การสร้างสรรค์มุมสงบ - อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง -

สิ่งที่ชีวิตต้องการคือความสงบ และความสงบนี้ไม่ได้อยู่ห่างไกล หรือหนีหายไปอยู่เสียที่ไหน แต่เหตุที่ต้องแสวงหา เพราะเราไม่ค่อยจะรู้จักวิธีสร้างมุมสงบให้เกิดขึ้นในใจ พอพูดถึง การสร้างสรรค์มุมสงบ ก็มักจะนึกกันว่า จะต้องออกไปอยู่ตามป่าเขาชายทะเล ต้องไปอยู่คนเดียวเงียบๆ ความสงบอย่างนั้นยังไม่ใช่ความสงบจริง เพราะเรายังต้องการสิ่งแวดล้อมอย่างนั้นอย่างนี้

ท่านจึงสอนว่า ความสงบหรือความวิเวก คือ ความรู้สึกเดี่ยวที่เกิดขึ้นในใจ นั่นคือ ความไม่คลุกคลี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหลบอยู่ตัวคนเดียว หากแต่หมายถึง การพยายามที่จะจัดสรรพัฒนาจิตให้คุ้นเคยกับความอยู่เดี่ยว แม้จะต้องอยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก ให้รักษาจิตไม่ให้ออกไปเพ่นพ่าน หรือมัวแต่ไปใส่ใจกับเรื่องภายนอก ยุ่งกับคนนั้น ยุ่งกับคนนี้ ถ้าจิตเป็นเช่นนี้ แม้จะอยู่คนเดียว ก็ไม่มีความสงบหรือความวิเวกขึ้นมาได้

การพัฒนาจิตเพื่อให้มีความสงบนั้น จะต้องมุ่งสู่ความวิเวก คือ ความเดี่ยวเดียวที่เกิดขึ้นในจิตแม้มีคนอยู่รอบข้าง ได้ยินคำพูดก็ให้รู้เพียงว่าพูดอะไร สมควรตอบก็ตอบ สมควรเพียงรับรู้ก็แค่รับรู้ แล้วก็ปล่อยเอาไว้ตรงนั้น หรือมีการกระทำใดเกิดขึ้น ก็รับรู้การกระทำนั้น แต่ไม่สนใจที่จะทำให้จิตเกิดความวุ่นวาย เมื่อ ทำได้อย่างนี้ ความเงียบความสงบก็จะเกิดขึ้น

ความเงียบสงบที่เกิดจากความวิเวกจะช่วยให้เกิดวิราคะ คือ ความจางคลายจากความยึดมั่น หรือความต้องการ จากวิราคะก็จะมุ่งสู่นิโรธะคือความดับ และนำไปยังโวสสัคคะ คือ การปล่อยหรือสลัดคืนสิ่งที่ รึงรัดอยู่ในจิต ก็คืออุปาทานความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง

ที่จิตของมนุษย์เราสงบไม่ได้ เงียบไม่ได้ นั้นเพราะอะไร
เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่า จิตสงบไม่ได้เพราะถูกยื้อยุดอยู่ระหว่างความเอาและความไม่เอา จะเอาสิ่งที่ใจต้องการ และไม่เอาสิ่งที่ใจไม่ต้องการ จึงขอเสนอแนะวิธีสร้างสรรค์มุมสงบ โดยฝึกการหยุดเอา ผู้ไม่เคยฝึกก็จะไม่รู้ว่าจะหยุดได้อย่างไร หยุดเอาแล้วมันจะไม่หมดสิ้นเนื้อประดาตัวไปหรือ แต่ผู้ใดเคยฝึกมาแล้วก็จะรู้ว่า ในขณะที่หยุดเอานั้นเอง จะรู้สึกเหมือนกับได้ทั้งหมด ด้วยความรู้สึกอิ่มใจที่ได้แบ่งปันให้กับผู้อื่น

จิตมนุษย์เป็นทุกข์เดือดร้อน ดิ้นรนอยู่ ก็เพราะความอยากจะเอาทั้งทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง ความดีความชอบ เมื่อใดที่รู้สึกว่าจิตวุ่นวาย จะพบว่าขณะนั้นจิตกำลังต้องการจะเอาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หากเราหยุดเอาเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ หยุดเอาตามใจตัวเอง ความสงบก็จะเกิดขึ้นทันที

ประการที่สอง ขอให้ฝึกทำใจให้เหมือนแผ่นดิน เหมือนน้ำ เหมือนลม เหมือนไฟ เมื่อใดที่เราฝึกทำใจเช่นนี้ได้ ขณะนั้นจิตจะสงบ มีความหนักแน่นมั่นคง มีการให้และการรับเสมอเหมือนกันหมดโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เหมือนแผ่นดินที่รองรับได้ทุกสิ่ง สายน้ำที่พัดพาไปได้ทั้งสิ่งที่น่าดูและไม่น่าดู ไฟเผาไหม้ไม่เลือกหน้า และลมก็ให้ความเย็นแก่ทุกสิ่งที่พัดผ่านเสมอกัน

ประการที่สาม ฝึกทำใจให้เป็นผ้าขี้ริ้ว มนุษย์เราถือว่า ผ้าขี้ริ้วเป็นของต่ำ สกปรก ไม่น่าจับต้อง ไม่มีใครอยากเป็นผ้าขี้ริ้วเพราะไม่ได้รับการเชิดชู ยิ่งเป็นผ้าเช็ดเท้า ใครผ่านไปมาก็เหยียบย่ำ แต่ทำไมท่านพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงฝึกใจของท่านให้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว

จิตที่เหมือนผ้าขี้ริ้ว ก็คือจิตที่อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นจิตที่ยอมได้ ลดละความยึดมั่น ในความเป็นตัวตนได้ ที่จิตวุ่นอยู่ตลอดเวลา หาความสงบวิเวกไม่ได้ ก็เพราะมีความกังวลที่จะต้องรักษาศักดิ์ศรี หน้าตา ชื่อเสียงเกียรติยศ รักษาทุกอย่างที่เป็น "ของฉัน" ไว้ คอยระมัดระวัง ไม่ให้ใครมาล่วงล้ำก้ำเกิน

ผู้ฝึกทำใจให้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วได้ ย่อมรู้สึกเป็นสุข เยือกเย็น ไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องมีใครมาแห่แหนห้อมล้อม เสมือนผ้าขี้ริ้วอยู่ตรงไหนมุมไหนก็ไม่เดือดร้อน ไม่สนใจให้ใครมามอง แต่ทุกคนก็รู้ว่าผ้าขี้ริ้วนั้นมีประโยชน์

จิตที่อ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้ นอกจากตนเองจะมีความสงบเย็นแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่คนรอบข้าง ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน มีความลืมตัว ลืมว่ามีตัวตน มีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีหน้ามีตาอย่างไร ลืมหมด จึงทำอะไรได้อย่างคนธรรมดา ยิ่งลืมตัวได้มากเท่าใด ก็ยิ่งมีความสงบมากขึ้นเท่านั้น

ประการต่อไปที่จะขอเสนอในการสร้างสรรค์มุมสงบให้เกิดขึ้นในจิตได้ ก็ด้วยการระลึกหรือรู้จักให้ชัดว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ขอยืมเขามา คนส่วนมากมองไม่เห็นความจริงข้อนี้ จึงทึกทักว่า ชีวิตนี้เป็นของฉัน ร่างกายนี้เป็นของฉัน อะไรๆ ก็เป็นของฉัน เพราะไม่ประจักษ์ในความจริงว่า แท้จริงแล้วชีวิตนี้ร่างกายนี้ เป็นสิ่งที่ขอยืมเขามาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง ผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติให้ยืมมา และให้เราใช้ในหนทางที่ถูกต้อง

ถ้าสำนึกอยู่เสมอตลอดเวลาว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขอยืมเขามา จะทำให้จิตนี้เกิดความไม่ประมาท และมีความระมัดระวังในการที่จะใช้ชีวิตนี้ให้เกิดความถูกต้อง ไม่เอาชีวิตหรือร่างกายนี้มาถูลู่ถูกังจนเจ็บปวด จนเกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิต

ใช้ให้ถูกต้องก็คือ จะคิด จะทำ จะพูด ก็ทำด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยความรู้ตัว ไม่ให้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นและเบียดเบียนตนเอง ฉะนั้น ถ้าเราระลึกอยู่เสมอว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ยืมเขามา การที่จะปล่อยให้จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสโลภะ โทสะ โมหะ หรือความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง มันก็ไม่รู้ว่าจะยึดทำไม ยึดมาแล้วผลที่สุดก็ต้องปล่อย ส่งคืนกลับไปให้ธรรมชาติ

ใครที่คิดว่าชีวิตนี้เป็นของเรา ในที่สุดก็จะรู้เองว่า เมื่อนาทีสุดท้าย มาถึงก็หายื้อยุดฉุดเอาไว้ได้ไม่ เพราะชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ขอยืมเขามาเท่านั้น อย่าตู่ เมื่อใดตู่ว่าเป็นของฉัน เมื่อนั้นก็ทุกข์ เมื่อใดที่ยอมรับความจริงว่า นี่เป็นของขอยืมเขามานะ ใช้ให้ดีๆ ใช้ให้เกิดประโยชน์ ชีวิตนั้นก็จะดำเนินไปด้วยความถูกต้อง มีแต่ความสุข ความแจ่มใส

ประการที่ห้า มองเห็นความปรารถนาของธรรมชาติที่ตั้งใจจะบอกมนุษย์ให้รู้ว่า เธอทั้งหลายเป็นเพื่อนกันนะ ไม่ว่าจะรู้จักกันมาก่อนหรือไม่ จะมาจากส่วนไหนของโลกก็ตามที ผิวเหลือง ผิวดำ ผิวขาว ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น ไม่ว่าชาติใดภาษาใด จะนับถือศาสนากันคนละศาสนา หรือมีวัฒนธรรมประเพณีต่างกันอย่างใดก็ตามที

ธรรมชาติตั้งใจจะพูดด้วยภาษาธรรมให้มนุษย์ทุกคนสังวรว่า เราทั้งหลายเป็นเพื่อนและอยู่ในเรือลำเดียวกัน เรียกว่า เรือแห่งตัณหา เรือแห่งความอยาก ตะเกียกตะกายอยู่ด้วยความอยาก ความต้องการต่างก็ร้อนอยู่ด้วยความอยาก ด้วยความจะเอาให้ได้อย่างใจตน ด้วยความตั้งใจที่จะเบียดเบียนผลักไสคนอื่น เพื่อให้เราได้มีที่นั่งกว้างกว่าเขา ที่ยืนสบายกว่าเขา เป็นเพื่อนกันทางลบทางร้อนอยู่ในเรือลำนี้

และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นเพื่อนในสภาวะแห่งความเป็นธรรมดาเหมือนกัน นั่นก็คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่มนุษย์มักจะไม่สำนึกถึงความจริงในข้อนี้ จึงพยายามฝืนธรรมชาติกันทุกวิถีทาง เพื่อชะลอความแก่ หลีกหนีความเจ็บไข้ และยืดเวลาตาย พยายามจะแก้ไขอนิจจังให้เป็นนิจจัง

กฎไตรลักษณ์ว่าด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นกฎที่เที่ยงแท้แน่นอน มั่นคง และยุติธรรมอย่างยิ่ง ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มีผู้ใดสามารถจะติดสินบนกฎธรรมชาตินี้ได้ เมื่อถึงเวลาแก่เนื้อหนังมังสาก็ต้องเหี่ยวย่นไปตามธรรมชาติ ถึงคราวเจ็บก็ต้องเจ็บเหมือนกัน และสุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการหยุดหายใจทุกคน ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า

นี่เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ แต่มนุษย์ปิดหู ปิดตา ไม่ยอม รับรู้ จึงพากันเบียดเบียน แก่งแย่ง ทำร้าย ผลักไสกัน เพื่อที่ฉันจะได้ขึ้นไปข้างหน้า เพราะหูหนวกตาบอดต่อคำร้องคำบอกของธรรมชาติ จึงมีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสงบสุขในใจเลย

หากได้เงี่ยหูฟังเสมอว่า ธรรมชาติบอกว่าเราทั้งหลายเป็นเพื่อนกัน พอนึกได้ในแง่นี้ ความคิดที่อยากจะทำลายกัน เบียดเบียนกัน ก็จะลดลง มีแต่น้ำใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูล

มีนิทานเซ็นเรื่องหนึ่ง เล่าถึงเศรษฐีทำบุญบ้าน เชิญอาจารย์เซ็นมาร่วมพิธี พอทำบุญเสร็จก็ขอพรจากอาจารย์โดยส่งผ้าให้เขียนคำอวยพร อาจารย์เป็นผู้เที่ยงตรงในธรรม แต่เมื่อถูกเคี่ยวเข็ญ อ้อนวอน เซ้าซี้ ก็จำต้องเขียนส่งให้ เศรษฐีรับมาอ่านดูแล้ว ก็เศร้าใจ หม่นหมอง และขัดเคือง ว่าทำไมในวันมงคลจึงมาให้พรอย่างนี้

คำให้พรนั้นมีว่า "ให้ปู่ตายก่อน แล้วก็ให้พ่อตาย แล้วก็ให้ลูกตาย แล้วก็ให้หลานตาย" นี่เป็นพรที่ดีที่สุดเท่าที่อาจารย์จะสามารถให้ได้ โดยไม่ฝืนกฎของธรรมชาติจนเกินไป แต่เศรษฐีกลับไม่พอใจ ที่มาพูดเรื่องความตายในวันมงคล เขาอยากจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอย่างมีความสุข

อาจารย์เซ็นก็อธิบายให้ฟังว่า การที่บอกให้ปู่ตายก่อน ต่อมาก็พ่อตาย ลูกตาย แล้วหลานจึงตาย เป็นการตายตามลำดับวัย นับว่าดีที่สุดแล้ว ถ้าหลานที่กำลังน่ารัก ลูกที่กำลังเป็นหนุ่มเป็นสาว มีอนาคตสดใสเกิดมาตายก่อน แล้วปู่และพ่อจะรู้สึกอย่างไร จะเศร้าหมองอย่างยิ่งใช่ไหม ถ้าให้คนแก่ตายก่อน ลูกหลานก็ยังพอทำใจได้ ว่าเอาเถอะ ปู่ก็แก่แล้ว ตายไปตามวัยตามเวลา

คำอวยพรนี้แม้จะพยายามให้ใกล้เคียงกับกฎธรรมชาติที่สุด แต่ก็ยังไม่เที่ยงตรง เพราะอนิจจังไม่เลือกวัย ไม่เลือกเวลา หลานเล็กๆ ตายก่อนปู่ย่าก็มีถมไป เราจึงประมาทไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ไปได้นานเท่าใด คนที่พูดว่า เอาไว้แก่ก่อนจึงจะเข้าวัดปฏิบัติธรรมนั้น มีแต่เขาหามเข้าวัด หรือไม่ถึงกับหามก็มานั่งถัดนอนถัดอยู่ในวัด แล้วจะเอากำลังวังชาที่ไหนมาปฏิบัติธรรม ร่างกายที่กะปลกกะเปลี้ยจะใช้การอะไรได้

การปฏิบัติธรรมต้องใช้ทั้งร่างกายที่แข็งแรง กำลังจิตที่เข้มแข็ง และสติปัญญาที่ปลอดโปร่งแจ่มใส ถ้าทุกอย่างมันเสื่อมหมดแล้วก็ไม่มีหนทางจะปฏิบัติธรรมได้ แล้วแน่ใจหรือว่าจะอยู่ไปจนถึงอายุห้าสิบหกสิบ คนที่ตายตั้งแต่ยี่สิบสามสิบก็มี เพราะฉะนั้นอย่าได้ประมาทเลย

นอกจากนี้ก็ฝึกให้เป็น nobody อย่าตะเกียกตะกายเป็น somebody กันนักเลย ก็คล้ายๆ กับเป็นผ้าขี้ริ้วนั่นแหละ ในทางโลกใครๆ ก็อยากเป็น somebody ไปไหนมีแต่คนต้อนรับ หน้าก็บาน ใจก็บาน แต่ถ้าไม่มีใครมอง ก็รู้สึกว่าเราเป็น nobody ไม่มีใครเห็นความสำคัญ ไม่มีความหมาย คนจึงกลัวกันนัก

แต่ nobody ในทางธรรม หมายถึงคนที่รู้จักลืมตัวเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง จึงไม่มีอัตตา ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยที่จะตะเกียกตะกายให้เป็น somebody แต่แล้วความเป็น somebody ก็จะมีมาเองตามเหตุปัจจัย

ประการต่อไป จงรักษาหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ให้เต็มอยู่ทุกขณะ มนุษย์ (มน = ใจ, อุษยะ = ประเสริฐ) คือ สิ่งมีชีวิตที่มีจิตอันประเสริฐ มีจิตที่เสียสละพร้อมที่จะ ช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยอย่างเต็มที่โดยไม่หวังผล เพื่อให้เขาเกิดความสุข ดำรงตนอยู่ด้วยพรหมวิหาร ๔ อย่างถูกต้องและงดงาม คือ

มีเมตตาที่เป็นอัปปมัญญา อยากให้ใคร ๆ เขาได้เป็นสุขกันทั่วไปหมด ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จัก ทั้งสัตว์และมนุษย์ สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย การแผ่เมตตาควรเป็นไปในลักษณะนี้เพื่อเป็นการฟูมฟักเสริมสร้างความเมตตาที่ไม่มีขอบเขตขึ้นในใจ

กรุณา ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็จะช่วยเท่าที่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยได้ โดยไม่เลือกว่าเป็นใคร ไม่เฉพาะเจาะจง

มุทิตา ยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นมีความสุขหรือได้ดี โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ยินดีด้วยใจจริง ไม่ใช่ยินดีแต่ปาก

อุเบกขา เมื่อได้ช่วยเหลือด้วยเมตตากรุณาแล้ว แต่ไม่สามารถช่วยเขาให้พ้นจากความเดือดร้อนได้เป็นการสุดวิสัย ก็จำเป็นต้องวางเฉย แต่ก็ยังชำเลืองมองอยู่ พร้อมที่จะเข้าช่วยเมื่อมีโอกาส เมื่อใดมีจังหวะ อยู่ในวิสัยที่จะช่วยเหลือได้ก็ยินดี

จงรักษาจิตอย่าให้อยู่กับอดีตหรืออนาคต อย่าเอาจิตไปผูกพันอยู่กับอดีตที่ผ่านมา หรือไปวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่จงอยู่กับปัจจุบันขณะ หมายถึงขณะนี้นาทีนี้ แม้แต่นาทีหน้าชั่วโมงหน้าก็ยังไม่ต้องไปคิดถึง ถ้าสามารถควบคุมสติ รักษาสติให้มีอยู่ในปัจจุบันขณะนาทีนี้ได้ แล้วจะไปกังวลอะไรกับนาทีหน้าหรือชั่วโมงหน้า เพราะทุกนาทีที่ผ่านไป จิตนี้สมบูรณ์อยู่ด้วยสมาธิและปัญญา จึงมีแต่ความสงบเย็น หนักแน่น มั่นคง และมีปัญญาว่องไวเฉียบคม สามารถจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นลุล่วงไปได้ด้วยดีอยู่ทุกขณะ

คนเราที่ร้อนรนเป็นทุกข์ก็เพราะดึงใจมาจากอดีตและอนาคตไม่ได้ มัวแต่พะวงอยู่กับสัญญาในอดีต นึกขึ้นมาคราใดก็ร้องไห้แล้วร้องไห้อีก มันเคยเผาจนร้อนรน เจ็บปวดขมขื่นมานานหนักหนา ผ่านมาแล้วก็ยังเอามาเผาใหม่ เมื่อไม่ยอมปล่อยสัญญา ก็เผาไหม้ตัวเองอยู่อย่างนั้น เรื่องของอนาคตก็สังขารปรุงแต่งไปต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่มันยังไม่มาถึง และไม่รู้ว่าจะมีเหตุปัจจัยอะไรมาเกี่ยวข้องให้ต้องเปลี่ยนแปลงไปอีก แต่ก็ไม่วายคิดนึกจินตนาการไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงย้ำนักหนาว่า จงอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด เมื่อประกอบเหตุปัจจัยในปัจจุบันได้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดแล้ว ผลในอนาคตก็ย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่ต้องไปกังวลถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต และเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

มีตัวอย่างจากเรื่องจริง ฝรั่งสูงอายุคนหนึ่งมาเข้าอบรมอานาปานสติ ตอนค่ำฝรั่งหนุ่ม จูงเพื่อนต่างวัยคนนี้มาหา บอกว่า อาจารย์ช่วยพูดกับเขาหน่อย เขาจะฆ่าตัวตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว ก็นึกไม่ออกนะว่าจะพูดกับเขาอย่างไร จึงบอกให้เขานั่งลงก่อน แล้วถามเรื่องราวว่าเป็นอย่างไรจึงได้คิดจะฆ่าตัวตาย ให้เขาคุยถึงเรื่องของตัวเขาไปเรื่อยๆ เพื่อฟังว่าจะมีจุดไหนที่เราจะนำมาแก้ไขได้บ้าง

ก็ปรากฏว่า นายคนนี้เคยเป็นนักธุรกิจ ประสบความสำเร็จในชีวิต มีภรรยาและลูกอยู่กันมาอย่างมีความสุข ต่อมาธุรกิจประสบปัญหา แม้จะยังไม่ล้มเหลวสิ้นเชิง แต่ภรรยาเห็นว่าเขาเป็นคนไม่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างความสำเร็จให้ครอบครัว จึงแยกไปอยู่ต่างหาก ลูกก็ไปๆ มาๆ เขาก็เลยเกิดความว้าเหว่ รู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้ง คิดว่าตายเสียดีกว่าจะอยู่ไปทำไม เพราะไม่มีใครเห็นใจเราสักคน

ฟังมาถึงตอนนี้ก็เลยบอกว่า นี่รู้ไหม สาเหตุทั้งหมดนี้เกิดเพราะว่า คุณเห็นแก่ตัว selfish อย่างที่สุดเลย นายคนนั้นก็ตาโต ผมน่ะหรือ selfish ไม่เคยมีใครว่าผมเห็นแก่ตัวเลย ผมเห็นแก่ตัวอย่างไร ก็บอกว่า คุณว่าไม่มีใครเอาใจใส่ แล้วเพื่อนหนุ่มน้อยคนนี้ล่ะ เราไม่ได้เคยรู้จักเขามาก่อน เพิ่งมาพบกันที่นี่ แล้วเขาเป็นใครมาจากไหน ยังอุตส่าห์เอื้ออาทร รู้ว่าลุงคนนี้มีความทุกข์จนไม่อยากอยู่ในโลก ก็เป็นห่วงพามาหา เขาอยากให้รู้ว่าโลกนี้ยังน่าอยู่ ยังมีอะไรที่ดีๆ อีกตั้งมากมาย ส่วนคุณเห็นแก่ตัวใช่ไหมจึงได้นึกถึงแต่ตัวเอง นึกถึงแต่ สิ่งที่ตัวขาด สิ่งดีๆ ของตัวเองก็ยังมี ลูกก็ยังอยู่ไม่ได้ตัดเป็นตัดตาย ภรรยาก็ไม่ได้หย่ากันเพียงแต่แยกกันอยู่เพราะขัดใจ เงินทองทรัพย์สินก็ยังมี จึงเดินทางมารอบโลกได้ แล้วก็ยังจะนึกถึงแต่สิ่งที่ตัวไม่มี ที่ตัวขาด ว่า ตัวเองเป็นทุกข์ แล้วไม่ให้เรียกว่าคนเห็นแก่ตัวจะให้เรียกว่าอย่างไร

เขาก็ได้คิด รู้สึกตัวขึ้น เพราะเขาสปอร์ตพอที่จะรับฟังความเห็นของผู้อื่น ก็เลยถามว่าเขาจะดื่มน้ำชา กาแฟ หรืออะไรบ้างไหม เขาก็เสียงใสขึ้นมาทีเดียวว่า ขอน้ำชา น้ำตาลสองก้อนนะ มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที เพราะรู้สึกว่ายังมีคนสนใจเอาใจใส่เขา กินไปคุยไป ก็อารมณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะไปเขาขอบคุณที่บอกให้รู้ว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย เขาจะได้ปรับใจเสียใหม่

เหตุที่คนไม่สามารถจะดึงจิตมาอยู่กับปัจจุบันได้ เพราะเอาจิตนั้นมานึกถึงแต่ตัวเอง นึกถึงแต่เรื่องที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรยืนยันว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอีก ความทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะไม่ยอมลืมอดีต เราควรจะอยู่กับปัจจุบัน เพื่อจะได้แก้ไข ประกอบเหตุปัจจัยในปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วผลในอนาคตจะดีเอง

ประการสุดท้าย จงฝึกใจให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความไม่ประมาท นี่เป็นปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ประทานโอวาทแก่พุทธสาวกทั้งหลายว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" สังขารทั้งหลาย เป็นของไม่เที่ยง ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม ไม่มีสิ่งใดคงทน มีแต่จะเสื่อมสลายไป จึงควรทำใจนี้ให้ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท นั่นคือ อย่าเห็นว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย ไม่เป็นไร นิดเดียวเอง นั่นแหละคือการสร้างความประมาท ให้เกิดขึ้นแล้วในชีวิต แล้วก็ดำรงชีวิต อย่างมักง่าย สะเพร่า ปล่อยจิตให้หลวมตัวตกจมไปในอบายมุข กามคุณ ๕ คิดว่านี่แหละคือ ความสุข คือของโก้หรูในชีวิต อุตส่าห์หาเงินทองมาด้วยความเหนื่อยยาก เพื่อทุ่มเทให้กับสิ่งเหล่านี้

เมื่อดำรงชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ก็ย่อมร้อนรน มีแต่ความทุกข์ ถ้าต้องการมุมสงบในชีวิต ก็ต้องเปลี่ยนวิถีทางการดำเนินชีวิตเสียใหม่ มาอยู่กับความเรียบง่าย ที่ไม่ต้องลงทุน และใช้แรงกาย อะไรเลย เพียงแต่ลงแรงใจสักหน่อย ยอมอดทนบังคับใจ ที่คุ้นเคยกับความสะดวกสบาย สนุกสนาน มานาน ในที่สุดก็จะได้รับรสชาติของความสงบที่แท้จริง

จะเห็นได้ว่า การสร้างสรรค์มุมสงบนั้น ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียเงิน เพียงแต่เราปรับจิต ปรับทิฏฐิเสียใหม่ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มองเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นหรือสำคัญแก่ชีวิตคือความเรียบง่าย ความสงบภายในจิตใจที่เกิดจากความอิ่มความพอ ความหยุดได้ ความยอมได้ สิ่งนี้ต่างหาก ที่ชีวิตต้องการ แล้วความยิ้มแย้มแจ่มใส มุมสงบก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปออกแรง ลงทุนสร้างสรรค์ มันมีอยู่แล้วภายในจิตนี้เอง เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการมีลมหายใจเป็นเพื่อน และมีสติเป็นสิ่งเตือนตน แล้วชีวิตนี้ก็จะดำรงอยู่ด้วยความปลอดภัยอย่างแน่นอน.

แม้ว่าความไม่มีอะไรรบกวนนี้จะเป็นเพียงชั่วคราว มันก็มีผลสูงสุดเหมือนกับที่ไม่มีอะไรรบกวน ในข้อที่ว่ามันมีรสชาติที่แสดงออกมาเป็นความสุขชนิดที่ไม่เคยได้รับ

พูดว่าความสุขนี้มันก็มีหลายอย่าง ความสุขเพราะมีอะไรรบกวนหรือรบกวนมากๆ นั้นก็มี ถึงกับชอบกันอยู่โดยมาก แต่ความสุขที่ไม่มีอะไรรบกวนนี้ แม้จะตรงกันข้ามมันก็ยังคงเรียกว่า ความสุข ทุกคนก็รู้จักกันอยู่เป็นอย่างดีส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน

แม้ว่าคนที่มันหลงใหลในความสุขชนิดที่มีอะไรรบกวนมากๆ นั้น ไม่ใช่มันจะหลงใหลไปได้ ตลอดไป เดี๋ยวมันก็ต้องการจะพักผ่อน ต้องการไม่ให้มีอะไรกวน เหมือนคนที่กินของอร่อยๆ เข้าไปมาก เดี๋ยวมันก็ต้อง กินน้ำแล้วกินน้ำก็ไม่ลงอีก มันก็ต้องหยุด

ที่เรียกว่าคนมักจะเข้าใจผิดในเรื่องความไม่มีอะไรรบกวนอยู่มาก คือเขาอยากจะให้มีอะไรรบกวน เช่น อยากมีเงิน อยากมีชื่อเสียง อยากมีอำนาจวาสนา อยากมีอะไรต่างๆ อยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ กระทั่งต้องไปที่นั่นต้องมาที่นี่

ทำไมไม่ไปในที่ที่มันสงบสงัด

มันก็อยากจะให้มีอะไรรบกวนโดยไม่รู้สึกตัว ก็มักจะเคยชินกันมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ มันถูกประเล้าประโลม ประคบประหงม บำรุงบำเรอ มันก็ติดนิสัยสันดานที่จะต้องให้มีอะไรมาบำรุงบำเรอ จึงจะเรียกว่าสบายหรือพอใจ นี้ก็คือมีอะไรรบกวน ไม่ใช่วิเวก.

*** บางตอนจากเรื่อง ความวิเวกเป็นสุข โดย พุทธทาสภิกขุ

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๑ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ -