หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตไสย หรือ วิทย์ เวทีความคิด ...เสฏฐชน


รายการสถานีวิทยุแห่งหนึ่งนำเรื่องความนิยมการแก้ปัญหาของคนในยุคนี้ มาวิเคราะห์ว่าใช้ "ไสยศาสตร์" หรือ "วิทยาศาสตร์" มากกว่ากัน เมื่อเทียบเคียงกัน สมัยก่อนสถิติ ใช้ไสยศาสตร์ ได้คะแนนถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบัน ๕๐ : ๕๐ แสดงว่ามีพัฒนาการดีขึ้น เนื่องจากสิ่งแวดล้อม เอื้ออวยต่อการพิสูจน์ให้คน ชัดเจนได้ว่า ชีวิตต้องอยู่กับ ความเป็นจริง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จนกระทั่งนอนหลับไป วันหนึ่งๆ สิ่งที่คนบริโภค ไม่ว่าจะเป็นบริโภคนอกหรือใน ล้วนเป็นประดิษฐกรรม จากวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น นับแต่ขันล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เสื้อผ้า อาหาร ของใช้รอบๆ ตัว เพียงเท่านี้ ก็ต้องยอมจำนนว่า ชีวิตขึ้นอยู่กับ วิทยาศาสตร์จริงๆ

ในทางพุทธศาสนาก็ไม่ค้านแย้ง มิหนำซ้ำ ผู้ศึกษาศาสนาพุทธที่ถูกทาง ก็ยืนยันว่าศาสนาพุทธ เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เหนือชั้นกว่าด้วย โดยเฉพาะ "กฎแห่งกรรม" ที่นักวิทยาศาสตร์ ไม่อาจคิดค้นเครื่องมือ มาใช้กำกับได้ นอกจาก เครื่องมือธรรมชาติ ที่เรียกว่า "อายตนะ" ที่แต่ละคนได้มาโดยกรรม จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา เมื่อมี "จิตบริสุทธิ์" เพียงพอในการใช้

แต่ถ้าไม่ศึกษาเรื่องจิตบริสุทธิ์ พยายามทำให้ถึงจิตบริสุทธิ์ คนก็ไม่อาจหลุดพ้น จากวงโคจร ของไสยศาสตร์ได้ ตราบเท่าที่ "โมหะจิตซึ่งเป็น ต้นกำเนิดของไสยศาสตร์" นั่นครอบครองอยู่

โมหะจิต อวิชชา ความมืดบอด ไสยดำ ล้วนเป็นเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกัน สุดแต่จะเรียก ไปตามวาระ หน้าที่ ที่ใช้งาน "เป็นเรื่องตรงกันข้ามกับพุทธ" ซึ่งหมายถึง ความสว่างไสว แจ่มแจ้ง เข้าถึงตามความจริง แต่จะต้องอาศัย การขัดเกลากิเลส เป็นพื้นฐาน ไม่ต่างจาก ที่เราต้องการแสงสว่าง ก็ต้องกำจัด ความมืดออกไป ต้องการเหล็ก เนื้อดีแท้ ก็ต้องกะเทาะสนิมทิ้งเสีย ไม่มีวิธีอื่นอีก นอกจากนี้

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าถึงพุทธที่เป็นธรรมะทวนกระแส เพราะปกติของคน ชอบตามใจกิเลส และมักยก เหตุผล ตามกิเลส เสริมส่งพฤติกรรมของตัวเอง โดยไม่ยอมรับว่า "เคราะห์ร้าย" มาจาก "กรรมชั่ว" ส่วน "โชคดี" มาจาก "กรรมดี" หลงว่าเป็นแรงบันดาล ของสิ่งประหลาดอื่น ดาษดื่นไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ รูปทรงแปลกๆ สัตว์ที่เกิดมา ผิดแผก จากเผ่าพันธุ์เดิม ต้นไม้แทงดอกออกผล แตกแขนงพิลึกพิกล คนก็ไปกราบไหว้ ขอโชคลาภ สะเดาะห์
เคราะห์กันได้

การทำตามๆ กันไป เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไสยศาสตร์ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในสังคม และ "การหวังผลเกินเหตุ การไม่อยาก ลงทุนลงแรงเหนื่อยยาก ความปรารถนาสูงเกินตัว" ล้วนเป็นเครื่องชักนำ ให้คนเข้าหาไสยศาสตร์ ทั้งสิ้น เช่น เมื่ออยากได้เงินเยอะๆ รวยเร็วๆ ก็คิดว่าไซดักปลา หลวงปู่โน้น หลวงปู่นั้นดี นางกวัก ลูกอมหลวงตานั้นเยี่ยม การเสกยัด อัดเป่าวัตถุไสยคุณเหล่านี้ จึงเกลื่อนกล่น มีให้เลือกตามยุคสมัย ราคาต่อรองขึ้นลง เหมือนหุ้น ในตลาด ค้าหุ้น ผลัดกันโด่งดัง ตามกระแส ผู้นำมาใช้ ชี้แนะต่อๆ กันไป แทนที่จะใช้หลักธรรม คำสั่งสอนของ พระพุทธองค์ แก้ปัญหา

การทำนายทายทัก จะถูกหรือผิดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่เป็นรูปธรรม และ นามธรรม ทางตรงหรือทางอ้อม หาใช่ไม่มีเหตุนำพา นั่งหลับตาเอาได้ เพียงอย่างเดียว ต้องอาศัย ความใกล้ชิด สัมพันธ์คลุกคลีกันบ่อยๆ อาจถูกได้บ้าง จากความซ้ำซาก แต่ก็มีความคลาดเคลื่อน จากตัวแปรอื่นอีก เกินคาดเดาถึง เมื่อโลกนี้ยังเต็มไปด้วย ความปรุงแต่งสารพัด พระพุทธองค์จึงจัดศาสตร์แขนงนี้ไว้ ในหมวดของ "เดรัจฉานวิชา" เนื่องจาก ไม่อาจพาออกไป จากวังวนของกิเลส ตัณหา อุปาทานได้นั่นเอง

พุทธวิชชา เป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่ต้องประยุกต์อะไรอีกเลย ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน สร้างปมให้ปวดเศียร เวียนเกล้า เฉกเช่น อาทิตย์ย่อมให้แสงสว่าง ในเวลากลางวัน พระจันทร์ทอแสง ในยามค่ำคืน ไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ดังคำกล่าวว่า "ทำดี ดีทันที ทำชั่ว ชั่วทันใด" ตัวผู้ทำนั่นแหละ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่รู้ เพราะรู้คือรู้ ไม่รู้คือไม่รู้ ตรงก็คือตรง จริงก็คือจริง ไม่เป็นอื่นไปได้ ผู้แม่นเป้าอย่างนี้ ก็หมดความสงสัย และจะเข้าถึงที่เป็นที่มา ของ ไสยศาสตร์ ได้โดยปริยาย

ถ้าอยากรู้ว่า ไสยศาสตร์เป็นอย่างไร ให้ศึกษาพุทธศาสตร์ที่ถ่องแท้ แล้วจะไม่สงสัยเรื่องไสยศาสตร์อีก เช่นกับ ยามแสงสว่าง สาดส่องไปทั่วห้องฉันใด เราก็จะมองเห็นสิ่งของ ในห้องนั้น ได้ทุกชิ้น ฉันนั้น หากไม่ติดอยู่ จำเพาะเจาะจง มองแต่ของชิ้นใด ชิ้นหนึ่งเท่านั้น

จริงอยู่ที่ว่าคนต้องการกำลังใจ และมักให้เหตุผลในความเชื่อที่งมงายด้วยคำพูดเชิงขู่ขวัญว่า "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่" แม้ว่าความเชื่อหรือ ไม่เชื่อจะขึ้นอยู่กับจิตใจของ ปัจเจกบุคคล และความรู้สึกลบหลู่ เป็นจิตที่ไม่ดี ควรกำจัดออก ในเมื่อคนส่วนใหญ่ พาไปกำหนดหมายกำลังใจ จากแรงตัณหา จากแรงความเชื่อ ที่นอกรีต นอกรอย พุทธธรรม กำลังใจนั้นจึงเป็นกำลังใจ แปลกปลอม ไม่ควรสั่งสม น่าที่เราจะฝึกฝนอบรม สร้างกำลังใจ ที่ตรงทิศทาง นั่นคือ "กำลังใจที่เกิดจาก การต้านกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน" เหมือนกับนักว่ายน้ำ ทวนกระแสที่เก่งๆ มักจะชอบผจญกับ การทดสอบ ความแกร่งกล้า จากกระแสน้ำที่เชี่ยว ลึก ยิ่งสอบทานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาส เพิ่มประสิทธิภาพ ของตัวเอง มากขึ้นเท่านั้น

ฉะนั้น กำลังใจสำหรับผู้ที่ยังฝึกตนไม่ได้ดี แต่ก็พยายามฝึกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะดี จึงน่าจะมาแต่การล้มลุก คลุกคลาน ล้มแล้วล้มเล่า ก็ไม่นอนพังพาบ ไม่ลุกขึ้นมาอีก กลับจะยิ่งทำให้ เกิดความแข็งแกร่ง ในการล้ม แต่ละครั้ง เช่นเดียวกับ กระดูกของเด็ก ที่เริ่มหัดเดิน ก็จะเพิ่มความทนทาน ตามวัยที่ผันผ่าน ดุจประสบการณ์ชีวิต ที่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ราบเรียบ กลับเป็นเส้นทาง ฝึกหัดให้เชี่ยวชาญ สำหรับนักขับรถที่ดี ในอนาคต หากผู้นั้น ไม่ด่วนเกิด อัตตามานะ น้อยอกน้อยใจ เสียใจ จนถอนตัวออก จากทางชีวิตเสียก่อน เหมือนนักวิทยาศาสตร์ ที่กว่าจะค้นคว้า ผลิตผล สิ่งใดออกมา สู่ชาวโลก ก็ต้องอุทิศตัว เพื่อการทดลอง ครั้งแล้วครั้งเล่า บางคนอาจใช้เวลา เกือบตลอดชีวิต กว่าได้ผลงานออกมา เปิดเผยแก่ชาวโลก

ตรงกันข้ามกับชีวิต ที่มุ่งแต่จะขอ อ้อนวอน ติดสินบน ผู้ทำไสยคุณ นานารูปแบบ ยอมจ่ายค่าเสียรู้ โดนหลอก เอาค่าตอบแทน โดยไม่รู้เท่าทัน สุดท้ายไม่อาจคลี่คลายปัญหาใดๆ ได้ มิหนำซ้ำ จะยิ่งเป็นการเพิ่มพูน ความสลับ ซับซ้อน ของปัญหาเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการให้หมอ เสน่ห์ยาแฝด เสียเงินไปเช่าลูกอม ธนูทอง ฯลฯ น่าจะเกิดไหวรู้ เปลี่ยนความเชื่อใหม่ หันกลับมาใช้หลักความจริงแก้ไข เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ให้ดีขึ้น ลดการ ใช้จ่ายลงอีก บริโภคแต่สิ่งที่ จำเป็นต่อชีวิตจริงๆ ไม่ทะเยอทะยานอยากเกินฐานะ เกินความสามารถ รู้จักพอ ไม่เกียจคร้าน ไม่รังเกียจความยากจน มุ่งมั่นในการทำงาน เมื่อพิสูจน์อย่างนี้ ก็จะหมดความคลางแคลง เรื่องไสยคุณ อย่างสิ้นเชิง

สังคมชาวพุทธที่เปล่งพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ก็จะได้เข้าถึง ความจริง ไม่ใช่เฉพาะ การเปล่งกล่าวเท่านั้น

ยิ่งบทบาทความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราทุกวันนี้ ก็จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์เข้าไปเจือปนทุกแขนง แม้แต่ผู้สูงอายุวัย ๗๐-๘๐ ปี ที่เคยยึดถือ อาจถูกกันท่าว่า"แก่เกินไป" ก็ยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ให้สังคมทึ่งได้ ด้วยการเปิด "ชมรม oppy ชุมนุมคนแก่ หัวใจไม่ชรา เรียนอินเทอร์เน็ต" สำเร็จเป็นสิบๆ รุ่นจำนวนเป็นพันๆ คนได้แล้ว ก็น่าที่เราจะล้างถอน ความคิดชรา เก่าแก่หลงงมงาย ในไสยคุณต่างๆ ออกไปจากความเชื่อ แม้บางคน อาจจะยัง ไม่ถึง วัยแก่ก็ตาม ไม่เช่นนั้น เราก็คงจะกลายเป็น คนแก่ก่อนรุ่น ทั้งๆ ที่ยังไม่แก่เลย มิหนำใจ อาจโดนประมาทซ้ำ เข้าไปว่า "แก่จนเก่าเกินทำ-ก่อประโยชน์" ให้สังคมอีก เพราะมัวแต่หลง อยู่ในโลก ของไสยศาสตร์ นั่นเอง

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)