>เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -
(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๕)

นี่แหละคือ "การปฏิบัติธรรม"ในชีวิตประจำวันทุกอิริยาบถให้เป็น"ฌาน"สำเร็จตามนัยนี้ไปเรื่อยๆ ครั้นได้ ฝึกฝน จนกระทั่งมีความตั้งมั่น แน่วแน่เกิดขึ้น (เอโกทิภาวะ)แล้ว บัดนั้น "วิตกวิจาร" ก็แข็งแรงถึงขั้น
"ตั้งมั่น" จึงเรียกคุณภาพขั้นนี้ว่า "สมาธิ"

ความตั้งมั่นของจิต ก็จะมีเป็นขั้นๆไป ตั้งมั่นได้เป็นขณะๆ เรียกว่า"ขณิกสมาธิ" ทำได้ดีขึ้นมากขึ้นถึง
ระดับกลาง เรียกว่า "อุปจารสมาธิ" จนถึงขั้นแน่วแน่ มั่นคง จึงจะเรียกว่า"อัปปนาสมาธิ"

เมื่อ"วิตกวิจาร"แข็งแรงตั้งมั่น ก็ไม่ต้องไป"วิตกวิจาร"กันอีก เพราะได้ทำมากระทั่ง "ไม่มีกิเลสสักกายะ" สำเร็จลง และอีกทั้ง "ในพฤติของจิต" ก็เป็น "ฌาน" ที่ก้าวหน้าขึ้นมา จนแข็งแรงตั้งมั่น กล่าวคือ "ฌาน" นั้นผ่าน "ขณิกสมาธิ" ผ่าน "อุปจารสมาธิ" จนมีคุณภาพถึงขั้น "อัปปนาสมาธิ" เป็นได้จนสบายแล้ว อย่าง "สามัญปกติ"

นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่"เป็นได้แล้ว"อย่างสมบูรณ์ ก็"มีฌานนั้น"ประจำอยู่ในตนเอง หรือในตนก็ "เป็นฌานนั้น" โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องทำ "ฌานนั้น" กันอีก เพราะมันเป็นแล้ว มีแล้วประจำในตน เรียกตาม ศัพท์ว่า "ตถตา" คือ "เป็นเช่นนั้นเอง" หรือ "ความจริง" (ตถ) ชนิดนั้น เป็นเองมีเองแล้ว ประจำตนอยู่ ในชีวิตธรรมดาปกติ "สามัญ" ตลอดเวลา ทั้งๆที่ "ฌาน" นั้นเป็นเรื่อง อุตตริมนุสสธรรม ซึ่งเป็นเรื่อง "วิสามัญ" ไม่ใช่ปกติสามัญ ของคนผู้มีกิเลส หรือ ของปุถุชน จะเป็นจะมีได้ง่ายๆ

ดังนั้น เมื่อสงัดจาก "กาม" (สักกายะ)บ้าง จาก "อกุศลมูล" (สักกายะ)ต่างๆบ้าง ลงได้ฉะนี้ ความเป็น
"ฌาน" ซึ่งใน "ฌาน ๑" นี้ พระพุทธองค์ก็ตรัสบอกแล้วว่า ให้สร้าง "อารมณ์ของฌาน" ให้ซาบซ่านเอิบอิ่มใน
"ธรรมรส" ซึ่งแน่นอนว่า มันย่อมเป็น "อารมณ์พิเศษ" ต่างจาก "โลกียรส" สามัญของปุถุชน

ในพระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๗ พระพุทธเจ้าตรัส อธิบายไว้ชัดเจนว่า "เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆแห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวก จะไม่ซับสัมผัส (อัปผุฏัง)

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณ์สีตัว ลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็น ก้อนจุรณ์สีตัว ซึ่งยางซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิด
แต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆแห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวก จะไม่ซับสัมผัส
(อัปผุฏัง)"
ดังนี้

สังเกตให้ดี จะชัดเจนยิ่งว่า ท่านตรัสให้ผู้มี "ปีติและสุข" อันเกิดแต่วิเวกว่า ... เธอทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนไหน ในสรรพางค์ (เอกเทศ) แห่งกายของ
เธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวก จะไม่ซับสัมผัส
(อัปผุฏัง)

อ่านทบทวนดูให้ชัดๆ พระพุทธเจ้าให้สร้าง "อารมณ์ของฌาน" อย่างไรกันแท้ พระองค์ให้ดับ "ปีติและสุข" ลงไปดื้อๆ ดังที่คนส่วนมากเข้าใจกัน กระนั้นหรือ?

