"แดนช้างต่าง" (ต่อจากฉบับที่ ๑๘๑)

สมาน เธอว่าอะไรนะ แบเลาะไม่ได้เกิดที่แว้งหรอกหรือ ฉันมาอยู่ที่แว้งก็เห็นมันอยู่ที่นี่แล้วนี่ ว้า เสียดายจัง ฉันนึกว่าแบเลาะเป็นช้างแว้งเสียอีก แล้วมันมาจากที่ไหนล่ะ?" น้อย ถามสมานวันรุ่งขึ้น

"มันไม่ได้เกิดที่นี่หรอกน้อย มันมาจากกลันตันแน่ะ" สมานตอบน้อยสั้นๆ

"อ้าว งั้นมันก็ไม่ใช่ช้างไทยซี ใครเอามันมาล่ะ? เธอรู้หรือเปล่า เล่าหน่อยได้ไหม" น้อยอ้อนวอนเพื่อน

"เรื่องมันยาว เธออยากรู้ไปทำไม ไม่เห็นเพื่อนคนไหนเขาถามถึงมันเลย เมื่อวานซืน แชเอามัน ไปลากไม้จาก ภูเขา แชเลี้ยงมันที่ฆูปง (ชื่อหมู่บ้านในอำเภอแว้ง) แต่วันนี้ จะพามันมาในอำเภอ" สมานเปลี่ยนเรื่อง

"ฉันชอบช้าง เธอก็รู้ ยายเคยเล่าให้แม่ฟัง แล้วแม่ก็เล่าฉันต่อว่าช้างเป็นสัตว์ที่ดีมาก เวลาโขลงช้าง ลงอาบน้ำ ในคลอง ลูกช้างจะไม่อาบเหนือแม่มันเลย มันรู้ว่า มันไม่ควรทำ ยายว่าอย่างนั้นนะ แบเลาะ ของเธอ ก็เป็นอย่างนั้นใช่ไหม มันเคารพแม่มัน เหมือนกัน" น้อยเปลี่ยนเรื่องบ้าง

"ไม่รู้ซี ฉันไม่เคยเห็น แบเลาะอาจจะทำอย่างนั้นเหมือนกันมั้งถ้ามันมีแม่ แต่มันไม่มีแม่" สมานตอบ น้อยได้ที จึงถามว่า

"มันเป็นช้างกำพร้าเหรอ แม่มันตายหรือไง ฉันนึกว่าแบเลาะเป็นช้างของแชโต๊ะเจ๊ะสฺแม ตาของสมาน เสียอีก ไม่ใช่หรอกหรือ ฉันเพิ่งรู้ว่า แชเธอซื้อมันมาจากกลันตัน"

"ก็ใช่ แบเลาะเป็นช้างของแชฉัน แต่มันไม่ได้เกิดในป่าที่แว้ง แชไม่ได้ซื้อมันมาจากกลันตัน แชเอา มันหนี มาจาก กลันตันต่างหาก" สมานเริ่มเล่า

เสียงของน้อยที่อุทานว่า "แชต้องเอามันหนีจากกลันตันหรือ ทำไมนะ?" ทำให้เพื่อนๆ ทั้งชาย และหญิง รวมทั้ง มามุที่เรียนต่ำกว่าหนึ่งชั้น เริ่มขยับเข้ามาล้อมเด็กทั้งสอง น้อยพูดต่อว่า

"สมานเล่าให้พวกเราฟังหน่อยได้ไหม ฉันทายว่าเพราะแบเลาะเป็นช้างที่สวยมาก แชเลยต้อง พามันหนีมา ที่แว้ง มันเป็นช้างสวยที่สุดตั้งแต่ฉันเคยเห็นเลยแหละ แล้วมันก็ใจดีด้วย"

น้อยชมแบเลาะอย่างจริงใจ เธอเห็นภาพช้างพลายตัวสูงใหญ่ กำยำ งายาวโค้งหงาย เกือบจรดดินเชือกนั้น แต่ประพนธ์ กลับตั้งข้อสังเกตอีกทางหนึ่งว่า

"ฉันก็ว่ามันสวย แต่ทำไมแชถึงเรียกมันว่า แบเลาะล่ะ สวยก็น่าจะตั้งชื่อให้มันว่า จอแม หรือไม่ก็ ลาวา (จอแม แปลว่า สวยแบบน่ารัก ส่วน ลาวา แปลว่าสวยแบบสง่า) ซี นี่ให้ชื่อมันว่า แบเลาะ ไม่เห็นมันแบเลาะ สักกะนิดนึง ตัวมันใหญ่โตแข็งแรงยังกับอะไรดี งาก็สวยจะตาย ไม่น่า มาเรียกว่า 'คด' เลย สมานเล่า ให้เราฟังเหอะ ไม่ใช่น้อยคนเดียวหรอกที่ไม่รู้มาก่อน พวกเราก็ไม่มีใครรู้มาก่อนเลยเหมือนกัน แล้วเราก็ อยากรู้เรื่องด้วย"

เมื่อถูกเพื่อนรบเร้ามากเข้า สมานจึงเล่าว่า

"แชฉันไม่ใช่คนแว้งหรอกนะ แชมาจากกลันตัน ตอนอยู่กลันตัน แชเป็นคนจับช้าง ภาษาไทยเรียกว่าอะไร ก็ไม่รู้ - ภาษามลายูเขาเรียกว่า 'กุวง' น่ะ"

"อ๋อ ก็เป็นคนเลี้ยงช้างไง แบบที่เราเห็นที่เขาพูดกับช้างรู้เรื่องเมื่อวานไงน้อย ช้างของโต๊ะโมงน่ะ" มามุว่า

"ไม่ใช่ มามุ" สมานปฏิเสธทันที "นั่นคนเลี้ยงช้าง แชฉันไม่ใช่คนเลี้ยงช้าง แค่คนเลี้ยงช้าง ถ้าเข้าป่าไปจับช้าง อย่างแชของฉัน ก็ต้องถูกช้างเหยียบตายไปนานแล้ว"

"อ๋อ ฉันรู้ ภาษาไทยเรียกว่าควาญ" ประพนธ์ว่าบ้าง

"ไม่รู้หละ แต่แชฉันไม่ใช่คนเลี้ยงช้าง แชเป็นคนที่เก่งมาก เป็นคนที่เข้าไปจับช้างในป่า คนที่เข้าไปจับช้าง อย่างนั้น ต้องเป็นคนที่รู้มนตร์ป้องกันตัวเองไม่ให้ช้างทำร้าย" สมานหยุดเล่า ไปนิดหนึ่ง น้อยจึงถามแทรก ขึ้นว่า

"แล้วแชของสมานไปจับช้างให้ใครล่ะ?"

"แชจับช้างให้สุลต่านกลันตัน ทีนี้ตอนนั้นแชจับช้างได้มาก แล้วสุลต่านก็เอาไว้เอง หมดทุกตัวเลย นอกจาก แบเลาะ" สมานเล่าช้าๆ จนน้อยต้องถามว่า

"ทำไมสุลต่านไม่เอาแบเลาะล่ะ สมาน -แล้วก็เมื่อคืนพ่อบอกว่า เวลาพูดถึงช้าง เขาไม่เรียกว่า ช้างหนึ่งตัว หรือ ช้างสองตัว เขาต้องว่า ช้างหนึ่งเชือก สองเชือก ถ้าแบบมลายูก็ว่า 'แอกอ' ภาษาไทยเขาว่า เชือก ถึงจะถูกต้อง"

"นั่นแหละ ตอนนั้น แบเลาะยังเป็นลูกช้างตัวนิดเดียว มันถูกจับมาพร้อมกับแม่ สุลต่าน เขาเอาแม่ของมันไป เขาไม่เอาตัวลูก เขาว่าแบเลาะหลังคดนิดนึง มันก็เลยต้องแยก จากแม่ของมัน-"

"ญาญอดิยอซางะ เว! (โถ! เวทนามันจัง)" เสียงเด็กไทยมุสลิม พึมพำเป็นภาษามลายูก่อน แล้วก็พยักหน้า ร่วมพูด ภาษาไทยต่อ กับเพื่อนไทยพุทธว่า "นะ นะ น่าสงสารจัง" เมื่อต่าง ก็มีความรู้สึกตรงกัน คือเวทนา แบเลาะ ช้างน้อยกำพร้าแม่

"แชก็ญาญอมันเหมือนกัน มันยังไม่หย่านมแม่เลยนะ ถ้าแชไม่เลี้ยง มันไม่มีแม่ มันก็ต้องตาย เท่านั้นเอง จะกลับเข้าป่า มันก็คงกลับไม่ได้ เหมือนเด็กกฺจิ๊ๆ (เล็กๆ)" สมานว่า

"แชของเธอก็ต้องเลี้ยงมันซีนะ แล้วแชเอานมที่ไหนให้มันกินล่ะ?" มณีพรรณถามบ้าง

"แชเล่าว่า ถึงมันเป็นลูกช้างตัวสูงแค่ขาแต่มันก็กินจุ แชเอานมวัว ปนกับกะทิ ให้มันกินทุกวัน จนมัน หย่านม จึงให้มัน กินหญ้า มันชื่อแบเลาะ ก็เพราะหลังมันคด นั่นแหละ แชว่ามันติดแชมาก เหมือนเป็นลูกของแช แล้วแช ก็รักมันมากด้วย มันฉลาดนะ แสนรู้ ตั้งแต่เป็น ลูกช้างแล้ว" ถึงตอนนี้สมานเล่าอย่างออกรส

น้อยเกือบจะหลุดปากว่า "แบเลาะคงแสนรู้เหมือนไอ้ดำ หมาของฉัน" แต่นึกขึ้นมาทัน เสียก่อน ว่าคนไทย มุสลิม เขาไม่เลี้ยงสุนัขกัน จึงนิ่งเสีย กำลังจะทายต่อว่า พอมันโตแล้ว เป็นอย่างไร ก็พอดีสมาน เล่าเรื่อง ที่เธอและเพื่อนๆ นึกไม่ถึงเอาเสียเลยว่า

"พอมันโตขึ้นมา หลังที่คดก็หาย แชว่ารูปร่างมันเริ่มสวยอย่างที่เขาเรียกว่า มีลักษณะดี แชสอนอะไร หัดอะไร มันก็เข้าใจ และทำได้ แม้แต่แชทำฆอเลาะ (ฆอเลาะ เป็นกริชแบบหนึ่ง ที่ผู้เขียนเคยเห็นนั้น จะไม่เป็นรูป คดไปมา อย่างที่เรียกว่า คอกริช แต่จะโค้งลง และปลาย สะบัดแหลมขึ้น เล็กน้อย มีปลอก ทำด้วยไม้สวมไว้ เวลาเดินทาง จะใกล้หรือไกลก็ตาม คนไทยมุสลิม จะเหน็บฆอเลาะ ไว้ที่เอวเสมอ นอกจาก เวลาเข้าไป ในเขตชุมชน พวกเขา จะซุกมันไว้ ตามกอต้นเหมล และบ่อยทีเดียว ที่หาไม่พบ เมื่อทางบ้านของผู้เขียน ถางต้นไม้ริมถนน ก็จะพบ ฆอเลาะ จำนวนมาก เจ้าของก็จะมา ขอคืนภายหลัง) ตกน้ำ บอกให้แบเลาะ หาให้ มันก็เอางวงควานให้จนเจอ"

"โอ้โฮ! เก่งที่สุดเลย แชก็เลยเอามันมาที่แว้งนี่ใช่ไหมเธอ?" จริยาถามด้วยสำเนียง แบบคนบางกอก

"ไม่ใช่หรอก เพราะมันฉลาดแล้วก็ลักษณะดีนี่ไง ทางสุลต่านทราบข่าวเข้าก็เรียกตัวมันไปดู แล้วพอได้เห็น ลักษณะดี ของมัน เขาก็เกิดจะเอามันขึ้นมา ตอนแรกไม่เอา พอแบเลาะ โตเต็มที่ มากลับสั่งให้เอาแบเลาะ ไปถวาย" สมานพูด สีหน้าบึ้ง อย่างไม่พอใจ "แชของฉัน ไม่ยอมให้ และแชรู้ว่า ถ้าไม่ให้ก็จะเกิดเรื่อง เพราะเขา เป็นสุลต่าน ตอนนั้น แชฉันยังหนุ่มนะ แล้วก็กล้าหาญด้วย แชก็เลยขี่คอแบเลาะบุกป่าข้ามเขา มาทาง บูเก๊ะบูงอ ข้ามแม่น้ำ ที่กั้นเขตแดนตรง โละจูด แล้วเดินต่อจนมาถึงที่แว้งนี่ไง นี่แหละเรื่องของ แบเลาะ ที่พวกเธออยากรู้ ฉันเล่าแล้วไง" สมานจบเรื่องของช้างแสนรู้ประจำอำเภอแว้งเชือกนั้น

ทุกคนนิ่งฟังสมานเล่า น้อยแลเห็นภาพของแชโต๊ะเจ๊ะสฺแมตอนหนุ่มๆ กำลังขี่ช้าง งดงาม เชือกนั้นมาทาง 'ภูเขาดอกไม้' ที่เธอนั่งมองจากหน้าร้านทุกเช้าทุกเย็น ภูเขาที่รูปร่าง เหมือนภูเขาไฟ ลูกนั้นเอง หรือที่แบเลาะ บุกป่ามาอำเภอแว้ง? น้อยถอนหายใจดัง ด้วยความรู้สึก ที่เธอเองก็บอกไม่ถูก เหมือนๆ กับตนเอง และ ครอบครัว ก็ได้ผ่านอะไรมา คล้ายกับ แบเลาะมาก จนเธอ เข้าใจมันได้อย่างดี เธอพูดออกมาว่า

"แล้วแชกับแบเลาะก็อยู่ที่แว้งอย่างมีความสุขมาจนทุกวันนี้ แว้งของเรานี่ น่าอยู่จริงๆนะ ใครไม่มีความสุข มาจากไหน พอมาอยู่ที่แว้ง ก็สุขสบายทุกคนเลย พวกเธอว่าไหม?"

เพื่อนๆ หันมามองเธอ แต่น้อยไม่แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจที่เธอต้องการพูดหรือไม่

หรือเธอเองต่างหากที่พูดให้เขาเข้าใจไม่ได้ เพียงแต่รู้สึกรักอำเภอแว้งอย่างสุดหัวใจ

"พวกเธอชอบแบเลาะมาก ก็ไปดูมันซี เย็นนี้แชจะพาฝรั่งที่จะขึ้นภูเขาไปโต๊ะโมะ แบเลาะจะทำหน้าที่ ช้างต่าง ของอำเภอแว้ง ของมันแล้วหละ ไปไหม?" สมานทำลาย ความเงียบขึ้น

"ไปซี" เสียงตอบพร้อมกันดังลั่นห้องเรียน"เลิกเรียนแล้วเราไปกันทั้งหมดเล้ย"

แล้วบ่ายวันนั้นเด็กๆ พากันเดินลัดสนามฟุตบอลหน้าอำเภอไปยังท่าช้างขึ้นของ ที่น้อย และมามุ มากัน เมื่อวาน วันนี้ไม่มีกองช้างต่าง หลายเชือกของโต๊ะโมง ที่บรรทุกสินค้า ไปโต๊ะโมะ มีแต่ช้างพลาย ยืนอยู่ที่นั่น อย่างสง่างาม เพียงเชือกเดียว ตาของสมาน และคนเลี้ยงช้าง อีกสองคนอยู่ข้างๆ มัน เตรียมพร้อมคอยฝรั่ง ที่ว่าจ้าง พาขึ้นเหมืองทอง ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ฝรั่งยังไม่มา ทุกคนตามสมานเข้ารุมล้อมรอบตัวช้างเชือกมหึมาที่ชื่อว่าแบเลาะ ทุกคน เคยเห็นมันมาแล้ว แต่วันนี้ ไม่เหมือนทุกวัน พวกเขารู้จักแบเลาะต่างจากที่เคยรู้จัก การได้รู้จักมัน จากที่สมานเล่า ทำให้ พวกเขารักมัน สงสารมัน เข้าใจมันดีกว่าที่เป็นมา น้อยนั้นรู้สึกว่า แบเลาะเอง ก็แตกต่างไปจากเดิม มันมอง ดูพวกเธอด้วยสายตา อันอ่อนโยน เธอมองตอบมัน อยากบอกมันว่า เธอรู้จักมันอย่างสนิทสนมแล้ว

"อย่างแบเลาะ นี้เรียกว่าช้างต่างเหมือนกันใช่ไหม สมาน?" น้อยถามเพื่อนเจ้าของช้าง

"ใช่ซี" สมานตอบ "แต่แชไม่ได้รับจ้างบรรทุกของหรอก รับแต่พวกฝรั่งอย่างที่กำลัง จะขึ้นไป โต๊ะโมะนี่ไง มันเป็น ช้างต่าง แต่ไม่เหมือนช้างต่างทั่วไป พวกฝรั่งเขา ก็จะจ้างแชฉัน ให้พาแบเลาะ ไปส่งเขาทุกทีแหละ นี่พวกฝรั่งยังไม่มา พวกเธอจะลอง ขึ้นหลังมันดูไหมล่ะ?" สมานถามพลาง หันไปขออนุญาต โต๊ะแชสฺแมตา ของเขาว่า

"แช บูวีซาเฮงๆ อะมอนาเฮะบลาแกแบเลาะซีกิ๊บูเละก๋อ (ตาครับ ขอให้เพื่อนๆ ผมขึ้น หลังแบเลาะหน่อย ได้ไหมครับ)?"

"เนาะนาเหะแบเลาะก๋อ บูเละห์ ปั๊วะออ-แฆปูเต๊ะห์เตาะซาปาลาฆีเง๊าะ ฮอ นาตี บูวีดิ-ยอดูโดะดูลู (จะขอขึ้น หลังแบเลาะหรือ? ได้ พวกฝรั่งยังมาไม่ถึงอีกนี่ เอาละ คอยเดี๋ยวนะ ให้มันหมอบลงก่อน) "ตาผู้ใจดีของสมาน ตอบอนุญาต พลางหันมามองน้อย ถามยิ้มๆ ว่า "แมะป๋ง บฺฆาซอเนาะ-นาเหะยูเฆาะ (หนูก็อยากขึ้น เหมือนกันใช่ไหม)?"

น้อยอยากตามเพื่อนๆ ผู้ชายที่รีบปีนขึ้นหลังแบเลาะ ที่หมอบลงกับพื้นดิน ตรงขอบซีเมนต์ ริมถนน แต่แล้ว ก็เกิด ลังเลเพราะเพื่อนๆ ผู้หญิงที่มาด้วยเป็นเด็กอิสลาม ถ้าปีนขึ้นไป ก็จะเป็นเป้าสายตาผู้คน ที่เดินไปมา พวกเขาล้วนนุ่งผ้าถุงยาว คลุมเท้ากันทั้งนั้น เธอคนเดียว ที่นุ่งกระโปรง ผ้าไหม ที่แม่เย็บให้ นุ่งไปเรียน หนังสือ ถ้าเธอสวมกางเกง เหมือนเด็กผู้ชาย ก็คงจะปีน ได้สะดวกกว่า คิดแล้วน้อยจึงตอบ โต๊ะแชสฺแมว่า

"อะมอบือฆาซอเนาะนาเหะยูเฆาะ ตาปี-อะมอเตาะปากาซฺลูวา นาเหะเตาะเละห์ลา ตฺลีมอกาเซะห์มาเญาะห์เด๊ะห์ แช บูวีกีตอมา-เฮงดึงาดิยอบูเละห์ก๋อ แช (หนูก็รู้สึก อยากขึ้น เหมือนกัน แต่ว่า หนูไม่ได้สวม กางเกงค่ะ ขอบคุณคุณตามาก แต่ขอหนูเล่นกับเขา ได้ไหมคะ คุณตา?)"

"แมะตาญอดิยอซฺดีฆีลา บูเละห์กอเดาะ บูเละห์ (หนูลองถามเขาเองซี ได้หรือไม่ได้ ได้ซีหนู)" โต๊ะแชสฺแม ตอบอนุญาต

เสียงเพื่อนๆ ผู้ชายหัวเราะกันอย่างสนุกสนานอยู่ใต้หลังคากูบบนหลังแบเลาะดังขรม น้อย เดินมาข้างหน้า ช้าง ที่ตอนนี้ ได้ลุกขึ้นยืนแล้ว พวกเพื่อนผู้หญิง ยังลังเลกันอยู่ บางคน ก็ทำท่ากลัวช้าง บางคนก็ขลาดๆ กลัวๆ น้อยเดินเข้าไปจับงวงมัน ค่อยๆ ลูบไปมาตามหนัง ที่หยาบกร้านนั้น ลักษณะของงวงแบเลาะ ทำให้เธอนึกแว่บไปถึงปลิงดูดเลือด มันไม่มีกระดูก เหมือนกัน ย่นๆ คล้ายกัน สีก็คล้ายกัน แต่อะไร บางอย่าง บอกกับเธอว่า แบเลาะห์ ไม่ดูดเลือด เหมือนปลิงหรอก มันเป็นช้างแสนรู้ ที่ใจดีที่สุด ตอนนี้ มันกำลัง มองเธอ ด้วยตาเล็กๆ ใสแจ๋ว

ยังไม่ทันจะคิดอะไรต่อและอย่างนึกไม่ถึง ไม่รู้เนื้อรู้ตัว แบเลาะได้ม้วน เอาร่างของเธอ เข้าด้วยปลายงวง ของมัน น้อยตกใจ จนร้องไม่ออก ร่างผอมจ้อยร่อยของเธอ ถูกยกลอย ขึ้นไปบนอากาศ หน่อยหนึ่ง ก่อนที่ จะถูกวางแหมะ ไว้ใต้กูบรวมกับเพื่อนๆ ผู้ชาย โต๊ะแช และ คนเลี้ยงช้าง ทั้งสองคน หัวเราะลั่น เมื่อเห็น ภาพน้อย ที่หน้าซีด รีบร้องบอกว่า

"เตาะอะปอแมะ เตาะอะปอ แบเลาะดิยอตาฮูกาตอแมะเนาะนาเฮะบลาแกดิยอตู (ไม่เป็นไรหนู ไม่เป็นไร แบเลาะ เขารู้ว่าหนูอยาก ขึ้นขี่หลังเขาน่ะ)"

ได้นั่งหลังแบเลาะอยู่พักใหญ่ก็ได้ยินเสียงคนพูดกันจ๊อกแจ๊ก โต๊ะแชสฺแม ออกคำสั่งให้ แบเลาะ หมอบลง อีกครั้งหนึ่ง

ฝรั่งนั่นเอง! ฝรั่งที่จะขี่หลังแบเลาะมากันแล้ว !

เด็กๆ ต่างรีบกระโดดบ้าง ตะกายบ้างลงจากหลังช้าง น้อยนั้นคว่ำตัวลง มือจับเชือก ที่เขาผูกกูบไว้ ก่อนที่ จะรูดตัว ลงมายืนบนพื้นถนน ทุกคนรู้ตัว ว่าต้องรีบ เพราะหมดเวลา ที่จะเล่นกับแบเลาะ ถึงเวลาทำงาน ของช้างต่าง ตัวมหึมานี้แล้ว!

