>เราคิดอะไร

กติกาเมือง - ประคอง เตกฉัตร -
ความรู้สาธารณะ (อย่าเห็นแก่ตัว)


ความรู้ที่เป็นสาธารณสมบัติได้แก่ความรู้ทั่วไปที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร หรือกฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา หรือความรู้ ที่ได้รับการคุ้มครอง ตามกฎหมายดังกล่าว แต่ระยะเวลาที่คุ้มครอง ตามกฎหมายดังกล่าว ได้สิ้นสุดลงแล้ว ฉะนั้น จะเป็นความรู้ ที่ไม่มีผู้ใดอ้างเป็นเจ้าของ หรืออ้างสิทธิ ตามกฎหมายใดๆ เพื่อหวงกันความรู้ดังกล่าว บุคคลทั่วไป สามารถนำความรู้ดังกล่าว ไปใช้ได้โดยเสรี ไม่ต้องขออนุญาต หรือบอกกล่าว หรือต้องชำระราคา ค่าความรู้ ดังกล่าวนั้น ทั้งมีสิทธิ นำเอาความรู้ดังกล่าว ไปคิดดัดแปลง ต่อเติม เปลี่ยนองค์ประกอบ หรือทำเพิ่มเติม หรือตัดทอน เพื่อให้เกิดความรู้ หรือ กระบวนการ ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้น

ฉะนั้นความรู้ที่เป็นสาธารณะจึงเป็นความรู้ที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคม เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่า ความรู้ใหม่ๆ ที่มีในปัจจุบันนี้ ล้วนเป็นความรู้ ที่พัฒนา หรืออาศัยความรู้เดิมๆ ที่เป็นความรู้สาธารณะ แล้วนำมาวิจัย พัฒนาดัดแปลงขึ้น


แต่อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่าถ้าเรามีกฎหมายคุ้มครองผลงานที่มีผู้คิดค้นหรือพัฒนาขึ้น จะทำให้ผู้วิจัย หรือผู้ประดิษฐ์ คิดค้นดังกล่าว ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นมีแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจให้ดำเนินการต่อไป ภายใต้ระบบการคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญา แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่มีลักษณะ ที่จะได้รับ การคุ้มครองเลยหรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีสถานภาพที่เป็น ความรู้สาธารณะ บุคคลใด จะหวงว่า เป็นความรู้ ของตนเอง หรือคณะของตนเอง แต่เพียงผู้เดียว หรือคณะเดียวไม่ได้ และเป็นมรดกตกทอดร่วมกัน ของมนุษยชาติ ในท้องถิ่นนั้น ๆ

ธรรมชาติได้สร้างอากาศ อวกาศ ทะเลหลวง ท้องฟ้า ดวงดาวและพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆ ไว้เพื่อมนุษยชาติ ทั้งหลาย และการปฏิบัติตน ที่เกิดวัฒนธรรม ที่หลากหลาย ก็ล้วนไปตามเหตุตามปัจจัย และสิ่งแวดล้อม มานานนับหลายพันปี สะสมจนเกิดทรัพย์ทางปัญญาขึ้น

พืชพันธุ์ต่างๆ ในส่วนต่างๆ ของโลกล้วนมีความหลากหลายทางชีวภาพตามแต่สภาพลมฟ้าอากาศ อุณหภูมิ และ แสงแดด พืชแต่ละชนิด ต่างก็มีข้อด้อย ข้อดี ข้อเด่น ของสายพันธุ์ตัวเอง ความเจริญทางการศึกษา ในด้านชีวภาพ มีมากขึ้น จนมนุษยชาติ คิดตัดแต่งพันธุกรรมของพืช นำข้อดีข้อด้อย ของพืชแต่ละชนิด ออกมาดัดแปลงให้มีสายพันธุ์ ตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งเรียกว่า การตัดต่อพันธุกรรม เมื่อทำได้ ก็นำไป จดทะเบียน ขอรับการคุ้มครองความรู้ของตนเอง ในฐานะทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อมิให้ข้อมูล ดังกล่าว กลายเป็นความรู้สาธารณะ หากแต่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคล ซึ่งบุคคลอื่น จะนำเอาข้อมูล อันเป็นองค์ความรู้ ดังกล่าวไปใช้ โดยไม่ได้รับความยินยอม จากผู้ทรงสิทธิหาได้ไม่

