หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ต่างคนจงจนให้ประเสริฐ เศรษฐกิจจะเลิศลอย (นัยปก)

เภสัชกรท่านหนึ่งได้พบสัจธรรมในชีวิตว่า การเปิดร้านขายยา ถูกๆ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน ที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เป็นการแก้ปัญหา ที่ปลายเหตุ ดีไม่ดีชาวบ้านก็พานคิดไปว่า ยาที่ขายถูกๆ อย่างนี้คงเป็นของที่ไม่ดีไปด้วยซ้ำ เขาจึงตัดสินใจ ปิดร้านขายยา ที่ทำกำไร เดือนละหลายหมื่นบาท ไปทำงานกับองค์กร พัฒนาเอกชน เพื่อเข้าไปแก้ไข วิถีชีวิต ของชาวบ้าน ให้ถูกสุขลักษณะ โดยเน้นการป้องกัน ดีกว่าการรักษา เขาได้เงินเดือน ไม่กี่พันบาทเท่านั้น

แต่สุดท้ายเขาได้พบว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้นเปลี่ยนแปลง ได้ยาก ถ้าหากไม่รักดี แถมติดอบายมุขกัน อีกเพียบ เขาจึงทิ้งเงินเดือน ไม่กี่พันบาท ออกมาอยู่กับสังคมใหม่ ที่มุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นก็คือการมุ่งสร้าง ให้คนดี มีคุณธรรม เมื่อเปลี่ยนคนเป็นคนดี มีคุณธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ย่อมดีตาม ไปด้วย

ในสังคมใหม่เขาทำงานโดยไม่มีรายได้ ไม่มีสิ่งตอบแทน เขาได้พบสัจธรรมว่า ชีวิตที่ทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือนนั้น เป็นชีวิตที่สามารถ พัฒนาตัวเองได้ อย่างเต็มที่ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยไม่ต้องสูญเสียเวลา ไม่ต้องว้าวุ่น กับเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ประการใด ชีวิตของเขา จึงไม่ต่างอะไร กับเครื่องจักรกล ทรงประสิทธิภาพ ที่ตั้งหน้าตั้งตา สร้างผลิตผล สะพัดออกไป ให้แก่สังคมโลก โดยกินน้อย ใช้น้อย เพื่อให้สิ้นเปลือง ทรัพยากรของโลกแต่น้อย

และเป็นธรรมดาแสนธรรมดาเมื่อต่างคนต่างไม่เก็บกักเอาไว้ ส่วนรวมหรือส่วนกลาง ย่อมเจริญ มั่งคั่งขึ้นมา ก่อให้เกิดระบบ สาธารณโภคี (การกินใช้ร่วมกัน) ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งไม่ต่างอะไร กับยุคพระศรีอาริย์ ที่มีต้นกัลปพฤกษ์ อยู่ทั้งสี่ทิศ ใครอยากจะกิน อยากจะได้อะไร ที่นี่มีบริการไว้ อย่างสมใจนึก

และยิ่งทุกคนต่างพ้นจากมิจฉาอาชีวะ (ทำงานโดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใด ตอบแทนมาให้แก่ตน แม้แต่เงิน) ทุกคนก็ยิ่ง จะสามารถ เพิ่มสมรรถนะ และความขยันกับตนเองได้สุดตัว โดยเป็นการทำงาน เพื่องานที่แท้จริง มิใช่ทำงาน มุ่งเงิน หรือเพราะมีเงิน เป็นตัวล่อ หรือต้องจำใจทำ เพราะความอยาก จะได้เงินเท่านั้น

ในสังคมทุนนิยมที่ทุกคนต่างแย่งชิง ไขว่คว้า มุ่งหาแต่ "เงิน" พยายามกอบโกย โกงกิน ยอมทำบาปต่างๆ นานา ก็เพื่อจะได้มาซึ่ง "เงิน" ยอมขายยาบ้า ขายสิทธิ์ขายเสียง ขายตัว ขายเกียรติ ขายศักดิ์ศรี ก็เพื่อที่จะได้มีเงิน ยอมเป็น สุนัข รับใช้นายทุนต่างชาติ และผู้มีอำนาจฉ้อฉล ก็เพราะอยากจะได้เงิน ชีวิตในระบบทุนนิยม ที่มุ่งจะให้ได้มาแต่ "เงิน" จึงเป็นชีวิตแทบจะไร้ประโยชน์ ไร้คุณค่าต่อสังคม และเมื่อต่างคน ต่างกอบโกย กักตุนกันเอาไว้ ส่วนกลาง ก็ย่อมขัดสน ขาดแคลน เป็นธรรมดา

"ทำนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีเหลือแต่หนี้กับซัง" คือ คำขวัญที่ชาวนา พากันต้องเผชิญ แม้จะดิ้นรน หาเงิน ยังไงๆ ก็ได้แต่ยอดหนี้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆถึงจะเปลี่ยนมาปลูกปอ ปลูกมัน แต่กับดักของทุนนิยม ก็ยังคอยดักหน้า ดักหลัง เอาไว้อยู่ดี

ชุมชนศีรษะอโศก
อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นชุมชนที่เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก ชาวบ้านอยู่กันอย่างยากจน เพราะทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือน และแม้จะอยู่ในจังหวัดที่ชื่อว่ายากจน จนขนาดเด็กกินดิน แต่เมื่อชาวชุมชน ไปอยู่กันได้ไม่นาน ก็เปลี่ยนแปลง จากสภาพ พื้นที่ที่เคยเป็นไร่ปอ ไร่มันสำปะหลัง ที่ชาวบ้าน เคยทำกันมาก่อน มาเป็นสวนผลไม้ มีตั้งแต่ทุเรียน เงาะ ลองกอง และผลไม้อีกหลายๆ อย่างที่ปลูกได้ ในจังหวัดจันทบุรี

เพราะเมื่อสมาชิกของชุมชน ไม่เห็นแก่เงิน จึงทำให้ชาวบ้านพากันหันกลับมาพึ่งตัวเอง ปลูกในสิ่งที่เรากิน และกิน ในสิ่งที่เราปลูก จึงทำให้ชีวิตที่ยากจน แต่ร่ำรวยความขยัน และความสามารถ (คนจนที่ประเสริฐ) ย่อมพาเศรษฐกิจ ให้เลิศลอย จากไร่ปอไร่มันสำปะหลังที่ไร้ค่า มาเป็นสวนเงาะ สวนทุเรียน ด้วประการ ฉะนี้ แต่คนที่ร่ำรวย แต่ยากจน ความขยัน และความสามารถ ย่อมยังเศรษฐกิจให้พินาศ จนเดือดร้อนกันมา จนถึงทุกวันนี้เช่นกัน

จริงจัง ตามพ่อ

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)