[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 1/8
Close

สารบัญ
[1] |
[2] |
[3]
|
[4]
|
[5]
|
[6]
|
[7]
|
[8]
|

ค่าอย่างไรที่สังคมควรนิยม... จากชาวอโศก เพื่อปวงชน 


แสงสว่าง สาดส่องไม่ถึง
มันก็ทำให้ความมืดดำเกิดอยู่
และ แสงสว่างที่จ้าไป จัดไป
มันก็ทำให้ เราไม่เห็นความจริง
บนเนื้อหาสาระนั้น ได้เลย
เช่นกัน

ปัญญามืด (ไม่มีความรู้)
ก็ไม่เห็นสัจธรรม
ปัญญามากเกินไป (ความรู้มาก)
ก็ไม่เห็น สัจธรรม
ได้โดยนัยะเดียวกันนั่นแล

ฉะนั้น จง "รู้" จุดพอดี
จุดแห่งการลงตัว หรือจุดหยุด (ยุติธรรม)
แห่งสิ่งทั้งหลาย ให้ได้กันเกิด

 

...... แล้ว "ค่า" อย่างไรล่ะพี่ ที่สังคม เขานิยมกัน อยู่เดี๋ยวนี้?

...... ก็ "ค่า" .....เอ้อ .....เอ้อ .....เอ ..... เดี๋ยวขอโอกาส พี่อ่านดู ความเป็นจริง เขาอีกครั้งหนึ่ง ก่อน ได้ไหม ค่อยตอบ !

 

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ใครเขาชี้ความผิดให้แก่เรานั้น ผู้นั้น คือผู้ชี้ ขุมทรัพย์ ให้แก่เราแท้ๆ" ...... มันน่าจะดีใจ และ ควรขอบคุณเขาเสียด้วยซ้ำ แต่คนเรานั้น เมื่อยังเข้าใจ ในความปรารถนาดี ดั่งนี้ไม่ได้ ก็มักจะโกรธ มักจะ ไม่ชอบใจ เมื่อใครมากล่าวความผิด แฉความไม่ดี เฉียดกรายตน ขึ้นมา

หนังสือนี้ขอยืนยันว่า เราแสดงสัจธรรม เราไม่ได้เจตนา จะชมใคร เพราะรัก หรือแกล้งตำหนิใคร เพราะเกลียด

พระพุทธเจ้าตรัสด้วย "พระวาจา รุนแรง อันไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจ ของผู้อื่น" หรือไม่ ?" ......คำตอบคือ มีแน่นอน แม้อภัยราชกุมาร ไปตำหนิพระองค์ๆ ก็ไม่ได้บอกปัดเลย ซ้ำรับคำด้วยว่า

"ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้น ไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจ ของผู้อื่น ตถาคต ย่อมเลือก ให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น"

วาจาใดที่ไม่จริงแท้ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้จะเป็น ที่รักที่ชอบใจ ผู้อื่นปานใดๆ พระพุทธเจ้า ย่อมไม่ตรัสวาจานั้น

และแม้วาจาใด จริงแท้ ประกอบด้วย ประโยชน์ แถมเป็นที่รัก ที่ชอบใจ ของผู้อื่น ก็ดี พระพุทธองค์ ก็ยังเลือกให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น เหมือนกัน

(ผู้สนใจรายละเอียดชัดเจน โปรดค้นอ่านจากพระสุตตันตปิฎก "อภยราชกุมารสูตร" มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)


