เราคิดอะไร.

การปลูกพืชหลายชนิดพร้อมกัน (ชีวิตไร้สารพิษ)


การปลูกพืชหลายชนิดพร้อมกัน วิธีการปลูกพืชหลายชนิดด้วยวิธีการง่ายๆ ๓ วิธี คือ
๑. หว่านสุ่ม พืชพันธุ์แต่ละกลุ่มแต่ละวงศ์ จะไม่แย่งอาหารกัน เพราะระบบการหาอาหารและธาตุอาหาร ที่พืชเหล่านั้นต้องการ จะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเรานำเมล็ดบางชนิด ของแต่ละกลุ่มมารวมกัน แล้วหว่านไปพร้อมๆ กันเลย นี่เป็นการทำการเกษตร แบบหว่านสุ่ม ถ้าเรามีเมล็ดพันธุ์ เราจะแยกเมล็ดพืช แต่ละกลุ่ม แล้วหว่าน ทีละกลุ่มก็ได้ ลักษณะการหว่านเมล็ดพืชแบบนี้ ต้นพืชจะขึ้นกระจัดกระจาย ไม่เป็นแถวเป็นแนว

๒. หยอดเป็นเส้น จะหยอดอะไรก็หยอดให้เป็นเส้นๆ ไป อาจจะมีการสลับ ไปใช้พืชที่จะใช้ขับไล่ ป้องกัน แมลงศัตรูพืช ปลูกแซมเข้าไป ในระหว่างเส้น และรอบๆ เช่น ปลูกดอกทานตะวัน หรือดาวเรือง ก็จะไม่มีปัญหา เรื่องแมลง การหยอดเป็นเส้นโค้ง จะได้พืชมากกว่าเส้นตรง

๓. ต้นไม้ เราจะมีต้นไม้เข้าไปด้วย มีต้นไม้อยู่เป็นหลักและเป็นพี่เลี้ยง แล้วจึงเอาพืชผัก ที่เราต้องการใช้สอย ใส่เข้าไป ควรจะปลูกพืช ตรึงไนโตรเจน เช่น แคฝรั่ง ซึ่งเป็นทั้งต้นไม้ใหญ่ ให้แร่ธาตุอาหารแก่ดิน และช่วย บำรุงผักด้วย ในอัฟริกาจะมีกำหนดเลยว่า ถ้าจะปลูกพืชผักอะไร จะต้องปลูกต้นไม้ ที่สามารถเกื้อหนุนกันได้ เป็นพี่เลี้ยงด้วย และสำหรับอินเดียนแดง ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาจะปลูกต้นไม้ใหญ่ ในไร่ข้าวโพด ซึ่งจะทำให้ได้ ผลผลิตเป็น ๒ เท่า ถ้าหากว่าใช้ต้นไม้พวกนี้ เข้าไปช่วย เราจึงตัดต้นไม้ ทิ้งหมดไม่ได้

ต้นไม้ให้ประโยชน์มากมาย เราจะต้องการอะไรมากกว่านี้อีกเล่า มันให้ร่มเงา เวลาที่เราต้องการ และเวลา ที่เราต้องการแสง มันก็ให้แสง เวลาที่ต้องการอาหาร มันก็ให้อาหาร มันให้ปุ๋ย มันให้ทุกอย่าง ต้นไม้แบบนี้ จึงเหมาะ สำหรับปลูกร่วมกับ การปลูกข้าวโพด ข้าว และข้าวสาลี เพราะว่ามันจะได้สิ่งที่มันต้องการ ในเวลาที่มันต้องการ และให้สิ่งที่ผู้อื่นต้องการ พร้อมกันไปด้วย

ไม้ตระกูลอะคาเซีย เช่น กระถินณรงค์ จะไม่ทิ้งใบในฤดูแล้ง จะเขียวอยู่เสมอ และจะช่วยให้ร่มเงา แต่ถ้าเวลาฝนตก มันจะทิ้งใบหมด เพราะเวลามีเมฆมาก เมฆจะบังแสงแดด มันก็จะทิ้งใบหมด เพื่อให้ใต้ต้นของมัน มีโอกาส ได้รับแสง ใบจะหล่นเป็นรูปวงรี ดังนั้นมัน จึงช่วยให้ปุ๋ยแก่ดินมากทีเดียว

