โอบอุ้มแผ่นดิน... โอบอุ้มโลก

ฮื้อ...หอม หอมจริงๆ

กลิ่นข้าวใหม่ที่แม่หุงอยู่หลังบ้าน หอมฟุ้งมาจนถึงหน้าบ้าน รู้สึกหิวข้าวขึ้นมาทันที

ข้าวใหม่จะหุงยากสักหน่อย หุงไม่เป็น แฉะเอาง่ายๆ มือใหม่หัดหุง แทบทั้งร้อย สอบไม่ผ่านหรอก เถอะ แม้จะแฉะ ก็ยังหอมชวนกินอยู่นั่นเอง

นานกว่า ๓๐ ปีแล้ว ที่กลิ่นหอมข้าวใหม่ได้หายไปจากชีวิต

และในวันนี้ ดูเหมือนว่า แม้ข้าวจะเก็บเกี่ยวมาใหม่ นำมาสีมาตำมาหุง กลิ่นก็ไม่หอมชื่นใจเหมือน เก่าก่อน

กลิ่นหอมของข้าวหายไป!?

คงไม่เพียงแต่กลิ่นหอมของข้าวเท่านั้นที่หายไปเพราะใช้ปุ๋ยเคมี แต่พืชผัก ผลไม้อื่นๆ รสชาติก็ดูแปลกเปลี่ยนไปด้วย แม้จะยังคงรูปร่างภายนอกเหมือนๆ เดิม กลิ่นเปลือกส้มเขียวหวานเมื่อใช้ปลายเล็บสะกิดปอก กลิ่นหอมสดชื่นของน้ำมันหอมระเหยที่เปลือกส้มก็โชยเข้าจมูกทันที ช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ได้ แต่ส้มเขียวหวานยุคใหม่ หากลิ่นหอมเท่าใดก็ไม่เจอ แม้แต่ฝรั่งผิวสวยสมัยนี้ กัดกินแล้วก็ได้แต่นึกว่าคือฝรั่งจริงๆ หรือนี่

"ข้าวหอมมะลิมีลักษณะพิเศษคือ หากใส่ปุ๋ยเคมีลงไป นอกจากจะไม่ได้ผลผลิตมากขึ้นแล้ว ยังทำให้กลิ่นหอมของข้าวหายไปด้วย ข้าวหอมมะลิ จึงเหมาะสมกับการปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค"

ลูกชาวนาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า

"แต่ก่อนชาวไร่ชาวนาก็ไม่เห็นใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้ากันนะ แต่รัฐบาลนั่นแหละมาแนะนำ เอาตัวผู้นำก่อนเลย คือ ผู้ใหญ่บ้าน ให้ไปแนะนำลูกบ้านว่าต้องใช้ปุ๋ยเคมี จะปลูกข้าวได้มากขึ้น ชาวบ้านก็เชื่อ ปีสองปีแรกก็ดูได้ผลเยอะดี พอปีต่อๆไป ผลผลิตก็ไม่ได้มาก แถมต้องใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นๆ ยาฆ่าแมลงก็ต้องฉีด เสียเงินซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อยาฉีด มากมาย ดินก็เสีย แย่กว่าเก่าอีก"

ปุ๋ยเคมีก้าวเข้ามาแทรกแซงธรรมชาติด้วยเหตุที่ว่า นักวิทยาศาสตร์เริ่มต้นวิเคราะห์ข้าว วิเคราะห์แยกส่วนประกอบโภชนาการ แล้วก็ประมวลความว่า องค์ประกอบโภชนาหารทำให้ข้าวเติบโต จากนั้นก็จะใส่ธาตุอาหารนั้นให้พืชในรูปของปุ๋ยเคมี และติดตามสังเกตดู เมื่อเห็นข้าวเติบโตตามที่คาดหวังไว้ ก็จะสรุปว่าปุ๋ยเป็นธาตุที่ทำให้พืชเติบโต จากนั้นก็จะเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของพืชที่ได้รับปุ๋ยและ ไม่ได้รับปุ๋ย และจะสรุปผลว่า พืชที่ได้รับปุ๋ยจะเติบโตสูงกว่า ให้ผลผลิตมากกว่าพืชที่ไม่ได้รับปุ๋ย แล้วก็เผยแพร่ความรู้นี้ออกไป โดยเฉพาะประเทศที่เชื่อว่า ความรู้อะไรที่มาจากฝรั่งตะวันตกนับว่าดีทั้งหมดก็ จะรับได้ง่าย และเผยแพร่ในประเทศอย่างรวดเร็ว กสิกรจำนวนมากมายยอมใช้ปุ๋ยเคมี แม้ปัจจุบันจะรู้ว่ามีผลเสียต่อดิน แต่ก็ยังคงใช้มันต่อไป โดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

ปุ๋ยเคมีช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชก็จริง แต่ก็เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ทำให้พืชอ่อนแอ เมื่อพืชอ่อนแอก็จะมีภูมิต้านทานต่ำต่อโรคพืชและศัตรูพืช ด้วยเหตุนี้ยาฆ่าแมลงจึงก้าวเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยพืชที่ถูกทำให้อ่อนแอโดยปุ๋ยเคมีทั้งหลาย และยาฆ่าแมลงก็มีอันตรายมากมายทั้งต่อพืชเอง รวมทั้งคนและสิ่งแวดล้อม

ปุ๋ยเคมีที่ใส่ในดินมักจะไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับทดลองในห้องทดลอง มีข้อมูลหนึ่งปรากฏ ออกมาหลังจากชาวนาใช้ปุ๋ยมาหลายสิบปี คือ เมื่อใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตในนาข้าวแล้ว องค์ประกอบของสารไนโตรเจนจะถูกจุลินทรีย์ในดินย่อยสลาย และระเหยไปในอากาศถึงร้อยละ ๓๐ นับเป็นความเสียหายและอยุติธรรมอย่างมาก และมีรายงานอีกว่า ปุ๋ยฟอสเฟตที่ใส่ทุ่งนานั้น ซึมลงในดินลึกเพียง ๒ นิ้ว เท่านั้น นั่นคือปุ๋ยฟอสเฟตที่ชาวนาโปรยลงในดินปีแล้วปีเล่านั้นไร้ประโยชน์ เพราะปุ๋ยนั้นเพียงแค่ถมทับดินชั้นบนเท่านั้น

ความเสียหายอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นโดยตรงจากปุ๋ย ที่มีต่อดินคือ สารสำคัญ ๓ ตัว ที่เป็นสารประกอบของปุ๋ย คือ แอมโมเนียมซัลเฟต ซูเปอร์ฟอสเฟต และโปแตสเซียมซัลเฟตนั้น มากกว่าร้อยละ ๗๐ คือกรดกำมะถันเข้มข้น ซึ่งเป็นกรดและก่อความเสียหายอย่างมากต่อดินทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเสียหายนี้ต้องใช้เวลานับร้อยๆ ปีกว่าธรรมชาติจะฟื้นคืนสู่สภาพเดิมได้

และที่น่าใคร่ครวญอย่างยิ่งในการใช้ปุ๋ยเคมีก็คือ จะเกิดความไม่สมบูรณ์ของธาตุอาหารกลุ่มย่อย เรื่องเหล่านี้ซับซ้อนจนไม่อาจกล่าวได้หมด เช่น เมื่อดินได้รับปูนมากเกินไป จะขาดสังกะสี แมงกานีส โบรอน ไอโอดีน และธาตุอื่นๆ เพราะธาตุเหล่านี้จะละลายได้น้อยลงในน้ำ ถ้ามีโปแตสเซียมมากเกินไป การดูดซึมไอโอดีนจะถูกสกัดกั้น ยิ่งใส่ไนโตรเจน ฟอสเฟต และโปแตสเซียมในดินมากเท่าใด ก็จะทำให้เกิดการขาดสังกะสีและโบรอนเป็นผลตามมา เมื่อเพิ่มปุ๋ยตัวหนึ่งมากขึ้น ก็จะทำให้ปุ๋ยตัวหนึ่งหมดประสิทธิภาพ ไป สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถติดตามเจาะรู้ความลับของธรรมชาติได้ทั้งหมด

ชาวนาได้เดินตามนักวิทยาศาสตร์ ผู้ซึ่งทดลองอยู่ในห้องแคบๆ แล้วก็ใช้ปุ๋ยเคมีที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้นมา ผ่านไปนับสิบๆ ปี วันนี้จึงปรากฏผลชัดเจนแล้วว่า การเพาะปลูกที่แทรกแซงธรรมชาตินั้น ได้รับภัยพิบัติเพียงใด

ความจริงมีอยู่ว่า ธรรมชาติให้ทุกอย่างที่เราต้องการใช้เป็นปุ๋ย พืชเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องมีปุ๋ยเคมี

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ปุ๋ยเคมีทำให้พืชอ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่ำต่อโรคพืชและแมลง ยาฆ่าแมลงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้ที่ก้าวมาผิดตั้งแต่ก้าวแรก

** คลอร์เดน เป็นยาฆ่าแมลงที่มีพิษมากที่สุดประเภทหนึ่ง ผู้ที่จับต้องยานี้อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้เคราะห์ร้ายคนหนึ่งซึ่งบังเอิญทำน้ำยาที่มีความเข้มข้น ๒๕ % หกรดผิวหนัง เขาเกิดอาการจากพิษยาภายใน ๔๐ นาที และตายไปก่อนที่จะได้รับการเยียวยาจากแพทย์

** ดิลดริน มีพิษร้ายแรงประมาณ ๔๐-๕๐ เท่าของดีดีที เป็นยาที่ใช้กันมากที่สุดชนิดหนึ่งในปัจจุบัน

** ออลดริน มีพิษร้ายแรงเช่นเดียวกับดิลดริน ทำให้ตับและไตทรุดโทรม สารนี้จำนวนเพียงเท่ากับยาแอสไพริน ๑ เม็ด ก็พอจะฆ่านกกระทาได้ ๔๐๐ ตัว

** เอนดริน เป็นสารพิษที่ร้ายแรงที่สุดใน กระบวนสารประเภทไฮโดรคาร์บอนผสมคลอรีนทั้งหมด กรณีน่าเศร้าใจรายหนึ่งคือ ชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่ง พร้อมกับลูกเล็กอายุ ๑ ขวบ ได้ย้ายไปอยู่ที่เวเนซูเอลา ที่บ้านนั้นมีแมลงสาบมากมาย จึงใช้เอนดรินฉีด เขาได้ส่งลูกกับสุนัขตัวเล็กออกไปนอกบ้านก่อนพ่นยา ซึ่งเป็นเวลา ๙ โมงเช้า หลังจากพ่นย่าและล้างพื้นแล้ว จึงพาเด็กและสุนัขกลับเข้าบ้านในตอนบ่าย ประมาณ ๑ ชั่วโมงต่อมา สุนัขอาเจียน ชักกระตุกและตาย เวลา ๔ ทุ่ม คืนวันเดียวกัน เด็กอาเจียน และชักกระตุก หมดสติ พ่อได้นำส่งโรงพยาบาล หลังจากรักษามานานหลายเดือนเด็กไม่มีอาการดีขึ้น ยังคงไร้ความรู้สึก ไม่สามารถเห็นหรือได้ยิน และหมอก็ไม่สามารถช่วยให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกแล้ว

ส่วนยาฆ่าหญ้าที่ชาวไร่ชาวนาชาวสวนนิยมใช้กันนั้น ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย จากข่าวจาก น.ส.พ.ไทยรัฐดังนี้

วิตกกบเขียดลดน้อยลงและกลายเพศ
เหตุมาจากการใช้ยาฆ่าหญ้า

หลังจากประหลาดใจกับพวกกบเขียดทั่วโลก พากันมีจำนวนร่อยหรอลงอย่างลึกลับ โดยหาสาเหตุไม่ได้กันมานาน บัดนี้นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบว่า พวกยาฆ่าวัชพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้ออกฤทธิ์สาปให้กบเขียดพากันวิปริตกลายเพศไปตามๆ กันจนหมดสิ้น

นักชีววิทยามหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ อย่างน้อยได้พบในห้องปฏิบัติการว่า ยาฆ่าหญ้าขนานที่ขายดีที่สุดในโลกขนานหนึ่ง มีฤทธิ์ทำให้กบตัวผู้กลายเพศเป็นกะเทย มีอวัยวะเพศทั้งสองเพศไปได้ โดยทำให้ฮอ์โมนเพศผู้ชายในตัวมันน้อยถอยต่ำลง จนต่ำกว่าในกบตัวเมีย "ส่อว่ากบและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอื่นๆ ในธรรมชาติ เสี่ยงกับการพัฒนาทางเพศโดนบ่อนทำลาย เมื่อถูกยาเหล่านี้"

ยาฆ่าหญ้าอัทราซีนเป็นยาฆ่าพืชที่ใช้กันแพร่หลายตามธรรมชาติต่างๆ ประมาณ ๘๐ ชาติ รวมทั้งอเมริกาด้วย มานาน ๔๐ ปีแล้ว นักอนุรักษ์ธรรมชาติได้เรียกร้องให้ห้ามใช้ยาพวกนี้ ด้วยเกรงว่าจะมีอันตรายมาถึงมนุษย์ "ยาขนานนี้นับเป็นยาอีกขนานหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวบ่อนทำลาย ฮอร์โมนได้ และมันก็ตกค้างอยู่ในบรรดาอาหารที่เรากินเข้าไปด้วย" พวกเขากล่าว...

ธรรมชาติถูกทำลายจนเสียสมดุล ส่งผลกระทบถึงคนทั้งโลกต้องเดือดร้อน ฝืดเคือง ขาดอาหาร และจะเบียดเบียนกันอย่างน่าสลดหดหู่ ปัจจุบันมีเด็กขาดอาหารตายนาทีละ ๑๐ คน และในปี ๒๕๖๓ ประมาณว่าจะมีเด็กขาดอาหารทั่วโลก ๑๓๒ ล้านคน เมืองไทยยังนับว่าโชคดี มีผืนดิน ธารน้ำ ภูมิอากาศ เหมาะแก่การทำกสิกรรมเป็นที่สุด พื้นฐานการดำรงชีพดั้งเดิมของไทยคือกสิกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก ดังพระราชดำรัสที่ว่า

"อาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก
เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์
เป็นอาหาร เป็นเครื่องนุ่งห่ม
หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง
ฉะนั้นจะต้องทำการกสิกรรม"

ในปัจจุบันดินถูกทำลายไปมาก หากทุกอย่างเป็นไปตามความสมดุลของธรรมชาติ เราคงเห็นพืชเติบโตของมันเอง ต้นไม้บนป่าเขาไม่ต้องรับปุ๋ยจากมือมนุษย์ มันก็ยังคงงอกงามชั่วนาตาปี แต่การไถพรวนท้องนาทุกปี การกำจัดวัชพืช การใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ยาฆ่าแมลง ขยะมลพิษที่ทับถม ฯลฯ ได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ ของดินจนดินตาย ดินกลายเป็นธาตุไร้ชีวิต ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จึงควรเป็นทางเลือกที่เหมาะกับสภาพการณ์เพื่อฟื้นฟูดิน และควรปรับปรุงดินด้วยวิธีอื่นๆ ด้วย เช่น ปลูกพืชคลุมดินด้วยพืชตระกูลถั่ว หรือการคลุมดินด้วยเศษซากพืช เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด ใบไม้ ทางมะพร้าว ฯลฯ เศษซากพืชทุกชนิดไม่ควรเผาหรือทำลาย ควรนำมาเกลี่ยคลุมดิน ซึ่งคลุมได้หนาถึง ๓๐ ซม. หลักสำคัญที่ควรจำและนำไปปฏิบัติคือ อย่าเอาต้นพืชแห้ง เช่น ใบไม้แห้ง แกลบ ขี้เลื่อย คลุกเคล้ากับดิน เพียงแต่คลุมไว้ เฉยๆ เท่านั้น เพราะการย่อยสลายต้นพืชแห้งต้องใช้ไนโตรเจนจากดินเพื่อใช้ในกระบวนการย่อยสลาย ซึ่งจะทำให้ดินสูญเสียไนโตรเจนไป ๑ ปี จึงจะสร้างจำนวนไนโตรเจนจำนวนเท่าเดิมกลับคืนมาได้ การคลุมดินจะเปิดโอกาสให้ดินสร้างตัวเอง และสร้างปุ๋ยโดยธรรมชาติ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต และลดมลพิษด้วย อีกทั้งปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันต้องผจญโรคภัยนานาชนิด

ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก เป็นชุมชนในเมือง แต่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และตระหนักในคุณค่าสารอาหาร ในเศษพืช ผัก ผลไม้ ซึ่งนำกลับมาเป็นปุ๋ยฟื้นฟูดินได้ จึงได้เปิดโรงปุ๋ยสะอาดชีวภาพ "พลังขวัญดิน" เพื่อเสริมหนุน ๓ อาชีพกู้ชาติ ซึ่งชาวอโศกเชื่อว่า นี่คืออาชีพหลักสำคัญ ที่ควรเผยแพร่และลงมือปฏิบัติให้ทั่วทั้งบ้านทั้งเมืองโดยเร็วที่สุด


ปุ๋ยสะอาดชีวภาพ
เพื่อ "ดินดีสมเป็นนาสวน"

สามอาชีพกู้ชาติ คือ
๑. ขยะวิทยา
๒. ปุ๋ยสะอาด
๓. กสิกรรมธรรมชาติ

ทั้ง ๓ อาชีพนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงหมุนเวียนเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน และที่สุดก็เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

*** ขยะ เป็นปัญหาหนักอกหนักใจของทุกประเทศ ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน กรุงเทพมหานครมีขยะต้องกำจัดถึงวันละ ๙,๐๐๐ ตัน และกำจัดไม่หมด ในขณะที่ขยะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ร้านรับซื้อของเก่าจะรับซื้อขยะบางส่วน เช่น แก้ว โลหะ พลาสติก กระดาษ อะลูมิเนียม ฯลฯ เพื่อส่งไปขายต่อยังโรงงาน ส่วนขยะที่เป็นสารอินทรีย์ที่อยู่ในรูปของเศษอาหาร เศษพืชผักผลไม้ ร้านขายของเก่าไม่ได้รับซื้อ ดังนั้น ควรจะนำขยะที่เป็นสารอินทรีย์เหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยการนำมาทำปุ๋ย

*** ปุ๋ยสะอาด หรือปุ๋ยธรรมชาติ ถ้าดินตาย คนจะไม่สามารถอยู่ได้ คนจะต้องมีดินที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งที่มาของปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การปลูกพืชแต่ละครั้ง พืชจะดูดซึมเอาธาตุอาหารหรือปุ๋ยในดินออกไปในรูปของผลผลิต การเพาะปลูกต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงมีผลทำให้ดินดีกลายเป็นดินเลว ปลูกพืชไม่งอกงาม การเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง ถ้าไม่มีการใช้ปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดิน ในระยะเวลา ๘-๑๐ ปี ดินจะเสื่อมโทรมลง

ดังนั้นจะต้องคืนลมหายใจให้ผืนดินโดยการให้ปุ๋ย และปุ๋ยนั้นจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อดินในระยะยาว และไม่เป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพของผู้ผลิต และผู้บริโภคด้วย

*** กสิกรรมธรรมชาติ อาหารเป็นที่หนึ่งในโลก คนต้องกินอาหาร เพื่อการดำรงชีวิตให้คงอยู่ได้ แต่เนื่องจากการทำกสิกรรมที่เน้นการเพิ่มผลผลิตมากเกินไป ทำให้กสิกรต้องนำสารเคมี ปุ๋ยเคมี มาใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช บำรุงพืชผล ส่งผลให้ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ กลายเป็นอาหารพิษทำลายสุขภาพ ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีแต่ละปีสองหมื่นล้านบาท ทั้งที่มีวัตถุดิบจำนวนมาก สามารถนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ทดแทนการนำเข้าปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงได้ และยังลดการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง

กสิกรจึงควรหันมาผลิตปุ๋ยสะอาด ปุ๋ยธรรมชาติ เพื่อทำกสิกรรมธรรมชาติ ผู้ผลิตก็สบายใจที่เราไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้ผู้อื่นต้องทุกข์ทรมาน เจ็บไข้ได้ป่วย เสียเงินทองรักษา เสียเวลา เสียความสดชื่นเบิกบานใจในชีวิต


วัฏจักรที่เป็นบุญ

นำ ขยะสด ไปทำปุ๋ย นำ ปุ๋ย ไปทำกสิกรรมธรรมชาติ กินอาหาร ผลผลิตจากการทำกสิกรรมธรรมชาติแล้ว แยกขยะอินทรีย์ อย่าทิ้งรวมกับเศษแก้ว พลาสติก ฯลฯ จะได้ขยะสด เพื่อประโยชน์ในการนำไปทำปุ๋ย เป็นวัฏจักรบุญหมุนเวียนต่อไป


ผลเสียเนื่องจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช

- ทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีในห่วงโซ่อาหาร เกิดผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งโดย ทางตรงและทางอ้อม

- ทำให้ระบบนิเวศต้องสูญเสียความสมดุล

- ทำให้เกิดปัญหาการระบาดของศัตรูพืชมากยิ่งขึ้น

- สารเคมีที่ตกค้างในแหล่งน้ำ ทำให้เกิดโรคระบาดในปลา และปลาตายเป็นจำนวนมาก

- แมลงและศัตรูพืชหลายชนิดสามารถสร้าง ความต้านทานต่อสารเคมีได้เพิ่มมากขึ้น จึงต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร ทั้งยังเกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชทวีความรุนแรงมากขึ้น


การทำปุ๋ยสะอาดชีวภาพ

ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก เป็นชุมชนในเมือง ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร จึงมีเศษอาหาร เปลือกพืชผักผลไม้เป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยลดปัญหาขยะสด อันเป็นภาระหนักของกรุงเทพมหานคร ทางชุมชนจึงได้นำเศษอาหาร ขยะสดธรรมชาติเหล่านี้มาทำเป็นปุ๋ยสะอาดชีวภาพ และจำหน่ายปุ๋ยในราคาถูกแก่เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ และประชาชนทั่วไป

ส่วนผสม
๑. ขยะสดในพื้นที่ (แต่ละพื้นที่อาจมีวัตถุดิบแตกต่างกัน อาจใช้เศษพืช เช่น ฟางแห้ง ใบไม้แห้ง ซังข้าวโพด ต้นข้าวโพดแห้ง ขี้เลื่อย ผักตบชวา ต้นถั่ว เปลือกถั่ว เปลือกเมล็ดทานตะวัน ฯลฯ) ใช้เศษพืชหลายๆ ประเภท จะดีกว่าการใช้เศษพืชเพียงประเภทเดียว

๒. แกลบขาวกับแกลบดำ (ขี้เถ้าแกลบ) เพื่อช่วยซับกลิ่นและความชื้นของขยะสดเศษอาหาร

๓. น้ำหมักชีวภาพ (หมักเศษพืชผักผลไม้ ๓ ส่วน น้ำปัสสาวะ ๕ ส่วน น้ำ ๔ ส่วน น้ำต้มถั่ว ๑ ส่วน น้ำตาลอ้อย ๑ ส่วน หัวเชื้อน้ำหมักเข้มข้น ๑ ส่วน (หมักหลายปียิ่งดี) หมัก ๓ อาทิตย์ - ๑ เดือน)

๔. หัวเชื้อรำ รำอ่อนคลุกกับน้ำหมักชีวภาพ ความชื้นประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ โดยทดลองกำรำไว้ บีบให้แน่น ถ้าปล่อยมือ รำเป็นก้อน แสดงว่าใช้ได้ บรรจุรำที่คลุกแล้วหมักในเข่งหรือภาชนะสานโปร่ง คลุมด้วยกระสอบป่าน หมัก ๓ วัน

ขั้นตอนการทำ
๑. ปั่นหรือสับขยะ (ทั้งสดและแห้ง) ให้เป็นชิ้นเล็กลง เพื่อช่วยให้ย่อยสลายได้ง่าย ๕๐ เปอร์เซ็นต์

๒. คลุกเคล้าแกลบขาว แกลบดำ เข้ากับขยะที่ปั่นแล้ว (ใช้แกลบดำน้อยกว่าแกลบขาว สัดส่วนตามต้องการ) ๔๔ เปอร์เซ็นต์

๓. พรมน้ำหมักชีวภาพ ๕ เปอร์เซ็นต์

๔. โรยหัวเชื้อรำ ๐.๕ เปอร์เซ็นต์

๕. คลุกเสร็จ ลองกำดู ถ้าน้ำไหลตามง่ามนิ้วแสดงว่าแฉะมาก แก้ด้วยการเติมแกลบลงไป ให้ได้ความชื้นประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์

๖. ตั้งกอง จะกองใหญ่หรือกองเล็กขึ้นอยู่กับปริมาณวัสดุ แต่ให้มีความสูงประมาณ ๑ ฟุต

๗. โรยหัวเชื้อรำบางๆ ที่ผิวด้านบนของกอง ๐.๕ เปอร์เซ็นต์

๘. คลุมด้วยกระสอบป่าน ๒ สัปดาห์ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรียวัตถุ

๙. พลิกกองหลังจาก ๒ สัปดาห์ สัก ๒ ครั้งต่อสัปดาห์ โดยไม่ต้องคลุมกระสอบป่าน

๑๐. ถ้าปุ๋ยเย็น นำไปใช้ได้ ถ้ายังไม่เย็น พลิกกองอีกครั้ง

การสังเกตปุ๋ยที่ใช้ได้แล้ว
ปุ๋ยจะแห้งเป็นสีน้ำตาล ร่วนซุย น้ำหนักเบา บรรจุกระสอบได้

*** หมายเหตุ ระยะเวลาหมักปุ๋ยอาจต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุในแต่ละพื้นที่ ที่ชุมชนสันติอโศกใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน เพราะขยะมีความชื้นสูง


อย่ากำจัดปัสสาวะทิ้งเสียเปล่า ใช้รดต้นไม้ เป็นปุ๋ยธรรมชาติ

นักปฐพีศาสตร์เรียกร้องไม่ให้ทิ้งของทิ้งให้สูญเปล่าไปเสีย ด้วยการกำจัดทิ้งปัสสาวะไป หากควรเก็บรวบรวมเอาไว้รดต้นไม้ เพราะเป็นปุ๋ยวิเศษของต้นไม้

ศาสตราจารย์ ที ดับบลิว ว็อกเกอร์ ชาวนิวซีแลนด์ กล่าวตำหนิการกำจัดทิ้งปัสสาวะของคนเราไปเสียอย่างที่เป็นอยู่ว่า "เป็นของน่าอาย" เขาชี้ว่า ตรงกันข้าม เราควรจะรีบนำกลับมาใช้เป็นประโยชน์ได้ "หารู้ไม่ว่า มันเป็นปุ๋ยธรรมชาติอันวิเศษ เพราะร่างกายของเราได้กลั่นมันออกมา มันอุดมได้ด้วยแร่ธาตุโปแตสเซียม กำมะถัน ไนโตรเจน"

ศาสตราจารย์วัย ๘๖ ปี แนะนำว่า ต่อไปเมื่อปวดปัสสาวะ ก็ควรจะฉี่ใส่กระป๋องรดน้ำต้นไม้เอาไว้ แล้วถือออกไปรดต้นไม้เสียเลย ตัวเขาเองนั้นเล่าว่า "ผมมีสวนส่วนตัวของผมเอง ผมจึงเยี่ยวรดในนั้นเลย" และดูเหมือนว่าคำกล่าวของเขาคงจะมีเหตุผลอยู่บ้าง ทางมหาวิทยาลัยเกษตรของสวีเดนก็กำลังทดลอง เพื่อหาคุณประโยชน์สิ่งที่เขายกย่องอย่างชื่นชมว่าเป็น "น้ำทอง" (ข่าวไทยรัฐ)


แหล่งข้อมูล
๑. ซับน้ำตาแม่ธรณี โดย ภรณ์ ภูมิพันนา
๒. นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ ๑๒๓, ๑๒๗
๓. หนังสือพิมพ์เราคิดอะไร ฉบับที่ ๖๐
๔. คนคุ้ยขยะ เรียบเรียงโดย สุวัฒน์ คงแป้น

- ครองขวัญ -

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๑ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ -