หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

กติกาเมือง 'ประคอง เตกฉัตร
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช

บุหรี่

ก่อนอื่นผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนเขียนบทความเรื่องนี้ขึ้น ไม่ได้ประสงค์ให้ผู้ใดฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดี กับผู้ผลิตบุหรี่ หรือให้ผู้สูบบุหรี่ ที่เกิดอาการเจ็บป่วย จากการสูบบุหรี่ ฟ้องร้องดำเนินคดี กับผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าบุหรี่แต่อย่างใด ผู้เขียนเพียงแต่ต้องการให้ผู้อ่าน ได้เห็นถึงสถานการณ์ การต่อสู้ ระหว่างผู้สูบบุหรี่ และได้รับพิษภัย จากบุหรี่กับบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ ในทางกฎหมาย ในประเทศที่อ้างว่า เจริญแล้ว ไม่ว่าในยุโรป หรืออเมริกา และให้ทราบถึงคดีความ ที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาล และเหตุผล ที่แต่ละฝ่ายต่างใช้อ้าง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือบอกปัด ไม่ต้องรับผิด ในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งเป็นการ จุดประกายความคิด ให้ผู้สูบบุหรี่ และผู้ผลิตบุหรี่ รวมทั้งผู้นำเข้าบุหรี่ จากต่างประเทศ และผู้ที่จะเข้าซื้อ กิจการของโรงงานบุหรี่ ตามที่รัฐบาล มีนโยบายที่จะขายกิจการ โรงงานยาสูบของรัฐ ที่มีขึ้น ให้แก่เอกชน ได้ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ และพยายามที่จะป้องกัน และหาวิธีแก้ไข

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในทางการแพทย์และวงการผู้มีความรู้ด้านสุขอนามัยว่า บุหรี่เป็นสาเหตุ การเกิดโรคร้ายแรง หลายชนิด เช่น การก่อให้เกิดการระคายเคือง และการทำงานของ ผนังเยื่อบุผิว หลอดลม ตลอดจนเป็นเหตุ ให้ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งในปอด ถ้าจะพูดให้ชัดเจน ผู้สูบบุหรี่คือผู้เสพติด สารนิโคติน มีอาการเหมือนกับ การเสพติดสารชนิดอื่นๆ ไม่ว่าเฮโรอีน หรือ เมทแอมเฟตามีน ฯลฯ ถ้าไม่ได้เสพ จะมีการอยาก และควบคุมการเสพไม่ได้ ต้องเสพติดต่อกันไป และต้องเพิ่มปริมาณ ในการเสพ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่ได้เสพ ก็จะมีอาการทางร่างกาย ของการขาดสารเสพติด และจะส่งผล ต่อชีวิต ประจำวัน ความเป็นอยู่ ตลอดจนอารมณ์ของผู้เสพ

มีการถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่ายาสูบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยไม่สมควรหรือไม่ ผลิตภัณฑ์ หลายอย่าง แม้จะปลอดภัย แต่ถ้าบริโภคปริมาณมากเกินไป ก็ย่อมมีโทษภัยได้ การผลิตบุหรี่ เป็นอุตสาหกรรม ที่ต้องผสมสารเคมี นับร้อยชนิด ซึ่งสารเคมีแต่ละตัว ล้วนแต่เป็นพิษ ต่อร่างกาย ของมนุษย์ทั้งสิ้น ใครจะรับประกันได้ว่า เส้นยาสูบ ที่ผสมแอมโมเนีย จะไม่มีผลต่อจิต และประสาท ของผู้เสพ

ในทางคดีในต่างประเทศเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายประเด็นหนึ่ง ที่ยกขึ้นพิจารณากันมากก็คือ การสมัครใจ เข้าเสี่ยงภัย ของผู้เสียหายเอง ทั้งที่ทราบแล้วว่า การเสพบุหรี่ หรือการสูบบุหรี่นั้น มีอันตราย ต่อสุขภาพ ผู้ผลิตบุหรี่อ้างว่า ผู้สูบบุหรี่ต่างทราบดี บุหรี่มีอันตราย แต่ผู้สูบบุหรี่ ยังสมัครใจสูบบุหรี่ ด้วยความยินยอม ของตนเอง จึงจะไปฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย จากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไม่ได้

หลักกฎหมายอีกประการหนึ่งที่ศาลจะนำมาพิจารณาคือ หลักการประมาทร่วมกัน ผู้เสียหาย หรือผู้สูบบุหรี่ ร่วมกระทำ การประมาทด้วย และข้ออ้าง ของผู้ผลิตบุหรี่ก็คือ ผู้เสพรู้แล้วว่า บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังสมัครใจ เสพบุหรี่อีก จึงต้องร่วมรับผิด ในความเสียหาย หรือความประมาท ที่ผู้ผลิตบุหรี่ ได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐบาลเป็นผู้ผลิตบุหรี่แต่เพียงรายเดียว แต่เปิดโอกาสให้ประชาชน นำเข้าบุหรี่ จากต่างประเทศได้ ผู้สูบบุหรี่ ไม่สามารถเลือกเสพได้ ถ้าไม่เสพบุหรี่ของรัฐ ก็ต้องเสพบุหรี่ ที่นำเข้า จากต่างประเทศ ผู้เสพไม่สามารถ ตั้งโรงงาน ผลิตบุหรี่ได้เองได้ และรัฐเพิ่งปล่อย ให้บุหรี่จากนอกประเทศ เข้ามาภายใน ราชอาณาจักร เมื่อไม่นานมานี้ ปัญหาว่า ผู้เสพบุหรี่ พอที่จะมีความรู้หรือไม่ว่า บุหรี่ชนิดใด มีโทษหนักเบา แตกต่างกันอย่างไร และมีผลต่ออวัยวะส่วนใด ของร่างกาย บุหรี่ชนิดใด มีโทษน้อย ในด้านใด และมีโทษมากในด้านใด และผู้เสพเข้าใจอันตราย อย่างถ่องแท้ ของการสูบบุหรี่หรือไม่ ผู้ที่เสพหลายราย รู้แต่ว่า การสูบบุหรี่เป็นอันตราย แต่ไม่ทราบว่า ร้ายแรงอย่างไร และมีผล ต่อร่างกาย เช่นใด และจะส่งผลกระทบ ต่ออวัยวะส่วนใด และจะดูแลรักษา หรือป้องกันอย่างไร ให้กลับไป ในสภาพเดิม ได้หรือไม่

ปัญหาว่าผู้ที่ผลิตบุหรี่มีหน้าที่ต้องทำคำอธิบาย ถึงโทษภัยของบุหรี่หรือไม่ และต้องมีหน่วยงานวิจัย สารระดับของนิโคติน น้ำมันดิบหรือไม่ หรือควรให้มีระดับต่ำสุด หรือสูงสุดเพียงใด แต่ตามหลักวิชาการ ถ้าบุหรี่ที่มีสาร นิโคตินสูง จะส่งผลให้ผู้สูบบุหรี่ติดบุหรี่ ได้ง่ายมากกว่า ที่มีสารนิโคตินต่ำ ปัจจุบัน รัฐมีโครงการ จะขายโรงงานบุหรี่ของรัฐ ที่เรียกว่าโรงงานยาสูบ ที่อยู่ในการกำกับดูแล ของกระทรวงการคลัง ผู้เข้ามาซื้อ โรงงานเพื่อผลิต จะต้องวิจัย หรือควบคุมสารต่างๆ นี้ด้วยหรือไม่ และถ้าผู้สูบบุหรี่ ที่ผลิตจาก โรงงานดังกล่าว ได้รับอันตราย ต่อร่างกายแล้ว ทางโรงงาน หรือผู้ผลิต จะต้องรับผิดชอบหรือไม่ และ ต้องมีกฎหมายใด มาควบคุมปริมาณ ของสารนิโคติน หรือสารอื่นๆ ที่ผสมในบุหรี่อีกหรือไม่

ปัจจุบันในต่างประเทศผู้สูบบุหรี่หลายราย ได้เริ่มฟ้องบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ เป็นจำเลย เรียกร้องค่าเสียหาย เหตุผลที่ผู้เสพบุหรี่ ยกขึ้นต่อสู้กับบริษัทบุหรี่นั้น มีหลายประการ และเป็นที่ยุติได้ว่า ผู้สูบบุหรี่ จะได้รับ อันตราย จากการสูบ ถ้าการสูบไม่จำกัดจำนวนบุหรี่ เมื่อเขาเริ่มสูบ เมื่ออายุน้อย ทั้งการติดเป็นนิสัย หรือเลิกไม่ได้ โดยเฉพาะ ถ้าเริ่มสูบเมื่ออายุน้อย การเลิก หรือลดปริมาณการสูบ ทำได้ยาก ถ้าเริ่มสูบใหม่ๆ และจะเลิกยากยิ่งขึ้น เมื่อสูบนาน และสูบปริมาณเพิ่มขึ้น ผู้สูบบุหรี่ที่ผ่านมานานๆ จะได้รับอันตราย ร้ายแรง และต้องรับการดูแล จากแพทย์

บริษัทบุหรี่ควรผลิตบุหรี่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูบในอนาคตหรือไม่ หรือควรจะมีการปรับปรุง ในรูปแบบ ส่วนผสม หรือการผลิตบุหรี่ โดยลดการใช้วัสดุ ที่เห็นอยู่แล้วว่า เป็นอันตราย แก่ผู้สูบหรือไม่ และการผลิต บุหรี่ ชนิด ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายลดลง เพราะผู้สูบ จะชดเชยโดยการสูบ ปริมาณเพิ่มมากขึ้น กระนั้นหรือ ปัจจุบัน มาตรฐานการตรวจวัด ปริมาณน้ำมันดิบ และนิโคตินใช้วิธีที่ทำให้การวัด ได้ต่ำกว่า ปริมาณจริง หรือไม่ และการวัดในแต่ละโรงงาน แต่ละครั้ง ได้มาตรฐานเพียงใด การเติมแอมโมเนีย หรือสารอื่น เพื่อเปลี่ยนพีเอส ของยาสูบ ช่วยให้ผู้สูบ ได้รับนิโคติน เพิ่มขึ้น ซึ่งยังทำให้เพิ่มการเสพติด หรือยกเลิกไม่ได้ ยิ่งขึ้นไปอีก บริษัทบุหรี่ พยายามที่จะโต้แย้งว่า ผลิตภัณฑ์ของเขา มิใช่สิ่งเสพติด โดยอ้างว่า ถ้าบุหรี่เป็น สิ่งเสพติด ประชาชนที่หยุดเสพบุหรี่ได้ ก็ไม่น่าจะหยุดการสูบบุหรี่ได้ เมื่อบุหรี่ เป็นสิ่งเสพติด การอ้างว่า การสูบบุหรี่เป็นความสมัครใจ ก็จะฟังไม่ขึ้น การอ้างว่า เป็นความสมัครใจ ก็ไม่สามารถอ้างได้ สำหรับ ผู้เสพบุหรี่ และติดบุหรี่ ตั้งแต่วัยรุ่น

ต้องยอมรับว่าเด็กยังไม่มีความสามารถเท่าผู้ใหญ่ จึงไม่อาจเข้าใจอันตรายอย่างแท้จริง ของการสูบบุหรี่ และการตัดสินใจของเด็ก ย่อมไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ และมีความรู้พอ ผู้ใหญ่ที่ติดบุหรี่ ส่วนมาก จะเริ่มสูบบุหรี่ ตั้งแต่วัยรุ่น ข้อเท็จจริง ดังกล่าวนี้เอง ทำให้อุตสาหกรรมบุหรี่ ได้เพิ่มการโฆษณาบุหรี่ กับเด็กมากขึ้น ในรูปแบบของการ์ตูน มีหลักฐาน ที่แสดงความฉ้อฉล และให้ข้อมูล ที่ไม่ถูกต้อง ของบริษัทบุหรี่ โดยบอกว่า ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นอันตราย และ เสพติดทั้งๆ ที่มีเอกสารขององค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า บุหรี่เป็นสารเสพติด บริษัทยาสูบ ควบคุมระดับ ปริมาณนิโคติน ในบุหรี่ไว้ ในขณะที่ผู้บริโภค จะต้องเสพแล้วติด การปกปิด หรือละเลย ในการเปิดเผย ข้อมูล หรือควรจะได้รู้ว่า ข้อมูลเหล่านั้น เป็นข้อเท็จหรือ ทำให้เข้าใจผิด หรือละเว้น ที่จะเปิดเผย ข้อเท็จริง เกี่ยวกับการพิสูจน์ ผลของการสูบบุหรี่ ที่มีต่อสุขภาพ ซึ่งผู้ผลิตบุหรี่มักอ้างว่า ยังไม่มีการวินิจฉัย ที่มีข้อมูล เพียงพอ ที่จะตัดสินว่า การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดโรคต่างๆ หรือไม่ และยังโต้เถียงว่า บุหรี่ไม่ใช่สารเสพติด ทั้งยังตั้งคำถาม เสมอว่า อะไรเป็นข้ออ้างว่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้น สนับสนุนโต้แย้ง หรือหักล้าง ข้อมูลที่ไม่ชี้ว่า สภาวะสุขภาพนั้นๆ เป็นผลจากการสูบบุหรี่

การโฆษณาบุหรี่เป็นการใช้ถ้อยคำซึ่งนำมาสู่การเข้าใจผิดกึ่งจริงกึ่งเพ้อฝัน เพื่อทำการรณรงค์โฆษณา มุ่งให้เกิดความสับสนแก่เด็ก และกลุ่มวัยรุ่นที่ยังลังเลใจ ที่จะสูบบุหรี่หรือไม่ เกี่ยวกับสภาพ ความเป็นจริง และความเป็นไป ของอันตราย จากการสูบบุหรี่ ทั้งมีการพยายาม สนับสนุนคนรุ่นใหม่ หนุ่มสาว เยาวชน ให้เริ่มบุหรี่ และสนับสนุนคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว ให้สูบบุหรี่ต่อไป โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ และความเป็นอยู่ ของประชาชน เพียงเพื่อผลกำไร ของตนเองเท่านั้น อันเป็นลักษณะ การไตร่ตรองไว้ก่อน ที่จะก่อให้เกิด โรคภัย และพิษภัย แก่มนุษยชาติ อย่างเลือดเย็น และเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด ลำพังแต่คำเตือน เพียงเล็กน้อย บนซองบุหรี่ ไม่เพียงพอ ที่จะระงับภัยอันตราย ที่เกิดขึ้น และหยุดยั้งผู้ที่จะเริ่มต้น สูบบุหรี่ ทั้งกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ในประเทศไทย ก็มิได้มีการพัฒนาขึ้น เพื่อหยุดยั้ง หรือต้านการสูบบุหรี่ กลับมีผล เพื่อประโยชน์ ต่อบริษัทผู้ผลิต ให้โฆษณา และจำหน่ายบุหรี่ได้ โดยไม่มีข้อจำกัด เช่นสารเสพติดชนิดอื่น

ถึงเวลาแล้วที่องค์กรเอกชนต่างๆ นักกฎหมายสำนักต่างๆ และสถาบันต่างๆ จะได้คิดค้นกฎหมาย หรือ หลักของสังคมขึ้นมา เพื่อหยุดยั้งภัยอันตราย ที่เกิดจากบุหรี่ ทำให้รัฐต้องเสีย งบประมาณ จำนวนมาก ในการรักษา บุคคลเหล่านี้ ทั้งที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ และผู้นำเข้าบุหรี่ น่าจะต้องร่วมรับผิด กับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นนี้ มากกว่าจะนำเงินภาษี ของประชาชนไปดำเนินการ

ข้ออ้างเก่าๆ ที่อ้างว่าการขายบุหรี่เป็นการหารายได้เข้ารัฐ การต่อต้านบุหรี่คือการต่อต้าน การหา งบประมาณของรัฐ เพื่อไปพัฒนาประเทศชาติ ควรหยุดได้แล้ว แล้วตั้งหน้าตั้งตา พิจารณาพิเคราะห์ โทษภัยของบุหรี่ ที่ลงไปสู่ประชาชน ผู้รู้เท่าไม้ถึงการณ์ หรือรู้เมื่อตนเองถูกหลอก และได้รับการมอมเมา จนติดบุหรี่ไปแล้ว ไม่สามารถเลิกได้ ภาษีจากบุหรี่ และรายได้จากโรงงานยาสูบ ไม่เพียงพอที่จะชดเชย พิษภัยของบุหรี่ ที่มอมเมาประชาชน ของประเทศ ที่เปรียบเสมือนตกขุมนรก อันยิ่งใหญ่นี้ได้ การพยายาม อธิบาย และเผยแพร่ พิษภัยของบุหรี่ ให้ปรากฏอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น ที่จะหยุดยั้ง มหันตภัยร้ายนี้ได้

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)