เราคิดอะไร.

เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ
ตอน ๑๒
ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา สุนัย เศรษฐบุญสร้าง
บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ "อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็นช่องทาง ที่จะเป็นทางออก จากตรรกะ แห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ"

รากฐานของเศรษฐกิจแบบพอเพียง
กรอบแนวคิดอุดมการณ์บุญนิยมได้ ชี้ให้ เห็นโครงสร้าง ๓ ระดับของระบบสังคมมนุษย์ โดยมีโครงสร้างส่วนลึก ที่เกิดจาก ปฏิสัมพันธ์ ทางด้านจิตวิญญาณ ของผู้คนในสังคม เป็นตัวกำหนด ปรากฏการณ์ ของระบบสังคมเศรษฐกิจการเมือง ในโครงสร้าง ส่วนล่าง และ โครงสร้างส่วนบน ของสังคม

เรื่องราวของสงครามระหว่างฝ่ายอสูรกับ เทวะ ฝ่ายพระกับฝ่ายมาร ฝ่ายซาตานกับพระเจ้า ตลอดจนสงคราม ระหว่างพวกยักษ์ อันคือ ฝ่ายทศกัณฐ์ กับพวกลิง และมนุษย์ ที่เป็นฝ่ายพระราม ในมหากาพย์ และคัมภีร์ทางศาสนาต่างๆ จึงมีความหมายมากกว่า เป็นเพียงแค่ วรรณกรรม เรื่องหนึ่งๆ เท่านั้น แต่ทว่าเป็นคำสอน ในเชิงบุคลาธิษฐาน ที่ชี้ให้เห็นสงคราม แห่งมิติของโลก ทางจิตวิญญาณ ระหว่าง ฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรม ที่จะมีอิทธิพล ต่อการกำหนด ปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นกับระบบสังคมเศรษฐกิจการเมือง ในโลกมนุษย์

เมื่อใดที่ฝ่ายธรรมะหรือฝ่ายเทวะ ฝ่ายพระ ฝ่ายพระเจ้ า ตลอดจนฝ่ายพระราม เพลี่ยงพล้ำ เสียเปรียบในธรรมาธรรมะสงครามดังกล่าว อำนาจของกิเลส ตัณหาอุปาทาน ที่เป็นฝ่ายอสูร ฝ่ายมาร ฝ่ายซาตาน ฝ่ายยักษ์ ก็จะครอบงำเหนือจิตวิญญาณของผู้คน ในโครงสร้าง ส่วนลึก ทางสังคม แล้วส่งผลกำหนดให้ ปรากฏการณ์ของ ระบบสังคมเศรษฐกิจการเมือง ในโครงสร้าง ส่วนล่าง และโครงสร้างส่วนบน ของสังคม คลี่คลายไปในทิศทางที่สร้างความทุกข์ร้อน และความหายนะต่างๆ ให้ กับมนุษย์ปรากฏตามมา

จิตวิญญาณของผู้คนส่วนใหญ่ ที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งกามตัณหา และภวตัณหา จะส่งผลให้ มนุษย์สืบเผ่าพันธุ์ ขยายจำนวน ประชากร ตลอดจนขยายการดิ้นรน แสวงหาผลผลิต ส่วนเกินความจำเป็นของชีวิต มาสะสมกักตุนไว้ ด้วยโลภะจริต ทำให้ อาหาร ที่เคยมีอยู่ อย่างพอเพียง สำหรับเลี้ยงดูประชากรทั้งโลก เริ่มมีความขาดแคลน ไม่เพียงพอ ที่จะตอบสนอง ความต้องการ ของประชากร ที่ทวีจำนวน เพิ่มมากขึ้นๆ รวมทั้งไม่พอเพียง ที่จะรองรับปริมาณ ความต้องการส่วนเกิน ในชีวิตของมนุษย์ ที่ถูกปลุกเร้าให้ ขยายขอบเขต อย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย

ปรากฏการณ์สำคัญประการหนึ่งที่มนุษย์เริ่มสังเกตพบเห็นก็คือ ในขณะที่ จำนวนประชากรมนุษย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในอัตราก้าวหน้า แบบเรขาคณิต (เช่น จาก ๑ เป็น ๒, ๔,๘,๑๖....) ปริมาณอาหาร กลับเพิ่มในอัตราก้าวหน้า แบบเลขคณิต (เช่น จาก ๑ เป็น ๒, ๓,
๔, ๕, ........)