กฎหมายดังกล่าวถ้ามองในด้านผู้คิดค้นความรู้หรือผู้ลงทุนคิดค้นความรู้ดังกล่าว ก็เป็นการจูงใจ ที่ให้บุคคลต่างๆ คิดค้นพัฒนา เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้น ก็นับว่าน่าเห็นใจ เป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้ามองทางด้าน ต้นทุนของสังคม ความรู้สาธารณะ ที่เป็นของมนุษยชาติร่วมกัน ทรัพย์สิน ที่เป็นพืชพันธุ์ หรือแม้แต่สัตว์ ที่เป็นของมนุษยชาติร่วมกัน ที่เป็นฐานทางความคิด หรือเป็นวัตถุดิบเบื้องต้น ในการเอาไป คิดค้นคำนวณ หรือไปดัดแปลง ต่อเติมดังกล่าว ผลประโยชน์บางส่วน จากการคิดค้นดังกล่าว ก็น่าที่จะ ตกแก่สังคม มนุษยชาติส่วนรวมบ้าง มิใช่ผู้คิดค้น หรือผู้ลงทุน เอาไปแต่เพียงผู้เดียว การให้เป็นมรดก ของสังคม ในระยะเวลาภายภาคหน้า อันเป็นเวลานานหลายสิบปี ก็น่าจะมาขบคิดกันใหม่ว่า เป็นการ เอาเปรียบสังคม มากเกินไปหรือไม่ จะคุ้มค่ากับการเอามรดก ทางสังคม ซึ่งเป็นความรู้สาธารณะ ไปดัดแปลง ต่อเติม อย่างไรหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องขบคิดคำนึงกันก็คือประเทศที่ยังยากจนหรือกำลังพัฒนา ที่ยังไม่ได้ทำลายทรัพยากร ของตนเองมากนัก และผู้ที่อยู่ในประเทศ ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่นักบริโภคนิยม ที่จะไขว่คว้าทรัพย์สิน ที่เป็นทรัพยากร ของประเทศ อันเป็นของส่วนรวม มาไว้จนล้นเหลือ เหมือนกับประเทศที่อ้างว่า เป็นประเทศ พัฒนาแล้ว ซึ่งแทบจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือ จนต้องไปล่า หรือไปใช้วิธีการอย่างแยบยล ในการ เอาเปรียบ หรือเอาทรัพยากร ในประเทศอื่นๆ มาบริโภคหรือมากักตุนไว้ ประเทศที่ยังไม่พัฒนา หรือ กำลังพัฒนาทั้งหลาย ย่อมจะต้องมีทรัพกรด้านชีวภาพ ไม่ว่าพืชพันธุ์หรือ สัตว์อยู่จำนวนมาก ความหลากหลาย ทางชีวภาพ ก็มีมากตามไปด้วย การที่นักวิทยาศาสตร์ไปเอาพืชพันธุ์ และสัตว์ ของประเทศอื่นๆ มาวิจัยคิดค้นเป็นสายพันธุกรรมใหม่ แล้วไปจดทะเบียน ทางกฎหมาย คุ้มครอง สิ่งที่ตนเอง คิดประดิษฐ์ สร้างขึ้น หรือวิจัยขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่เพียงผู้เดียว จะเป็นธรรม ต่อมนุษยชาติ ทั่วโลกหรือไม่

