บนเกาะกลางถนนหลังตลาดอันพลุกพล่านไปด้วยผู้คน และรถนานาชนิด ปรากฏร่างขมุกขมอมด้วยเสื้อผ้าสีหม่น ของหญิงชราคนหนึ่ง ข้างตัวมีตระกร้าเก่าๆ จนผุพัง และห่อผ้าที่แทบจำ สีเดิมไม่ได้ คุณยายกำลังสาละวนแกะห่อผ้า และหยิบข้าวของ มาเรียงไว้ใกล้ๆตัว โดยไม่ได้สนใจ สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ

แม้ตรงนั้น จะเป็นเกาะกลางถนน แต่คุณยายก็ไม่เดือดร้อนใจที่จะนั่ง แล้วก็ยังไม่สนใจใคร หน้าไหนทั้งนั้น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ จะวิ่งสวน ไปมาขวักไขว่ น่าหวาดเสียว ถ้าแกจะลุกเดินข้ามถนน ผู้คนที่เดินผ่านไปมา ก็ไม่ได้สนใจอะไรแกเลย ข้าพเจ้าเดินมาหยุดรีรอ ที่จะข้ามถนน เพื่อนที่มาด้วยกัน ดึงมือให้ข้าพเจ้าหยุดเดิน แล้วบุ้ยปากไปที่คุณยาย

"เราเอาขนุนไปให้คุณยายกินดีไหม" เธอหมายถึงขนุนสุก พันธุ์จำปาดะ สีเหลืองทองที่ซื้อ มาจาก "ตลาดอาริยะ" ซึ่งอยู่ในรถ ที่ข้าพเจ้าจอดไว้ อีกฟากหนึ่งของถนน เราเดินกลับไปที่รถ หยิบเอาถุงขนุนสุก และขวดน้ำสมุนไพรสีส้ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว ออกมา แล้วข้ามถนน ไปหาคุณยาย

เพื่อนมอบถุงขนุน และขวดน้ำสมุนไพรให้คุณยาย เรานั่งยองๆ ลงข้างๆท่าที่ยายยกมือไหว้ ท่วมหัว บอกถึงความซาบซึ้งใจ ของผู้รับ และผู้ให้ ก็รู้สึกตื้นตัน ขึ้นมาในอกเหมือนกัน

"มาจากไหนกันล่ะลูกเอ๊ย..."

คำถามราวกับตัวผู้ถามคุ้นเคยกับถิ่นนี้มานาน และเราเป็นคนแปลกใหม่ เพื่อนตอบคุณยาย ด้วยเสียงอันดัง "มาจากกรุงเทพฯค่ะยาย แล้วนี่เพื่อน มาจากกาฬสินธุ์" คุณยายหยีตามองเรา ไม่รู้ว่ามองเห็นชัดเจนแค่ไหน แต่ยายคงจะรู้สึกพอใจ และดีใจที่สุด สังเกตจากรอย ยิ้มที่กว้างขวาง แต่มองไม่เห็นฟันซักซี่

"ขอให้จำเริญๆ เถอะลูกเอ๊ย" คุณยายยกมือไหว้ท่วมหัวอีกครั้ง เมื่อพูดคุยถามไถ่ยายอีกครู่หนึ่ง เราก็จึงชวนกันเดินจากมา เครื่องแต่งกายมอซอ และเท้าเปล่าของเรา คงเป็นที่แปลกตา ของคนแถบนี้ แต่กลับดูกลมกลืน กับคุณยายเป็นอย่างดี

หันกลับไปมองยายอีกครั้ง ก็เห็นกำลังแกะขนุนสุกใส่ปากเคี้ยว ด้วยท่าทีงกๆเงิ่นๆ แม้ในใจ จะรู้สึกชุ่มเย็น กับการได้ ทำบุญทำทาน อีกความรู้สึกหนึ่ง ก็ออกจะรู้สึกสมเพชเวทนา ในชะตากรรมของคุณยาย ยายเป็นใคร มาจากไหน คงไม่มีใคร สนใจอีกแล้ว วณิพก คนเร่ร่อน คนขอทาน มีมากมายในสังคม คนแก่ชรา ที่ไม่น่ามีกำลังวังขา พอจะช่วยเหลือตัวเอง ถูกทอดทิ้ง ท่ามกลางสังคม อันวุ่นวายสับสน ที่หาความเอื้ออาทร ยากยิ่งกว่า งมเข็มในมหาสมุทร อนาคตจะเป็นอย่างไร ฝนจะตก แดดจะออก ลมแรง คุณยายจะไปอยู่ที่ไหน หน้าหนาว จะมีใครดูแลห่มผ้าให้ ยายอาจจะนอนหนาว แข็งตาย ก็เป็นได้

"เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ น่าจะเอายายไปอยู่บ้านพักคนชรา" ข้าพเจ้าพูดขึ้น

"บ้านพักคนชรา ก็ใช่ว่าจะมีความสุข" เพื่อนแย้ง

"ตอนนี้ดูคุณยายก็มีความสุขดีนี่ อยู่อย่างอิสระ จะไปไหนมาได้ก็ได้ ถ้าไปอยู่บ้านพักคนชรา ยายอาจจะไม่มีความสุขเท่านี้ก็ได้"

ข้าพเจ้าชักจะเห็นด้วยกับเพื่อน บ้านพักคนชรา ก็คงจะดี ถ้ายายพอใจจะอยู่ แต่เมื่อยังมี เรี่ยวแรง ยายก็พอใจ ที่จะเที่ยวเร่ร่อน ไปตามใจปรารถนา มีคนหยิบยื่นอาหารให้ ได้มองเห็นโลกเสรี ไม่มีใครมาบังคับ ดูให้ดีก็มีแง่มุมให้คิด แล้วก็สบายใจขึ้น

ยายอาจจะโชคร้าย ที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีครอบครัวอบอุ่น ไม่มีลูกหลานคอยดูแลห้อมล้อม แต่ยายก็โชคดี ที่ได้เกิดมาเป็นคน ได้มองเห็น โลกสวยงาม ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความสุข ความเศร้า เช่นตอนนี้ ที่นึกเห็นภาพที่ยายยิ้ม ด้วยความสดชื่น และมีความสุข ก็ยังรู้สึกได้ว่า ยายไม่ทุกข์ร้อนอะไรเลย

เราเสียอีกที่ทุกข์ เพราะเป็นห่วง แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้

แล้วก็นึกไปถึงยายอีกคนหนึ่ง ที่เคยพบคราวไปจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อหลายเดือนก่อน ครั้งนั้น มีโอกาสได้เดินตาม พระบิณฑบาต แล้วพี่คนที่พาไป พาแวะบ้านหลังหนึ่ง เพื่อไปขอซื้อฝัก ถั่วแปบแห้งๆ เอามาทำพันธุ์

เจ้าของบ้าน คุณยายวัยเกือบเก้าสิบ อยู่บ้านคนเดียว เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ไม่มีลูกหลาน อยู่ด้วยสักคน ตามเนื้อตัว แขนขา มีแต่รอยแผล ถลอกช้ำ เพราะตกบ้านบ่อย เวลาลงบันได ถูกไม้ขีดข่วน เพราะงกๆเงิ่นๆบ้าง แถมตาก็เป็นต้อกระจก ทั้งสองข้าง มองเห็นไม่ชัดเจน

ข้าพเจ้ามีความคิด อยากจะเอายาย ไปอยู่บ้านพักคนชรา พี่ก็มีความเห็นว่า ไม่ดีเท่าแกได้อยู่กับบ้าน อย่างน้อยๆ เพื่อนบ้าน ดูแล อาศัยส่งข้าวส่งน้ำ มีความสัมพันธ์ เกื้อกูลกัน เป็นความสุขก็ได้ ที่หาไม่ได้ในบ้านพักคนชรา

ครั้งนั้นเราจึงจากคุณยายมา พร้อมกับมอบเงินจำนวนน้อยนิด ที่มีอยู่ให้แกเอาไว้ใช้

ข้าพเจ้าได้แง่คิดทั้งจากพี่ และเพื่อนว่า คนเรามีสิทธิ มีโอกาสที่จะมีชีวิต ตามภูมิที่ตนเลือก และมีความสุขได้ ตามอัตภาพ ที่มีอยู่ หาใช่การปรนเปรอ ให้ความสุข ความสบายแก่กัน ความจนความทุกข์ของคนอีกคน ก็ไม่ได้ทำให้คน พบเห็นทุกข์ ตามไปด้วย เพียงเพราะเราเอา ใจไปแบกรับ ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว คนๆนั้น อาจะไม่รู้สึกทุกข์ แม้แต่น้อย

พระท่านก็สอนเสมอๆว่า ชีวิตคือกรรม ที่ดำเนินไปตาม "กาล" แต่ไม่ว่าจะเป็นกรรม หรือ วิบากอันใดก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังหวังว่า คุณยายทั้งสอง จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วงเวลา ชีวิตที่เหลืออยู่

ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๐ เดือน มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๕