เราคิดอะไร.

สีสันชีวิต ทีมสมอ.


แนะนำครอบครัว "วุฒิ"
ร.ศ. นิวัติ วุฒิ ชาวสุราษฎร์ธานี อายุ ๕๕ ปีอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คุณมาเรียทำงานอยู่กรมประชาสงเคราะห์ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ตอนเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุด ที่อำเภอกะทูน นครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๒ ทางกรมส่งให้ไปทำงาน อยู่ที่นั่นนานถึง ๑ เดือน เมื่อกลับมาบ้าน ลูกชายคนเล็ก จำแม่ไม่ได้ ร้องไห้วิ่งหนี ไม่ยอมให้อุ้ม แม่ร้องไห้ ด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ตัดสินใจลาออกจากราชการ กลับมาอยู่บ้าน เลี้ยงลูก อันที่จริง แม่บ้านต้องการมี ลูกผู้หญิงสักคน แต่รอจนได้ลูกชายถึง ๕ คน ก็เลยเลิกรอ

แนะนำลูกทั้ง ๕
ลูกชายคนโต นายนัฐวุฒิ อายุ ๒๘ ปี จบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อาชีพทนายความ ปัจจุบัน มีครอบครัวแล้ว คนที่ ๒ นายวุฒิพงศ์ อายุ ๒๒ ปี จบคณะนิติศาสตร์ เกียรตินิยม กำลังรอรับปริญญา คนที่ ๓ นายเนติวุฒิ กำลังจะจบปีนี้ ได้เกียรตินิยม คณะนิติศาสตร์ อยู่ รามคำแหง ทั้งคู่ คนที่ ๔ ด.ช.รศวุฒิ อายุ ๑๔ ปี เรียนอยู่ชั้น ม.๒ ร.ร.บดินทร์เดชา คนเล็ก
ด.ช.กิติวุฒิ อายุ ๑๑ ปี เรียนอยูชั้น ป.๓ ร.ร. พระมารดานิจจานุเคราะห

เปิดตำราสอนลูก
เรามีที่นาอยู่ ๔๖ ไร่แถว ซ.วัชรพล รามอินทรา ซึ่งเป็นของพี่น้องในครอบครัว นอกจากเพื่อไว้ทำเกษตร เสริมรายได้ ยังมีจุดประสงค์ ที่สำคัญ ต้องการให้ลูก ได้ใช้เป็นสถานที่ทำงาน ในตอนแรก ผมเลี้ยงไก่ เลี้ยงห่าน พวกเขาช่วยดูแล ตั้งแต่เป็น ลูกไก่ ลูกห่าน พอกลับจากโรงเรียน ทุกคนจะรีบไปดูแล ไปเล่นกับมัน ปลูกฝังให้พวกเขา มีจิตใจ อ่อนโยน มีเมตตา รักสัตว์ ต่อมา ผมทำสวน ยกร่องปลูกกล้วย ในเนื้อที่ประมาณ ๓๐ กว่าไร่ มีกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง ซึ่งผมนำ หน่อกล้วย จากทางใต้มาปลูก ในปีแรก ผลผลิตไม่ดีนัก ปีต่อมาก็ค่อยๆ ดีขึ้น ผมให้ลูกๆ คอยช่วยแบกกล้วย ตัดกล้วยที่แก่ นำมาบ่ม พอได้ที่ ก็เตรียมส่งขาย ตามร้านค้าประจำ ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๔-๕ ร้าน ตรงนี้ผมจะมีส่วนแบ่ง ให้พวกเขาด้วย โดยเราจะยก รายได้ทั้งหมด ให้พวกเขา ๑ ร้าน เพื่อแบ่งกัน ๔ คน บางวันได้ ๑๐๐ บาท บางวันก็ ๕๐ บาท เพื่อให้พวกเขา รู้สึกภูมิใจ ที่หาเงินใช้เองได้ และได้รู้คุณค่าของเงิน ที่เขาหาด้วย น้ำพักน้ำแรง ของตัวเอง เมื่อก่อนพวกเขา อยากได้อะไร ก็จะรบเร้า พ่อแม่ซื้อให้ พอเขามีเงินเอง จากการทำงาน เราก็ให้เขาซื้อเอง ตอนนี้เขาจะคิดแล้วคิดอีก สมควรซื้อไหม คุ้มหรือเปล่า หรือ จะเก็บเงินไว้ก่อนดีกว่า

