- สุวลี -

หมวก ๖ ใบ

หมวก ๖ ใบ เป็นวิธีคิดของมนุษย์ ซึ่งเขาจัดประเภทแบ่งออกได้เป็น ๖ แบบ


ใบที่ ๑ สีขาว เป็นความคิดกลางๆ ไม่ใช้ความเห็นหรือความรู้สึกส่วนตัว เป็นการนำข้อเท็จจริง จากที่อื่น มาเล่า ผิดหรือถูกเป็นอีกเรื่อง

ใบที่ ๒ สีแดง เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของตัวเอง แม้การคาดคะเน การสันนิษฐานก็ถือเป็นหมวกแดง

ใบที่ ๓ สีเหลือง มองโลกในแง่ดี แง่เป็นไปได้ เห็นโอกาสในทุกปัญหาเสมอ จึงมีกำลังใจ เป็นความคิด เชิงรุก

ใบที่ ๔ สีดำ เป็นความคิดที่ระวังไว้ก่อน ค่อนข้างขี้กลัว เอะอะก็ปลอดภัยไว้ก่อน เป็นความคิดเชิงรับ

ใบที่ ๕ สีเขียว เป็นความคิดใหม่ๆ ที่ไม่ติดยึดอยู่ในกรอบเดิมๆ จึงเคารพในความคิดที่แตกต่าง

ความคิดเพี้ยนๆ ก็ไม่ดูถูกเขา เพราะเพี้ยนก็จริงแต่ประสบความสำเร็จมานักต่อนัก

ใบที่ ๖ สีฟ้า เป็นของประธานที่ต้องสรุปประเด็น

การตั้งประเด็น การสั่งการให้ลองสวมหมวกใบอื่น เพื่อคิดในอีกรูปแบบ เป็นหน้าที่ของสีฟ้า

หมวก ๖ ใบ จึงเป็นหมวกแห่งการเจริญสติ

ไม่ว่าจะพูดคุยหรือประชุมสัมมนา

ความคิดหมวก ๖ ใบ ทำให้เห็นจุดบกพร่องในการถกเถียง แล้วเราจะได้เติมให้เต็ม

"หมวก ๖ ใบ" เตือนตนเตือนจิต ตอนนี้ความคิดโต่งไปทางไหน ใบไหนยังขาด ช่วยขยับเข้ามา

การดึงความคิดมาเป็นรูปภาพของหมวก ๖ ใบ จึงต้องชม อาจารย์เดอโบโน ผู้เยี่ยมยุทธ์ ที่ทำให้การถกเถียงเต็มไปด้วยเหตุผล

"หมวก ๖ ใบ" ระลึกขึ้นมาเพื่อแจ่มชัดในตัวเอง ตอนนี้สุดโต่งหมวกใบไหน จะได้แก้ไข

รู้เขา - รู้เรา รบ ๑๐๐ ครั้ง ชนะ ๑๐๐ ครั้ง

รู้ความคิดของตัวเรา-ของตัวเขา ตอนนี้ใช้หมวกใบใดเข้าแก้ปัญหา เราจะได้ช่วยต่อเติมให้สมบูรณ์

ก็เพราะเรายังไม่ใช่พระอรหันต์ ข้อบกพร่องจึงมากมาย หมวก ๖ ใบจึงเป็นด่านสกัดตัวขาดสติ ให้แจ่มใส เห็นชัด

"ตอนนี้ใช้หมวกใบไหนนะ?" ชัดเจนในหมวก เราก็จะยิ่งชัดเจนในการใช้เหตุผล

ในความคิดหลากหลาย หากมีการจัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบระเบียบ การแก้ไขปัญหาก็จะง่ายกว่า อีกหลายเท่า

การดึงความคิดมาเปรียบกับหมวก ๖ ใบ จึงมิใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นกลวิธีชาญฉลาดและลึกซึ้ง

"หมวก ๖ ใบ เรากำลังใช้ใบไหน?" ถามตัวเองเพื่อจัดการกับการถกเถียงให้แม่นเป้า

เพื่อทันเขา

เพื่อทันเรา

เพื่อทันรูรั่วรูโหว่ของตาข่ายที่ขึงไว้

หากชีวิตคือลมหายใจ หมวก ๖ ใบ ก็เป็นลมหายใจของความคิดนั่นเอง

"หมวก ๖ ใบ" ตั้งคำถามขึ้นมา เรารู้ตัวเองก็พอ จะได้เป็นนักพูดและนักฟังที่ครบพร้อม

หมวก ๖ ใบ จึงมิใช่สอนให้เราพูดเป็น แต่ทำให้เป็นนักฟังที่ยิ่งใหญ่ไปในตัว

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๒๐ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๘ -