ครูคือผู้สร้างโลก
- อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง -


"ครูที่แท้จริง"
ทำงานเพื่อช่วยโลก เพื่อยกโลก เพื่อสร้างโลก
ไม่ได้ทำเพื่อเงินเดือน
* พุทธทาสภิกขุ

หัวข้อที่จะบรรยายในวันนี้คือ ครูคือผู้สร้างโลก

ก่อนอื่นขอตั้งคำถามว่า ครูคือใคร? ถ้าดิฉันส่งกระดาษให้คนละแผ่น เชื่อว่าคงจะได้รับคำตอบต่างๆ กัน

บางท่านอาจจะตอบว่า "ครูคือผู้ถ่ายทอด ความรู้ให้กับผู้อื่น" ถ้าครูคือผู้ถ่ายทอดความรู้ ครูก็คงไม่ต่าง ไปจากเทปหรือวิดีโอ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ มันช่างดูไม่มีชีวิตจิตใจเอาเสียเลย

อีกท่านหนึ่งอาจจะตอบว่า "ครูคือคนสอนหนังสือ" ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรในหัวใจ ตอนที่เราตัดสินใจ เข้ามาเรียน วิชาครูในวิทยาลัยครูหรือมหาวิทยาลัยนั้น เราคงไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นเพียงแค่ คนสอน หนังสือ พูด ตรงๆ มันต่ำต้อยเกินไป เพราะเกือบจะบอกได้ว่า ใครๆ ก็เป็นได้ คนที่อ่านหนังสือออก ก็สอนหนังสือได้ คือสอนให้เพียงอ่านออก ท่านผู้เป็นครูอาจารย์ก็ย่อมทราบว่า "อ่านออก" กับ "อ่านเป็น" ไม่เหมือนกัน

อ่านออก คืออ่านตามสระพยัญชนะ อ่านไปเหมือนนกเหมือนกา แต่อ่านเป็น จะอ่านถึงสิ่งที่ผู้เขียน ซ่อนเอาไว้ ในระหว่างบรรทัด ซึ่งมิได้ปรากฏออกมา เป็นตัวหนังสือ ความหมายอันสำคัญ ของเรื่องราว ที่อ่านอยู่ตรงนั้น คนอ่านเป็นอ่านได้ทะลุปรุโปร่ง พออ่านจบก็จะได้อะไรที่มันติดใจ ให้นำมาคิด วิเคราะห์ หรือวิจารณ์ เปรียบเทียบ หรือหยิบเอามาจดจำไว้เป็นสิ่งประทับใจ ไม่ใช่อ่านจบ ๕๐๐ หน้า แล้วไม่ได้อะไร มีแต่ความว่างเปล่า ที่ไม่มีสาระแก่นสาร

ครูจึงมิได้เป็นเพียงแค่คนสอนหนังสือ แต่ครูเป็นมากกว่านั้น

# ความหมายของคำว่า "ครู"
ครูคือผู้เป็นที่พึ่ง ในตำบลหมู่บ้านในชนบท เมื่อชาวบ้านมีปัญหาอะไร ก็มักจะไปหาครู ไปถาม ไปขอให้ ช่วยตัดสิน ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะเขามีความมั่นใจว่า ครูเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ พร้อมด้วย ความเมตตากรุณา ยินดีที่จะช่วยเหลือแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นที่พึ่ง ซึ่งจะให้คำปรึกษาหารือ แก่เขาได้ นี่เป็นเกียรติของครูที่ควรแก่การภาคภูมิใจ

ครูคือผู้เปิดประตูคอก เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านใช้คำพูดว่า ครูเป็นผู้เปิดประตูคอก ที่ขังสัตว์ ไว้ในความมืด ให้ได้ออกไปสู่แสงสว่าง หรือเป็นผู้เปิดประตูคุกแห่งอวิชชา ให้สัตว์ออกมา เสียจากความโง่เขลา

ครูคือผู้ฝึก นอกจากนั้นท่านยังเห็นว่า ครูคือผู้ฝึก เป็นดังสารถีผู้ฝึกสัตว์ให้เชื่อง เหมือนอย่างนายสารถี ผู้ขับรถม้าหรือเกวียน ครูจึงต้องเป็นผู้มี ความเมตตาปรานี ไม่ใช้อำนาจดึงดันเอาแต่ใจของตัว เพราะการฝึกโดยการฟาดฟันลงไปด้วยแส้ ด้วยไม้ ด้วยตะขอสับนั้น ก็แน่นอนที่สุดว่า ย่อมจะไม่ได้รับ ความรัก ความจงรักภักดีจากสัตว์ที่ตนฝึก มันยอมให้ก็เพราะกลัว สบโอกาสเมื่อใดก็ต่อต้าน

ครูคือผู้ให้แสงสว่าง ให้ความรู้แก่ศิษย์อย่างทั่วถึง ทั้งวิชาการทางโลก และวิชชาอันเป็นปัญญาด้านใน

ครูจึงต้องศึกษา ฝึกฝน อบรมตนเองให้พร้อมทั้งวิชาและวิชชา วิชานั้นเรียนรู้จาก ตำรา ครูอาจารย์ และ ประสบการณ์ได้ แต่วิชชาจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการศึกษาด้านใน ด้วยการหมั่นมองดู ใคร่ครวญ ถึงสิ่งอันเป็นสัจธรรม

กฎธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนควรรู้คือ "ประกอบเหตุอย่างใด ผลอย่างนั้น" ถ้าเห็นความจริงข้อนี้ เมื่อมีปัญหา เกิดขึ้นก็จะมีปัญญาพิจารณา รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และเมื่อได้ประกอบเหตุปัจจัยในส่วนของเรา อย่างเต็มความสามารถ แล้วก็สบายใจ ภาคภูมิใจได้ ส่วนผล จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบอีก

หากสามารถรักษาความเป็นปกติของจิตไว้ได้อย่างนี้ พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะไม่ไปเที่ยวโทษคนนั้น คนนี้ สิ่งโน้นสิ่งนี้ เกิดสัมมาทิฏฐิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ครูคือผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่จะนำพาศิษย์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยการพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มีความคิด ความเห็นที่ถูกตรง อันจะนำไปสู่การคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ดิฉันประทับใจในคำพูดของท่านอาจารย์ สวนโมกข์ ท่านกล่าวว่า คนมีบุญคือคนที่เกิดในตระกูลที่มี สัมมาทิฏฐิ ในสายตาของคนทั่วไป คนมีบุญ คือคนมีหน้ามีตา มีทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ พร้อมมูลในเรื่องของวัตถุ แต่สิ่งเหล่านี้คงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไปไหม? เราก็คงเคยเห็น หลายครอบครัว หลายตระกูล ที่ดูเหมือนว่าทรัพย์สินที่มี กินใช้ไปเป็นร้อยปีก็ไม่หมด แต่แล้วก็ต้องสูญสิ้น ล้มละลายไป นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะ ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักรักษา ไม่รู้จักกำจัดสิ่งที่จะมาบ่อนทำลาย แต่ครอบครัว ที่มีสัมมาทิฏฐินั้น แม้บ้านช่อง อาจจะไม่โอ่โถงใหญ่โต พ่อแม่ไม่ได้มี อำนาจวาสนาอะไรมากมาย แต่เป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง เลี้ยงดูครอบครัว ให้ลูกได้มีการศึกษาเล่าเรียน ตามควรแก่ฐานะ อบรมสั่งสอน ให้ลูกเป็นคนดี ครอบครัวก็อยู่เป็นสุข

ฉะนั้น ความเป็นครูจึงเป็นของหนัก ครูที่แท้จริงจึงเป็นผู้ควรแก่การเคารพสักการะ ควรแก่การบูชา เป็น ปูชนียบุคคล ผู้เป็นที่พึ่ง และผู้นำ ทางจิตวิญญาณแก่สังคม

