หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


ง่ายแต่ยาก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ไม่เห็นควรถอดถอน ร.ม.ต.คนใด แต่กลับเข้าใจรัฐบาลเพิ่มขึ้น ตรงข้าม ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเอาคืนถอดถอนคุณชวน อริยชนมีศีลเป็นวัตร โดยมีธรรมชาติลงโทษ กัลยาณชน ใช้ระเบียบวินัย เป็นขอบเขต ปุถุชนต้องเอากฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ลงโทษ ลองสังเกตหลัก พุทธศาสนา ศีลข้อ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์และสัมมาอาชีพ ๕ ไม่ค้าขายสัตว์เป็นหรือตาย ดังนั้น พุทธศาสนิกชน จะบริโภค เนี้อสัตว์ ได้เฉพาะที่ตายเอง แต่คนไม่กินเนื้อสัตว์ ใช่ว่าจะดีหมด จึงมีเทวทัต ในสมัยพุทธกาล เลือกเอา ส่วนดี ที่เขามีอยู่ การเหยียบย่ำ ทำลายนั้นง่ายมาก แต่หากเว้นได้จะง่ายกว่า
‘ คนดูช่วยตัดสิน กทม.
- ผู้อาสาบริหารบ้านเมือง คือผู้อาสาจะทำดีให้แผ่นดิน จึงต้องเอาจำเพาะ ส่วนดีที่มีอยู่มาใช้ ส่วนเลวร้าย นั้น เอาใส่โลงปิดตายไว้ที่บ้าน บ้างเอาติดตัวมาด้วย แล้วยัดเยียดว่าเป็นส่วนดี แบบนี้ ถึงแม้เว้นได้ จะง่ายกว่าก็จริง แต่บ้านเมือง ไม่ใช่ของใครคนเดียว ของเราทุกคนนะครับ จึงต้องเหยียบย่ำ ทำลาย สิ่งเลวร้าย ให้สิ้นซากแต่...ยาก เพราะมันฝังตัว อยู่กับคนเลวร้าย ที่ยิ่งใหญ่ ทำลายความชั่วร้าย มิใช่ทำลายคน กำจัดเหามิใช่กำจัดหัว อย่าเล็งผิดเป้าล่ะครับ


แก่นแท้
ผมอยากทราบว่า "อยากเป็นคนงามอย่าวู่วาม โกรธง่าย ทำใจสงบจะพบแต่ความสุข เยือกเย็น
ขาดความยั้งคิด ชีวิตจะหมดความหมาย กลัวจนเกินงามทำอะไรก็ไม่ได้ความ แล้วจะพบ แต่ความเดือดร้อน" ผมลอกจาก คนอื่นมาถาม ผิดไปบ้าง ตกข้อความสำคัญอย่างใดบ้างครับ
‘ กส./บุรีรัมย์
- ลอกเขามาจำ นานวันก็ย่อมเพี้ยนไปได้ จะยึดอะไรชี้ชัดว่าถูกต้อง เล่นบทใหม่ดีกว่าครับ คิด เขียนให้คนอื่น เขาลอก ไปจำบ้าง เล่นไม่ยากหรอกน่ารู้ๆ ฝืมือกันอยู่ คว้าแก่นมาสลักเสลาใหม่ ด้วยฝีมือตัวเอง จะเอาวิจิตร ลึกล้ำ ขนาดไหน ก็เหยียบไปจมคันเร่งเลย คิดเองเขียนเองจำเอง คิดผิดพูดผิด คิดใหม่ทำใหม่ได้ทุกเมื่อ ทันสมัย ถูกต้องตลอดกาล


ความเป็นธรรม
นิทานจีนว่า มีชาวนาคนหนึ่งเข้าไปพบผู้พิพากษา แล้วฟ้องว่า "ท่านครับ วัวตัวหนึ่ง เข้าไปเหยียบย่ำกินข้าว ในนาเสียหายมากมาย" ท่านผู้พิพากษาไม่พอใจ ที่ชาวนามอมแมมคนนี้ มาทำให้ต้องเสียเวลา จึงเอ่ยว่า "นี่แกไม่น่าจะเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้มาทำให้ฉันเสียเวลา อันมีคˆาของฉันเลย" ชาวนาคนนั้นตอบว่า "กระผมก็ไม่อยาก นำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้มารบกวนท่านเลย แต่มันเกี่ยวกับท่านด้วยครับ" ท่านผู้พิพากษา หูผึ่งทันที เมื่อรู้ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง จึงซักไซ้ไต่ถาม ชาวนาดีใจ เล่าเรื่อง อย่างละล่ำ ละลัก "คือว่า... วัวของผม มันไปเหยียบย่ำไร่นา และกินข้าว ในนาของท่าน เสียหาย มากมายครับ" ท่านผู้พิพากษาจึงว่า "เรื่องนี้อย่างนี้ต้องตัดสิน เพื่อความยุติธรรม เจ้าจงฆ่าวัว ตัวนั้นเสีย แล้วเอาเนื้อมา ให้ฉันครึ่งหนึ่ง ทั้งต้องจ่ายเงิน ค่าเสียหายในนาด้วย" ท่านผู้พิพากษา หยุดคิดนิดหนึ่งแล้วว่า "เพื่อเห็นแก่ ความซื่อสัตย์ของเจ้า ที่นำเรื่องนี้ มาสู่กระบวนยุติธรรม จึงลดหย่อนโทษ ให้กึ่งหนึ่ง ไม่ต้องจ่ายเงิน ค่าเสียหาย เพียงแต่เอาเนื้อวัว มาทั้งหมดก็แล้วกัน" ชาวนาได้ฟังคำตัดสินก็อึ้งไป หายงงแล้ว จึงละล่ำละลัก บอกว่า "เมื่อกี้นี้ผมพูดไขว้เขวไปครับ ความจริงวัวตัวนั้น เป็นของท่าน ผู้พิพากษาเอง มันกินข้าวในนา ของผมน่ะครับ" ท่านผู้พิพากษาอึ้งไปสักครู่ แล้วกลับคำ พิพากษาว่า "ถ้าอย่างนั้น ต้องถือว่าเป็นเคราะห์ร้ายของแกเอง ทีนาของคนอื่น ทำไมวัว ไม่ไปกินเล่า แกผิด ที่ไม่ล้อมรั้วให้ดี เรื่องนี้จึงเอาผิดวัวไม่ได้" นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า สิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรมนั้น ก็ยังมีปัญหาตรงที่ว่า มันขึ้นอยู่กับการตีความของใคร แล้วในที่สุดก็จะ "ยุติ" ลงที่ "ธรรม" ของใคร เรื่องเช่นนี้ เหมือนกับ เส้นผมบังดอย มันบังความจริงที่ว่า ผู้อ้างความเป็นธรรมนั้น ใช่ว่าจะปกป้อง ความเป็นธรรม เสมอไปก็หาไม่
‘ แก้วมูล เภตรา เชียงราย
- ไม่ว่ายุคไหน คนอยู่ข้างล่างก็มีแต่ต้องยอมรับการชี้ขาดของคนอยู่ข้างบน ถึงยุคแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ขนานแท้ เมื่อไรนั่นแหละ ความเป็นธรรมที่เที่ยงธรรม เพราะ "ยุติ" โดย "ธรรมะ" จึงจะปรากฏสมบูรณ์ เป็นปกติวิสัย


แม่-ลูก
ดิฉันเป็นคนฝั่งธนฯ ดั้งเดิมและสนใจติดตามเรื่องราวลูกเต้าของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไม่รู้จักครอบครัวนี้ เป็นส่วนตัว ล่าสุดเห็นภาพข่าวในหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์รายวัน คุณลำเนา กับคุณดวงเฉลิม ในชุดนักโทษ ถูกตีตรวน สวมกอดกัน ด้วยน้ำตา ตามประสาแม่ลูก ที่หน้าห้องขัง ใต้ถุนศาลอาญา รัชดา หัวอกคนเป็นแม่ อย่างดิฉัน สะท้อนใจเหลือเกิน ข่าวว่า บ.ก.นี่หัวใจหิน ไม่ค่อยรู้สึก รู้สาอะไร อยากรู้ว่า รู้สึกอะไรบ้างไหม
‘ รู้จักชื่อ ไม่รู้จักตัว กทม.
- หาว่าหัวใจหินไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรนี่ เสียหายมากนะจะบอกให้ ยังไม่ด้านตาย ถึงขนาดนั้น สักหน่อย นึกเห็นภาพข่าวที่ว่าซึ่งผ่านๆ ตาอยู่บ้างแล้วก็นึกถึง บทกวีตอนหนึ่ง "...แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก คนอื่นสักหมื่นแสน ไม่แม้นเหมือน จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว..." เนื้อหานี้ คงจะสื่อหัวใจ เจ้าหนุ่มดวงเฉลิม ในอ้อมอกอุ่นของแม่ลำเนาได้ดี นี่ไงความซาบซึ้งของคนหัวใจหิน


ผีสิงโลก
ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่บ้านผมครึกครื้นมาก ลูกๆ ออกันอยู่หน้าจอทีวี พร้อมหน้าทุกวัน ผมและ แม่บ้าน ไม่มีทางเลือก มีทีวีอยู่เครื่องเดียว จำยอม ดูด้วยบ้างพอเป็นที เป็นกิจกรรมร่วมในครอบครัว เห็นเกม การเล่นที่รุนแรง เสียบกันบ้าง กระแทกกันบ้าง เจตนาเตะคนถีบยันกันโต้งๆ ก็มี ลูกๆ กรี๊ดสนุก สนานเฮๆ กันไม่หยุดหย่อน ไม่ต่างกับคนดูในสนาม ผมดูๆ แล้วไม่น่าจะเรียกว่า กีฬาเลย เพราะไม่ได้เล่นกัน แต่เอาจริงเอาจัง
‘ พ่อแม่หัวเก่า นนทบุรี
- มีการแข่งขันที่ใดจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของคนที่นั้น บ้างทำทุกวิถีทาง เพื่อเอาชนะ ให้ได้ดังใจ บ้างรักษา กติกามารยาท ผีร้ายตัวนี้ สิงทั้งคนเล่น และคนดูทั่วโลก และนับวัน จะหนักหนายิ่งขึ้น จนหยุดโลกได้ กีฬาที่ไม่เป็นกีฬา ไม่รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย แถมมีการพนันตามมาด้วย กีฬาจึงเป็นอบายมุข มอมเมาคน ให้เสพติด ความโลภ เห็นแก่ตัว ความรุนแรง ความหลงในสิ่งไร้สาระ กว่าจะรู้ตัว ก็ตกเป็นทาส ขบวนการจัดการ และ นายทุน ไปเรียบร้อยแล้ว คนที่ทระนง หลักแหลม ฉลาดล้ำนั้น ก็โง่ลึกได้นะ


เลี้ยงอะไร
มีข่าวคราวขึ้นเงินเดือนข้าราชการบางพวกและจะพิจารณาขึ้นอีกหลายพวก ทุกพวกโอดโอย ว่าเงินเดือน ไม่พอเลี้ยงชีพ ทั้งๆ ที่เงินเดือนสูง สวัสดิการเพียบกันอยู่แล้ว หันไปดูประชาชนส่วนหนึ่ง ทำงานหนัก ไม่ได้ว่างเว้น กลับมีรายได้ เพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง บ้านเมืองเราเป็นของใครกันแน่
‘ ข้าราชการเกษียณ อีสาน
- ปลาอยู่ได้เพราะมีน้ำ ขาดน้ำเมื่อไรแล้วจะรู้สึก ข้าราชการเป็นคนส่วนน้อยของชาติ แต่ใช้งบประมาณ เป็นเงินเดือน สวัสดิการ สูงกว่า ส่วนทำนุบำรุงประชาชน หลายเท่านัก ที่ว่าเงินเดือน ไม่พอเลี้ยงชีพ เพราะไปหลง เลี้ยงดูปูเสื่อกิเลสด้วย ตุ่มรั่วเติมน้ำเท่าไร ก็ไม่รู้เต็มหรอกครับ

บรรณาธิการ

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕)

เราคิดอะไร