บันทึก น้ำค้างหยดเดียว
โจทย์ลองใจ


เข้าพรรษาปีนี้มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นราวปาฏิหาริย์ อาทิ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ที่ทำท่าจะกร่อย ในช่วง เปิดตัว แต่กลับมาแรงด้วยการสนับสนุนจากหลายฝ่าย จนท้ายสุด รัฐบาลถึงกับ สามารถ ห้ามโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และชูกำลัง ระหว่างตี ๕ ถึง ๔ ทุ่ม ได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือน จะเกรงใจ เม็ดเงินมหาศาลจากสินค้าเหล่านี้ที่มาช่วยอุดหนุนกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ 'สื่อ' ให้อยู่ได้ โดยไม่คำนึงถึง ผลเสียที่จะมีต่อเยาวชนและประเทศชาติ

นั่นคือ ความกล้าหาญทางจริยธรรม นิมิตใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่แสดงว่าพุทธคุณยังมีฤทธิ์มีแรง หากเรา ช่วยกันกอบกู้ คนละไม้ละมือโดยไม่เลือกค่าย

แล้วก็มาถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดกับตัวเองที่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่น่าพอใจ เป็นโจทย์ที่เงินแสน ก็จ้างทำไม่ได้ แม้ได้ก็ไม่แนบเนียน ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเช่นนี้

เรื่องราวที่ผ่านการบ่มเพาะให้ต้องอดทน ทั้งที่เป็นคนมีขีดความอดทนต่ำ เรื่องราวที่ถูกเข้าใจผิด โดยไม่ได้ มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่นอกจากอีกฝ่ายจะพุ่งเพ่งถือสาแรงแล้ว เพื่อนสนิทที่เคยคุยกัน ได้ทุกเรื่อง ก็พลอย คับแค้น ขุ่นเคืองไปด้วยกับการมีเพื่อนใจร้ายแบบเรา

เพื่อนว่า "ก่อนหน้านี้เธอก็แค่หงุดหงิดง่าย แต่ลึกๆ แล้วฉันรู้ว่าเธอเป็นคนใจดี แต่จากเหตุการณ์นี้ ฉันผิดหวัง ในตัวเธอมาก ทำไมเธอถึงไม่เมตตาคนที่อ่อนแอกว่า"

ฟังแล้วน่าประทับใจที่มีเทวดาประจำตัวคอยตรวจสอบพฤติกรรมออกปานนี้ แต่แม้จะเห็นว่า เราเพี้ยนไป จากเดิมมาก เขาก็ไม่มาถามเราสักคำ กลับเอาเรื่องนี้ไปถามพระและคนอื่นๆ เพราะ 'เหม็นหน้ามัน' และ เชื่อสิ่งที่ 'ฟังเขามา' เต็มที่ ดูเทวดาจะหูเบาเกินไปหน่อย แถมเกาไม่ถูกที่คันอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม สัจจะคือสัจจะ แม้ผู้พูดจะเล่าไม่ครบถ้วนกระบวนความ พูดเกินจริงเพราะมีอคติ และ ฟันธงว่า เราชักใยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดกับเขา แต่เมื่อลำดับเรื่องราวให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็เข้าใจได้ ไม่ยาก

สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีศึกษาก็คือ เพื่อนควรได้รับบทเรียนว่าด้วยความหนักแน่นเพิ่มขึ้น แม้เพื่อน จะแก้ตัวว่า "ฉันเชื่อเพราะดูเขาเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาพูดมาจริงๆ" ก็แน่ละ การจะทำให้ใครเชื่อคำพูดของเรา เราก็ต้อง เชื่อก่อนว่า สิ่งที่เราพูดมันจริง นี่คือหลักจิตวิทยาเบื้องต้นที่เด็กน้อยก็รู้

สิ่งมหัศจรรย์อีกประการคือ แม้วินาทีนี้ก็ไม่รู้สึกเกลียดหรือโกรธผู้สร้างเรื่อง ไม่คิดว่าเขาเป็นคู่กรณี สงสาร ที่เขา เข้าใจไม่ได้ นึกถึงคำพูดของนักเขียนคนโปรดที่ว่า 'เราต่างมีเวลาคนละไม่มาก' และ 'ล้วนมีทุกข์ คนละไม่น้อย' แล้วก็ยิ่งเห็นจริง เราเหลือเวลาอีกคนละไม่มากเลยที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ ไหนยังจะโรคภัย ไข้เจ็บเบียดเบียน เหตุใดจึงเพิ่มทุกข์ทับถมตนด้วยความคิดที่ว่า... คนนี้ไม่รักฉัน คนนั้นไม่หวังดี คนโน้น ไม่จริงใจ ฯลฯ ป่วยการกล่าวถึงการเสียสละสร้างสรรอื่นๆ ที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเรายังหนักหนาสาหัส กับเรื่อง ของตัวเองอยู่

เสียดายหลายๆ คนที่สุดท้ายต้องแพ้ภัยตัวเองเพราะอิตถีภาวะ เสียดายความสามารถที่ถูกบั่นทอนด้วย ตัวเสียใจ -น้อยใจ แต่ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เพราะแค่ช่วยตัวเองไม่ให้เขาชิงชังก็ยังไม่มีปัญญา

แต่หากเป็นไปได้ก็อยากบอกว่า... ใครไม่รัก ไม่หวังดี ไม่จริงใจกับเรา ไม่สำคัญเลย ขอให้เรารัก หวังดี และจริงใจ กับตัวเองให้มาก จากนั้นจึงเผื่อแผ่สิ่งดีๆ ไปให้คนรอบข้าง เมื่อนั้นเธอจะพบโลกใบใหม่ที่สดใส ไร้มลภาวะ

เข้าพรรษา ฝนตกบ่อย ไหนยังจะเกิดลมพายุ มรสุม และความกดอากาศที่ส่งผลให้ดินฟ้าแปรปรวน ไม่หยุดหย่อน อารมณ์คนก็คล้ายกัน หากปล่อยให้แปรปรวนตามความคิดขั้วบวกขั้วลบ เหมือนฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าในหัวใจ ความสงบสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน

เมื่อฝนซาฟ้าจะใส แต่ทำอย่างไรใจจะสงบได้แม้ในยามเกิดมรสุม คลื่นลมรุนแรง และอุปสรรคนานา

ความมหัศจรรย์ประการสุดท้ายจึงคือ 'ตบะหรรษา' การตั้งตบะเพื่อขัดกิเลสตัวเอง ก่อนที่จะทนไม่ได้ เมื่อถูกคนอื่น ขัดเกลา

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖)