page: 3/12

สารบัญ

ตักบาตร, อธิษฐาน, ชาติหน้า, ชู้รัก, ทาน [1] |

ผู้บรรลุอรหันต์คนแรก [2] |

คู่รัก, รักแล้วหย่า, ทำความดี, เกิดไม่ทุกข์, เพศหญิงชาย [3] |

สมาธิ, ความกังวล [4] |

ลูกสะใภ้กับแม่สามี, ถูกด่า [5] |

กรวดน้ำ, สวดมนต์อธิษฐาน [6] |

กลัวความตาย [7] |

หญิงจะบวชยังไง, ศาลพระภูมิ, พรหมลิขิต, สวรรค์ นรก ผี [8] |

ตกนรก [9] |

ทำใจให้สงบ, สนใจศาสนา [10]

มรรคผล [11]

ไม่เกิดอีก, บวชชี, วิธีหลุดพ้น [12]

 ชีวิตนี้มีปัญหา... โพธิรักษ์  

ถาม[3] คำถามจาก :คุณเพ็ญวิมล ปัญจพรวิบูลย์ ๖๓๖/๕๒ ถ.จรัลสนิทวงศ์ บางยี่ขัน อ.บางกอกน้อย ธนบุรี

๑. ทำไมท่าน (หมายถึงผู้ที่ให้มนุษย์เกิดมา) ให้เกิดมาเป็นพี่น้อง แต่ท่านไม่ให้พี่น้องคู่นั้นรักกัน ?

ก่อนอื่นต้องขอคุยกันเล็กน้อยก่อนว่า การที่มนุษย์ใดจะเกิดมานั้นไม่มีผู้ใดบันดาลหรือบงการ หรือสั่ง หรือสร้างให้มนุษย์ผู้นั้นเกิด สิ่งที่ทำให้เกิดก็คือ สิ่งที่เรากระทำลงไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่เอง ซึ่งเรียกว่า “กรรม” เปรียบได้กับสิ่งที่พอจะนำมาอธิบายดังนี้ :

สมมุติว่าเราทำของอะไรสักสิ่งหนึ่งขึ้นมาเช่น เราคิดจะทำกล่องใบหนึ่งขึ้นมา เมื่อคิดแล้ว เราก็ทำกล่องใบนั้นจนสำเร็จออกมา กล่องใบนั้นก็เรียกได้ว่า เกิดจากการกระทำของเรา มันจะดี จะงาม จะมีคุณค่าในทางใดก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับเราซึ่งเป็นผู้ทำกับเหตุปัจจัยองค์ประกอบ

ถ้าเรามีหัวเป็นช่าง กล่องนั้นก็จะสวย มีศิลปะในตัวแน่

ถ้าเราประณีต กล่องนั้นก็เรียบร้อยแน่

และถ้าเวลาประกอบกล่องนั้น เป็นเวลาที่ดีไม่อยู่ในอารมณ์ขุ่นหมอง มีแต่อารมณ์ที่จะตั้งใจทำกล่องนั้น กล่องนั้นก็จะดียิ่งขึ้น

และถ้าเราฐานะดี มีเงินเพียงพอที่จะซื้อวัสดุดีๆ มาประกอบ หรือมาสร้างกล่องนี้ เราก็จะได้กล่องที่ทำจากวัสดุดีๆ มีค่าทางวัสดุ

สิ่งประกอบอันเป็นเหตุปัจจัยเหล่านั้น สำคัญกับกล่องทั้งสิ้น ถ้าเรามีเหตุ มีปัจจัยลดหย่อน กล่องนั้นก็ไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าเหตุปัจจัยไม่ดีเลย กล่องนั้นก็ยิ่งไม่ดีเอาเลย นั่นแสดงว่า “กล่อง” เกิดได้เพราะ “ทำ” มันขึ้น

ทำไมจึงทำล่ะ ก็เพราะเราอยากทำกล่องใบนั้น ถ้าเราตัดความ “อยาก” ทำกล่องใบนั้นให้หมดไปเสีย เราก็จะไม่ทำกล่องใบนั้น กล่องใบนั้นก็จะไม่เกิด

และยิ่งถ้าเราตัดตัวเราไป ไม่ให้มี “ตัวเรา” เลย ก็ยิ่งหมดเหตุต้นทางเลยทีเดียว เพราะเมื่อไม่มี “ตัวเรา” ความ “อยาก” จากตัวเราก็มีไม่ได้ ดังนั้น ก็ไม่มีทางที่อะไรจะเกิดเพราะเราได้เลย

แต่เป็น “ตัวเรา” มันเกิดมาแล้ว เราอยากไม่มี “ตัวเรา” อีก หรือ ไม่อยากให้ “ตัวเรา” เกิดขึ้นมาอีก เราก็ตัด “ความอยาก” ออกไปจาก “ตัวเรา” ให้หมด “ตัวเรา” ก็จะไม่เกิดอีกเป็นอันขาด

นี่แหละถึงว่า “คน” นั้นยังเกิดอยู่ ก็เพราะ “ความอยาก” และเกิดมาเพราะ “การกระทำ” ของเราเอง ไม่มีใครสร้าง

ถ้าเรา “ประณีต” (คือ ฝึกหัดความละเอียดลออทั้งทางกาย วาจา ใจ) “เรา” ที่จะเกิดมาก็เรียบร้อยแน่ ถ้าเราเป็น “ช่าง” (คือ คอยปั้นอารมณ์ให้ดีรักษาหน้าตารูปร่างของเราให้ผ่องใส สดใสอยู่เสมอ) “เรา” เกิดมาก็จะสวยมีศิลปะในตัวแน่ ถ้าเราทำตนให้ “รวย” (คือ ทำบุญทำทาน เมตตา ช่วยเหลือ เกื้อกูล เสียสละไว้มากๆ) เราก็จะเกิดมามี “วัสดุทางโลก” ช่วยเหลือเรามากแน่ๆ นี่เป็นตัวอย่างอุปมาเปรียบเทียบ

ดังนั้น “คน” จะเกิดมานั้น ก็อุปไมยเช่นเดียวกัน ไม่มีใครมาบงการ มาสร้าง เราสร้างตัวเราเอง ถ้าเราไม่อยากเกิด เราก็ตัด “อารมณ์อยาก” ให้หมดสิ้นให้ได้ ข้อสำคัญคือเราต้องตัดกิเลสให้สิ้น จนเหนือบุญเหนือบาป (โลกุตร) ได้จริงๆ ก่อนแล้วเราก็จะไม่เกิดมา ท่านองค์ใดก็จะไม่กล้าปั้นเรา หรือสร้างเราขึ้นมาเป็นอันขาด นี่เป็นตัวอย่างเล่าโดยภาษามนุษย์โดยสมมุติบัญญัติ

ดังนั้น การที่เราจะเกิดมาเป็น “คน” ใดนั้น ก็สุดแต่ “กรรม” ที่เราทำไว้จะส่งผลให้เกิด ไม่มีการบังเอิญเกิด ไม่มีการเลินเล่อ มีเหตุปัจจัยอันละเอียดลออก่อเกิดสร้างสรรขึ้น ประกอบขึ้นอย่างถูกต้อง ซื่อตรง ไม่แปรปรวน เพราะฉะนั้นการที่คุณจะเกิดมาเป็นพี่เป็นน้องกัน ก็ด้วย “กรรม” ด้วย “วิบาก” และแม้คุณจะไม่รักพี่รักน้องของคุณ หรือพี่น้องของคุณไม่รักคุณ ก็ด้วย “กรรม” ด้วย “วิบาก” อีกนั่นแหละ

และคำว่า “กรรม” นี้ มีวาระอยู่สอง คือ “กรรมเก่า” กับ “กรรมปัจจุบัน”

อัน “กรรมเก่า” นั้น คุณอย่าไปคิดถึงมันเลย เพราะมันช่วยอะไรอีกไม่ได้แล้ว มันเกิดแล้วเป็นไปแล้ว แต่ “กรรมปัจจุบัน” หรือ “กรรมใหม่” นี่สิ สำคัญมาก คุณต้องสร้าง “กรรมใหม่” ให้ดี คือ คุณต้อง “กระทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดี” ถ้าคุณพยายามทำตัวคุณ หรือกระทำอะไรลงไปทุกสิ่งทุกอย่างให้ดี อันสิ่งดีเหล่านั้นแหละจะประกอบห่อหุ้มขึ้นมาเป็นตัวคุณ