น้อยและเพื่อนๆ เดินตามประพนธ์เข้าไปในเขตรั้วไม้ไผ่ของโรงพัก ไม่ไกลจากบ้านพัก ของผู้กอง คล้ายพ่อ ของเขาเพื่อคอยดู พวกฝรั่งร่างใหญ่ ผิวสีชมพู ขึ้นนั่งบนหลังของ แบเลาะ แล้วออกเดินไปตามถนน ผ่าน หน้าโรงเรียนแว้ง เข้าเขตป่ายางเพื่อขึ้นภูเขา

เมื่อแบเลาะลับตาไปแล้ว น้อยถอนหายใจใหญ่ พูดกับเพื่อนๆ ว่า

"ช้างนี่มีบุญคุณกับเรามากนะ นี่ถ้าไม่มีช้างก็ไม่มีเหมืองทองโต๊ะโมะหรอก เธอว่าไหม?"

"ใช่" มามุตอบเห็นด้วย

"ถ้าไม่มีช้างก็อาจไม่มีเมืองแว้ง ที่เราอยู่ก็ได้" ประพนธ์เสริม

"ทำไมล่ะ ทำไมจะไม่มีเมืองแว้งล่ะ อย่างฉันก็ถูกอุ้มเดินมาแว้งทางป่ายางก็ได้นี่" น้อยพูด เพราะไม่เข้าใจว่า ประพนธ์ หมายถึงอะไร

"อ้าว ก็ตรงนี้ไงล่ะ นี่กุโบร์ใครนี่น่ะ ไม่รู้จักหรือ?" ประพนธ์ตอบไม่ตรง กับที่น้อยถาม

ชั่วอึดใจหนึ่งที่เพื่อนๆ ยืนคิด น้อยนึกขึ้นได้ เธอกระโดดผึงลงจากเนิน ที่พากันขึ้นไป ยืนดูฝรั่ง จนลืมมองดู ที่พื้นดิน

เนินเตี้ยๆ นั้นคือหลุมศพของโต๊ะเวง (เรื่องราวอันน่าสนใจของโต๊ะเวง มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ประวัติศาสตร์ ของ ชาติไทย อยู่พอสมควร ผู้เขียน จะเรียบเรียง ในตอนหน้า) ผู้สร้างอำเภอแว้งนั่นเอง เด็กๆ ตื่นฝรั่งเสียจน ลืมดูเนินนั้นไป ไม่ได้สนใจ แม้แต่ก้อนหินนิชาน (นิชาน (Nishan) เป็นเครื่องหมาย บอกที่ฝังศพ อาจทำ ด้วยไม้หรือก้อนหินก็ได้ คนมุสลิมทางปักษ์ใต้ เรียกว่า นีแช) ที่มีประกายแร่ ว่อบแว่บอยู่ข้างใน มัวแต่สนใจ แบเลาะ เสียจนไม่ได้สังเกต ธงกระดาษ หลากสี ที่ปักอยู่บนเนิน หลุมศพนั้น!

ค่ำคืนนั้น หลังจากทำการบ้านและอ่านหนังสือต่อจากเมื่อคืนวานเสร็จแล้ว น้อย ก็เล่าเรื่อง ที่ถูกแบเลาะ เอางวง พันยกขึ้นบนหลัง กับเรื่องได้เห็นพวกฝรั่ง ที่ไปโต๊ะโมะ ให้ทุกคนฟัง แม่ส่ายหน้าเล็กน้อย บ่นเบาๆ ว่า

"เหมือนเด็กผู้ชายเข้าไปทุกวันแล้ว เห็นจะต้องให้หัดหุงข้าวเสียมั่งดีกว่า" ส่วนพ่ออมยิ้ม หลิ่วตา กับลูกคนเล็ก พูดว่า

"แม่ น้อยก็เล่าแล้วนะว่าเขาไม่ได้ขึ้นไปเอง ช้างมันเอางวงยกขึ้นไป แปลกอยู่นะแม่ ช้างของโต๊ะสฺแม เชือกนั้นน่ะ ฉันว่า มันเป็นช้างแสนรู้จริงๆ"

"สมานก็ว่ามันแสนรู้มาตั้งแต่เล็กค่ะ แม่คะ แม่เคยเล่าเรื่องลูกช้างไม่อาบน้ำ เหนือแม่ของมัน น้อยก็ว่าแปลก ที่ช้างมันมีมารยาทดี น้อยอยากถาม พ่อกับแม่ว่า ที่โต๊ะแชสฺแม ว่าแบเลาะ มันรู้ว่า น้อยอยากขึ้นหลังมัน มันถึงทำอย่างนั้นให้น้อยน่ะ พ่อกับแม่ว่า เป็นจริงไหมคะ?"

"จริงซี แม่ว่าช้างมันรู้ มันอาจจะเข้าใจที่เจ้าของมันพูดกับน้อย และที่น้อยตอบก็ได้ แม่ว่าช้างมันเป็นสัตว์ ที่แสนรู้ อย่างที่ยาย เคยเล่าแม่จริงๆ" แม่ตอบ

"แล้วน้อยเวียนหัวไหม นั่งบนหลังมันน่ะ เป็นพี่ เวียนหัวตายเลย" พี่แมะถามขึ้นบ้าง

น้อยตอบพี่แมะว่าช้างมันยืนอยู่เฉยๆ ก็เลยไม่เวียนหัว และเมื่อเธอแหงนหน้า มองพ่อ พ่อก็ตอบว่า

"พ่อก็ว่ามนุษย์เรานี่เก่งมากที่สามารถเอาสัตว์ใหญ่อย่างนั้นออกมาจากป่า เอามาฝึก จนมันเชื่อง รู้ภาษาและ ใช้งานมันได้ คนไทยเรา และคนแถบนี้ต้องกตัญญูต่อช้าง ให้มากๆ เรามีบ้าน มีเมืองอยู่ ก็เพราะช้างด้วยนะ"

"น้อยก็ว่าอย่างนั้นเหมือนกันค่ะ พ่อ ถ้าไม่มีช้างเราก็คงไม่มีเหมืองทองใหญ่ อย่างที่โต๊โมะ นี่หรอกนะคะพ่อ ฝรั่งยังต้อง ขี่หลังมันไปเลย ไม่งั้นก็อดไป" น้อยออกความคิดเห็น แล้วก็ต้อง ตกตะลึง เมื่อพ่อพูดว่า

"อีกหน่อยน้อยก็จะได้เรียนเรื่องพ่อขุนรามคำแหง และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กู้ประเทศไทย ด้วยช้าง แล้วน้อย ก็จะยิ่งรักช้างยิ่งกว่านี้เสียอีก จะกตัญญู ต่อช้างเลยแหละลูก"

ก่อนหลับไปคืนนั้น น้อยพยายามนึกภาพพระมหากษัตริย์ของไทยทั้งสองพระองค์ บนหลังช้าง

แต่ก็เป็นเพียงภาพในความคิดคำนึงเท่านั้น อีกนานกว่าเธอจะได้เรียนรู้ถึง พระคุณของพระองค์


หมายเหตุ :
เขียนที่บ้านซอยไสวสุวรรณ เสร็จเวลา ๑๒.๕๘ น วันที่ ๒๗ ส.ค. ๔๘ ขอขอบคุณสมาน มหินทราภรณ์ ที่กรุณา ยืนยันความจำข้อมูลและช่วยเพิ่มเติมให้ด้วย ต้องรีบไปส่ง เพราะพรุ่งนี้ ต้องเป็นวิทยากร ให้กรมศิลปากร ในเรือไปตามลำน้ำป่าสักไป อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ -