ชาวอโศกในสายตานักวิชาการ
ชาวอโศกในสายตานักวิชาการ



เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ชาวอโศกซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๓ ได้ประกาศตนเป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม ที่มีวัตรปฏิบัติ ตรงตาม พระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา ๓๐ ปี ชาวอโศกเจริญเติบโตขึ้น ทั้งในด้าน ปริมาณ และคุณภาพ สังคมรับรู้เรื่องราวมากมายของชาวอโศกผ่านสื่อต่างๆ บ้าง ด้วยตนเองบ้าง เพื่อให้ชาวอโศก ได้มี โอกาส รับฟังความเห็นของสังคมต่อตนเอง กองบรรณาธิการดอกหญ้าจึงขอร้องให้ อาจารย์ ดร.สุดา รังกุพันธุ์ แห่งภาควิชา ภาษาศาสตร์ สัมภาษณ์นักวิชาการผู้รอบรู้สังคมพุทธศาสนาของไทยสองท่าน คือ ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อาจารย์ประจำ ภาควิชาภาษาตะวันออก และ รศ.ดร.สมภาร พรมทา อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา ทั้งสามท่าน สอนหนังสืออยู่ที่ คณะ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 'ดอกหญ้า' กราบขอบพระคุณ เป็นอย่างสูง สำหรับความคิดเห็น อันมีค่ายิ่งนี้


** อาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ
เมื่อประมาณสัก ๓๐ ปีที่แล้ว ชาวอโศกซึ่งหมายถึงทั้งพระและฆราวาสที่มีท่านโพธิรักษ์เป็นผู้นำ ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ในสังคม เมื่อปรากฏขึ้นมาแล้วก็มีทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ที่ว่าเชิงบวกและเชิงลบก็เอาสายตาของสังคมเป็นตัวตัดสิน ในเชิงลบ ก็มองว่าชาวอโศกนอกรีตนอกรอย แต่ว่าในเชิงบวกก็มองว่าชาวอโศกเป็นชาวพุทธ ที่พยายามกลับเข้าไปหา วิถีชีวิต ดั้งเดิม ตามแบบอย่างพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด โดยเน้นไปที่การกินน้อย ใช้น้อย แต่ทำงานให้มาก และนี่เป็นหัวใจ ของชาวอโศก ที่ถือสืบทอดกันมานาน

ในตอนนั้นเห็นชัดเจนว่า ชาวอโศกได้ดำเนินรอยตามคำพูดนี้ที่ถือว่า กินน้อยใช้น้อย แล้วก็ทำงานให้มาก การที่ชาวอโศก ยึดมั่น ในแนวคิดนี้เป็นพื้นฐาน ทำให้ชาวอโศกได้เติบโตขึ้นมา แล้วก็มีสาขาขยายออกไปน่าจะเกือบทุกภาคของ ประเทศไทย จึงเป็น ตัวพิสูจน์ได้แล้วว่า อโศกยืนอยู่ได้ด้วยแนวความคิดนี้ ซึ่งพัฒนามาจากหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา จนกระทั่ง กลายมาเป็น วิถีชีวิตของชาวอโศก

แต่เราก็ต้องยอมรับกันว่า แม้ชาวอโศกจะมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างไร หรือว่าพยายามปฏิบัติตัว ตามหลักพระพุทธศาสนา อย่างไร แต่โดยเหตุที่ชาวอโศก ก็มาจากปุถุชน จึงอาจจะมีบุคคลที่เดินไปตามแนวทางนั้นได้ตลอดบ้าง หรือบางคน ก็อาจ จะสะดุดบ้าง แต่ก็ยังลุกเดินต่อไป หรือว่าบางคนก็อาจจะสะดุดล้มลงเลย แล้วก็ไม่ไปตามทางนี้อีก ก็อาจจะมี ซึ่งผมเอง ก็ไม่ได้ถือว่า เป็นข้อบกพร่องของชาวอโศก แต่ถือว่านั่นเป็นหลักความจริงอันหนึ่งที่ชาวอโศกจะต้องรับ แล้วก็แก้ไข แนวทาง ของตนเอง ว่าตึงหรือหย่อนเกินไปอย่างไร

