๑ พูด พูด พูด
 
 
   [เลือกหนังสือ]    
page: 1/21
โรงเรียนกินนอน

๑. พูด พูด พูด

วันคือผ่านไป…ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เดี๋ยววันเดี๋ยวคืน เช้าอีกแล้ว ค่ำอีกแล้ว เร็วเหลือเกิน

ถามตัวเองอยู่เสมอว่า "วันเวลาผ่านไป บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่" ถามเองแล้วก็ตอบเอง "ทำงานประจำตามที่ได้รับมอบ แล้วยังอาสาทำงานอดิเรกอีกด้วย

งานอดิเรกงานแรก คือ เป็นพ่อค้าขายข้าวแกง ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ที่จริงก็ไม่เกี่ยวกับการขายโดยตรง ทำหน้าที่สนับสนุนเขามากกว่า ด้วยการขับรถกระบะขนหม้อข้าวหม้อแกง ตกแต่งร้าน แล้วก็กวาด ร้าน รกเมื่อไรก็กวาดเมื่อนั้น ต้องอยู่อย่างสะอาดให้ได้ ในท่ามกลางความสกปรก

งานที่สอง ถือว่าสำคัญกว่างานแรก เพราะไม่ใคร่มีใครช่วยทำ คือการรับคุยเฟื่องเรื่องธรรมะ และปัญหาสังคมประเทศชาติ ทั่วพระราชออาณาจักร ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก เชิญมา ถ้าเห็นว่าจะได้ประโยชน์จริง ก็รับทั้งนั้น

ถ้าเชิญจ๊ะกัน ก็ต้องเลือก ยังไงๆเลือกกลุ่มครูไว้ก่อน พูดกับครูจาก ๑ ขยายเป็น ๑๐ จาก ๑๐ ขยายเป็น ๑๐๐ เมื่อไม่มีโอกาสพูดชี้ชวนผู้ใหญ่ ให้เป็นคนดี ก็ไม่เป็นไร เพราะผู้ใหญ่วันนี้ คือผีในวันหน้า อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ก็ตายไปเอง อยากก็ตาย ไม่อยากก็ตาย คนที่จะขึ้นมา บริหารบ้านเมืองแทน คือ เด็ก

อีสานแม้จะแล้งน้ำ แต่ก็ไม่แล้งน้ำใจ น้ำใจที่จะใฝ่หาธรรมะ จึงมักจะได้รับชวนให้ไปพูดที่อีสาน เป็นประจำ เกือบทุกเดือน บางเดือน ก็หลายครั้ง กลางเดือนสิงหา เริ่มต้นด้วยหัวข้อ "ถามใจคุณดูก่อน" ซึ่งเป็นรายการของ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดตามด้วย "คุยกันฉันเพื่อน" ในที่ประชุมศึกษาธิการ และหัวหน้าการศึกษาประถม ๖ อำเภอ ของจังหวัดอุบลราชธานี

การรับเชิญมีข้อแม้ว่า ไม่รับค่ากัณฑ์เทศน์ ค่าพาหนะ และค่ากินอยู่ ไม่มีข้อแม้ในเรื่องวัยของผู้ฟัง แต่ก็แปลก ร้อยทั้งร้อยที่ไปฟัง เป็นคนอยู่ในวัย หนุ่มสาวทั้งสิ้น คนหนุ่มสาวเหล่านั้นแหละ ที่จะเป็นกำลังสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาสังคม ประเทศชาติต่อไป

เมื่อเดือนสิงหา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชิญไปพูด เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐ ปี ของการจัดตั้งคณะ ต้นเดือนกันยายน ก็เนื่องในโอกาส ครบรอบ ๑๐ ปีอีกเหมือนกัน ของวิทยาลัยครูจันทบุรี

ไปคนเดียว คล้ายๆกับคำกลอนในวรรณคดี "แรมทางกลางเถื่อน ห่างเพื่อนหาผู้ หนึ่งใดนึกดู เห็นใครไป่มี หลายวันถั่นล่วง เมืองหลวงธานี นามจันทบุรี ดุ่มเดาเข้าไป" แบกกลด เดินดุ่มๆ เข้าวิทยาลัยครู ตะวันตกดินแล้ว พระจันทร์กำลังเต็มดวง ผ่านลานหญ้ากว้างๆ มีต้นไม้โตๆ อยู่ริมสระใหญ่ เงียบสงบ น่ากางกลด นอนที่นั่น มืดแล้ว มองอะไรๆ ไม่เห็น มดและสัตว์ เลื้อยคลานอื่นๆ อาจเป็นแแขกจร ที่ไม่ได้รับเชิญก็ได้ อย่าเสี่ยงดีกว่า จำได้แว่วๆว่า รองอธิการที่มาเชิญ จะให้ไปพักที่เรือนรับรอง เลยถือวิสาสะ กางกลดที่ระเบียง เพราะห้องนอนเรือนรับรอง ไม่ได้เปิดไว้ ดีเสียอีก โล่ง โปร่งสบาย ฝนตกก็ไม่เปียก ภายหลังมีอาจารย์หนุ่มๆกลุ่มหนึ่ง ไปนั่งคุยที่ข้างกลด คุยกันสารพัดเรื่อง อย่างสนุกสนาน จนถึงห้าทุ่ม จึงแยกย้ายกัน ไปนอน เพื่อพบกัน วันรุ่งขึ้น ในรายการ "ถามใจชาวพุทธ" ที่ฝั่งธน ก็มีโอกาสไปพูดเหมือนกัน เป็นรายการอบรมจริยธรรมกลุ่มครูกทม. ที่โรงเรียนวัดโพธินิมิตร อภิปราย แข่งกับเสียงตุ๊กๆ และเสียง เครื่องขยาย "เงาะโลละหกครับ …โลละหก" พูดไปก็นึกไป นึกเห็นใจคุณครู ที่ไปฟังอภิปราย ในวันนั้น การจัดอภิปราย ถ้าหาที่เงียบๆหน่อย คงจะดี ไม่ต้องมีอาคารก็ได้ เคยพูดในป่าสวนยาง ซึ้งอย่าบอกใครเชียว วัดโพธินิมิตร ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "วัดใหม่โพมิ" เป็นวัดใหม่ สมัยสี่สิบกว่าปีก่อน ด้านหนึ่งติดคลองสำเหร่ อีกด้านหนึ่ง เป็นทางเดินเล็กๆ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้า หาบของสวนไปขาย ที่ตลาดพลู ผ่านวัดสำเหร่ วัดใหม่กลางคลอง วัดใหม่โพมิ และวัดใต้ ตอนเล็กๆ เรียนที่วัดสำเหร่ ตอนโตบวชที่วัดใต้ เส้นทางดังกล่าว จากวัดสำเหร่ไปวัดใต้ จึงกลายเป็นสายบิณฑบาต ยังจำได้ดี มีอยู่ครั้งหนึ่ง กำลังบิณฑบาต ในเส้นทางระหว่าง วัดสำเหร่ กับวัดใหม่กลางคลอง ขณะยืนนิ่งๆ รับบิณฑบาตอยู่นั้น มีหมาตัวหนึ่ง เดินมาจากไหน ก็ไม่รู้ มาหยุด ยกขาฉี่รด เอาดื้อๆ ขำก็ขำ อายก็อาย ทำอะไรมันก็ไม่ได้ เพราะเราเป็นพระ ต้องปล่อยเลยตามเลย ไม่รู้ว่าพระองค์อื่นๆ เคยโดนอย่างนี้ บ้างหรือเปล่า "พุทธศาสนากับสังคมไทย" หัวข้อดูออกจะเป็นงานเป็นการ และชวนให้ง่วงเสียก่อนที่จะฟัง แต่ผิดคาด ตำรวจ ตระเวนชายแดน ตั้งแต่ นายสิบ จนถึงนายพล ฟังกันอย่าง ครื้นเครง เป็นเวลา ๒ ชั่วโมงเต็มๆ เป็นการพูด ที่มีนายพลไปฟัง มากที่สุด เท่าที่ผ่านมา เป็นการฟัง โดยความสมัครใจ ไม่มีใครเกณฑ์ สมัครใจฟังคนพูด ที่ต่ำกว่า ทั้งยศและวัย ก่อนขึ้นรถกลับ นายพลท่านหนึ่ง ขอสมทบทุน กองทัพธรรมมูลนิธิ ด้วยเงินจำนวนไม่น้อย โดยไม่ประสงค์ออกนาม การตื่นตัวเรื่องธรรมะในสมัยนี้ ไม่มีใครเกินกลุ่มครู ไม่ว่าจะอบรมอะไร จะต้องแทรกการบรรยายธรรมะด้วยเสมอ สมแล้ว ที่มีอาชีพ ตามรอย พระบรมครู ซึ่งเป็น อาชีพเดียวในโลก ที่ผู้นำอาชีพนี้ ได้รับการเคารพ กราบไหว้ ตลอดมา นับพันๆปี สมาคมครูอุทัยธานี เป็นสมาคมหนึ่ง ที่เอาจริงเอาจัง ในเรื่องนี้ ชวนให้ไป บรรยายธรรมะ ในการอบรมผู้นำ ครูประถมศึกษา ทั้งจังหวัด เพื่อให้ผู้นำครู เป็นผู้นำของครูอย่างแท้จริง พูดถึงเรื่องเวรเรื่องกรรม หลายต่อหลายคน คงเคยอ่าน "กฎแห่งกรรม" ของ ท.เลียงพิบูลย์ นอกจากจะเขียนหนังสือ สอนให้คนทำดี เว้นชั่วแล้ว ยังจัดตั้ง เป็นชมรม มีการพบปะ รับประทานอาหาร มังสวิรัติทุกเดือน เดือนสุดท้าย ของการเข้าพรรษาปีนี้ จัดให้มีขึ้นที่ พุทธสมาคม "ความรู้สึก ในการรับประทาน อาหารมังสวิรัติ" เป็นหัวข้อที่ ทางชมรม เชิญให้ไปพูด ในวันนั้น น่าอนุโมทนา ในการเห็นคุณค่า ของอาหารมังสวิรัติ

ฝ่ายที่ตั้งหน้าตั้งตาโจมตี เมื่อรู้เข้า คงจะจัดชมรมกฎแห่งกรรม เข้าในบัญชีสานุศิษย์ของเทวทัต ด้วยเช่นเคย เพราะมังสวิรัติ คืออาหาร ของพวกเทวทัต เท่านั้น ตามความรู้ ที่เขามีอยู่

กันยายน 2529

ทาง ๓ แพร่ง เล่ม ๒