ทานตะวัน ผักชี ปลูกกับข้าวฟ่างก็จะได้ผลดี ดาวเรืองจะช่วยป้องกันแมลงให้มะเขือเทศ หรือ มะเขืออื่นๆ มะละกอ ก็จะช่วยป้องกันแมลง งาก็เป็นพืชที่ป้องกันไส้เดือนฝอย ให้มะเขือเทศและ มะเขือต่างๆ ถ้าหากว่า ขี้เกียจปลูกงา ก็เอาเศษงาเก่าๆ ที่เหลือค้างปี โรยเป็นรูปกากบาท ในที่ที่เราปลูกมะเขือเทศ หรือที่ที่เราปลูก มะเขือ เท่านั้นก็เรียบร้อย นี่เป็นระบบ ปลูกผักที่ดีมาก ป้องกันศัตรูพืช ให้มะเขือเทศ และมะเขือ ส่วนผักชีนั้น จะมีบทบาท เป็นคุณหมอ ของสวนเช่นกัน ขิงกับขมิ้น ก็มีประโยชน์ ใช้เป็นยาอย่างดี

ถ้ามีจอมปลวก เราก็ใช้จอมปลวกด้วย บริเวณจอมปลวกมีความชื้น มันจะช่วยให้เราสามารถ ปลูกต้นไม้ได้ ถึงแม้ว่า เราจะตัดต้นไม้ ออกแล้ว เราจะมีไนโตรเจน อยู่ในดินต่ออีก ไม่น้อยกว่า ๖ ปี และเราจะสังเกตไม่ได้เลยว่า ผลิตผลลดลง จนกระทั่ง ๔ ปีให้หลัง จึงจะสังเกตเห็นได้ชัด และถ้าเรามีโอกาส เดินทางไปที่อัฟริกา โดยเครื่องบิน และ มองลงมาข้างล่าง เราจะเห็น เหมือนกับว่า มียักษ์ ค่าง หมี บนพื้นดิน และเราจะเห็นจอมปลวก เป็นแนว มองดูแล้วเหมือนกับ ผมที่ขมวดอยู่บนศีรษะ ชาวอัฟริกา แต่จริงๆ แล้ว คือจอมปลวก ไม่มีใครรู้เหตุผล ที่มีจอมปลวก เรียงแถวกัน เป็นเส้นโค้ง ในลักษณะนั้นได้อย่างไร และถ้าหากว่าเราปลูกผัก และพืชพันธุ์ธัญญาหารนี้ รอบจอมปลวก และปลูกต้นไม้ไว้ด้วย ใต้ดงไม้นี้ ก็จะไม่มีแมลง หรืออะไรต่างๆ มารบกวนพืชผัก ของเราได้เลย

คุณบิล มอลลิสัน ได้ปลูกองุ่น น้อยหน่า และปลูกพืชบางชนิดบนจอมปลวก รวมทั้งมะขามด้วย และถ้าหาก เราได้ไปที่อินเดีย เราจะเห็นต้นมะขาม เราจะรู้เลยว่า ต้นมะขามอยู่บนจอมปลวก สำหรับในประเทศไทย บิล มอลลิสัน บอกว่าอาจจะมีการวางรูปแบบ ที่ใช้ต้นไม้ ประเภทปาล์ม ซึ่งมีมะพร้าว ตาล หมาก และอื่นๆ ปลูกขนาบ ไปกับพืชไร่ และพืชผัก นี่ก็คือวิธีการปลูกพืชผัก ให้ได้ผลดี

สรุปได้ว่า เราก็ได้พูดถึงองค์ประกอบหลายองค์ประกอบ ที่จะทำให้การเพาะปลูกของเรา ทำได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมคนโบราณ จึงได้ปลูกพืชหลายๆ ชนิดปนกัน ถ้าหากว่า เรารู้ว่า คนโบราณของเรานั้น ทำอะไรบ้าง เราก็จะได้ทำตาม ถึงแม้เราจะไม่รู้เหตุผล เราก็อาจจะทำตามได้ ไม่เสียหายอะไร

นอกจากนี้เราก็ได้แสดงรูปแบบของการผสมพันธุ์พืชต่างๆ และแนวทางของการเพาะปลูกด้วยการผสม เมล็ดพันธุ์ การที่เราจะใช้ พืชพันธุ์หลายๆ ชนิดปนกัน และก็หว่านในครั้งเดียว นี่จะเป็นประโยชน์ เนื่องจาก เราจะไม่ต้อง เสียแรงงานมาก เราไม่ต้องลงทุนมาก ถ้าหากว่า เราสามารถออกแบบ ได้อย่างดี เราก็จะได้พื้นที่ ที่สามารถ ทำการเพาะปลูก ได้ยั่งยืนถาวร ซึ่งอาจจะต่อเนื่อง ได้หลายๆ ด้าน

ถ้าหากว่าการทำในพื้นที่ใหญ่ หรือต้องการขยายพื้นที่ออกไป การใช้เมล็ดพันธุ์จะดีกว่า การปลูกเป็นต้นๆ และต้นทุน ก็จะถูกกว่า แต่ถ้าใช้เมล็ดหว่านคลุมไปหมด ต้นทุนจะสูงมาก อีกทั้งพืชบางชนิด ต้องเลี้ยงในโรงเพาะชำก่อน ต้องเพาะ และเอาลงดินภายหลัง เพราะพืชเหล่านี้จะอ่อนแอ และต้องการการดูแลรักษา และให้น้ำ พืชพวกนี้ จะเป็นพืชบุกเบิก หรือเป็นพืช ที่เป็นพี่เลี้ยงพืชอื่นได้ยาก

เมล็ดพันธุ์ของไม้ป่าบางชนิด จะต้องใช้ความร้อนในการงอก ถ้าไม่ถูกความร้อนก็จะไม่งอก เมล็ดพันธุ์ไม้ป่า บางชนิด ต้องให้นกบางชนิดกินและเก็บเมล็ด จากมูลของนก เพราะฉะนั้น บางทีจึงต้องเลี้ยงนกพิเศษเฉพาะตัว เพื่อจะไป ให้มัน กินเมล็ด พืชชนิดนี้ และถ่ายมูลออกมา เพื่อให้เมล็ดพืชงอกขึ้นได้ แต่มันไม่กินพืชทุกชนิด พืชพันธุ์บางชนิด ต้องให้ม้ากิน พอม้ากิน และก็ถ่ายออกมา ก็เก็บเมล็ดจากมูลม้า และก็เอาไปโรยบนดิน มันก็จะงอกเป็นต้นต่อไป

หญ้าบางชนิดก็จะทำให้ต้นไม้บางชนิดเติบโตช้า เพราะมันมีสารเคมีบางอย่างรบกวนต้นไม้ ดังนั้น ถ้าหากว่า มีหญ้าขึ้น หนาแน่นเกินไป มันก็จะเบียดต้นไม้ และทำให้ต้นไม้ไม่โต เพราะรากไม่มีทางขยาย ออกไปหากิน และต้นไม้บางชนิด ก็จะไม่โตเลยในหญ้า วิธีที่ควรทำก็คือ เราตัดหญ้าใต้ต้นไม้เสีย แล้วหาพืชคลุมดิน มาปลุกคลุม ต้นหญ้า ก็จะไม่โตขึ้นอีก บิล มอลลิสัน เล่าว่า ผมเคยปลูกกล้วย ในดงหญ้า กล้วยก็ไม่โต แต่มันก็ไม่ตาย พอผมลงมันเทศ ลงไปใต้ต้นกล้วยนั้น กล้วยก็จะเจริญ เติบโตขึ้นทันที กล้วยนี้ถ้าหากว่า มีปุ๋ยพืชสด คลุมรอบๆ
อยู่แล้วละก็ มันจะโตเร็ว และก็ให้ผลดี เรื่องนี้ยังเป็นความจริง กับมะม่วง มะนาว และ พืชตระกูลส้มด้วย

การที่จะเลี้ยงต้นไม้ให้งอกงามนี้ต้องใช้เวลาสองปี และอย่าให้ต้นไม้ถูกหญ้าเบียด แต่ถ้าหากว่า ตรงนั้นมีต้น ยูคาลิปตัส หรือต้นสนอยู่ ต้นไม้ข้างๆ จะไม่โต แม้แต่ไม้ใหญ่ ตระกูลถั่วบางต้น ก็เป็นศัตรู และเป็นปฏิปักษ์ ต่อต้นไม้อื่นๆ เพราะว่ามันจะผลิต สารเคมีบางอย่าง ซึ่งเป็นอันตราย ต่อต้นไม้อื่นได้

มีคนพยายามทดสอบดูความสัมพันธ์ทางบวกหรือทางลบของไม้หลายชนิด แต่ยังมีผลน้อยมาก เช่น ที่ประเทศ ออสเตรเลีย ซึ่งมียูคาลิปตัส เป็นพืชพื้นเมือง ได้ทดลองแล้วรู้ว่า ยูคาลิปตัสกับแอปเปิ้ล จะเป็นปฏิปักษ์กัน แต่ถ้าปลูกต้นหม่อน ระหว่างต้นไม้ทั้งสอง หม่อนและแอปเปิ้ล จะมีสัมพันธภาพ ที่ดีต่อกันมาก แต่ถ้าเราเปลี่ยน โดยที่เอายูคาลิปตัส ปลูกติดกับแอปเปิ้ล เราก็จะไม่ได้แอปเปิ้ลเลย

ถ้าหากว่า เราลงเครื่องหมาย + และ - ไว้ เราจะรู้ได้ง่ายๆ ว่าต้นอะไรต่อต้นอะไร เกื้อกูลสัมพันธ์กันอย่างไร นอกจากจะดี สำหรับต้นไม้แล้ว ยังมีประโยชน์ ต่อการเตรียมพื้นที่ เพื่อปลูกต้นไม้เสริมด้วย โดยเราปลูกต้นไม้ ที่เป็นเพื่อนกัน ที่เกื้อกูลกัน แทรกระหว่างต้นไม้ ซึ่งอยู่ร่วมกัน ก็จะหมดปัญหาจริงๆ แล้ว ไม่ค่อยจะมีหรอก ที่จะอยู่ด้วยกันไม่ได้เลย สรุปสั้นๆ ก็คือต้นไม้ส่วนใหญ่ จะมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

ในส่วนของธัญพืช พืชไร่ พืชหลัก จะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อพืชไร พืชรอง เช่น ต้นมัสตาร์ดไม่ดี มีผลเสีย ต่อพืชไร่ ถ้าปลูกด้วยกัน แต่พืชตระกูลถั่ว ก็ไม่มีผลเสีย และมีผลประโยชน์ที่ดี ต่อต้นไม้อื่น และพืชผัก ส่วนยูคาลิปตัสนั้น ไม่ดีเลยสำหรับพืชไร่ เวลาที่เราจะไปแนะนำ ให้คนปลูกต้นไม้นั้น เราอย่าไปกำหนดว่า จะให้เขาปลูก ต้นไม้อะไร การปลูกพืชเศรษฐกิจ แม้จะมีตลาด เพราะมันไม้ดี สำหรับคนทำไร่ทำนา ไม้ดีสำหรับ คนทำสวนผลไม้ ไม่ดีสำหรับการทำปศุสัตว์ เรื่องของพืชบำรุงดิน และพืชพี่เลี้ยง ถ้าเราหาข้อมูลได้ดี เราจะไม่เสีย เวลามาก เพราะว่ามันเป็นประโยชน์ ถ้าหากว่า เราเอาสิ่งที่ไม่เข้ากัน ไปใส่ด้วยกัน มันจะทำให้เสีย ทั้งประโยชน์ เสียทั้งเวลา เรายังเรียนรู้ถึง ต้นไม้ที่สามารถ อยู่เป็นเพื่อนกันได้ ในส่วนของพืชไร่นั้น ยังมีน้อยมาก ที่พืชไร่ชนิดไหน จะเข้าได้กับพืชไร่ ชนิดไหนบ้าง เราต้องดูจาก ที่ปู่ย่าตายาย ทำมาแต่โบราณ เมื่อรู้แล้ว ก็ให้บันทึกเอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เราจะสรุปได้ว่า ไม่ใช่ของเสียหายที่จะปลูกต้นไม้ไว้ใกล้ๆ กัน และถ้าเราเห็นแล้วว่า แบบนั้นดี เราก็ควรจะต้องบันทึก เก็บเอาไว้ เรามีต้นไม้แล้ว และเรามีเครื่องหมาย ที่จะแสดง ในเรื่องของการที่มัน จะช่วยเหลือกัน เป็นเพื่อนกัน ซึ่งเราจะได้ศึกษา ถามได้จากผู้รู้ หรือศึกษาข้อมูล ที่คนอื่นทำมาแล้ว แม้ว่าส่วนใหญ่
ที่เขาทำมานั้น อาจจะมีวัตถุประสงค์ ที่มุ่งผลทางด้านการค้า มากกว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ถ้าเรารู้จัก เพื่อนต้นไม้หลายๆ คู่ เราก็จะสะดวก ในการวางแผนมากกว่า ที่จะไม่รู้ อะไรเลย

[Permaculture โดย Bill Mollison]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)