page: 8/10

เลือกโศลกธรรม ตอนที่ [1-20] [21-40] [41-60] [61-80] [81-100] [101-120] [121-140] [141-160] [161-180] [181-191]

โศลก 141 - 160 :
141 | 142 | 143 | 144 | 145 | 146 | 147 | 148 | 149 | 150 | 151 | 152 | 153 | 154 | 155 | 156 | 157 | 158 | 159 | 160 |

 

141. เราหาเงินเก่ง ก็ดีอยู่ และก็เก่งแล้ว ถ้าเราหัดทำ "ทาน" ด้วยเงินนั้นได้ ก็จะยิ่ง "เก่ง" ยิ่ง "ดี" ขึ้นไปอีก เราอยากอร่อย อยากสนุกสนาน เพลิดเพลิน แล้วก็ช่วยตนแสวงหามา จนได้เสพย์ความสุข เพราะอร่อย เพราะสนุกสนาน เพลิดเพลินสมใจ นั่นก็ "เก่ง" แล้ว แต่ถ้าหัดเลิกเสพย์ เลิกติด เลิกสุขเพราะอร่อย เลิกสุขเพราะสนุกสนาน เพลิดเพลินสมใจนั้นได้ ก็จะยิ่ง"เก่ง" ยิ่ง"ประเสริฐ" ขึ้นไปอีก
(10 ต.ค. 2521)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


142. คนหลง "กาย" ก็คือผู้หลงตัว
คนหาย "กลัว" ก็คือคนพ้นตาย
(11 พ.ย. 2521)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


143. "ชีวิต" คือการเรียนรู้ เพื่อจะรู้"ทุกข์" แล้วปรับตนให้ "พ้นทุกข์" ฝึกตนให้ "พ้นทุกข์"
"ชีวิต" ไม่ใช่คือ การใช้จ่ายความทดลอง เพื่อ"ชิม" เพื่อ"แข่งขัน" เพื่อ"สั่งสมจิตให้มีกิเลสเพิ่มขึ้น"
ผู้ฉลาดแท้ และรู้ทันความจริง ดั่งว่านี้เท่านั้น จึงจะมี "ชีวิต" บรรลุผลสำเร็จใน "ชีวิต" ได้ เมื่อพากเพียร ทำให้ถูกตรง อย่างสำคัญจริงจัง มิฉะนั้นแล้ว เขาผู้นั้น จะไม่มีทั้งทาง และโอกาสประสบผลสำเร็จ ใน"ชีวิต"เลย แม้เขาจะได้"ชิม" ความสุขสมใจ มากล้นสุดล้น เท่าใดๆ ก็ตาม แม้เขาจะได้ "ชนะ" ยิ่งใหญ่เหนือใคร! เหนือคนทั้งโลก ด้วยยศ ด้วยเกียรติ ด้วยวัตถุสมบัติยิ่งยอด เท่าใดๆ ก็ตาม หากเขาไม่รู้แจ้งเห็นทุกข์ เพราะ "กามตัณหา" และ "ภวตัณหา" อย่างชัดแจ้งแท้จริงแล้ว "ชีวิต" ก็จะยังคงไม่มีคำว่า "จบ" หรือ "สำเร็จเสร็จสิ้น"
(20 ต.ค. 2521)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


144. ความเบิกบานร่าเริงสบายใจ นั้นแหละ คือ พุทธะ แต่ความหมักหมมเรื่องไม่สบายใจ วุ่นใจไว้ในจิต นั้นต่างหากคือ กิเลสตัวสำคัญร้ายกาจ จะต้องรู้จักกิเลส แล้วสาวหาเหตุมันให้ได้ และทำความเข้าใจมันให้ถึงที่สุด แล้วเราจะโปร่งใจ เบิกบานร่าเริง สบายใจ เป็น "พุทธะ"
(16 พ.ย. 2521)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


145. ทุกขณะจิต เราจะต้องพยายามรู้จักอารมณ์ ของเราอยู่เสมอ เมื่ออารมณ์จิตขณะใด ไม่เป็น"พุทธะ" เราต้องรีบแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนมัน มาสู่ความเป็น "พุทธะ" ที่ยิ่งที่แท้ให้ได้เสมอๆ นั่นคือ บทฝึกหัดไปสู่ นิพพานที่จริง
(25 ธ.ค. 2521)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


146. มีสิ่งที่เราควรเลิก-ควรทำ หรือควรเปลี่ยนไปเป็นอื่น อยู่ทุกวัน สำหรับผู้มี "อธิปัญญา" และเข้าใจแท้ใน "วุฑฒิ" หรือ "ความเจริญขึ้น" แห่งมนุษย์และสิ่งทั้งหลาย ได้จริงแท้แล้ว
(8 ม.ค. 2522)
- กลับไปที่หัวเรื่อง


147.
"เด็ดขาด" ให้แก่ตน แล้วเราจะเห็น "ความพ้นทุกข์" ที่จริง
"อาจหาญแกล้วกล้า" แล้วเราจะเห็น "ความก้าวหน้า" ที่ชัด
"ร่าเริง" อย่างสงบสงัดได้แล้วเราก็คือ "พุทธะ" ที่แท้
(8 ม.ค. 2522)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


148. "ความสงบ" มิใช่ ความโดดเดี่ยวเดียวดายว้าเหว่ หรือ หลบไปหยุดนิ่งโง่ๆ อยู่ แต่คือ ความสร้างสรรจรรโลง ที่เจริญงอกงาม ของกลุ่มหมู่ ที่ยิ่งขยายโตขยายใหญ่ มากขึ้นๆ ไป ได้อย่างดี อย่างเรียบร้อย ราบรื่น สุขเย็น เบิกบานใจ ไม่เดือดร้อนวุ่นวายเลย นั่นต่างหาก
(3 ก.พ. 2522)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


149. "นิพพาน" ไม่ใช่ความเปล่าดาย หรือไม่ใช่ความว่างๆ เปล่าๆ ความไม่มีอะไร อย่างหมดค่า -หมดท่าหรอก!
แต่เป็น "ความว่าง" ที่สูงค่าและน่าศรัทธาเทิดทูน ในบทบาททีท่ายิ่งนัก เป็น "ความไม่มี" (กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน) ที่ "มี" (ความเสียสละ) อย่างเห็นๆ เด่นๆ อยู่ในโลกที่แท้จริง จริงๆ
(3 ก.พ. 2522)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


150. "นิพพาน" หรือ "สันติธรรม" นั้น มิใช่ความหนึ่งเดียวที่ไม่มีใครอื่น หรือไม่เห็นคนอื่น จริงๆ! แต่เป็นความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ได้ยิ่งๆ ขึ้นกับคนอื่นมากมาย หมู่อื่นยิ่งๆขึ้น สังคมอื่นโตใหญ่ไพศาลขึ้น สากลอื่นที่กว้างยิ่งขึ้น ขยายยิ่งๆขึ้น อย่างเกื้อกูล เสียสละ สามัคคีกันได้แท้จริง และจริงใจต่างหาก
(3 ก.พ. 2522)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


151. ผู้ที่ "กิน" ไม่เป็น ก็ยังเหมือนเช่นเศรษฐีโง่ๆ คนหนึ่ง ที่จะอยู่อย่างล้างอย่างผลาญพล่า (แม้เงินเขาจะมีมาก ไม่รู้จักหมดก็ตาม) และตายฉุๆ บวมๆ เหม็นๆ ในที่สุด เพราะไม่มีปัญญาจริงๆ ที่จะรู้เท่าทัน รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ของสิ่งที่จะ "กิน" ทั้งมวลด้วย "โลกุตรปัญญา" และฝึกหัด อด-ลด -จนกินอย่าง "อริยะ" แท้ได้ ผู้หยุดบทบาทแห่งการ "สร้างลูก" ไม่ได้ ก็เพราะยังดับสนิทถึง "กามราคะ" ในอนุสัย เป็นที่สุดไม่ได้ ก็เท่ากับหมาตัวหนึ่ง ที่มันก็หยุดการกระทำนี้ ให้แก่ตนเองไม่ได้ดอก! เพราะมันยังมีสัญชาติ แห่งเดรัจฉาน อยู่จริงๆ
(3 ก.พ. 2522)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


152. "ความรุนแรง" มิใช่ เราทนได้! แต่คือ ผู้อี่นทนไม่ได้ ต่างหาก! บัณฑิตย่อมประมาณ "ความรุนแรง" นั้นๆ ด้วยเมตตา เต็มเปี่ยมจริงใจ จริงๆ จึงแสดงออก
(3 ก.ย. 2522)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


153. ผู้ฉลาด ย่อมสะสมธรรม ผู้โง่อยู่เท่านั้น ที่ยังหลงสะสม โลกียวัตถุ
(7 มี.ค. 2522)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


154. คำว่า "สงบ" ของพุทธศาสนาที่แท้จริง มิใช่ความโดดเดี่ยวเดียวดายว้าเหว่ หรือ หลบไปมุดหยุดว่างๆ นิ่งๆ กบดานอยู่ แล้วไม่ต้องรู้อะไร ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องสร้างอะไร อย่างไร้คุณ-ไร้ค่า เช่นนั้น ไม่หรอก! แต่คือ ความสร้างสรรจรรโลง ที่เจริญงอกงาม ตั้งแต่คนหนึ่ง ไปจนถึงกลุ่มหมู่มนุษย์ ที่ยิ่งขยายโตขยายใหญ่ มากขึ้นๆ ไปได้อย่างดี อย่างเรียบร้อยราบรื่น สุขเย็นเบิกบานใจ ไม่เดือดร้อน -ไม่วุ่นวายเลย นั่นต่างหาก จึงจะชื่อว่า ถูกต้องตรงตาม พระพุทธพจน์ที่ว่า "พหุชนหิตายะ ปฏิปันโน โหติ พหุชน สุขายะ"
(7 มี.ค. 2522)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


155. รูปสวย-สีงาม-รสอร่อย… ฯลฯ หรือ สภาพที่สัมผัสชวนให้สุขใดๆ นั้นมัน "หลอก" คนเก่งที่สุด ถ้าไม่ "รู้" ให้ทัน แล้ว "ฆ่า" มันให้ถูก เราก็จะไม่มีหวังได้ "นิพพาน"
(5 ก.ค. 2522)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


156. เห็นไหมเอ่ย! ว่าอาตมาอยู่ท่ามกลางแสง-สี-กลิ่น-รส ฯลฯ ตกแต่งประดับประดา ชูช่อชูเชิดเอิกเกริก ออกปานใดๆ แต่นั่นแหละ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันไม่ใช่อะไรของอาตมาเลยจริงๆ มันมี "ค่า" จริงๆ แต่เกินกว่าอาตมา จะหลงติดมันแล้วเด็ดขาด
(5 ก.ค. 2522)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


157. ถ้ารัก "พระ" อย่าเลี้ยงพระให้เป็นหมู ถ้ารัก "ครู" อย่าหลงครูให้เป็นควาย
(2 ส.ค. 2522)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


158. วิบากกรรม นั้นเป็นของต้องมีต้องเป็น มนุษย์ผู้ฉลาดย่อมไม่หยุดยั้ง ในการสั่งสม คุณธรรมความดีอีก และอีก-อีก อยู่ทุกลมหายใจ แม้จะล้ม ก็ต้องลุกขึ้นทุกเมื่อ เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ปราชญ์หรือพระอริยเจ้าแท้ ย่อมรู้ว่า คือ การเกิดมาเพื่อ สั่งสมความดี มิใช่เกิดมาเพื่อทำชั่ว หรือ แม้แค่ท้อถอย ในการทำความดีเลย
(10 ส.ค. 2522)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


159. อริยภูมินั้น เจ้าตัวรู้เห็นเป็นเอง พิสูจน์เถิด! เมื่อคุณได้ คุณมี คุณเห็นขึ้นแล้ว คุณจะไม่สงสัยเลย แม้ใครๆ จะไม่เห็น ไม่ได้อย่างคุณเห็น แถมเขาจะโต้แย้ง ตู่ท้วง เราก็จะเข้าใจเขาอยู่ และจะเห็นใจเขาผู้ยังไม่ได้ ไม่ถึงนั้นอีกด้วย
(13 ส.ค. 2522)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


160. บทปฏิบัติใดที่ "เป็น" ได้แล้วดีแล้ว มีผลเห็นผลและ "เป็น" จนมั่นใจแล้ว ก็จงเพิ่มบทปฏิบัติใหม่ให้ "เป็น"ใหม่ ได้ใหม่ให้ดีอีก มีผลเห็นผลอีก เรื่อยๆ ไปดั่งนี้แล คือ ผู้เดินทางเข้าหานิพพาน
(29 ส.ค. 2522)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


 

 

   อ่านต่อ อันดับ 161-180
page: 8/10
   Asoke Network Thailand