“กรรม” ที่ทำหรือคนที่ทำ มี ๓ อย่าง คือ “คิด พูด ลงมือ” ดังนั้นแม้แต่คุณจะ “คิด”

ก็ต้องคิดแต่ทางดี จะ “พูด” ก็พูดแต่ที่ดี จะ “ลงมือ” ทำอะไร ก็ต้องลงมือทำแต่ที่ดี ถ้าได้ทำดังนี้แล้ว คุณจะไม่มีใครรักนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

ถ้าคุณทำดีแล้วทุกอย่าง แต่ยังไม่เห็นผลดี ก็จงจำไว้ว่านั่นคือ “คุณทำดีนั้นยังไม่มากพอ” จำไว้เป็นภาษิตก็ได้ว่า “ทำดีไม่ได้ดี เพราะทำดียังไม่มากพอ” แต่มีข้อแม้ว่า…ที่ “ทำ” อยู่นั้นต้องเป็น “กรรมดี” ที่ถูกต้องตรงธรรมแท้ๆ นะ!

เพราะคนประกอบด้วย “กรรมเก่า” กับ “กรรมใหม่” ดังได้กล่าวแล้ว เหมือนกับบางทีเรากินก๋วยเตี๋ยว เราก็ลงมือทำก๋วยเตี๋ยวขึ้น ปรุงเรียบร้อยเป็นก๋วยเตี๋ยวเต็มชามที่เกิดแล้ว เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าพอชิม ก๋วยเตี๋ยวนั้นจืดไป คุณก็เติมน้ำปลาลง ถ้าน้ำปลาไม่มากพอ ก๋วยเตี๋ยวนั้นก็จะยังจืดอยู่ ต้องเติมน้ำปลาให้เพียงพอจึงจะมีรสเค็มขึ้นมาพอดี เหตุที่มันจืดก็เพราะก๋วยเตี๋ยวที่เราทำแล้วนั้นมีเส้นมาก มีเนื้อมาก มีน้ำมาก ประกอบกันอยู่ น้ำปลาที่เราใส่แล้วแต่แรกปรุงมันน้อย จึงยังไม่เค็ม ต้องเติมอย่างที่ว่านี่แหละ จึงจะเค็ม “กรรมเก่า” ก็คือก๋วยเตี๋ยวทั้งชาม “กรรมใหม่” ก็คือน้ำปลาที่เราเติมลงไปใหม่

๒. ทำไมท่านจัดให้หญิงชายคู่รัก แต่ท่านไม่ให้ชายหญิงคู่นั้นรักกันตั้งแต่แรก คือว่าแต่งงานแล้วต้องหย่ากัน ?

ข้อนี้ถ้าอ่านคำตอบในข้อหนึ่งเข้าใจดี ข้อนี้ก็จะไม่ต้องตอบเลย เพราะว่า “ท่าน” ที่คุณหมายถึงนั้นไม่มี มีแต่ “กรรม” หรือ “การกระทำ” หรือ “สิ่งที่เกิดขึ้นโดยเราบันดาล” ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครจัด เราจัดเองทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะรักกันหรือไม่ จะแต่งงานกันแล้วหย่า มันก็คือ “การกระทำ” ของ “คน” ของ “เหตุการณ์” องค์ประกอบ ของ “เวลา” และของ”สถานที่” ประกอบขึ้นให้เป็นทั้งสิ้น

๓. ทำไมท่านให้มนุษย์เกิดมา แต่ท่านไม่ให้มนุษย์ทำความดีทุกคน ?

การจะทำความดีนั้น ว่ากันว่าเป็นของยากสำหรับปุถุชน เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามหน่อย ที่จริงเรานี่แหละจะทำ ไม่มีใครมาให้เราทำหรอก เราทำชั่วก็เพราะเราเอง เราทำดีก็เพราะเราเองบงการตัวเอง

ดังนั้น อย่าไปมักนึกคิดถึง “ท่าน” หรืออะไรที่ไหนที่จะมาบงการเราเลย คิดถึงตัวเราให้ดีว่าถ้าเราจะ “ทำ” อะไรลงไป แม้แต่ “ทำการคิด” อันพระเรียกว่า “มโนกรรม” ก็จะ “คิด” แต่สิ่งที่ดี หรือจะ “พูด” คือ “วจีกรรม” นั้น ก็จง “พูด” แต่ที่ดี หรือจะ “ลงมือ” ทำ อันพระเรียกว่า “กายกรรม” ก็จง “ลงมือทำ” แต่ในสิ่งที่ดีเถิด

มนุษย์ทุกคนอยากจะทำแต่สิ่งที่ดีทุกคน แต่ที่ทำไม่ได้ ก็เพราะว่ามีเหตุอันบดบังกั้นไว้ อันมีข้อที่ควรกล่าวถึงอยู่ ๓ คือ ความอยากได้มาเป็นของตัว นั้นหนึ่ง ความไม่พอใจ ไม่ชอบใจ นั้นสอง และความเข้าใจผิด เข้าใจไม่ถูกว่า ความดีแท้ๆ นั้นคืออะไร คืออันไหน ไปหลงผิดเอา “ความไม่ดีนั้น” โดยเข้าใจว่าเป็น “ความดี” แล้วก็ทำไปโดยความหลงนั้นอีกหนึ่ง สิ่งเหล่านี้แหละ เป็นตัวการชักนำให้เราทำความดีไม่ได้

แต่โดยจริงแล้ว คำว่า “ความดี” นั้น เห็นได้ง่ายกว่า “ความจริงแท้” เยอะแยะ

ควรจะเพ่งพิจารณาให้เห็นโดยมี “สติ” ในทุกขณะก่อนจะ “ทำ” อะไรลงไป ไม่ว่าจะ “คิด” จะ “พูด” หรือจะ “ลงมือ” เมื่อมี “สติ” อยู่แล้วสอบสวนดูสิ่งจะทำให้เห็นว่า ทำไปนั้นเป็นความดีหรือเปล่า ถ้าเห็นแล้วว่าสิ่งที่จะทำไปนั้นไม่ใช่ “ความดี” เราก็ต้องไม่ทำ แม้จะมีความ “อยากได้มาเป็นของตัว” คือ โลภะเข้ามาบังคับให้ทำ ก็ต้องไม่ทำ แม้จะมีความไม่พอใจ หรือ “โทสะ” เข้ามาบังคับให้ทำ ก็ต้องไม่ทำ แต่สำหรับ “ความหลงผิดเข้าใจไม่ถูกแท้ๆ” หรือ “โมหะ” นั้น ต้องเรียนรู้ “ความจริงแท้” ให้มาก จึงจะรู้ และจะได้ช่วยให้เราแยกแยะ “ความดี” ออกมาได้ หรือ “ความถูกต้อง” ออกมาได้ อันหลังนี้ยากหน่อย แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าคนทุกคนจะเรียนรู้

ดังนั้นใครจะทำ “ความดี” นั้น จึงอยู่ที่ตัวบุคคลนั้นๆ ไม่ใช่มี “ท่าน” ที่ไหนมาบงการให้ทำ

๔. ทำอย่างไรจึงจะเกิดมาไม่มีความทุกข์ ?

เกิดมาไม่มีทุกข์เป็นไปไม่ได้ในโลก เมื่อมีเกิดก็ต้องมีทุกข์ ดังนั้น เราจึงควรคิดหาทางที่จะดับทุกข์ ก็คือ หาทาง “ดับความเกิด”

ดับได้อย่างไร ดับได้โดยวิธีเดียวเท่านั้น คือดับอารมณ์ที่มีความอยากมาปรุงแต่ง ความยึดถือมาปรุงแต่งให้หมดไป พูดง่ายๆ ก็คือ อย่าไปอยากหรืออย่าไปยึดอะไรเข้ามาให้ตัวเป็นอันขาด ซึ่งปุถุชนธรรมดาที่ยังไม่ได้เรียนธรรมะมาบ้าง ก็คงเข้าใจหรือซาบซึ้งยากมาก เพราะเป็นเรื่องมองยังไม่เห็น

เหมือนอย่างกับข้าพเจ้าจะบอกว่า ผู้เป็นพระอริยบุคคลถึงขั้นหนึ่งแล้ว ท่านไม่ “กิน” ของอร่อย ท่านเป็นสุข แต่ถ้าท่านยัง “กิน” ของอร่อยอยู่ ท่านก็เป็น “ทุกข์” ดังนี้ คุณพอจะนึกสภาพออกไหมว่า มันเป็นไปได้อย่างไร? ท่านเป็นสุขจริงๆ ที่ท่านกินของหรือกินอะไรไม่มีรสอร่อยแล้ว แต่ถ้าท่านกินอะไรเข้าไปมันก็ยังรู้สึก “อร่อย” อยู่ นั่นแหละท่านยังเป็นทุกข์อยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันยาวมาก

ดังนั้นถ้าจะตอบกันให้ตรงคำถามอย่างเดียว ก็ต้องตอบว่า เกิดมาแล้วเมื่อจะไม่ให้มีทุกข์ ก็ต้องเรียนรู้สัจธรรมและปฏิบัติให้ได้มาซึ่งวิมุติธรรม จนกระทั่งมีความรู้สึกถูกต้องในทางที่ถูกที่แท้จริงๆ ได้หมด ซึ่งเราเรียกว่าหลุดพ้นจากทุกข์นั่นแหละจะหมดทุกข์ มีทางเดียวเท่านั้นจริง ๆ เสียด้วย

๕. เพราะอะไรเพศหญิงจึงต้องอ่อนแอกว่าเพศชาย แล้วถ้าเกิดเป็นหญิงชาตินี้ แต่อยากเกิด เป็นชาย ในชาติหน้า จะทำอย่างไร ?

เพราะอะไรล่ะ ไม้สักจึงแข็งกว่าไม้ฉำฉา คุณตอบได้ไหมล่ะ? ก็เพราะเหตุและปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นมาให้เป็นดังนั้น ถ้าเราเป็นช่างทำขนมปัง เราก็รู้ส่วนสัดและการประกอบทั้งวิธีการ ทั้งการผสมส่วน และวิธีการอบ การทำให้มันออกมาเป็นขนมปัง และถ้าผสมดังนี้ อบดังนี้ มักจะเป็นขนมปังที่แข็ง ไม่นิ่ม และถ้าเราจะผสมดังนี้ อบดังนี้ มันจะออกมาก็จะเป็นขนมนิ่มนวล ฟูสวย เพราะเหตุ เพราะปัจจัย หรือเพราะส่วนผสม เพราะกรรมวิธี เพราะสิ่งประกอบทุก ๆ อย่าง มันจึงออกมาอย่างที่ว่า นัยเดียวกัน

“คน” ก็เช่นกัน เกิดมาเป็นหญิงด้วยองค์ประกอบของ “กรรม” ที่สั่งสม เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ประกอบขึ้นมา ก็ต้องเป็นไปตามที่ “วิบากกรรม” บรรจงสร้างขึ้นมา บางที “กรรม” สร้างให้ผู้หญิงแข็งแรงก็ยังมีเลย คือ หญิงบางคนแข็งแรงกว่าชายบางคน ซึ่งมันก็ยังเป็นไปได้

อยากเป็นชายในชาติหน้า ก็จงตั้งจิตตั้งใจเข้า ให้มั่นคง ประพฤติกรรม ประพฤติตน ให้เป็นกุศลให้มั่นคงแข็งแรง ไม่เหลาะแหละ อ่อนแอ ให้เหมือนชาย ใจที่ตั้งได้แข็งแรงนี้ ถ้ามากพอจะนำพาไปเอง คือจะชักนำให้คุณประกอบ “กรรม” อันที่จะมี สงเคราะห์เจตนาไปข้างลักษณะของเพศชาย ดังนั้น “กรรม” ที่คุณจะสร้างขึ้นในชาตินี้ มันก็จะวางรากฐานโน้มน้อมไปสู่ความเป็นลักษณะของความเป็นชายคือ ความแข็งแรง เด็ดเดี่ยว จริงจัง ซึ่งจะต้องสั่งสมจิตให้เป็นให้มั่นคงให้ได้ นั่นแหละสำคัญที่สุดกว่าอื่นหมด เมื่อเจตนาในจิตเป็นผู้บงการ “กรรม” ก็ย่อมจะประกอบขึ้น ตามเจตนานั้นเอง และต้องมี “กรรม” ให้พอที่จะส่งเสริมผลด้วยจึงจะเป็นผล


  ชีวิตนี้มีปัญหา
 
page: 3/12
   Asoke Network Thailand

อ่านต่อ หน้า 4