- อุบาสก ชอบทำทาน -


กระบวนการพัฒนากลุ่ม ตอนที่ ๓ คารโว-นิวาโต

คารโว-นิวาโต เป็นเนื้อหาในมงคลสูตรข้อที่ ๒๒ และ ๒๓ เป็นหัวใจแห่งการอยู่ร่วมกันนะครับ ไม่ว่าจะในครอบครัวหรือในที่ทำงาน
ในสังคมทั่วไป เราจะพบเหตุแห่งความกระด้างมาจาก
- การหลงหัวโขนที่สวมใส่
- การขาดสำนึกในการทำงานเป็นทีม
- การทำงานเพื่ออามิส ( ลาภ-ยศ-สรรเสริญ)
- การขาดความชื่นชมพฤติกรรมเล็กๆ
น้อยๆ ในกันและกัน
- ความมีอัตตาตัวตนของตัวเอง
- ความเป็นคนถือสาง่าย ฯลฯ

ครับ ความกระด้าง มีได้ทั้งในคนดีและคนไม่ดี ทั้งในคนที่มีการศึกษาและไร้การศึกษา
เปรียบเทียบเป็นภาษากวี ก็จะบอกว่า มันแทรกอยู่ทั่วทุกอณูแห่งจักรวาลเลยทีเดียว!
" คารโว" คือ การเคารพในกันและกัน เคารพในความคิด เคารพในการกระทำ เคารพในความเป็นชีวิต
ครับ แม้ความคิดจะแตกต่าง แม้จะมาจากคนละพวก แม้จะเป็นศัตรูก็ตาม
" นิวาโต" ความอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยนต่อสรรพสิ่งรอบข้าง
อย่าว่าแต่อ่อนน้อมต่อความคิดของผู้อื่น แม้การดำรงชีวิตของเราก็จะต้องเป็นไปเพื่อความอ่อนน้อมถ่อมตน อันคือความเรียบง่าย !
เพราะชีวิตมิใช่อยู่ได้ตามลำพัง แต่ต้องอาศัยกลไกต่างๆ ในสังคมมาแบ่งเบา มาค้ำชูเกื้อหนุน
ทุกฐานะอาชีพมีบุญคุณต่อเรา
ทุกคนในหน่วยงานมีบุญคุณต่อเรา
เขาถึงบอกว่า ยิ่งเข้าใจโลก เราจะยิ่งถ่อมตน
ยิ่งเข้าใจโลก เราจะยิ่งเล็กลง
และยิ่งเข้าใจโลก เราจะยิ่งเอ็นดูสรรพชีวิต

เมื่อพระราหุลได้รับ" กรรมฐาน" จาก พระพุทธองค์" เธอจงทำตนเหมือนแผ่นดิน" ก็นำไปคิดตรึกตรอง พลันประจักษ์แจ้ง เป็นพระอรหันต์
" แผ่นดินไม่หลงใหลได้ปลื้ม แม้ใครจะสรรเสริญเยินยอ จะนำสิ่งดีๆ มาให้"
" แผ่นดินไม่เศร้าโศกเสียใจ แม้ใครจะร้ายจะกักขฬะ ! "
" อัตตาตัวตน" ของคนเรา ไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ต้องถือเป็นโจทย์ ข้อใหญ่ ทีเดียวนะครับ ที่จะต้องเรียนรู้และเอาชนะ
ถามว่า "วันนี้ ใครบ้างที่ตั้งใจฝึกลดละตัวตน ?" ครับ ก็คงจะงงกัน มีด้วยหรือวิชานี้ !
แต่ในทัศนะของนักปฏิบัติธรรม เขาจัดกิเลสตัวนี้เป็น "ตระกูลโทสะ"
ทุกครั้งที่ ไม่ถูกใจ -ไม่สมใจ ความร้อนจะค่อยเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้น จากร้อนนิดสู่ร้อนน้อย พุ่งขึ้นไปเป็นร้อนมาก
รู้เท่าทันอารมณ์ จับ "โทสะ" ทัน เราก็กำลังฝึกปฏิบัติเป็นพระอาริยะกันแล้วนะครับ!
คารโว-นิวาโต มิใช่เกิดขึ้นเฉยๆ แต่ต้องรดน้ำพรวนดิน ฝึกฝน ประสบการณ์ของบางคน ที่ทำได้ทันที ต้องยอมรับว่ามี" บารมีเก่า"
เพราะไม่มีบารมีเก่า วันนี้จึงทำได้ยาก
แต่ถ้าไม่ทำวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะเหมือนวันวาน!
ครับ เราจะต้องเปลี่ยนทั้งความคิดและการกระทำเพื่อไปสู่เป้าหมายจึงจะสำเร็จ

๑. บางคนจะดี จะยอมให้คนอื่นก็เพราะ ผู้นั้นยังมีประโยชน์ต่อเขาในเรื่องส่วนตัว
บางคนยอมเพราะเขามีประโยชน์ต่อสังคม ต่อส่วนรวม
บางคนยอมเพราะเขามีชีวิต เคารพนับถือในคุณค่าของชีวิต
ท่านผู้อ่านอยู่ในระดับไหนครับ?
การให้เกียรติ ให้ความเคารพ ให้คุณค่า ไม่จำเป็นต้องรอให้ฝ่ายตรงข้ามให้ก่อน ไม่จำเป็นเราให้ของเราก็พอ ไม่จำเป็นต้องให้สัญญาต่าง ตอบแทน ทำด้านเดียวก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว

๒. ความแตกต่างคือความสวยงาม แต่ บางคนกลับเห็นเป็นศัตรู!
เพราะเหตุที่ภูมิปัญญาของคนเราแตกต่างกัน จึงมีข้อคิดเห็นที่หลากหลาย การหัดฟังความคิดของผู้อื่น การหัดยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทำได้ยาก
อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตต้องผ่านด่านนี้ ตราบใดที่เรายังต้องทำงานร่วมกับคนอื่นๆ อยู่
" ปรโตโฆสะ" เป็นความใจกว้างของจิตใจ ที่เคารพนับถือความคิดของทุกคนที่แตกต่าง ไม่เกลียด ไม่โกรธแค้น
ถ้าเขาใหญ่ บางทีก็ต้องยอมถอย ถ้าเขาเท่ากับเรา ก็ต้องใช้มติหรือเสียงส่วนมากเป็นตัวตัดสิน ( บางทีก็ยังถอยให้)
แต่ถ้าเขาเล็กกว่าเรา ก็ต้องระวังพฤติกรรม หักด้ามพร้าด้วยเข่า เราชนะ แต่อย่าให้เขาบาดเจ็บทางจิตใจ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีครับ

๓. การหัดประทับใจพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของคนทำงานที่อยู่รอบตัวเรา จะทำให้จิตใจของเราอ่อนโยนและอยู่อย่างมีความสุข ไม่จับผิด ไม่เพ่งโทษ ไม่แหนงหน่ายเพื่อนร่วมงาน
ที่จริงแล้ว ในหมู่นักปฏิบัติธรรม ตัวจับผิดจะลดลงโดยปริยาย อันเนื่องมาจากการ" จับผิดตัวเอง" เพราะยิ่งจับผิดตัวเอง ความถือสา ก็จะยิ่งลดลง เป็นปฏิภาคผกผันกันครับ
ในทางตรงข้ามจะเกิดจิตเห็นใจในความเป็นตัวของเขา นี้คือธรรมชาติของการปฏิบัติธรรม
๓ ข้อเบื้องต้นถือเป็นหัวใจแห่งการลดละอัตตาตัวตน ที่รุ่มร้อนจะผ่อนคลาย
ทฤษฎีเรามีเยอะ แต่ต้องลงมือปฏิบัติจึงจะเห็นผล แนวทางการพัฒนากลุ่มหรือองค์กรได้เขียนมาแล้ว ๓ ครั้งติดต่อกัน ฉบับหน้าจะคุยกันในเรื่องอื่นๆ ต่อไปนะครับ

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๕ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๗ -