บทวิจารณ์ - ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า -

งดเหล้า เข้าพรรษา

เข้าพรรษาปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลุ่มองค์กร ทางด้านศาสนา ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ได้ร่วมกัน จัดโครงการรณรงค์งดเหล้า ช่วงเข้าพรรษาขึ้น โดยมีมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อนทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานโครงการ

การรณรงค์ที่จัดขึ้นครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปลุกกระแสความตื่นตัวด้านจริยธรรมของสังคมไทย โดยอาศัย เรื่องการ "งดเหล้าช่วง เข้าพรรษา" เป็นหัวหอกขับเคลื่อนกระบวนการปลุกกระแสจริยธรรมดังกล่าว ซึ่งคาดหวังว่า จะสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างน้อย ๓ ประการ จากโครงการรณรงค์ครั้งนี้ คือ

๑. ก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่ม/องค์กรทางด้านศาสนา ที่จะร่วมกันทำงานปลุกกระแสจริยธรรม ของสังคมไทย

ในขณะที่เหล้าเป็นอบายมุขสิ่งเสพติดซึ่งเป็นข้อห้ามของศาสนาสำคัญๆ ทุกศาสนาในโลก รวมทั้งเป็น สาเหตุของ ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาสุขภาพ ตลอดจนปัญหาทางสังคมหลายต่อหลายเรื่อง อันเป็นประเด็นที่สามารถ จะใช้ยึดโยง ให้กลุ่ม/องค์กร ศาสนา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ มาจับมือร่วมกันทำงานได้อย่างเป็นเอกภาพในท่ามกลาง ความแตกต่าง หลากหลาย

ทั้งนี้เมื่อเกิดความรู้จักคุ้นเคยกัน จากการทำงานร่วมกันในเรื่องหนึ่งแล้ว เครือข่ายกลุ่ม/องค์กรทางด้านศาสนา ที่ก่อตัวขึ้นนี้ ก็จะสามารถร่วมกัน จับมือทำงานเพื่อสร้างกระแสจริยธรรม ในประเด็นเรื่องอื่นๆ ของสังคมได้สืบต่อไป ในระยะยาว

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรค ขัดขวางความร่วมมือของกลุ่ม/องค์กรทางศาสนาต่างๆ ก็คือ การมีแบบชีวิต ทางศาสนาที่แตกต่างกัน แบบชีวิตทางศาสนา (religion form of life) จะเป็นแหล่งสร้างพลังทางจริยธรรม เพื่อให้ศาสนิก ของศาสนานั้นๆ มีกำลังที่จะเอาชนะความชั่ว ความทุจริตในตนเองได้

เช่น คนที่นับถือศาสนาแบบเทวนิยม และมีความเชื่อมั่นว่า หากตนได้ละวางความชั่ว ความทุจริต ตามคำสอน ของศาสนา นั้นๆ แล้ว พระเจ้าที่ตนศรัทธา จะช่วยดลบันดาลให้ตนประสบความสุขความเจริญ ตายไปแล้ว ก็จะได้ ไปสวรรค์ ไม่ต้องตกนรกหมกไหม้ หรือเผชิญกับวันพิพากษาครั้งสุดท้าย จนเกิดความกลัว และไม่กล้า กระทำความชั่ว ความทุจริตดังกล่าว เป็นต้น

ขณะที่คนซึ่งนับถือศาสนาแบบกรรมนิยม ก็เชื่อว่าถ้าตนไม่กระทำกรรมชั่วต่างๆ และกระทำแต่กรรมดีแล้ว กุศลกรรมนั้น จะส่งผลให้ตนไม่ประสบความทุกข์ยากลำบาก เกิดมาชาติหน้าจะมีชีวิตที่สุขสบายกว่าชาตินี้ ฯลฯ จึงทำให้เกิด พลังความมุ่งมั่น ที่จะละชั่ว ประพฤติดี ตามคำสอนของศาสนานั้นๆ

ในกรณีเช่นนี้จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ความเชื่อทางศาสนา ภาษาศาสนา พิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ ที่เรียกโดยรวมว่า แบบชีวิต ทางศาสนา ที่แตกต่างกัน ดังกล่าว จะสามารถสร้างพลังทางจริยธรรม ที่จะทำให้บุคคลผู้นั้น เลิกละ การกระทำ ความชั่วบางอย่างได้เหมือนกัน อาทิ ไม่ไปลักทรัพย์คนอื่น ทำร้ายคนอื่น เป็นชู้กับลูกเมียคนอื่น ฯลฯ

แต่ขณะเดียวกันแบบชีวิตทางศาสนาที่แตกต่างกันนั้น ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางที่ทำให้กลุ่ม/ องค์กรทางศาสนา ซึ่งอันที่จริงมีเป้าหมายส่วนใหญ่ตรงกันในการสร้างจริยธรรมของสังคมหลายต่อ หลายเรื่อง แต่กลับมี ความขัดแย้งเข้าใจกันไม่ได้ อาทิ คนที่มีแบบชีวิตทางศาสนาที่เชื่อในเรื่อง "กรรมนิยม" ก็จะมองคนที่เชื่อ ในแบบชีวิต ทางศาสนาซึ่งศรัทธา พระเจ้าแบบเทวนิยมว่าเป็น "มิจฉาทิฐิ" ส่วนคนที่ศรัทธาในพระเจ้า ก็จะมองคน ที่มีแบบชีวิต ทางศาสนาซึ่งไม่เชื่อในพระเจ้านั้นว่าเป็นพวก "นอกรีต" เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้การหาประเด็นที่ทุกกลุ่ม/องค์กร ทางศาสนาสามารถยึดกุมเป็นเป้าหมายร่วม เพื่อสร้างเครือข่าย การทำงาน ร่วมกัน ดังเช่น เรื่องการรณรงค์ เลิก ละ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะนำ ไปสู่การเรียนรู้ และทำความ เข้าใจเกี่ยวกับแบบชีวิตทางศาสนาของกันและกัน ที่มีแก่นสาร และ เป้าหมายสำคัญ หลายอย่างตรงกัน ดังกล่าว อันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือ ในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหา ความเสื่อมจริยธรรม ของสังคมต่อไป

๒. เสริมสร้างให้วัฒนธรรมเข้าพรรษาซึ่งเป็นทุนทางสังคมไทยอยู่แล้วมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม

ในอดีตช่วงเข้าพรรษาจะมีชาวพุทธจำนวนมาก ตั้งใจเลิกละอบายมุขสิ่งเสพติดต่างๆ อาทิ เหล้า บุหรี่ การพนัน เป็นต้น แต่วัฒนธรรมนี้กำลังค่อยๆ หมดไปจากสังคมไทย

หากสามารถรณรงค์ให้ช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน ในแต่ละปี เป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งใจประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม ที่จะเป็น ประโยชน์ต่อชีวิตตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคมส่วนรวม เช่น การเลิก กินเหล้า สูบบุหรี่ ฯลฯ ถ้ากระทำ ได้สำเร็จ ต่อไปก็อาจเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคมไทยที่จะทำให้ช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน เป็นช่วงเวลาแห่งการ
ทำความดี เป็นพิเศษในรอบปี เหมือนเดือนแห่งการ ถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมเป็นต้น

๓. ทำให้ผู้คนในสังคมมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาลดละเลิกอบายมุขสิ่งเสพติดต่างๆ กันมากขึ้น

ถ้าเกิดกระแสความตื่นตัวที่ผู้คนจำนวนมากในสังคม หันมาลดละเลิกอบายมุขสิ่งเสพติดต่างๆ จำนวนมากพอ อาทิ การลดกินเหล้า ช่วงเข้าพรรษา เป็นต้น จนทำให้ปัญหาของสังคมลด น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญที่เห็นความแตกต่าง จากเดิม ได้ชัด เช่น สถิติอุบัติเหตุที่ลดลง คดีอาชญากรรมที่ลดลง ปัญหาการทะเลาะวิวาทกันในวงเหล้าที่ลดลง ฯลฯ

ผู้คนในสังคมก็จะได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของพลังทางจริยธรรมที่มีต่อการสร้างความสงบ สันติ ร่มเย็นในสังคม และร่วมกันผลักดันขยายกระแสการสร้างความตื่นตัวทางจริยธรรม ของสังคมให้แผ่กว้างออกไป

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการร่วมกันรณรงค์โครงการ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ของกลุ่ม/องค์กรทางด้านศาสนาต่างๆ อาทิ สายสำนักสวนโมกข์ ธรรมกาย และสันติอโศก ซึ่งมีโอกาสจับมือร่วมกันทำงานเป็นครั้งแรกนี้ น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ของการสร้าง กระแสความตื่นตัว ด้านจริยธรรม ในสังคมไทย

พรรษานี้ใครยังไม่ได้ตั้งใจ "ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" ในเรื่องใดเลย ก็ขอให้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำให้ ช่วงเวลา ๓ เดือนแห่งการเข้าพรรษาของชาวพุทธ เป็นเหมือนช่วงเวลาแห่งเดือนถือศีลอด ของพี่น้อง ชาวมุสลิม อย่างน้อย ก็มีการถือศีล ๕ ละอบายมุขสิ่งเสพติดต่างๆ เป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษานี้

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๘ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๖)