มองโลก ในแง่ดีกันเถิด
- เม็ดทราย -


ร่างกายต้องการอาหารทุกวัน จิตใจก็ต้องการอาหารเหมือนกัน อาหารของจิตใจ คือความคิดดีๆ ที่หล่อเลี้ยงร่างกาย และจิตใจของเรา ให้เกิดความสงบ และสันติสุข จะสังเกตได้ว่า เมื่อใดที่เราคิดดี หรือ มองโลกในแง่ดี เราจะรู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุข ความคิดเป็นคลื่นพลังงานชนิดหนึ่ง ส่งผลให้เกิด การกระทำ คำพูด ในหลักของพุทธศาสนาถือว่า ความคิดเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง เพียงแค่คิด ก็ทำให้เกิดกรรมแล้ว

ความคิดแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท
๑. ความคิดในแง่บวกหรือแง่ดี
๒. ความคิดในแง่ลบหรือแง่ร้าย
๓. ความคิดที่เป็นกลาง (ไม่ดีและไม่ร้าย)

ความคิดในแง่บวก หรือ แง่ดี เป็นความคิดที่ให้ประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เป็นความคิด ที่จะนำไปสู่ สิ่งที่ดีๆ เป็นความคิดที่ทำให้เกิดความสมดุลทางอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และผู้อื่น เช่น ความเข้าใจ ความสุข ความสงบ ความเคารพ ความอดทน ความเสียสละ เป็นต้น

ความคิดในแง่ลบ หรือ แง่ร้าย เป็นความคิดที่ทำลายตนเองและผู้อื่น เป็นความคิดที่นำไปสู่ผลลบ เป็นการมองโลก ในด้านเดียว เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความวิตกกังวล ความกลัว ความก้าวร้าว ความโลภ ความไม่อดทน เป็นต้น

ความคิดที่เป็นกลางๆ เป็นความคิดที่ไม่ก่อเกิดอารมณ์บวกหรือลบ เช่น เวลาขับรถไปทำงาน บนเส้นทาง ประจำ ขณะที่ขับผ่านผู้คนสถานที่ต่างๆ เราจะไม่มีความคิดหรืออารมณ์อะไรกับผู้คนและสถานที่นั้นๆ

ความคิดเป็นตัวกำหนดความรู้สึก
ความรู้สึกเป็นตัวกำหนดคำพูด การกระทำ และคำพูด การกระทำ มีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ การงาน และความสัมพันธ์

คำพูดและการกระทำของเราจะมีอิทธิพลต่อคนอื่นเสมอ เช่น ถ้าเราพูดไม่ดีกับคนอื่น คนอื่นจะจดจำ คำพูดของเรา ไปนาน หรืออาจจะนาน จนตลอดชีวิตของเขา ครั้งหนึ่ง ได้พบผู้หญิงคนหนึ่ง แสดงกิริยา และคำพูด ที่ไม่เหมาะสมกับดิฉัน ดิฉันจำไม่ได้ว่าเคยทำอะไรเขามาก่อน ต่อมาได้ยิน เขาพูด กับเพื่อน ของเขาว่า ดิฉันใช้คำพูดไม่ดีกับเขา เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว เขายังไม่ลืม ดิฉันลืมแล้ว แต่เขายังจำได้ แม้เรา จะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม ซึ่งยากมาก ที่จะไปแก้ไขความคิด ความรู้สึกของเขาได้

ความคิดในแง่ลบ มีอิทธิพลต่ออะไรบ้าง
ผลของการวิจัยจากสถาบันต่างๆ ในต่างประเทศ ค้นพบว่า ความคิดในแง่ลบ มีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ การงาน และความสัมพันธ์ ดังกล่าวมาแล้ว

ทางด้านร่างกาย มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน องค์การสหประชาชาติได้ค้นพบว่า ๗๕-๙๐% ของคนป่วย ล้วนเกิดมาจากความเครียด เช่น เวลาที่เราเกิดความโกรธขึ้น เราจะรู้สึกเหนื่อย ร้อน ตึงเครียด หัวใจ เต้นแรงเร็ว กล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ เกิดการรัดตัว เจ็บปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว เป็นต้น ความคิดในแง่ร้าย จึงมีผลร้ายต่อร่างกายโดยตรง นอกจากนั้นยังทำให้การทำงานไม่มีสมรรถภาพ ความสัมพันธ์ กับคน ในครอบครัว ตลอดจนเพื่อนร่วมงานไร้ความสุขไปด้วย

ความคิดแบบใด ที่เราพบเจอมากที่สุด ทั้งในตัวเราและผู้อื่น หรือที่เรียกว่า Very Popular ซึ่งเป็นความคิด ชนิดที่สร้างความทุกข์ ให้แก่ผู้คนเป็นอันมาก

คำตอบก็คือ ความคิดที่ไร้สาระ เป็นความคิดที่เป็นขยะ ขยะที่เป็นวัตถุมีมากมายจนเป็นปัญหาขยะล้น กทม. ไม่รู้จะกำจัดได้อย่างไร แต่ขยะทางความคิดที่มีแต่ประจุลบนี้มีมากกว่าขยะที่เรามองเห็นด้วยตา ขยะทางความคิด มีอยู่เต็มไปหมด ในโครงข่ายสนามแม่เหล็ก สร้างความปั่นป่วนให้มนุษยชาติ จนทำให้ ท้องฟ้า ที่เคยสวยงาม ต้องมัวหมอง ฤดูกาลต่างๆ แปรผัน จนหาฤดูกาล ที่แน่นอนไม่ได้เลย ความคิด ในแง่ร้าย ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อมนุษย์เท่านั้น ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ บรรยากาศ ของโลกด้วย

ความคิดที่ไร้สาระมีอะไรบ้าง
พอแบ่งลักษณะความคิดไร้สาระได้คือ
ความคิดในอดีตที่ผ่านมาแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เช่น ถ้าฉันรู้อย่างนั้น ฉันคงจะไม่แต่งงานกับเขา ถ้าตอนเด็ก ฉันขยันเรียน ตอนนี้ฉันคงไม่ลำบากอย่างนี้ เป็นต้น ความคิดที่จะไปจัดการกับคนอื่น เช่น ทำไมเขาถึงทำอย่างนี้กับฉัน ทำไมคนนี้ต้องมาเป็นเจ้านายฉัน ถ้าเมียฉันดี ลูกฉันไม่ติดยาบ้า ฉันคงไม่ทุกข์ อย่างนี้ เป็นต้น

ความคิดที่อยู่บนความเพ้อฝัน ที่เป็นจริงไม่ได้ เช่น ถ้าฉันได้เป็นนายกรัฐมนตรี ฉันจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าฉันได้เป็น นางงามจักรวาล ฉันจะมีคนห้อมล้อม ฉันจะเด่นกว่าใคร ถ้าฉันเป็นนักบินอวกาศ ฉันจะได้ไป ดาวอังคาร เป็นต้น

จากผลงานวิจัยที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเวียดนามเขาให้คนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ที่กำลังจะได้ออกไป จากโรงพยาบาล เข้าค่ายอบรม การสร้างความคิดในแง่บวก พร้อมกับญาติๆ คนใกล้ชิดคนไข้เหล่านั้นด้วย เพราะถ้าสอนเฉพาะคนไข้ ให้มีความคิดเป็นบวก ฝ่ายเดียว แต่ญาติคนใกล้ชิดยังมีความคิดเป็นลบอยู่ การรักษาคนไข้จะได้ผลน้อย ผลของงานวิจัยครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ เป็นอย่างดี

สิ่งที่ทางโรงพยาบาลทำก็คือ สอนให้คนไข้และญาติเข้าใจความคิดในแง่ดี และความคิดในแง่ร้าย ว่ามีผลกระทบ ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง สิ่งที่ช่วยคนไข้ได้มากคือ การจำแนกแยกแยะให้รู้ว่า ความคิดใด ที่เขาควบคุมได้ ควบคุมไม่ได้ และ ไม่สามารถ ควบคุมได้เลย เรามักจะได้ยินคนไข้ หรือคนป่วย เฝ้าแต่บอกว่า เขาอยากหายจากโรค ทั้งๆ ที่รู้ว่าโรคนี้ ไม่สามารถหายขาด หรือไม่มีทางหาย หรือคนไข้ เฝ้าแต่คิดว่า ทำไมฉันต้องป่วยอย่างนี้ ทำไมต้องเกิดกับฉัน ถ้าคนไข้ เฝ้าแต่คิดเช่นนี้ ย่อมทำให้คนไข้ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่มีความสุข และพลอยทำให้คนเฝ้าไข้ หดหู่ใจด้วย คนไข้ควรจะเข้าใจว่า เขาไม่สามารถ ควบคุมบังคับ สิ่งที่เกิดขึ้นได้ ให้เลิกคิดดีกว่า ยอมรับความจริง ที่เกิดขึ้น และมุ่งคิด ทำแต่สิ่งที่ควบคุมได้ เมื่อเราควบคุมความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของเราได้ เราก็จะสามารถควบคุมตัวเองได้ คุณหมออารี หมอหนุ่มแห่งไร่มะขามเปรี้ยว กล่าวไว้ว่า การควบคุมอารมณ์ สำคัญกว่าการควบคุมอาหาร คนไข้ ที่เป็นมะเร็ง แม้จะควบคุมอาหารได้ แต่ถ้าความคิด และอารมณ์ไม่ดี ก็ยากที่จะหายป่วย

โดยสัจธรรม เราไม่สามารถควบคุมคนอื่นให้ได้ดั่งใจเรา แต่เราก็ยังพยายามควบคุมคนอื่น ซึ่งทำให้เกิด ความเครียด ความโกรธ ทำให้ความสัมพันธ์ของเรามีปัญหา และเสียเวลา เสียพลังงาน โดยเฉพาะ เสียความรู้สึก แต่เราก็ยังทำ

มีผลงานวิจัยในอเมริกาพบว่า คนเราเสียเวลาประมาณ ๔๐-๖๐% คิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เราจะทำอย่างไร เมื่อเกิดความคิดในแง่ร้ายอยู่เสมอ สิ่งที่เราเฝ้าแต่ทำ เฝ้าแต่พูด เฝ้าแต่คิดอยู่บ่อยๆ มันจะกลายเป็นนิสัย เป็นรหัสที่ใส่ไว้ในจิตใต้สำนึกของเรา ถ้าเรายังวนเวียน อยู่ในความคิดเช่นนี้ ก็เท่ากับ เรายอมรับมัน และจะกลายเป็นนิสัย ที่แก้ไขได้ยาก มีข้อสังเกตว่า คนเราถ้าเกลียดสิ่งใด ก็มักได้รับสิ่งนั้น ก็เพราะจิตใต้สำนึกคิดเองไม่เป็น เห็นเองไม่ได้ แยกแยะไม่ออก ว่าเป็นความชอบหรือไม่ชอบ รู้อย่างเดียวว่า ต้องเหนี่ยวรั้งมาให้ได้ ตามที่เราส่งรหัสเข้าไป ความชอบกับความเกลียด เป็นคลื่น ความถี่ เดียวกัน จึงไปเหนี่ยวรั้ง สิ่งที่เราเกลียด มาให้ตัวเองด้วย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำก็คือ การสร้างวงจรใหม่ สร้างนิสัยใหม่ขึ้นมาแทน ด้วยการยอมรับ ความผิดพลาด ที่ผ่านมา แล้วปลดปล่อยมันไป เริ่มต้นใหม่ สร้างความคิดใหม่ และหาประสบการณ์ กับความคิดใหม่ๆ ที่ดีๆ ขึ้นมาแทน

สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ฉันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ในปัจจุบันฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง อดีต เป็นเพียงบทเรียน ที่จะไม่ให้เราผิดซ้ำอีก แต่ปัจจุบันฉันจะทำอย่างไรให้ดีกว่า น่าคิดมากกว่าไหม

สรุปแล้ว ให้เรารู้จักปล่อยวางเสียบ้าง ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดมากนัก และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะปัจจุบัน เป็นผลของอดีต และอนาคก็คือผลของปัจจุบันนั่นเอง

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๕ ม.ค.- ก.พ. ๒๕๔๖)