จากกราฟ เส้น A คือปริมาณอาหาร ที่มนุษย์จำเป็นต้องบริโภค ซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนประชากรที่ขยายตัว อย่างรวดเร็ว ในอัตราก้าวหน้า แบบเรขาคณิต ขณะที่เส้น B เป็นการขยายตัว ของปริมาณอาหาร ที่มนุษย์สามารถผลิตได้ ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า แบบเลขคณิต (เพราะข้อจำกัดของพลัง การผลิตในธรรมชาติ) กราฟทั้งสองเส้นจะตัดกัน ณ จุดๆหนึ่ง คือจุด C ซึ่งเป็นจุดที่ ปริมาณอาหาร พอดีกับจำนวนประชากร เลยจากจุด C ในมิติของเวลา ปัญหาการขาดแคลนอาหาร จะทวีความรุนแรง เพิ่มมากขึ้นๆ อันจะเป็นพื้นฐาน ที่นำไปสู่ วิกฤติการณ์ต่างๆ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ของประชาคมมนุษย์

ฉะนั้นปัญหาสำคัญ ที่มนุษย์เพียรพยายาม คิดหาคำตอบก็คือ จะมีหนทางช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการผลิตอาหาร ให้เพียงพอ สำหรับ เลี้ยงดูประชากร ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ได้อย่างไร

นอกเหนือจากการพยายามควบคุมธรรมชาติและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตแล้ว คำตอบสำคัญ ประการหนึ่ง ที่มนุษย์ ค้นพบ ก็คือ การแบ่งงานกันทำ ตามความถนัด (division of labour) จะเป็นระบบ การทำงานที่ช่วย เพิ่มผลิตภาพ (productivity) หรือ เพิ่มประสิทธิภาพ ในการสร้างผลผลิต

ตัวอย่างเช่น สมมติในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่ละครอบครัวต่างปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัว ปลูกผลไม้ ทอผ้า ทำเครื่องมือเครื่องใช้ ฯลฯ เพื่อไว้ บริโภคในครัวเรือน หากมีผลผลิตส่วนเกิน ค่อยนำไปจำหน่าย ถ้าเอาข้าว ผัก ผลไม้ เสื้อผ้า เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนผลผลิตต่างๆ ที่คนในหมู่บ้านแห่งนี้ สามารถผลิตได้ ตลอดปี มารวมกัน สมมติได้ ผลิตผลมวลรวม (gross domestic products หรือ GDP) ของหมู่บ้าน แห่งนี้เท่ากับ ๑๕๐ หน่วย

ถ้าปรับระบบการผลิตใหม่ โดยให้ แต่ละครอบครัวแบ่งงานกันทำ ตามความถนัด ครอบครัวไหน มีความถนัด และมีที่ดิน ที่เหมาะ กับการปลูกข้าว ก็เน้นการทำนาอย่างเดียว ครอบครัวไหน มีที่ดินที่เหมาะกับการปลูกผลไม้ ประเภทใด ประเภทหนึ่ง ก็เน้นปลูกผลไม้ ประเภทนั้นๆ อย่างเดียว เป็นต้น

การแบ่งงานกันทำตามความถนัด จะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น (เช่น ถ้าปลูกพืชอย่างเดียวในที่ดินแปลงหนึ่งๆ เวลาจะใส่ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ที่เหมาะกับพืช ประเภทนั้นๆ ก็จะทำได้ง่าย เวลาเก็บเกี่ยว ก็สามารถหาเครื่องจักรเข้ามา เพื่อช่วยทุ่นแรงได้ง่ายขึ้น ตลอดจนทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ในการปลูกพืชชนิดนั้น เหล่านี้จะช่วยให้ได้ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เป็นต้น) หากนำเอาข้าว ผัก ผลไม้ ฯลฯ ที่แต่ละครัวเรือน ในหมู่บ้านที่แบ่งงานกันทำ ตามความถนัดนี้ มารวมกัน ผลิตผลมวลรวมของหมู่บ้านแห่งนี้ อาจเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ ๑๕๐ หน่วย กลายเป็น ๒๕๐ หน่วยก็ได้ โดยใช้ แรงงาน ในการผลิตเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ระบบการแบ่งงานกันทำ ความถนัด จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างผลผลิตให้ได้มากขึ้น แต่การแบ่งงานกันทำ ระหว่าง
ครัวเรือนต่างๆ แบบนี้ ต้องพึ่งพา เงื่อนไขสำคัญ อย่างน้อย ๒ ประการ คือ

ก. ต้องมีตลาดสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้า เพราะถ้า นาย ก. ปลูกข้าวอย่างเดียว ถึงจะได้ข้าวมากมาย แต่ก็จะไม่มีผักกิน ไม่มีเสื้อผ้าใส่ หรือนาย ข. ที่ปลูกผักอย่างเดียว ก็จะไม่มีข้าวกิน และไม่มีเสื้อผ้าใส่ ส่วนนาย ค. ที่ทอผ้าอย่างเดียว ก็จะไม่มีทั้งข้าวและผักสำหรับกิน
เป็นต้น ระบบการแบ่งงานกันทำเช่นนี้ จึงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีตลาด สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยน ผลผลิตส่วนเกิน ที่แต่ละครัวเรือน ผลิตได้ ทำให้ความอยู่รอด ของแต่ละครัวเรือน ต้องพึ่งพาตลาด และ ถูกกำหนดโดยตลาด

ข. ต้องมีทุนสำหรับใช้ ในการผลิต หากแต่ ละครอบครัวต่างปลูกข้าว ปลูกผัก ทอผ้า ฯลฯ เพื่อบริโภคในครัวเรือนพอยังชีพ ก็ไม่ มีความจำเป็น ต้องอาศัยตลาด หรือทุนรอนอะไรมาก แต่เมื่อเปลี่ยนแบบ วิถีการผลิต มาเน้นสร้างผลผลิต ประเภทเดียว จำนวนมากๆ เช่น ทำสวนทุเรียน เป็นต้น กว่าที่ทุเรียน จะให้ผลผลิต สำหรับขายได้ ก็ต้องใช้ เวลานาน ระหว่างที่สวนทุเรียนยังไม่ให้ ผลผลิต ครอบครัวนั้น ต้องกินต้องใช้ทุกวัน ทำให้จำเป็นต้องมีทุนสำรองก้อนหนึ่ง สำหรับซื้อหา เครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อยังชีพ รวมทั้งซื้อหา วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำสวนทุเรียน ดังกล่าว ความอยู่รอด ของครัวเรือน ภายใต้ แบบวิถีการผลิตแบบนี้ จึงถูกกำหนดโดยทุน (capital) และต้องพึ่งพาแหล่งทุน ที่จะกู้ยืมมาใช้จ่าย ก่อนที่จะได้ผลผลิต ออกมาขายในตลาด

ฉะนั้นการเพิ่มผลผลิตเพื่อให้มีอาหารมากขึ้น พอเพียงที่จะตอบสนอง ความต้องการ ของมนุษย์ ภายใต้ แบบวิถีการผลิต ที่มีการแบ่งงาน กันทำ ตามความถนัด เช่นนี้ จึงนำไปสู่ การขยายตัวของ "ตลาด" และการขยายตัว ของการสะสม "ทุน" จนพัฒนา ไปสู่ระบบ สังคม เศรษฐกิจ แบบ "ทุนนิยม" ที่มีอิทธิพล ครอบงำโลกปัจจุบัน

กลุ่มพ่อค้าที่สามารถยึดกุมตลาด และกลุ่มนายทุน ที่เป็นเจ้าของแหล่งทุนต่างๆ สำหรับให้กู้ยืม จึงกลายเป็นกลุ่มคน ที่ทรงอิทธิพล เพราะสามารถ ครอบครองปัจจัย ที่เป็นหัวใจ ของระบบการผลิต ภายใต้แบบ วิถีการผลิตแบบนี้ ส่งผลให้ สามารถใช้ ความได้ เปรียบดังกล่าว ดูดซับ (exploitation) เอามูลค่าส่วนเกิน (surplus value) จากแรงงานของผู้คน ส่วนใหญ่ในสังคม มาสะสมกักตุนไว้ เพิ่มมากขึ้นๆ ในลักษณะมือใครยาว สาวได้สาวเอา หรือปลาใหญ่กินปลาเล็ก ซึ่งนำไปสู่ช่องว่างทางเศรษฐกิจ ระหว่าง กลุ่มคนรวย ส่วนน้อย กับกลุ่มคนยากจน ส่วนใหญ่ ในสังคมมนุษย์ ที่ถ่างกว้างออกไปๆ ขณะเดียวกัน กฎการถดถอย ของอรรถประโยชน์ (law of diminishing utility) * ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้มูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้า แต่ละชิ้น ในตลาด จะเท่ากัน แต่อรรถประโยชน์ (utility) หรือ ประโยชน์สุข ที่มนุษย์ได้รับ จากการบริโภคใช้สอย สินค้านั้นๆ แต่ละหน่วย จะมีมูลค่า ไม่เหมือนกัน

สมมติในสังคมแห่งหนึ่งมีคนอยู่ ๓ คน คือ นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. สังคมแห่งนี้ สามารถผลิตเสื้อผ้าได้ ๑๕ ชุด (หรือมีผลผลิต มวลรวม ๑๕ หน่วย) โดยนาย ก. ได้ส่วนแบ่งของเสื้อผ้า ๑๐ ชุด นาย ข. ได้ ๓ ชุด และนาย ค. ได้ ๒ ชุด

หากไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่เลย เราก็คงออกจากบ้านไปไหนไม่ได้ ฉะนั้นอรรถประโยชน์ของเสื้อผ้าชุดแรก ที่ได้มาใช้สอย จึงให้ประโยชน์สุข กับเรา มากที่สุด สมมตคิดเป็นมูลค่า ของประโยชน์สุขเท่ากับ ๑๐ หน่วย เมื่อได้ เสื้อผ้าชุดที่ ๒ มาสวมใส่ แม้ความจำเป็น จะน้อยกว่า ชุดแรก แต่ก็ทำให้เรา มีเสื้อผ้าไว้ ผลัดเปลี่ยน สมมติประโยชน์สุข ของเสื้อผ้าชุดที่ ๒ คิดเป็นมูลค่า เท่ากับ ๙ หน่วย และ ด้วยเหตุผล ทำนองเดียวกัน เสื้อผ้าชุดที่ ๓,๔,๕,๖, ๗,๘,๙,๑๐ จะให้ประโยชน์สุขแก่เรา ลดน้อยลงๆ สมมติ คิดเป็นมูลค่า ของประโยชน์สุข เท่ากับ ๘,๗,๖,๕,๔,๓,๒,๑ หน่วยตามลำดับ

นาย ก.มีเสื้อผ า ๑๐ ชุด จึงคิดเป็นมูลค่า ของอรรถประโยชน์เท่ากับ ๑๐+๙+๘+๗+ ๖+๕+๔+๓+๒+๑ = ๕๕ หน่วย

นาย ข. มีเสื้อผ้า ๓ ชุด คิดเป็นมูลค่าของอรรถประโยชน์ เท่ากับ ๑๐+๙+๘ = ๒๗ หน่วย

นาย ค.มีเสื้อผ้า ๒ ชุด คิดเป็นมูลค่าของอรรถประโยชน์ เท่ากับ ๑๐+๙ = ๑๙ หน่วย

ฉะนั้น ผลิตผลมวลรวมของเสื้อผ้า ๑๕ ชุด จะสร้างประโยชน์สุข หรือให้อรรถประโยชน์โดยรวม สำหรับผู้คน ในสังคมแห่งนี้ เท่ากับ
๕๕+๒๗+๑๙ = ๑๐๑ หน่วย

แต่ถ้าเสื้อผ้า ๑๕ ชุดนี้ถูกจัดสรรให้กับนายก. นายข. และนายค. คนละ ๕ ชุดเท่ากัน มูลค่าของอรรถประโยชน์ จากเสื้อผ้า ที่สังคมแห่งนี้ ได้รับโดยรวม จะเท่ากับ ๓ x (๑๐+๙+๘+๗+๖) = ๑๒๐ หน่วย

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่า ถ้ามีการกระจายผลผลิตให้ทั่วถึงขึ้น แม้ผลิตผลมวลรวม จะมีจำนวนเท่าเดิม แต่สามารถสร้าง อรรถประโยชน์
เพิ่มขึ้น เท่ากับ ๑๒๐ - ๑๐๑ = ๑๙ หน่วย

ด้วยเหตุนี้ ยิ่งช่องว่างทางเศรษฐกิจ ระหว่างกลุ่มคนรวย ส่วนน้อย กับกลุ่มคนยากจน ส่วนใหญ่ ในสังคม ถ่างกว้างออกไป มากเท่าไร อรรถประโยชน์ ของผลิตผลมวลรวม ในสังคมก็จะยิ่งลดน้อย ถอยลงมากเท่านั้น

สมมติผลผลิตของสังคมถูกเปลี่ยนเป็นธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาททั้งหมด สำหรับเศรษฐี ซึ่งมีเงิน ๑๐๐ ล้านบาท ถ้าได้ ธนบัตรพันบาท เพิ่มขึ้นมาอีก ๑ ใบ ธนบัตรใบนั้น จะมีคุณค่าน้อยมาก ต่อเศรษฐีผู้นั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง คือ อรรถประโยชน์ หน่วยสุดท้าย (marginal utility) ของทรัพย์สินที่ตกอยู่ กับเศรษฐีดังกล่าว จะมีค่าแทบเท่ากับ ๐

แต่ถ้าธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาทที่สังคมได้ เพิ่มขึ้นมา ตกอยู่กับครอบครัวที่มีเงินติดกระเป๋าแค่ ๕๐๐ บาท ธนบัตรใบนั้น จะมีคุณค่า ในการสร้างประโยชน์สุข หรือให้อรรถประโยชน์สูงสุด อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กับคนยากจน (ที่เป็นหน่วยหนึ่ง ของสังคมนั้นๆ) อันจะส่งผลให้ ธนบัตรใบดังกล่าว ให้อรรถประโยชน์ สูงสุดต่อสังคมโดยส่วนรวมด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจ จึงดูแค่ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการเพิ่มขึ้น ของผลิตผลมวลรวม ประชาชาติ (GDP) เป็นเป้าหมายหลัก ในการพัฒนา เพียงมิติเดียวไม่ได้ แต่จะต้องคำนึงถึง อรรถประโยชน์ หน่วยสุดท้าย ของผลิตผลมวลรวม ที่เกิดขึ้น กับสังคมเป็น
เป้าหมาย สำคัญด้วย

ปรัชญาของระบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน แนวพระราชดำริไว้นั้น จึงมีนัยะของ ตรรกะ
ในทางเศรษฐศาสตร์ ที่ลุ่มลึก โดยหากไปมองการพัฒนาเศรษฐกิจ จากตัวเลขผลิตผลมวลรวม เพียงมิติเดียว การส่งเสริม ให้ผู้คน หันมาใช้ แบบวิถีการผลิต โดยการปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกสมุนไพร ฯลฯ เพื่อวัตถุประสงค์ สำหรับการบริโภค ในครัวเรือนเป็นหลัก ส่วนที่เหลือ ค่อยนำไปจำหน่าย แทนที่จะแบ่งงานกันทำ ตามความถนัด และผลิตครั้งละ จำนวนมากๆ (mass production) แนวทาง เช่นนี้ก็เหมือน เป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะจะทำให้ผลิตผล มวลรวมประชาชาติ ลดน้อยลง ส่งผลให้ อัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจ ถดถอยลง

แต่ถ้ามองจากมิติการเพิ่มอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายของผลิตผลมวลรวม ควบคู่ไปด้วย การสนับสนุน ให้ผู้คนประมาณ ๑ ใน ๔ (ไม่ใช่ผู้คนทั้งหมด ในสังคม ดังที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงกล่าวเน้น) หันมาใช้ แบบ วิถีการผลิต ที่เน้นการพึ่งตัวเอง ในครัวเรือน แทนการ พึ่งตลาด และพึ่งแหล่งทุนเช่นนี้ ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ดังกล่าว อาจจะเป็นระบบ ที่สร้างประโยชน์สุข หรือทำให้ผลิตผล มวลรวม เกิดอรรถ ประโยชน์สูงสุด ต่อประชาคม มนุษย์ก็ได้ อันสอดคล้อง กับรากฐานความคิด ทางเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ในพุทธปรัชญา ซึ่งที่จะได้ ขยายความต่อไป
อ่านต่อฉบับหน้า

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๗ ธันวาคม ๒๕๔๔)