รับเขิญ -อุษา เกสรสุคนธ์ -
ปิ่นโตเถาหนึ่ง


บัวลอย เป็นลูกสาวชาวนา พอเรียนจบชั้นประถมปีที่หกจาก โรงเรียนวัดใกล้บ้าน ไม่มีโอกาสเรียนต่อ ในระดับมัธยม เพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำนา แม่ให้เธอไปหัดละครชาตรี บ้านดอนพุทรามีคณะละครดัง เจ้าของโรงชื่อยายเยื้อน ใคร จะแก้บนหรือมีงานมงคล อวมงคล ต่างมาว่าจ้างละครยายเยื้อน ให้ไปแสดง บัวลอยมีความสามารถพิเศษ เรียนไม่นานก็จดจำบทร้องได้แม่นยำ ท่ารำสวย ด้วยรูปร่าง สูงโปร่ง ยามแต่งตัวรัดเครื่องตัวพระ ชะม้ายชายตาหวาน บัวลอยจึงได้รับบทพระเอกประจำคณะ บทตัวอื่น เธอก็แสดงอย่างสุดฝีมือ เป็นที่ประทับใจของผู้ชม ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ พื้นบ้าน หลายคน เห็นแววเก่งของเธอ ก็ชักชวนไปเล่นลิเกรับบทนางเอก แสดงอยู่หลายเพลา จนกระทั่ง พระเอก ในชีวิตจริง ของเธอ แอบเผาชุดกระโปรง บานพองฟูราคาหลายพันบาท เพราะฤทธิ์หึง การเล่นลิเกใช้ตัวแสดง ชายจริง หญิงแท้ ไม่เหมือนละครชาตรีที่ส่วนใหญ่มักเป็นหญิงล้วน พอถึงบทเกี้ยวพาราสี ต้องถูกเนื้อ ต้องตัว จึงถือว่าเข้าถึงบท แม้แต่ "เจ้าบอย" ลูกคนโตของบัวลอย ซึ่งขณะนั้นอายุเพียงสามขวบ ตามแม่ไปโรงลิเกด้วย เพราะไม่มีใครดูแล ตัวพระกำลังเกี้ยว นางเอก บัวลอย บอยถือดาบไม้ตะโกนด่า "เดี๋ยวเถอะ จะบอกพ่อ..." พอถึงบทถูกปล้ำ บัวลอยต้องวิ่งหนี ทั้งตัวพระและลูกชาย ที่เงื้อดาบ จะฟันอยู่ข้างฉาก ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเลิกเล่นลิเก เพื่อป้องกันปัญหา ที่ทำให้ครอบครัวแตกร้าว

ธงชัย เป็นลูกชาวนาเช่นเดียวกับบัวลอย เขาเป็นคนขยันขันแข็ง ตั้งใจทำมาหากิน หลังจากพบรัก และดูใจกัน นานพอสมควร เธอแน่ใจว่าเขาจะเป็นผู้นำทางชีวิตและสร้างครอบครัวให้อบอุ่นได้ พิธีแต่งงาน ตามประเพณีก็เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายต่างเต็มใจ เธอและเขาครองคู่กันมากว่า สิบห้าปีแล้ว บ้านใต้ถุนสูงบนเนื้อที่ที่พ่อแม่ฝ่ายชายแบ่งให้กว้างขวางพอสำหรับปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผลไว้กินเอง ทำให้การดำรงชีพดำเนินไปได้อย่างมีความสุขตามประสาคนพื้นบ้าน แถบชนบท ทั่วไป ธงชัยเช่าที่นาเพื่อนบ้าน ๗ ไร่ ปลูกข้าวปีละ ๒ ครั้ง พอว่างจากงานในท้องนา เขารับทาสีบ้าน มีลูกมือ ๓-๔ คน ทำทั่วไปแล้วแต่ใครจะว่าจ้าง บางครั้งได้งานแถบหมู่บ้านชายทะเล พอเลิกงาน เขากลับบ้าน พร้อมปลาทะเลสดหลายถุง แบ่งให้บ้านพ่อแม่ของบัวลอยบ้าง พ่อแม่ของเขาเองบ้าง ที่เหลือให้บัวลอย ทำกับข้าวไว้กินกัน สามีภรรยาคู่นี้จึงเป็นที่รักใคร่ในหมู่เครือญาติ

การทำมาหากินของชาวชนบทต้องใช้ความอดทนต่อความยากลำบาก ปีที่แล้ว เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในเพชรบุรี ช่วงกลางฤดูฝน บ้านหัวสะพานที่ครอบครัวและญาติพี่น้อง ของบัวลอยอาศัยอยู่ ประสบชะตากรรม จากอุทกภัยครั้งนี้รุนแรงมาก กระแสน้ำมาแรงและเร็วจนแทบทำอะไรไม่ทัน น้ำท่วมสูง ข้าวในนา และพืชผลเสียหาย บ้านบางหลังจมอยู่ใต้น้ำ บ้านของเธอน้ำขึ้นไป เกือบถึง ส่วนที่อาศัยหลับนอน ข้าวเปลือก ในกระสอบเตรียมส่งขายโรงสีเก็บขึ้นเรือนแทบไม่ทัน บางส่วนเปียก ต้องนำขึ้นไปผึ่งไว้ บนหลังคาบ้าน จักรยานยนต์คันเดียวที่สามีใช้เดินทางไปประกอบอาชีพ ถูกชักลอก ไว้เหนือน้ำ ทุกอย่าง ต้องรีบทำอย่างทุลักทุเล วัวควายและสัตว์เลี้ยงต่างถูกต้อนไปไว้บนถนน และ ที่ดอนสูงพอหลบน้ำ หน่วยงาน ทางราชการเร่งระดมความช่วยเหลือ นำของมาแจก ทั้งน้ำดื่ม อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป และ ข้าวกล่อง แต่บ้านของบัวลอย อยู่ลึกเข้าไปในท้องทุ่ง เธอเคยลอยคอ ออกไปรับของแจก แต่หากไม่มีใคร ดูแลลูกคนเล็ก "น้องบาส" เธอก็ไม่กล้าออกไป ยอมอดตาย เสียดีกว่าให้ลูกตกน้ำตาย ติดเกาะอยู่บนบ้าน หลายวัน บางวันมี เจ้าหน้าที่พายเรือนำข้าวกล่องมาแจก แต่กินไม่ได้ เพราะเป็น อาหารบูด เขาคงรีบเร่ง ทำกัน ตั้งแต่เช้ามืด กว่าจะถึงมือผู้รับ กลายเป็น อาหารเสีย โชคยังดีที่ ผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนเข้มแข็ง แม้อายุ มากแล้ว ความห่วงใยลูกบ้าน อุตส่าห์ พายเรือ นำข้าวสาร อาหารสด ที่พอทำประทังหิวไปให้ถึงบ้าน กว่าจะพ้นวิกฤตก็หลายวัน พอน้ำลด ต้องรีบ ทำความสะอาดตัวบ้านและบริเวณบ้าน ที่สำคัญต้องขาย ข้าวเปลือกแบบขาดทุน เพราะ ข้าวเปียกน้ำ ถูกกดราคา เป็นอันว่ามีหนี้ การทำนาสมัยใหม่มีต้นทุนสูง เพราะใช้เครื่องจักร ทำงาน แทนแรงงาน จากสัตว์เลี้ยง แม้จะทำให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้น แต่ต้องกู้เงิน มาลงทุน บัวลอยยังโชคดี อยู่บ้าง ที่ยังพอมีข้าวที่ปลูกเก็บไว้กินได้ตลอดปี เพื่อนบ้านบางครอบครัว ต้องซื้อข้าวกิน ทั้งๆ ที่เป็นชาวนา ผู้ปลูกข้าว ฟังดูเป็นเรื่องตลกที่แสนเศร้า

บอยอายุ ๑๔ ปี ย่างเข้าวัยรุ่นแล้ว เรียนชั้นมัธยมปีที่สองในโรงเรียนของรัฐ บาสอายุ ๓ ขวบ ฝากเรียน ชั้นเด็กเล็ก ในโรงเรียนวัดหว้า บัวลอยไม่กล้ามีลูกไล่เลี่ยกัน เพราะเกรงจะเป็นอุปสรรค ในการทำมา หาเลี้ยงชีพ พี่จึงมีอายุห่างจาก น้องหลายปี ตอนนี้เธอทำงานนอกบ้านได้เต็มที่ บอยช่วยดูแลน้องได้ โดยเธอไม่ต้อง ห่วงหน้าพะวงหลัง ด้วยความที่เป็นผู้ขวนขวายหาความรู้ และไม่เลือกงาน เมื่อสถานี อนามัย ตำบลหัวสะพาน มีโครงการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม การนวดแผนไทย โดยส่งไปเรียน ในโรงพยาบาล ที่เปิดบริการบำบัดรักษาผู้เจ็บป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต บัวลอยไปสมัครพร้อม เพื่อนหญิง อีกคนหนึ่ง ฝึกฝนสัก ๓ เดือน เธอมีทักษะในการนวดอย่างดีเยี่ยม มีความสามารถนำ ความรู้นั้น มาใช้ ในวิชาชีพ การนวดแผนไทยที่บ้านหัวสะพาน โดยได้รับเงินเดือนประจำ จากการ ปฏิบัติงาน สัปดาห์ละ ๖ วัน เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดสำคัญ ซึ่งเธอยังคงรับงานละคร และ ช่วยสามีในท้องนา ยามว่าง เธอศึกษา หาความรู้เพิ่มจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จนจบชั้น มัธยมหก เธอเป็นคน มีน้ำใจช่วยเหลือ งานส่วนรวมในหมู่บ้าน และงานของสถานีอนามัย ที่เธอประจำอยู่ทุกกิจกรรม

ปีนี้ ข้าวในนาออกรวงเต็มท้องนา สีเหลืองทองอร่ามสุดสายตา เตือนให้รู้ว่าใกล้ถึงฤดูเก็บเกี่ยว บัวลอย คาดว่าผลิตผล ครั้งนี้คงพอใช้หนี้ของปีก่อนได้หมด ส่วนที่เหลือจะเก็บไว้เป็นทุนสำรอง ปีหน้าอาจ มีเงิน เหลือพอที่จะซื้อของจำเป็นในบ้านได้ เธอเห็นลูกลูบคลำเสื้อคลุมแจ็กเก็ตหนังเทียมสีน้ำตาล ในห้าง สรรพสินค้า กลางตลาดด้วยทีท่าอยากให้แม่ ซื้อ "อย่าเพิ่งเอาเลยนะ ราคาตั้ง ๓๕๐ บาท ไว้บอยไปเล่น ดนตรีไทย เก็บเงินได้ แล้วแม่จะช่วยออกสมทบ ถ้ามีเงินพอแล้วค่อยมาดูใหม่" เธอให้ลูก ไปเรียนฆ้องวง ในคณะดนตรีไทย บอยเก่ง เล่นออกงานมาหลายครั้งแล้ว ได้เงินมาให้แม่ เธอจะเก็บ ใส่ออมสินไว้ให้ลูก ต่อไป จะให้ลองฝึกระนาดเอก อยากให้ลูกมีความรู้ติดตัว จะได้เป็นวิชาชีพ เลี้ยงตัวได้ เด็กวัยรุ่น ไม่ควรมีเวลาว่างมาก เธอเป็นห่วงลูก กลัวจะถูกเพื่อนชักนำ ไปสู่หนทางผิด โดยเฉพาะ ยาเสพติด ครั้งหนึ่ง บอยไปดูเพื่อนเล่น สนุ้กเกอร์ เลยถูกเทศน์กัณฑ์ยาว "แม้บอย จะไม่ได้เล่น แต่รู้ไหมว่า ทำอย่างนั้น มันเสียเวลา พ่อกับแม่ทำงานหนัก แทบไม่ได้พักผ่อน ลองจับมือแม่ดูซิ" เธอ ยื่นมือให้ลูกจับ "มือแม่ ทั้งหยาบ ทั้งหนา พ่อก็เช่นกัน เพราะเราจับเคียว เกี่ยวข้าว ให้ลูกได้มีกินมีใช้ มีของ ทุกอย่างในบ้าน พ่อแม่ เหน็ดเหนื่อยมานานปี ถ้าบอยใช้เวลา ที่ดูเพื่อนเล่นสนุ้ก หันมาจับเคียว หัดเกี่ยวข้าว บอยจะรู้ว่าเวลานั้น มีค่าและมีประโยชน์ ต่อชีวิต ชาวนาอย่างพวกเรามากมาย" นับแต่นั้น บอยช่วยพ่อแม่ทำงาน อย่างเต็มอก เต็มใจ บ่อยครั้ง สามีอดสงสารลูกไม่ได้ "อย่าเคี่ยวเข็ญลูกนักเลย เด็กเรียนหนังสืออย่างตั้งใจก็ดีแล้ว" เธอไม่ยอม อ่อนข้อ "ต้องสอนให้เขาเข้าใจถึงความยากลำบากของชีวิต เมื่อโตขึ้นเขา จะได้มีความอดทน และรู้ว่า ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย" สามีต้องยอมตาม

วันหยุดยาวนานติดต่อกัน ๔ วัน ช่วงปีใหม่นี้ คนในหมู่บ้านเช่ารถไปเที่ยวโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว บัวลอย ไม่ค่อยได้มีโอกาส ไปไหนบ่อยนัก เพื่อนสนิทมาชวนให้ไปด้วยกัน เธอเคยได้ยินว่าที่นั่น มีสินค้ามากมาย ราคาถูกกว่าตลาดทั่วไป เธอตัดสินใจไปด้วย ที่นั่น เธอได้เห็น แรงงานเขมร ข้ามเข้ามาทำมาหากิน ฝั่งไทย หญิงชาวเขมร อุ้มลูกเล็ก จูงลูกโตกว่าวิ่งแข่งกันเข้ามาหานายจ้างไทย ทำงานหลายรูปแบบ เสื้อผ้าเนื้อตัว สกปรกมอมแมม ลูกนั่งข้างแม่ร้องไห้กระจองอแง ทั้งขี้มูก น้ำตา เปรอะเปื้อนสองแก้ม มือแม่สาละวน กับงานตรงหน้า ปากก็ส่งเสียงปลอบลูกไปพลาง ได้ค่าแรง เพียงวันละ ๑๐-๒๐ บาท บัวลอยนึกถึงตัวเอง พลางก็คิดถึงลูก กลับไปจะเล่าให้บอยฟัง "เราโชคดี ขนาดไหน ที่ได้เกิดบนพื้นแผ่นดินไทย เคยคิดว่า ลำบากที่เกิดเป็นชาวนา หาเลี้ยงชีวิต อย่างเหน็ดเหนื่อย แต่คนเหล่านี้ลำบากกว่าเราไม่รู้สักกี่เท่า" เธอเดินดูสินค้าสารพัดอย่าง ต่อรองได้ ทุกชนิด พลันสายตาสะดุดที่เสื้อแจ็กเก็ตหนังสีน้ำตาล เหมือนที่ บอยอยากได้ คนขายบอก ราคา "๒๒๐ บาท" "ถูกกว่าบ้านเรามาก" เธอคิดในใจ

เย็นวันนั้น พ่อลูกกลับบ้านด้วย ท่าทางอ่อนล้า บัวลอยหุงข้าว ทำกับข้าวเสร็จแล้ว เตรียมตั้งสำรับ เจ้าบาสตัวเล็ก นั่งเล่นรถยนต์จิ๋ว ดูดนิ้วโป้งมือซ้ายอย่างเพลิดเพลิน

"มีอะไรกินบ้าง" สามีชำเลืองไปทางครัว

"ไปอาบน้ำอาบท่าให้สบายตัวก่อน" เธอบอกสามี แต่มองลูกคนโตอย่างรักใคร่ "วันนี้แม่มีรางวัลพิเศษ ให้ไอ้พี่ด้วย ไม่รู้จะถูกใจไหม อยู่ในถุงหน้าตู้นั่นแน่ะ" บอยทำตาโต กระโดดเข้าหา พลางดึงเสื้อตัวใหม่ ออกจากถุง "โอ้โฮ แพงไหมแม่" เห็นประกายลิงโลดในแววตาลูก เธอแสนเป็นสุข "ถูกกว่าบ้านเรา โขเลย" เด็กชายวัยรุ่นรีบสวม แล้วหันซ้ายหันขวา มองตัวเองในกระจกเงาติดตู้ "พอดีตัวเลย" บอย ยกมือไหว้ ขอบคุณแม่ ไม่ต้องถามก็รู้ว่า ถูกใจสัก แค่ไหน

"แม่ซื้อให้ไอ้พี่ แล้วไหนของบาสล่ะ" เสียงเล็กๆ แทรกขึ้นมา บัวลอยอึ้งไปชั่วครู่ เธอไม่ได้ซื้อของฝากลูก คนเล็ก เพราะของเล่นมีหลายอย่างแล้ว เสื้อกันหนาวก็มี เสื้อผ้าของบอยที่คับแล้ว เธอจะซักสะอาด พับใส่ถุงเรียบร้อย วางไว้บนชั้นในตู้ ต่อไปน้องจะได้ใช้ต่อ เธอซื้อของทุกอย่าง ตามความจำเป็น ไม่อยากสิ้นเปลือง เงินทุกบาทแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของเธอและสามี เธอเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด พลันนึกขึ้นมาได้ เธอรีบคว้าปิ่นโตเถาหนึ่งออกมาจากกล่อง เป็นปิ่นโต ๔ ชั้น มีลวดลาย ดอกไม้สีสด ตั้งใจซื้อไว้ใส่อาหารไปทำบุญที่วัด ราคาที่ตลาดโรงเกลือ ถูกกว่าที่นี่ หลายสิบบาท เธออธิบายให้เจ้าตัวเล็กฟัง

"นี่ไง ของไอ้น้อง แม่ก็ซื้อให้ ดูนะลูก" เธอเลื่อนปิ่นโตออกทีละชั้น "ชั้นที่ ๑ ใส่ข้าว เป็นของพ่อ ชั้นที่ ๒ ใส่กับข้าว เป็นของแม่ ชั้นที่ ๓ เป็นของไอ้พี่ ใส่ผลไม้ ชั้นที่ ๔ บนสุดนี้เป็นของน้องบาส ใส่ขนม เยอะแยะเลย แล้วเราก็หิ้วไปทำบุญกันที่วัด พ่อ แม่ พี่บอย น้องบาส เป็นปิ่นโตเถาเดียวกัน พอทำบุญเสร็จ เรา ทุกคนก็ได้บุญ" เด็กชายตัวเล็กยิ้มตาหยี แล้วหันไปสนใจของเล่น และดูดนิ้วมือต่อ

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๗ ม.ค. - ก.พ. ๒๕๔๘ -