ถ้ายอมรับแนวคิดเรื่องการคิดค้นแล้วจดทะเบียนเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองก็แสดงว่าทรัพยากรพันธุกรรม ที่เรามีอยู่ จนเป็นสาธารณะแล้ว ปราศจากมูลค่า กระนั้นหรือ? ไม่มีราคากระนั้นหรือ? ไม่มีสถานะ เป็นทรัพย์สิน กระนั้นหรือ? จะมีค่าต่อเมื่อ ได้มีการพัฒนา ปรับปรุงแล้วกระนั้นหรือ? ซึ่งขัดกับ สภาพแวดล้อม และ ความต้องการ ของมนุษยชาติ ที่แท้จริงและโดยเฉพาะ เป็นการเอาเปรียบประเทศ ที่กำลังพัฒนา ทั้งหลาย มากเกินไป

การที่ทรัพยากรทางพันธุกรรมในประเทศยากจนไม่ได้มีการรับรองคุ้มครอง จึงเป็นช่องทาง ให้นักวิทยาศาสตร์ ทางด้านอาหาร ยาและพันธุ์พืช ฉกฉวยเอาสายพันธุ์ต่างๆ ของประเทศ ที่กำลังพัฒนา ไปวิเคราะห์วิจัย และ อ้างสิทธิ ทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้ เจ้าของสายพันธุ์เดิม ได้ใช้สายพันธุ์ใหม่ ที่มีการปรับปรุงแล้ว นับว่าเป็นการ เอาเปรียบประเทศ ที่กำลังพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง

การให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้กระทำเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการคิดค้น พัฒนา สิ่งใหม่ขึ้น นับว่าเป็นรางวัล หรือของตอบแทน ในการสร้างสรรค์ พัฒนาปรับปรุง และ การอนุรักษ์ ทรัพยากร สายพันธุ์พืช และสัตว์ และความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการคิดแต่ง สายพันธุ์พืช หรือสัตว์ เมื่อได้สายพันธุ์ใหม่ ที่มีข้อเด่นข้อดีแล้ว สายพันธุ์พื้นเมือง หรือสาธารณะเดิม ที่เป็นสายพันธุ์ เก่าแก่ ก็จะถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการสนใจ ทั้งไม่ได้รับความนิยม เมื่อนานเข้าก็จะหายไปจากวงการ และ สูญพันธุ์ไป ในที่สุด แต่ในทางกลับกัน พันธุ์พืชหรือสายพันธุ์ ที่ตัดแต่งต่อยีนส์ หรือ เปลี่ยนแปลง พันธุกรรม หรือ ปรับปรุงสายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ และมีการยืนยันว่า จะไม่มีข้อเสีย ในอนาคต ซึ่งเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน และจะส่งผลใด ต่อผู้บริโภคบ้างหรือไม่ เมื่อถึงวันนั้น ถ้าเกิด เหตุการณ์ ดังกล่าวขึ้น พวกเราก็ไม่มีพันธุ์พืชเดิม หรือพันธุ์สาธารณะเดิม ที่จะมาปรับปรุง หรือแก้ไข ถ้ามีข้อจำกัด ในการพัฒนาสายพันธุ์ ที่มีสายพันธุ์สาธารณะ เพียงไม่กี่ตัว ให้เลือกเท่านั้น หรือ ตามกฎหมาย ผู้คิดค้นวิจัย มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ผู้อื่นจะไปเอามา ดำเนินการ เป็นความรู้สาธารณะหาได้ไม่ การวิจัย หรือ การวิเคราะห์ ในอนาคต ก็จะต้องยิ่งแคบลง และจะกลับไปใช้ พืชพันธุ์สายพันธุ์เดิม ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ก็ไม่สามารถ ดำเนินได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะตกอยู่แก่สังคม ประเทศชาติเป็นการส่วนรวม

ถ้าเราจะบัญญัติกฎหมายให้มีสิทธิพิเศษแก่ชุมชนหรือท้องถิ่นของสายพันธุ์เดิมให้มีสิทธิ ใช้สอย หรือ หาผลประโยชน์ จากสายพันธุ์ใหม่ ที่ปรับปรุงแล้วได้ ก็นับว่าเป็นการยุติธรรมอยู่บ้าง แต่เท่านั้น ผู้เขียน ก็ยังเห็นว่า ยังไม่เพียงพอ ผู้คิดค้นวิจัยสายพันธุ์ใหม่ ที่ประสงค์ จะได้รับสิทธิบัตร หรือ การคุ้มครองใดๆ ตามกฎหมาย น่าจะต้องบัญญัติกฎหมาย ให้บุคคลดังกล่าวนั้น มีหน้าที่ ต้องอนุรักษ์ พืชพันธุ์ หรือ สายพันธุ์เดิม ที่เป็นฐานแห่งความคิด หรือเป็นต้นทุน ในการที่มาคิดวิเคราะห์วิจัย เพื่อให้สายพันธุ์เดิม คงอยู่ไม่สูญพันธุ์ไป เพื่อการคิดค้น และ ปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ของตนเอง

อีกประการหนึ่งผู้เขียนยังเห็นว่าทรัพยากรชีวภาพ หรือพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์พื้นเมือง ที่ยังไม่ได้ เข้าสู่ระบบ การพาณิชย์ และ มีลักษณะประจำพันธุ์ แตกต่างจากพันธ์อื่น มีความเป็นเอกลักษณ์ ประจำพันธุ์ หรือ มีลักษณะเฉพาะ ทางสายพันธุ์ ของตนเอง น่าจะได้รับ ความคุ้มครอง ตามกฎหมายด้วย ผู้ใดจะเอาไป วิจัยวิเคราะห์ หรือปรับปรุง ต้องแจ้งต่อทางราชการ หรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง และประกาศ ให้สาธารณชนทราบ ก่อนจะนำไปวิจัยวิเคราะห์ หรือทดลอง และต้องแสดงให้เห็นว่า เมื่อการวิเคราะห์วิจัย หรือทดลอง ดังกล่าวนั้น สำเร็จลง จะตกเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิด ของสายพันธุ์ ดังกล่าวด้วย

กรณีภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความรู้ทางเทคนิค ที่อาจใช้เพื่อการทางอุตสาหกรรม เช่น ตำรายาโบราณ กรรมวิธี ถนอมอาหาร กรรมวิธี การเพาะปลูก และการขยายพันธุ์ ทั้งการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ ข้อมูลดังกล่าว ยังเปิดเผย ต่อสาธารณชน ไม่มากพอ และรวมถึง การประดิษฐ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่เกี่ยวเนื่องกับ การกระทำ ดังกล่าว ที่สามารถไปประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวัน ไม่น่าจะได้รับความคุ้มครอง เพราะมิฉะนั้น ความรู้ สาธารณะในสังคม จะมีเจ้าของทั้งหมด แล้วความเป็นมนุษย์ จะเหลืออะไร และนับวันทุกอย่าง ก็จะถูก พัฒนาหมด และ มีเจ้าของหมด จึงเป็นการบังคับ ให้มนุษยชาติใหม่ทุกคน ต้องสะสม ไขว่คว้า แข่งขันกัน ไม่รู้จักจบสิ้น ความเป็นเจ้าของชีวิต ที่เรียบง่าย การเสียสละ เพื่อมวลมนุษยชาติส่วนรวม การปกป้อง สาธารณสมบัติ เพื่อหวงแหนใช้ร่วมกัน การอยู่ร่วมกัน โดยปราศจาก การต่อสู้แย่งชิง การพึงพอใจ กับการไม่กักตุน บิดบัง ซ่อนเร้น การพิทักษ์รักษาสังคม สตรีเด็กและคนชรา หรือผู้อ่อนแอกว่า ก็ต้องพ่ายแพ้ ล้มตายไปในที่สุด ซึ่งไม่ต่างไปจาก ชีวิตสัตว์ ที่มีอยู่ทั่วไป อันอยู่ในเกมทั้งชีวิต ชีวิตที่แข่งขัน กันตลอด ก่อให้เกิดความเครียด ความฉุนเฉียว การเห็นแก่ตัว การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ก็จะหายไป ความเห็นอกเห็นใจ ในระหว่างมนุษยชาติด้วยกัน ก็จะไม่มี ฯลฯ แล้วเราจะมีชีวิตกันไป แต่ละวันนี้ เพื่ออะไรเล่า

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕)