เข้าพรรษาเอาบุญ (มหาสุวราชชาดก)

๏ เข้าพรรษาทั้งที
เพ่งเพียรดีให้ได้
แม้ลำบากยากไร้
ทนดีไว้เอาบุญ.

ภิกษุ รูปหนึ่งเรียนธรรมวินัยในสำนักของพระศาสดาแล้ว ก็เดินทางไปพำนักอยู่ริมป่าแห่งหนึ่ง อาศัยบิณฑบาต จากชาวบ้านชายแดนในแคว้นโกศลนั้น พวกชาวบ้านก็มีใจศรัทธาท่าน จึงช่วยกัน ปลูกสร้างที่พักให้ เพื่อเป็นสถานที่บำรุงภิกษุนั้นไว้ด้วยความเคารพ

ถึงเวลาเข้าพรรษา....ภิกษุก็อยู่จำพรรษาในที่นั้น แต่ช่วงเดือนแรกปรากฏเพลิงไหม้ในหมู่บ้าน แม้แต่พืชผัก ผลไม้ก็ถูกไฟเผาแทบไม่มีเหลือ ชาวบ้านจึงไม่สามารถถวายบิณฑบาต อันประณีต แก่ภิกษุนั้นได้ ดังนั้น แม้ภิกษุจะมีที่อยู่อาศัยสุขสบาย แต่ก็ต้องลำบาก เรื่องอาหารขบฉัน ทั้งได้น้อยทั้งเป็นอาหารหยาบอีกด้วย ส่งผลกระทบให้จิตเศร้าหมอง ไม่สามารถปฏิบัติ มรรคและผลให้บังเกิดขึ้นได้

ล่วงไปได้สามเดือนออกพรรษาแล้ว ภิกษุนั้นจึงเดินทางกลับมาเข้าเฝ้าพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงทำ ปฏิสันถาร แล้วตรัสถามว่า

"ดูก่อนภิกษุ เธอจำพรรษาที่ใด ที่พักอาศัยเป็นที่สบายดีอยู่หรือ ลำบากหรือไม่เล่า ในการบิณฑบาต"

ภิกษุนั้นได้กราบทูลตามความจริงให้ทรงทราบ พระศาสดาทรงรับฟังแล้ว ก็ตรัสสอนว่า

"ธรรมดาของความเป็นสมณะนั้น เมื่อมีที่อยู่อาศัยอันเป็นที่สบายแล้ว ก็ควรละความโลภ ในอาหารเสีย พึงยินดีฉันตามที่ได้มานั่นแหละ เพ่งเพียรกระทำสมณธรรมไป เพราะโบราณ บัณฑิตในอดีต แม้เกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน ต้องเคี้ยวผงแห้งในต้นไม้ที่ตนอยู่อาศัย ก็ยังละความโลภในอาหารได้ มีความสันโดษ ไม่ยอมทำลายธรรมแห่งความเป็นมิตรไปเสีย ก็แล้วเหตุไรเล่า เธอจึงจะมาคิดว่า บิณฑบาตได้น้อย ทั้งไม่อร่อย ควรจะละทิ้งอยู่อาศัย ที่สบายนั้นเสีย"

ภิกษุฟังความแล้วรีบทูลอาราธนา ให้ตรัสเล่าเรื่องราวของโบราณบัณฑิตนั้น พระพุทธองค์ จึงทรงแสดง ชาดก
_ _ _ _ _ _ _ _

ในอดีตกาล ที่ป่าไม้มะเดื่อแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งคงคา ณ หิมวันตประเทศ ที่นั้นมีนกแขกเต้า อาศัยอยู่ หลายแสนตัวแต่ในบรรดานกแขกเต้าเหล่านั้น มีพญานกแขกเต้าตัวหนึ่ง ไม่ยอมย้าย ที่อยู่ไปถิ่นอื่นเลย แม้ผลของต้นมะเดื่อที่ตนอาศัยอยู่นั้นหมดสิ้นไป เหลือแต่หน่อ ใบ เปลือก หรือสะเก็ดก็ตาม พญานก แขกเต้า ก็จะกินแค่สิ่งเหล่านั้น แล้วไปดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา ด้วยความมักน้อย สันโดษเป็นอย่างยิ่ง ก็เพราะความรักถิ่นเดิมของตน จึงไม่ไปหากิน ในถิ่นอื่นเลย

แม้ในเวลาต่อมา ต้นมะเดื่อนั้นจะเหลืออยู่แต่ลำต้น ซึ่งแตกปริออกเป็นช่องน้อยช่องใหญ่ เมื่อโดนลม พัดผ่าน ก็มีเสียงดังปรากฏขึ้นเหมือนใครมาเคาะตีให้ดัง แล้วยังมีผงละเอียด ไหลออกมาตามช่องต้นไม้นั้น

ถึงจะเหลืออาหารให้พอประทังชีวิตได้เพียงเท่านี้ แต่พญานกแขกเต้า ก็ยังจิกผงเหล่านั้น กินอยู่ได้ แล้วไป ดื่มน้ำ ที่แม่น้ำคงคา ไม่ละทิ้งต้นมะเดื่อไป ยังคงมาจับอยู่ที่ ยอดลำต้น มะเดื่อนั้น โดยไม่ย่อท้อ ต่อสายลม และแสงแดดเลย

เหตุการณ์นี้สะเทือนถึงท้าวสักกเทวราช (คนใจสูงผู้เป็นใหญ่) ให้หวั่นไหว ในความเป็นมิตร และความมักน้อย ของพญานกแขกเต้า จึงทรงแปลงพระองค์เป็นพญาหงส์ แล้วพา พระนางสุชาดามเหสี แปลงเป็นนางหงส์ บินไปยังป่าไม้มะเดื่อนั้น เกาะที่มะเดื่อ ต้นหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ แล้วเจรจากับพญานกแขกเต้านั้นว่า

"เมื่อใดต้นไม้มีผลบริบูรณ์ เมื่อนั้นฝูงนกย่อมพากันมามั่วสุมจิกกินผลไม้ของต้นนั้น แต่เมื่อต้นไม้นั้น หมดผลแล้ว ฝูงนกก็จะพากันจากต้นไม้นั้น บินไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่

ดูก่อนนกแขกเต้าผู้มีจะงอยปากแดง ท่านจงเที่ยวไปหากินในที่อื่นเถิด อย่าได้มาตาย เสียที่นี่เลย ทำไมท่าน จะต้องมาซบเซาอยู่ที่ต้นไม้แห้งนี้ด้วย แน่ะ! นกแขกเต้า ผู้มีขนเขียว ดุจป่าไม้ในฤดูฝน เหตุใดท่านจึง ไม่ยอมทิ้งต้นไม้แห้งนี้ไป"

"ข้าแต่พญาหงส์ ชนเหล่าใดเป็นเพื่อนแท้ ย่อมอยู่ร่วมสุขร่วมทุกข์กันไปจนตลอดชีวิต ชนเหล่านั้น เป็นสัตบุรุษ (คนดีผู้มีสัมมาทิฐิ) ระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่ละทิ้ง เพื่อนผู้สิ้นทรัพย์หรือยังไม่สิ้นทรัพย์ ไปได้เลย

ดูก่อนพญาหงส์ ต้นไม้นี้เป็นทั้งญาติ เป็นทั้งเพื่อนของเรา และเราก็เป็นสัตบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งไม่อาจละทิ้ง ต้นไม้นี้ไปได้ ก็การที่จะละทิ้งไป เพราะตันไม้นี้หมดสิ้นผลแล้ว ช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย"

ได้ฟังถ้อยคำของพญานกแขกเต้าแล้ว พญาหงส์ยิ่งศรัทธามากกว่าเดิม อดยกย่องมิได้ว่า

"ความเป็นเพื่อน ความมีไมตรี ความสนิทสนมกัน ท่านทำได้อย่างดีแล้ว ถ้าท่านชอบใจ ธรรมอย่างนี้ ท่านก็เป็น ผู้ควรที่วิญญูชนทั้งหลายพึงสรรเสริญ