เรื่องนี้พระพุทธศาสนาก็ได้ให้แนวทางสำหรับปฏิบัติแล้ว คือ มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง ข้อปฏิบัติสายกลาง ซึ่งได้แก่มรรค มีองค์ ๘ มัชฌิมาปฏิปทาไม่ได้หมายความว่าไม่ตึงไม่หย่อน แต่หมายความว่า เป็นทางสายกลาง ที่อยู่ระหว่าง การทำตัวเอง ให้ลำบาก กับปล่อยตัวเองให้มีความสุข อยู่กับความสุขแบบโลกมากเกินไปหรือเปล่า การทำตัวเองให้ลำบากเกินไป ถ้าศีล ไม่เกิด สมาธิไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าถ้าทำตัวเองให้ลำบากแล้วศีลเกิด สมาธิเกิด ปัญญาเกิด ก็ดูว่า ความลำบากนั้น ควรจะมีระดับแค่ไหนสำหรับบุคคลแต่ละคน ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกันนะครับ

ผมอยากให้วิถีชีวิตแบบชาวอโศกเป็นทางเลือกหนึ่งของชาวพุทธ ที่ประสงค์จะดำเนินและใช้ชีวิตแบบนั้น แต่ว่าในขณะ เดียวกัน สิ่งที่สำคัญก็คือ ขอให้อโศกต้องอยู่ร่วมกับสังคมให้ได้ การอยู่ร่วมกับสังคมได้ หมายถึงว่า อยู่เพื่อจะได้เป็นหลัก เป็นแนวทาง ชี้ให้สังคมได้ตระหนักถึงว่าการใช้ชีวิตแบบไม่หรูหรา ไม่ฟุ่มเฟือย ก็สามารถอยู่ได้และอยู่อย่างมีความสุขด้วย

ชาวอโศกได้ทำประโยชน์ในแง่การใช้ชีวิตที่เน้นความเป็นธรรมชาติมากที่สุดก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ผมก็เคยพูดเสมอๆ ว่า ถ้าใช้ชีวิต แบบชาวอโศก สังคมไทยอยู่ได้สบาย เราจะไม่วุ่นวายกับการกินมาก ใช้มาก ประเทศเราเป็นประเทศ เกษตรกรรม รายได้ ของประชากรส่วนใหญ่ ไม่พอที่ให้ใช้ชีวิตแบบกินมาก ใช้มาก ซึ่งจะทำให้ลำบาก เพราะฉะนั้น จึงอยากให้วิถีชีวิต แบบชาวอโศก แพร่หลาย แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับสังคมจนเกินเหตุ จนทำให้ถูกกล่าวหาว่าขัดขวางการพัฒนาประเทศ



** อาจารย์สมภาร พรมทา
ผมคิดว่าชาวอโศกก็เหมือนเดิม ผมเคยรู้สึกอย่างไร ผมก็ยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่ รู้สึกว่าชาวอโศกเป็นคนดี ถึงเวลานี้ สถานะ ทางกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับส่วนที่ท่านเป็นสมณะ จะไม่ถือว่าท่านเป็นพระ ตามหลักศาสนาพุทธ แต่ความรู้สึกของผม ก็เห็นว่า ท่านยังเป็นพระ อยู่เหมือนเดิม ผมก็ยังรู้สึกอย่างนั้น ชาวอโศกก็ยังเป็นชาวพุทธที่น่ารัก เป็นชาวพุทธที่ดี และเป็น ชาวพุทธ ที่สมควรจะมีแบบนี้ต่อไป ในประเทศไทย ถึงจะไม่เติบโตเป็นชุมชนใหญ่โต แต่ผมคิดว่า การมีชุมชนพุทธ แบบนี้ เป็นสิ่งแสดง ให้เห็นความเข้มแข็ง บางแบบของศาสนาพุทธในประเทศไทย

ถ้าเราเทียบกับต่างประเทศ แบบนี้เห็นชัด เอาญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ผมคิดว่า ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเวลานี้ ถ้าจะพูดว่า หมดไปแล้ว ในแง่หนึ่ง อาจจะพูดได้ว่าหมด เนื่องจากศาสนาพุทธในญี่ปุ่น ถูกระบบสังคมสมัยใหม่ สังคมทุนนิยม กลืนให้มี ลักษณะ เป็นพุทธแบบทุนนิยม พุทธแบบทุนนิยม หมายถึง พุทธที่รับใช้จุดประสงค์ของคนที่อยู่ในสังคมนั้น โดยไม่ได้ ตั้งคำถามว่า การรับใช้นั้นควรจะมีขีดจำกัดแค่ไหน อย่างไร แล้วศาสนาพุทธก็ถูกใช้ไปอย่าง ใช้คำว่า อย่างเสียหายก็ได้ เยอะ ใช้คำว่า ยอดเยอะก็ได้

ทีนี้บ้านเราไม่ได้เป็นสังคมทุนนิยมแบบญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ แต่ว่าในอนาคตระดับความเข้มข้นในการเป็นทุนนิยม ก็จะใกล้เคียง กับญี่ปุ่น หรือประเทศตะวันตกอย่างอเมริกา คราวนี้สิ่งที่เป็นผลตามมาจากสังคมแบบนี้ก็คือว่า ระบบคุณค่าดั้งเดิม ที่มีอยู่ในสังคม จะถูกแปรรูปให้มารับใช้ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทีนี้พระในประเทศญี่ปุ่น หรือศาสนาพุทธ ในประเทศ ญี่ปุ่น ที่ผมคิดว่าถูกใช้จนเสียหายมากก็เพราะว่าบางครั้งความต้องการของคนในสังคมทุนนิยมญี่ปุ่น เช่น ต้องการ ความเข้าใจ ศาสนาพุทธที่จะเอาไปใช้ทำให้ตัวเองสบายใจในการทำธุรกิจบางอย่าง ซึ่งลึกๆ แล้ว คนเหล่านี้คิดว่า การทำ ธุรกิจ แบบนั้น มันเอาเปรียบคนอื่น แต่ว่าศาสนาถูกใช้เพื่อให้บอกว่าไม่ใช่การเอาเปรียบหรอก มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธก็จะถูกใช้แบบนี้ มันก็จะไม่เหลือรากของศาสนาพุทธ

ทีนี้ถ้าเทียบกันแล้ว ชาวอโศกจะไม่ตีความศาสนาไปตามใจสังคม ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น ถือเป็นจุดดีก็คือว่า เป็นตัวช่วยรั้ง ด้วยว่า ศาสนาพุทธควรจะมีขอบเขตในการตอบสนองความต้องการของคนในสังคม

การตอบสนองความต้องการของคนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว แต่ว่าเราก็ควรจะมีจุดยืนบางอย่าง ผมคิดว่าคณะสงฆ์อื่นๆ ในสังคม เราอาจจะไม่ค่อยได้ตั้งคำถามนี้ พอไม่ได้ตั้งคำถามนี้ เวลาที่เอาศาสนาไปตีความ ไปรับใช้ความต้องการของคน ศาสนา หรือ การตีความนั้นก็อาจจะแปรไปตามความต้องการของคนได้ แต่ว่าบังเอิญในบ้านเรา ความต้องการของคนไทย อาจจะยัง ไม่พิสดาร มากเท่ากับคนญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นโลกคำสอนของศาสนาพุทธ ที่ได้รับการตีความให้ตอบสนองความต้องการ ต่างๆ มันก็เลย ยังไม่ห่างไกลจากจุดตั้งต้นมากนัก แต่ถ้าเราไม่เตือนสติตัวเองว่าเราควรจะมีขีดคั่นแค่ไหน ผมก็เกรงว่า การตีความ ในอนาคต มันก็อาจจะไปเรื่อยๆ

อย่างเช่นคนญี่ปุ่นอยากจะรวย เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาในญี่ปุ่นก็จะชูประเด็นว่าจะทำยังไงเข้าหาศาสนาพุทธแล้วจึงจะรวย ก็จะเน้น ไปที่การศึกษาคำสอนศาสนา เพื่อที่จะเอาไปใช้ชีวิตให้ตัวเองร่ำรวย ซึ่งโดยตัวมันเอง ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิด แต่ผมคิดว่า จุดประสงค์ดั้งเดิมของศาสนาพุทธ ความร่ำรวยคงไม่ได้ถูกจัดอันดับไว้ในอันดับต้นๆ อันนี้ก็เป็นลักษณะ ซึ่งค่อนข้าง จะต่างจากชาวอโศก ชาวอโศกไม่ได้คิดว่า ความร่ำรวยเป็นเรื่องซึ่งชาวพุทธจะต้องถามหา เป็นอันดับที่หนึ่ง เราอาจ จะถาม เรื่องอื่นก่อน เรื่องรวยอาจถามทีหลังก็ได้ เป็นผลซึ่งมันพ่วงมา ทีนี้ถ้า เราคิดว่าสิ่งที่ชาวอโศก ทำอยู่เวลานี้ ในแง่หนึ่ง มันเป็นการช่วยดึง กระแสการเข้าใจศาสนาพุทธ ให้ติดอยู่กับรากเดิมที่มีอยู่ ในสมัยพระพุทธเจ้านั้น ชาวอโศก ก็สำคัญ

ผมคิดว่าสิ่งที่ชาวอโศกทำก็คือ เน้นเรื่องการใช้ชีวิตที่ท่านบอกว่า ทำงานมากๆ แต่ว่าให้กินให้ใช้น้อยๆ เข้าไว้ นี่ก็เป็นการเข้าใจ ศาสนาพุทธบางแบบ แล้วแบบนี้ก็เป็นแบบที่ชาวอโศกนิยมใช้ ทำงานมากก็คือการทำงานเพื่อคนอื่น แล้วการกินให้น้อย หรือกิน แต่พอเหมาะ ก็คือการรบกวนทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในแง่วิธีคิดไม่ค่อยต่างจาก มหายาน หรอก เป็นแต่เพียงว่า มหายานเขามีบางอย่างพ่วงเข้ามา เราก็เลยมีความรู้สึกว่าเขาต่างไป สิ่งที่พ่วงมาก็คือว่า มหายาน ค่อนข้าง จะถืออิสรเสรี ในการจะปรับวินัยเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติบางอย่างของพระ แต่ผมเข้าใจว่า ชาวอโศก ไม่ไปถึงขั้น ที่จะปรับอะไรเพื่อความสะดวก อาจจะปรับบ้างก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ปรับวิธีสวดมนต์ วิธีทำสังฆกรรม โดยใช้ ภาษาไทย การปรับแบบนี้ ไม่ใช่ปรับเพื่อความสะดวกของตัวเอง แต่ปรับเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนรวม วิธีปรับของชาวอโศก ก็ไม่ได้ปรับ เพื่อให้ตัวเองสะดวก แต่ว่ามหายาน ผมคิดว่าในแง่หนึ่ง เขาปรับเพื่อให้ตัวเขาเองสะดวก ตอนแรกๆ น้ำหนัก การคิดถึง ความสะดวกของตัวเอง อาจจะไม่มาก แต่ว่าพอรุ่นหลังๆ การคิดถึงความสะดวกมาก ก็เลยทำให้มหายาน ค่อนข้าง จะไม่เคร่งวินัย แต่ผมคิดว่าชาวอโศก เป็นพวกเคร่งวินัย บางอย่างของชาวอโศก กับมหายานนี่เหมือนกัน การฉัน หรือการบริโภค มังสวิรัตินี่เหมือนกัน การทำงานเพื่อคนอื่น หรือเข้าใจว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่เป็นพระโพธิสัตว์ คล้ายๆ กับ มหายาน เพราะฉะนั้น วิธีคิดในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าชาวอโศก ก็โน้มไปในทางฝ่ายมหายาน มหายานก็พยายามพูดถึงกินน้อย ใช้น้อย แต่ทำงานให้มาก เป็นแต่เพียงมหายานรุ่นหลัง ไม่ค่อยเหมือนกับ มหายานรุ่นก่อน

ผมก็ฝากความยินดีชื่นชมที่ยืนหยัดอยู่ได้ แล้วค่อนข้างจะมั่นคง แต่ผมมีเรื่องห่วงอยู่เรื่องหนึ่ง อยากจะฝากถึงชาวอโศก คือ ท่านโพธิรักษ์ ท่านคงไม่ได้อยู่กับเรานาน เพราะท่านก็อายุมากแล้ว ผมไม่อยากจะให้เหมือนสวนโมกข์ ที่พอท่านพุทธทาส ไม่อยู่แล้ว อะไรมันเปลี่ยนไปเยอะทีเดียว ก็อาจจะคิดการณ์ล่วงหน้าไว้ก็ดีเหมือนกัน จะทำอย่างไร ตอนท่านโพธิรักษ์ไม่อยู่ อโศกถึงไม่เหมือนเดิม ก็ใกล้เคียงของเดิม ในแง่ความเข้มแข็ง ผมอยากจะให้ชาวอโศก อยู่นานๆ

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๒๒ พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๔๘ -