บันทึกความทรงจำ : ๑๒ เพล() ในไต้หวัน -
ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๘ เมษายน ๒๕๔๕ (ตอน ๒)


(ต่อจากตอน ๑)

ก่อนกลับที่พักท่านชุติโรจน์ถามว่าใครอยากไปดูชีวิตคนไต้หวันย่านช้อปปิ้งใต้ดินบ้าง ผู้สูงอายุและผู้ป่วย รีบปฏิเสธก่อน ขอเอาแรงไว้วันต่อไป ในขณะที่สาวๆ(แก่) ก็อยากเก็บประสบการณ์ ให้มากที่สุด แต่สุดท้าย ท่านลักขโณ ขอไว้วันท้ายก็แล้วกัน ท่านชุติโรจน์ก็ได้แต่พา พวกเราขับรถ วนภูเขามู่จ้าที่อีกทางขึ้นหนึ่ง ทำไมนานเสียจริงๆ เสียงร้องของบางคนบอก เพราะอยากเข้าห้องน้ำเต็มแก่ แสงสีของเมืองไทเป ยามค่ำคืน จึงสวยน้อยลงๆ

อังคารที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๕ : ไทเปอีกหนึ่งวัน
อาหารเช้าแปลกใหม่
เช้านี้เราไม่ได้รบกวนภิกษุณี และท่านเองก็มีแผน ที่จะหาความแปลกใหม่ ในอาหารเช้า ท่านพาพวกเรา ลงอีกเส้นทางหนึ่ง (ที่กลุ่มสาวๆ ได้วนกัน แทบแย่แล้วเมื่อคืน) ขึ้นเขาชมวิวไทเป จากยอดเขาหน้าวัดจีน


แวะร้านทำขนมเค้กเจ มีให้เลือกหลากหลายดูรูปลักษณ์น่ารับประทาน (แต่พอทานไป พิจารณาไป เรื่องรสชาติ จึงเป็นรอง) ลงไปเชิงเขา แวะดื่มน้ำเต้าหู้ มีน้ำเต้าหู้สูตรแปลกใหม่ ผสมน้ำส้มสายชู จับกัน เป็นก้อน ได้รสชาติไปอีกแบบ บางคนกินแล้ว ดูหน้าตา ปูเลี่ยนๆ แต่พี่โม่งเหลียง ที่เพิ่งหายปวดท้อง บอกว่า มื้อนี้อร่อยจริง

มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เซียงจีอุ้ย
๐๙.๓๐ น. ขับรถวนไปมาผ่านตึกร้างมีแถบพลาสติกเหลือง ผูกโอบรอบบริเวณตึก (ถ้าใครดูหนังบ่อยๆ ก็จะรู้ว่า เป็นเขตอันตราย) ท่านไหนก็จำไม่ได้ กระซิบให้รู้ว่า ที่นี่แหละเป็นศูนย์กลาง ของแผ่นดินไหว เมื่ออาทิตย์ก่อน ภาวนาว่า เราคงโชคดี ที่ไม่ต้องเข้าไปใกล้ ยังไม่ถึงเสี้ยวนาที รถก็จอดขวับ ตึกนี้แหละ ที่เป็นที่อยู่ของ Consumer Foundation (www. consumers. org.tw) กลั้นใจขึ้นลิฟต์ ไปเป็นสิบชั้นอยู่ การแตกร้าวยังมีร่องรอยปรากฏให้เห็น และมีคนงานมาซ่อมตึก เป็นช่วงๆ ช่วงที่ถูกเชิญให้ไปนั่งรอ ในห้อง ประชุม รอยแตก ก็เห็นกันจะจะ แต่คนทำงาน ก็ยังยืนหยัดมาทำงานอยู่ ไม่หวั่นแม้วัน after shock ท่านลักขโณ แซวว่า รายการนี้ไม่มีคนซักแหลก แบบที่ผ่านๆ มาแน่ เพราะอยากจะรีบกลับลงไป ให้เร็วที่สุดแน่

มูลนิธินี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๐ ปัจจุบันมีลูกจ้าง ๓๐ คน ใน ๓ สาขา มีห้อง Lab ที่สมบูรณ์ที่สุด มีอาสาสมัคร สมาชิกที่มาช่วยงาน บางเวลา ๔๐๐ คน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ๕๐๐ คน มาช่วยกัน รับเรื่องราว ร้องทุกข์ ผ่านทางโทรศัพท์ปีละ ๘๐,๐๐๐ ครั้ง ผู้บริโภคสามารส่งสินค้าคืน ได้กว่า ๖,๐๐๐ ราย ให้คำปรึกษาคดีทางกฎหมายปีละ ๔๐๐ คดี เป้าหมายการทำงาน อยากเป็นผู้ไกล่เกลี่ย มากกว่าถึงขั้น ขึ้นโรงขึ้นศาล หากมีผู้เสียหาย มากกว่า ๒๐ คน ก็จะช่วยฟ้องร้องให้ แต่เดิมในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ปัญหาร้องทุกข์ จะเป็นเรื่องที่พักอาศัย แต่ในระยะ ๒ ปีนี้เปลี่ยนไป เป็นเรื่องการสื่อสาร ทางโทรศัพท์ การประกันชีวิต การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร ตรวจสารตกค้างอาหาร และการนำเข้าอาหาร แบบผิดกฎหมาย และเมื่อสอบถาม ความคิดเห็น เรื่องจีเอ็มโอ เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ก็ยังไม่มีความคิดเห็น เพราะมีข้อมูลไม่พอ ทั้งๆ ที่ไต้หวัน สั่งถั่วเหลือง GMO จากสหรัฐ เป็นอันดับ ๓ ของโลก แต่ก็เห็นด้วย กับการติดฉลาก ให้ผู้บริโภคตัดสินใจเอง ในส่วนของรัฐบาลเอง ก็ขอเวลาอีกหนึ่งปี ที่จะตัดสินใจ ในเรื่องนี้ ผลงาน ชิ้นโบว์แดง ของมูลนิธิก็คือ การเรียกร้อง ให้รัฐบาล จ่ายเงินทดแทน ผู้ประสบภัย แผ่นดินไหว ครั้งใหญ่ ที่มีคนตายนับพันๆ คน เป็นเงินมากขึ้นกว่าสองเท่า ทั้งหมดราวพันล้านบาท

แหล่งเงินทุนหลัก ขององค์กร ได้จากการบอกรับวารสาร รายงานผู้บริโภค consumer reports ปีละ ประมาณ สองพันบาท ในช่วงที่มี วิกฤตเศรษฐกิจ สมาชิกลดลงจาก ๓๐,๐๐๐ รายเหลือเพียง ๑๓,๐๐๐ ราย และมูลนิธินี้ ก็เป็นสมาชิกของ องค์กรผู้บริโภคสากล International Consumer ซึ่งมีสมาชิก ๒๕๐ องค์กร จาก ๑๒๐ ประเทศทั่วโลก

ลงจากตึกด้วยความโล่งใจ แวะไปร้านซุปเปอร์เตรียมเสบียง สำหรับการเดินทางยาวนานวันรุ่งขึ้น โดยเฉพาะ ลูกอมแก้ง่วง สำหรับท่านสารถี

อาหารกลางวัน มื้อที่หรูที่สุด และแพงที่สุด (สำหรับพวกเรา) ในไต้หวัน

กลางวันนี้คุณโย่ง เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันที่ เหลียนชิงเวียนภัตตาคาร (ภัตตาคารมีสัญลักษณ์ ตราดอกบัว) อาหารเป็น บุฟเฟ่ แบบหรู ๆ แบบ all you can eat ราคาหัวละ 336 NT เสียงแว่วๆ มาว่า ให้เวลาอยู่ที่นี่ สองชั่วโมง ค่อยๆ เวียนชม เวียนทานไป อาหารเจ นับร้อยชนิด จัดวางเป็นชุดๆ ปรุงแต่ง หลากหลายรูปแบบ ให้เลือกลองชิม ทั้งอาหารหลัก ขนมหวาน ไอศกรีม น้ำชา น้ำ

สมุนไพร แต่ที่สุดยอดคือ เต้าหู้เหม็นที่เหม็นระดับ (ขอโทษ) ขี้วัว หลายคนถูกคุณนุช ชักชวนให้ชิม ทำให้ที่ความสุข ที่ได้เสพมาทั้งหมด แทบมลาย หายไปในทันที (เรื่องของเต้าหู้เหม็น ยังมีให้เล่า อีกหลายครั้ง และก็รำลึก จดจำกันมา ถึงเมืองไทย เพราะที่บ้านเรา หากินกันไม่ได้ เอาเสียเลย)

ตลาดขายส่งวัตถุดิบเจ
ด้วยอิ่มกันมาก ผู้นำทีมเลยให้เราไปเดินยืดท้องที่ย่านเยาวราชไต้หวันคล้ายๆ กับตลาดเก่าบ้านเรา

ร้านขายวัตถุดิบอาหารเจที่ใหญ่ที่สุดคือร้าน "ตี่ฮัวเจ" ถึงแม้ว่าจะมาได้ ๒ วัน ก็พอมีประสบการณ์ ที่จะรู้ว่า มีอะไรอร่อยๆ ที่จะซื้อหาไปฝาก ญาติสนิท มิตรสหาย ที่เมืองไทยได้ คุณจิ๋วก็สนุกกับการเป็นล่าม และช่วย ต่อราคา ให้เพื่อนๆ หลายๆ คนได้สาหร่าย หลากหลาย ได้ขาเห็ดหอม ขนาดยักษ์สมใจ จนท่านภิกษุ ภิกษุณี ทั้งสาม ตกใจ กับการเป็นนักช้อป ของทีมนี้

หมอเจียเหวย หมอตาทิพย์
ย่านเยาวราชไทเปก็ไม่ต่างจากเยาวราชไทย คือหาที่จอดรถยาก พวกเราจึงเดินวินโดว์ช้อปปิ้ง ไปหลายช่วงตึก (ซื้อไม่ได้ เพราะเป็นอาหาร จากเนื้อสัตว์ เป็นส่วนใหญ่ เช่น หูฉลาม ปลิงทะเล ฯลฯ) ไม่มีใครบ่น เพราะช่วยลด ความอึดอัด จากภัตตาคารดอกบัวด้วย บ่ายนี้ เรามาหา หมอจีน (รักษาตามแบบ แผนโบราณจีน เลยทีเดียว) คือ วินิจฉัยโรค โดยการดูโงวเฮ้ง (มองหน้า รู้โรค) การแมะ (จับชีพจร) และ ใช้เทคนิค การรักษาโดย การฝังเข็ม การใช้ถ้วยสุญญากาศ ดูดถอนพิษ การจัดกระดูก ยาสมุนไพรจีน หมอเจียเหวย เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลไต้หวัน ยังไม่ให้ ใบอนุญาต การประกอบโรคศิลปะ ในขณะที่ สหรัฐอเมริกา จีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น ยอมรับการรักษา ด้วยวิธีนี้

หมอได้ปลีกเวลามาคุยกับพวกเราทั้งๆ ที่คนไข้เยอะพอควร พี่โม่งเหลียง ซึ่งยังมีอาการปวดท้องอยู่ก็ ไม่พลาดโอกาส ที่จะอาสาเป็นคนไข้ คนแรกตามเคย หมอเจียเหวย เริ่มจากดูโงวเฮ้ง ให้พี่เขาได้ตรงถูกต้อง โรคแบบน่าทึ่ง คุณปัทม์ชอบลองวิชาอยู่แล้ว จึงขอใช้สิทธิ์บ้าง เพราะยังไม่ได้เคยลอง หมอไหนเลย เพียงแต่ หมอดูสีหน้า แววตา แล้วก็หุ่นโตๆ ก็สามารถบอกลักษณะ นิสัยได้ถูกต้อง จนเจ้าตัวร้องจ้าก (โดนใจอย่างจัง ตรงที่หมอบอกว่า เป็นคนชอบควบคุมคนอื่น แล้วก็อย่าให้ผอมนะ ไม่มีโรคอะไรมาก) พวกเราหลายคน อยากให้วินิจฉัยบ้าง คุณนุชเป็นคนต่อไป หมอบอกว่า เจ็กอั้ก เส้นเลือดเดินไม่สะดวก หมอบีบนวด ให้ลมปราณเดินนิดหน่อย แต่ด้วยเวลาจำกัด จึงรักษาพี่โม่งเหลียง จึงได้รับการรักษา ด้วยการครอบ ถ้วยแก้วสูญญากาศ ที่หัวเข่า และรับยาสมุนไพรจีน โดยหมอเจี๋ยเหยียน กับพวกเราตามเคย (ที่ไต้หวันนี่ มีหมอที่มีจิตใจ เป็นบุญ อยู่หลายคนทีเดียว แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่นะ เพราะเรามากับ "พระ" หรือเปล่า เลยพลอยได้ อานิสงค์ไปด้วย) ท่านลักขโณ บอกว่า การตรวจด้วยการแมะ และดูรูปร่างลักษณะ โดยเฉพาะ ใบหน้า ตา ก็สามารถวินิจฉัยโรค ได้ถึง ๗๐ %

เขตอุตสาหกรรม SME ที่ Wuku
SME เป็นรายได้หลักของประเทศไต้หวัน เดิมประชาชนทำการเกษตรเป็นด้านหลัก หลังจากที่ตกอยู่ ภายใต้อิทธิพล ของญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นเวลานาน ทำให้คนไต้หวัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ การทำธุรกิจ ประกอบกับชีวิต ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ภัยธรรมชาติ จากแผ่นดินไหว และพายุไต้ฝุ่น ที่รุนแรง จึงเป็นบทเรีย นฝึกให้คนไต้หวัน ต้องอดทน ต่อสู้ เพื่อให้มีชีวิตรอด รถของเราวนรอบๆ เขตอุตสาหกรรม Wuku Industrial ซึ่งเป็นเขตที่ผลิตสินค้าเลียน ที่มีแบบคุณภาพส่งออก ที่ทำรายได้ เข้าประเทศมาก แห่งหนึ่ง ก็คล้ายๆ นิคมอุตสาหกรรม แบบบ้านเรา คือ เป็นโรงงานขนาดเล็ก มีสำนักงาน และโชว์รูม อยู่เป็นหลังๆ ดูเป็นระเบียบ และสะอาดตา

เรามาที่นี่เพราะคุณโย่งและคุณแก่นต้องมาติดต่อธุรกิจนำเข้า ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ไปขายให้แก่ คนรักสุขภาพ คือ เครื่องปั่นน้ำเต้าหู้ และ น้ำผลไม้ ขนาดเล็ก ที่ใช้ในครอบครัว หรือผลิตขายรายย่อย บริษัทนี้ชื่อ Golden Pineapple Grinder Co. Ltd. ในเขต Wuku (WWW. greatyen. com.tw.) ซึ่งตั้ง บริษัทมาได้ ๒๑ ปีเศษ ผลิตเครื่องปั่นอาหารสด และอาหารแห้ง เมล็ดธัญพืชมาหลายรุ่น พัฒนารูปแบบ มาตลอด เครื่องเดินแบบ Low speed ทำให้คุณค่าโภชนาการ อาหารยังอยู่ ปัจจุบันผลิตเครื่องที่ทำงานได้ ๔ อย่างในเครื่องเดียวกัน คือ ปั่นผัก ผลไม้ คั้น บด และโม่แป้ง และเครื่องที่ทำได้ มาตรฐานที่สุด ขณะนี้ คือ เครื่องปั่น น้ำผลไม้ ที่สามารถทำงานได้ ๓ อย่าง คือ ปั่น, บด และคั้นผลไม้ นอกจากนี้ ยังมีหม้อตุ๋น ๒ ชั้น ซึ่งต้ม ตุ๋นอาหารให้สุกเร็ว เปื่อยง่าย ประหยัดแก๊ส พวกเราหลายคนสนใจ สั่งซื้อติดมือกลับมา ฝากญาติ-พี่น้อง และใช้เอง กันหลายใบ

สำนักภิกษุณีที่สวยที่สุดในไต้หวัน
เกือบหกโมงเย็นแล้ว ท่านลักขโณบอกว่า จะพาเราไปดูสำนักปฏิบัติธรรม ที่สวยที่สุด แต่ก็ยังพาเรา มาที่ตึกแถวเงียบๆ แห่งหนึ่ง พาขึ้นไปชั้นบน พวกเราก็เอ! งงๆ แต่ก็เดินตามผู้นำไป พอถึงที่หมาย ก็ถึงบางอ้อ ตึกนี้เป็นของ สองพี่น้องฝาแฝด คนหนึ่งทำธุรกิจ บริษัทผลิตภัณฑ์ อาหารไร้สารพิษ อีกท่านหนึ่ง บวชเป็นภิกษุณี เป็นผู้นำสำนัก ชื่อเหวียนเซียง (แปลว่ากลิ่นหอม) ซึ่งมีนโยบายเพื่อเผยแพร่ อาหารไร้สารพิษ โดยการบรรยาย และออกรายการ ทางโทรทัศน์ ภิกษุณีท่านนี้ จบปริญญาโท จากญี่ปุ่น จึงนำความรู้ เรื่องอาหารไร้สารพิษ จากญี่ปุ่น มาเผยแพร่ ในไต้หวัน

อาคารชั้นล่าง จำหน่ายอาหารไร้สารพิษ ตั้งแต่ชั้น ๔-๕-๖ เป็นสำนักภิกษุณี ชั้น ๔ เป็นห้องสมุด พระไตรปิฏก การ์ตูนเด็ก ชั้น ๕ เป็นบริเวณ ห้องนั่งสมาธิ มีทางเดินจงกรม โดยรอบห้องจุได้ ๑๐๘ คน ชั้น ๖ เป็นห้อง สวดมนต์ ไหว้พระ เป็นสำนักที่จัดตกแต่ง บรรยากาศหรู แต่สงบเย็น ท่ามกลางเมือง ที่เต็มไปด้วย ตึก แสง สี (ได้ทราบว่า ท่านสนใจการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตน ในแนวเถรวาท จึงให้ความสำคัญ ในการฝึกจิต มากกว่าจะมี กิจกรรมทางสังคม เช่นสำนักอื่นๆ) อาหารค่ำ ได้รับความเมตตา จากสำนัก ภิกษุณี เป็นอาหาร ที่เรียบง่าย บะหมี่ ผัดผัก ทำแกงจืดเต้าหู้สาหร่าย และ ผลไม้แอปเปิ้ล

จากนั้นรับฟังธรรมเทศนา เรื่อง "หัวใจพุทธมหายาน" จากภิกษุณี ความว่า "การปฏิบัติถือตามปณิธานที่ว่า …. เบื้องสูงบรรลุพุทธเจ้า เบื้องล่างโปรดสัตว์ เบื้องกลางพากเพียร บำเพ็ญจิต….. การปฏิบัติตน ให้เกิดจิต โพธิสัตว์ ต้องเริ่มต้นด้วยการรู้เรื่อง พื้นฐานของศากยมุนีพุทธเจ้า ถึงสาเหตุ ที่ออกบวช เพราะเห็นการเกิด แก่เจ็บตาย จึงได้ออกบวชบำเพ็ญเพียร ด้วยการบำเพ็ญ ทุกขกริยา ศึกษาจากผู้อื่น จนกระทั่ง มาศึกษา ด้วยตนเอง ตลอดระยะเวลา ๖ ปี พิจารณาเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตายของมนุษย์ ช่วงบำเพ็ญเพียร บำเพ็ญแบบ โพธิสัตว์ จนตรัสรู้ เป็นพุทธเจ้า หลังตรัสรู้ โปรดปัญจวัคคีย์ โปรดสัตว์ด้วยการบิณฑบาต แก้ปัญหาทุกข์ทั้งปวงของมนุษย์ การโปรดสัตว์ เป็นจิตมหาโพธิสัตว์ ที่พระองค์ ตั้งปณิธานไว้ ในช่วง ๔๕ ปี เผยแพร่ธรรม ดับทุกข์มวลมนุษยชาติ เป็นจิตวิญญาณแห่งโพธิสัตว์ ดังนั้น พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงถือปฏิบัติ เจริญรอยตามปณิธานพระพุทธเจ้า ภิกษุ ภิกษุณีจีนฝ่ายมหายาน ในช่วงบวช ๑๐ ปีแรก ต้องศึกษา พระไตรปิฏก อย่างลึกซึ้ง ให้เข้าใจถึง หัวใจพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการบำเพ็ญมุ่งสู่แดนพุทธภูมิ ศึกษาคัมภีร์ไป ปฏิบัติช่วยเหลือคนทั่วไป สรรพสัตว์ทั้งหลายมีทุกข์ ใครต้องการ ความช่วยเหลือ นักบวช ก็จะไปช่วย ดังนี้ภิกษุ ภิกษุณี ด้านหนึ่งปฏิบัติจิต ด้านหนึ่งโปรดสัตว์ไปด้วย เอาการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นสะพาน บรรลุธรรม"

ค่ำแล้ว ก็ยังได้หาหมอจัดกระดูกอีกท่านหนึ่ง
สองทุ่มกว่าแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยว่า ยังมีเหลืออีกรายการหนึ่ง แม้จะเหนื่อย แต่พวกเรา ยังตาโตอยู่ เพราะได้รับ คำบอกเล่าว่า หมออู๋ เป็นหมอจัดกระดูก ที่มีฝีมือ ระดับปรมาจารย์ ของไต้หวัน (จริงๆ)

ปัญหาสุขภาพ ของพวกเราชาวอโศก ปัญหาหลัก คือโรคอันเนื่องมาจากกระดูก และกล้ามเนื้อ เนื่องจาก ทำงานหนัก แกนกระดูกสันหลัง เปรียบเหมือน เสาหลักของร่างกาย เมื่อมีอันคด บิดเบี้ยว ก็จะมีผลต่อ ระบบกล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท สัมพันธ์เชื่อมโยง ไปยัง อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เกิดอาการ ความเจ็บป่วยที่ ถ้าเราไม่รู้ ก็จะไปรักษาเฉพาะที่ เฉพาะจุด หรือ กินยารักษา ตามอาการ ไม่ได้ไปแก้ ที่สาเหตุหลัก ดังนั้น หลักการจัดกระดูก ก็จะไปปรับ แกนกระดูกสันหลังให้ตรง ตั้งแต่กระดูกคอ กระดูกช่วงหลัง กระดูกช่วงเอว รวมไปถึง กระดูกแขน ขา ข้อต่อต่างๆ ให้เข้าที่ เข้าระบบ เราก็เริ่มจาก คนที่ป่วยก่อน คือท่านลักขโณ แล้วก็เจ้าเก่า พี่โม่งเหลียง อาอ๋อย คุณแก่น ส่วนน้าติ๋ว และ คุณเพ็ชร ขอแถมตามเคย เพราะคนหนึ่งตกกระได อีกคนหนึ่งตกต้นไม้มา เคล็ดปวดทั้งคู่ ท่วงท่า การจัดกระดูก ของหมอ ก็ไม่เท่าสีหน้าเหยเก ของคนไข้ และการกลั้นใจลุ้น ของคนดู ทำให้คุณนุช ที่ต้องการแก้ปัญหา การเสียวสันหลัง มาหลายปี ต้องยกนะโม ทำใจอยู่นาน หลังจากที่ทุกคน ลงจากเตียง ประสบการณ์จริง คือมันโล่ง โปร่ง สบาย ขึ้น แบบว่าทุกอย่าง มันเข้าที่ ไม่ติดไม่ขัด เลือดลม ก็เดินดีขึ้น เส้นประสาท ก็ไม่ถูกกดทับ ส่วนอีกทีมหนึ่ง (ทีมไม่ป่วย) เมื่อสังเกตการณ์ พอสมควรแล้ว ก็เลี่ยงออกไป หาซื้ออุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในย่านนั้น คุณจิ๋วเกิดไปถูกอัธยาศัย กับเจ้าของร้าน ก็เลยได้ราคาพิเศษ ไปตามๆ กัน รายการนี้เสร็จเมื่อสี่ทุ่ม หมอก็เหน็ดเหนื่อย กับพวกเรามาก เพราะต้องใช้กำลังพอควร ตอนลากลับ หมอไม่ยอม รับค่ารักษา แม้แต่เหรียญเดียว แม้พวกเราจะพยายาม ขอจ่ายให้ ด้วยลีลาที่เต็มใจ อยากจะ ตอบแทนบุญคุณ แก่หมอจริง ๆ (ปกติหมอจะคิดคนไข้ครั้งละ ๕๐๐ NT) ดังนั้น เมื่อหมอเจี๋ยเหยียน เราจึงต้อง ตอบแทน ด้วยการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้น เพื่อให้ถึงพร้อม ซึ่งประโยชน์ต่อตน และ ประโยชน์ ต่อท่านอื่นๆ ต่อไปด้วยเมตตาธรรม

วันพุธที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๕ : บ่ายหน้าลงใต้
ลงใต้ ไปซีหลัว (๓ วัน ๒ คืน)
ที่กะกันว่า จะออกแต่เช้ามืด(ตีสี่) ก็เป็นอันว่าเลื่อนเวลาให้สายลง(หกโมงเช้า)ด้วยเห็นใจพระ และ ภิกษุณีสารถี ที่ต้องการการพักผ่อน ที่พอเพียง

แวะโรงงาน ผลิตเครื่องทำเต้าหู้ คุณแก่นฟ้ามาวางเงินมัดจำ เพื่อซื้อเครื่องไปให้โรงเต้าหู้ ปฐมอโศก และ เครื่องมือขนาดเล็ก สำหรับเป็น ร้านแฟรนด์ไชน์ สาธิตของบริษัทภูมิบุญ (หมดไปกว่าหกแสน NT กระเป๋า เบาโล่งอก ที่ไม่ต้องแบกเงินติดตัวไว้มากๆ) บริษัทนี้ผลิตเป็น อุตสาหกรรมขนาดเล็ก แบบครอบครัว แต่มีสินค้า ที่ส่งไปขายทั่วโลก น้าติ๋ว (เจ้าแม่ ๕ ส.) บ่นนิดหน่อยว่า โรงงานไม่ค่อย ๕ ส.เลย (โถ! ทั้ง…..)

จากนั้นเจ้าของโรงงาน พาไปดูเครื่องมือขนาดเล็ก ที่ผลิตเต้าหู้สด อยู่ในตลาดสด มีผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำจาก เต้าหู้มากมาย เช่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้โยเกริ์ต ฟองเต้าหู้ เต้าหู้อ่อน เต้าหู้แข็ง ซึ่งเจ้าของร้าน ก็ทอดให้กินกัน แบบร้อนๆ เลย พวกเราก็อุดหนุน สารพัดเต้าหู้ มาเป็นอาหารเช้า โดยตั้งวงกันในตลาด จนอิ่มสำราญ แล้วเดินทาง ต่อลงใต้ มุ่งสู่ตอนกลางด้านตะวันตก ของประเทศ

เราใช้เส้นทางหลวงสายหลัก ซึ่งเป็นทางด่วนฟรีเวย์ ผ่านรถบรรทุกสิบล้อ สิบหกล้อคันใหญ่ๆ ท่านลักขโณ เริ่มเปิดไมค์ปฐมนิเทศ ความรู้เกี่ยวกับ ประเทศไต้หวัน ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซักไซ้จนท่านเสียงแหบ พวกเราก็บรรเลงต่อ ด้วยเรื่องขำขัน เรื่องนิทาน ไปจนถึง เรื่องผีๆ (ผลัดกันหลับ ผลัดกันเล่า เพื่อไม่ให้พระสารถีท่านง่วง) ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง กว่าจะถึงตำบลซีหลัว

หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จากถั่วของซีหลัว
เมืองซีหลัว มีชื่อเสียงในเรื่องผลิตภัณฑ์จากเต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว เต้าหู้ยี้ กว่า ๓๐๐ ผลิตภัณฑ์ โดยแปรรูป จากถั่วต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะ จากถั่วเหลือง มีให้เลือก หลากรูปแบบ หลายรสชาติ ขับรถตามถนน ก็จะเห็น โชว์รูมหน้าร้าน มีแต่ผลิตภัณฑ์เต้าเจี้ยว ซีอิ๊วแถบทั้งสิ้น

ร้านแรกที่ได้แวะเป็นร้านเล็กๆ เก่าๆ แต่คนขายมีจิตวิทยาในการขาย ใช้ลูกล่อ ลูกชิม ลูกแถม จนพวกเรา ต้องควักกระเป๋า ซื้อกันไป หลายโหล (ตอนซื้อไม่ได้คิดถึง เรื่องการขนย้าย ซึ่งมีน้ำหนักมาก และเสี่ยง ต่อการแตก กลิ่นฟุ้งกระจาย)

ร้านที่สองมีโชว์รูมสวย บรรจุภัณฑ์คลาสสิก หลายคนขอซื้อต่ออีก (เพราะอยากเปรียบเทียบรสชาติ) เสร็จแล้ว ท่านลักขโณ ขอให้เดินทางต่อ เราก็ถามว่า แล้วเราจะไม่ได้เข้าไปดู ในโรงงานหรือ ท่านตอบว่า เกรงใจ เจ้าของโรงงาน ทีมศีรษะอโศกเคยมาดู และจดรายละเอียด สูตรตำรับ วิธีการทำไปแล้ว แต่ทีมต.อ. ยืนหยัดทักท้วงว่า นี่คือเจตนารมณ์หลัก ของการดูงานครั้งนี้ (โถท่าน นั่งรถมาตั้งไกล เมื่อยแล้วเมื่อยอีก) เราต้องการศึกษา สุขลักษณะ ของกระบวนการผลิต

ท่านจึงจำนนต่อเหตุผล และโชคดีที่เจ้าของโรงงานอยู่ ท่าทางเป็นเถ้าแก่ใจดี และไม่รู้เบื่อ ในการพาดู บอกเล่า โรงงานผลิตซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว Waan Chuong Soy Sauce Food Industry ที่มีหน้าร้านสวย บรรจุภัณฑ์งามนี้ เมื่อเดินไปหลังร้านแล้ว ก็ต้องตกใจ เพราะเป็นโรงงานใหญ่ เครื่องมือเก่าแก่ การผลิต เป็นแบบโบราณ (Traditional) ซึ่งผลิตกันมาหลายชั่วอายุคน มีไซโลใหญ่ หม้อต้มใหญ่ บ่อหมักใหญ่ (ตกลงไปแล้ว คงปีนขึ้นยาก) การทำความสะอาด คงเป็นไปได้ยาก เพราะต้องหมักต่อเนื่อง ยาวนาน คิดเสียว่า เป็นอาหารหมัก ที่อาศัยความเค็ม รักษาคุณภาพอาหาร ก็แล้วกัน

ขั้นตอนการผลิตซีอิ๊ว(แบบคร่าวๆ) คือ
ล้างถั่ว ต้มด้วยความดัน ประมาณ ครึ่ง ชม./ ๑ กก. ใส่เชื้อ Yeast ripen วัดอุณหภูมิ

กรองเอาแต่น้ำซีอิ๊ว หมัก + เกลือในโอ่ง ๔-๖ เดือน

หรือ

ใช้ถั่วเหลือง + ข้าวสาลี (เพื่อให้แป้งเป็นอาหารแก่เชื้อ) หมักในบ่อลึก ๒ เมตร ซีอิ๊วราคาถูก

ผ่านทะเลสาบสุริยันจันทรา ที่ลือชื่อ
หลังจากก๋วยเตี๋ยวกลางวันแบบเรียบง่ายทั้งเนื้อหา และรสชาติแล้ว พวกเราก็ออกจากเดินทาง ไปตามถนน สาย ๑๖-๒๑ ไปหุบเขา บำเพ็ญธรรม ผ่านเทือกเขา น้อยใหญ่ บนเส้นทางเขา อารีซัน มีปัญหาถกเถียง เรื่องเส้นทางกัน นิดหน่อย ทีมฝ่ายหญิง ที่ท่านชุติโรจน์ขับ (รถคันใหญ่ จุผู้หญิง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า) ใช้เส้นทางลัด ล่วงหน้าไปได้ไกลกว่า ส่วนทีมฝ่ายชาย ที่ภิกษุณีขับ ท่านยืนยัน จะไปอีกเส้นหนึ่ง ก็เลยทดลอง ความเชื่อ ของตนเองกัน

รถเลียบภูเขาเห็นร่อยรอยแผ่นดินไหวเมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมา ดิน หินถล่มลงมาเป็นทาง ภูเขาเคลื่อนไปประมาณ ๓ กิโลเมตร เศษซาก บ้านเรือนถล่ม ยังคงมีให้สยดสยอง (แถมจินตนาการว่า มันจะไหวโครงเครง ขึ้นอีกหรือไม่) เหตุการณ์ครั้งนั้น มีประชาชนเสียชีวิต ไปมากมาย อดอยาก ได้รับความเดือดร้อน กันถ้วนหน้า แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้พลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส โดยคงเหลือซากวัดไว้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยว แวะเวียนมาเป็นประจำ

เส้นทางนี้จะผ่านทะเลสาบสุริยันจันทรา มีแต่ฝ่ายชายเท่านั้น ที่ได้แวะชมทิวทัศน์ถ่ายรูป ส่วนทีมฝ่ายหญิง เพ่งจิตบ่น อยากเลยไปเที่ยว ภูเขาอารีซัน อันเลื่องชื่อ ก็ได้หลงไปจริงๆ ต้องวกกลับมาใหม่ ที่ยิ้มอย่างมีชัย ว่าได้ล่วงหน้าฝ่ายชาย ไปครึ่งชั่วโมง กลับช้ากว่าอีกทีม ไปถึงครึ่งชั่วโมง (แสดงว่า เสียเวลาหลงทาง ไปหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ)

ธรรมกายแห่งไต้หวัน
ชมทิวทัศน์ธรรมชาติระหว่างทาง มาจนเห็นโบถส์สีทองของวัด จงไถฉานซื่อแต่ไกล

วัดนี้สืบสายนิกายเซนจากอาจารย์ตั๊กม้อ เดิมวัดนี้เป็นวัดป่าในเขาห่างไกล ประชาชนศรัทธา บริจาคเงิน สร้างวัด แบบอลังการ ใช้งบประมาณ ๖-๗,๐๐๐ ล้าน NT มีพระภิกษุอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ รูป ใช้เวลาสร้าง ๑๕ ปี เปิดดำเนินการมาแล้ว ๙ ปี ห้องโถงล่าง เป็นรูปปั้นเสาหิน เทพตนใหญ่ ดูน่าเกรงขาม ๔ เสา

ขึ้นมาชั้นบนทีมสมานฉันท์กราบพระพุทธรูป แล้วชมสถานที่โดยมีภิกษุในวัด ที่เข้าเวรต้อนรับแขก เป็นมัคคุเทศน์ โดยเริ่มจาก ประวัติศาสตร์ การเดินทาง ของพุทธศาสนา เข้ามาในจีน เริ่มจากด้านซ้าย เป็นรูปปั้น พระอานนท์ พระมหากัสปะ ต้นสายพุทธมหายาน มีป้ายชื่อ พระอาจารย์ แต่ละองค์ ที่สืบทอด คำสอน พระมหากัสปะ จนถึงอาจารย์ตั๊กม้อ ท่านเหว่ยหล่าง สืบทอดลงมา จนถึงเจ้าอาวาส ปัจจุบัน คือ ท่านอาจารย์ เหว่ยเจีย อายุ ๗๓ ปี กิจวัตรของสงฆ์ มีงานสังคมโพธิสัตว์ การเรียนวิปัสสนา เดินจงกรมวันละ ๓ ชม. เวลาเย็น จะออกกำลังกาย ประมาณ ๑ ชั่วโมง ฝ่ายหญิงเสียดาย ที่มีเวลาชมเพียง ๑๕ นาที เพราะ ถึงกำหนดเวลาปิด ให้เข้าชมสถานที่ ก่อนกลับ แวะเยี่ยม สำนักงานของวัด มีหนังสือ วิดีโอ และ เทปธรรมะ เผยแพร่ ให้ผู้สนใจ หยิบไปได้ตามอัธยาศัย และ ถ่ายรูปความอลังการไว้ เป็นที่ระลึก

ชุมชนคนไร้ญาติ
ออกจากวัดจงไถฉานซื่อเกือบหกโมงเย็นเดินทางต่อไปถึงสถานสงเคราะห์ผู้ประสบอุบัติภัย จากพายุถล่ม แผ่นดินไหว เป็นหมู่บ้าน ที่จัดให้อยู่ ในแบบครอบครัว และเฉพาะผู้สูงอายุ เป็นอาคารที่ก่อสร้าง แบบชั่วคราว แต่สะอาดน่าอยู่ จัดสิ่งแวดล้อมดี มีต้นไม้ ดอกไม้ และสวนครัว ที่ผู้พักอาศัย ได้ช่วยกันดูแล

แต่บริเวณ ที่พวกเราได้เดินชม เป็นที่พักของผู้สูงอายุ ซึ่งจะรับผู้ที่อายุมากกว่า ๖๕ ปีและ ไม่มีลูกหลาน หรือ ครอบครัวดูแล ขณะนี้มีจำนวน ๑๒๐ คน มีกิจกรรม ออกกำลังกาย ทำการฝีมือ มีห้องให้นั่งสวดมนต์ ฟังธรรม ผู้ทำงานดูแลผู้สูงอายุ เป็นอาสาสมัครรับเงินเดือน มีองค์กรต่าง ๆ ให้การสนับสนุน เช่น YWCA และ มูลนิธิต่าง ๆ รวมถึงวัดจงไถฉานซื่อ ที่พวกเราเพิ่งไปเยี่ยมด้วย

อาหารเย็นสองทุ่ม เต้าหู้เหม็นที่จะจดจำไปจน…..
อาหารค่ำวันนี้เราได้ลิ้มอาหารพิเศษของไต้หวัน ที่มีชื่อเสียงมาก คือ "เต้าหู้เหม็น" และที่ร้านนี้ ภิกษุณี ท่านก็เลือกแล้วว่า อร่อยมาก คุณปัทม์ กับคุณนุช บอกว่าเข็ดแล้ว (จากภัตตาคารดอกบัว เมื่อวันก่อน) ขอบ๊ายบายดีกว่า ภิกษุณีสั่งเต้าหู้เหม็น มาให้ทั้ง ๒ โต๊ะ หญิงกับชาย ตอนแรก สั่งโต๊ะละ ๓ จาน (จานละ 30 NT) มีเต้าหู้ทอด วางเรียงจานละ ๓ แผ่น มีกะหล่ำปลี เป็นเครื่องเคียง พวกเราลองชิม หลายคนบอกว่า เป็นครั้งแรก ในชีวิต ที่ได้ลิ้มลองเต้าหู้เหม็นทอดร้อน ๆ จิ้มน้ำจิ้มใส่พริกดองสีแดง รสชาติอร่อย แซบอีหลี (บวกกับความหิว ที่ท้องว่าง หลังจากเดินทางไกล) จึงสั่งเพิ่มกัน จนคนทอดเต้าหู้ ทอดให้ไม่ทัน รวมทั้ง คนที่บอกว่า จะไม่กินด้วย เห็นสั่งไม่หยุด ทั้งสองพูด เป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติทานง่าย ไม่เหมือน เต้าหู้เหม็น ที่ทานวันนั้น (ความรู้ใหม่ คือ เต้าหู้เหม็น มีความเหม็นต่างกัน หลายระดับ ตั้งแต่เหม็นน้อย จนเหม็นมาก แบบสุดๆ)

ปรากฎว่าเวลาเก็บเงิน นับทั้งหมดได้ ๒๓ จาน (๖๙ ชิ้น) คุณปัทม์ขอยืมจานเต้าหู้เหม็น ไปถ่ายรูป เป็นที่ระลึก ทำให้ค้างจาน (ค้างใจ) คุณแก่นฟ้า ไปนานแสนนาน (ไปแล้วไม่กลับมา) ช่างเป็นอาหารค่ำ ที่เพลิดเพลิน เสียนี่กระไร แถมยังปิดท้าย ด้วยข้าวโพดปิ้ง ๒ ฝัก (ราคาฝักละ 50 NT คิดเป็นเงินไทย เท่ากับ ๖๑.๕๐ บาท) ซึ่งคุณเพชรตะวันและคุณต้นกล้า ได้จากการออกไป เดินย่อยอาหาร ราคาของ ข้าวโพด (ทองคำ) ทำให้ ต้องแบ่งปัน แจกจ่ายให้ทานกัน ทั่วทุกคน ก่อนจะออกจากร้านเต้าหู้เหม็น ภิกษุณีแนะนำ น้ำปั่น ผสมเมล็ดถั่ว, สาคู รสชาติต่าง ๆ (ชา/ชาเขียว/ถั่วเขียว ฯลฯ) มีหลอดกาแฟอันโต ๆ สำหรับดูด เป็นความแปลกใหม่ สำหรับการกิน แบบวัยรุ่นของพวกเรา (บางคน ยังแอบไปหากิน ในเมืองไทยต่ออีก)

ท่ามกลางดินแดนแผ่นดินไหว
ออกจากร้านเต้าหู้เหม็นขับรถไปอีกสักระยะหนึ่ง ถึงวัดว่านฝอซื่อ (แปลว่าหมื่นพุทธ) เป็นวิทยาลัยสงฆ์ มีพระเป็นเจ้าอาวาส และมีพระ อยู่เพียง ๓-๔ รูป แต่ภิกษุณี มีบทบาทมากกว่า มี ๒๐ รูปเศษ โครงสร้าง อาคาร ใหญ่โตพอควร (สร้างใหม่ หลังจากอาคารหลังเก่า พังทลาย จากแผ่นดินไหว เมื่อสามปีก่อน) สร้างจากเงินบริจาค และการทำกิจกรรม ของภิกษุณี คือ ทำเต้าหู้พะโล้แห้ง บรรจุใส่ซอง ขายส่ง ไปยัง ร้านค้าต่าง ๆ และขายของแห้งต่างๆ ทำให้มีเงินมาพัฒนา บำรุงวัด

พวกเราได้เดินดูกิจกรรม และคุยกับภิกษุณีสองท่าน ที่มาต้อนรับเราในคืนนั้นเลย ท่านแอ็คทีฟจริงๆ ดับเบิ้ลสองเท่า ของท่านภิกษุณีของเรา ซึ่งพวกเราก็ว่าสุดๆ แล้วเชียวนะ เรือนนอนเป็นเรือนอลูมิเนียม สำเร็จรูป ชั้นเดียวยกพื้น สร้างแบบชั่วคราว ทำให้บางคนตกใจตื่น คิดว่า แผ่นดินไหว (น้าติ๋ว นอนไม่หลับ ลุกขึ้นมา รำไทเก็กน่ะ) นอนค้างคืนที่นี่ ๒ คืน)

วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๕ : เมืองใหม่…ไถจง
ทำวัตรเช้าแบบมหายาน
ตีสี่ สีสิบห้าตื่นโดยพร้อมเพรียงกัน(ไม่ให้เสียชื่อศิษย์อโศก) ร่วมสวดมนต์ทำวัตรเช้าแบบมหายาน ใช้วิธี ยืนสวด และยืนเรียง ตามลำดับศีล มีฆราวาสผู้ปฏิบัติเตรียมบวชยืนท้ายสุด

พวกเรายืนอยู่ด้านหลังคอยสังเกตและทำตาม เพื่อไม่ให้ผิดประเพณีเขา ได้พบภิกษุณี จากเมืองไทยรูปหนึ่ง นำบทสวดมาให้ (พี่โม่งเหลียง สวดได้คนเดียว) บทสวดมนต์ สรรเสริญ พระพุทธคุณ พระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ด้วยทำนองช้าเร็วสลับกัน และมีภิกษุณี ท่านหนึ่ง จะคอยตีกลองบอกจังหวะ เป็นการเจริญสติ รู้ตัวทั่วพร้อม บทสวดนานกว่า ทำวัตรเช้าของไทย แม้ไม่ได้นั่ง จนเหน็บกิน แต่ก็ยืนจนขาแข็งเหมือนกัน

อาหารเช้า ทานข้าวต้มกับกับข้าวเจในโรงอาหารของนักบวช มีผัดผัก เต้าหู้ และเต้าซี่ (เต้าเจี้ยว ทำจาก ถั่วเหลือง เปลือกดำ) ทางวัดจัดไว้ให้แบบบุฟเฟ่ ๒ หลังอาหารดื่มชา "เกาซันฉา" หอมกลิ่นกุหลาบ มะลิผสมกัน และมีกลิ่นดอกพุทธอ่อน ๆ เกาซันฉา เป็นชาตราดอกบัว ใบชาเก็บจากยอดเขาสูงเกาซัน โดยเก็บแต่ใบยอดต้นชา ๓ ใบต่อต้น เก็บโดย ใช้มือเด็ดใบสด ฉะนั้น เวลาชง ให้หยิบเพียงเล็กน้อย ใส่น้ำร้อน แช่เพียง ๑ นาทีก็ดื่มได้ การดื่มแต่ละครั้ง ทิ้งช่วงห่าง ? ชม. ผู้ที่ผอมแห้งแรงน้อย ให้ดื่มช่วงเช้า อย่าเกินเที่ยง สำหรับผู้ที่อ้วนแข็งแรง ดื่มหลังเที่ยง รสชาติของชาดีมาก จนพวกเราบางคน เอ่ยปาก ขอซื้อกลับบ้าน แต่ภิกษุณี บอกว่า เขามีเพียง ๖ กล่อง ขอเจี๋ยเหยียนให้นักบวช และแบ่งให้พวกเราบ้าง คุณนุช กับคุณสุรีย์ ขอเอาไปฝากบุพการี และ ได้บริจาคเงิน บำรุงวัด ไปกล่องละ ๑,๐๐๐ NT นับว่าเป็นชา หมายเลขหนึ่ง และมีราคาแพงทีเดียว

เข้าเมืองไถจง
หลังอาหารเช้าขับรถเข้าเมืองไถจง ที่เดิมตั้งใจว่าจะสร้างให้เป็นเมืองหลวงใหม่ การจัดผังเมืองเป็นระเบียบ ถนนในเมืองกว้าง ๖ เลน ตึกดูใหม่ ใหญ่ และทันสมัยกว่าเมืองไทเป รายการเช้านี้ ภิกษุณีพาพวกเรา ไปที่ร้าน ขายเครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ ที่ท่านเคย เป็นลูกค้าประจำ

ในช่วงที่ท่านยังเป็นพยาบาลอยู่ ร้านอยูในทำเลที่ดี คืออยู่หน้าสนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬา ของคนรักสุขภาพ และคนมีเงิน (ข้อหลังสำคัญ เพราะจะมีกำลังซื้อ อุปกรณ์สุขภาพ) เห็นเขาติดสติ๊กเกอร์ เชิญชวน คนเล่นกอล์ฟไว้ น่าสนใจ คือ G = Green O = Ozone L = Leisure F = Friend

อุปกรณ์ในร้านส่วนใหญ่ใช้สำหรับการดูแลสุขภาพตนเอง ในแนวทางของศาสตร์ การแพทย์ทางเลือก เช่น ใช้ทฤษฎี แม่เหล็กไฟฟ้า ชีวภาพ และ พลังงานประจุไฟฟ้า เช่น เครื่องกรองน้ำ เครื่องปล่อยรังสี เครื่องปล่อยประจุ ผูกไว้ที่หลังข้อมือ สองข้าง ปล่องประจุไฟฟ้า แบบหัวกระสุน ๒ ข้าง ผ่านอวัยวะช่องท้อง อุปกรณ์ปล่อยคลื่นน้ำพุ ฯลฯ

คุณปัทม์ในฐานะเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ที่ริเริ่มพัฒนานโยบาย ด้านการแพทย์ทางเลือก ในกระทรวงสาธารณสุข ขอลองเครื่อง เป็นคนแรก (เป็นไงก็เป็นกันเนาะ เสียวไฟดูดเหมือนกัน) เขาบอกว่า ประจุจะไปช่วยล้างพิษ ในร่างกาย ขอให้ใส่ไว้นาน ๒๐-๖๐ นาที จากท่านั่ง เปลี่ยนเป็นเริ่มเอน เมื่อยข้อมือ เพราะเครื่องมันหนักพอควร ตอนถอดออกก็โล่ง และรู้สึกเป็นอิสระ ส่วนพิษ จะหมดไป หรือน้อยลง เจ้าตัว ก็บอกไม่ได้ เพราะเป็นคน ไม่ค่อยมีอุปทานเท่าใด

พอมีผู้กล้าคนแรก คนอื่นๆ ก็ได้โอกาส ขอลองเครื่องโน้นเครื่องนี้ บางเครื่องก็ได้นอนหลับ พักยาวไปเลย (สบายก็ตรงนี้แหละ) เราใช้เวลาอยู่ที่นี่ กว่าสามชั่วโมง เจ้าของร้าน และทีมก็ใจดีมาก อธิบายโน่น อธิบายนี่ เลี้ยงขนม นม เนย แถมยังเอาตัว เข้าแลกความเจ็บ เพื่อสาธิตศาสตร์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยการฉีดเลือด ที่นำออกมาจากเส้นเลือดดำ ของตนเอง แล้วฉีดกลับเข้าไป ที่กล้ามเนื้อหน้าแข็ง (คล้ายกับการดื่ม น้ำปัสสาวะตนเอง รักษาโรค)

พี่โม่งเหลียงเพิ่งออกมาจากห้องลอกฝ้า ด้วยน้ำยาที่มีประจุพิเศษ โดนแรงเชียร์ ก็ขอลองบ้าง โดยไม่ได้เห็น การสาธิต พอเจอของจริง แทบจะขอให้ถอนเข็มออก แต่พวกเราให้กำลังใจ เลยผ่านไปด้วยดี สุดท้าย พวกเราก็ไม่ได้ซื้ออะไร (เพราะมันแพงน่ะ) แถมยังได้รับแจกน้ำมะเขือเทศ อีกคนละขวด สองขวด จะเห็นก็แต่ ท่านชุติโรจน์ หิ้วเครื่องโยกขา ออกมาชุดหนึ่ง มารู้ทีหลังว่า เป็นไปเพื่อ รักษาพันธะไมตรี ของผู้ดูงาน ในชุดต่อไป สาธ

อาหารกลางวันด้วยบารมีของคุณจำลอง
ได้เวลาเที่ยง เราเดาไม่ออกว่าวันนี้ท่านภิกษุณี จะหาประสบการณ์อาหารแปลกอะไร ให้พวกเราอีก แต่ต้องร้องเงียบๆ ด้วยท่านพาเรามาที่ ภัตตาคารดอกบัว แม้จะเป็นโต๊ะจีนราว ๑๐ จาน อาหารก็สุดหรู ยิ่งกว่าวันที่คุณโย่ง ไปเลี้ยงเสียอีก เขาประดิษฐ์ประดอย ปรุงแต่งเต็มที่ กินไปก็พลอยพิจารณา อาหารไป รู้เห็นอารมณ์ ที่เป็นกิเลสยิ่งนัก แต่ก็ตักเข้าปากไป อย่างต่อเนื่อง พอจะเช็คบิล เจ้าของร้าน กลับเจี๋ยเหยียน เสียนี่ หลายคนท้วง จะไม่ยอม เพราะราคามันมากเกินไป ขอรับผิดชอบ ในสิ่งที่ทำ (กิน) ไปแล้วเถิด แต่ก็ไม่เป็นผล จึงต้องก้มหน้า บำเพ็ญบารมี ให้สมเจตนาของผู้ให้ต่อไป

บ่ายไปร้านจำหน่าย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ร้านที่สอง เห็นเก้าอี้นวดไฟฟ้า สารพัดรุ่น สารพัดวิธีนวด ซึ่งมีคุณสมบัติการใช้งาน แตกต่างกัน เช่น นวดแบบบีบ นวดแบบทุบ นวดแบบกระตุ้น นวดแบบโยก นวดแบบ สั่นสะเทือน โดยนวดไล่ลงมาตั้งแต่หัว ต้นคอ กระดูกสันหลัง เอง ต้นขา น่อง ข้อเท้า ลงไปถึง ปลายเท้า บางทีก็นวดทีละส่วน บางที่ก็ทำงานหลายๆ จุดพร้อมๆ กัน ราคาก็มีตั้งแต่ เป็นหมื่น จนกระทั่ง ถึงเป็นแสน

หลายๆ คนขอลองเครื่องนั้นที เครื่องนี้ที แต่บางคน ก็นอนนิ่งเป็นนาน สุดท้าย เจ้าของร้าน ก็กระเป๋าตุง เพราะถึงแม้ จะไม่ได้แบกเตียงนวดกลับบ้าน (ความจริงบางคน อยากซื้อกลับ เหมือนกันนะ แต่คนขาย ไม่รู้วิธีขนส่งทางเรือ) ด้วยความเกรงใจ และความสนใจ ในอุปกรณ์แบบแปลกๆ ใหม่ พวกเราจึงได้ ตั้งแต่ถุงเท้า ซัพพอร์ท เครื่องวัดความดัน ไปจนถึง เครื่องนวดไฟฟ้า

บริษัทขายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ที่รอคอย
เรื่องฮอตฮิตของจุลินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพในชาวอโศก เป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายๆ คนอยากมาดู มาแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ การผลิตที่นี่ โดยเฉพาะที่เป็นเครื่องดื่ม จากน้ำหมักฯ (คุณแก่นเอง ก็ไปโฆษณา เอาไว้ว่า มีให้ดูเยอะ) น้าติ๋วเป็นคนที่ผิดหวังที่สุด เพราะได้ดูแต่ผลิตภัณฑ์ และ เป็นผลิตภัณฑ์ ที่ไฮเทค (ในธุรกิจทุนนิยม ใครเขาจะให้ดูวิธีการผลิตล่ะ)

ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ของบริษัท G.H.K. Biotech Co. Ltd. นี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไต้หวัน ได้พัฒนา ร่วมกับ บริษัท ในสหรัฐอเมริกา Chi Pao, stason Pharmacentical, 11 Mergan, Irvine, CA. 92618-2005 โดยผลิต น้ำดื่มจุลินทรีย์ Keifir lactic acid bacteria และผลิตยาแคปซูลสมุนไพร ผสมจุลินทรีย์ ๑๒ ชนิด ซึ่งสามารถรักษาโรค ได้หลายชนิด ได้รับการวิจัยจากแพทย์ว่า ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ โดยมีการทดลอง ใช้กับคนในประเทศจีน ผืนแผ่นดินใหญ่ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ พวกเราได้ชม ตัวอย่างวิดีโอ เรื่องของคนไข้โรคเบาหวาน ที่เป็นแผลเรื้อรัง รักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ไม่ได้ผล เมื่อมารักษา ด้วยจุลินทรีย์ ปรากฏว่า อาการดีขึ้น แผลต่าง ๆ ตามตัว ตื้นขึ้น ในช่วงเวลาที่ไม่นาน โดยแพทย์ให้เหตุผลว่า ยาจุลินทรีย์ ไปซ่อมแซมตับอ่อน ซึ่งผลิตฮอร์โมน อินซูลิน ที่ทำหน้าที่ ควบคุม ระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนใน โรคมะเร็ง ยาจุลินทรีย์ จะมีฤทธิ์ไปสลายเซลล์มะเร็ง และสร้างภูมิต้านทานใหม่ ราคายา ค่อนข้างแพง คือ ขวดละ 3,700 NT

ผู้ช่วยผู้จัดการ เป็นผู้บรรยาย และ ให้การต้อนรับ เธอดูคล่องแคล่ว และประชาสัมพันธ์ ผลิตภัณฑ์ได้เก่งนัก แถมแจกเครื่องดื่มน้ำ ให้คนละสองขวด (ราคาขวดละ 30 NT) เป็นที่พอใจ ของผู้ที่ท้องผูกทั้งหลาย ที่จะได้ลองของจริง (ซึ่งก็ได้ผลดี อย่างทันตาเห็น โดยเฉพาะคุณนุช และ คุณสงกรานต์) ส่วนคุณปัทม์ดีใจ รีบขอบริจาค จากมิตรสหาย ที่ไม่ต้องการแบกของหนัก กลับเมืองไทย เพราะต้องการ เอากลับไปวิจัย หาจุลินทรีย์ และให้นักวิจัย นำไปเป็นจุลินทรีย์ตั้งต้น ในการหมักน้ำหมักฯ (ผลวิจัยต่อมาแจ้งว่า ยังคงเก็บรักษา จุลินทรีย์ ในน้ำได้ดี แม้จะมีอายุ ๖ เดือนกว่าแล้ว) พวกเรายิงคำถามไปหลายเรื่อง จนท่านลักขโณ รู้สึกเกรงใจ โดยเฉพาะ ข้อเสนอที่ว่า ทางเราเชื่อ ในประสิทธิภาพ ของจุลินทรีย์ ในการ รักษาโรค และ เทคโนโลยีการผลิตนี้ ยังทำไม่ได้ในเมืองไทย หากทางบริษัท ซึ่งเคยยื่นขอ อ.ย.ไทย (ผ่านคนไทย ไม่ปรากฏนาม แล้วแต่เรื่องเงียบหายไป) ทางเราก็จะช่วยตามเรื่อง ช่วยประสานงานให้ แต่ขอเงื่อนไขว่า ควรตั้งราคาที่คนจน และคนชั้นกลาง เข้าถึงได้สักหน่อย (ขายถูก จะทำให้มีกำลังซื้อ ได้มากตามไปด้วย) ดังนั้น เมื่อเราลงมาชั้นล่างของบริษัท จึงได้พบกับผู้จัดการใหญ่ เป็นคนหนุ่ม ที่ดูจะมี ภาระกิจมาก แต่ขอต้อนรับเรา โดยขอเลี้ยง อาหารมื้อค่ำ โดยส่งผู้ช่วย ผู้จัดการสาว มาดูแล และ เจรจา รายละเอียด

ที่ชั้นล่างนี้เราได้เดินดูคลีนิค ตรวจรักษาแบบแพทย์ทางเลือกของบริษัท โดยมีแพทย์ประจำ หลายคน (ไม่ใช่แพทย์ แผนปัจจุบัน) ตรวจรักษาโดยศาสตร์ การแพทย์แผนจีน ยาสมุนไพร และ อุปกรณ์แพทย์ ทางเลือกต่างๆ โดยจัดแบ่งห้อง ต่างตรวจรักษาได้อย่าง เป็นสัดส่วน ดูสะอาด ทันสมัย น่าใช้บริการ

เจรจาทางการค้ากับผู้แทนบริษัท Chi Pao
หลังอาหารบุฟเฟ่ที่ภัตตาคารดอกบัว (คงเพราะมีแต่ภัตตาคารนี้กระมัง ที่มีเสริฟอาหารมังสวิรัติ โดยเฉพาะ) คุณแก่น และ คุณปัทม์ เริ่มบทสนทนา (ที่มีคุณจิ๋ว กับ ท่านชุติโรจน์ ช่วยกันพยายามเป็นล่ามให้ ด้วยความยาก ลำบาก เพราะเป็นศัพท์เฉพาะมากๆ) ให้เข้าเป้าขึ้น คุณปัทม์มีประสงค์ เพียงที่จะให้ คนไทยจนๆ ได้มีโอกาสรักษาโรค ด้วยยาจุลินทรีย์ ในราคาที่เป็นไปได้ เท่านั้น ส่วนคุณแก่น มองการณ์ไกล ในฐานะกรรมการ ของบริษัทภูมิบุญ ที่ต้องการเป็นตัวแทนจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของเขา โดยมีทางเลือก หลายทาง เช่น นำเข้าทั้งผลิตภัณฑ์ หรือ ลงทุนร่วม โดยตั้งโรงงาน ในเมืองไทย และทางไต้หวัน จะมาสอน เทคโนโลยีให้ หรือขายเฉพาะ ส่วนผสมจุลินทรีย์ แล้วนำมาผลิตเอง ที่เมืองไทย ซึ่งการผลิตน้ำดื่มจุลินทรีย์ น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ง่าย มากกว่ายา เพราะเรื่องการพัฒนาจุลินทรีย์ เพื่อสุขภาพ และการรักษาโรค ยังเป็นเรื่องใหม่ ในหมู่นักวิชาการไทย คงต้องฝ่าฟัน (ความเข้าใจ) กันอีกมาก การเจรจานี้ ไม่มีข้อสรุป แต่ก่อนกลับ ทางบริษัทก็ได้นำตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์มาให้คณะเราตามเรื่อง (ผลปรากฏว่า ไม่มีการนำเรื่อง มาขอยื่นที่อ.ย.เลย ไม่ว่าทั้งที่กองควบคุมอาหาร และกองควบคุมยา คาดว่าคนไทยคนนั้น คงประพฤติมิชอบ นำค่าใช้จ่ายที่ขอบริษัทไว้ ไปทำกิจการอื่น เสียแล้วกระมัง ก็ไม่อาจปรักปรำได้ แน่ชัด ลงไปซะทีเดียว) เรื่องธุรกิจ บุญนิยม จุลินทรีย์กับไต้หวัน จึงต้องติดตาม จากคุณแก่น และ ภูมิบุญต่อไป

ของแถมจากทีมที่ไม่ได้ร่วมเจรจา นั่งรอนานก็เลยไปได้ สูตรการชงชาหอม จากเจ้าของร้านดอกบัว คือ ชงชาด้วยกาที่มีไส้กรอง ให้ใส่ instant ชาเขียว (green tea) + ดอกกุหลาบแห้ง ๓ ดอก มะลิแห้ง ๕-๖ ดอก ใบสะระแหน่แห้ง ๑ ใบ เก๊กฮวยแห้ง ๑ ดอก ถ้าเป็น ชาดำ (Black tea) + ดอกกุหลาบ + ใบ rosemarry + ดอกมะลิ)
กลับนอนวัด ว่านฝอซื่อ อีกคืนหนึ่ง ด้วยความอ่อนเพลียไปตามๆ กัน

วันศุกร์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๕…..อิ่มใจในธรรมชาติ
(มีบางคน) ลุกขึ้นมาทำวัตรเช้า

(อ่านต่อตอน ๓)

(ดอกหญ้า)