page: 3/8

บทพระบรมศาสดาว่า |

 

        ในบทนี้ นำคำตรัสของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาให้อ่านกันดู พอสมควร จะได้เห็น ได้รู้ชัดเจนขึ้นว่า "ศีล" นั้นสำคัญกันแค่ไหน? อย่างไร? และมีความมุ่ง ความหมายกันปานใด?
        พระพุทธพจน์ จาก "กิมัตถิยสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อานิสังสวรรคที่ ๑ ข้อ ๑ กับ ในเล่มเดียวกันนี้ นิสสายวรรคที่ ๑ ข้อ ๒๐๘ ท่านตรัสไว้ชัด ดังนี้:-
        "ดูกรอานนท์…..
        ศีล ที่เป็นกุศล -> มีความไม่เดือดร้อนใจ เป็นผล มีความไม่เดือดร้อนใจ (อวิปปฏิสาร) เป็นอานิสงส์
        ความไม่เดือดร้อนใจ -> มีความยินดี เป็นผล มีความยินดี (ปามุชช) เป็นอานิสงส์
        ความยินดี -> มีความดีอิ่มใจ เป็นผล มีความดี อิ่มใจ (ปีติ) เป็นอานิสงส์
        ความดีอิ่มใจ -> มีความสงบแท้ เป็นผล มีความสงบแท้ (ปัสสัทธิ) เป็นอานิสงส์
        ความสงบแท้ -> มีสุขเย็น เป็นผล มีสุขเย็น (วูปสมสุข) เป็นอานิสงส์
        สุขเย็น -> มีสมาธิ เป็นผล มีสมาธิ (อธิจิต, สัมมาสมาธิ) เป็นอานิสงส์
        สมาธิ -> มีความรู้ยิ่งในของจริง เป็นผล มีความรู้ยิ่งในของจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) เป็นอานิสงส์
        ความรู้ยิ่งในของจริง -> มีความรู้ที่ทำให้เบื่อหน่าย เป็นผล มีความรู้ที่ทำให้เบื่อหน่าย (นิพพิทา) เป็นอานิสงส์
        ความรู้ที่ทำให้เบื่อหน่าย -> มีความปราศจากกิเลส เป็นผล มีความปราศจากกิเลส (วิราค) เป็นอานิสงส์
        ความปราศจากกิเลส -> มีปัญญารู้ยิ่ง ความเป็นสภาพนิพพาน เป็นผล มีปัญญารู้ยิ่ง ความเป็นสภาพนิพพาน (วิมุติญาณทัสสสนะ) เป็นอานิสงส์
        ดูกรอานนท์….
        ศีล ที่เป็นกุศล ย่อมยัง ความเป็นพระอรหันต์ ให้บริบูรณ์ โดยลำดับ ด้วยประการดังนี้แล (กุสลานิ สีลานิ อนุปุพฺเพน อรหตฺตาย ปริปูเรนตีติ)
        จาก "เจตนาสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ สุตตันต. อังคุต. ทสก. อานิสังสวรรคที่ ๑ ข้อ ๒
        "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วย ศีล ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอให้ ความไม่เดือดร้อนใจ (อวิปปฏิสาร) จงเกิดขึ้นแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ ความไม่เดือดร้อนใจ เกิดขึ้นแก่ บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล นี้เป็นธรรมดา
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มี ความไม่เดือดร้อนใจ ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอความยินดี (ปามุชช) จงเกิดขึ้นแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ ความยินดี เกิดขึ้นแก่บุคคล ผู้มีความไม่เดือดร้อนใจ นี้ เป็นธรรมดา….ฯลฯ" [จะเห็นได้ว่า ใครก็ตาม ขอให้ศึกษา "ศีล" ให้ดี ให้ถูกต้อง และ ปฏิบัติจนชื่อว่า "ผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล" ได้จริงแล้ว ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องตั้งเจตนา ว่า จะได้อะไร และ จะถึงไหนอีกต่อ…. ต่อไป มันจะเกิดได้ เกิดมี "เป็นธรรมดา" ต่อๆ ไป จนถึง "นิพพาน" เป็นที่สุด ตามเหตุ ตามปัจจัย ที่ผู้ได้ศึกษาดี ทำถูก ทำถึงได้จริงๆ เอง]
        จาก "สัทธาสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ สุตตันต. อังคุต. ทสก. อานิสังสวรรคที่ ๑ ข้อ ๘
        "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล อย่างนี้ เธอชื่อว่าผู้ไม่บริบูรณ์ ด้วยองค์ (ของศรัทธา) นั้น เธอนั้น พึงบำเพ็ญองค์นั้น ให้บริบูรณ์ ด้วยคิดว่า ไฉนหนอเราพึงเป็นผู้มีศรัทธา และศีล
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา และศีล เมื่อนั้นเธอชื่อว่า เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น..ฯลฯ [ใครว่า ใครมีศรัทธา ในพุทธธรรม ขนาดมากเท่าใดๆ ก็ตาม หรือ จะศรัทธา ในพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ สุดหัวใจปานใดๆ ก็ตาม แต่เราไม่มี "ศีล" ของพระพุทธเจ้า ไม่สมบูรณ์ด้วย "ศีล" เลย แล้วจะชื่อว่า มีศรัทธานั้น ก็เป็นอันศรัทธา ไปงั้นๆ เห็นไหม? ในสูตรนี้นั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้มี "ศรัทธา" สมบูรณ์ บริบูรณ์แท้ถ้วนนั้น จะต้องมีครบถ้วนตั้งแต่ ศีล ถึงวิมุติ จนสิ้นอาสวะโน่นทีเดียว คำว่า "ศรัทธา" นี้ จึงจะบริบูรณ์ ด้วยองค์แห่งศรัทธา จริงเต็ม และจะเริ่มนับตั้งแต่มี "ศีล" เป็นต้นไปทีเดียว]
        จาก "อักขณสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ สุตตัน. อังคุต. อัฏฐก. ข้อ ๑๑๙
        "ชนเหล่าใด เกิดในมนุษยโลกแล้ว เมื่อพระตถาคต ทรงประกาศสัทธรรม ไม่เข้าถึงขณะ
        ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ล่วงขณะ
        ชนเป็นอันมาก กล่าว เวลาที่เสียไป ว่า กระทำอันตรายแก่ตน
        พระตถาคตเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกาลบางครั้งบางคราว
        การที่ พระตถาคตเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑
        การได้กำเนิดเป็นมนุษย์ ๑
        การแสดงสัทธรรม ๑
        ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หาได้ยากในโลก
        ชนผู้ใคร่ต่อประโยชน์ จึงควรพยายาม ในกาลดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้ จะเข้าใจสัทธรรมได้
        ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
        เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป พากันยัดเยียดในนรก
        ย่อมเศร้าโศกอยู่ หากเขาจะไม่สำเร็จอริยมรรค อันเป็น ธรรมตรงต่อสัทธรรม ในโลกนี้ได้
        เขาผู้มีประโยชน์ อันล่วงเสียแล้ว จักเดือดร้อนสิ้นกาลนาน
        เหมือนพ่อค้า ผู้ปล่อยให้ประโยชน์ล่วงไป เดือดร้อนอยู่ ฉะนั้น
        คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม จักเสวยแต่สงสาร คือ ชาติ และ มรณะ สิ้นกาลนาน
        ส่วนชนเหล่าใด ได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อพระตถาคตประกาศสัทธรรม ได้กระทำ (ตาม) แล้ว จักกระทำ หรือกระทำอยู่ ตามพระดำรัส ของพระศาสดา
        ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ได้ประสบ ขณะ
        คือ การประพฤติพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยมในโลก
        ชนเหล่าใดดำเนินไปตามมรรคา ที่พระตถาคตเจ้า ทรงประกาศแล้ว
        ๑. สำรวมในศีลสังวร ที่พระตถาคตเจ้า ผู้มีจักษุ เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว
        ๒. คุ้มครองอินทรีย์
        ๓. มีสติทุกเมื่อ
        ๔. ไม่ชุ่มด้วยกิเลส
        ๕. ตัดอนุสัยทั้งปวง อันแล่นไปตามกระแสบ่วงมาร
        ชนเหล่านั้นแล บรรลุความสิ้นอาสวะ ถึงฝั่ง คือ นิพพานในโลกแล้วฯ"
        พระพุทธพจน์ จาก "คิริมานนทสูตร" สำนวนแปลเป็นไทย ของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท) นั้น มีว่าดังนี้:-
        "ดูกรอานนท์ จงจับตัณหาให้ได้ ถ้าจับได้แล้ว เมื่อตัวต้องทุกข์ ก็จักเห็นได้ว่าตัวเป็นอนัตตา ถ้าจับไม่ได้ ก็เห็นตัวเป็นอนัตตาไม่ได้ บุคคลทั้งหลายที่มาเป็นสานุศิษย์ แห่งพระตถาคตนี้ ก็มีความประสงค์ ด้วยพระนิพพาน การที่จะรู้ว่า ดี หรือชั่วกว่ากัน ก็แล้วแต่ กิเลส เป็นผู้ตัดสิน ด้วยว่า พระนิพพาน เป็นที่ปราศจากกิเลสตัณหา ถ้าผู้ใดเบาบางจากกิเลสตัณหา ผู้นั้น ก็เป็นผู้ดี ยิ่งกว่าผู้ยังหนาอยู่ ด้วยกิเลสตัณหา
        ผู้ใด ตั้งอยู่ในนิจศีล (คือศีล ๕) ผู้นั้นชื่อว่า ยังหนาอยู่ด้วยกิเลส แต่ได้ชื่อว่า เป็นผู้บางจากกิเลสได้ชั้นหนึ่ง
        ถ้าตั้งอยู่ในอุโบสถศีล (คือศีล ๘) ได้ชื่อว่า บางจากกิเลสได้ ๒ ชั้น
        ถ้ามาตั้งอยู่ในทศศีล (คือศีล ๑๐) ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า บางจากกิเลสได้ ๓ ชั้น
        ผู้เข้ามา ตั้งอยู่ใน ศีลพระปาฏิโมกย์ [คือ ศีลอันเป็นคำสอนทั้งหมด ที่เป็นไปเพื่อ "โมกข์" หรือ เพื่อความหลุดพ้น ความรู้แจ้ง หรือเพื่อละชั่ว ประพฤติดี ทำใจให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ มิใช่หมายเอาแค่ วินัย ๒๒๗ เท่านั้น] ผู้นั้น ก็ได้ชื่อว่า บางจากกิเลสได้ ๔ ชั้น
        ผล อานิสงส์ ก็มีเป็นลำดับขึ้นไป ตามศีลนั้น ผู้ที่มีศีลน้อย อานิสงส์ก็น้อย ผู้ที่มีศีลมาก อานิสงส์ก็มากขึ้นไป ตามส่วนของศีล
        บุคคลที่มิได้ตั้งอยู่ใน ศีล ๕ ถึงจะมีความรู้ ความฉลาด มากมายสักเท่าใดก็ดี ก็ไม่ควรจะกล่าวประมาท แก่ผู้ที่มีศีล ๕
        ผู้ที่มีศีล ๕ ก็ควรยินดี แต่เพียงชั้นศีลของตน ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาท ในท่านที่มีศีล ๘
        ผู้มี ศีล ๘ ก็ควรยินดี แต่เพียงศีลของตน ไม่ควรที่จะ กล่าวประมาท ในท่านที่มีศีล ๑๐
        ผู้มีศีล ๑๐ ก็ควรยินดี อยู่ในชั้นของตน ไม่ควรจะกล่าวคำประมาท ในท่านที่มีศีลพระปาติโมกข์
        ถ้าแลขืนกล่าวโทษ ติเตียน ท่านที่มีศีล ยิ่งกว่าตน ชื่อว่า เป็นคนหลงทาง เป็นคนห่างจากทางสุข ในมนุษย์ แลสวรรค์ แลพระนิพพานแท้ (คือ มีทางไปทางเดียว อันได้แก่ "นรก")
        ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ไม่มีศีล ปราศจากการรักษาศีล ไม่ควรกล่าว ซึ่งคำประมาท แก่ท่านผู้มีศีล ตัวตั้งอยู่ภายนอกศีล แล้วมาเข้าใจว่า ตัวเป็นผู้ดีกว่าท่านผู้มีศีล แล้วกล่าวคำสบประมาท ดูหมิ่นในท่านผู้ที่มีศีล บุคคลจำพวกนั้น ชื่อว่า เป็นเจ้ามิจฉาทิฏฐิใหญ่ ชื่อว่า เป็นคนหลงทาง เป็นผู้ห่าง จากความสุข ในมนุษย์ แลสวรรค์ [นิพพานนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงเลย สำหรับคนเช่นนี้ และทางที่จะไปของคนผู้นี้ คืออะไร? ก็คิดดูเอง]
        ดูกรอานนท์ บุคคลตั้งอยู่ภายนอกศีลนั้น ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในระหว่าง แห่งกิเลส ยังเป็นผู้หนาแน่น อยู่ด้วยกิเลส แม้จะเป็น ผู้มีความรู้ ฉลาด มากมายสักปานใดก็ตาม ก็ไม่ควรถือตัว ว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล เหตุว่า ผู้ที่ไม่มีศีลนั้น ยังห่างจากพระนิพพานมาก ผู้ที่มีศีลชื่อว่า ใกล้ต่อพระนิพพานอยู่แล้ว ถึงจะไม่รู้อะไร รู้แต่เพียงศีล เท่านั้น ก็ยังดีกว่าผู้ไม่มี ศีล อยู่นั่นเอง เพราะท่านเป็นผู้บางจากกิเลส
        บุคคลที่ หนาแน่นไปด้วยกิเลส แม้จะเป็นผู้รู้มาก แตกฉานในข้ออรรถ แลข้อธรรม ประการใดก็ตาม ก็ควรทำความเคารพ ยำเกรงในท่านที่มีศีล จึงจะถูกต้อง ตามคลองธรรม ที่เป็นทางแห่งพระนิพพาน
        ถ้าให้ ผู้มีศีล เคารพยำเกรงในผู้ที่ไม่มีศีล แลเป็นผู้หนาแน่นด้วยกิเลส เป็นความผิด ห่างจากทางพระนิพพานยิ่งนัก
        [แม้ผู้ที่ได้ผ่านพิธีบวชมาแล้ว จะกี่พรรษาก็ตาม ก็อย่าเพิ่งเข้าใจว่า คนมีศีลแล้วตั้ง ๒๒๗ เป็นอันขาด นั่นมันเป็นเพียงขั้น "สมาทานศีล" ขั้นปฏิญาณตนว่า จะมาประพฤติธรรม โดยจะศึกษา ตามระบบ อธิศีลศึกษา-อธิจิตศึกษา-อธิปัญญาศึกษา
        คือ จะนำ "ศีล" มาศึกษาเพื่อรู้ เพื่อเข้าใจให้ดีถ้วนทั่ว เพื่อจะได้รู้เหตุผล และ รู้ประโยชน์ ที่จะเกิดจะได้กันจริงๆ
        ซึ่งผู้สมาทานนั้น เมื่อเข้าใจดีแล้ว ก็จะต้องอบรมตน ขัดเกลาตน ต้องตั้งใจปฏิบัติ ให้จนถึงขั้น "ศีลวิสุทธิ" หรือ "ปาริสุทธิศีล ๔" นั่นแหละ เป็นอย่างน้อย จึงจะกล่าวได้ว่า ตน "มีศีล" แท้ ซึ่งก็เฉพาะข้อ "ศีล" ที่ตนบริสุทธิ์ หรือ "วิสุทธิ" ได้แล้ว แต่ละข้อๆ ไป
        ที่สุด คือ ผู้ชื่อว่า "มีศีล" สมบูรณ์สูงสุด ก็จะไม่วกเวียน กลับไปมีพฤติกรรมขัดแย้งกับ "ศีล" ข้อนั้นๆ ที่วิสุทธิแล้ว หรือบริสุทธิ์ได้แล้ว จนเป็น "ปกติ" จนเกิด "อธิปัญญา" เห็นดีเห็นจริง ว่า เราอยู่อย่าง "คนมีศีล" ตามข้อนั้นๆ ระบุไว้นั่นแหละ เรา "สุข" สบายแท้ ประเสริฐแท้ ผู้นี้จึงจะ ไม่มีการหันกลับ ไปทำผิดศีลนั้นๆ อีกแน่นอน
        ถ้าจะให้เขาทำ "ผิดศีล" นั้น เขาจะฝืนใจ จะเป็นทุกข์ซ้ำเสียอีก มันจะกลับกันอยู่ดังนี้จริงๆ]
        ดูกรอานนท์ จะถือเอาความรู้ แลความไม่รู้ เป็นประมาณทีเดียวไม่ได้ ต้องถือเอาการละกิเลสได้ เป็นประมาณ เพราะว่าผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องอาศัยการละกิเลส โดยส่วนเดียว
        เมื่อละกิเลสได้แล้ว แม้ไม่มีความรู้มาก รู้แต่เพียงการละกิเลสได้เท่านั้น ก็อาจถึงพระนิพพานได้ อันจักพ้นทุกข์ในนรก แลได้เสวยสุขในสวรรค์ แลพระนิพพาน ก็เพราะละเสียได้ ซึ่งกิเลสอย่างเดียว สิ่งที่ให้คนเราได้รับสุข แลรับทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะกิเลส ครั้นระงับกิเลสได้แล้ว เป็นเหตุให้ได้ประสพสุข แลพ้นจากทุกข์ เมื่อละกิเลสไม่ได้ สุขก็ไม่ได้ ทุกข์ก็ไม่พ้น
        ดูกรอานนท์ การที่จะได้ประสพสุข ก็เพราะละกิเลสต่างหาก ที่มีความรู้ แต่มิได้ละเสียซึ่งกิเลส ย่อมไม่เป็นประโยชน์ แม้แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แก่ผู้มีความรู้นั้น แม้จะรู้มาก แสนคัมภีร์ หรือมีความรู้ หาที่สุดมิได้ก็ตาม ก็รู้อยู่เปล่าๆ จะเอาประโยชน์ อันใดอันหนึ่งไม่ได้
        แลจะให้เป็นบุญ เป็นกุศล แลได้เสวยสุข เพราะ ความรู้นั้น ไม่มี
        เราตถาคต ไม่สรรเสริญ ผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีศีล
        ผู้มีความรู้น้อย แต่เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล เราสรรเสริญ แลนับถือผู้นั้นว่า เป็นคนดี
        ถ้าผู้ใด นับถือผู้ที่มีกิเลส ว่า ดีกว่าผู้ไม่มีกิเลส บุคคลผู้นั้นชื่อว่า ถือศีลเอาต้นเป็นปลาย เอาปลายเป็นต้น
        เอาสูงเป็นต่ำ เอาต่ำเป็นสูง ถ้าถืออย่างนี้ ผิดทางแห่งพระนิพพาน เป็นคนมิจฉาทิฏฐิ
        การที่นับถือบุคคล ผู้หนาไปด้วยกิเลสว่า ดีกว่าผู้ปรารถนา ออกจากกิเลส เราตถาคตไม่สรรเสริญเลย
        บุคคลจำพวกที่เบาบางจากกิเลส ใกล้ต่อพระนิพพาน เราตถาคตสรรเสริญ แลอนุญาต ให้เคารพนับถือ
        การที่ทำบุญทำทาน ทำกุศล ปรารถนาเพื่อจะให้บุญกุศลนั้น พาตนเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าไม่รู้ว่า บำเพ็ญบุญกุศล เพื่อ ให้ช่วยระงับ ดับกิเลส ก็เป็นอันบำเพ็ญเสียเปล่า ได้ชื่อว่า เป็นคนหลงโลก หลงทางแห่งพระนิพพาน
        [การทำบุญ ทำทาน เพื่อนิพพานนั้น คือ ทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ทำอย่างทิ้งขาด ทำอย่างต้องการ จะให้หมดไปจากตัวเรา ทำอย่างไม่หลงไปมัวเมา ยึดถือจะเอาลาภ-ยศ หรือ เพื่อสรรเสริญ หรือ แม้แต่ "สุข" ในใจ ก็ไม่ให้จดจำยึดถือ หรือ มัวเมาหลงใหลยินดี ผูกพันอยู่ทั้งสิ้น
        ต้องทำให้ "ว่างเปล่า" จากอารมณ์ที่เป็น โลกธรรม ใดๆ ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ จริงๆ และ ไม่หวังเสพย์ ผลแลกเปลี่ยนใดๆ แม้แต่สวรรค์ หรือสุข โสมนัส (มุตตจาโค)
        จึงจะ เป็นการฝึกหัด ดัดกิเลส ตัณหา โลภะใดๆ ถ้าไม่เข้าใจเช่นนี้ ยังทำบุญ หวังผลตอบแทนอยู่ มันก็ยังชื่อว่า มีกิเลส มีตัณหา คือ มีการโลภให้ตัวอยู่นั่นเอง จึงเป็นความจริงว่า ยังไม่สิ้นภพ สิ้นชาติ เพราะสวรรค์ก็ยังเป็นภพ แม้สุข โสมนัส ก็ยังเป็นชาติ]
        การที่จะถึงพระนิพพาน ต้องละกิเลสเสียให้สิ้น ถ้ายังละไม่ได้ ก็ไม่ถึงพระนิพพาน ถึงจะรู้มากสักเท่าใดก็ตาม ถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็รู้เสียเปล่าๆ
        เราตถาคต ตั้งศาสนาไว้ ไม่ได้หวัง เพื่อให้บุคคล ผู้ใดผู้หนึ่งบำเพ็ญ หาประโยชน์อย่างอื่น ตั้งไว้เพื่อ ประสงค์จะให้บุคคล บำเพ็ญภาวนา เพื่อให้ระงับดับกิเลส ตัณหาเท่านั้น
        การบำเพ็ญภาวนา เมื่อไม่คิดว่า จะให้ระงับ ดับกิเลสตัณหาแห่งตน ก็ได้ชื่อว่า เป็นคนหลงโลก หลงทาง ส่วนกุศล ที่เกิดจาก การบำเพ็ญภาวนา (อย่างหลงทาง) นั้น จะว่าไม่มีไม่ได้ เช่นนั้น ก็ไม่ปฏิเสธ อันที่จริง ก็หากเป็นบุญ เป็นกุศลโดยแท้ แต่ว่า เป็นทางหลง จากพระนิพพานเท่านั้น
        การกระทำความเพียร บำเพ็ญภาวนา ทำบุญ ทำกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง มากน้อยเท่าใดก็ตาม ก็ให้รู้ว่า บำเพ็ญบุญ กุศลแลเจริญภาวนา เพื่อระงับ ดับกิเลสตัณหาของตน ให้น้อยลง ให้พ้นจาก กองกิเลสนั้น เช่นนี้ ชื่อว่า เดินถูกทางพระนิพพานแท้" และ…
        "…การบวช มิใช่ว่า มุ่งประโยชน์อย่างอื่น บวชเพื่อระงับ ดับกิเลสของตนเท่านั้น ถ้าไม่หวัง เพื่อความดับกิเลสแล้ว ไม่ต้องบวชดีกว่า การที่บวช โดยที่ไม่ได้มุ่งเพื่อดับกิเลส (ให้แก่ตน ให้หมดสิ้นให้ได้) แม้จะมีความรู้วิเศษ สักปานใด ก็ได้ชื่อว่า รู้เปล่าๆ แต่ว่า การที่เป็นผู้มีความรู้ ความฉลาดนั้น เรามิได้ติว่า เป็นรู้ไม่ดี ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล ก็คงเป็นอันรู้อันดี เป็นบุญ เป็นกุศลอยู่นั่นเอง แต่ว่า เป็นความรู้ ที่ผิดจากทางพระนิพพาน" และ....
        "…บุคคลทั้งหลาย เป็นผู้ต้องการพระนิพพาน แต่ หารู้ไม่ว่า พระนิพพานนั้น เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ชั้นแต่ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางไปสู่พระนิพพาน ก็ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ไม่เห็น ไม่เข้าใจแล้ว จักไปสู่พระนิพพานนั้น ก็เป็นการลำบากยิ่งนักหนา เปรียบเหมือนคน ๒ คน ผู้หนึ่งตาบอด ผู้หนึ่งตาดี จะว่ายข้ามน้ำมหานที อันกว้างใหญ่ ในคนทั้ง ๒ นั้น ผู้ใดจักถึงฝั่งข้างโน้นได้ แสนยากลำบาก บางที จะตายเสียในท่ามกลางแม่น้ำ เพราะไม่รู้ไม่เห็นว่า ฝั่งอยู่ที่ไหน
        ข้ออุปมานี้ฉันใด คนไม่รู้แจ้งว่า พระนิพพานอยู่ที่ไหน? เป็นอย่างไร? ชั้นแต่ทางจะไป ก็ไม่เข้าใจ เป็นแต่อยากได้ อยากถึง อยากไปพระนิพพาน เมื่อเป็นเช่นนี้ การได้ การถึงของผู้นั้น ก็ต้องเป็นของลำบาก ยากแค้นอยู่ เป็นธรรมดา บางที ก็ตายเสียเปล่า จักไม่ได้เห็น เงื่อนเค้าของพระนิพพานเลย
        ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า พระนิพพาน อยู่ที่สุดของโลก [คือ ที่ที่หมดโลกีย์ หมดจากรสโลกีย์ หรือ หมดจากสวรรค์เก๊ๆ สวรรค์เสพสมสุขสม ตามความใคร่อยาก ซึ่งเป็นสวรรค์แท้ๆ หรือสวรรค์อริยะ แม้กระนั้น ก็ยังมี "นิพพานพรหม" และ "นิพพานพุทธ" อยู่ในจิตวิญญาณ ละเอียดเข้าไปอีกเป็นที่สุด ยังจะต้องไปแยกแยะ ศึกษากันในชั้นละเอียดนั้นอีกที]
        ศีล-สมาธิ-ปัญญา เป็นทางไปพระนิพพาน ถ้ารู้อย่างนี้ ยังจะมีทาง ที่จะถึงพระนิพพานได้บ้าง แม้เมื่อรู้แล้วอย่างนั้น ก็จำต้องพากเพียร พยายามเต็มที่ จึงจะถึง เหมือนคนตาดีว่ายข้ามน้ำ ก็ยังต้องพยายาม จนสุดกำลัง จึงจะข้ามพ้นได้ มีอุปไมยเหมือนกัน ฉะนั้น"
        จาก "เขตตสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สมณวรรคที่ ๕ ข้อ ๕๒๓ ก็มีว่า:-
        "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้น กิจที่ภิกษุจะต้องทำก่อน มีสามอย่างเหล่านี้ สามอย่างอะไรกันเล่า สามอย่างคือ การสมาทานการปฏิบัติ ในศีลอันยิ่ง (อธิศีล) และการสมาทานปฏิบัติ ในจิตอันยิ่ง (อธิจิต) และ การสมาทานปฏิบัติ ในปัญญาอันยิ่ง (อธิปัญญา) ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ภิกษุจะต้องทำก่อน มีสามอย่างเหล่านี้แล
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า ความยินดีของเรา จักต้องแรงกล้า ในการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง ในการสมาทาน การปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และ ในการสมาทานการปฏิบัติ ในปัญญาอันยิ่ง ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล"
        จาก "อัจจายิกสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โลณผลวรรคที่ ๕ ข้อ ๕๓๒ มีว่า:-
        "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจของคฤหบดี ชาวนาที่เขาจะต้องรีบทำ สามอย่างเหล่านี้ สามอย่างอะไรบ้างเล่า สามอย่าง คือ คฤหบดี ชาวนารีบๆ ไถคราดพื้นนาให้ดีเสียก่อน ครั้นแล้วก็รีบๆ ปลูกพืช ครั้นแล้วก็รีบๆ ไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจของคฤหบดี ชาวนา ที่เขาจะต้องรีบทำ มีสามอย่างเหล่านี้แล แต่ว่า คฤหบดี ชาวนานั้น ไม่มีฤทธิ์ หรืออานุภาพ ที่จะบันดาลว่า ข้าวของเรา จงงอกในวันนี้ ตั้งท้องพรุ่งนี้ สุกมะรืนนี้ ดังนี้ ได้เลย ที่ถูก ย่อมมีเวลาที่ข้าวนั้น เปลี่ยนแปรสภาพไป ตามฤดูกาล ย่อมงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้น กิจของพระภิกษุ ที่เธอจะต้องรีบทำมีสามอย่างเหล่านี้ สามอย่างอะไรบ้างเล่า สามอย่างคือ การสมาทานการปฏิบัติ ในศีลอันยิ่ง การสมาทานการปฏิบัติ ในจิตอันยิ่ง และการสมาทานการปฏิบัติ ในปัญญาอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจของภิกษุ ที่เธอจะต้องรีบทำ มีสามอย่างเหล่านี้แล แต่ว่า ภิกษุนั้น ก็ไม่มีฤทธิ์ หรืออานุภาพ ที่จะบันดาลว่า จิตของเรา จงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะ ไม่มีอุปาทานในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ ดังนี้ได้เลย ที่ถูก ย่อมมีเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติไป แม้ในศีลอันยิ่ง ปฏิบัติไป แม้ในจิตอันยิ่ง และปฏิบัติไป แม้ในปัญญาอันยิ่ง จิตก็จะหลุดพ้น จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีอุปาทานได้เอง
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ ว่า ความยินดีของเรา จักต้องแรงกล้า ในการสมาทานปฏิบัติ ในศีลอันยิ่ง ในการสมาทานการปฏิบัติ ในจิตอันยิ่ง และ ในการสมาทานการปฏิบัติ ในปัญญาอันยิ่งดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ อย่างนี้แล"
        จาก "วัชชีปุตตสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สมณวรรคที่ ๕ ข้อ ๕๒๔ ก็มีว่า:-
        "สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภิกษุวัชชีบุตร รูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ ทุกกึ่งเดือน [คือ พระวินัยที่ให้ยึดมาปฏิบัติ จะนำมาตรวจสอบ ทบทวนหัวข้อต่างๆ สู่กันฟัง ในหมู่สงฆ์ทุกๆ ครึ่งเดือน เรียกว่า ฟังพระปาฏิโมกขุทเทส ก็คือ พระต้องทบทวนศึกษา และ ต้องพยายามปฏิบัติ "วินัย" เหล่านี้ ให้เป็นผลนั่นเอง รวมกับ เสขิยวัตร และ อธิกรณสมถะเข้า ก็เป็น ๒๒๗ ข้อ แล้วก็เข้าใจกันว่า เป็น "ศีลของพระ" และเลยยึดว่า พระจะต้องถือศีล หรือ สิกขาใน "ศีล" เพียงเท่านี้ แท้จริงนั้น "ศีลของพระ" มียิ่งกว่านี้ นี่มันเป็นเพียง "ศีลอาชญา" หมู่หนึ่ง อันเทียบได้กับ "กฎหมาย" บ้านเมืองเท่านั้น และคำว่า "ศีล" กับ "วินัย" นั้น ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่อีกมาก โปรดติดตามศึกษาในบทที่ ๓ โน่นเถิด] ข้าพระองค์ ไม่สามารถที่จะศึกษา ในสิกขาบทนี้ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ ก็ท่านสามารถจะศึกษา ในสิกขาทั้งสาม คือ ในอธิศีลสิกขา ในอธิจิตสิกขา และในอธิปัญญาสิกขา ได้ล่ะหรือ?
        ภิกษุวัชชีบุตรทูลตอบ "ข้าพระองค์สามารถที่จะศึกษา ในสิกขาทั้ง ๓ นั้นพระเจ้าข้า"
        "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอจงศึกษา ในสิกขาทั้ง ๓ คือ ในอธิศีลสิกขา ในอธิจิตสิกขา ในอธิปัญญาสิกขา [สิกขานี้ หมายถึง ทั้งปริยัติ ปฏิบัติปฏิเวธ] เมื่อใดแล เธอจักศึกษาทั้ง ศีลอันยิ่ง (อธิศีล) บ้าง ทั้งจิตอันยิ่ง (อธิจิต) บ้าง ทั้งปัญญาอันยิ่ง (อธิปัญญา) บ้าง เมื่อนั้น เธอผู้กำลังศึกษา ในศีลอันยิ่ง จิตอันยิ่ง ปัญญาอันยิ่งอยู่ จักละ ราคะ ละโทสะ และละโมหะได้ เพราะการละราคะ โทสะ โมหะได้ นั้นเอง เธอจักไม่กระทำ สิ่งอันเป็นอกุศล และ จักไม่เสพสิ่งที่เป็นบาป โดยแท้"
        จาก "คิริมานนทสูตร" พระพุทธองค์ ก็ตรัสถึง รายละเอียดเรื่องนี้ ไว้เช่นกันว่า:-
        "…การรักษาศีลพระปาติโมกข์ ก็ดี การรักษาข้อธุดงควัตร นั้นก็ดี ก็เป็นอันประมวลลงใน "ศีล" นั้นทุกอย่าง มิใช่ว่า จะรักษามากมายหลายสิ่ง หลายอย่าง จนสิ้นจนหมด หามิได้ รักษาศีลพระปาติโมกข์ก็ดี รักษาธุดงควัตรก็ดี ก็ไม่เพื่อประโยชน์อย่างอื่น เพื่อความระงับ ดับกิเลส อย่างเดียวเท่านั้น เมื่อรู้ว่า กิเลสเป็นเค้าเงื่อน แห่งกองทุกข์ กองโทษ กองบาป กองกรรม เช่นนั้นแล้ว ข้อวัตรอันใด ที่เป็นไป เพื่อจะ ยกตนออกจากกิเลสได้ ก็จงกระทำข้อวัตรอันนั้น ให้บริบูรณ์เถิด การรักษาศีลพระปาติโมกข์ แลรักษาธุดงควัตรทุกอย่าง เมื่อมิได้เข้าใจว่า เพื่อความระงับดับกิเลส ก็ชื่อว่า เป็นการรักษาเปล่าๆ เมื่อเรารู้ว่า รักษาเพื่อระงับ ดับกิเลส ไม่ได้รักษาเพื่ออย่างอื่นแล้ว แม้จะรักษาแต่เล็กแต่น้อย โดยเอกเทศ ไม่ครบตามจำนวน ในพระปาติโมกข์ ในจำนวนแห่งธุดงควัตร ก็ได้ชื่อว่า เป็นอันรักษาครบทุกอย่าง เพราะ จับต้นจับรากเหง้าแห่งกิเลสได้แล้ว" และ…
        "ดูกรอานนท์ การที่รักษาแก้ว ไม่ดี ไม่มีราคา แม้จะรักษามากหลายพันดวง ก็สู้ผู้ที่รักษาแก้วที่ดี มีราคาดวงเดียวไม่ได้ แก้วที่ไม่ดี ไม่มีราคา จะขายก็ไม่ได้ จะเก็บไว้ก็ไร้ประโยชน์ ตกลงต้องรักษาไปเปล่าๆ ส่วนแก้วที่มีราคานั้น จะขายก็ได้เงินมาก หากจะเก็บไว้ ก็มีประโยชน์แก่ตน แลการเรียนมนต์ แลเรียนคาถาที่ไม่ดี ก็ไม่ขลัง แม้จะเรียนตั้งร้อย ตั้งพันบท ก็สู้มนต์แลคาถาที่ดี ที่ขลัง บทเดียวไม่ได้ แม้การที่รักษา พระวินัยบัญญัติ แลข้อวัตร ก็เหมือนกันเช่นนั้น เมื่อรู้ประโยชน์แห่งศีล แลข้อวัตรแล้ว ก็ไม่ต้องรักษามาก เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็รักษาพร่ำเพรื่อไป จนไม่มีเขตแดน จึงต้องได้รับความลำบาก เหมือนผู้ที่ไม่รู้การงาน ต้องแบก เอาไม้ทั้งเปลือก ทั้งกระพี้ ทั้งส่วนยาวไปเปล่าๆ ฉะนั้น ผู้มีปรีชา ท่านรักษาวินัย แลข้อวัตรไม่มาก แต่หากได้รับอานิสงส์เพียงพอ เหมือนอย่างผู้รักษาแก้วดีดวงเดียว หรือ ผู้ที่เรียนมนต์ แลคาถาที่ดี ที่ขลังบทเดียวเท่านั้น ก็ให้สำเร็จประโยชน์ได้เต็มที่ ฉะนั้น" (แต่ต้องเป็นจริงนะ มิใช่แบบฉลาดแกมโกง) และ…
        "ปราชญ์ผู้มีปรีชา เมื่อออกบวชแล้ว ท่านย่อมพิจารณา เห็นแจ้งซึ่งประโยชน์ แลสิ่งซึ่งมิใช่ประโยชน์ ท่านพิจารณาเห็นแจ้งซึ่ง "ศีล" แลข้อวัตรที่หนักเบา แล้วท่านไม่ต้องรักษา มากมายหลายอย่าง หลายประการนัก เลือกรักษาแต่เล็กแต่น้อย ก็ย่อมได้รับความสุขกายสบายใจ ผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญานั้น ย่อมรักษามากมาย หลายอย่างต่างๆ นานา เพราะเหตุที่ต้องรักษามากเกินไป จึงเป็นทุกข์ ผู้ที่มีปัญญาแล้ว ย่อมเลือกรักษา แต่สิ่งที่จริงที่แท้ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ย่อมนำมา ซึ่งความสุข" [และไม่ไปละเมิดในสิ่งผิดๆ อันจะทำให้ก่อทุกข์ทั้งไม่เป็นทางพาโลกหลงผิด จากทางสุขสันติเอาด้วย] และ…
        "ดูกรอานนท์ เราตถาคตเทศนาไว้ โดยอเนกปริยายนั้น ก็เพื่อจะให้หมู่ปุถุชนคนเขลา เห็นเป็นอัศจรรย์ แลเพื่อให้ได้รับความเชื่อ ความเลื่อมใส เมื่อพาลชนทั้งหลาย ไม่เห็นเป็นอัศจรรย์แล้ว ก็จักไม่มีความเชื่อ ความเลื่อมใส ในคุณของพระตถาคต ถ้ากล่าวแต่น้อยพอเป็นสังเขป ก็ไม่เข้าใจ ไม่เหมือนผู้ที่มีบุญวาสนา แม้จะกล่าวแต่เพียงเล็กน้อย ก็เข้าใจได้มากมายหลายอย่าง หลายนัย
        ธรรมชาติผู้ที่มีปัญญาแท้ ไม่ต้องกล่าวอะไรเลย ก็รู้ได้ ด้วยปัญญาของตนเอง ไม่ต้องไปกล่าวเป็นการลำบาก เรา ตถาคตได้รับความลำบาก เพราะพาลปุถุชนเท่านั้น ว่ากล่าวสั่งสอน แต่เพียงเล็กน้อย ก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาถือว่า เขาดีเสียแล้ว แท้ที่จริง ความรู้ของเหล่าพาลชน จะรู้ดีไปสักเท่าไร ก็ดีอยู่แต่ เพียงมีลมอัสสาสะ ปัสสาสะเท่านั้น ถ้าลมอัสสาสะ ปัสสาสะขาดแล้ว ก็มีแต่เน่า เป็นเหยื่อหนอน นอนกลิ้งเหนือแผ่นดิน จะหาสาระสิ่งใดไม่มีเลย มีแต่ เครื่องอสุจิ เต็มไปสิ้นทั้งนั้น… เราตถาคต เบื่อหน่ายความรู้ ความดี ของพาลปุถุชนมากนัก"
        [ดังนั้น ผู้รู้มาก (รู้ในภาษาบ้าง รู้ในปฏิภาณเฉลียวฉลาดบ้าง แต่มิใช่รู้หลักดับกิเลส หรือ ไม่รู้ใน "ศีลอเสขะ สมาธิอเสขะ ปัญญาอเสขะ วิมุติอเสขะ วิมุติญาณทัสสนอเสขะ นั่นเอง) จึงมีมากมิใช่น้อย แต่ "รู้" เพื่อตัว เพื่อตน รู้แบบแกมโกง จับหลักแท้ยังไม่ได้ ถ้า "รู้" แบบนี้ จึงจำเป็นเหลือเกิน ที่จะต้องให้เกาะ ให้ยึดพระวินัย และให้เกาะศีลทั้งหมด โดยเฉพาะ จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล (แต่ การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น กลับเลือกตัด "ศีล" ทิ้ง และ ขจัดออกเสียซ้ำ)
        ส่วนผู้เข้าใจ "พระโอวาทปาฏิโมกข์" ถ้วนดี เข้าใจแท้ถึงเนื้อหาอัตถะ ธรรมะ ภาษา ปฏิภาณ จริง จึงจะไม่ปฏิเสธว่า ทุก "โอวาท" ของพระพุทธเจ้า ล้วนเป็นไปเพื่อ "วิโมกข์" คือ เพื่อจะนำมาปฏิบัติ ให้หลุดพ้น ล้วนเป็น "ข้อวัตร" หรือ "ศีล" ที่เราจะต้องคำนึงสังวร และปฏิบัติไม่ให้ละเมิด ไม่ทำในสิ่งที่พระพุทธองค์ห้าม หรือ ปราม จะทำในสิ่งที่เหมาะควรทั้งสิ้น ทีเดียว]
        จาก "ศีลสูตร" ปาริสุทธิศีล ๔ พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต จรวรรคที่ ๒ ข้อ ๑๒
        "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาฏิโมกข์สมบูรณ์ อยู่เถิด จงเป็นผู้สำรวม ในปาฏิโมกข์สังวร มีมารยาท และโคจรสมบูรณ์อยู่เถิด จงมีปกติ เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย ซึ่งมีประมาณเล็กน้อย [หมายความว่า: มีมารยาท ทั้งอาการแสดงออก เคลื่อนไหว ทั้งการเป็นอยู่ไปมา ล้วนประกอบไปด้วย ความถูกต้องตามศีล ไม่ใช่ ยังละเมิดศีล "อยู่" แต่จะยิ่งกลับรู้ตัว รู้ตนชัดด้วยซ้ำไปว่า แม้การละเมิด "ศีล" เพียงเล็กน้อย ไม่ว่า ทางกาย ทางวจี แม้ทางใจ ก็ระวังว่าจะเป็นพิษ เป็นภัย จะเป็นโทษ] เธอทั้งหลาย จงสมาทาน ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอทั้งหลาย สมบูรณ์ด้วยศีล เช่นนั้นแล้ว อะไรเล่า เป็นกิจที่พวกเธอ จะต้องทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป?
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเดินอยู่ ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนตื่นอยู่ก็ตาม อภิชฌา และพยาบาท ของภิกษุนั้น ก็ปราศจากไปแล้ว ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา ของเธอ ก็ละได้แล้ว (คือ ละนิวรณ์ ๕) ความเพียร ก็ปรารภแล้ว ไม่ย่อหย่อน สติก็ตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับ ไม่กระสับกระส่าย จิตก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่งแน่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นได้เช่นนี้ แม้จะเดินอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนตื่นอยู่ก็ตาม เราเรียกว่า ผู้มีความเพียร เผากิเลส มีความกลัว ต่อโทษแห่งวัฏฏะ เป็นผู้ปรารภ ความเพียรติดต่อ สม่ำเสมอเป็นนิจ เป็นผู้มีตนส่งไปในแนว แห่งความหลุดพ้นตลอดเวลา ดังนี้" [จงสังเกตคำตรัสนี้ให้ดี เพราะหมายถึง ผู้บรรลุ "ฌานลืมตา" คือ หมดนิวรณ์กิเลส มีจิตเป็นฌาน เลยทีเดียว มีสติครองตน ระวังสังวรอยู่เสมอเป็นนิจ แม้จะเดินอยู่ นั่งอยู่ นอนตื่นอยู่ ทำงานทำการใดๆ อยู่ หรือ อยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็เป็น "ฌาน" นั่นเอง]
        จาก "สีลวเถรคาถา" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา ทวาทสกนิบาต ข้อ ๓๗๘
        "ท่านทั้งหลาย พึงศึกษาศีล ในศาสนานี้ ด้วยว่า ศีล อันบุคคลศึกษาดีแล้ว สั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวง มาให้ในโลกนี้
        นักปราชญ์ เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือ ความสรรเสริญ ๑ (ปสังสัง) การได้ความปลื้มใจ ๑ (วิตฺติลาภัญจ) ความเบิกบานในสวรรค์ เมื่อล่วงลับไปแล้ว ๑ (เปจฺจ สัคเค ปโมทนัง)
        พึงรักษาศีล ด้วยว่า ผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก
        ส่วนผู้ทุศีล ประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร
        นรชนผู้ทุศีล ย่อมได้รับการติเตียน และ ความเสียชื่อเสียง
        ส่วนผู้มีศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญ และชื่อเสียงทุกเมื่อ
        ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นมารดา แห่งคุณความดีทั้งหลาย
        และเป็นประธาน แห่งธรรมทั้งมวล
        เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์
        สังวรศีล เป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทร คือ นิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง
        เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์
        ศีล เป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้
        ศีล เป็นอาวุธอันสูงสุด
        ศีล เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ
        ศีล เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์
        ศีล เป็นสะพานที่มีศักดิ์ยิ่งใหญ่
        ศีล เป็นกลิ่นหอม ที่ไม่มีกลิ่นอื่นยิ่งกว่า
        ศีล เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
        ศีล เป็นการสะสมพลังอย่างเลิศ
        ศีล เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม
        ศีล เป็นพาหนะอันประเสริฐยิ่งนัก
        ศีล เป็นเครื่องขจรไปทั่วทิศานุทิศ
        คนพาล ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทา ในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้
        เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัส ในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป
        ธีรชน ผู้มีจิตตั้งมั่น ด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญ ในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้
        ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขโสมนัส ในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจ ในที่ทุกสถาน ในโลกนี้
        ศีล เท่านั้น เป็นยอด และ ยิ่งเป็นผู้มีปัญญา ก็ยิ่งเยี่ยม สูงสุดในโลกนี้
        ความชนะ ในมนุษยโลก และเทวโลก ย่อมมีได้ เพราะศีล และปัญญา"
        จาก "สีลวีมังสนชาดก" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก ข้อ ๘๖
        "กิรดั่ง ได้ยินมาว่า ศีล เป็นคุณชาติงาม (สีลัง กิเรว กัลยาณัง)
        ศีล เป็นเยี่ยมในโลก (สีลัง โลเก อนุตตรัง)
        เชิญดูงูใหญ่ มีพิษร้ายแรง เป็นสัตว์มีศีล เหตุนั้น จึงไม่เบียดเบียนใคร"
        "พระพุทธพจน์" พระคาถา เถระเถรี ทั้งหมด ที่นำมานี้ เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งพระบรมศาสดา ของเราทั้งหลาย ตรัสชี้แจง แยกแยะ ย้ำถึงข้อความคำสอน อันสำคัญๆ เอาไว้ ผู้ใดอ่านดีๆ ตั้งใจคิด พิจารณาให้ดีๆ ก็จะไม่ "หลงทาง"

        ปัจจุบันนี้ "ศีล" นั้น เป็นเรื่องที่คนไทย แม้จะได้ชื่อว่า

อ่านต่อ หน้า 4 ปัจจุบันนี้ "ศีล" นั้น

 

 
page: 3/8
   Asoke Network Thailand