝาคนทุกเช้า – เย็น เพื่อระบายก๊าซออก
    หัวเชื้อนี้เก็บไว้ได้นาน 3 เดือน โดยต้องเปิดฝาระบายก๊าซออกเป็นครั้งคราว

วิธีใช้

  • ผสมหัวเชื้อยาขับไล่แมลงนี้ในอัตรา 5 ช้อนแกง, กากน้ำตาล 5 ช้อนแกง,
    น้ำ 10 ลิตร อาจเพิ่มสบู่ลง เพื่อช่วยจับใบดีขึ้น
  • นำไปฉีดพ่นพืชสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง หรือตามความจำเป็น ควรฉีดพ่นในช่วงเย็น
  • พืชที่กำลังแตกใบอ่อนให้ใช้อัตราส่วนที่เจือจางลง
  • การนำสมุนไพรที่เป็นยาไล่แมลงตามธรรมชาติ เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้ ยาสูบ ไปหมักกับกากน้ำตาลโดยตรง เป็นประโยชน์ ทั้งการเป็นปุ๋ย และ เป็นสาร
    ไล่แมลงไปในตัว

ยาไล่แมลงสูตรเข้มข้น

วิธีผสม

ใช้ส่วนผสมและวิธีทำเหมือนสูตรธรรมดา แค่เพิ่มปริมาณเหล้าขาวเป็น 2 ขวด

วิธีใช้

  • ใช้ฉีดพ่นปราบหนอนและแมลงศัตรูพืชที่ปราบยาก เช่น หนอนหลอดหอม หนอนชอนไช โดยใช้สัดส่วนหัวเชื้อสูตรเข้มข้น 1 แก้ว / น้ำ 200 ลิตร
    (1 ถังแดง)
  • ใช้กำจัดเห็บ หมัด ในสัตว์เลี้ยง
  • ใช้กำจัดเหา โดยเอาน้ำราดที่ผมให้เปียก แล้วชโลมด้วยหัวเชื้อสูตรเข้มข้น ผสมน้ำในอัตราส่วน 1/15 หมักทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออกให้สะอาด

การประยุกต์ใช้ในนาข้าว
ในพื้นที่ 1 ไร่ ใส่ปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยแห้ง) 200 ก.ก. ลิตร โดยแบ่งใส่เป็นระยะดังนี้

1.ไถพรวน

  • ให้หว่านปุ๋ยชีวภาพ 100 ก.ก. (ต่อไร่) ให้ทั่ว
  • ผสมน้ำภูมินทรีย์ 2 แก้ว กับน้ำ 200 ลิตร (ต่อไร่) ฉีดพ่นให้ทั่วแล้วไถพรวน
    ทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ได้ย่อยสลาย วัชพืช ให้เป็นปุ๋ยพืชสด และ
    เร่งการงอก ของเมล็ด
  • หลังไถพรวนดินแล้ว 15 วัน ให้ฉีดน้ำผสมปุ๋ยภูมินทรีย์และกากน้ำตาล
    ในอัตราส่วนเท่าเดิมอีกครั้ง แล้วไถกลบเพื่อทำลายวัชพืชให้เป็นปุ๋ยพืชสด
    ทิ้งไว้อีก 15 วัน

2.ไถคราด ให้ฉีดพ่นน้ำผสมปุ๋ยภูมินทรีย์และกากน้ำตาล ในสัดส่วนเดิม
อีกครั้ง ไถคราดให้ทั่ว

3.หลังปักดำ 5 – 7 วัน หว่านปุ๋ยชีวภาพ 30 ก.ก. ต่อไร่ แล้วฉีดพ่นน้ำผสม
ปุ๋ย ภูมินทรีย์ และกากน้ำตาลในสัดส่วน น้ำ 200 ลิตร / น้ำภูมินทรีย์ 1 แก้ว /
กากน้ำตาล 1 แก้ว

4.ข้าวอายุ 1 เดือน หว่านปุ๋ยชีวภาพ และฉีดพ่นปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์ ในสัดส่วนเท่ากับตอนหลังปักดำ

5.ก่อนข้าวตั้งท้องเล็กน้อย ฉีดพ่นปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์สัดส่วน เท่ากับตอนหลังปักดำ
แต่เพิ่มปริมาณปุ๋ย เป็น 40 ก.ก. ต่อไร่

6.ป้องกันศัตรูพืช ใช้หัวเชื้อยาขับไล่แมลงฉีดพ่นทุก 15 วัน หรืออาจใช้สาร
ไล่แมลง ฉีดพ่นก็ได้จะทำให้ได้ทั้งปุ๋ยและสารไล่แมลงศัตรูพืช

การทำฮอร์โมนพืช (สารเร่ง)

ส่วนผสม

  • กล้วยน้ำหว้าสุก, ฟักทองแก่จัด, มะละกอสุก อย่างละ 1 ก.ก.
  • น้ำปุ๋ยภูมินทรีย์ และกากน้ำตาล อย่างละ 2 ช้อนแกง
  • น้ำสะอาด 5 ลิตร

วิธีผสม

  • สับกล้วย ฟักทอง และมะละกอ (ทั้งเปลือกและเมล็ด) ให้ละเอียด
  • ผสมน้ำปุ๋ยภูมินทรีย์ กากน้ำตาล และน้ำให้เข้ากันนำส่วนผสมทั้งหมด
    คลุกในน้ำเข้ากัน
  • บรรจุถุงปุ๋ย หมักไว้ในถังพลาสติก ปิดฝาหมักไว้ 7 – 10 วัน

วิธีใช้

  • นำส่วนผสมที่เป็นน้ำจากการหมัก ผสมกับน้ำ ในอัตราส่วน 2 ช้อนแกง
    ต่อ น้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่น หรือรดต้นไม้ในช่วงติดดอก จะทำให้ติดผลดี
  • ส่วนที่เป็นไขมันเหลืองๆ ในถุงปุ๋ยใช้ทากิ่งตอน กิ่งปักชำ กิ่งทาบ ฯลฯ
    ช่วยให้รากแตกดี

 

น้ำหมักจากพืชสีเขียว

ส่วนผสม

  1. ผักบุ้ง 2 ก.ก.
  2. หน่อกล้วย 2 ก.ก.
  3. หน่อไม้ 2 ก.ก.
  4. พืชตระกูลถั่ว 4 ก.ก.
  5. น้ำตาลทรายแดง 4 ก.ก.
  6. หัวเชื้อจุลินทรีย์ 10 ช้อนแกง

หมายเหตุ หมัก 7-15 วัน , ส่วนผสมไม่ต้องล้างน้ำ , คลุกเคล้าตามเข็มนาฬิกา

น้ำหมักจากผลไม้

ส่วนผสม

  1. กล้วยน้ำว้าสุก 2 ก.ก.
  2. มะละกอสุก 2 ก.ก. (ไม่มีใช้มะละกอแก่ๆ แทน)
  3. ฟักทองแก่ 2 ก.ก.
  4. น้ำตาลทรายแดง 3 ก.ก.
  5. หัวเชื้อจุลินทรีย์ 10 ช้อนแกง

หมายเหตุ หมัก 7-15 วัน , ส่วนผสมไม่ต้องล้างน้ำ , คลุกเคล้าตามเข็มนาฬิกา

ปุ๋ยหมัก 48 ชม.

ส่วนผสม

  1. แกลบดำ 1 กระสอบ
  2. เปลือกถั่ว / ฟางสับ 1 กระสอบ
  3. ปุ๋ยคอก (มูลหมู) 1 กระสอบ
  4. น้ำ 10 ลิตร
  5. จุลินทรีย์ 3 ช้อนแกง
  6. น้ำตาลทรายแดง 3 ก.ก.
  7. รำละเอียด 1 กระสอบ

การหมักสารไล่แมลง

ส่วนผสม

  1. สะเดาทั้ง 5 3 ก.ก.
  2. บอระเพ็ด 3 ก.ก.
  3. หางไพล 1 ก.ก.
  4. ตะไคร้หอมทั้ง 5 1 ก.ก.
  5. ข่าแก่ 1 ก.ก.
  6. ยาฉุน 2 ก.ก.
  7. ผลไม้สุก 3 ชนิด 6 ก.ก.
  8. น้ำตาลทรายแดง 3 ก.ก.
  9. น้ำสะอาด 40 ลิตร

หมายเหตุ หมักไว้ 1 เดือน ใช้ได้ 3 เดือนยิ่งดี

อัตราการใช้น้ำหมัก 2 ชนิด

สูตรเร่งต้น (ช่วงแตกกิ่ง, ก้าน, ใบ)

ใช้น้ำหมักพืชสดสีเขียว 10 ช้อน
ใช้น้ำหมักผลไม้ 1 ช้อน

สูตรเร่งดอก (ช่วงต้นไม้กำลังตั้งท้อง)

ใช้น้ำหมักพืชสดสีเขียว 5 ช้อน
ใช้น้ำหมักผลไม้ 5 ช้อน

สูตรเร่งผล (ช่วงให้ผล, ฟัก, หัว)

ใช้น้ำหมักพืชสดสีเขียว 10 ช้อน
ใช้น้ำหมักผลไม้ 1 ช้อน

การขยายน้ำหมักสูตรต่างๆ

น้ำ 10 ส่วน ต่อ น้ำตาลทรายแดง 1 ส่วน ต่อ หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ส่วน หมักไว้ 7 วัน สามารถนำไปใช้ได้เลย

ปุ๋ยน้ำภูมินทรีย์

น้ำภูมินทรีย์ (ภูมิปัญญา + จุลินทรีย์) = จุลินทรีย์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรสิ่งแวดล้อม

ส่วนผสม

  1. เศษอาหาร, เปลือกผลไม้ ฯลฯ จำนวน 3 ส่วน
  2. กากน้ำตาล จำนวน 1 ส่วน
  3. น้ำสะอาด จำนวน 10 ส่วน

วิธีผสม

ละลายกากน้ำตาลกับน้ำสะอาดเข้าด้วยกัน และผสมเศษอาหาร หมักในถังพลาสติกปิดฝา ทิ้งไว้ในที่ร่ม หมักนาน 3 เดือน (ยิ่งนานยิ่งดี)

วิธีใช้

แยกน้ำภูมินทรีย์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ในอัตราส่วน น้ำภูมินทรีย์ 1 ส่วน ผสมน้ำ 500 – 1,000 ส่วน ใช้ราด, รด, ฉีด, พ่น ในการเกษตรและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

ที่มา : น้ำภูมินทรีย์ นายอำนาจ หมายยอดกลาง ประธานกลุ่มฯ นายภมร นวรัตนากร ที่ปรึกษากลุ่มฯ