> ดอกหญ้า

 

รอบบ้านรอบตัว ...อุบาสก ชอบทำทาน

ช่วงเวลาพักผ่อน

จากหนังสือดอกหญ้า

อันดับที่ 97


โลกของยุคโลกาภิวัตน์ หรือแปลว่าไร้พรมแดน ด้วยเหตุแห่งความก้าวหน้า ของเทคโนโลยี ที่ยอดเยี่ยม มหัศจรรย์ก็จริง แต่สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ ตามมาก็คือ มนุษย์เราจะบริโภค ข่าวสารมากขึ้น

ข่าวจากทั่วโลก จะเฮโลกันมาเข้ารูหูบ้าง ผ่านสายตาบ้าง อายตนะของมนุษย์ ไม่เหน็ดเหนื่อย ณ วันนี้ ก็ไม่รู้จะเหน็ดเหนื่อยวันไหนได้อีก !

คนทำงานหลายๆคน จึงพากันหลีกเร้นเป็นระยะ ไปฝึกปฏิบัติธรรม ในรูปแบบ ของการนั่ง สมาธิหลับตา ๗ วันบ้าง ๑๐ วันบ้าง ตามแต่เจ้าสำนักจะกำหนด

ความจริงแล้ว การผ่อนคลาย กับสื่อกระตุ้น การหยุดเบ่ง หยุดแข่ง ก็คือธรรมะขนานแท้ ที่เป็นสากล ไม่ต้องอ้างว่าเป็นของ "พุทธธรรม" ก็ได้

"พุทธธรรม" มีความลุ่มลึก ลึกซึ้งมากกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องพึ่ง พระปรีชาญาณ ของพระโคดม!

โลกของวัตถุนิยม พลอยทำให้มนุษย์เราต้องตื่นตัว ต่อการบริโภคตลอดเวลา ใครตามไม่ทัน ก็กลายเป็นคนตกรุ่นเสียอีก น่าสงสารนะครับ

วันนี้ไม่มีเวลาพักผ่อนอีกแล้ว กลางวันฉันทำงานหาเงิน กลางคืนฉันขอทำ สิ่งที่ชอบ

เคยเฉลียวใจสักนิดไหมครับ เหตุแห่งความเจ็บป่วย มาจากความเครียด ประการหนึ่ง มาจากการไม่รู้จักพักผ่อน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง

ได้ออกกำลังกายก็คลายเครียด

ได้พักผ่อนพอเพียง รู้จักแบ่งแยกกลางวันกลางคืน มีเคลื่อนไหว มีหยุดนิ่ง สุขภาพกาย สุขภาพใจ ก็จะมี"ขวัญ" ประทับอยู่ในตัว!

หนุ่มสาวทั้งหลาย อย่ามัวคึกคะนองว่า ชีวิตยังมีพลังมากมาย นั่นแหละคือ ความประมาท !

สำหรับผู้ชราภาพ ผู้เดินทางเข้าสู่วัยเกษียณ ท่านก็คงจะพบ สัจธรรมของชีวิต ซาบซึ้งกว่าคนที่ยังไม่ผ่าน

ที่จะเป็นจะตายมาก่อน แต่วันนี้ ก็แค่ความทรงจำ หัวใจที่เร่าร้อนหายไปแล้ว

ความทุกข์ที่โสกเศร้าก็จางคลาย หรือแม้แต่ความสุข สนุกสนาน พลันก็เหมือนความฝัน

คนชราที่อายุมากขึ้น หลังความพยายาม วิ่งไขว่คว้า วันนี้นั่งลงแล้ว กลับพบสาระ ที่มีแต่ความว่างเปล่า

วันนี้คือของจริง ไม่ใช่ของปลอม วันนี้แหละเป็นบทสรุปของแก่นชีวิต

เส้นทางที่ผ่านมาคือมายา แต่โลกพยายามบิดเบือน ด้วยการขับกล่อม ความสนุกสนาน เพลิดเพลินเจริญใจ ให้ลืมสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า

ดอกไม้แรกแย้มบานเปล่งปลั่ง สดใส สวยงามแค่ไม่กี่วัน จากนั้นเริ่มโรยรา ร่วงหล่นตลอดไป เป็นเดือน เป็นปี เป็นตลอดไป

คนเราก็เท่านี้ รู้จักหลักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ดึงวันสดชื่นเพียงเสี้ยววินาที มาปิดบัง ความน่าสะพรึงกลัว

"สนุกเข้าไว้ หลงใหลเข้าไว้เถิดมนุษย์เอ๋ย" เสียงพญามารกระซิบ สะกดจิตพวกเรา

พระพุทธองค์ตรัส ชีวิตเหมือนพยับแดด เหมือนละอองเมฆ เหมือนหยาดน้ำค้าง ยามเช้า ที่พลันเหือดแห้งในยามสาย เป็นอนิจจัง เป็นความไม่เที่ยง เป็นความทุกข์ รู้หรือไม่

ทั้งหมดนี้เหล่าคนชรา จึงน่าจะได้รับการขนานนามว่า "มนุษย์อนัตตา!"

เมื่อแก่ตัวหลายๆคน เริ่มมีปมด้อย เนื่องจากสุขภาพเริ่มถอย งานการเริ่มเกษียณ เคยเป็นหลักเป็นแหล่ง ทำเงินให้ครอบครัว ก็เริ่มหมดหน้าที่ กิเลสโลกธรรม เริ่มสั่นคลอน ความมั่นคงทางจิตใจ เริ่มละลาย

ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน วันนี้หมดงาน ก็ราวกับจะหมดคุณค่า ยิ่งตามความคิด ลูกหลานไม่ทัน ก็แทบจะตกรุ่นกันไปเลย พูดกันไม่รู้เรื่อง

วัยชรา คือ โลกใหม่ของมนุษย์อีกโลกหนึ่ง ที่คล้ายกับใบแรก เมื่อครั้งลืมตาดูโลก ตอนเป็น "ทารก" ทำอะไรด้วยตนเองยากขึ้น อยากจะได้ อยากจะทำอะไร ก็ไม่สมหวัง

ทารกมีอนาคตรอ แต่คนชรามีความตายรอ !

คนวัยนี้ หากลูกหลานขาดคุณธรรมกตัญญู คนแก่ก็จะเป็นเพียงตอไม้ ตั้งโด่เด่ ในบ้านของตัวเอง

"ศาสตร์แห่งวัยชรา" จำเป็นต้องศึกษา เนื่องจากเงื่อนไขชีวิตเปลี่ยนไป จำต้องปรับตัวเอง ตามสภาพ เหมือนงบประมาณ ที่เบิกได้เป็นแสน แต่วันนี้ เบิกได้แค่พัน จะทำอะไรดี!

ไม่ใช่งานได้เงิน แต่งานอะไรก็ได้ ที่พอจะแบ่งเบาภาระจากคนอื่น คนแก่หลายๆคน ออกไปกวาดถนนหน้าบ้าน ช่วยเก็บขยะบ้าง ช่วยงานบ้านบ้าง ช่วยเลี้ยงหลานบ้าง หางานบำเพ็ญประโยชน์

ทำงานเพื่องาน เพื่อคุณค่าของตัวเอง ทำงานเพื่อเงิน น่าจะพอกันที

เป็นการยากที่จะเห็นคุณค่าของ "งานบริการรับใช้" "งานช่วยเหลือผู้อื่น"

คนมีน้ำใจ ชอบบริการ ชอบช่วยคนอื่น ทางการแพทย์ค้นพบว่า ร่างกายของเขา จะมีภูมิต้านทานโรค ที่สูงขึ้น

วันนี้ ทำความดีแล้วหรือยัง?

สะสมกรรมบท ๓ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม สม่ำเสมอ สิ่งไม่ดี ก็พยายามหลีกเลี่ยง สิ่งดีๆ พยายามทำให้มากเข้าไว้ เป็นต้นทุนของอนาคต ของชาติหน้าต่อๆไป

ความชราสำหรับผู้มีสติ มีศีลสังวร จะกลับกลายเป็นความอบอุ่น ของลูกหลาน ประสบการณ์มากมาย อาจมีโอกาสถ่ายทอด

คนชราที่เอาแต่ใจตัว เรียกร้องสิ่งต่างๆกับลูกหลาน เรียกร้องการดูแล เอาใจใส่ เรียกร้องการกิน การอยู่ โอกาสที่จะถูกโดดเดี่ยว มีเปอร์เซ็นต์สูงมาก

แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน ก็ด้วยเหตุนี้

แก่อย่างมีมาด มีเสน่ห์ จึงต้องแก่แบบสร้างสรร แก่แบบมีอุดมคติ

ทำชีวิตให้เรียบง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ไม่มากเรื่อง อย่าเรียกร้องอะไรพร่ำเพรื่อ ลูกหลานทุกคน ต่างมีภาระ สายตัวแทบขาดกันทั้งนั้น

ยิ่งไม่อยากเป็นภาระ เขากลับยิ่งอยากดูแลเอาใจใส่ นี่แหละเสน่ห์ ของคนแก่ที่สร้างสรร

เป็นเสน่ห์ และเป็นพลัง สิ่งสำคัญก็คือ อย่าอยู่นิ่ง ต้องหางานทำอยู่เสมอ

ระวังตัวเองอย่าผิดศีล ระวังตัวเองเรื่องคำพูดที่เผลอ มักจะดุด่า ส่อเสียด หรือเรื่อยเจื้อย น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง

ระวังจิตของเรา จะโกรธ จะเกลียดใคร ก็หยุดไว้ ระวังความคิดที่เป็นอกุศล อย่ามากล้ำกลาย

ไหนๆ ก็รอตาย ชีวิตที่เกิดเปรียบประดุจยืนอยู่บนสายพาน ที่เคลื่อนไปช้าๆ มีเป้าหมายที่หลุมศพ

เกิดมาเพื่อรอตาย! แต่จะตายทั้งที ก็ควรรู้จักสะสมความดีใส่ตัว

คนแก่บางคน ปฏิเสธเลี้ยงลูกหลาน ก็พานจะว่างมากเกินไป ก็ไม่ถูกนัก

การทำงาน ทำให้มีคุณค่า การทำงานจะทำให้เราแก่ช้าลง โรคน้อยลง!

อยากให้ข้อคิดว่า ความแก่ ก็แค่วันนี้ แต่สำหรับชีวิตที่ผ่าน การเวียนว่ายตายเกิดนั้น อายุจริงของเรา กี่ล้านๆปี ก็ยังตอบยาก

แก่-ชราของวันนี้ จึงเป็นสมมุติ อย่าพึ่งหยุดนิ่ง ไม่ยอมทำกิจกรรม

คนแก่กับคนทำงาน ใครว่าต่างคนต่างอยู่

ทำตัวอย่าเป็นภาระใคร ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เวลาจากโลก ก็จะได้ภูมิใจ!

และสำหรับลูกหลาน โปรดอย่าได้ดูแคลน "วัตถุโบราณ" ที่อ่อนไหว หมั่นสนใจ ดูแล เอาใจใส่

วันนี้แม้หมดประโยชน์ต่อเรา แต่จำอดีตเมื่อครั้งเรายังเด็กได้ไหม ใครกล่อมเห่ เลี้ยงดู?

คนแก่ป่วยบ่อย บางทีก็เพราะลูกหลานทิ้งขว้าง ไม่สนใจ

เข้าบ้านทีไร หมั่นชวนคนแก่คุยบ้าง เจ๊าะแจ๊ะสักหน่อย สุขภาพท่านจะดี อย่างประหลาด

คนแก่ก็เหมือนคนป่วย มีอาการไม่ครบ ๓๒ ขอร้อง อย่าวางมาตรฐาน กฎเกณฑ์ ของชีวิต ให้สูงเกินไปนัก

เฉลียวใจ ฉุกคิดสักนิด คนแก่ที่แท้ ก็คือคนป่วย เราจะได้ไม่เหนื่อยหน่าย แต่กลับต้อง เอาใจใส่

โลกอาจรอด ด้วยกตัญญู ลูกหลานต้องระลึกบุญคุณของท่านเมื่อครั้งอดีต

จะได้รักท่าน ดูแลท่านให้มากกว่าวันนี้ และเป็นตัวอย่างที่ดี ให้แก่ลูกหลานของเรา ที่กำลังเติบโต ขึ้นมา เป็นคลื่นลูกใหม่

ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน!

บทเพลงแห่งความตายของมนุษย์ เริ่มโน้ตตัวแรก ตั้งแต่เสียงอุแว้ดังขึ้น.

 
ช่วงเวลาพักผ่อน รอบบ้านรอบตัว .. ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๗ หน้า ๔ - ๙