กสิกรรมพลิกฟื้นชาติ ...นายกองฟอน

การทำกสิกรรมธรรมชาติ นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการกันแล้ว แนวคิดก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย เนื่องจากผู้ที่สนใจ มีไฟจะทำกสิกรรมธรรมชาตินั้น ช่วงเริ่มต้นนั้น คิดที่จะทำเพื่อค้าขายเป็นหลัก ลักษณะ เป็นเชิงอุตสาหกรรม มากกว่า ลักษณะครัวเรือน จึงต้องมีการลงทุน ลงแรงสูง และใช้พื้นที่ ค่อนข้างมาก แนวคิดเช่นนี้ มักเริ่มต้น ด้วยการกู้หนี้ ยืมสิน เพื่อการลงทุน ตรงกับคำกล่าวที่ว่า "คนไทยชอบทำจากใหญ่ไปเล็ก" นอกจากนี้ ยังนิยมปลูก พืชเชิงเดี่ยว
ในปริมาณมาก เมื่อผลผลิตออกมา ราคาจึงค่อนข้างต่ำ ไม่คุ้มค่า ลงทุนลงแรง เมื่อขาดประสบการณ์ใน
การเพาะปลูก และหวังขายเป็นสำคัญ จึงไม่ประสบผลสำเร็จ เท่าที่ควร

การเริ่มทำกสิกรรมธรรมชาติควรทำจากเล็กๆน้อยๆ ทำเพื่อกินเป็นหลัก เหลือแล้วจึงขาย หรือแจกจ่ายเจือจาน เพื่อนบ้าน ใกล้เคียง ดังสุภาษิตจีนว่าไว้ "เพื่อนบ้านใกล้ชิด สนิทกว่าพี่น้องที่ห่างไกล"

แล้วควรปลูกพืชที่หลากหลาย ปลูกทุกอย่างที่เรากิน และแน่นอน ต้องกินทุกอย่างที่เราปลูกด้วย เดี๋ยวนี้ ยุคสมัย เปลี่ยนแปลง คนชนบท ไม่นิยมปลูกพืชผัก ผลไม้รับประทานเอง แม้แต่กะเพรา หรือ โหระพาก็ นิยมที่จะไปซื้อ ตามตลาดสด หรือรถกับข้าว ที่เร่ขายตามหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการเพิ่มรายจ่าย โดยไม่จำเป็น

เพิ่มรายได้ ด้วยการลดรายจ่าย
มีแนวคิดที่น่าสนใจ คือ "เพิ่มรายได้ด้วยการลดรายใช้จ่าย" จึงจะสามารถ พ้นจาก หนี้สินได้ คือ การพึ่งพาตนเอง สิ่งใดที่สามารถผลิตได้เอง ก็ควรทำ ตั้งแต่อาหารการกิน ดังที่กล่าวแล้ว ปลูกทุกอย่าง ที่เรากิน อยากจะกินอะไร ก็ปลูกสิ่งนั้น อย่างละเล็กละน้อย เดินไปในสวนหาเก็บ หาเด็ดได้ตามใจชอบ ไม่ต้องกังวล เรื่องสารพิษ สารเคมี เพื่อนบ้านใกล้เคียง ก็ได้พึ่งพาอาศัยด้วย

นอกจากนี้ น้ำหมักชีวภาพต่างๆ หรือปุ๋ยธรรมชาติ เราก็สามารถทำได้เอง ในระยะหลังมานี้มี การรณรงค์ เรื่องการทำ กสิกรรมธรรมชาติ อย่างแพร่หลาย จึงมีผู้ที่หวังประโยชน์ ทางการค้า ทำน้ำหมักต่างๆ หรือ ปุ๋ยธรรมชาติ ออกขาย ในราคาสูงเกินเหตุ

เพียงบรรจุหีบห่อทันสมัย มีสีสันน่าสนใจ ซึ่งแท้จริงคุณภาพ คุณสมบัติไม่ได้แตกต่าง จากที่เกษตรกร ทำเองเลย ซึ่งเกษตรกร สามารถหาความรู้ ในการทำน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก ได้ด้วยตนเอง จากแหล่งความรู้ทั่วไป หรือเอกสาร เกี่ยวกับเกษตรธรรมชาติ ถ้าเกษตรกร สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นได้แล้ว อย่างน้อย ก็ไม่เป็นการ เพิ่มหนี้สิน ที่มีอยู่แล้ว ให้พอกเพิ่มขึ้นไปอีก และค่อยๆเก็บหอมรอมริบ จากสิ่งละอัน พันละน้อย ขายส่วนที่เหลือ จากกิน ก็จะเป็นทางออกหนึ่ง ที่ไม่ยากเกินกว่า จะทดลองทำได้

ความสำคัญของดิน ในการทำกสิกรรมธรรมชาติ
ดินมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำเกษตรธรรมชาติ เป็นแหล่งที่มา ของธาตุอาหารที่จำเป็น เพื่อการเจริญเติบโต ของพืช ดินที่มีสภาพความสมบูรณ์สูง คือดินที่บุกเบิกจากสภาพป่าใหม่ๆ ธาตุอาหารพืช ที่ได้จากดิน มีอยู่ หลายชนิดด้วยกัน แต่ที่สำคัญคือ ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม (NPK) การปลูกพืช ติดต่อกัน เป็นเวลานาน จะทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหาร ไปจนหมด กลายเป็นดินเลว ปลูกพืชไม่เจริญ เติบโตอีกต่อไป

ดังนั้น จึงต้องมีการปลูกพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วพร้า โสน ฯลฯ พืชเหล่านี้มีปมราก ซึ่งมีเชื้อจุลินทรีย์ที่คอยจับไนโตรเจน จากอากาศ มาบำรุงดิน แล้วตัดหรือไถกลบ จะเป็นการ บำรุงดินอย่างดี นอกจากการปลูกพืชตระกูลถั่วแล้ว การใช้เศษอาหาร ใบไม้ ใบหญ้าคลุม หรือ ฝังกลบลงดิน ถ้ารดจุลินทรีย์ เพื่อเพิ่มการย่อยสลายลงไป จะดียิ่งขึ้น

ความเป็นกรด-ด่างของดิน มีส่วนที่สำคัญ ต่อการเจริญเติบโต ของพืชด้วย เราตรวจสอบค่าพีเอช (pH) ความเป็นกรด - ด่างของดินได้ ค่าพีเอชของดินโดยทั่วไป อยู่ระหว่าง ๓.๐-๙.๐ ค่าพีเอช ๗.๐ บอกถึง สภาพ เป็นกลางของดิน คือ ดินมีตัวที่ทำให้เป็นกรด และตัวที่ทำให้เป็นด่าง อยู่ในปริมาณ เท่ากันพอดี

ค่าที่ต่ำกว่า ๗.๐ เช่น ๖.๐ บอกสภาพความเป็นกรดอˆอนๆของดิน และค่าที่มากกว่า ๗.๐ เช่น ๘.๐ บอกถึง สภาพความเป็นด่างของดิน เกษตรกรที่ต้องการปรึกษาเรื่องดิน สอบถามรายละเอียด ได้จากหมอดิน สำนักงาน เกษตรอำเภอได้


ทำเอง ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิต
หลักการทำน้ำจุลินทรีย์มีขั้นตอนง่ายๆ คือ ใช้วัตถุดิบ ๓ ส่วน น้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล ๑ ส่วน และน้ำเปล่า ๕ ส่วน วัตถุดิบ คือ เศษวัชพืช เศษอาหาร ใบไม้ใบหญ้า ฯลฯ หั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงถังพลาสติก คลุกเคล้า ด้วยน้ำตาลทรายแดง หรือ กากน้ำตาล เติมน้ำลงไป เก็บไว้ในที่ร่ม หมักทิ้งไว้ ๓ เดือน เป็นอันใช้ได้

สำหรับการขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อใช้ต่อไป คือ
๑. หัวเชื้อจุลินทรีย์ ๑ ส่วน
๒. น้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล ๑ ส่วน
๓. น้ำเปล่า ๑๐ ส่วน

เมื่อครบทุก ๓ เดือน สามารถขยายเชื้อจุลินทรีย์ต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด

ท่านใดมีประสบการณ์ในการทำกสิกรรมธรรมชาติ ต้องการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่ เทคนิค ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงสูตรน้ำหมักบำรุงพืชผัก และสารขับไล่แมลง ส่งมาได้ที่ email : [email protected] จะนำเผยแพร่ เพื่อเป็นวิทยาทานต่อไป

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๐ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๕)