 ค่านิยม 

1. ความหมาย

ค่านิยมมาจากคำว่า ค่า (คุณค่า) บวก นิยม ค่านิยม ของสังคม (Social Value) ก็หมายความถึง สิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งสังคมนั้น นิยมกันว่าเป็นสิ่ง ที่มีประโยชน์ หรือ มีค่าเพียงพอ ที่จะปฏิบัติตาม เมื่อทั้งสังคม นิยมปฏิบัติตามกัน ในสิ่งนั้นๆ สิ่งนั้นๆ จึงกลายเป็นค่านิยม ของสังคมไป ตัวอย่างเช่น เด็กต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้หนุ่มผู้สาว ต้องอนุเคราะห์ผู้ชราและเด็ก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นค่านิยม ของสังคม ที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานนมทีเดียว และ เมื่อปฏิบัติกันนานๆ เข้า จนสังคม ยอมรับกันว่าดี ว่างาม ว่าถูกต้อง สิ่งนั้น ย่อมกลายเป็นบรรทัดฐาน ของสังคม (Social Norm) ไปในตัว โดยปริยาย

สรุปความแล้ว สิ่งใดก็แล้ว แต่หากสังคมนั้น ยึดถือนิยมกัน

ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางนามธรรม หรือ รูปธรรม ทางนามธรรม ก็เช่น ความคิด ความเชื่อต่างๆ ทางรูปธรรมก็เป็นอาการ ที่เห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า สิ่งที่ถูกยึดถือ หรือ นิยมกัน สิ่งนั้นย่อมมีค่า โดยอัตโนมัติ เพราะหาก ไม่มีค่า สังคมคง ไม่เอามายึดถือ ปฏิบัติกัน ดังนั้น สิ่งนั้นจึงกลายเป็นค่านิยมไป

หากสังคมเขานิยมกันก็เป็นค่านิยม ของสังคม
ถ้าหมู่บ้านเขานิยมกันเป็นค่านิยม ของหมู่บ้าน

2. ประเภท ของค่านิยม

ค่านิยมมี 2 ประเภท คือค่านิยมดี (กุศลธรรม หรือ บุญ) กับ ค่านิยมเลว (อกุศลธรรม หรือ บาป)

2.1 ค่านิยมดี (กุศลธรรม หรือ บุญ) หมายถึงการกระทำต่างๆ รวมทั้งความคิด ความเชื่อต่างๆ ที่เป็นไป เพื่อความ ไม่เห็นแก่ตัว ที่เป็นไปในทางสร้างสรร และ จรรโลงให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข มีความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่มีการข่มเหง กดขี่ เบียดเบียนกัน และ ที่สุดแห่งที่สุดการเบียดเบียนตัวเอง แม้นิดน้อยก็ยังไม่มี ซึ่งขั้นนี้เป็นขั้นสูงสุด ผู้ใดทำได้ ผู้นั้นแหละ คือ ผู้ช่วยโลกช่วยสังคมได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

2.2 ค่านิยมเลว (อกุศลธรรม หรือ บาป) ก็มีความหมายในทางตรงกันข้ามกับค่านิยมดี กล่าวคือ หมายถึงการกระทำต่างๆ (รูปธรรม) รวมทั้งความคิด ความเชื่อต่างๆ (นามธรรม) ที่เป็นไป เพื่อความเห็นแก่ตัว เอารัด เอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงผู้อื่น ก่อให้สังคมเกิดช่องว่าง แห่งความเป็นอยู่ เช่น ตัวเองกินข้าวต้องไปภัตตาคาร ขณะที่อีกคนหนึ่งในสังคม กำลังไม่มีจะกิน หรือ ใส่เสื้อผ้าฟุ้งเฟ้อราคาดีๆ มากมายนำสมัยตลอดเวลา ก่อให้เกิดความอยาก ให้แก่ผู้อื่น ทั้งๆ ที่ผู้นั้น เงินทองก็ไม่ค่อยมี ก็จำต้องซื้อมาใส่บ้าง เพื่อลดปมด้อยของเขา ในการดำเนินชีวิตในสังคม ทำให้จนอยู่แล้ว จนลงไปอีก ผู้ที่ชอบทำตัวฟุ้งเฟ้อด้วยเสื้อผ้านั่นแหละ ระวัง ! เพราะเขาเป็นคนหนึ่ง ที่กำลังทำบาป โดย ไม่รู้ตัว นั่นก็คือ สร้างค่านิยมเลว (เรื่องนี้จะอธิบายให้ชัดขึ้นในหัวข้อสังคม) นอกจาก จะทำให้เกิดช่องว่าง แห่งความเป็นอยู่แล้ว ก็ยังมีการกระทำต่างๆ ที่เป็นไป เพื่อความยุ่งเหยิง ของสังคม ทำให้สังคมเดือดร้อนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้แหละ คือ "ค่านิยมเลว" แต่ละบุคคลในสังคมได้สร้างค่านิยมเลวกี่เปอร์เซ็นต์ ลองตอบตัวเองดู

3. รสนิยม - ค่านิยม - สมัยนิยม

ความจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง ต่างก็เริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ ก่อน แล้วจึง
ค่อยขยายใหญ่ หากปราศจากจุดเล็ก จะมีจุดใหญ่ได้อย่างไร ? มากมาจากน้อย ร้อยมาจากสิบ เศรษฐีเงินล้าน จะต้องผ่านการสะสม จากทีละบาทจึงจะได้ล้าน ผู้ใหญ่จะต้องผ่านวัยเด็กมาก่อน เส้นตรง จะต้องเกิดจากจุดหลายๆ จุดต่อๆ กัน ถนนเกิดจากก้อนหินหลายๆ ก้อนมารวมกัน เช่นเดียวกัน

ค่านิยม ของสังคมก็ต้องมาจาก แต่ละคนก่อน (ปัจเจกชน) นั่นเอง เมื่อคนนี้ก็นิยมคนนั้นก็นิยม นิยมหลายๆ คนจนกระทั่ง สังคมนิยม สิ่งนั้น ก็กลายเป็นค่านิยม ของสังคมไป

ค่านิยม ของคนใดคนหนึ่ง เราเรียกว่า "รสนิยม" คือเป็นรส ที่คนๆ นั้นคนเดียวนิยม เมื่อผู้ใดเห็นดีด้วย ก็ทำตามๆ มากเข้าๆ ๆ จนคนทั้งหมดเขานิยมกัน สิ่งนั้นนอกจาก จะกลายเป็นค่านิยมแล้ว ยังเป็น "สมัยนิยม" อีกด้วย คือสมัยนั้นนิยม อย่างนั้น ช่วงระยะเวลานั้นๆ นิยมอย่างนั้น อาจจะชั่วช่วงเวลาสั้นบ้างยาวนานบ้าง

ตัวอย่างในกรุงเทพฯ คนๆ หนึ่งเกิดไปติดใจก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ ที่รังสิต นั่นเป็นรสนิยม ของชายคนนั้นๆ นำไปบอกให้คนอื่นฟัง คนอื่นสนใจ ก็ลองไปกิน เกิดติดใจ รสนิยมอันนี้ก็มีคนมาร่วมด้วยมากเข้าๆ ๆ เมื่อรสนิยมถึงจุด ที่เพียงพอ ก็กลายเป็นค่านิยม ของสังคมชาวกรุงเทพฯ ไป โดยปริยาย

ถ้าก๋วยเตี๋ยวเรือล่ะก็ ต้องยกให้พ่อยอดชายโกฮับเขาละ ช่วงนั้นรสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ จึงเป็น "สมัยนิยม" ไปด้วย และ เดี๋ยวนี้ ผลสะท้อนจากโกฮับคนเดียวแท้ๆ ทำให้ก๋วยเตี๋ยว ที่ขายในเรือ แต่อยู่บนบกเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในกรุงเทพฯ ชื่อร้านก็ตั้งกันอย่างพิสดาร โกฮับเจ้าเก่า โกฮับเจ้าใหม่ หลานโกฮับ เตี่ยโกฮับ ฯลฯ นี่แหละโกฮับเป็นเห็ด
หรือ แม้แต่ตัวอย่าง การแต่งหน้าก็ตาม สมัยก่อน ไม่ค่อยมีใครนิยม แต่เดี๋ยวนี้ได้กลายเป็น สมัยนิยม รวมทั้งค่านิยมไปในตัว และ เป็นค่านิยม ของชาวโลก พวกที่ยึดเอาวัตถุ เป็นที่พึ่งทางใจเสียด้วย

ขอย้ำอีกครั้ง จะเห็นได้ว่า จุดเริ่มต้น ของค่านิยมนี้มาจาก รสนิยม และ ถามตัวเราเองอีกทีให้มากๆ ว่าขณะนี้ เรามีรสนิยม ที่ดี หรือ เลว ?

4. ชีวิตส่วนตัว และ ชีวิตสังคม

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่อง รสนิยม ค่านิยม จะเห็นได้ว่า รสนิยม หรือ ค่านิยมเฉพาะตัวนั้น ก็คือ ชีวิตส่วนตัวนั่นเอง ส่วนค่านิยมสังคมนั้นก็คือ ชีวิตสังคมนั่นเอง ทั้ง 2 ชีวิต ต่างก็มี ความสัมพันธ์ซึ่งกัน และ กัน เรา ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้

ชีวิตสังคมนั้น เป็นผล ที่เกิดจากชีวิตส่วนตัว หากชีวิตส่วนตัว มีความมักน้อย มีความเสียสละ ไม่ฟุ่มเฟือย นั่นย่อมแสดงว่า ชีวิตสังคมย่อมเสียสละ และ ไม่ฟุ่มเฟือยตามไปด้วย

ระบบการเมืองนั้น เป็นการแก้ปัญหาสังคม โดยแก้ ที่ตัวสังคม คือมองสังคมในฐานะ ที่เป็นคนๆ หนึ่ง ส่วนระบบศาสนานั้นเป็นการแก้ปัญหาสังคม โดยเน้นการแก้ ที่ชีวิตส่วนตัวเป็นหลัก ระบบการเมือง ไม่สามารถปฏิเสธระบบศาสนาฉันใด ระบบศาสนาก็ ไม่สามารถ ที่จะปฏิเสธระบบการเมืองได้ฉันนั้น ต่างต้องพึ่งพิงอาศัยกัน และ กัน ดุจกายกับใจ

แต่ปัจจุบัน ระบบการเมืองกำลัง ปฏิเสธระบบศาสนาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาจะแก้ชีวิตสังคมมิให้มีการกดขี่ และ เอาเปรียบ ซึ่งแท้ที่จริง เขาหาวิธีที่จะตัดโอกาสแห่งการกดขี่ การเอาเปรียบต่างหาก ในขณะที่ชีวิตส่วนตัวเต็มไปด้วยความอยากกดขี่อยากเอาเปรียบกัน และ กันอยู่ หากแก้ได้ก็เป็นการแก้ปัญหาระบบแก้ขัดเท่านั้น เพราะระบบการปกครองนั้น มนุษย์ เป็นทั้งผู้คิดขึ้น และ เป็นผู้ใช้ หากยังมิได้ขจัดความต้องการกดขี่ต้องการเอาเปรียบ อย่างแท้จริงในตัวมนุษย์เสียแล้ว ระบบนั้นย่อมถูก

มนุษย์ผู้ปกครองบิดเบือนอย่างแน่นอน
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ระบบการเมืองจะต้องแก้ปัญหาจากยอด หรือ ที่เห็นง่ายหน่อยลงมา (กาย) และ ระบบศาสนาจะต้องแก้ปัญหาจากฐาน หรือ ที่เห็นยากหน่อยขึ้นไป (ใจ) เพื่อพบกัน ที่ครึ่งทาง

5. สังคมตั้งอยู่บนฐานค่านิยม

หัวข้อนี้คือเป็นการเน้นอีกครั้งว่า สังคมนั้นมีแบบแผนการดำเนินชีวิต มีความคิด และ คตินิยมต่างๆ อยู่ภายใต้ค่านิยมทั้งสิ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นพฤติกรรม ของมนุษย์เรานั้น เราทำ เพราะเราเห็นว่า "ดี" จึงทำ และ เมื่อเราเลือก ที่จะทำอะไร นั่นย่อมแสดงว่า เรานิยมในสิ่งนั้น หรือ อาจจะเป็นว่า จำต้องนิยมในสิ่งนั้นก็ได้ แต่ว่าเมื่อนานๆ ไป ก็เกิดความเคยชินไปจึงกลายเป็น นิยมจริงๆ ไม่ต้องจำใจอีก

ตัวอย่างเช่น ชายไทย ไม่เคยใส่เสื้อ แต่เดี๋ยวนี้เฉยๆ กับความรู้สึกข้อนี้กันแล้ว หรือ ลืมความจริงข้อนี้กันไปแล้ว และ มีความรู้สึกซ้อนลงไปอีกว่า ต้องใส่ ไม่ใส่ ไม่ได้ ทั้งๆ ที่สมัย ที่เริ่มให้มีการใส่เสื้อนั้น คงรู้สึกประดักประเดิดอย่างไรพิกลอยู่

ค่านิยมจึงเปรียบเสมือนเงาตามตัวเรา ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมทั้งสิ้น

ถ้าจะพูดให้ภาษาน่ากลัวกว่านี้ก็คือ เราตกอยู่ภายใต้ค่านิยมทั้งสิ้น

ปัญหาสำคัญ ของมนุษย์ในสังคมก็คือ ค่านิยม ที่เลวนั้นทำได้ง่ายดายกว่า ค่านิยมดี ไม่ค่อยทำกัน เราขาดการกระตุ้นถึงคุณค่า ที่แท้จริง ของค่านิยม ที่ดี รวมทั้งผู้นำ ที่จะต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่พูดด้วย อันเป็นปัญหาสำคัญ

คำว่า ผู้นำในที่นี้ มิใช่ว่าต้องเป็นใหญ่ เป็นโตมาจากไหน เราทุกคนมีสิทธิ ที่จะเป็นผู้นำ ที่จะสร้างสรรค่านิยม ที่ดีให้แก่สังคม เป็นการจรรโลงสังคม ให้ผาสุก และ สดใส เราจะปัดความรับผิดชอบ ให้แก่สังคม ไม่ได้ ในเมื่อเราทุกคน เป็นส่วนหนึ่ง ของสังคม ที่จะต้องรับผิดชอบ และ เราคือสังคม และ สังคมก็คือเรา (ขอให้ดูภาพเปรียบเทียบ) สังคมเดือดร้อน เรานี้แหละจะเดือดร้อน ตามไปด้วย

หากเราสร้างค่านิยม ที่ดีงามได้จงรีบสร้าง แม้จะเป็น น้ำใสบริสุทธิ์ หนึ่งหยดในน้ำโคลน ก็ขอให้เป็น ยังดีกว่า ที่จะมี แต่น้ำโคลนทั้งหมด อย่าลืมว่าสังคมจะอยู่รอดได้นั้น หากมีผู้นำ ที่ดี ไม่กี่คนก็ย่อมได้ เพราะอำนาจ ของความดีนั้น มีพลังมากนักต่อนัก ก็ขอลอกเอาคำคม 2 บทมาไว้ ณ ตรงนี้

"จงอย่าถามว่าสังคมจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามว่าท่านจะให้อะไรกับสังคม" และ
"เมื่อท่าน ไม่ได้เขียน สิ่งที่ดีงาม ให้แก่ สังคมไว้ ท่านก็จงสร้างสิ่งที่ดีงามให้แก่สังคม เพื่อให้เขาเขียน"

 


  ค่าอย่างไรที่สังคมควรนิยม
   [เลือกหนังสือ]
page: 1/8
Close
Asoke Network Thailand