บทบาทพ่อแม่สำคัญต่อวัยเยาว์
ลูกได้เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่ ที่ต้องตื่นมาตี ๓-ตี ๔ ลุกขึ้นมาเตรียมส่งกล้วยที่จัดไว้ แต่เช้ามืด และก็ทำเป็นกิจวัตร ตอนเย็น เมื่อผมกลับจากสอนหนังสือ ที่มหาวิทยาลัย ก็จะเข้าไปอยูในสวนถึง ๔-๕ ทุ่ม ทำงานจริงจัง ถึงมืดค่ำยุงจะเยอะ พวกเขา ก็มองเห็น ซึมซับจนเกิดจิตสำนึก ที่อยากมาช่วยพ่อ ส่วนแม่บ้าน เขาก็จะสอน ในเรื่องความผิด แม้เล็กแม้น้อย เช่น ลูกคนเล็ก กลับจากโรงเรียน เล่าให้ฟังว่า เก็บเงินได้ ๕ บาท ที่ข้างสนามบาส คุณแม่ก็ถามว่า ทำไม่ไม่นำไปให้ครู เขาอ้างโน่นนี่ คุณแม่ก็สอน ว่าไมใช่เงินของลูก ต้องนำไปให้ครู เราจะสอนลูกตลอดเวลา เพื่อให้ทำเรื่องถูกต้อง โดยพ่อแม่ จะทำเป็นตัวอย่าง ส่วนมาก ก็สอนแทรก ในระหว่างทำงาน สอนเรื่องของเหตุผล ถ้าทำอย่างนี้ จะเกิดอย่างนั้นขึ้น เป็นต้น

งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข
ก่อนนั้นลูกๆ เรียนไม่ค่อยดี วิถีชีวิตก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วๆ ไป แต่เมื่อเราเริ่มทำสวน เขาก็ปรับตัว นอกจากพวกเขา ได้ฝึกความอดทน พวกเขายังได้เห็น ความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย กว่าจะได้เงินมา แต่ละบาท ทำให้รู้คุณค่า และ ใช้เงินอย่างประหยัด นอกจากนี้ เวลาเรียน ก็จะมีความตั้งใจ เอาใจใส่การเรียนมากขึ้น เขาจะแบ่งเวลาเรียน เวลาทำงาน ให้เหมาะสม อาจมีคนมองว่า ทำสวนกล้วย ขายกล้วย ได้เงินน้อย ไม่คุ้มกับลงแรงหนัก แต่ผมคิดว่า สิ่งที่ได้ คุ้มค่า คือลูกๆ ได้ฝึกทำงาน รู้ถึงความลำบาก เพื่อเห็นใจคนอื่น ไมใช้เงิน อย่างฟุ่มเฟือย ตามใจตัวเอง เพราะฉะนั้น การเลี้ยงดูเบื้องต้น มีความสำคัญมาก

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ตอนลูกเรียนสาธิตชั้น ม.๖ เขาติดยา ผมจับได้เพราะสังเกตว่า ลูกมักจะกลับบ้านดึกๆ และเราพบอุปกรณ์ เป็นซองบุหรี่ ผมกับภรรยา กลุ้มใจมาก คิดหาวิธีจัดการ ในที่สุด เราตัดสินใจ ให้เขาออกจากโรงเรียน ส่งไปอยู่กับคุณปู่ ที่สุราษฎร์ฯ แม่บอกว่า เป็นการลงโทษ แต่จุดประสงค์ เพื่อแยกเขาออก จากสิ่งแวดล้อมนั้นด้วย เพื่อให้เขากลับไปอยู่กับธรรมชาติ และ ความอบอุ่น จากคุณปู่ คุณยาย ที่คอยให้กำลังใจ ผมไม่ดุด่าลูกเลย เราเข้าใจ และเห็นใจเขา ทุกวันศุกร์ พ่อก็ขับรถ พาแม่และพี่ๆ น้องๆ ไปเยี่ยมเขาทุกอาทิตย์ เขาอยู่ที่นั่น ประมาณ ๑ ปี ในช่วงนั้น เขาดูหนังสือด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมสอบ กศน. เขาสอบที่สุราษฎร์ฯ นั่นแหละ สุดท้าย ก็สอบผ่านได้ จุดที่ทำให้สามารถ แก้ปัญหาได้ไม่ยาก ผมคิดว่าคงเป็นเพราะ ลูกมีพื้นฐาน ทางด้านจิตใจ ที่ใฝ่ดี เขารักพ่อแม่ และรู้ถึงความรัก ของพ่อแม่ ที่มีต่อเขา ลูกๆ ทุกคน จะรับรู้ว่า การที่พวกเขา คนใดคนหนึ่ง มีพฤติกรรมไม่ดี ทำให้พ่อแม่ ต้องเดือดร้อนอย่างไร

