ความรัก มิติที่: 1กามนิยม  2พันธุนิยม  3ญาตินิยม  4ชุมชนนิยม  5ชาตินิยม  6สากลนิยม  7เทวนิยม  8อเทวนิยม  9นิพพานนิยม  10พุทธภูมินิยม
   [เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี | ผู้เขียน
page: 0/16

สารบัญ
[1] รักมิติที่1
[2] รักมิติที่2
[3]
รักมิติที่3
[4]
รักมิติที่4
[5]
รักมิติที่5
[6]
รักมิติที่6
[7]
รักมิติที่7
[8]
รักมิติที่8
[9]
รักมิติที่9
[10]
รักมิติที่10
[11]
ถาม-ตอบ
[12]
ถาม-ตอบ
[13]
ถาม-ตอบ
[14]
ถาม-ตอบ
[15]
ถาม-ตอบ
[16]
ถาม-ตอบ

"ความรัก ๑๐ มิติ"
เรียบเรียงจาก
คำบรรยายของ
พระโพธิรักษ์
ที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่
และที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘

"ความรัก...
เป็นความทุกข์
ถ้าใครยังมีความรักอยู่
ยังอยากทุกข์อยู่
ก็จงทุกข์ให้มีประโยชน์
คือให้แผ่กระจายความรัก
ออกไปให้มีอาณาเขต
กว้างขวาง...

อะไรที่เป็นความรัก
ที่เห็นแก่ตัวมากที่สุด
หรือแผ่ประโยชน์ไว้
ในวงแคบที่สุด
เลิกเสียเถอะ ! "

บรรณศาสน์ อศ. ๐๑๐ พิมพ์ที่ : โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ

พิมพ์ครั้งที่ ๑
จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม
ก.ย. ๒๕๑๘
พิมพ์ครั้งที่ ๒
จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม
ต.ค. ๒๕๒๑
พิมพ์ครั้งที่ ๓
จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม
มิ.ย. ๒๕๒๔
พิมพ์ครั้งที่ ๔
จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม
ก.ย. ๒๕๒๔
พิมพ์ครั้งที่ ๕
จำนวน ๘,๐๐๐ เล่ม
ต.ค. ๒๕๒๔
พิมพ์ครั้งที่ ๖
จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม
ก.พ. ๒๕๒๘
พิมพ์ครั้งที่ ๗
จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม
มี.ค. ๒๕๓๒
พิมพ์ครั้งที่ ๘
จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม
พ.ย. ๒๕๔๒

พิมพ์ที่ :
บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด
๖๔๔ ซอยเทียมพร ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐
โทร. ๓๗๕-๘๕๑๑
โทรสาร ๓๗๕-๗๘๐๐

จัดจำหน่ายโดย :
ธรรมทัศน์สมาคม
โทร. ๓๗๕-๔๕๐๖

 

 

ความรัก ๑๐ มิติ
(ของเดิม) พระโพธิรักษ์


ความรักในโลกประมวลลงแล้วจากต่ำสุดถึงสูงสุด
ก็สรุปลงได้เป็น ๑๐ มิติ ด้วยประการดั่งนี้

มิติที่ ๑ ความรักที่เลวที่สุด ไร้ค่าที่สุด คือ ระหว่างเพศ หรือเมถุน เพราะเห็นแก่ตัวในวงแคบที่สุด มีอารมณ์ร่วมอยู่นิดเดียว แต่จ่ายเหลือเกิน ใช้จ่ายเหลือเกิน เรียกว่า “กามนิยม” (หรือ “ทารกริยานิยม” หรือ “เมถุนนิยม”)

มิติที่ ๒ ความรักระหว่างสายโลหิต พ่อ-แม่-ลูก ก็ยังเห็นแก่ตัวอยู่ในวงแคบมาก เรียกว่า “พันธนิยม” (หรือ “ปิตปุตตานิยม”)

มิติที่ ๓ ความรักสูงขึ้นไปอีกหน่อย เห็นแก่วงศา คณาญาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลหมู่ญาติกว้างขวางขึ้นอีกนิดหนึ่ง เรียกว่า “ญาตินิยม”

มิติที่ ๔ เริ่มขยายออก สู่มวลชน แค่ยังอยู่ในวงแคบแค่หมู่กลุ่ม แค่เพื่อนฝูง ในสังคมส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือในหมู่บ้าน ในตำบล ในอำเภอ อย่างเก่งก็แค่จังหวัด หรือรัฐแต่ละรัฐ อะไรอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า “สังคมนิยม” (ไม่ว่าสังคมเก่า หรือ สังคมใหม่)

มิติที่ ๕ แผ่ขยายออกไปถึงประเทศชาติ เป็นความรักแบบ “ชาตินิยม” เพิ่มทุกข์มากขึ้น (เพื่อสังคมส่วนใหญ่จริงๆ ลดแวดวงแคบๆ โดยเฉพาะลดความสุขส่วนตัวลงอย่างมากจริงๆ จน เห็นเด่น มีน้ำหนักชัด)

มิติที่ ๖ ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีชนชาติ ไม่มีผิวพรรณ ทั่วโลกเลย เป็นความรักที่แผ่ขยายกว้างไกลออกไปสู่มวลชนอันไพศาล เป็นความรักแบบ “สากลนิยม” ทุกข์มากขึ้นไปอีก แต่ก็เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น

มิติที่ ๗ เป็นความรักอย่างพระเจ้า รักหมดทุกอย่างเลย ทุกมวลมนุษยชาติ ทุกสรรพสิ่ง จะช่วยเหลือให้ได้หมด ซึ่งก็คือ “พลังสร้างสรร” นั่นเอง เรียกว่า “เทวนิยม”

มิติที่ ๘ ความรักของผู้ที่กำลังแตกอัตตาเป็นอนัตตา เป็นความรักที่กำลังลดความรัก คือ พระ (ที่เรียนแท้ปฏิบัติจริง) หรือผู้ปฏิบัติธรรม ทางศาสนาที่มีอนัตตาเป็นที่สุด เช่น ศาสนาพุทธ เป็นต้น ศาสนาพุทธมีอนัตตาเป็นที่หมายและกำลังแตกอัตตาออกเป็นอนัตตา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความรัก ไม่เห็นแก่ตัว เป็นหลักฝึกและลดความรัก-ความชอบ-ความสุข-ความติด-ความหลงเสพย์กันจริงๆ จากขั้นที่รู้ว่าต่ำขึ้นมาหาสูงอย่างรู้ตัวเอง รู้ระดับจริงๆให้ถูกตรง จึงเรียกว่า “สัจนิยม”

มิติที่ ๙ คือ ความรักของพระอรหันต์ คือ การหมดความรักโดยสิ้นเชิง พอเป็นพระอรหันต์ก็ไม่มีความรักแล้ว เพราะสามารถทำลาย “อัตวิสัย” ได้โดยสิ้นเชิง เรียกว่า “วิมุตินิยม”

มิติที่ ๑๐ เป็นความรักของพระโพธิสัตว์กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งไม่มีความรักเลย มีแต่ “ความรู้” เรียกว่า “โพธิญาณ” หรือปัญญาตรัสรู้ที่จะรู้โลก และ จะช่วยโลกอย่างเต็มกำลังเรียกว่า “พุทธภูมินิยม ” หรือ “ธรรมนิยม”

สรุปแล้ว ความรักคืออะไร ก็คืออย่างที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ เป็นอะไร ? เป็นความทุกข์ ถ้าใครยังมีความรักอยู่ ยังอยากทุกข์อยู่ ก็จงทุกข์ให้มีประโยชน์ คือให้แผ่กระจายความรักออกไปให้มีอาณาเขตกว้างขวาง ก็ไม่ว่า แต่อะไรที่เป็นความรักที่เห็นแก่ตัวมากที่สุดหรือแผ่ประโยชน์ไว้ในวงแคบที่สุด เลิกเสียเถอะ !

สุดท้ายคุณจะไม่มีความรักเลย แต่คุณช่วยโลกได้โดยไม่มีความรัก และช่วยจริงๆ ทำค่า ทำความดี ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างไม่ต้องรัก อันนี้เป็นยอดอุดมคติ คิดคำนวณยาก แต่มีจริง เป็นจริงอย่างพระอรหันต์แบบศาสนาที่มีอนัตตาธรรมเป็นหลัก อย่างพระโพธิสัตว์แท้กับพระพุทธเจ้า เป็นต้น จบเรื่องความรัก ๑๐ มิติ



คำนำ

ความรักอื่นใดจะเสมอด้วยความรัก "อัตตา" นั้น ย่อมไม่มี นี้เป็นพระพุทธพจน์ ที่กล่าวถึงธรรมดาของปวงสรรพสัตว์ ที่ย่อมรักและหวงแหนในชีวิตของตน และสิ่งที่หลงยึดว่าของของตน เพราะความไม่รู้ถึงสัจธรรมแห่งการมีชีวิต จึงทำให้มีความรักในตน ในของของตนเองอย่างมาก เรียกว่า "อัตนิยม" อันเป็นความรักที่เห็นแก่ตัว ตั้งแต่อยู่ในแวดวงแคบที่สุด และเป็นต้นเงื่อนของความรัก แล้วจึงคลี่คลายขยายตัว จากความรักตนเองอันแคบที่สุด เล็กที่สุดนี้ออกไปสู่มิติอื่นๆ จึงเว้นไว้ ไม่ได้สาธยายถึง เพราะย่อมแจ้งกันดีอยู่แล้ว จึงจะขอขึ้นต้นมิติที่ ๑ ด้วยความรักที่เริ่ม แผ่ขยายแวดวงออกไปจากจุดเล็กสุดที่มนุษย์จะพึงหลงกันใน ความรักแบบ "อัตนิยม" ไปหา "อนัตนิยม" เป็นที่สุด

"ความรัก ๑๐ มิติ" นี้ ได้เรียบเรียงตัดต่อจากการบรรยายในสถานที่ ๒ แห่งด้วยกัน คือที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ และที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งภาษาสำนวนในการบรรยายอันเป็น "ภาษาพูด" ธรรมดา ทั้งนี้เพราะมีเจตนารมณ์ ในการที่จะ "สื่อความหมาย" สู่ปวงชนให้เข้าสู่เนื้อหาสาระที่แท้ ด้วยสื่อความหมายทางภาษาที่เรียบง่ายและเป็นกันเอง อันก่อให้เกิดอารมณ์ร่วม

ด้วยเหตุว่า วัฒนธรรมทางภาษาหนังสือในทุกวันนี้ ถูกจำกัดให้อยู่ในแวดวงอันคับแคบของปัญญาชน ซึ่งมักจะนิยมใช้รูปแบบอันภูมิฐานของภาษาหนังสือมาเป็นกำแพงขวางกั้น ทำให้การถ่ายทอดเนื้อหาสาระ ไม่สามารถแผ่ขยายเข้าถึงระดับมหาชนทั่วๆไป ก็จริงอยู่ ที่ว่ารูปแบบอันงดงามของภาษา เป็นเครื่องบอกวัฒนธรรมอันสูงส่ง แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากว่าความสูงส่งนั้นได้แยกตัวเองให้ห่างไกลจากคนส่วนใหญ่ เหมือนยืนอยู่บนหอคอยงาช้าง

จึงขอให้ใช้วิจารณญาณในการอ่านหนังสือเล่มนี้มาก สักหน่อย เพื่อที่จะได้เข้าถึงเนื้อหาสาระอันเป็นแก่นแท้ อย่าผ่านเลยไป เพียงเพราะว่า ไม่ต้องใจในรูปแบบที่เป็นเปลือกนอก เพราะว่า เนื้อหาสาระที่เป็นสัจธรรมนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในรูปแบบ อันโอ่อ่า อัครฐาน มิใช่หรือ ?

.. ความรัก ๑๐ มิติ
   [เลือกหนังสือ]
page: 0/16
   Asoke Network Thailand