เพ้อฝัน หรือใฝ่ฝัน
...ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า


"ความเพ้อฝัน" และ "ความใฝ่ฝัน" เป็นภาวะ ๒ อย่าง ที่มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มีแก่นสาร สารัตถะสำคัญ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

"ความเพ้อฝัน" เป็นจินตนาการที่ฝันอยากได้ อยากมี อยากเป็น สิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างลมๆ แล้งๆ โดยปราศจาก พื้นฐานของเหตุปัจจัยรองรับ เช่น ฝันว่า จะสามารถร่ำรวยได้ ในชั่วข้ามคืน ด้วยการถูกสลากกินแบ่ง รางวัลที่ ๑ เต็มชุด เหมือนเช่นที่เคยมีคน ถูกรางวัล มาแล้ว ตามข่าว ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือฝันจะได้รับมรดก จำนวนมหาศาล อย่างไม่เคย คาดคิด มาก่อน เหมือนที่ตัวละคร ในเรื่องบ้านทรายทองได้รับ เป็นต้น

ละครน้ำเน่า มักจะมีโครงการเรื่องเพ้อฝันคล้ายๆ กันคือ พระเอกหรือนางเอก เกิดมา ตกอับ ยากจน แล้ว วันดีคืนดี ก็สามารถเอาชนะ ตัวผู้ร้ายขี้อิจฉา ในเรื่องนั้นๆสำเร็จ ได้แต่งงาน กับพระเอกรูปหล่อหรือนางเอกรูปงาม ที่มีคุณสมบัติครบพร้อม ทั้งชาติตระกูล และฐานะ ที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สุดท้าย ก็มีชีวิตอย่างสุขสบาย สมหวัง ในตอนจบของเรื่อง

การที่ผู้คนชอบดูละครน้ำเน่าที่มีโครงเรื่องคล้ายๆ กันแบบนี้ ก็เพราะช่วยให้ลืม โลกแห่ง ความเป็นจริง ที่มีแต่เรื่อง ทุกข์กังวล ไปได้ชั่วคราว เพื่อไปอยู่ในโลก ของความเพ้อฝัน ที่ตนรู้สึกมีส่วนร่วม ในการแสดงบทบาท เป็นตัวพระเอก หรือนางเอกที่โชคดี ในเรื่องดังกล่าว

ความเพ้อฝันเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจมีคุณประโยชน์อยู่บ้างในฐานะเป็นกลไกทางจิต (defense mechanism) ที่ช่วยผ่อนคลายภาวะ ความบีบคั้น เป็นทุกข์บางส่วน แต่ถ้าติดอยู่ในโลก ของความเพ้อฝัน มากๆ ก็จะกลายเป็น การบั่นทอน ทำลายพลังการพัฒนา สร้างสรรสิ่งต่างๆ ในโลกของความเป็นจริง

ส่วน "ความใฝ่ฝัน" นั้นเป็นจินตนาการที่อยากไปให้ถึงเป้าหมาย อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีพื้นฐาน ของเหตุปัจจัย แห่งความเป็นจริงรองรับ เช่น ใฝ่ฝันอยากเป็นแพทย์ เพื่อจะได้ ทำงานช่วยชีวิต เพื่อนมนุษย์ หรือใฝ่ฝันอยากมี กิเลสตัณหาอุปาทาน เบาบางลดน้อยลง เพื่อจะได้พ้นทุกข์ แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้นๆ อย่างมีความหวัง และ เห็นช่องทาง ความสำเร็จ เป็นต้น

ความเพ้อฝันเป็นเรื่องของ "วิตกจริต" ที่นำไปสู่ความฟุ้งซ่าน โดยหาแก่นสาร สาระอะไร ในชีวิตไม่ได้

ส่วนความใฝ่ฝันเป็นเรื่องของ "พุทธิจริต" และ "ศรัทธาจริต" ที่จะนำไปสู่ความคิด สร้างสรร และ พลังความมุ่งมั่น ที่จะก้าวไปให้ถึง จุดหมายที่วางไว้นั้นๆ

แต่ถ้าปราศจากทั้งความเพ้อฝัน หรือความใฝ่ฝัน จิตใจมีแต่ความเฉื่อยเนือย เฉยๆ เซ็งๆ ตื้อๆ ก็จะกลายเป็น "โมหะจริต" ซึ่งไม่นำไปสู่การพัฒนา สรรสร้างอะไรอีกเช่นกัน

เพราะมนุษย์มีความใฝ่ฝันอยากจะบินให้ได้เหมือนนก จึงนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องบิน จนประสบผลสำเร็จ

เพราะมนุษย์มีความใฝ่ฝันอยากจะดำอยู่ใต้น้ำนานๆ ได้เหมือนปลา จึงนำไปสู่การประดิษฐ์ คิดค้น ชุดมนุษย์กบ ตลอดจน เรือดำน้ำประเภทต่างๆ

และเพราะมนุษย์มีความใฝ่ฝันอยากเหาะเหินไปในอวกาศสู่ดวงดาวบนท้องฟ้า ได้เหมือน เทพยดา จึงนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้น ยานอวกาศ และจรวด จนสามารถ นำมนุษย์ไปเหยียบ บนผิวดวงจันทร์ ได้สำเร็จ เป็นต้น

ความใฝ่ฝันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อารยธรรมของมนุษย์ มีการพัฒนา ก้าวหน้า ไปสู่ทิศทาง ที่เจริญขึ้น รวมทั้งผลักดัน ให้ชีวิตของปัจเจกบุคคล แต่ละคน ประสบความสำเร็จ ตามที่มุ่งหวังด้วย

ความใฝ่ฝันภายใต้กรอบความคิดที่เป็นระบบ ซึ่งสามารถจะอธิบายอดีต ตอบปัญหา ของปัจจุบัน และ ชี้นำทิศทาง ที่จักพึง ก้าวต่อไป ในอนาคต ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่าเป็น "อุดมการณ์" (Tdeology) แบบใดแบบหนึ่ง

อุดมการณ์จึงเป็นเรื่องของความใฝ่ฝัน ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะวางอยู่บนพื้นฐาน ของระบบความคิด ที่สามารถอธิบาย ถึงเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ เป้าหมายสุดท้าย อันพึงปรารถนา ในอนาคตได้ อย่างเป็นขั้น เป็นตอน

กรอบอุดมการณ์ในทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง เช่น อุดมการณ์ ลัทธิเสรีนิยม ลัทธิสังคมนิยม หรือ ลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นต้น จะเป็น แนวทางที่ตอบสนอง ความใฝ่ฝัน ของมนุษย์ ในการ ขับเคลื่อนผลักดัน ให้สังคมมนุษย์ พัฒนาไปสู่ทิศทาง แห่งความใฝ่ฝันนั้นๆ จนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง อารยธรรมของมนุษย์ อย่างกว้างขวาง ในช่วงที่ผ่านมา

"บุญนิยม" ก็คือ กรอบอุดมการณ์ทางสังคม ชุดหนึ่งที่คลี่คลายจากรากฐาน พุทธปรัชญา เป็นระบบความคิด ที่สามารถจะพัฒนาใ ห้มีศักยภาพ ที่จะอธิบายปัญหา ของมนุษย์ในอดีต ตอบข้อสงสัยถึงสาเหตุแห่งปัญห าความบีบคั้น เป็นทุกข์ของมนุษย์ในปัจจุบัน ตลอดจน ชี้นำทิศทาง ที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต เพื่อปลดปล่อยสังคมมนุษย์ ให้เป็นอิสระ จากภาวะ ความบีบคั้นเป็นทุกข์

จินตนาการแห่งความฝันที่จะเห็นสังคมมนุษย์ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เบาบาง ลดน้อยลง มีความอาทร เกื้อกูลต่อกันมากขึ้น มองเห็นความ เสียสละเป็น "กำไร" ของชีวิต มองเห็น การเอารัด เอาเปรียบ เพื่อนมนุษย์คนอื่น เป็นความ "ขาดทุน" ในชีวิต มองเห็น การมีปัญญา รู้จักวิธีบริโภค ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเกิด "ประโยชน์สูง ประหยัดสุด" เป็นแก่นสารคุณค่า ของความเป็นมนุษย์ ฯลฯ ก็คือจินตนาการ ของกรอบอุดมการณ์ บุญนิยม

จินตนาการชุดนี้อาจจะเป็นเรื่อง "เพ้อฝัน" สำหรับคนที่มองไม่เห็นช่องทาง ในการพัฒนาไปสู่ เป้าหมาย ดังกล่าว เหมือนความพยายาม ที่จะบินให้ได้เหมือนนก ของมนุษย์ ซึ่งอาจจะเป็น เรื่องเพ้อฝัน สำหรับผู้คนส่วนใหญ่ ในยุคสมัยหนึ่ง แต่สำหรับ ๒ พี่น้องตระกูลไรท์ ที่มองเห็น ช่องทาง ในการสร้าง เครื่องบินที่มีปีกบินได้แล้ว จินตนาการดังกล่าว เป็นความ "ใฝ่ฝัน" ที่ท้าทายชีวิต ของคนทั้งสอง โดยไม่ใช่เรื่อง "เพ้อฝัน" เป็นต้น

สำหรับคนที่สามารถเรียนรู้วิธีที่ลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง ในชีวิตของตน ให้เบาบาง ลดน้อยลง และสัมผัสถึงภาวะ แห่งความเป็นอิสระ ว่างเบาของชีวิต ที่ได้รับ การปลดปล่อย ให้พ้นจาก พันธนา ของความโลภ ความโกรธ ความหลงดังกล่าว ก็จะมองเห็น จินตนาการ ของกรอบอุดมการณ์บุญนิยม ในฐานะเป็นความ "ใฝ่ฝัน" ที่ท้าทาย อารยธรรม มนุษย์ ไม่ใช่เป็นแค่ความ "เพ้อฝัน" ลมๆ แล้งๆ เท่านั้น

เมื่อคนเหล่านี้เข้าร่วมอุดมการณ์ "บุญนิยม" เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ เพื่อร่วมกันถักทอ จินตนาการ แห่งความใฝ่ฝัน ดังกล่าว ให้เป็นจริงขึ้นมา ในสังคม จนถึง จุดมวลวิกฤต (critical mass point) ที่มีมวลพลัง เพียงพอ อุดมการณ์นี้ ก็จะสามารถ ขับเคลื่อน ให้สังคม เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญ ไปสู่ทิศทางของ "บุญนิยม" ในที่สุด

ความ "ใฝ่ฝัน" ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขชีวิตในสิ่งที่สมควรเปลี่ยนแปลงแก้ไข และ พัฒนาให้เกิด ความเจริญ งอกงามยิ่งๆ ขึ้นในสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลง แก้ไขนั้นๆ เพื่อลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้บรรเทา ลดน้อยลง (การรู้จักเพียร)

การยอมรับและปล่อยวางไม่ "เพ้อฝัน" ในสิ่งที่ยังอยู่นอกขอบเขต แห่งศักยภาพของเรา ที่จะสามารถ เปลี่ยนแปลง แก้ไขอะไรได้ในขณะนี้ (การรู้จักพัก)

ตลอดจนการมีปัญญาที่จะแยกแยะตวามแตกต่าง ระหว่างสิ่งที่เราสามารถ เปลี่ยนแปลง แก้ไขได้ กับสิ่งที่ยังเกิน ขอบเขต แห่งอินทรีย์พละ หรือศักยภาพของเรา ที่จะสามารถ เปลี่ยนแปลง แก้ไขในปัจจุบัน (การไม่พักในขอบเขตที่ควรเพียร และการไม่เพียร ในขอบเขต ที่ควรพัก หรือ "การไม่พัก การไม่เพียร" ตามพุทธพจน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็คือหัวใจ ของความสำเร็จ แห่งอุดมการณ์ บุญนิยมนี้

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๓ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๕)