รับรองอนาคต (สังคามาวจรชาดก)

รับรองอนาคตได้แน่
หากแก้จิตให้ใฝ่สูง
อดทนทำดีสมบูรณ์
เพิ่มพูนมรรคผลสมใจ


เมื่อพระศาสดาเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ(ศากยะ) เป็นครั้งแรกหลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ทรงให้ นันทกุมาร ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดา (พระนางมหาปชาบดีโคตมี) ที่มงคลสมรส ในวันนั้นกับนาง ชนปทกัลยาณได้ถือบาตรติดตามไปส่งพระองค์ ยังนอกพระตำหนัก แล้วทรงให้นันทกุมาร ออกบวชทันที

จากนั้น ก็พาเสด็จไปยัง กรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งอยู่ใกล้ กรุงสาวัตถีนั้นเอง

นับตั้งแต่วันที่บวชมา....พระนันทะไม่มีจิตใจที่สงบเย็นเลย เฝ้าแต่ระลึกถึงนางชนปทกัลยาณี อยู่เสมอ ในที่สุด ได้บอกแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูก่อนท่านผู้มีอายุ(อิทธิบาท)ทั้งหลาย ผมไม่ยินดีที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถ จะทรงพรหมจรรย์อยู่ได้ ผมจะขอบอกคืน สิกขาลาเพศล่ะ"

เหล่าภิกษุไม่ปรารถนาให้เกิดเช่นนั้น จึงไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงตรัส ให้พระนันทะ เข้าเฝ้า แล้วทรงถามว่า

"ดูก่อนนันทะ ได้ยินว่าเธอจะบอกคืนสิกขาลาเพศจริงหรือ"

"จริง พระเจ้าข้า"

"เธอจะลาสึกไปเพื่อเหตุไรเล่า"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ออกจากเรือนมานั้น นางชนปทกัลยาณีผู้มีผมงาม กำลังสางผมได้ ครึ่งหนึ่ง กล่าวคำ อันไพเราะกับข้าพระองค์ว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระลูกเจ้า พึงรีบเสด็จกลับมาหาหม่อมฉัน เร็วไวเถิด ข้าพระองค์ ระลึกถึงคำ ของนางแล้ว ให้เกิดความคิดถึงนัก จึงไม่ยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถ จะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ จะบอกคืนสิกขาลาเพศ พระเจ้าข้า"

พระศาสดาทรงสดับเช่นนั้น ทรงจับแขนของพระนันทะเอาไว้ แล้วทรงจูงจิต ของพระนันทะ ไปยังสวรรค์ (สภาวะสุขของผู้มีจิตใจสูง) ชั้นดาวดึงส์

ในขณะนั้น....เหล่านางอัปสร (นางฟ้า) ประมาณ ๕๐๐ นาง ซึ่งมีเท้างามดุจนกพิราบ (เรียวเล็กสีชมพู) กำลังถวาย ความสำราญแด่ ท้าวสักกะจอมเทพ (หัวหน้าใหญ่ ของผู้มีจิตใจสูง) อยู่

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระนันทะว่า

"ดูก่อนนันทะ เธอเห็นนางอัปสรผู้งดงามทั้ง ๕๐๐ นางเหล่านี้หรือไม่"

"เห็น พระเจ้าข้า"

"เธอลองเปรียบเทียบดู ระหว่างนางชนปท- กัลยาณีกับนางอัปสรเหล่านี้ ใครหนอมีรูปงดงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากจะเอามาเปรียบกับนางอัปสรเหล่านี้แล้ว นางชนปทกัลยาณี ก็เสมือนกลายเป็น นางลิง ที่มีอวัยวะ ใหญ่น้อย ถูกไฟไหม้ หูก็ขาด จมูกก็แหว่ง หาความงามได้ไม่ถึงเสี้ยว หรือเพียงส่วนหนึ่ง แห่งเสี้ยวของ นางอัปสร เท่านั้น ที่แท้นางอัปสรทั้ง ๕๐๐ นี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า พระเจ้าข้า"

"ถ้าอย่างนั้น เธอจงยินดีเถิดนันทะ จงดีใจยิ่งเถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอ เพื่อให้ได้นางอัปสร อย่างนี้"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับรองให้ได้นางอัปสรเหล่านี้ ข้าพระองค์จะยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ พระเจ้าข้า"

พระนันทะสัญญาเช่นนั้นแล้ว พระศาสดาทรงจูงจิตกลับคืนมาปรากฏที่พระวิหารเชตวัน ตามเดิม แล้วนับตั้งแต่ วันนั้นมา พระนันทะเริ่มเพ่งเพียร บำเพ็ญสมณธรรม (ธรรมของผู้สงบระงับกิเลส) ทันที

เมื่อภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวนี้ ผู้ที่เป็นสหายของพระนันทะก็มักจะเย้าพระนันทะว่า "เป็นลูกจ้างบ้าง.... เป็นผู้ที่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงไถ่ตัวมาบ้าง.... ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะปรารถนา นางอัปสรบ้าง.... พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับรอง ให้ได้นางอัปสรบ้าง....."

ได้รับคำพูดเหล่านี้บ่อยครั้งเข้า พระนันทะก็อึดอัดระอา เกลียดชังคำพูดเช่นนั้น จึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่

ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดของพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พระนันทะ ได้เป็นพระอรหันต์ รูปหนึ่งแล้ว

พระนันทะไปเข้าเฝ้าพระศาสดา แล้วทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรับรองข้าพระองค์ให้ได้นางอัปสรเหล่านั้น ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้อง พระผู้มีพระภาค จากการรับรองนั้นด้วยเถิด"

"ดูก่อนนันทะ เรากำหนดรู้ใจของเธอด้วยใจของเราว่า นันทะจะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ(หลุดพ้นกิเลสด้วยกำลังจิต) ปัญญาวิมุติ (หลุดพ้นกิเสสด้วยกำลังปัญญา) ก็เมื่อใดที่จิตของเธอหลุดพ้นแล้ว จากอาสวะ (กิเลสที่หมักหมม ในสันดาน) ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้นเราก็พ้นแล้ว จากการรับรองนี้แล้ว"

ครั้นภิกษุทั้งหลายได้ทราบเรื่องราวนั้น พากันสนทนาในธรรมสภาว่า

"ท่านพระนันทะนี้ อดทนต่อคำสอนของพระศาสดา ตั้งมั่นอยู่ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วก็บำเพ็ญสมณธรรม จนบรรลุเป็น พระอรหันต์ได้"

พอดีพระศาสดาเสด็จมา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้ว ก็ตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นันทะอดทนต่อคำสอนของเรา มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้แต่กาลก่อน ก็อดทนต่อคำสอน ของเรา เหมือนกัน"

แล้วทรงนำเรื่องนั้นมาตรัสเล่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี

มีทารกน้อยคนหนึ่งเกิดในตระกูลของคนฝึกช้าง ครั้นเติบโตร่ำเรียนจนสำเร็จศิลปะการฝึกช้างแล้ว ก็เข้ารับราชการกับ พระราชาของตน ซึ่งเป็นศัตรูกับ พระเจ้าพรหมทัต เขาได้ทำหน้าที่ฝึกหัด ช้างมงคลของพระราชา เอาไว้เป็นอย่างดี

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชานั้นทรงดำริว่า

"เราควรยกทัพไปยึดราชสมบัติในกรุงพาราณสี นี่เป็นเวลาอันเหมาะแล้ว"

ดังนั้นจึงรับสั่งให้คนฝึกช้างขึ้นช้างมงคล แล้วยกกองทัพใหญ่เสด็จไปล้อมกรุงพาราณสีเอาไว้ ทรงส่งสาส์น ถึงพระเจ้าพรหมทัตว่า

"จะยกให้โดยดี หรือ จะรบกัน"

พระเจ้าพรหมทัตมิได้ทรงหวั่นเกรงอันใด จึงตอบสาส์นนั้นว่า

"เราจะรบ"

แล้วรับสั่งไพร่พลให้ประจำตามประตูเมือง บนกำแพง และป้อมค่ายต่างๆ เตรียมรบเต็มที่

ฝ่ายบุกโจมตีกรุงพาราณสี พระราชาก็ทรงสวมชุดออกศึกเต็มยศ เอาเกราะหนังสวมให้ช้างมงคล แม้พระองค์ ก็สวมเกราะ ประทับอยู่บนคอช้าง ทรงถือพระแสงขออันคมกริบ ออกคำสั่งบุก....ไสช้างมุ่งสู่ประตูเมืองทันที เหล่าทหารหาญ โห่ร้องเสียงดัง สนั่นหวั่นไหว วิ่งเข้าหากำแพงเมืองอย่างฮึกเหิม

พระราชาทรงหมายพระทัย จะทำลายข้าศึกศัตรูให้ราบคาบ เพื่อยึดเอากรุงพาราณสีให้จงได้ จึงไสช้างมงคล บุกเข้าใกล้กำแพง เข้าไปทุกขณะ แต่ยิ่งเข้าไปใกล้ ช้างมงคลก็ยิ่งแลเห็นเหล่าทหาร ถูกเท ราด รด ด้วยทรายร้อน จากบนกำแพงเมือง บ้างก็โดนปล่อยหิน ลงมาทับ บ้างก็โดนประหาร ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ จากบนกำแพงเมือง ทำให้ช้างมงคล บังเกิดความหวาดกลัว ต่อความตาย ไม่กล้ารุกเข้าใกล้ประตูเมือง อีกต่อไป มีอาการ หลีกหลบออกไป จนห่าง

ฝ่ายคนฝึกช้างเห็นเช่นนั้น จึงปลอบใจแก่ช้างมงคลให้คลายหวาดกลัวว่า

"ดูก่อนกุญชรมงคล ท่านเคยเข้าสู่สงครามมาแล้ว มีทั้งความแกล้วกล้าอาจหาญ มีกำลังมาก บัดนี้เข้าใกล้ จนจะถึง ประตูเมืองอยู่แล้ว ไยจะถอยกลับเสียเล่า ท่านเคยเป็นยอดนักรบ จงพุ่งเข้าไปหักล้างพังลิ่มกลอน ทำลาย ประตูเมืองให้พินาศ แล้วบุกเข้าไปในเมือง ให้ได้โดยเร็ว ให้สมกับความเป็นช้างศึก มหามงคล ของพระราชาเถิด"

ช้างมงคลได้ฟังดังนั้น ก็หวนระลึกได้ถึงความอาจหาญที่เคยมี บังเกิดพลังใจขึ้นมาเต็มเปี่ยม หันกลับวิ่งเข้าชน ประตูเมืองสุดแรง กระทั่งประตูเมือง พังทลาย นี้เพราะฟังคำสอน ของคนฝึกช้าง ที่กล่าวเพียงแค่ครั้งเดียว เท่านั้น แล้วพระราชา ก็ทรงเข้าเมืองได้ สามารถยึดกรุงพาราณสี เป็นผลสำเร็จ พระศาสดาทรงแสดงธรรมเทศนานี้แล้ว ตรัสว่า

"ช้างมงคลในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระนันทะในบัดนี้ ส่วนคนฝึกช้างนั้นได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

ณวมพุทธ
พฤ.๒๑ พ.ย.๒๕๔๕
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๖๗ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๑๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๑๘๐)

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๔ พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๔๕ จำนวนพิมพ์ ๒๒,๐๐๐ เล่ม)