สายใยครอบครัว
ตอนลูกเล็กๆ ผมจะเป็นช่างตัดผม ให้พวกเขาทุกคน โดยซื้อปัตตาเลี่ยน ๑ อัน สำหรับ ตัดผมให้ลูกๆ แต่พอพวกเขา โตเป็นหนุ่ม ก็ไม่ยอม ให้พ่อตัดให้อีก กลัวไม่หล่อ ตอนนี้ก็เลยเหลือลูกค้า แค่ลูกชายคนเล็ก ๒ คน

เราจะทำกิจกรรมต่างๆ รวมกันในครอบครัว แบ่งงานกันทำ ไปไหนไปด้วยกัน มีปัญหาอะไร ก็พูดคุยถกกัน เราตามใจลูก ในขอบเขต ที่ให้ได้ ผมมีเวลาให้ลูกตลอด กลับจากงาน ก็ให้เวลากับครอบครัวทั้งหมด พี่น้องรักกันดี อย่างเช่น ถ้าซื้ออะไรให้น้อง เขาจะบอก ซื้อให้พี่ด้วย พวกพี่ๆ เวลากลับมา จากมหาวิทยาลัย ก็จะมีของฝากน้อง อะไรทำนองนี้

ความเชื่อเรื่องกรรมวิบากในพุทธศาสนา
ผมเชื่อเรื่องกรรม การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะผมมีประสบการณ์ในชีวิต หลายครั้งหลายครา ทำให้ผมได้สรุป บทเรียนว่า การจะทำอะไร ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะเราทำอะไรลงไปแล้ว ผลแห่งการกระทำนั้น ต้องมีแน่ และต้องมาถึง ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง ถึงแม้บางเรื่อง อาจจะช้า ผมคิดว่า มันเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ ถ้าอยากมีชีวิตที่งดงาม ก็ต้องทำแต่ความดี ผมมีคุณพ่อคุณแม่ เป็นครู ชีวิตของท่าน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ อบายมุข และอยู่ในกรอบระเบียบ แห่งคุณงาม ความดีมาตลอด ผมสอนลูก เรื่องกรรม ไม่ว่าลูกทำดี หรือไม่ดีย่อมมีผล พวกเขาเป็นวัยรุ่น สมัยใหม่ ฟังไปอาจเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง แต่บางช่วงในชีวิต เมื่อเขามี ประสบการณ์ ตรงด้วยตัวของเขาเอง เขาจะเชื่อ และจะเข็ดไปเลย ในเรื่องนั้น การที่ลูกทำไม่ดี ผลสะท้อน จะกลับมาถึง พ่อแม่ด้วย อย่างน้อย ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล ของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ก็ต้องเสีย และอับอายไปด้วย

พ่อแม่รังแกฉัน
พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากที่สุด ในการปลูกฝังนิสัยที่ดีให้ลูก บางคนรักลูกมากเกินไป ปล่อยตามใจ ให้ลูกทำอะไรผิดๆ จนก่อพฤติกรรม ที่ไม่ดี ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีบทลงโทษ ให้เข็ดหลาบ ทำให้ความผิดนั้น ขยายตัวเพิ่มขึ้น และหนักขึ้นๆ จนในที่สุด ผลร้ายที่ลูกได้รับ ก็จะส่งผล กลับไปถึงพ่อแม่ ผมเชื่อว่าลูกที่มีพฤติกรรมเกเร อาจได้เห็นตัวอย่าง มาจากพ่อ ที่เวลา ทำผิดแล้ว ก็มักจะใช้อำนาจ อะไรต่างๆ มากลบเกลื่อน หลีกเลี่ยง หรือ เมื่อลูกไปทำความผิดมา พ่อก็เข้าไปช่วย เข้าข้างลูก บางที เราจะเห็นว่า พ่อบางคน แทบทุกครั้งทุกครา ที่ลูกไปก่อความผิดไว้ พ่อจะเข้าไปปกป้อง ทำให้ลูก ไม่รู้ถึงความถูก ความผิด ในสิ่งที่ตนทำ หรือ ถึงจะรู้ แต่ก็รู้ว่า พ่อมีอำนาจ ที่จะช่วยได้ ถึงยังไง ก็มีคนช่วย ให้ไม่ต้องรับโทษ


ครอบครัว "รัตนหิรัญญา"
แนะนำครอบครัว"รัตนหิรัญญา"
คุณประพันธ์ รัตนหิรัญญา อายุ ๔๐ ปี ชาวกรุงเทพฯ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ยึดอาชีพตามบิดา คือ รับซื้อถัง บรรจุน้ำมัน หรือ เคมีภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับมาแปรสภาพ โดยทำความสะอาด และทาสีใหม่ ซึ่งเป็นถัง ที่ยังมีคุณภาพดี และราคาถูก ภรรยาชื่อคุณสุปรีดา อายุ ๓๙ ปี จบ ม.ศ. ๕ จากโรงเรียน สตรีวิทย์ ๒ มีบุตรชายหญิง ๒ คน ชื่อ เด็กชายพึ่งพระ อายุ ๑๓ ปี จบชั้น ป.๖ โรงเรียนโยแซฟอุปถัมภ์ ปัจจุบันเรียนอยู่ ร.ร.สัมมาสิกขาปฐมอโศก และเด็กหญิง แพรดิน อายุ ๑๐ ปี เรียนอยู่ชั้น ป.๔ โรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์

ครอบครัวที่พึงปรารถนา
ผมคิดว่าต้องมีความรักความอบอุ่นมีความเข้าใจ ตลอดจนซื่อสัตย์ต่อกัน ต่างทำหน้าที่ของตน ให้สมบูรณ์ พ่อบ้านต้อง ขยันขันแข็ง ทำงานหนัก หาเลี้ยงครอบครัว แม่บ้านต้องคอยดูแล เรื่องอาหารการกิน จัดบ้านช่อง ให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย รู้จักประหยัด เก็บหอมรอมริบ อบรมเลี้ยงดูลูก ฝึกความมีระเบียบ วินัย ความขยัน โดยให้เด็กๆ มีหน้าที่ประจำ เช่น ต้องเก็บที่นอน ทำความสะอาด ห้องนอน ห้องน้ำ กวาดบ้าน พับผ้า รวมทั้งฝึก การช่วยเหลือตัวเอง ช่วยงาน ตามที่แม่สั่ง เมื่อลูกเป็นเด็กน่ารัก มีน้ำใจ เราก็รักลูก อยากให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เขา ลูกก็จะตอบแทนพ่อแม่ ด้วยความรัก และเชื่อฟัง ก่อเกิด เป็นความสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้นกลมเกลียว ผมคิดว่า นี่เป็นปราการ แห่งความรัก ในครอบครัว ที่แข็งแรง ที่จะช่วยป้องกัน สิ่งเลวร้าย ทั้งหลาย ไม่ให้เจาะผ่านเข้ามาได้

คิดเก่าทำเก่า
มอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูก ด้วยการหาโรงเรียน ที่มีชื่อเสียงให้ ซึ่งนอกจากจ ะสอนให้มีวิชาความรู้แล้ว ยังได้คบเพื่อน ที่อยู่ในฐานะ เดียวกัน จะได้ส่งเสริมกัน ในอนาคต หลังจากจบปริญญาตรี ก็จะส่งลูกไปเรียน ต่อต่างประเทศ ตั้งใจให้เรียนถึง ปริญญาเอก

คิดใหม่ทำใหม่ในโลกใบเก่า
เมื่อผมรู้จักชาวอโศก ทำให้รู้ว่าในสังคมที่กำลังเสื่อมต่ำ ยังมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง พยายามช่วยกัน กอบกู้สังคมให้ดีขึ้น โดยสอน ให้ผู้คน ทำความดี ด้วยการถือศีล ๕ ละเว้นอบายมุข ตลอดจน ความชั่วต่างๆ ทำให้ผมรู้ว่า การจะให้ลูก เป็นคนดีได้นั้น ควรทำอย่างไร ผมและภรรยา เริ่มต้นมาใส่บาตร ฟังธรรม และพาลูกทั้งสองคน มาสมัครเรียน พุทธธรรมวันอาทิตย์ ที่สันติอโศก พอถึงช่วง ปิดเทอม ภาคฤดูร้อน แทนที่จะส่งลูก ไปเรียนซัมเมอร์คอร์ส ที่ต่างประเทศ อย่างเคย เพื่อปูพื้นฐาน ทางภาษา เราก็พาลูก ทั้งสองคน เข้าค่ายยุวพุทธ ที่ปฐมอโศก เป็นเวลา ๑ อาทิตย์ ซึ่งค่ายยุวพุทธนี้ เป็นพื้นฐาน ที่สอนให้เด็ก รู้จักช่วย ตัวเอง ฝึกความอดทน เด็กทุกคน ต้องซักเสื้อผ้าเอง ช่วยกันทำอาหาร ล้างจานชาม รับผิดชอบ ภาชนะทุกอย่าง ของตัวเอง และร่วมกันทำ กิจกรรมกลุ่ม ตี ๔ ครึ่ง ก็ฟังธรรมจากทั้งสมณะ สิกขมาตุ และฆราวาส ผู้มีประสบการณ์ ชีวิตดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง นอกจากนี้ เด็กจะได้ฝึก การตรวจศีล ๕ ตามฐานของเด็ก

พ่อแม่คือกัลยาณมิตรของลูก
หลังจากพึ่งพระ จบ ป.๖ ผมกับภรรยาเห็นพ้องกันว่าควรให้เขาเรียนต่อ ม.๑ ที่โรงเรียนสัมมาสิกขา ปฐมอโศก ซึ่งตัวเขาเอง ก็ไม่ขัดข้อง วันแรกที่ไปสมัครเรียน มีนักเรียนสมัคร เข้ามาใหม่ ๖๗ คน พอรับสมัครแล้ว รุ่นพี่ก็พารุ่นน้อง ไปขัดห้องน้ำ และ มอบหมาย ให้น้องใหม่ทุกคน มีหน้าที่ รับผิดชอบ การทำความสะอาดห้องน้ำ

สมณะที่นี่ บอกบรรดาผู้ปกครองว่า ถ้าคุณต้องการให้ลูกเรียนเก่ง เพื่อสอบแข่งขันกับคนอื่นได้ ก็ควรพาลูกของคุณ ไปเรียนที่อื่น แต่ถ้าต้องการ ให้ลูกของคุณ เป็นคนดี มีศีล มีธรรม มีคุณค่าต่อสังคมแล้วละก็ ที่นี่ช่วยคุณได้ ผมก็เชื่อเช่นนั้น

นักเรียนทุกคน ต้องตื่นตั้งแต่ตี ๔ เพื่อไปฟังธรรม และเรียนหนังสือ หลังจากนั้น ฝึกทำงาน โดยมีฐานงานต่างๆ ให้เด็กเลือก ฝึกปฏิบัติจริง พึ่งพระ เลือกฐานงาน ทำเต้าหู้ หลังจากฝึกอยู่หลายเดือน ก็มีความชำนาญ ในการทำเต้าหู้ ทุกเย็นวันเสาร์ ผมจะขับรถ พาภรรยา และลูกสาว ไปเยี่ยมเขา บางครั้ง เขาก็นำเต้าหู้ มาอวด และฝากให้พ่อแม่ไปกิน

ตอนตัดสินใจให้ลูกมาเรียนที่นี่ พี่เขยซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จังหวัดสุรินทร์ เป็นห่วงว่า การศึกษาที่นี่ จะไม่ได้คุณภาพ ผมจึงพาเขา มาเที่ยวที่ โรงเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศก และไปดู หลักสูตรเรียน การสอนของที่นี่ ซึ่งเขาพอใจ และ ยอมรับว่า เป็นหลักสูตร ที่มีคุณภาพ

ความในใจของพ่อคนหนึ่ง
ก่อนหน้านั้น เราเลี้ยงดูลูกอย่างสุขสบาย ตามฐานะ แต่เมื่อได้พบวิถีชีวิตอีกแบบ ที่สามารถเป็นทางออก ให้แก่คน ในสังคม โดยไม่ต้อง จมปลักอยู่ กับอบายมุข สิ่งเสพติด ที่กำลังขยายตัว ไปถึงเด็กนักเรียน ชั้นประถม รวมทั้งค่านิยม มอมเมาให้เด็ก หลงระเริง จนแทบจะไม่เป็นผู้เป็นคน ด้วยความรักลูก ห่วงลูก ผมจึงตัดสินใจ ส่งลูกไปอยู่ ในสังคมใหม่ ทั้งที่รู้ว่า บทฝึกที่นี่ เข้มข้นมาก ปัจจุบัน เหลือนักเรียน ประมาณ ๓๐ คน จากเดิม ๖๗ คน ในช่วงแรก ผมสงสารลูกมาก ที่นี่ลูกต้อง ถอดรองเท้าเดิน เสื้อผ้า ก็มีให้ใส่แค่ไม่กี่ชุด เป็นเครื่องแบบนักเรียน สีน้ำเงิน ผมเคยถามลูก ว่าคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ไหม ใหม่ๆ เขาก็บอกคิดถึง แต่หลังๆ เขาบอกทำงานมาก ไม่มีเวลาคิดถึงแล้ว เคยถามลูกว่า ทนไหวไหม อยากกลับบ้านไหม เขาก็บอกทนได้ ไม่อยาก กลับบ้าน อยู่ที่นี่มีความสุข รุ่นพี่กับรุ่นน้อง รักใคร่กันดี ไม่มีการรังแกกัน ผมเคยแอบดูลูก ก็รู้สึกว่าเขามีความสุข เบิกบาน แจ่มใส กับวิถีชีวิตที่นี่ แตกต่างจากเมื่อก่อน ที่โรงเรียนเก่า รู้สึกว่า เขามีความเครียด อยู่ในใจลึกๆ

ฉะนั้น การที่ผมส่งลูก มาเรียนที่โรงเรียน สัมมาสิกขาปฐมอโศก แม้จะคิดถึงลูกมากเหลือเกิน แต่เราก็มั่นใจว่า ลูกจะมีชีวิต ที่ดีกว่าอยู่กับเรา เพราะเราเอง ก็ยังอ่อนแอในหลายๆ เรื่อง เราเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมที่แข็งแรง จะช่วยหล่อหลอม ให้ลูกของเรา เข้มแข็ง และเป็นคนดี มีคุณค่าต่อสังคม ในอนาคต ไม่ว่าลูกจะไปเรียนต่อที่ไหน ห่างไกลพ่อแม่เพียงใด เราก็ไม่ห่วงอีกต่อไป เพราะมั่นใจว่า ลูกรู้จักผิดชอบชั่วดี และมีความรับผิดชอบ โตขึ้นเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความอดทน มีความสามารถ
พึ่งตนเอง และช่วยเหลือสังคม ส่วนรวมได้ด้วย

เมื่อไรจะรู้สักทีนะ
ครอบครัวทั่วไปในสังคมปัจจุบัน พ่อแม่มักจะรักลูกมากเกินไป และประคบประหงม จนลูกอ่อนแอ เพราะกลัวลูกลำบาก อาจเป็นเพราะ ตัวเองเคยลำบากมาก่อน แต่กลับไม่ได้ซาบซึ้ง ถึงคุณค่า ของความลำบาก ที่ทำให้ชีวิต เข้มแข็งขึ้น พ่อแม่เดี๋ยวนี้ จึงมักจะพยายาม ทำอะไรให้ลูกทุกอย่าง ขอเพียงให้ลูก ตั้งใจเรียนหนังสือให้เก่ง เอาชนะคนอื่นได้ เพียงอย่างเดียวก็พอแล้ว และจะพยายาม ส่งเสียลูกเรียนให้สูงๆ เพื่อได้ทำงาน ที่มีเกียรติ ทำงานสบายๆ ได้เงินมากๆ แต่เราพบว่า คนเรียนสูง จำนวนไม่น้อย กลับช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลัวลำบาก พอตกงาน ก็ทำอะไรไม่เป็น เพราะไม่เคยฝึกทำงาน ไม่เคยได้ฝึก เผชิญ ความลำบาก มาก่อนเลยในชีวิต เขาขาดความรู้ พื้นฐานของชีวิต ที่ต้องมีการฝึกฝน ตั้งแต่เล็กๆ จึงเป็นดัง คำพังเพยที่ว่า
"ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด"

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๗ ธันวาคม ๒๕๔๔)