กสิกรรมพลิกฟื้นชาติ - นายกองฟอน -

น้ำสกัดชีวภาพ
ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร รายได้ส่วนหนึ่ง ของประเทศ มาจากการส่งออก สินค้าเกษตรเนื่องจากประเทศไทย อยู่ในเขตอบอุ่น จึงสามารถปลูกพืชได้ตลอดปี โดยเฉพาะ ในแหล่งที่มีการชลประทาน แต่สภาพดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหา ด้านศัตรูพืชรุนแรง และ ทำความเสียหายมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ย และ สารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะ ในพืช ที่ทำรายได้สูง ทำให้สถิติ การนำเข้าสารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น ตลอดเวลา

ปริมาณการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชแปรปรวนตามความรุนแรงของศัตรูพืช ในแต่ละปี ปริมาณ การนำเข้า เพิ่มขึ้นจาก ๑๐,๐๔๒ ตัน ในปี ๒๕๒๑ เป็น ๒๕,๕๔๑ ตัน ในปี ๒๕๓๙ และลดลงเหลือ ๑๙,๓๙๐ ตัน ใน ปี ๒๕๔๑ ที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือสารกำจัดวัชพืช เพิ่มขึ้นจาก ๒,๙๘๐ ตัน ในปี ๒๕๒๑ เป็น ๑๔,๐๔๑ ตัน ในปี ๒๕๓๙ และ ลดลงเหลือ ๘,๖๙๗ ตัน ในปี ๒๕๔๑ เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การใช้สารป้องกัน กำจัดศัตรูพืช เพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าสามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้เสมอไป จะเห็นได้จากการลดลง ของพื้นที่ ปลูกฝ้าย จากที่เคยสูงสุด เกือบ ๑ ล้านไร่ ในปีเพาะปลูก ๒๕๒๔/๒๕ เหลือเพียงประมาณ ๓ แสนไร่ หรือความเสียหายของข้าว จากเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาล ในปี ๒๕๓๓ ซึ่งมีพื้นที่ระบาดนาปรัง และนาปี ถึงกว่า ๖ ล้านไร่ แม้จะมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้จากสถิติ การนำเข้าสารฆ่าแมลง ในปีเดียวกันก็ตาม

สำหรับการนำเข้าปุ๋ยเคมีมาจำหน่ายในประเทศปีละประมาณ ๓.๕ ล้านตัน ราคาตันละ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ บาท คิดเป็นมูลค่า ประมาณ ๒.๑-๒.๔ หมื่นล้านบาท การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้ผลผลิต ทางการเกษตร และผลตอบแทนสูงสุด เพราะนอกจาก ทำให้ดิน ขาดความอุดมสมบูรณ์ ด้านกายภาพ และชีวภาพแล้ว ยังทำลายดิน ให้เสื่อมโทรมยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดมลพิษในดิน และน้ำ อย่างมากมาย เป็นอันตราย ต่อชีวิตของคน และสัตว์ อย่างต่อเนื่อง น้ำสกัดชีวภาพหรือที่เรียกกันว่า น้ำหมักชีวภาพ หรือ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่เกษตรกร สามารถนำมาใช้ ในการป้องกัน กำจัดศัตรูพืช หรือ ทดแทน ปุ๋ยเคมีได้

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อศึกษากรรมวิธีการผลิตน้ำสกัดชีวภาพโดยใช้วัตถุดิบที่แตกต่างกัน
๒. เพื่อศึกษาสารออกฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
๓. ศึกษาประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิต
๔. ศึกษาชนิดและปริมาณของธาตุอาหาร ฮอร์โมนและจุลินทรีย์ในน้ำสกัดชีวภาพ

ทั้งนี้ เพื่อทดแทนและลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ลดการเสียดุลการค้าต่างประเทศ ไม่เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น

ความเป็นมา
ความหมายของน้ำสกัดชีวภาพ หรือน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน คือเป็น สารละลายเข้มข้น ที่ได้จากการหมักเศษพืช หรือสัตว์ ซึ่งย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ โดยใช้กากน้ำตาล เป็นแหล่งพลังงาน ของจุลินทรีย์ การหมักมี ๒ แบบ คือ

หมักแบบต้องการออกซิเจน (หมักแบบเปิดฝา) และแบบไม่ต้องการออกซิเจน (หมักแบบปิดฝา)

สารละลายเข้มข้นอาจจะมีสีน้ำตาลเข้ม กรณีที่ใช้กากน้ำตาลเป็นตัวหมักหรือมีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อใช้น้ำตาล ชนิดอื่น เป็นตัวหมัก ซึ่งถ้าไม่ผ่านการหมักที่สมบูรณ์แล้ว จะพบสารประกอบ พวกคาร์โบไฮเดรท โปรตีน กรดอะมิโน ฮอร์โมน เอนไซม์ ในปริมาณ ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ วัตถุดิบที่ใช้ (พืชหรือสัตว์)

จุลินทรีย์ที่พบในน้ำสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ มีทั้งที่ต้องการออกซิเจน และ ไม่ต้องการ ออกซิเจน มักเป็นกลุ่มแบคทีเรีย Bacillus sp., Lactobacillus sp., Streptococcus sp.,

นอกจากนี้ยังอาจพบเชื้อรา ได้แก่ Aspergillus niger, Pennicillium, Rhizopus และยีสต์ ได้แก่ Canida sp. การทำน้ำสกัด ชีวภาพ หรือน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์

ประเภทน้ำสกัดชีวภาพ
น้ำสกัดชีวภาพหมักได้จากเศษพืชและสัตว์ ดังนั้นจึงสามารถแบ่งประเภทน้ำสกัดชีวภาพ ตามวัตถุดิบ ที่นำมาใช้ ในการผลิตเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากพืช
๒. น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์

น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากพืช ผลิตจากผักและเศษพืช
การทำน้ำสกัดชีวภาพโดยการหมักเศษพืชสดในภาชนะที่มีฝาปิด ปากกว้าง นำเศษผัก มาผสมกับน้ำตาล ถ้าพืชผัก มีขนาดใหญ่ ให้สับเป็นชิ้นเล็กๆ จัดเรียงพืชผักเป็นชั้นๆ โรยน้ำตาลทับ สลับกัน กับพืชผัก อัตราส่วน ของน้ำตาล ต่อเศษผักเท่ากับ ๑ : ๓ หมักในสภาพไม่มีอากาศ โดยอัดผัก ใส่ภาชนะให้แน่น เมื่อบรรจุผัก ลงภาชนะ เรียบร้อยแล้ว ปิดฝาภาชนะ นำไปตั้งไว้ในที่ร่ม หมักต่อไป ประมาณ ๓-๗ วัน จะเกิดของเหลวข้น สีน้ำตาล มีกลิ่นหอม ของสิ่งหมักเกิดขึ้น ของเหลวนี้ เป็นน้ำสกัด จากเซลล์พืชผัก ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรท โปรตีน กรดอะมิโน ฮอร์โมน เอนไซม์ และอื่นๆ

ผลิตจากขยะเปียก
ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้นำขยะเปียก ได้แก่ เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ จำนวน ๑ กิโลกรัม มาใส่ลงในถังหมัก แล้วเอาปุ๋ยจุลินทรีย์โรยลงไป ๑ กำมือ หรือประมาณเศษ ๑ ส่วน ๒๐ ของปริมาณ ของขยะ แล้วปิดฝาให้เรียบร้อย ภายในเวลา ๑๐-๑๔ วัน จะเกิดการย่อยสลาย ของขยะเปียก บางส่วน กลายเป็นน้ำ น้ำที่ละลายจากขยะเปียก สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ย โดยนำไปเจือจาง ด้วยการผสม ในอัตราส่วน น้ำปุ๋ย ๑ ส่วน ต่อน้ำธรรมดา ๑๐๐-๑,๐๐๐ ส่วน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ประดิษฐ์ ถังขยะแบบพิเศษ โดยนำถังพลาสติก มาเจาะรู แล้วใส่ก๊อกเปิด -ปิดน้ำ ที่ด้านข้างถังช่วงล่าง จะสวมตาข่าย เพื่อป้องกัน ไม่ให้เศษอาหาร ไปอุดตัน ส่วนปัญหาเรื่องกลิ่น กรณีที่ขยะ มีเศษเนื้อสัตว์ และ เศษอาหารอยู่มาก ให้ใช้เปลือกสับปะรด มังคุด กล้วย ใส่ลงไปให้มากๆ น้ำปุ๋ยจะมีกลิ่นหอม คล้ายกลิ่นหมัก เหล้าไวน์ วิธีการดังกล่าว จุลินทรีย์จะสามารถ ย่อยสลายขยะเปียกได้ ประมาณ ๓๐-๔๐ ส่วน ที่เหลือประมาณ ๖๐-๗๐ % จะกลายเป็นกาก ซึ่งก็คือปุ๋ยหมัก สามารถนำไปใช้ ในทางเกษตรได้

สูตรน้ำสกัดชีวภาพ
กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมสูตรน้ำสกัดชีวภาพ จากหน่วยงานและแหล่งที่ได้มีผู้ศึกษา ค้นคว้า และ ทดลอง ได้ผลดี ดังนี้

สูตรของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ ๒ จังหวัดพิษณุโลก
๑. กลุ่มเกษตรธรรมชาติ ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
๑.๑ การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์
ส่วนผสม
๑. เปลือกตาสับปะรด ๒ กก.
๒. น้ำมะนาว ๑ กก.
๓. กากน้ำตาล ๓ กก.
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน แล้วหมักไว้

๑.๒ สูตรฮอร์โมนผลไม้

ส่วนผสม
๑. ผลไม้สีเหลือง เช่น ฟักทอง มะละกอ ๑๐ กก.
๒. กากน้ำตาล ๑๐ กก.
๓. น้ำสะอาด ๑๐ กก.
๔. หัวเชื้อจุลินทรีย์ ๓ ขวดกระทิงแดง
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน หมักไว้ ๑๕-๓๐ วัน หากจะใช้ให้นำมากรองเอาแต่น้ำหมัก
วิธีใช้
อัตราการใช้น้ำหมัก ๓๐ ซีซี. ผสมกับน้ำ ๒๐ ลิตร แล้วนำไปฉีดพ่นพืชผักได้

๑.๓ สูตรสารสกัดสมุนไพร
ส่วนผสม
๑. สมุนไพรชนิดต่างๆ
๒. กากน้ำตาล ๓๐ กก.
๓. น้ำสะอาด ๒๐ กก.
๔. เหล้าขาว ๑ ขวด
๕. หัวเชื้อจุลินทรีย์
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน หมักไว้ ๑๕-๓๐ วัน เวลาจะใช้ก็นำมากรอง
วิธีใช้
อัตราการใช้น้ำหมัก ๓๐ ซีซี. ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร แล้วนำไปฉีดพ่นพืชผักได้
หมายเหตุ :- สมุนไพรต่างๆ ได้แก่ บอระเพ็ด สะเดา ข่าแก่ ตะไคร้หอม สาบแล้ง สาบกา หนอนตายหยาก ต้นเพกา สาบเสือ ใบน้อยหน่า มะละกอ

หากต้องการกำจัดเชื้อรา ให้นำใบยูคาลิปตัส ๓๐-๕๐ ยอด กับใบมะรุม ๕ กก. หมักรวมไปกับส่วนผสม ทั้งหมดด้วย

(ข้อมูลจาก กรมวิชาการเกษตร)

ท่านใดมีประสบการณ์ในการทำกสิกรรมธรรมชาติ ต้องการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น หรือ เผยแพร่ เทคนิคใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงสูตรน้ำหมักบำรุงพืชผัก และสารขับไล่แมลง ส่งมาได้ที่
e-mail : [email protected]
จะนำเผยแพร่ เป็นวิทยาทานต่อไป

(ดอกหญ้า าอันดับที่ ๑๐๕ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)