ดูก่อนพญานกแขกเต้าผู้มีปีกเป็นพาหนะ มีคอโค้งเป็นสง่า หากเราสามารถให้พร (สิ่งประเสริฐ) แก่ท่านได้ ท่านจะเลือกอะไร ตามที่ ที่ใจท่านปรารถนาเล่า"

แทบไม่ต้องคิด พญานกแขกเต้าตอบทันทีว่า

"ถ้าท่านสามารถจะให้สิ่งประเสริฐแก่ข้าพเจ้าได้ ก็ขอให้ช่วยต้นไม้เหล่านี้ ให้มีอายุยืนสืบไป มีกิ่ง มีใบ มีผล ดกงามดี ผลมีรสหวานปานน้ำผึ้ง ลำต้นตั้งอยู่อย่างสง่างามเถิด"

พญาหงส์จึงให้พร (สิ่งประเสริฐ) ตามนั้น เนรมิต (สร้าง) ให้แก่พญานกแขกเต้า แล้วกล่าวว่า

"ดูก่อนเพื่อน ท่านจงดูต้นมะเดื่อเหล่านี้เถิด เราจะช่วยให้ต้นมะเดื่อมีกิ่งก้านใบ มีผลงอกงามดี และ ผลมีรสหวาน ปานน้ำผึ้ง ตั้งอยู่ได้อย่างสง่างาม เราจะให้ท่านได้อยู่ร่วมกันกับ ต้นมะเดื่อนี้ตลอดไป"

พญาหงส์เนรมิตให้แล้ว ก็กลายเพศจากหงส์กลับเป็นท้าวสักกเทวราชตามเดิม แสดงอานุภาพ ด้วยการเอา พระหัตถ์วักน้ำจากแม่น้ำคงคา มาประพรมต้นมะเดื่อให้อีก

ฉับพลันทันใดนั้น....ต้นมะเดื่อก็ผลิดอกออกผล สมบูรณ์ด้วยกิ่งใบและคาคบ มีผลอร่อย ยืนต้นอยู่ อย่างสง่างาม

เห็นความอัศจรรย์เกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว พญานกแขกเต้ายินดียิ่งนัก กล่าวขอบคุณว่า

"โอ....ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญสุข พร้อมกับพระญาติทั้งปวง เสมือน ข้าพระบาท มีความสุข เพราะได้เห็นต้นมะเดื่อ เผล็ดผลในวันนี้"

ท้าวสักกเทวราชทรงทำให้ต้นมะเดื่อมีผลงอกงามแล้ว ก็เสด็จกลับวิมานของพระองค์ พร้อมกับ พระนาง สุชาดามเหสี
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _

ครั้นพระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบ จึงตรัสว่า

"ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอนุรุทธะในบัดนี้ ส่วนพญานกแขกเต้าในครั้งนั้น ได้มาเป็นเรา ตถาคตในบัดนี้"

แล้วทรงกล่าวย้ำเน้นกับภิกษุนั้นอีกว่า

"นี่แหละภิกษุ โบราณบัณฑิตแม้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังไม่โลภในอาหาร แต่นี่เธอบวช ในศาสนา ของเราเห็นปานนื้ ไฉนจึงยังโลภอาหารการกินอีก เธอจงไปอยู่ในสถานที่เดิม นั่นแหละ เป็นการฝึกดีแล้ว สำหรับเธอ"

จากนั้นก็ทรงอบรมสั่งสอนแก่ภิกษุนั้นอีก

ครั้นภิกษุกลับคืนไปสู่ริมป่าชายแดนแล้ว ก็หมั่นเพียรปฏิบัติเจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรม ปัญญาให้เกิด ความรู้แจ้ง เห็นจริง) ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก จนกระทั่ง ได้บรรลุธรรม เป็น พระอรหันต์องค์หนึ่ง

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๒๒๖
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๙ หน้า ๖๓๐)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ -