หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เวทีความคิด 'เสฏฐชน
สุขใด? ถ้ายังใฝ่หา

เกิดเป็น "สัตวโลก" ที่เรียกว่า "คน" คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสิ่งที่ต้องการ คือ "ความสุข" ไม่ว่าจะเกิดมา จนแต่กำเนิด หรือเกิดมารวยตั้งแต่คลอด เพราะ "บุญทำ-กรรมแต่ง" มาไม่เหมือนกัน จึงเป็นการเสียเวลา ที่ใครๆ จะรู้สึก "ลำพองใจ" หรือ "น้อยใจ" ในเมื่อล้วนเป็น "ผลวิบาก" ทั้งที่ดี-เลวของตนเอง "จัดสรร" มาทั้งสิ้น เพราะไม่เชื่อฟังคำผู้ตรัสรู้ชี้แนะ บอกเตือน มิหนำซ้ำยังมี "เชื้อดื้อด้าน" มาถึงปัจจุบันอีกด้วย แล้วจะหวังสุขมาแต่ไหน

ในโลกแห่งความจริงนั้น ไม่มีสุขใด? เที่ยงแท้ถาวรหรอก! อย่าไปหาเลย คงเคยได้ยินมาบ้างว่า "ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป" สองพันกว่าปีแล้ว ที่สัจวาจานี้ เปล่งออกมาจากพระโอษฐ์ ของพระบรมศาสดา พระอาริยสาวกทั้งหลาย ยังคงมีจริง เป็นจริงตลอดไป แม้ผู้เคยประมาทมาแล้ว จนกระทั่งได้รับผลในชาตินี้ จะคงประมาทต่อไปก็ตามที ผู้ที่ตรัสรู้สัจธรรมนี้ ก็ยังคงยืนยันคำกล่าวนี้ไม่แปรเปลี่ยน เพราะ "ความจริงย่อมคงทนต่อการพิสูจน์"

ข่าวหนังสือพิมพ์แต่ละวัน ผู้อ่านคงจะรู้สึกคล้ายคลึงกันว่า "ไม่น่าเลย!" ทั้งไม่น่ารับรู้ ไม่น่ารับฟัง ไม่น่ารับมาทำตาม ไม่น่ารับมาคิดเอาอย่าง เพราะเป็นเรื่องที่ล้วนแต่เป็นชนวนให้เกิดความ "ร้อนตา-ร้อนหู-ร้อนใจ" ไปเสียทั้งนั้น สำหรับจิตใจที่อ่อนแอ ไม่ได้รับการฝึกฝนให้รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบ ยั่วเย้ากระเซ้า อารมณ์ ให้เกิดความ "โลภ-โกรธ-หลง" การคิด การพูด การกระทำ ที่ผิดศีลทุกๆ ทวารนั้นแหละ ที่เริ่มตั้งแต่ "พิฆาต-ฆ่า" ทั้งฆาตกรรมตัวเอง-ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเอง จ้างฆ่า ฆ่าหยาบๆ ลงมือด้วย อาวุธ เครื่องประหาร ด้วยมือ ด้วยวาจา(แม้เพียงลมปากที่ไม่มีตัวตนให้เห็น) สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ สัตว์โง่� สัตว์ฉลาด ก็ล้วนได้รับผลจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกันนี้ "เมตตาจิต" ไม่ต้องกล่าวถึง เว้นเสียแต่ จะหลงเข้าใจผิดว่า "ความรักใคร่" เฉพาะด้วย "โลภคติ" เป็นความเมตตาเท่านั้น

เช่นเลี้ยงหมาอย่างดียิ่งกว่าเลี้ยงคน มอมเมาหมาพอๆ กับมอมเมาคน ยอมจ้างคนด้วยเงินเดือนแพงๆ เพื่อให้ไปบำรุงบำเรอความสุขให้หมา เป็นต้น เพราะหลงเข้าใจว่า "หมาจงรักภักดี" ยิ่งกว่าคน ทั้งๆ ที่แท้จริงหมาตัวนั้นอาจจะมีนิสัย สันทัดการ "ประจบสอพลอ" เหมือนกับคนบางประเภท มิหนำซ้ำ ยังนำเอานิสัยนี้ไปทำลาย ทำร้ายคนอื่น ให้ได้รับความทุกข์ทรมานมาก จนต้องไปเกิด "ชดใช้ชาติ" เป็นหมา ตามอกุศลวิบาก เพราะถ้าไม่มี อกุศลวิบากส่วนนี้ส่งผล โดยสัญชาตญาณความเป็นคนแล้ว มักจะมี "ศักดิ์ศรี" เพียงพอที่เหนือกว่าสัตว์เดรัจฉานอื่นๆ ที่จะไม่ไปทำสิ่งที่ให้ความรู้สึก นับถือตัวเองน้อยลงไป

บางคนมีความสุขกับการคิดหาทางกอบโกย เอาเปรียบเอากำไรจากคนอื่นๆ ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมสถาบัน คนชาติเดียวกัน ยิ่งได้กำไรมากเท่าไรยิ่งได้รับการยกย่อง ว่าเป็นผู้ประสบผลสำเร็จในชีวิต ถ้าเริ่มต้นจากการไม่มีอะไรเลย สองมือแบ ไต่เต้าจนเป็นระดับมหาเศรษฐี มีเงินหลายพันล้าน ยิ่งได้รับ การชื่นชมว่าเป็นคนเก่ง แม้เขาผู้นั้นจะได้เปรียบจากคนในวงศ์ตระกูลเดียวกัน เพราะได้ "มรดกมากกว่า คนอื่นๆ" ในบ้านเรือนเดียวกัน ตามสำนวนที่น่าจะคิดได้เป็นพิเศษว่า "คาบช้อนเงินช้อนทอง" ออกมาก็ตามที ก็ไม่สะกิดใจคิดสักนิดหนึ่งว่ากิริยานั้นส่อถึงอะไร?

ถ้าไม่รวยจากท้องแม่ ก็อาจรวยได้ด้วยการไปทำงานต่างประเทศ จนเกิดปัญหาแรงงานข้ามชาติ คนงานไทย ก็ไปก่อปัญหาที่ต่างประเทศ คนต่างชาติก็ก่อให้เกิดปัญหาที่ประเทศไทย โดยเฉพาะ ประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้เคียง ลาว เขมร พม่า ญวน จากสถิติตัวเลขหลักแสน หลักหมื่น ไม่นับที่ตกสำรวจ ปิดบัง ซ่อนเร้น ตามบ้านผู้มีกิน มีสี มีตำแหน่งล้นฟ้าต่างๆ ไล่ไปจนตามโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรม ในครัวเรือน หนีมาโดยลำพัง หากินเป็นเอกเทศ แถบชายแดน ชนบท ตัวเมืองใหญ่ เมืองหลวง ฯลฯ ล้วนเป็นที่มา ของปัญหาโรคติดต่อ ปัญหาการฆ่าฟัน ปัญหายาเสพติด ปัญหากระทำชำเรา ฯลฯ ด้วยความขัดแย้ง ในมโนธรรม ติดอยู่กับภาษาว่า "เมตตา" จนไม่กล้าที่จะวางระเบียบ กฎเกณฑ์ขั้นเด็ดขาด ในการแก้ปัญหา

เพราะตราบใดที่คนไทยเองยังต้องการความสุขจากความสะดวกสบาย ตามกำลังเงิน ที่นำไปแลกเปลี่ยน ต่อรอง การใช้ "อำนาจเงิน" ซื้อ ก็ยังคงขึ้นหน้าขึ้นตา ยากที่ใครจะฝ่าด่าน "พระเจ้า" องค์นี้ไปได้ ตามบ้าน ข้าราชการผู้ใหญ่ นับแต่นายร้อย นายพัน นายพลขึ้นไป ให้เหตุผลว่า คนไทย ว่าสอนยาก เงินเดือนแพง เลือกงาน ขี้เกียจ ถือตัว สกปรก ฯลฯ แต่ เขมร ลาว พม่า ญวน แม้แต่ชาวเขา จากภาคเหนือ ดีกว่า อยู่ในโอวาท อ่อนน้อม ขยันขันแข็ง ฝากเนื้อฝากตัว ไม่ถือดี ฯลฯ เพราะเขาเจียมตัวว่า เป็นผู้มาอาศัย ชีวิตเขาอยู่ในอุ้งมือเรา ยิ่งถ้าเป็นบ้านของข้าราชการที่มียศ มีดาว นักการเมืองแล้ว สบายมาก ดีไม่ดี อาจได้รับ "ใบเบิกทางชีวิตใหม่" สบายทั้งครอบครัว ทั้งชาติ อาศัยให้ความเห็นอกเห็นใจ เขาบ้างก็เพียงพอ นายจ้างก็ยังได้รับสมญา "คนใจบุญ" เป็นบำเหน็จ

เมื่อบรรยากาศเป็นอย่างนี้ อำนาจรัฐ(บาล) จะมีน้ำยาแค่ไหน? เพราะผู้บริหารระดับรัฐบาล ก็คือเจ้าของชีวิต คนต่างด้าวดังกล่าว ความสุขในครอบครัวของใครอื่น ไฉนจะสำคัญกว่าความสุขเฉพาะครอบครัวของตน บุคคลชนิดที่จะ "สละความสุขของตน" นั้นจะมีใคร "กล้า" สักกี่คน? ถ้ามีมากจริง ป่านนี้ปัญหาของ ประเทศชาติ ก็คงจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามจำนวนรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับทำเนียบ ที่เพิ่มอัตรา ข้าราชการ พวกนี้มากขึ้น

ฉะนั้นแม้จะแก้กฎหมายเท่าไหร่ๆ ก็คงจะแก้ได้เฉพาะตัวอักษรเท่านั้น ตราบเท่าที่ไม่ได้ "แก้นิสัย" มากกว่า "แก้ตัว-แก้หน้า-แก้ภาพพจน์" คงไม่ต่างไปจากปัญหาชีวิตของนางงามระดับชาติคนหนึ่ง ที่ออกตัวทาง สื่อบันเทิงว่าไม่ได้ "แก้ผ้าถ่ายรูป" จนเกิดผลกระทบทำให้ต้องเลิกรากับคู่มั่นหมาย ต้องโดนปิดกั้น จากหน่วยงาน ที่เคยทำรายได้หนักๆ เพราะลำพังเงินเดือนระดับปริญญาโท ไม่พอกับการกินอยู่ ที่ต้องเอาไปใช้จ่าย ในการเรียน ปริญญาเอกต่อ น่าคิดว่านี่ขนาดปริญญาโท ยังไม่รู้ว่าจะทำอาชีพอะไร แล้วผู้ไม่มีปริญญาล่ะ? จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ท่าไหนกัน

ผู้หญิงบางคนมีอาชีพดีๆ เงินเดือนมากๆ ด้วยซ้ำไป ยังอยากถ่ายรูปโป๊เปลือย เพราะอยาก "ฉีกแนว" ในรูปของการ "ฉีกหน้า" ตัวเอง อย่างฉลาดน้อยไปหน่อย พ่อแม่ก็มีฐานะดี วงศ์ตระกูลใหญ่ งานโก้ ด้วยเหตุผลเพียง "อกหัก" จากผู้ชายคนหนึ่ง ทำให้ตัวเองต้องมา "เปิดอก-เปิดก้น" ให้คนดูทั่วบ้านทั่วเมือง อนิจจา

ความสุขของฆราวาสผู้ครองเรือน เสพกามคุณ ๕ อยู่ ทางพุทธศาสนาเขียนไว้ว่ามีที่มา ๔ ทางด้วยกันคือ:
๑. การหาทรัพย์
๒. การใช้ทรัพย์บริโภค
๓. การไม่เป็นหนี้
๔. การทำงานที่ปราศจากโทษ

แต่ข้อไหนๆ ก็ต้องมีจุดยืนเหมือนกันคือ "ต้องซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ผิดศีลธรรม" ด้วย แม้การหาทรัพย์ ผิดกฎหมายก็ไม่สุขแล้ว เพราะต้องไปนอนในกรงขัง หรือไม่ก็ไม่มีชีวิต จะอยู่เสวยสุขอะไรได้อีก การใช้จ่ายทรัพย์ ก็เช่นกัน หากไม่ประหยัด ไม่รู้จักสิ่งควรบริโภค ไปบริโภคสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพกาย สุขภาพใจ ก็ย่อมเป็นไปกรรมนั้นๆ หนี้นั้นมีทั้งหนี้วัตถุ ที่เป็นข้าวของเงินทอง หนี้บุญคุณคน และหนี้เวรหนี้กรรม แม้หนีหนี้ด้านกฎหมายได้ด้วยวิธีคดโกง บิดเบี้ยว อย่างไรก็ตาม แต่ไม่อาจหนี "หนี้บาปกรรม" ได้ เพียงแต่คน ไม่มีดวงตาธรรม มองไม่เห็นเท่านั้น ทั้งๆ ที่บางทีอยู่ใกล้ตัวแท้ๆ ออกในรูปของลูกพิการ พ่อแม่ไร้สมรรถภาพ พี่น้องเป็นศัตรู เจ้านายกีดกัน เพื่อนเลื่อยเก้าอี้ บริวารคดในข้องอในกระดูก ญาติเพ่งเล็ง ฉกฉวย ฯลฯ

ผู้ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญ คุณโทษ จึงหมดหวังที่จะแก้ไขชะตาชีวิต รังแต่จะถูกเอาเปรียบแกมโกง หากินบน ความทุกข์ อีกต่อหนึ่งที่อาจอยู่ในรูปของภิกษุ คนทรง หมอดู ฯลฯ ก็ได้ทั้งสิ้น ในเมื่อตัวเอง ไม่ซื่อตรง ต่อศีลธรรม เหตุอย่างไร ผลก็ย่อมเป็นเช่นนั้น คนไม่รู้ จึงไม่กลัว แม้รู้แล้ว แต่ความหลงใหล โลกธรรม ที่ไม่จีรังยั่งยืน มีน้ำหนักมากกว่า ก็หมดทางเหมือนกัน คนจึงเลือกงานที่ทำให้ตัวเองตกต่ำ ทั้งด้าน จิตวิญญาณ คุณค่าของความเป็นคน จนแยกแยะไม่ออกว่าคนเลี้ยงสัตว์ หรือสัตว์เลี้ยงคนกันแน่? เช่นผู้มีอาชีพเพาะพันธุ์สัตว์ขาย ไม่คำนึงถึงผลภายภาคหน้า ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ตราบใด ที่วิบากกรรมเลว ยังไม่ให้ผล คนผู้มัวเมาในชีวิต ย่อมประมาทอยู่ แม้อาชีพนั้นๆ แม้จะทำรายได้ วันละ เป็นแสน เป็นล้านบาท แต่ต้อง "ฆ่าชีวิตสัตว์อื่น" หมื่น-แสนตัวในแต่ละวันเช่นเดียวกัน คุ้มหรือ มิหนำซ้ำ อาจจะต้องไปเกิด เป็นสัตว์ที่ทำหน้าที่ "ผสมพันธุ์" อย่างเดียว ก็ได้ ใครจะไปรู้! ตราบใดที่สัตวโลก นั้นๆ ยังไม่พ้นไปจากวัฏสงสารในโลก

แปลกดีนะ!คนเกลียดทุกข์ รักสุข ไม่ชอบความอยุติธรรม แต่คนก็ไม่หยุดทำสิ่งที่เป็นเหตุให้ทุกข์ ให้ได้รับความอยุติธรรม ไม่หันมาตรวจตราพฤติกรรม ความประพฤติของตัวเอง กลับไปหาคำตอบ นอกตัวนอกตน ไปโทษเสาบ้าน ที่ดิน ที่ตั้งดวงดาว ไปโทษสิ่งอื่นๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ไปประทุษร้ายสิ่งอื่น คนอื่นที่ตนหลงไปคิด เป็นเหตุของความ "เคราะห์ร้าย" นั้นๆ ทั้งๆ ที่หลักธรรมพระพุทธศาสนา ยืนยันมาว่า กรรมเป็นของตนๆ ทุกคนย่อมเป็นไปตามผลของกรรมทั้งสิ้น เป็นความเสมอภาคที่ได้มาโดยธรรม ไม่ว่าจะเกิด ในตระกูลสูง ตระกูลต่ำ หญิง หรือชาย ทุกมุมไหนๆ ของโลก ดวงดาวไหนๆ ในสุริยจักรวาล ก็ตาม

เพราะ "ข้าไม่เชื่อ!" ข้าจึงต้องทุกข์ทนหม่นไหม้อยู่เช่นนี้ตลอดมาและคงจะต้องตลอดไป ตราบที่ข้ายังไม่มี "พุทธคารวตา ธัมมคารวตา สังฆคารวตา สิกขาคารวตา" ยิ่งไปกว่าการแสวงหาความสุขจากการให้คนมา "คารวะข้า" ซูฮกในความรวย ความสวย ความหล่อ ความดังของข้า

ฉะนั้นแม้มีโชคนำมาให้เกิดเป็นคนแล้ว ก็ยังหลง ลืมตัวที่ไม่หันมา "พึ่งบุญต่อบุญ" ของตนๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้นความหลงตัวมากพอๆ กับความหลงลืม จนทำให้ถกเถียงชนิดหัวชนกำแพงว่าชาตินี้ ชาติหน้า เป็นเรื่อง งมงายไร้สาระ จึงเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตอย่างไร้สาระต่อไป เป็นที่น่าสงสารยิ่งขึ้นไปอีก ตรงที่บางคน กำลังสร้างสิ่งที่ไร้สาระ อย่างเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากนั้น แต่เข้าใจว่าเป็นสาระอันยิ่ง เช่น กำลังสร้างค่านิยม เพิ่มพูนโลกธรรม ความเสพติดต่างๆ ให้ยิ่งขึ้น ขยายวงกว้างขึ้น ให้คนเอาแบบอย่าง เพียงได้ชื่อ ได้คำเยินยอว่าเก่งกว่าคนอื่นเป็นคนแรก คนแล้วคนเล่า ทั้งๆ ที่ต้องตายไปแล้วแต่ละรุ่นๆ ฝากไว้เป็นเรื่องราว เพียงตัวหนังสือตามสมัยเท่านั้น จึงทำให้คนเย้ยหมิ่นว่าคนดีมีอยู่ดอก อยู่ในบันทึก ประวัติศาสตร์นั่นแหละ ส่วนผู้มีชีวิต มีลมหายใจอยู่แต่ละยุคก็ล้วนเกิดมาเพื่อแย่ง ช่วงชิง เพื่อการอยู่สุข ยิ่งกว่ากันทั้งสิ้น

บางคนยังเอาร่างกายดีๆ ไม่บกพร่องทั้งอวัยวะและความเฉลียวฉลาดไปทำร้ายทำลายตัวเองอีก เพียงจมูก แบนไปหน่อย ตาตี่ไปนิด อกเล็กไปบ้าง ฯลฯ ก็ยอมไปผ่า ไปตัด ไปเลาะแหวะมันให้บาดเจ็บ ให้แปรรูปไป จนเกิดผลทั้งโดยตรง ผลข้างเคียง ทำให้ความเป็นคนโดยกรรมเดิมจริงๆ นั้นผันเปลี่ยนไป จนอาจกลายเป็น คนพิกลพิการ ไปเลยก็มี ต้องไปฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล สร้างก่อผูกกรรมขึ้นไปอีก ไม่มีสิ้นสุด สุขใด? จึงจะสุข สุขใด? จึงจะพอ

ตัวอย่างเด็กหนุ่มคนหนึ่งสารภาพว่า เพียงรู้ว่าตัวเองเป็นลูกบุญธรรม ก็ทำให้ต้องไปติดยาบ้า เสียอนาคต ทั้งๆ ที่พ่อแม่บุญธรรม ก็ให้ความอาทรเลี้ยงดูรักใคร่อย่างดี ความคิดน้อยเนื้อต่ำใจบ้าๆ เกิดขึ้นก่อน ไปกินยาบ้าเสียอีก! อย่างนี้ต้องบำบัดทั้งกาย ทั้งใจหนักหนาสากรรจ์ ยิ่งกว่าเด็กกำพร้า ที่ไม่มีใครรับไปเลี้ยง แต่เลี้ยงง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ตั้งใจเล่าเรียนจนได้รับปริญญา กลับมาทำงาน สานประโยชน์ต่อ สถานที่ ที่มีบุญคุณ กับตนไม่ได้

พุทธศาสนาจึงสอนว่า "ผู้มีความสุขคือผู้ตั้งใจเผากิเลส" ให้หมดไปจากใจ ตราบใดที่คนยังถูกกิเลสครอบงำ จะหาความสุขไม่ได้เลย ทนทุกข์ก็ไม่ได้ สุขก็ไม่รู้จัก ลักษณะเช่นนี้แหละคือคนเสียชาติเกิด เพราะว่า :

ความเกลียดโกรธให้โทษหูตาบอด
แม้ความรักก็ไม่รอดบอดสนิท
ไม่ว่าใครหลงใหลในชีวิต
รักหรือเกลียดพิษเท่าเทียมกัน

...
ถ้าหากคนขาดศีลธรรมประจำจิต
คนจะผิดจากสัตว์ที่ตรงไหน
ถึงรูปสวยรวยเงินตราอย่าวางใจ
ยังเป็นพิษก่อโทษภัยให้ทุกคน

"สุขใดยิ่งกว่าการหยุดทำอกุศลกรรมนั้นไม่มี" พระพุทธองค์ทรงชี้บอกอย่างนี้จริงๆ

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)