จริงๆแล้ว หาใช่ให้ดับ "ปีติและสุข" ลงไปดื้อๆ ดังที่พากันเข้าใจนั้นไม่ แต่กลับให้มีอย่างยิ่ง ชนิด "...ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนไหน ในสรรพางค์ (เอกเทศ) แห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่ซับ สัมผัส" ปานฉะนั้นทีเดียว

แม้ใน"ฌาน ๒" พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ชัดอีก
"เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ผู้ปฏิบัติบรรลุฌาน ๒ มีความผ่องใสในภายใน มีความตั้งมั่นแน่วแน่
เกิดขึ้น (เอโกทิภาวะ) ไม่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนไหนในสรรพางค์ (เอกเทศ) แห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุข เกิดแต่วิเวก จะไม่ซับสัมผัส (อัปผุฏัง)
ดังนี้

และในฌาน ๓ ฌาน ๔ ก็มีนัยเดียวกัน คือ ทั้ง วิตกวิจาร ปีติ สุข อุเบกขา หาได้ถูกดับไปดื้อๆ ตรงๆ อย่างพาซื่อนั้นไม่ ทว่า "สิ่งข้างเคียง" อันเกิดซ้อนอยู่ใน วิตกวิจาร ปีติ สุข อุเบกขา ซึ่งเป็น "อุปกิเลส" ต่างหาก ที่เป็นสิ่งส่วน ถูกละล้างให้ดับสิ้น ต้องชัดในความเป็น "อุปกิเลส" ให้ถูกตรงแม่นๆ คมๆเถิด

พระพุทธเจ้าตรัส (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๙) ว่า "เพราะปีติจางคลายไป เธอมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย บรรลุฌาน ๓ ที่พระอริยะทั้งหลาย สรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำทั่วสรรพางค์แห่งกาย (หมายถึง "นามกาย" มิใช่ร่างกายของ มหาภูตรูป) นี้ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วย "สุขอันไม่มีปีติ" รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนไหน ของทั่วสรรพางค์ที่ "สุขไม่มีปีติ" จะไม่ซับสัมผัส" (อัปผุฏัง)

เพราะฉะนั้น ผู้มี"ฌาน"แบบพุทธ จึงมี"ธรรมรส"ต่างๆ เช่น "ปีติ-สุข-อุเบกขา" อย่างเป็นธรรมสัจจะ โดยเฉพาะม ี"สุข" ที่เกิดจาก "ความว่างจากกิเลส" (วูปสมสุข) อยู่ประจำในตนลึกซึ้ง แนบเนียนทีเดียว จึงขอยืนยันว่า มรรคผลของพุทธนั้น มีทั้ง "ความพ้นทุกข์โลกีย์" และมีทั้ง "ความสุขโลกุตระ" ซึ่งมีการ สะสมความสุข ไปตลอด การฝึกฝนปฏิบัติ เป็นความสุขที่พิเศษ และวิเศษยิ่งขึ้นๆ ["สุข" เพราะ ตัณหาลดลงๆ หรือ "สุข" เพราะ "รสอร่อย" แบบโลกีย์เบาบางลง] จนที่สุดก็ "สุขอย่างยิ่ง" (ปรมังสุขัง) ในความเป็น "นิพพาน" ซึ่งมิใช่ "โลกียสุข" นั้นแน่นอน

ดังนั้น ผู้มี"ฌาน"ทั้ง ๔ บริบูรณ์ของพุทธ ท่านจึงมีทั้งวิตกวิจาร ปีติ สุข อุเบกขา นั้นแหละอยู่เป็นพื้นจิต กล่าวคือ ท่านมี.."วิตกวิจาร-ปีติ-สุข-อุเบกขา" แต่ท่าน ไม่มี"อุปกิเลส" ที่เกี่ยวเนื่องด้วย "วิตกวิจาร -ปีติ -สุข -
อุเบกขา" ซึ่งถ้าใครไม่เรียนรู้ อย่างสัมมาทิฏฐิแล้ว จะไม่สามารถรู้แจ้ง ความลึกล้ำของ "โลกุตรธรรม" นี้ได้แน่

สำหรับ"ฌาน"แบบพุทธนั้น ถือว่า เป็นแค่ "วิถีชีวิต หรือ ที่พักทำงาน" (วิหาร) ที่อาศัยใช้งาน เป็นขั้น เป็นลำดับๆ ขึ้นไป หาความหลุดพ้น สูงสุดเท่านั้น มิใช่เป็น "ภพ" เป็นถิ่นที่จะต้อง เข้าไปเสพ ไปจมอยู่ จนบรรลุ ในที่นั้น เหมือนกับชาวโลกีย์ ที่ถือเป็น "ที่อยู่ของสัตว์" (สัตตาวาส) ไม่ว่า "รูปฌาน หรือ อรูปฌาน" ของพุทธนั้น เพียงแต่จะผ่าน "เข้าไปอาศัยเกิด" (อุบัติ,สมาบัติ) แล้วก็ต้อง "ดับหรือเคลื่อน เลื่อนพ้นออกไป" (จุติ, วุฏฐาน) ให้สำเร็จ สู่ความสูงขึ้นไป เป็นลำดับๆ กระทั่งหมดสิ้น "ภพ" ไม่ได้จมอยู่ ในภพใดๆ และดับ "ตัวตน" กันเป็นที่สุด ถึง "สัญญาเวทยิตนิโรธ" อันเป็น "ความดับสนิทสูงสุดของพุทธ"

แม้ได้"รูปฌาน ๔"บริบูรณ์แล้ว ก็ยังจะต้องตรวจสอบอีก ให้บริสุทธิ์ ด้วยแบบวิธีของ "อรูปฌาน ๔" และ ต้องเป็น "อรูปฌาน ๔"แบบพุทธด้วยนะ ไม่ใช่แบบวิธีของ "อรูปฌาน ๔" ที่ทำกันทั่วๆไป หรือแบบที่เป็น เครื่องเสพ ตามที่หลงกันว่า แดนนั้นคือ "ภพสูงสุด" ดอกนะ

"อรูปฌาน ๔"แบบพุทธนี้ อยู่ใน"อนุปุพพวิหาร ๙" อันใช้ปฏิบัติเป็น "วิหารธรรม" ที่ดำเนินไปตามลำดับ ซึ่งศาสนาอื่นๆใดๆ ไม่มีศึกษา เพราะ "อนุปุพพวิหาร ๙" นี้เป็นแบบฉบับของพุทธ โดยเฉพาะเท่านั้น เป็นเรื่องของ "โลกุตรภูมิ" โดยตรงแท้ๆ จึงมีความแตกต่างกันกับ "สัตตาวาส ๙" ที่เป็นแค่ "โลกียภูมิ" แน่นอนที่สุด

"อรูปฌาน ๔" แบบโลกีย์ทั่วไปนั้น หลงกันว่า แดนนี้เป็น "ที่อยู่ของสัตว์" (สัตตาวาส) หลงว่า คือ "ภพ" ที่จะอยู่เป็นแดนสุข แดนเสพ เป็นแดนสวรรค์ (อภินิเวส) ดังที่ลัทธิ ศาสนาต่างๆ หรือ ชาวโลกียะ พากเพียร สร้างขึ้น จนสำเร็จแล้วก็ติดก็ยึด ว่าเป็น "แดนอรูป"สูงสุด ที่แสนโปร่ง แสนว่าง หลงกันว่าเป็น "แดนนิพพาน" ไปเลยก็มี (ดังที่อาฬารดาบส กับอุทกดาบสหลง) หรือหลงกันว่า ผู้ใดสามารถทำได้ถึงขั้นนี้ ก็ให้ฝึกฝน เข้าไป ให้มากๆ แล้วสักวันหนึ่ง ก็จะเกิด "ปัญญา" แจ้งสว่าง มีอาการบรรลุ "นิพพาน" ขึ้นมาเอง อย่างนี้ก็มี มิใช่น้อย

(มีต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕)