ยอดคนแห่งภูผาฯ - ตรงคม คงธรรม
ภูฟ้า แพงค่าอโศก

บุกเบิก
ย้อนอดีตเมื่อ ๑๓ ปีที่แล้ว ชายหนุ่มวัย ๓๖ ปี มุ่งสู่ดินแดนชิดขอบป่าเขตบ้านแม่เลา ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตามบัญชาของ "แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม" เพื่อพลิกผืนดินราว ๘๐ ไร่ ให้เป็นชุมชนแห่งธรรม

"ผมชอบทะเลมากกว่า มันดูไม่เกะกะตาเหมือนป่าเขา" แต่ด้วยศรัทธามหาศาลใน 'บิดาแห่ง จิตวิญญาณ' เขาจึงฝังตัว อยู่ในถิ่นที่ ไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากภูมิลำเนาเดิม ในภาคกลาง อย่างสิ้นเชิง

ในบริเวณขุนเขาแห่งนี้ ที่พื้นราบเป็นคนไทยพื้นเมือง บนดอยมีชาวปาเกอะญอ คนเหล่านี้ ยังชีพด้วยการทำไร่ ทำนา หาของป่า ล่าสัตว์

ในปีต้นๆ เขาเป็นกำลังหลัก มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไม่ถึงสิบคน ที่ไหลเวียนเปลี่ยนกัน มาหนุนช่วย บางคนทำท่า จะมาฝังราก ฝากกายไว้ที่นี่ ในที่สุด ก็จรไปจรมา เพราะรู้ว่า 'อยู่ยาก' แต่ยุทธนา คงสุข ไม่ถอย

นอกจาก เป็นคนแปลกหน้า ของชาวบ้านในพื้นที่แล้ว เขายังต้องตอบคำถาม ผู้พิทักษ์ป่า ของกรมป่าไม้ และ หน่วยราชการอื่นๆ ด้วยว่า 'มาทำไม' ท่ามกลางความไม่เข้าใจ และความขัดแย้งระหว่าง คนพื้นราบ คนบนดอย และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในปัญหาด้านกฎหมาย เรื่องพื้นที่ทำกิน ทั้งความซับซ้อน ของอิทธิพลนายทุน ในท้องถิ่น เขายืนหยัด อยู่ที่นั่น ด้วยกำลังใจสำคัญจาก 'พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์' ที่เขาเคยถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิด และจากแรงสนับสนุน ของหมู่กลุ่ม ในเชียงใหม่ อีกทั้งหมู่มิตรที่อยู่ห่างไกล สิ่งสำคัญคือ ความกล้าแกร่ง และเด็ดเดี่ยว ด้วยความเข้าใจ ที่ชัดเจนว่า 'ความดีบริสุทธิ์ คือเกราะคุ้มกันภัย'

ผู้เป็นที่รัก
ที่ตลาดแม่มาลัย อำเภอแม่แตง ชาวบ้านกรูกันมาซื้อเห็ดหอมราคาถูก ขายหมดเกลี้ยงภายในพริบตา

"ผมอยากให้ชาวบ้านจนๆ ได้มีโอกาสบ้าง" เขากล่าวกับผู้มาเยือนเมื่อหลายปีมาแล้ว เห็ดหอมที่นี่ ภูผาฟ้าน้ำ ไม่ได้มีไว้ขายคนรวย

โดยบุคลิกส่วนตัวเขาค่อนข้างเงียบขรึม ชอบอยู่อย่างสงบ แต่ด้วยภารกิจแห่งการงาน เขาก้าวเข้าไปประสานใจ กับคนในพื้นที่ ทุกระดับ ทุกเพศทุกวัย อะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งดีงาม เขาหยิบยื่นให้แก่คนเหล่านั้น อย่างไม่รีรอ แม้เหนื่อยกาย แต่ไม่ล้าใจ ด้วยความรัก-เมตตา ต่อเพื่อนมนุษย์ ในที่สุดคนที่ ไม่เข้าใจก็ 'แพ้ใจ' แน่นอน เขามิอาจ เป็นที่รักของ ทุกคน แต่คนชั่ว ก็ไม่กล้าเกลียดเขา

ความรู้เรื่องการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ความเข้าใจในคุณูปการของป่าไม้ ซึมซับเข้าไปในชุมชน รอบข้าง เจ้าหน้าที่ กรมป่าไม้ ที่เคยเพ่งเล็งว่า เขาคือ 'ผู้บุกรุก' กลับลำกลายเป็นมิตร เขาทำให้เรื่องยาก กลายเป็นเรื่องง่าย เรื่องร้าย กลายเป็นเรื่องดี ศัตรูกลายเป็นมิตร ใบหน้าเปื้อนน้ำตาของคนยากจน ในละแวกนั้นเริ่มมีรอยยิ้ม

ชาวบ้านโดยเฉพาะชาวปาเกอะญอ เริ่มเข้ามาคบคุ้น มาช่วยสร้างเพิงพัก สร้างอาคาร ซึ่งใช้ประโยชน์ อเนกประสงค์ สำหรับพุทธสถาน พวกเขาเริ่มคุ้นเคย กับคนเผ่าใหม่ ที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย และไม่บริโภคเนื้อสัตว์

ณ บัดนี้ ผืนดินส่วนหนึ่งของที่นี่ได้กลายเป็นโรงเรียนฝึกจิตวิญญาณของสมณะบวชใหม่ ซึ่งต้องศึกษาใจ อยู่ที่นี่ อย่างน้อย ๕ ปี เด็กๆ จะมีโรงเรียนสัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ ตัวน้อยๆจะเข้าโรงเรียนอนุบาลหลานปู่

พ่อท่านฯ ขนานนามขุนเขาแห่งนี้ว่า เขาแพงค่า ยุทธนาได้รับนามใหม่ว่า ภูฟ้า ต้นตระกูล แพงค่าอโศก โดยมี น้ำแรง คู่ชีวิต เป็นสมาชิกแห่งตระกูล และเด็กชายน้อยวัยสามขวบ ภูผาเมฆ เป็นผู้สืบสกุล

สู่สภาวะใหม่
เวลาประมาณสิบเอ็ดนาฬิกาของวันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ที่พุทธสถานสันติอโศก สมณะรูปหนึ่ง ได้กราบเรียน พ่อท่านฯ ซึ่งกำลังแสดงธรรมว่า "ภูฟ้าเสียชีวิตแล้ว" พ่อท่านฯอธิบายแก่ผู้มาฟังธรรมว่า พิษของไวรัส จากฉี่หนู เข้าสู่หัวใจ เขารักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลเอกชน ในเชียงใหม่ระยะหนึ่ง แพทย์พยายามช่วยเหลือ อย่างเต็มที่ แต่สุดความสามารถ ถึงเวลาที่ภูฟ้า จำเป็นต้องละร่าง

"ในสมัยก่อนไม่มีใครรู้ว่า หนูนาที่มากัดกินต้นข้าวนั้นฉี่ของมันเป็นพิษ แต่เมื่อพิษนั้นซึมเข้าไป ในดิน ซึ่งมีจุลินทรีย์ ที่สามารถทำลายพิษ ของฉี่หนู ชาวนาจึงไม่ได้รับอันตรายจากพิษทั้งๆ ที่ทำนาโดยไม่ใส่รองเท้า ต่อมาชาวนา นิยมใช้ยาฆ่าหญ้า ซึ่งทำให้จุลินทรีย์ ในดินตายด้วย ไวรัสจากฉี่หนู จึงเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง แพร่ฤทธิ์ร้ายเข้าสู่ไต และถึงหัวใจ ในที่สุด ภูฟ้าอาจไปทำ ในที่ดินแปลงใหม่ ซึ่งเดิมชาวบ้าน ใช้ยาฆ่าหญ้า ในผืนนาแห่งนั้น" ฟ้างาย คำอโศก (สุกัญญา สุรภักดี) ผู้ถวายพื้นที่ภูผาฟ้าน้ำ แด่พ่อท่านฯ อธิบายความดังกล่าว

๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๕ บริเวณโอบเขาแพงค่า คราคร่ำด้วยฝูงชนจากแดนใกล้และไกล หญิงชาวปาเกอะญอ ในชุดประจำเผ่า เอาข้าวมาร่วมบุญ พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) แห่งบ้านแม่เลา นำลูกบ้านมาช่วย ก่อกองฟอน ผู้เฒ่าผู้แก่ ชายหญิง พากันมาที่นี่ น้ำตาอาบแก้มโดยทั่วกัน สมณะสิกขมาตุ และญาติธรรมชาวอโศก ทั่วสารทิศ มาชุมนุมกัน อย่างสงบ บางคนใช้ไม้กฤษณา หย่อนในโลง แทนดอกไม้จันทน์ประดิษฐ์ ราวบ่ายสี่โมงเย็น พ่อท่านฯ จุดคบ ประชุมเพลิง เมื่อเปลวไฟลุกโชติช่วง หลายคนน้ำตาซึมด้วย อาลัย

บางคน ทรงอารมณ์อย่างปกติ โดยให้เหตุผลว่า การจากไปครั้งนี้เป็น การเดินทางสู่สภาวะใหม่ ณ วันหนึ่ง เขาจะกลับมา สู่โอบเขา แพงค่า แห่งนี้ เพื่อสานงานที่รออยู่

๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๒ ก.ค. - ส.ค. ๒๕๔๕)