รอบบ้านรอบตัว ... อุบาสก ชอบทำทาน
ยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน

คนอายุมากขึ้น ก็มักจะใจหายอยู่ ๒ เรื่องครับ

เรื่องแรกคืออายุของตัวเอง ทำไมมันช่างวิ่งเร็วซะเหลือเกิน ปุบปับก็กลางคน ปุบปับก็ใกล้เกษียณ ปุบปับก็เกษียณแล้ว...ใจหาย!

เรื่องจริงครับ คนไม่แก่ไม่มีวันรู้รสชาติ!

เรื่องที่ ๒ คือ ภาพลักษณ์ของบ้านเมือง หลายคนจะพูดเป็นเสียงเดียวว่า เมื่อก่อนไม่เป็นอย่างนี้ เมื่อก่อนยังไม่มีอะไร ยังเป็นป่า ใหญ่ๆ มีเสือ มีช้าง มีสารพัด...

เชื่อเถอะครับ คนแก่รุ่นไหนๆก็ต้องพูดแบบนี้ แม้แต่รุ่นก่อนหน้าเราหลายร้อยปีก็ตาม

อัตราความเจริญของโลก โตเป็นทวีคูณ พอๆกับการโตของตัวอมีบา คือ จาก ๒ เป็น ๔ จาก ๔ เป็น ๘, ๑๖, ๓๒ , ๖๔... เพราะฉะนั้น ยิ่งนาน ยิ่งรุนแรงครับ

คำว่า"เพื่อความอยู่รอด" นี่แหละเจ็บปวดนัก

แรกเริ่มนั้น เรามีแต่ "สังคมเกษตร" อยู่กันกว้างๆ มีสังคมเมือง พอเป็นพอไป แต่เชื่อไหมครับ ชนกลุ่มน้อย คือสังคมเมือง กลับเป็นตัวผลักดัน เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนชีวิต และสุดท้าย เปลี่ยนโลก ด้วยมือ หรือฝ่าเท้า ฝากท่านผู้อ่าน คิดในใจเงียบๆ

สังคมเมืองจะสร้างระบบธุรกิจด้วยสื่อแลกเปลี่ยนคือ "เงินตรา" แทนการแลกสินค้า

วิวัฒนาการของการค้าขาย ก่อเกิด "พ่อค้าวาณิชย์" มีเป้าหมายคือ "กำไรสูงสุด"

ครับ พอมีคำว่า "กำไร" อะไรๆก็เริ่มยุ่งเหยิง เพราะพ่อค้านายทุน เขาก็จะหาทาง ขายให้มากเข้าไว้ ด้วยสื่อสารทุกชนิด

บ้านเมือง จึงถูกกำหนดด้วย "การโฆษณา"

การกินอยู่หลับนอน ถูกกำหนด โดยเจ้าของสินค้า นี่คือผู้อยู่เบื้องหลัง "วัฒนธรรมการบริโภค"

นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ท่านเสนอทฤษฎีไม่มีอะไรได้ฟรี เมื่อได้อะไรมา เราก็ย่อมมีการสูญเสีย ในเรื่องอื่นๆ เหมือนกัน เพียงแต่เรา จะเลือกข้างไหน

เช่น ถ้าเราจะเลือก ขยัน ทำงาน อ่านหนังสือ เราก็ต้องยอมสูญเสีย เวลาแห่งความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เฮฮาชีวิต

เพราะเหตุนี้ วันนี้เราได้คำว่า "โลกาภิวัตน" Šมีเครื่องมือ เครื่องใช้ ทันสมัยไฮเทค แต่เราก็เริ่มสูญเสีย "ความสุขสงบของชีวิต" สูญเสีย "ความเป็นมนุษย์" ไปโดยปริยาย!

โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาก็จริงนะครับ เคยมีไดโนเสาร์ เคยมีสัตว์ป่า สัตว์น้ำนานา เคยมีความร่มรื่น เคยมี... ฯลฯ ชีวิตพื้นฐาน ดั้งเดิมหายไป เหลือประดิษฐกรรมแห่งชีวิต ที่คิดค้น

ครับ เปลี่ยนไปเหมือนสายน้ำ จะเหลือก็แต่กิเลสตัณหา ที่ยังเกาะแน่น อยู่ในหัวใจมนุษย์ โลภะ-โทสะ-โมหะ ที่ยังเหมือนเดิม แต่นับวันก็เพิ่ม ทั้งปริมาณ และคุณภาพ!

พระอานนท์ ท่านเห็น ชีวิตเหมือนเดินอยู่บนสายพาน ที่มีคนถือขวานรอบั่นหัว ท่านจึงระลึกถึง เพื่อเตือนตน อยู่เสมอ ทุกชั่วโมง

พระพุทธองค์ บอกไม่พอ ต้องระลึก ทุกลมหายใจ เข้า-ออก!

"โลกกำลังลุกเป็นไฟ มัวสนุกสนานร่าเริงอยู่ไยกัน ตัวตกอยู่ในความมืด ยังไม่รู้จักหาแสงสว่าง..."

พระพุทธเจ้าด่าพวกเราชาวมนุษย์!

ถามว่าเป็นการมองแง่ร้ายหรือ ไม่ใช่หรอก เป็นการเตือนสติ และถ่วงดุลย์พวกเราต่างหาก ที่กำลังมัวเมาเต็มที่

พระสูตรบทแรก ที่พระพุทธองค์ทรงสอน คือ "ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร" ที่พาให้เกิดผู้บรรลุ ธรรมครั้งแรกในโลก จนมีพระรัตนตรัย ครบพร้อม "ท่านโกณทัญญะ บัดนี้มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว..."

เนื้อหาพระสูตร เน้น ความสุดโต่งของโลกมนุษย์ คือการทรมานตนนั้นฝ่ายหนึ่ง และ การมัวเมา อยู่ในกองกาม นั้นอีกฝ่ายหนึ่ง เห็นมั้ยครับ ท่านทันสมัยมาก่อนเรา ตั้ง 2,500 กว่าปี ท่านกลับเห็นว่า นี้คือ "ปัญหาของมนุษย์"

พวกเรา ฟังแล้วเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร ก็เพราะว่าเราเป็น "มนุษย์ปุถุชน"

ท่านที่เริ่มเห็นจริง เริ่มหวั่นไหว โปรดรู้ตัวเถิดครับว่า ท่านเริ่มมี "จิตอริยะ"

เพราะโลกนี้มีแต่ทุกข์เท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ท่านจึงประกาศทฤษฎีชีวิต "ทุกขอริยสัจ"

สุขไม่มี มีแต่ทุกข์น้อย ทุกข์มาก!

สาวกที่เป็นอัศวินรุ่นแรก ล้วนแต่มีอนาคตังสญาณทั้งสิ้น ที่เห็น ทะลุ ในความสุข เป็นความทุกข์ เป็นความไร้แก่นสาร
Šจึง เนกขัมมะ เพราะเบื่อสุข มิใช่เบื่อทุกข์!

ผู้เห็นวิกฤตแห่งชีวิต โลกมีแต่ "ทุกข์อริยสัจ" ผู้นั้นย่อมเกิดสติ ย่อมไหลเข้าสู่กระแสแห่ง "อริยมรรค"

ส่วนผู้ยังสนุกสนาน เขาก็ยังวนเวียนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน "สังสารวัฏ"

ผมคิดถึงคำพังเพยบทหนึ่ง "สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งเห็นดวงดาว อยู่พราวพราย..."

ใครเป็นใคร ท่านพิจารณาเองก็แล้วกัน

กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ และที่สุดกาลเวลาก็กินตัวเองด้วย

ครับเหมือน ภาวะตึงเครียด เหมือนภาวะที่บีบคั้นหัวใจ

แต่ ภาวะเหล่านี้ ก็ทำให้ "วิกฤต" เป็น "โอกาส" ได้ตลอดเวลา

ผู้รู้ธรรม ย่อม รู้โลก

ผู้รู้ธรรม ย่อม จัดการกับชีวิตได้อย่างเหมาะสม

ท่านผู้อ่านถามตัวเอง ท่านจะเป็นสาวกของผู้ใด ระหว่าง ผู้นำแห่งทุกข์อริยสัจ กับ ผู้นำแห่งสุขจริงหนอ?

เมื่อก่อนอาจพลั้งเผลอ ก็ไม่เป็นไร แต่วันนี้ท่านต้องตัดสิน จะเป็นประชาชน ของรัฐบาลใด?

จะเป็นสาวกของฝ่ายไหน?

จะเป็นวงศาคณาญาติกับฝ่ายใด?

ท่านเลือกได้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จะมาทำโลเล ประนีประนอม ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้

แต่อย่างไรก็ตาม หากท่านไม่ยอมเลือก ที่สุดแห่งที่สุด พระท่านบอกว่า ท่านต้องไปสู่เส้นทางอรหันต์ แน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว!

"ช้า" นั้น หมายถึง โลกใบนี้ อาจจะแตกอีกหลายใบ กว่าจะรู้สึกกว่าจะหันมาอยู่กับพระ

แต่กว่าจะถึงวันนั้น คงผจญชะตากรรม ผจญมรสุมชีวิต สงครามหฤโหด มากมายมหาศาล

ท่านจะต้องผ่านคมหอก คมดาบ ที่พุ่งเข้ามามากมายยิ่งกว่า เม็ดทรายในท้องทะเลเสียอีก!

เป็นคำปลอบใจ หรือเปล่าครับ?

การเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก ก็สู่เป้าหมายได้ แต่ช้ากว่ากันมากนัก

มนุษย์ทุกวันนี้ก็ยังวนเวียน อยู่กับ การลองผิดลองถูกอยู่ แต่เมื่อไม่หัดสังเกต หัดวิเคราะห์ ก็จะต้องเกิดกัน อีกนานน์น์น์น์!

เห็นทุกข์ จึง เห็นธรรม แต่จะอีกกี่ชาติ หรือกี่ลูกโลกแตก นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง Šชีวิตของสัตว์ทดลอง สรุปได้เร็ว เพราะเป็นช่วง ชีวิตสั้นๆ

ชีวิตพืชผัก ไม่กี่เดือนก็เห็นผล

ชีวิตมนุษย์ ที่จะบอกว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อย่างนี้ต้องทำ อย่างนี้ต้องละเลิก ต้องอด บางคนสรุปได้เร็ว บางคนเป็นปีๆ บางคนทั้งชาติ ก็ยังไม่สรุป ก็ต้องมาทดลองต่อไป ไปเกิดในนรก ในสวรรค์ ในมนุษย์ ก็ว่ากันไป

สรุปบทเรียนชีวิต จึงยากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆด้วยเหตุนี้นะครับ

กะอีแค่ กฎแห่งกรรม ยังมีผู้คนอีกมาก ที่ยังไม่เชื่อจริงไหมครับ? เอ้า-พิสูจน์กันต่อไป

ชีวิตจึงต้องหัดสังเกต หัดวิเคราะห์ อย่าปล่อยให้ฉากชีวิตผ่านไปอย่างไร้ความหมาย

หัดประเมิน สรุปผล ในทุกๆฉาก

ชาวตะวันตก เขาจึงเก่งด้าน "วิทยาศาสตร์ รูปธรรม" แต่ทางเอเซีย เราจะโดดเด่น ใน "วิทยาศาสตร์ นามธรรม"

เซอร์ ไอแซค นิวตัน รอลูก แอ๊บเปิ้ล ถึง ค่อยสว่าง

แต่ของชาวพุทธ แค่เห็น เด็กเกิด คนเจ็บ คนแก่ คนตาย เท่านี้ก็เพียงพอ

แค่ใบไม้ร่วงหล่น ก็พอแล้วสำหรับปรัชญาตะวันออก!

ใช่แล้วครับ ชีวิตต้องพยายามศึกษา-เรียนรู้

วัยเด็ก เราอาจจะคุ้นเคย กับการเรียกร้อง ให้ทุกอย่างมาคล้อยตามตัวเรา ใครๆก็ต้องมาเอาใจ มาใส่ใจตัวเรา

ภาพนี้ หากยังไม่เปลี่ยน เมื่อโตขึ้น คนๆนั้น ก็เป็นเพียง เด็กที่ยังไม่โต แม้อายุจะแก่กว่า วัวควาย!

ชีวิตที่ เป็นผู้ใหญ่ จะเริ่มตื่นตัวต่อสิ่งแวดล้อม มีการ ทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อม ศึกษาผู้คนรอบด้าน

อยู่อย่าง ศึกษา มากกว่า ถือสา

อยู่อย่างใส่ใจ มากกว่า การเอาแต่ใจ

พุทธิปัญญา จะค่อยๆเติบโต แผ่กิ่งก้าน

แล้วสักวัน ตัวเราจะเริ่มลดบริการในตัวเอง หันไปเพิ่มบริการ รับใช้ผู้อื่น

รักผู้อื่นมากกว่าตัวเอง
มีชีวิต ที่ เรียบง่าย กินน้อยใช้น้อย
และมีพลังเหลือเฟือ ที่จะช่วยสังคม

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๐ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๕)