# คุณสมบัติของผู้เป็นครู
ครูควรมีคุณสมบัติอย่างไร
๑. มีความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง คือเมตตากรุณาโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่คิดทวงคืนจากศิษย์ กระทำอย่าง ไม่ขาดตอนและไม่ลดละ ทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องควรทำ ให้เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ ควรให้ ไม่ว่าจิตใจของครู ในขณะนั้น จะเป็นอย่างไร บ่อของความเมตตา กรุณา ในใจของครู ยังมั่นคง เต็มเปี่ยม พร้อมที่จะเผื่อแผ่ไหลหลั่ง เจือจานลูกศิษย์ได้เสมอ

๒. มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์ตลอดชีวิต กัลยาณมิตร แปลตามตัวก็คือ เพื่อนที่ดี สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ท่านรับสั่งเสมอว่า ผู้ใด มีพระองค์ท่าน เป็นกัลยาณมิตร ผู้นั้นจะมีชีวิตรอด ความรอดนั้นคือรอดจากความทุกข์ รอดจากสิ่งที่เป็นปัญหา

ไม่ว่าศิษย์จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำงานการมีตำแหน่งหน้าที่อย่างใด ครูก็ยังห่วงใยติดตาม ด้วยความหวังดี ไม่ว่าศิษย์ จะเป็นคนอย่างไร จะไปประกอบอาชีพใด มีชีวิตหักเหอย่างไร ถ้าได้ทราบว่า ลูกศิษย์ไปตกอยู่ในอันตราย หรือตกอยู่ในความเขลา หรือกำลัง คิดจะทำอะไรที่ผิด ครูซึ่งเป็น กัลยาณมิตร ของศิษย์ จะให้คำแนะนำ ตักเตือน ว่ากล่าว แต่หากลูกศิษย์ไปดี เจริญก้าวหน้า ทำตน เป็นประโยชน์แก่สังคม ครูก็อนุโมทนา ชื่นชมยินดี แม้ลูกศิษย์ จะไม่ทราบ แต่ครูก็ชื่นใจ และมีสิทธิ ที่จะรู้สึกเช่นนั้นได้

๓. มีความซื่อตรงต่ออุดมคติของความเป็นครู ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชน บางครั้งก็เกิดความหวั่นไหว เพลี่ยงพล้ำ ศรัทธาที่มีต่ออุดมคติ ที่ตั้งไว้ก็คลอนแคลนไปบ้าง เพราะเหตุปัจจัยบางอย่างชวนให้ท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย สิ้นหวัง หมดกำลังใจ แต่ครูต้องมีเจตนารมณ์ ที่แน่วแน่ ในการมุ่งสร้างสังคม สร้างชาติ บ้านเมือง ด้วยการสร้างเด็กให้เป็นพลเมืองดี ผลพลอยได้ก็คือการสร้างโลกให้น่าอยู่ หากครูสิ้นหวัง เสียอาชีพเดียว โลกจะล้มละลาย สภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ทุก- วันนี้ ก็เพราะความอ่อนแอของครู บางส่วน ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่เข้มแข็งพอ

๔. อดทนและเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ผู้เป็นครูไม่สามารถปฏิเสธการร่วมรับผิดชอบในความเสื่อมหรือ ความเจริญ ของสังคม ที่เกี่ยวข้องได้ เราปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าสภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ผลิตผลของการศึกษา และเราพอใจแล้วหรือยัง แม้จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และมีภาระส่วนตัว มากเพียงใด ครูก็ยังคงต้องเป็นผู้เสียสละ เห็นแก่ธรรมะ และความถูกต้องของสังคม

๕. เป็นเสมือนประภาคารหรือดวงประทีปของศิษย์ ครูเป็นผู้อบรมพัฒนาจิตของศิษย์ให้มีสติปัญญา อันถูกต้อง เป็นสัมมา ทิฏฐิ ในทางธรรม ท่านเปรียบความสำคัญของสัมมาทิฏฐิว่า เป็นเสมือนเข็มทิศ แผนที่ รุ่งอรุณ หรือดวงประทีปส่องทาง เพราะสติปัญญา ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จะช่วยไม่ให้ชีวิตนั้น หลงทาง จะรู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง แม้มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น ก็แก้ไขได้ด้วยสติปัญญา

๖. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ครูต้องสามารถกระทำได้อย่างที่สอนศิษย์ ใครจะทำอย่างไรก็ช่างเขา แต่ผู้เป็นครู จะต้องมีจุดยืน ให้เห็นว่า นี่คือความถูกต้อง ถ้าลูกศิษย์ ไปประสบปัญหาชีวิต แล้วกลับมา หาครูเพื่อขอคำปรึกษา ครูต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ต้องชี้ให้ลูกศิษย์เห็น และกลับไปสู้ใหม่ ด้วยความถูกต้อง โดยธรรม นี่คือวิธีที่เราจะยกฐานะของสังคมให้เป็นโลกของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียง โลกของคน

# # # หน้าที่ของครูต่อสังคม
หน้าที่โดยตรงของครูคือการสั่งสอนอบรมให้เด็กมีความรอบรู้ ความรู้ในวิชาการทางโลกนั้น เห็นจะ ไม่จำเป็น ต้องพูดกันในที่นี้ แต่ความรู้ ที่จะทำให้เขารู้จัก ที่จะพัฒนาจิต รักษาจิต สร้างสรรค์จิต ให้อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ เพื่อเวลาที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง ไม่ได้เป็น แต่เพียง อายุ ความรู้อย่างนี้เป็นสิ่งที่ครูควรจะได้ศึกษาและนำมาถ่ายทอดแก่เด็ก

เมื่อเรามองไปรอบๆ ตัวก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากคน ที่เป็นผู้ใหญ่ แต่อายุ จิตใจยังไม่ได้ รับการพัฒนา ทำไมจึงไม่ได้รับ การพัฒนา ทั้งๆ ที่มีวิชาความรู้ จบปริญญาตรี โท เอก กันมาตั้งมากมาย ก็เพราะจิต ที่เรียกว่า spiritual growth ยังไม่เกิดขึ้น

spiritual growth คือ การพัฒนาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดให้เป็นไปอย่างถูกต้อง พ่อแม่เอาลูกมาฝากครู ก็หวังพึ่ง ตรงนี้ หวังว่าครูจะช่วยอบรมสั่งสอน กล่อมเกลาให้ลูกของเขา เปลี่ยนจิตที่คิดผิดให้คิดถูก จากจิตเกเรเป็นจิตที่เรียบร้อย จิตหยาบเป็นจิตประณีต จิตที่เคยกระด้าง ก็อยากให้เป็นจิต ที่อ่อนโยน นี่คือสิ่งที่บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม หวังว่าจะได้รับจากครู

เมื่อพูดถึงคำว่า "ครู" ก็มีอีกคำหนึ่งแทรกขึ้นมา คือคำว่า "อาจารย์" สังเกตดูโดยทั่วไป ผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ มักจะยินดี กับคำว่าอาจารย์ มากกว่าคำว่าครู หากถูกเรียกว่าครู แทนที่จะเรียกว่าอาจารย์ ก็จะมีความรู้สึก ต่ำต้อยน้อยหน้าขึ้นมาในใจ คำว่าครูจึงกลายเป็นคำเล็กๆ ไปเสียแล้ว เป็นคำที่ไม่มี ความหมายยิ่งใหญ่ เหมือนคำว่าอาจารย์ จนทำให้ความหมายของความเป็นครูเลอะเลือนไป ผู้ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ยังไม่เข้มแข็ง มั่นคง ก็เกิดอาการตะเกียกตะกาย จะต้องเป็น อาจารย์ให้ได้ แล้วก็จะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เปลี่ยนจากครูมาเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่หน้าที่ในอาชีพนั้น หาได้แตกต่าง หรือเปลี่ยนแปลงไปไม่ บ้างก็ไปเข้าใจกันว่าอาจารย์เป็นผู้มีวิทยฐานะสูงกว่า มีลักษณะเป็นนักวิชาการมากกว่า และมีอัตราเงินเดือน สูงกว่า

ดิฉันเป็นครูตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เรียกว่าอายุน้อยมากในสมัยนั้น ยังมีความเป็นเด็กอยู่มาก ยังอยู่ในวัยรุ่น ที่ชอบ สนุกสนาน ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบเล่น แต่พอเข้ามาเป็นครู หน้าที่ของความเป็นครู ความรับผิดชอบ มันสอดแทรก ประทับเข้ามา ในหัวใจว่า หน้าที่ของครู จะต้องให้อะไรแก่ลูกศิษย์บ้าง ต้องบังคับใจ ไม่ให้ทำอย่างที่เคยทำ นี่คือความรู้สึกของครู ที่รู้สึกว่าเราต้องเป็นตัวอย่างแก่เขา เราสอนลูกศิษย์อย่างไร เราจะต้องทำอย่างนั้น จะมาทำอะไร ตามใจชอบไม่ได้

ความเป็นครูนั้นตีราคากันไม่ได้ แต่เพราะความนิยมในวัตถุที่วัดความดีไม่ดีกันที่ราคา เราจึงได้ปล่อย ให้มันค่อยๆ กัดกินหัวใจของเราไปทีละน้อยๆ จนค่าของ ความเป็นครูลดลง ผู้เป็นอาจารย์โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ในมหาวิทยาลัย จึงมีความรู้สึกแต่เพียงว่า การเป็นอาจารย์คือการมาให้วิชาความรู้ มาถึง ก็บรรยายไป สอนไป หมดชั่วโมงก็ออกจากห้อง ความสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่าง ลูกศิษย์กับ อาจารย์ ก็ค่อยๆ จางหายไป และมันก็ทำให้คุณค่า และความหมายสำคัญ ในชีวิตของครู ลดน้อย ถอยลงไปด้วย

# ครูแอนนี่
ชาวโลกทั้งหลายคงจำ เฮลเลน เคลเลอร์ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีความเกี่ยวข้องกับคนพิการ เพราะ เฮลเลน เคลเลอร์ คือผู้ที่ได้คิด ช่วยเหลือ สร้างโรงเรียน สอนคนตาบอด และโรงเรียนสอนคนหูหนวก ตัวเขาเองก็มีความพิการเช่นนั้น เมื่อเขามีโอกาสได้เรียนรู้ สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิต เขาจึงเอื้ออำนวย สิ่งที่เขาได้รับนั้น แก่เพื่อนมนุษย์

การที่เฮลเลน เคลเลอร์ สามารถสร้างประโยชน์ต่อตนเองและเพื่อนมนุษย์ได้ ก็เพราะครูแอนนี่ ผู้มีคุณสมบัติ ของความเป็นครูอย่างแท้จริง เธอได้ทุ่มเท กำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา เรียกว่าทุ่มเทกันทั้งชีวิตอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพื่อที่จะสร้างสรรค์ เด็กผู้หญิงอายุ ๕ ขวบคนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยพยศร้าย ให้ได้กลับมาเป็นเด็กน้อย ที่น่ารัก และเป็นผู้สร้างประโยชน์ แก่คนพิการทั้งโลก

เมื่อแรกเกิดเฮลเลนมีร่างกายสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ตาก็เห็น หูก็ได้ยิน พูดอ้อๆ แอ้ๆ ได้ แต่หลังจาก เป็นไข้ ชนิดหนึ่ง เป็นๆ หายๆ จนใครๆ คิดว่าจะตาย แต่เพราะเป็นเด็กสุขภาพดี จึงรอดมาได้ ผลที่ตามมาคือความพิการ ตาบอด หูหนวก และเป็นใบ้ เด็กซึ่งมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดอยู่ในตัว
แต่ไม่สามารถติดต่อ กับโลกภายนอกได้ ประกอบกับการที่พ่อแม่รักและสงสาร ตามใจมาตลอด เขาจึงกลายเป็นคน อารมณ์ร้าย เอาแต่ใจตัวเอง พร้อมที่จะทุบตี ทำร้ายทุกคนที่ขัดใจ

ตอนที่แอนนี่ถูกขอร้องให้มาเป็นครู เฮลเลนอายุได้ ๕ ขวบแล้ว พร้อมกับการสะสมนิสัยไม่ดีไว้เต็มที่ แอนนี่เอง ก็เคยเป็นคนพิการ เกือบจะตาบอด แต่ได้รับการผ่าตัด จนมองเห็นได้ เธอเกิดมา ในครอบครัว ที่ลำบากยากแค้น เป็นกำพร้าตั้งแต่ยังเล็ก ต้องต่อสู้ชีวิต มาตลอด และมีโอกาส ได้เคยศึกษาวิธี การสอนคนหูหนวก ตาบอด และเป็นใบ้ เมื่อได้พบเฮลเลน เธอรู้สึกเหมือน ได้พบกับ ตัวเองในวัยเด็กที่เคยเกะกะเกเร อาละวาดเอาแต่ใจตัว มาแล้วเช่นกัน ที่น่าประทับใจก็คือ เธอรู้ว่า จะต้องกำราบลูกศิษย์ตัวน้อย ให้สงบจากการดิ้นรนต่อสู้ ให้มีระเบียบวินัย เสียก่อน จึงจะสามารถ สอนเขาได้

ในเวลารับประทานอาหาร ถ้าเฮลเลนไม่ชอบอาหารในจาน เขาจะขยี้ละเลงอย่างสกปรกและน่าเกลียด โดยไม่มีใคร เคยว่า แต่แอนนี่ มองเห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ในฐานะที่เป็นครูจะปล่อยไว้ไม่ได้ เมื่อเฮลเลนไปดมตามจานของคนอื่นแล้วไม่พบอะไรถูกใจ เขารู้ว่าในจานของคนแปลกหน้า ที่เพิ่ง เข้ามาอยู่ในบ้าน มีไส้กรอกที่เขาชอบ แต่ก็รีรออยู่เพราะรู้ว่าคนแปลกหน้าคนนี้ไม่ยอมเขาง่ายๆ เคยพบกันหลายครั้งแล้ว ถ้าเฮลเลนทำอะไร คนแปลกหน้า จะตอบโต้ด้วยกำลังแรงทันที ในที่สุด เมื่อความอยากมีมากเข้า เฮลเลนก็เอื้อมมือสกปรกไปฉกเอาไส้กรอกที่อยู่ในจาน แอนนี่ ซึ่งจ้อง คอยทีอยู่ คว้ามือไว้ได้ จับแน่นไม่ยอมปล่อย แม้เฮลเลนจะอาละวาดดิ้นรนอย่างไร ตอนแรก พ่อของเฮลเลนไม่พอใจ บอกว่าลูกของเขา จะกินอะไร ในบ้านนี้ได้ทุกอย่าง ตราบใดที่เขายังอยู่ ในห้องนี้ลูกของเขาจะอดไม่ได้ แอนนี่ขอให้ปล่อยเธอไว้กับเฮลเลนตามลำพัง เพราะเธอมีหน้าที่ จะต้องบอก ให้เฮลเลนรู้ว่า สิ่งที่ถูกต้องที่จะต้องทำคืออะไร แม่ของเฮลเลนเข้าใจ จึงหว่านล้อม ให้ทุกคนทำตาม

เมื่อทุกคนออกไปแล้วก็มีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงไส้กรอก เฮลเลนหยิก แอนนี่ก็ตี ในที่สุดเมื่อรู้ว่า ไม่มีทาง ชนะ เฮลเลน ก็ลงนอนดิ้นฟาดเนื้อฟาดตัว กับพื้นห้อง แอนนี่ไม่สนใจ กลับมานั่งกินอาหารต่อ แม้จะสงสารจนกินไม่ลง เฮลเลนเห็นเงียบไปจึงลุกขึ้น จะออกจากห้องก็ ไม่ได้ เพราะแอนนี่ ใส่กุญแจ หิวหนักเข้า ก็จำต้องไปนั่งในที่ของตัว กินข้าวโอ๊ตโดยใช้มือขยุ้มๆ ใส่ปาก แอนนี่ก็สอนให้รู้จักใช้ช้อน เอาช้อนใส่มือ ทำท่าตักอาหารใส่ปาก พอปล่อย มือเฮลเลน ก็ขว้างช้อนทิ้ง แอนนี่ก็เอาช้อนมาใส่มืออีก ทั้งปลอบทั้งบังคับ เฮลเลนรู้ว่าไม่มี ใครช่วยและคนแปลกหน้าคนนี้ ก็ช่างแข็งแรงเหลือเกิน จึงต้องยอม ใช้ช้อนตักกินจนหมด พอหมดก็เหวี่ยงผ้าเช็ดปากทิ้งอีก แอนนี่ก็สอน วิธีพับผ้า จับมือของ เฮลเลน มาพับเป็น ๒ ทบ ๔ ทบจนเรียบร้อย เฮลเลน สู้ไม่ได้ก็ต้องยอม

นี่คือการปราบพยศครั้งแรก ตั้งแต่นั้นมาแอนนี่ก็เริ่มสอนให้เฮลเลนรู้จักสิ่งต่างๆ โดยเขียนตัวอักษร ขยุกขยิก ลงบนฝ่ามือของเฮลเลน แล้วจับมือ ไปลูบคลำสิ่งนั้น แต่เฮลเลนก็รู้เพียงว่า คำนี้ใช้เรียก ของสิ่งนี้ ยังไม่สามารถจะเข้าใจ อย่างลึกซึ้งได้ แอนนี่ก็ อดทนที่จะพยายามต่อไป

จนกระทั่งวันหนึ่งที่แอนนี่มีความสุขอย่างยิ่ง เพราะเธอสามารถสื่อให้เฮลเลนเรียนรู้เข้าไปได้ถึงใจ วันนั้น เขาเดินเล่นกัน อยู่ในสวน มีก๊อกน้ำ แอนนี่ เขียนคำว่า "น้ำ" ในมือของเฮลเลน แล้วเอามือ ของเขา ไปสัมผัสกับสายน้ำที่ไหลเย็น ตอนแรก เฮลเลนก็ยังไม่รู้ ต่อมาจึงค่อยๆ เข้าใจว่าน้ำ หมายถึง สิ่งนี้ มีลักษณะ อย่างนี้ ทำให้เฮลเลนแจ่มใสขึ้นมาทันที จากนั้นเขาก็ทุบนั่นทุบนี่ อยากรู้ว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้เรียกว่าอย่างไร ผลที่สุดก็เคาะที่หัวของตัวเอง ตอนแรก แอนนี่ไม่เข้าใจ สุดท้าย จึงรู้ว่าเขาอยากรู้ ว่าเขาชื่ออะไร แอนนี่ก็สะกดตัวอักษร "เฮลเลน" ลงไปในฝ่ามือ เขาก็เข้ามาเขย่าตัวแอนนี่ คล้ายจะถามว่า แล้วคนนี้ล่ะ ชื่ออะไร แอนนี่สะกดคำว่า "ครู" ลงในมือของเฮลเลน เฮลเลนได้รู้แล้วว่า นี่คือ "ครู" ผู้เป็นที่พึ่งของเขา เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ นำสติปัญญา ที่ถูกต้องมาสู่เขา เขาได้พบ โลกอีกโลกหนึ่ง เขารู้วิธีสื่อสารกับโลกภายนอกแล้ว

หลังจากนั้นเธอก็เริ่มสอนด้วยอักษร ตัวนูนบนแผ่นคำ สอนการผสมคำทีละคำ เฮลเลนเป็นเด็กฉลาด เมื่อสมอง ได้รับการกระตุ้น ได้รับการแนะนำ ให้รู้จักคิด รู้จักใช้อย่างถูกต้อง สมองนั้นก็ทำงาน อย่างเต็มที่

แล้วก็ถึงวันหนึ่งที่แอนนี่ถึงกับน้ำตาคลอ เธอให้เฮลเลนสร้างบัตรคำด้วยตัวเอง ตอนแรกเฮลเลน ก็เบื่อหน่าย แต่เมื่อคิดไปๆ สมองก็เริ่มทำงาน เขาทำบัตรคำได้ ๔ ใบ แล้ว ก็คอยฟังเสียงว่า เมื่อไหร่ ครูจะกลับมา พอได้ยินเสียงฝีเท้า เขาก็รีบเข้าไปอยู่ในตู้เสื้อผ้า ปิดประตูเงียบอยู่ ครูเข้ามา มองหา ไม่เห็นเด็ก แต่เห็นประตูตู้เสื้อผ้าเผยออยู่ ก็เปิดออกดู ภาพที่ได้เห็น เฮลเลนอยู่ในตู้ ถือบัตรคำว่า "เด็กผู้หญิง" ไว้แนบอก ที่พื้นตู้มีบัตร เรียงอยู่ ๓ ใบ ใบแรกเขียนว่า "อยู่" ใบที่ ๒ เขียนว่า "ใน" ใบที่ ๓ เขียนว่า "ตู้เสื้อผ้า" เด็กผู้หญิงอยู่ในตู้เสื้อผ้า เฮลเลนสร้างประโยคเป็นโดยครูไม่ได้บอกไม่ได้สอน แต่เขานำประสบการณ์ ที่เคยได้รับมาเป็นแนวทาง ครูแอนนี่น้ำตาคลอ ด้วยความตื้นตันใจ คิดไม่ถึงว่า การทุ่มเทของเธอ จะได้ผลเร็วอย่างนี้ นี่เป็นความสุข ครั้งที่ ๒

ความสุขครั้งต่อมาที่แอนนี่ได้รับ คือการสอนให้เฮลเลนแสดงความรู้สึกออกมาทางเสียง เธอหัวเราะกับ เฮลเลน แล้วเขียนคำว่า "หัวเราะ" ลงในมือ ของเขา ดึงตัวเฮลเลนมาใกล้ๆ จี้ให้เขาหัวเราะ จนเขา หัวเราะออกมาได้ และรู้ว่าอาการอย่างนี้ คือการหัวเราะ แม่ของเฮลเลน ถึงกับน้ำตาไหล เมื่อได้ยินเสียง หัวเราะของลูก นี่คือครูที่นำพาศิษย์จากความมืด ออกมาสู่ความสว่าง ด้วยการทุ่มเทให้ศิษย์ ด้วยจิตวิญญาณ ของความเป็นครู อย่างแท้จริง

ไม่เพียงแต่สอนให้เฮลเลนได้รู้จักแสดงความรู้สึก แต่แอนนี่ยังสอนให้เฮลเลน รู้จักยอมรับผิด รู้จักขอโทษ เรื่องเกิดขึ้น เมื่อเฮลเลนเข้าไปในครัว แล้วส่งภาษามือ กับวินนี่ คนครัว แต่วินนี่ไม่เข้าใจ เฮลเลนจึงขัดใจและแผลงฤทธิ์ หยิกทึ้งเตะถีบวินนี่เป็นการใหญ่ ส่งเสียงเอะอะจนใครๆ วิ่งมาดู แอนนี่ แยกตัวเฮลเลนออกมา แล้วสอบถามเรื่องราว วินนี่ บอกว่าเฮลเลนเอาก้อนหินใส่ในแก้ว เขากลัว แก้วจะแตก และบาดมือ จึงแย่งแก้วมา ทำให้เฮลเลนโกรธ อาละวาดด้วยนิสัยเดิม ที่เคยโมโหร้าย แอนนี่จึงเขียนลงในมือของเฮลเลนว่า "ไม่ดี เด็กไม่ดี" เฮลเลนก็เข้ามากอด แอนนี่บอกว่า "ขอโทษนะ ครูกอดเด็กไม่ดีไม่ได้" เฮลเลนซึ่งตอนนี้รักครูมาก รู้สึกเสียใจอย่างที่สุด ถึงเวลากินข้าว เฮลเลน สังเกตรู้ว่า ครูไม่กิน จะให้คนครัว ชงชาให้ ครูบอกว่า ไม่อยากดื่ม เฮลเลนชอกช้ำใจมาก ที่ทำให้ครู เสียใจ

แอนนี่ก็ถามว่า ในเมื่อสำนึกผิดแล้วจะยอมขอโทษวินนี่ไหม เฮลเลนฉลาดบอกว่า วินนี่ไม่รู้ภาษามือ จะขอโทษ ได้อย่างไร แอนนี่จึงพาเฮลเลน ไปยืนต่อหน้า คนครัว ให้เขาเขียนคำขอโทษ ใส่มือครู แล้วครูบอกต่อกับวินนี่

คืนนั้นเฮลเลนนอนหลับสนิทอย่างเป็นสุขที่สุด เพราะได้รู้จักการ "ขอโทษด้วยใจ" ได้มีความสำนึก ในการกระทำ ที่ไม่ถูกต้อง ได้ลดละอัตตา ของตัวเอง เริ่มรู้จักการ "ยอม" เราจะเห็นได้ว่า นี่คือ การทำลายความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน ในอัตตาที่ยิ่งใหญ่ ที่มีแต่การเอาชนะ มาโดยตลอด และนี่แหละ คือสิ่งที่ครู จะต้องให้กับศิษย์

จากนั้นทั้งสองคนก็ร่วมมือกันพัฒนาการเรียนรู้ให้ก้าวหน้าต่อไป จนในที่สุดวันหนึ่ง เฮลเลน สามารถ พูดได้ ซึ่งคงจะเป็นเพราะประสาท ทางการพูด ไม่ได้ถูกทำลาย โดยสิ้นเชิง เหมือนประสาทตา และ ประสาทหู เฮลเลนได้ เล่าเรียนจนจบ มหาวิทยาลัย ซึ่งมีชื่อเสียง มากที่สุดแห่งหนึ่ง ในอเมริกา ด้วยคะแนน เกียรตินิยม และได้มุ่งมั่น สร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ผู้พิการทั่วโลก เขามีโอกาสเช่นนี้ เพราะครูแอนนี่ ที่ได้ทุ่มเททุกอย่างเพื่อเขา

ในบั้นปลายชีวิตครูแอนนี่ตาบอด เพราะตรากตรำในการใช้สายตามากเกินไป หลังจาก ครูแอนนี่ สิ้นชีวิต เฮลเลน ต้องปรับตัว ปรับใจ เป็นอันมาก เพราะขาดครู อยู่เคียงข้าง แต่ทุกครั้งที่เกิด ความท้อแท้ เมื่อนึกถึงครูแอนนี่ เขาก็เกิดกำลังใจ ที่จะลุกขึ้นทำงานต่อไป

ครูแอนนี่คือครูคนหนึ่งที่เป็น ครูผู้สร้างโลก


มีหนังสืออยู่เรื่องหนึ่ง ที่ดิฉันอ่านแล้วจับใจมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน และรู้สึกอยากจะมีครูอย่างนี้ เหลือเกิน แต่น่าเสียดาย ที่หนังสืออย่างนี้ ไม่มีอีกแล้วในห้องสมุด หนังสือเล่มนั้นชื่อ "ดวงใจ" แปล มาจากเรื่อง The Heart ผู้เขียนเป็นชาวอิตาเลียน มีผู้แปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา ในภาษาไทย ก็มีถึง ๒ สำนวน โดยได้เปลี่ยนแปลงเรื่องราว ให้เข้ากับบรรยากาศ ของคนไทย แต่ยังรักษาแก่น ของเรื่อง และอรรถรสไว้

เนื้อเรื่องเน้นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ บ้านกับโรงเรียน อ่านแล้วประทับใจ ในความมีน้ำใจ ของครู ต่อลูกศิษย์ ปีติในความรักใคร่ กลมเกลียวของเพื่อนนักเรียน จากภาคต่างๆ ที่มาอยู่ร่วม ในโรงเรียนเดียวกัน

ประเทศต่างๆ ทางตะวันตก เช่น ในทวีปยุโรปหรืออเมริกา มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูงมาก ผลิตวัตถุ นานาสารพัด ที่ให้ความสะดวกสบาย แต่เราก็ได้พบว่า ประเทศที่มีความเจริญอย่างนั้น ล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ ดูได้จากสถิติของผู้ป่วยโรคประสาท การใช้ยากล่อมประสาท ตลอดจน ยาเสพย์ติด เมื่อคนเหล่านั้น ไม่สบายใจ เต็มไปด้วยความวิตกกังวล คิดไม่ตก ระงับความคิดไม่ได้ ก็จำต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้

นอกจากนี้ก็มีปัญหาการหย่าร้าง broken home เด็กที่มีปัญหา ส่วนใหญ่มาจากการขาดความอบอุ่น บ้านเป็นเพียง house ไม่ใช่ home มนุษย์เรามีบ้าน เพื่ออะไร? เพื่อเป็นที่เย็นใจเย็นกาย เมื่อมีปัญหา มาตั้งแต่วัยรุ่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหา ในประเทศเหล่านี้ มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงมาก

มีผู้ไปสัมภาษณ์พระฝรั่งว่า ศาสนาของท่านก็มี ทำไมจึงมาบวชในพุทธศาสนา ท่านตอบว่า ชาวตะวันตก เป็นผู้ใหญ่แต่ใจเป็นเด็ก ได้แต่ตัวโตตามอายุ แต่ความเจริญ ทางจิตใจไม่มี อารมณ์ พลุ่งพล่านขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น เมืองไทยเรา มีอะไรดีๆ มากมาย แต่น่าเสียดาย ที่มันกำลังจะสูญไป ฉะนั้น หน้าที่ของครูก็คือ การฟื้นฟู พยายาม ดึงสิ่งที่ดีงามของเรากลับคืนมา

ถ้าจะถามว่า ความเจริญคืออะไร? วัดกันด้วยอะไร? ก็จะตอบได้ว่า ความเจริญที่แท้จริงคือ ความเจริญ ที่จิต ความศิวิไลซ์อยู่ที่ใจ ไม่ใช่วัตถุ ตึกรามบ้านช่อง หรือมีการศึกษาสูง

ชีวิตประกอบด้วยกายและจิต ถ้ามาหลง บำรุงแต่กายแล้วละเลยจิต ก็ไม่ยุติธรรมแก่ชีวิต ไม่ใช่การพัฒนา ชีวิต สร้างสรรค์ชีวิตที่ถูกต้อง เพราะจิต มันบงการชีวิต ชีวิตจะเป็นฉันใด มันขึ้นอยู่กับ พื้นฐานของจิต

ที่ดิฉันย้ำข้อนี้ก็เพราะว่าได้ประจักษ์ชัดกับตัวเอง เมื่อก่อนนี้เคยทำหน้าที่ครูอย่างเต็มที่ สอนลูกศิษย์ ให้มีความรู้ เต็มกำลังที่เราจะสามารถให้ได้ อบรมให้เขา เป็นคนดีมีศีลธรรม แต่เดี๋ยวนี้ดิฉันเห็น มากกว่านั้น เห็นไกลไปกว่านั้น เมื่อก่อนเห็นแต่เพียงว่า เราเป็นคนดี เราเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ ผู้อื่น แค่นี้ก็พอใช้ได้แล้ว แต่พออยู่ไปๆ อายุมากขึ้น ทำงานมากเข้า คลุกคลีกับชีวิต ในแง่มุมต่างๆ จึงเริ่มเห็นว่า การเป็นคนดีแค่นี้ไม่พอ ยังเอาตัวไม่รอด ยิ่งเป็นคนดีเท่าไร ปัญหายิ่งมาก ยิ่งมีความทุกข์ ความไม่สบายใจ เห็นไอ้โน่นก็ไม่ชอบ ไอ้นี่ก็อยากแก้ไข พอแก้ไขไม่ได้ หรืออุตส่าห์ พยายามทำ เต็มความสามารถ แล้วยังไม่ได้อย่างที่ต้องการ ก็ยิ่งทุกข์ใจ

ถ้าดิฉันกลับไปเป็นครูได้ใหม่อีกครั้ง ดิฉันจะไม่สอนลูกศิษย์แต่เพียงว่าให้เป็นคนดี แต่จะสอนให้มี สติปัญญา ที่ฉลาดกว่านั้น จะช่วยอบรม ช่วยหล่อหลอม ช่วยกระตุ้นให้เขาเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง แข็งแกร่งพอที่จะยืนอยู่ได้ด้วยการกระทำ ที่แน่ใจว่า ถูกต้อง คำว่า "ถูกต้อง" ในที่นี้คือ ถูกต้องโดยธรรม เพราะการกระทำนั้น เป็นประโยชน์ทั้งต่องานที่ทำ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวผู้ทำเองก็ไม่ทุกข์ มีแต่ความ เบิกบาน แจ่มใส เพราะมันอิ่มใจ พอใจ ว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปด้วยความแน่ใจว่า ถูกต้องนี้ จะมีคนได้ รับประโยชน์ โดยไม่จำเป็นจะต้อง มีใครมารู้มาเห็น ว่าเป็นการกระทำของเรา

นี่คือการรับรองสถานะของชีวิตของเขาเอง และสถานะของความเป็นครู

# โต๊ะโต๊ะจัง

หนังสือแปลเรื่องโต๊ะโต๊ะจังเป็นเรื่องจริงของครูญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูและ พยายาม จะสอนให้ลูกศิษย์เติบโตขึ้น อย่างมีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่มีแต่เพียงร่างกายและสมอง แม้จะไม่ได้ รับเงินทุนสนับสนุน อะไรมากมายนัก แต่เขาก็พยายาม คิดหาวิธีที่จะ ทำให้ลูกศิษย์รู้สึกสนุก ในการเรียนรู้ และเห็นว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

เขาเริ่มต้นให้เด็กตื่นตาตื่นใจ ด้วยการนำตู้รถไฟเก่าๆ มาดัดแปลงเป็นห้องเรียนแทนที่จะสร้าง อาคารเรียน สูงๆ เด็กๆ ชอบนั่งรถไฟกันอยู่แล้ว พอเข้าไป ในห้องเรียน ครูไม่ได้บอกว่า จะสอน ประชาธิปไตย แต่ฝึกให้เด็กรู้จักลักษณะของความเป็นประชาธิปไตย ด้วยการนั่ง อย่างมีระเบียบ โดยไม่ต้องกำหนด ที่นั่งประจำ ขณะที่ครูสอน นักเรียนก็มีสิทธิซักถามและอภิปรายได้

ถึงชั่วโมงประวัติศาสตร์ ครูก็พานักเรียน เดินไปชมวัดหรือสถานที่อันเป็นโบราณสถานประจำท้องถิ่น ระหว่างทาง ก็สอนธรรมชาติศึกษา ให้เด็กรู้จัก ต้นหมากรากไม้ คูคลอง หนองบึง ให้ได้เรียนได้สัมผัส กับของจริง ทุกอย่าง เด็กได้รับความรู้ ไปพร้อมๆ กับความเพลิดเพลิน ก็จะจดจำได้ไม่ลืม

ผู้เขียนประสบความสำเร็จในอาชีพนักแสดง และเป็นผู้จัดรายการทีวีที่มีชื่อเสียง มาก ตลอดชีวิต เธอไม่เคยลืม คุณครูผู้นี้เลย เมื่อตอนเป็นเด็ก เธอซุกซนมาก อยากรู้อยากเห็น ช่างซักช่างถาม ไปเรียน หนังสือ ก็จะซักถามครูอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อเห็นนกก็อยากรู้ว่า นกนี้มันเป็นอย่างไร มันมาทำไม มันพูดว่าอะไร นกมันก็พูดภาษาของนก แต่เด็กเต็มไปด้วยจินตนาการ อยากรู้อยากเห็น จนครู โรงเรียนนั้น บอกกับแม่ของโต๊ะโต๊ะจังว่า ไม่ไหวแล้ว ขอให้เอาไปเรียนที่อื่น พูดง่ายๆ ก็คือไล่ออก แต่พูดอย่างสุภาพ

แม่ก็พยายามหาโรงเรียนให้ลูกใหม่ จนไปพบโรงเรียนรถไฟ ก็พาลูกเดินเข้าไปโดยไม่มีความมั่นใจเลยว่า ครูโรงเรียนนี้ จะยอมรับลูกสาว ตัวน้อยหรือไม่ หนูน้อยนั้น พอเห็น โรงเรียนก็ชอบใจ อยากจะเรียนที่นี่ แม่ก็เข้าไปคุยกับครูใหญ่ ซึ่งรูปร่างหน้าตา ไม่น่าประทับใจเอาเสียเลย หัวก็ล้าน ฟันหน้าก็หัก

พอพบหนูน้อยตาใสแจ๋ว ท่าทางมีความ สุจริตเชื่อมั่นอย่างไร้เดียงสา ครูใหญ่ก็ชวนพูดคุย คือ สัมภาษณ์นั่นเอง แม่หนูก็เล่าให้ฟังทุกอย่าง ถึงสิ่งที่อยู่ในใจ คุยกัน ๓ ชั่วโมง จนถึงเวลาอาหาร กลางวัน ครูใหญ่ก็ชวนไปกินข้าว โต๊ะโต๊ะจังขอถาม อีกประโยคหนึ่งว่า "แล้วหนูจะได้เข้าเรียน ที่โรงเรียนนี้ไหม?" ครูใหญ่ตอบว่า "แน่นอนที่สุด"

เมื่อเติบโตขึ้นเธอจึงไม่เคยลืมพระคุณของครูคนนี้ ที่ได้ช่วยให้เธอเป็นคนมีจิตวิญญาณ ที่สามารถ มองโลก ด้วยความแจ่มใส และถูกต้อง จนยืนขึ้นได้ ด้วยตัวของตัวเอง อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ลองนึกดูว่า ถ้าเด็กน้อยคนนี้ถูกไล่ออกจากโรงเรียนหนึ่ง แล้วพอไปเข้าโรงเรียนใหม่ ก็ถูกไล่ออกอีก อนาคตของเธอ จะเป็นอย่างไร คงจะไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับความสำเร็จ ในชีวิตเช่นนี้ นอกจากจะเป็น ผู้จัดรายการทีวีแล้ว เธอยังเป็น นักเขียนหนังสือ สำหรับเด็ก และทำงานที่มีประโยชน์ อีกหลายอย่าง จน ได้รับเลือกจากองค์การยูนิเซฟ ให้เป็นทูตเพื่อเด็ก


นี่คือความสำเร็จของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากครูผู้เป็นที่พึ่ง ผู้ให้โอกาสด้วยความเมตตา นำทางเธอ ไปในหนทางที่ถูกต้อง จนกลายเป็น คนที่มีประโยชน์แก่โลกและสังคม

หากครูอาจารย์คนใดรู้สึกท้อแท้ ห่อเหี่ยว ไม่มีแรง ไม่มีกำลังใจที่จะช่วยยกจิตวิญญาณ ของเด็ก ดิฉันก็ขอแนะนำ ให้อ่านหนังสือ ที่พูดถึงจิตวิญญาณ ของครูเหล่านี้ เพื่อย้ำความรู้สึกที่ถูกต้อง ซึ่งเราเคยมีให้กลับแจ่มชัดขึ้นอีก จะได้ร่วมกันสร้างโลก ผ่านทางลูกศิษย์ของเราต่อไป


# ปูชนียบุคคล

ถ้าจะดูว่าชีวิตของแต่ละคนควรค่าแก่การเคารพอย่างไร จะเห็นกันได้จากคำไว้อาลัยในหนังสือแจก งานศพ ที่อ่านดูแล้วรู้ว่า ข้อความนั้น เขียนออกมา จากหัวใจ หรือถูกขอร้องให้เขียน มีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ดิฉันอ่านคำไว้อาลัยทุกตัวอักษรก็ว่าได้ คือหนังสือ ที่แจกในงานศพของ คุณหลวงสำเร็จวรรณกิจ

คุณหลวงสำเร็จวรรณกิจเป็นอาจารย์ภาษาไทยที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ท่านเคยสอนที่โรงเรียน วัฒนาวิทยาลัย และเคยเป็น อธิบดีกรมอาชีวศึกษา ดิฉันไม่เคยเป็นลูกศิษย์ ของท่านโดยตรง แต่ได้รับความรู้ในการใช้ภาษาไทย จากท่านมาก ท่านเป็นผู้ที่รักษาความเป็นครู ไว้ได้ตลอดชีวิต การสอนของท่าน เอาจริงเอาจัง เคร่งครัด เป็นระเบียบ ไม่เคยยอมให้ลูกศิษย์คนใด มาใช้เล่ห์ กระเท่ห์กับท่านได้ ฐานะความเป็นอยู่ ก็เป็นไปเพียงตามอัตภาพ

คำไว้อาลัยที่เขียนโดยลูกศิษย์ของท่านซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต ทั้งในวงการธุรกิจ ราชการ ทหาร ทุกคน เขียนด้วยหัวใจของลูกศิษย์ ผู้ระลึกถึง คำสอนของท่าน แม้จะไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตาม ได้ทั้งหมด แต่ลูกศิษย์ก็ยังจำได้ไม่ลืม ถ้าเราเป็นลูกหลานของ คุณหลวงสำเร็จวรรณกิจ คงจะ น้ำตาไหล ด้วยความปลาบปลื้มใจ ที่คุณพ่อหรือคุณปู่คุณตาของเรา เป็นครูที่วิเศษ เป็นปูชนียบุคคล ของสังคมอย่างนี้


# อานิสงส์ของความเป็นครู
จากชีวิตครูที่ยกตัวอย่างมานี้ จะเห็นได้ว่า ครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ควรแก่การ ภาคภูมิใจมากเพียงใด อานิสงส์ของความเป็นครูได้แก่
๑. เป็นอาชีพที่ทำให้สามารถยังชีพอยู่ได้ตามสมควร คือเลี้ยงตัวเองได้
๒. เป็นอาชีพที่ได้บุญได้กุศลยิ่งกว่าอาชีพใดๆ วิเศษกว่าอาชีพทั้งหลายในโลก อาชีพหมอยังรักษาได้แต่เพียงกาย แต่อาชีพครูรักษาได้ทั้งกายและจิต รักษาชีวิตของลูกศิษย์ทั้งชีวิต ให้ได้อยู่อย่างปลอดภัย มีสติปัญญาที่ถูกต้อง เงินเดือนที่ให้มาตีราคาไม่ได้ ประเมินไม่ได้กับงาน ที่ครูทำ
๓. เป็นอาชีพที่ได้รับการเคารพยกย่องจากบุคคลทุกชั้นวรรณะ ทุกตำแหน่งหน้าที่ เขาจะไปเป็นแม่ทัพ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นอะไรก็ตาม เขารับไหว้คนอื่น แต่เขายกมือไหว้ครูก่อน
๔. เป็นอาชีพที่มีความอยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา มีความชื่นใจปลื้มใจเมื่อเห็นศิษย์ประสบความสำเร็จ ดำเนิน ชีวิตไปในหนทางที่ถูกต้อง ศิษย์ไปอยู่ที่ใดก็ไม่ลืมครู มีความระลึกถึง อุปถัมภ์บำรุงครู ตามฐานะ ของเขา
๕. เป็นอาชีพที่ต้องอดทน เสียสละ และเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง แต่ก็ได้รับความอิ่มอกอิ่มใจ หวนคิด ขึ้นมาครั้งใด ก็มีแต่ความปีติที่ได้ทำหน้าที่อย่างคุ้มค่าของความเป็นมนุษย์


# อุปสรรคที่ขวางกั้นการทำหน้าที่ของครู
สาเหตุที่ทำให้ครูไม่สามารถดำรงตนอยู่ในสถานภาพของความเป็นครู และทำหน้าที่ของครู ได้อย่าง สมบูรณ์ พอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

๑. ครูถูกใช้ให้ทำหน้าที่อื่น หรือมอบหมายงานอื่นซึ่งมิใช่หน้าที่โดยตรงให้ครูทำมากเกินไป
เป็นสิ่งที่ ดิฉันอยากจะเรียกร้อง ถ้าเราอยากจะได้ครูผู้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์กลับคืนมา ก็ควรจะให้ครู ได้มีเวลาอย่างเพียงพอ อย่าให้กิจกรรมพิเศษต่างๆ ทั้งงานจากสำนักงาน กรม กระทรวง งานท้องถิ่น งานการเมือง มาดึงเวลาของครูไป

๒. ครูเลิกบูชาอุดมคติของความเป็นครู
เพราะเห็นว่าอาชีพครูด้อยกว่าอาชีพอื่น มีค่าตอบแทนหรือเกียรติยศน้อยกว่า

๓. ครูยอมให้ใจตกเป็นทาสของวัตถุ
เดี๋ยวนี้อำนาจวัตถุนิยมมาแรงมาก ครูกลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะทนความเย้ายวน ของวัตถุ ไม่ไหว

๔. ครูไหลไปตามกระแสค่านิยมของสังคม
ครูจำนวนมากเห็นดีเห็นงามตามค่านิยม สมัยใหม่ ที่วัดความมีหน้ามีตากันที่ทรัพย์สิน เงินทอง ครูจึงต้อง ดิ้นรนแสวงหาสิ่งเหล่านี้ด้วยอาชีพเสริมอื่นๆ จนละเลย ย่อหย่อนต่อการทำหน้าที่ โดยตรง ของตน

๕. ครูถูกอบายมุขครอบงำ
ผู้มีจิตใจอ่อนแอย่อมมอบตัวในทางผิด บังคับตัวเองไม่ได้ หรือคิดรวยทางลัด โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี ของความเป็นครู

๖. ครูขาดสัปปุริสธรรม
สัปปุริสธรรม คือ ธรรมะของผู้รอบรู้ ผู้เป็นบัณฑิต มี ๗ ประการ คือ
๑) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ จะทำอะไรต้องรู้จักดูว่า มีเหตุอย่างไรจึงต้องทำ ควรทำหรือไม่ควรทำอย่างไร
๒) ความเป็นผู้รู้จักผล เป็นการสอบทานว่า เมื่อมีเหตุให้ทำอย่างนั้น ทำแล้วผลจะเป็นอย่างไร ยังจะควรทำหรือไม่ ใคร่ครวญดูด้วยความรู้ สติปัญญา ประสบการณ์ ให้รอบคอบถี่ถ้วน
๓) ความเป็นผู้รู้จักตน เรามีความพร้อมที่จะทำแล้วหรือยัง ความพร้อมภายนอก เช่น กำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์ อุปกรณ์ เวลา ความพร้อมภายใน เช่น ฉันทะ ความรักและพอใจที่จะทำ ศรัทธามั่นคง เพียงพอไหม ความมานะอดทน เข้มแข็ง บากบั่น
๔) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ จะทำขนาดไหน ถึงจะพอดีพอเหมาะ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ไม่ทุ่มเทจนเกิดความเสียหาย เช่นสูญเสียทรัพย์ เจ็บป่วย หรือ ไม่มีเวลาทำการงานอย่างอื่น
๕) ความเป็นผู้รู้จักกาล รู้จักเวลาอันสมควรที่จะประกอบกิจการนั้น ดูว่ามีจังหวะพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าโอกาสยังไม่เหมาะ ก็ควรเตรียมทุกอย่างรอไว้ก่อน
๖) ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน ต้องรู้จักชุมชนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ศึกษาถึงภูมิหลังของชุมชนนั้นว่า มีทัศนคติ ความรู้ ประสบการณ์ ความชอบไม่ชอบอย่างไร เมื่อมีปัญหาเขาแก้ปัญหากันยังไง เพื่อจะได้ รู้ทางหนีทีไล่ ไม่บุ่มบ่าม
๗) ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล ดูเจาะจงลงไปที่บุคคลซึ่งเราเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะเดียวกับ การดูประชุมชน เพื่อจะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ผู้ประกอบการใดใคร่ครวญในสัปปุริสธรรมอยู่เสมอ ย่อมประกอบเหตุได้อย่างถูกต้อง เป็นผู้รู้ ความควร ไม่ควร ผลก็ย่อมถูกต้อง ครูก็เช่นกัน จะสามารถทำหน้าที่ครูได้อย่างสมบูรณ์สมความตั้งใจ


# สังคมควรปฏิบัติต่อครูอย่างไร
เมื่อสังคมคาดหวังให้ครูเป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นผู้สร้างโลก สังคมก็ ควรส่งเสริม สนับสนุน ให้ครูสามารถยืนหยัดทำหน้าที่ต่อไปได้ สังคมควรให้อะไรแก่ครูบ้าง

๑. สังคมจะต้องช่วยกันสนับสนุน สถาบันครูให้คงอยู่ เพื่อให้มีโอกาสทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เต็มกำลัง ความสามารถ ให้สมศักดิ์ศรีของความเป็นครู ดิฉันเชื่อว่า ครูส่วนใหญ่อยากทำหน้าที่ ให้สมศักดิ์ศรี แต่เหตุปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้ออำนวย ถ้าสังคมเอาแต่เรียกร้องให้ครูเสียสละ ให้เป็นครู ที่ดี ช่วยอบรมลูกหลานของเขาเพื่อไปช่วยกันพัฒนาสังคม แต่สังคมนับตั้งแต่ ผู้ปกครองของเด็ก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ชุมชน บุคคลในวงการต่างๆ ไม่ให้การสนับสนุน ครูจะทำหน้าที่ฝ่ายเดียวได้อย่างไร

๒. สังคมจะต้องกตัญญูต่อครู
ทุกคนในสังคมจะต้องยอมรับว่า สังคม ชาติ ประเทศ หรือโลกรอดมาได้ทุกวันนี้ เพราะสถาบันครู เป็นผู้นำ จะต้องมีความกตัญญูรู้คุณครู ไม่ใช่เอาแต่ภาระมาให้ แต่ไม่มีความสำนึกในความเสียสละ ในการอุทิศตนของครู

สังคมมีหน้าที่ที่จะต้องกตัญญูรู้คุณตอบแทนในทุกทาง เมื่อมีสิ่งใดเป็นอุปสรรค หรือเป็นที่น่าตำหนิ ติเตียนเกิดขึ้น ก็จะต้องช่วยกันพิจารณาหาทางแก้ไข ไม่เอาแต่ประณามอย่างเดียว

๓. สร้างหลักสูตรด้วยหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง มีเป้าหมายที่ถูกต้อง
ครูทำงานหนัก แต่ถูกประณามอยู่ตลอดมา ว่าสอนลูกศิษย์ให้เป็นเด็กเกเร เติบโตขึ้นมา เป็นปัญหา ของสังคม แต่หากว่าหลักสูตรไม่เอื้ออำนวย ไม่ให้เนื้อหา ไม่ให้เวลา ไม่ให้โอกาสแก่ครู ที่จะสั่งสอน สิ่งที่เรียกว่า "วิชชา" เข้าไปในใจศิษย์ สังคมจะมาตำหนิครูฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกต้อง

ฉะนั้น สังคมมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนในเรื่องของการจัดทำหลักสูตร ให้มีเป้าหมายที่ถูกต้อง

๔. ให้เวลาแก่ครูอย่างเพียงพอในการอบรมสั่งสอนศิษย์ แทนที่จะเอาครูไปใช้งานในหน้าที่อื่น ดิฉัน ทราบด้วยความเห็นใจว่า แม้แต่ปิดเทอมครูก็แทบจะไม่มีเวลาว่าง บางทีทางกระทรวง จะลืมไป กระมังว่า ครูไม่ใช่เครื่องจักร

อีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครูต้องทำงานหนักก็คือ การประเมินผล การวัดผลงานความดีความชอบ ครูอาจารย์ทั้งหลายต้องแบ่งเวลาไปเขียนผลงาน ไปทำกิจกรรมโครงการ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการ เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของตัวเอง และเพื่อขอตำแหน่งบุคลากร เพื่อของบประมาณให้แก่หน่วยงาน นี่คือการศึกษาที่ไม่ได้ให้สติปัญญาที่ถูกต้อง ไม่ได้ยกจิตวิญญาณให้พ้นจากอำนาจของวัตถุ

๕. มีหลักสูตรการฝึกอบรมครู ให้เป็นผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง
การเรียนการสอน ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยควรมีการฝึกอบรมที่ถูกต้อง ไม่เน้นหรือกระตุ้นให้ครู วัดความสำเร็จใ นวิชาชีพครูด้วยการเลื่อนตำแหน่ง แต่ควรให้เกิดความเข้าใจว่า ความสำเร็จของครูคือ ความสุข เมื่อเห็นความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ จากความเป็นคนไปสู่ความเป็นมนุษย์

ความเป็นครูจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เกิดจากผ่านการศึกษาวิชาครูเท่านั้นหรือ?

การได้รับการศึกษาจากสถาบันครูเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือการฝึกฝน อบรมตนเอง

๖. ส่งเสริมวิทยฐานะของครู ให้ครูเป็นผู้ที่พร้อมด้วยวิชาและวิชชา มีคุณธรรมของความเป็นครู ไม่ตกเป็นทาส ของตัณหา อบายมุข อสัปปุริสธรรม

๗. ให้ครูมีอิสระในการทำงาน ขจัดเหตุปัจจัยที่จะมาเป็นข้อขัดข้องหรือบั่นทอนการทำงานของครู

๘. มีสวัสดิการสำหรับครูอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้ครูต้องห่วงใยเรื่องปากท้องจนเกินไป เพราะครู ก็มีภาระ มีครอบครัวที่จะต้องดูแล ครูจะได้ทุ่มเทเวลา กำลังกาย กำลังใจ ลงไปในการสอน และฝึก อบรมเด็กได้อย่างเต็มที่

ปัจจุบันครูดูมีพลัง รวมตัวกันได้แน่น แฟ้นขึ้น แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ได้รวมพลังเรียกร้องต่อสังคม ในลักษณะนี้ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น เพราะการเรียกร้อง อย่างนี้ ไม่ได้ทำไปด้วยความเห็นแก่ตัว แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหลานของเขา และจะเป็นไป เพื่อประโยชน์ของสังคม ชาติบ้านเมือง และโลกต่อไปในวันข้างหน้า

ถ้าเราจะร่วมกันเรียกร้องก็ควรเรียกร้องอย่างนี้ การประกวดโรงเรียนดีเด่น ผู้อำนวยการดีเด่น นักเรียน ดีเด่น เป็นอย่างไร ล้วนแต่ดูที่วัตถุ อาคารสถานที่ ผลการศึกษา ดูที่ความประพฤติกันบ้างไหม ที่บอกว่า กีฬาเป็นยาวิเศษ แล้วทำไมพอลงสนามต้องเชือดเฉือนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เด็กๆ มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ กตัญญูต่อสังคมบ้างไหม สิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรม มองเห็นยาก จึงพากันละเลย เมื่อเราละเลยสิ่งสำคัญเช่นนี้ แล้วเราจะเอาอะไรเป็นแก่นสารของชีวิต

หากเราต้องการเป็น ครูผู้สร้างโลก ก็จำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องรักษาเกียรติ ศักดิ์ศรีของความเป็นครู ไว้ให้ได้ เหมือนอย่างเกลือรักษาความเค็ม ด้วยการรักษาความถูกต้องและมั่นคง ของการศึกษา วัฒนธรรม จริยธรรม และศีลธรรมของสังคมไว้ นี่คือการทำหน้าที่ของครู.

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๗ ม.ค. - ก.พ. ๒๕๔๘ -