หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

สีสันชีวิต ทีมสมอ.

"อิสรา นามปากกานี้อาจไม่โดดเด่น คุ้นหูใครต่อใคร แต่ในแวดวงเล็กๆ ทั้งงานเขียนเชิงบันทึก และบทกวีของเธอ โดดเด่นประทับใจนัก มิใช่เพียงถ้อยภาษาคมคายไพเราะ แต่ยังเปี่ยมเนื้อหาอรรถรส ที่นำไปสู่การค้นพบทางออก ในแง่มุมงดงามของชีวิต"

ลัดดา ปิยะวงศ์รุ่งเรือง (น้อมคำ อิสรา)

ทีละคืบทีละศอกกระลอกคลื่น
ค่อยเก็บกลืนความเป็นไทยได้สนิท
จากวันวานผ่านวันนี้ทีละนิด
ศักดิ์และสิทธิ์แทบไม่เหลือในเนื้อไท

เขาไม่มาเป็นเจ้าเข้าครอง
เราสิร้องเชิญเขามาให้อาศัย
ศิโรราบ กราบกรานศิวิไลซ์
แค่กากเดนก็ยิ่งใหญ่ได้ปานนั้น

อนิจจาเลิกทาสฉลาดแล้ว
กลับไร้แวว เลือกทางที่สร้างสรร
เอาดวงแก้วแลกก้อนกรวดมาอวดกัน
อนาคตก็หดสั้นแค่วันนี้

ทีละคืบทีละศอกระลอกคลื่น
.จะขับไล่คาวขื่นจากพื้นที่
ด้วยน้ำใสใจจริงทุกสิ่งมี
เพื่อพรุ่งนี้จะยังห็นความเป็นไท

(เขียนเมื่อไมเคิล แจ็คสัน มาแสดงคอนเสิร์ตในไทย)

รู้จัก "อิสรา"
พ่อเป็นคนจีน แม่เป็นลูกครึ่งจีน-ไทย แต่ค่อนมาทางไทย เป็นพี่สาวคนโตของน้องสาว ๑ น้องชาย ๓ ฐานะทางบ้าน ตอนเป็นเด็ก ค่อนข้างลำบาก แต่ไม่ถึงกับขัดสน เรียน ๑๓ ปี ทำงาน (ทางโลก) ๑๓ ปี ถือว่าเจ๊ากันไป เริ่ม ปฏิบัติธรรม เมื่ออายุ ๒๗ ปี รู้สึกว่าชีวิตคือความทุกข์โดยแท้ เมื่อครอบครัวมีฐานะมั่นคง จึงขอปลีกตัว มาปฏิบัติธรรม

สิ่งที่รักผูกพันมาตลอดชีวิตคือครอบครัวและหนังสือ สิ่งมีค่าสูงสุด คือการได้ปฏิบัติธรรม อยู่ในหมู่กลุ่ม มิตรดีสหายดี

สิ่งพอใจสูงสุดคือได้ทำงานที่ใจรัก นอกจากงานเขียน ก็เป็นบรรณาธิการของ บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด ซึ่งรับพิมพ์หนังสือด้วย

ชีวิตก็เป็นอย่างนี้
ไม่เคยมีอิสระ ต้องเลี้ยงน้องตลอด พอน้องคนแรกโตก็มีน้องคนที่ ๒,๓,๔ ตามมา เป็นความรับผิดชอบ ที่ยิ่งใหญ่ เคยนึกเปรียบเทียบ กับเด็กรุ่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเด็กตัวไล่ๆ กันในหมู่บ้าน เขาจับกลุ่มเล่นกันสนุกสนาน คิดว่าเราคง มีความสุข ถ้าได้มีโอกาส เล่นกับพวกเขาบ้าง แต่ความจริงคือต้องดูแลน้องให้หลับก่อน จึงจะไปทำอย่างอื่นได้ ทำให้มีความรู้สึก กดดันอยู่ในใจลึกๆ เป็นเด็กเงียบขรึม คิดมากและ เป็นเด็กตัวอย่าง ของหมู่บ้าน เวลาลูกบ้านไหน มีปัญหา เขาจะนำเราไปเปรียบเทียบ เพราะเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่เคยมีปัญหากับใคร จริงๆ ก็แค่บุคลิกที่เฉยๆ ของเรา ไม่ว่าจะเกิดอะไรก็เงียบเฉย เพราะไม่อยากสร้างปัญหาให้พ่อแม่ซึ่งเขาก็มีเรื่องเยอะอยู่แล้ว

พ่อเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวใหญ่ แต่งงานแล้วก็แยกครอบครัวออกมาไม่ได้ แม่เป็นสะใภ้คนไทย ที่ทรหด อดทนมาก ปรับตัวจนเป็นที่ยอมรับของญาติพี่น้องทางพ่อ เห็นความรับผิดชอบ ของพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆ ๕ คน แล้วซาบซึ้ง ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากมีครอบครัวเพราะเห็นๆ อยู่ว่ามันคือภาระล้วนๆ

รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสองสาย
การอยู่กับครอบครัวจีนมาตั้งแต่เล็ก ได้บ่มเพาะความเป็นคนรู้คิด รู้เหมาะควร รู้เด็ก รู้ผู้ใหญ่ เป็นพี่ก็ต้องวางตัว เป็นแบบอย่าง ที่ดีให้น้องๆ รวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และวินัยในการกินอยู่ร่วมกัน ช่วงหลัง มาอยู่กับ ครอบครัวทางยาย ซึ่งเป็นคนไทย พบว่าครอบครัวไทยผ่อนคลาย ต่างกันมากกับ ครอบครัวจีน เขาไม่มี การแบ่งแยก เด็กผู้ใหญ่ ทุกคนเล่นหัวกันได้ แซวกันได้ มีความคุ้นเคยเป็นกันเอง ซึ่งบางทีก็เกินไป ได้เรียนรู้ วัฒนธรรมไทย ที่มีวันโกน วันพระ ไปวัด ใส่บาตร ทำให้ได้เลือกสรรสิ่งที่ดีให้แก่ตัวเอง

แววกวี
พอเริ่มอ่านหนังสือได้ ก็อ่านมาตลอด อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ชอบอยู่กับตัวเองและ หาเวลา อ่านหนังสือ เรียนดี แต่ก็ไม่ขวนขวาย ในเรื่องเรียนเท่าที่ควร รู้สึกว่าการเรียนไม่ได้ให้อะไรมากนัก อาจเป็นเพราะ เมื่ออยากรู้เรื่องอะไร ก็รู้ได้จากการอ่าน ซึ่งทำให้เรารู้ มากมายกว่าเด็กอื่นๆ ตั้งเยอะแยะ ผลการเรียนวิชาภาษาไทยดีเยี่ยม บางครั้ง ครูถาม คำถามธรรมดา แต่จะได้รับคำตอบที่ลึกซึ้ง บางทีก็ตอบเป็นกลอน ครูแนะนำให้เรียนต่ออักษรศาสตร์ แต่เมื่อถามแม่ แม่บอกอย่าเลย เรียนอะไรก็ได้ที่จบเร็วๆ แล้วมาทำงานช่วยพ่อแม่ จึงเรียนต่อทางด้านบัญชี และทำงาน ในแวดวงธุรกิจ แต่ไม่ชอบเลย ทำไปอย่างนั้นแหละ ๑๐ กว่าปี ทำงานตามหน้าที่ อย่างท่านพุทธทาสว่า คิดแต่ว่าทำอย่างไร ให้ตัวเองไม่เป็นภาระ และช่วยครอบครัวให้มากที่สุด

พบธรรมะจากสื่อ
อายุ ๑๕ ปี เริ่มสนใจอ่านหนังสือธรรมะอย่างจริงจัง หลังจากอ่านมาทุกประเภทแล้ว ชอบอ่านลัทธิเต๋า ขงจื๊อ อยู่อย่างเซน ธรรมะของท่านพุทธทาส แพรเยื่อไม้ รวมทั้งปรัชญาลึกซึ้ง ของมหาบุรุษต่างๆ สุดท้าย มาอ่าน หนังสืออโศก รู้สึกแปลกแต่ไม่ประทับใจ โดยเฉพาะวิธีการเรียงตัวอักษร ที่ดูแล้วเมื่อยลูกตามาก มีทั้งตัวใหญ่ ตัวหนา ตัวเอน เน้นหนัก
ไปหมด แต่สะดุดกับการตีความ กิเลสคือ สิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของชีวิต แล้วเขาก็ลดละ ด้วยการ ไม่ใช้สบู่ ไม่กินปรุงแต่ง ไม่ใส่รองเท้า ฯลฯ เอ๊--- มันเกี่ยวกันตรงไหน

เคยประทับใจหนังสือประเภททำให้จิตว่าง เป็นน้ำแข็งกลางเตาหลอมเหล็ก มันก็ว่างได้ตอนอ่าน แต่พอเจอผัสสะ เจอความอยุติธรรม ความร้ายกาจของคน ก็ทุกข์เจ็บปวดทุกที จึงพยายามค้นหาว่า ทำอย่างไรจะมีขั้นตอนปฏิบัติ
จนถึงจุดที่ต้องการ

เดือนมีนา ๒๓ ลองมาดูที่สันติอโศก เห็นองค์ประกอบต่างๆ เห็นกุฏิ ต้นไม้ สิ่งแวดล้อม รู้สึกว่านี่คือวัดในอุดมคติ จริงๆแล้ว ตัวเองก็ไม่ใช่คนที่แสวงหา แต่ชอบเดินดูอะไรต่อมิอะไรไปเรื่อยๆ อย่างไปสนามหลวง ก็จะไปเดิน ที่หลักเมือง ไปไหว้พระ ซึ่งเคยรู้สึกไม่ดี เขาให้ซื้อดอกไม้ธูปเทียน พอวางปั๊บ เงยหน้าขึ้น ก็เห็นเขาเอาดอกไม้ ธูป เทียนนั้น ไปขายต่อแล้ว และในบริเวณนั้นก็มีการปล่อยนก เชิญชวนให้ทำบุญ ซึ่งรู้สึกว่า อย่างนี้ไม่น่า จะใช่ ศาสนาพุทธ ไม่ช่วยคนให้พ้นทุกข์

กวีธรรมเรื่องแรก
ในช่วง ๒๓-๒๔ ได้เข้าวัดศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ได้อ่านหนังสือเรื่อง โจนาธานนางนวล เล่มนี้จุดประกาย ความคิด ให้ลุกโชติช่วง มีความรู้สึกอยากให้นักปฏิบัติธรรม ทุกคนได้อ่าน เพราะมันคล้าย ชีวิตของพวกเขา เป็นชีวิต ที่ขบถ จากวิถีชีวิตแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง แต่รู้ว่าเป็นไปได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่ชอบอ่านหนังสือ ก็ได้แต่ย่อ สรุปหนังสือทั้งเล่ม ออกมาเป็นกลอนเปล่า ๑ บท เผื่อว่าเขาอ่านแล้ว เกิดความซาบซึ้ง ก็ต้องไปหาหนังสืออ่าน หรือ ถ้าเขาพอใจแค่นี้ เขาก็ได้รับสาระแล้ว

แด่...นางนวลตัวใหม่
เมื่อดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า
นั่นคือ...สัญญาณของการเริ่มวันใหม่
พันธะแห่งกาลเวลา
ปลุกทุกชีวิตให้เคลื่อนไหว
เพื่อเตรียมตัวทำหน้าที่ของตน...
หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต

มนุษย์ออกจากบ้านไปทำการงาน
นกบินออกจากรังไปหาอาหาร
ถ‰าตัดความโลภ...สะสม...กอบโกย
เพราะความโง่ของมนุษย์ออกแล้ว
ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างคนกับนก

ชีวิตประจำวันของคนบางกลุ่ม
กิน...นอน...ทำงาน...พักผ่อน
ซ้ำซากอยู่กับกองกระดาษและตัวเลข
จำเจกับการเดินทางปะปนไปกับผู้คนแปลกหน้า
พักเที่ยงด้วยการฟุบหลับบนโต๊ะ
และรอเวลาเลิกงานในตอนเย็น
นี่น่ะหรือความหมายของการทำงาน
นี่น่ะหรือเงื่อนไขของการดำรงชีวิต

ดูนางนวลเหล่านั้นสิ!
มันจะบินอย่างเกียจคร้านไปยังเรือประมง
ตรงเข้าไปจิก...กิน...แย่งเศษอาหาร
ที่เขานำมาทิ้งวันแล้ววันเล่า
เชื่อไหม...ว่ามันก็ภูมิใจในการ "ทำงาน" ของมัน
การเลี้ยงชีพด้วยปีก ด้วยลำแข้งของมันเอง
เทียบเคียงดูสิว่า มันมีอะไรแตกต่างไปจากคนบ้าง

จะมีบ้างไหมนะ...
ที่นางนวลสักตัวจะเริ่มคิดถึงการฝึกบิน
เพื่อชีวิตที่ดีกว่า...
บินข้ามขอบฟ้าไปยังที่ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด
ไปอาบแสงตะวันยามเช้า
โผไปบนท้องทะเลสีเขียว
ที่สะท้อนแสงดาวระยิบระยับยามค่ำคืน

นกโง่ๆ เท่านั้นหรอกที่ยังยินดีกับเศษอาหาร
นกขี้ขลาดเท่านั้นแหละที่กลัวการเพลี่ยงพล้ำ
บินออกมาสิเพื่อนรัก...
ถ‰าเจ้าอยากรู้จักชีวิตอิสระ

อย่ากลัวอด...อย่ากลัวหิว...
ทิ้งเศษปลาแห้งนั่นเสีย
ที่ฝั่งทะเลข้างหน้ายังมีอาหารอีกมากมาย
ที่เจ้ายังไม่เคยได้ลิ้มรส
และเหนือสิ่งอื่นใด...
นั่นคือ ความวิเศษในการได้เรียนรู้ชีวิต

ก็แน่นอนละ
ที่ฝูงของเจ้าจะไม่เห็นด้วย
พวกเขาจะดูหมิ่นเหยียดหยาม
และพากันหัวเราะเยาะ
แต่ลึกลงไป เขากำลังหวั่นวิตกต่างหาก
เขากลัวเจ้าจะสูงกว่า...เหนือกว่า...
ทั้งๆ ที่เขาไม่กล้าเสี่ยง
เจ้าเองก็พอจะรู้...ไม่ใช่หรือ

เลือกเอานะ
ระหว่างความใหม่กับความเก่า
ความดีกับความเลว
อย่าให้เสียทีที่เกิดมา
โยนความกังวลเพราะลมปากคนอื่นทิ้งไป
แล้วบินออกมาเสีย...
เราจะไปคอยเจ้าที่ฝั่งทะเล

บรรลุธรรมด้วยการเขียน
ชอบเขียน เพราะสามารถเรียบเรียงความรู้สึกนึกคิดได้ง่าย แทนการพูดที่เราไม่ถนัด เหมือนอ่านเรื่อง โจนาธาน นางนวล แล้วอยากให้คนอื่นอ่าน ก็พยายามสรุป เอาแก่นออกมาว่าคืออะไร คล้ายกับคนที่เห็นทุกข์ จึงเห็นธรรม เมื่อเข้าใจความเจ็บปวดก็เข้าถึงสัจจะ แล้วพยายามจะสื่อออกมา ไม่ว่าจะเป็นการพูด สอน หรือ เขียนก็ตาม โดยผสมศาสตร์และศิลป์เข้าไป

ในการเขียน เราต้องเริ่มที่เรียงลำดับความคิด ใช้ประโยคที่เข้าใจง่าย กระชับ ใช้คำเชื่อมที่ถูกต้อง ต้องคิดมากกว่า จึงคลาสสิกกว่า ได้ทบทวน ตัดทอน เพิ่มเติม งานออกมาจึงสมบูรณ์กว่า จุดสำคัญคือได้ไตร่ตรอง มากกว่าคำพูด ที่พูดๆ ออกไป ซึ่งบางทีก็พูดผิด พูดไม่ตรงประเด็น

ประสบการณ์ตรงในชีวิตจริง
เป็นคนช่างคิด เห็นทุกข์เยอะ เจ็บปวดง่าย สะเทือนใจง่าย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใด ก็สามารถสะท้อนออกมาได้ แต่ส่วนใหญ่ เป็นแง่ความทุกข์ทรมานขมขื่น เขาถึงว่าความทุกข์ สร้างกวี แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เสียทีเดียว ความสุขสบาย ก็สร้างได้ แต่แรงกดดันไม่เหมือนกัน ถ้าพูดว่าในความสุขมีความทุกข์ จะเข้าใจไหมล่ะ เคยมีความรู้สึกว่า เราเป็นคนบาปหรือเปล่า เพราะแม้อยู่ในงานรื่นเริง เต้นรำฟังเพลง มีความสุขกับเพื่อนรู้ใจ ใจก็ยังแว่บไปว่า นี่มันไม่จริงหรอก ความสุขอย่างนี้แป๊บเดียว เดี๋ยวมันก็หมดไป แล้วเราก็จะกลับไป ใช้ชีวิตประจำวัน อยู่กับปัญหาต่างๆ ที่คร่ำเคร่งเหมือนเดิม คือ สุขก็สุขไม่จริง แต่ทุกข์น่ะของจริง ในโลกมีสุขน้อย มีทุกข์มาก ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็รู้สึกว่า จริงที่สุดสำหรับเรา โดยเฉพาะ เรื่องของความรัก มันมีความเข้าใจ แม้ไม่ต้อง ใช้ชีวิตคู่ ไม่เคยพร้อมสำหรับการมีครอบครัว กลัวทุกข์ แค่คิดถึงเขาก็ทรมานแล้ว

เพียงความรู้สึก
ก็เป็นแค่เพียงความรู้สึก
เจ็บลึกเจ็บร้าวจะเท่าไหร่
ก็เพียงเสียงเรียกร้องของหัวใจ
เกิดได้-ดับได้ ไม่จีรัง

ก็เพียงเสน่หา-เสน่หาย
ก่อตัวแล้วมลายคลายมนต์ขลัง
ก็ชีวิตทั้งชีวิตยังอนิจจัง
มีหรือความหวังไม่พังภิณท์

เรียนรู้ทุกกระแสที่แปรเปลี่ยน
ก็เห็นแต่วนเวียนไม่จบสิ้น
เบื่อหน่ายทุกข์ทนจนชาชิน
จึงโหดหินหักหาญรานต้นรัก

นักเขียนในโลกแห่งความจริง
เป็นกวี เป็นนักเขียน ก็ปฏิบัติธรรมไปด้วยได้ ไม่ขัดแย้งกัน นักเขียนต้องมีจินตนาการ มีความเฟ้อฝันบ้าง- ก็ใช่! แต่การมา ปฏิบัติธรรมนี่เป็นตัวจริงของเราเลย เป็นวัตถุดิบที่ไม่ต้องไปเสียเวลาหา และเราก็เจ็บปวดกว่า คนข้างนอก เราทุกข์ กับการต้องฝืนใจตัวเอง ไม่ตามใจมัน ไม่บำเรอกิเลส เรามีสิทธิ์ทำแต่ไม่ทำ มีสิทธิ์กิน แต่ไม่กิน ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็ทุกข์เพื่อจะพ้นทุกข์ แต่คนข้างนอก เขาทุกข์ตามเหตุปัจจัยที่ต้องเจอ ทุกข์ไม่สิ้นสุด

นี่คือความได้เปรียบ หากเราเอาทุกข์มาวิเคราะห์ เห็นทุกข์เห็นธรรมและทำงานไปด้วย งานเขียน จึงออกมา กระทบใจหลายๆ คนที่มีสภาวะเดียวกัน ต่างจากนักเขียนอื่นที่บางคน รู้ได้สูงส่ง แต่ไม่มีมรรคผลอะไร ซึ่งก็ไม่ใช่ ความผิดของเขา เพียงแต่คนไปคาดหวังให้ค่าชื่นชมเกินจริง แม้เราเองก็โดนด่ามาแล้ว ว่าเขียนเหมือน บรรลุอรหันต์ แต่ตัวจริง ยังห่วยอยู่ แต่ถ้าถามว่า เขียนเกินจริงไหม เราบรรลุในเรื่องอบายมุข เราก็เขียนว่าเราบรรลุเรื่องอบายมุข เราไม่ได้บอกว่า เป็นอรหันต์ แต่เราโสดาบันเรื่องนั้น หรือจะถึงอรหันต์ในเรื่องนั้นก็ได้ เราเขียนกวี เขียนบันทึก อะไรต่างๆ โดยเขียนจากความจริงของเรา มีคนถามเหมือนกันว่า เขียนจากจินตนาการบ้างไหม จินตนาการ
ก็มีส่วนตรงนั้น แต่รับรองว่าไม่เขียนเว่อร์เกิน สิ่งที่ตัวเองทำได้

จิตวิญญาณที่แปรเปลี่ยน
ปกติเป็นคนค่อนข้างหงุดหงิดง่าย เป็นสายโทสะ ราคะก็เยอะ เขาเรียกความไหวรู้สึก ใช่เลย เข็มกระดิกง่าย นี่ต่างหาก คือความทุกข์ ที่เราชัดเจนกับมัน ทำอย่างไรให้ลดลง จากวันนั้นถึงวันนี้ ๒๐ ปีผ่านไป เรารู้สึกเข้มแข็งขึ้น ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติธรรม คงจะอยู่ยากมาก อย่างเก่าก่อน เรามีอัตตามาก เราบอกว่า เราไม่อยากเสียเวลากับคน เราอ่านหนังสือ ประเทืองปัญญา ประเทืองอารมณ์มากกว่าการไปนั่งคุยเจŠาะแจ๊ะ คุยมากก็เรื่องมาก คนทะเลาะกัน ก็เพราะ พูดมากนี่แหละ นี่คือการดูถูกคนอื่นเห็นไหม แต่ ณ วันนี้ เราค้นพบว่าเราต้องมีเพื่อน ถ้าเราอหังการ เราโด่งดัง เราเก่ง แต่เดินไปทางไหนไม่มีใครอยากเข้ามาทักทาย พูดคุยด้วย เราก็คงไม่มีความสุขหรอก สิ่งที่เรา ได้เรียนรู้ ก็คือตัวเรา ต้องลดอัตตาตัวตนลงไป และผูกมิตรให้มากขึ้น

พบศาสนา พบทางออก
ชอบงานเขียนที่จบอย่างมีความสุข มีทางออก ไม่ใช่แบบที่เสนอปัญหามากมายแต่ไม่มีทางออก นอกจากทุกข์ๆๆ เท่านั้น งานเขียนของเราต้องมีทางออก เหมือนที่เรารู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์นั้นๆ เราต้องหันมาเคี่ยวตัวเอง ฝึกฝืนใจ เมื่อศึกษาทุกข์อริยสัจ รู้ทุกข์ สมุทัยเหตุแห่งทุกข์ นิโรธทางออกจากทุกข์ และมรรคทางเดิน สู่การพ้นทุกข์ คือ ไม่ทำอะไรตามใจตัวเอง ด้วยการตั้งตบะ วิรัติตัวเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ นอกจาก การเริ่มกิน อาหารมังสวิรัติ เพื่อทำให้ศีลข้อ ๑ บริสุทธิ์ ตามด้วยการลดมื้ออาหาร การไม่กินรสจัด การลดละทุกอย่าง มีส่วนเสริม
ทั้งนั้น เหมือนเมื่อตอนปฏิบัติธรรมใหม่ๆ ก็จะลดกิเลสหยาบๆ ออกไปก่อน พอมาถึงความรู้สึกภายใน ตัดเรื่อง อารมณ์รัก โลภโกรธหลง มันก็ยิ่งยากขึ้น เวลาโกรธอยากแสดงออกเต็มที่ ก็พยายามฝืนไว้ แม้การเขียน จะได้ระบาย ออกบ้างส่วนหนึ่ง แต่ก็พยายามบอกว่า ไม่ใช่ตรงนั้น เพราะบนหน้ากระดาษ ควรเป็นงานบริสุทธิ์ ไม่ใช่มารับใช้ ความรู้สึกของเรา เป็นที่ระบายใส่คนอ่าน โดยคนอ่านไม่ได้อะไร

๒๐ ปี กับผลงานที่ประดับไว้ในโลกา
มีผลงานรวมเล่ม ๔ เล่ม คือ ความสุขอยู่ตรงนี้ งดงามในความง่าย บนเส้นทางสายอดทน ๓ เล่มนี้เป็นบันทึก และ บทกวี เล่มที่ ๔ ดอกหญ้ากลางนาคร เป็นรวมบทกวีล้วนๆ นอกนั้นก็มีรวมกับเพื่อนๆ ใน "ฆ่ามันด้วยมือเรา" ปัจจุบัน ก็ยังเขียนลง ดอกหญ้าสม่ำเสมอ ขอบคุณผู้อ่านที่ยังไม่เบื่ออ่าน

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕)