เก็บจากสื่อ

จิตแพทย์ชี้
'เด็ก-วัยรุ่น' นิยมรุนแรง เพราะห่างวัด


เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดแถลงข่าว เรื่องเกี่ยวกับ กรณีเด็กวัยรุ่น ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา โดย พ.ญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัย จิตแพทย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อารมณ์ที่เป็นปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นมี ๒ อย่างคือ อารมณ์เสียใจ ผิดหวัง เมื่อถูกตัดสัมพันธ์ ถูกปฏิเสธ และพัฒนาเป็นอารมณ์โกรธแค้น นอกจากนี้ พบว่าเด็กที่มีปัญหา รุนแรง ส่วนใหญ่มีความผิดปกติของสมอง ฉะนั้นคนใกล้ชิดควรสังเกตถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น เช่น ใส่เสื้อผ้าสีดำหรือแดงจากที่ไม่เคยมาก่อน มีพฤติกรรม เก็บตัว ก้าวร้าว พูดจาว่าอยากฆ่าตัวตาย หรืออารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย คึกคักผิดปกติ

พ.ญ.นงพงา กล่าวว่า การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ที่ตามใจมากเกินไป ทำให้เด็กเกิดอาการเคยตัว และ เข้าใจผิดว่า จะได้อะไรก็ได้ทุกอย่าง ข้อแนะนำคือ ควรเน้นในสิ่งที่เด็กได้ทำมากกว่าสิ่งที่เด็กทำได้ เช่น ผู้ใหญ่เน้น แต่เด็กสอบได้เกรดดีๆ แต่กลับไม่ให้เด็กภูมิใจและยอมรับในสิ่งที่ทำว่าลงมือ อย่างเต็มที่แล้ว ส่วนผลลัพธ์ จะออกมาเป็นเช่นไร ก็ต้องยอมรับ หากเรียนไม่เก่ง สามารถหาทักษะชีวิตด้านอื่นๆ มาชดเชยได้ เพื่อให้เด็กภาคภูมิใจในชีวิตของตนเอง

"เราไม่สามารถทำให้โลกใบนี้ ปราศจากเชื้อโรค ได้ แต่เราสามารถทำให้ตัวเราแข็งแรงและไม่เป็นโรคได้ ปัจจัย ภายนอก ที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงมีมากมาย แต่เราสามารถให้เด็กรู้ได้ว่า สิ่งไหนดี หรือไม่ดี

ศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ของเด็กได้ พ่อแม่รักลูกอย่างเดียวไม่เพียงพอ เหมือน ต้นไม้ ไม่มีรากแก้ว เจอพายุอารมณ์ก็หักโค่นล้ม ซึ่งพ่อแม่ในยุคปัจจุบันพาเด็กไปฟังธรรม หรือไปวัด น้อยมาก ขณะเดียวกันพาไปเที่ยวต่างประเทศมากกว่า ครอบครัวควรจัดกิจกรรม ทางศาสนา มากขึ้น" พ.ญ.นงพงากล่าว

พ.อ.วีระ เขื่องศิริกุล นายกสมาคมจิตแพทย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขคือ ควรทำงาน เชิงรุก โดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ควรจัดประชุม เชิงปฏิบัติการ กับสมาคม ผู้ปกครอง ของนักเรียน เชิญพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู มารับฟังความรู้จากจิตแพทย์ เพื่อสามารถ นำไป ประยุกต์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากพบว่า เด็กมีอาการ ก็ควรพาไปรับการปรึกษา จากจิตแพทย์ ก่อนที่ปัญหา จะลุกลามไป
(จาก นสพ.มติชน วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มิ.ย.๔๖)

(หนังสือดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๘ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๖)