หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เขาเล่าว่า * อธึก สวัสดีมงคล
กินตามน้ำ กินทวนน้ำ

ข้าราชการที่ทุจริตคิดมิชอบ จะกินตามน้ำก็ดี หรือกินทวนน้ำก็ดี ถือว่าทรยศ คดโกง ต่อบ้านเมือง แม้จะพ้นผิด จากระบบราชการ แต่ก็ไม่ผิดไปจาก กฎแห่งกรรม กรรมจะส่งผล ให้เห็น ในบั้นปลายของชีวิต อย่างแน่นอน

เขาเล่าว่า ศาสตราจารย์ หลวงสมานนวกิจ เป็นชาวจังหวัดลพบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อเรียนจบ ระดับประถมศึกษาแล้ว มาอยู่กับน้าชาย ที่กรุงเทพฯ เรียนต่อที่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี ได้สมัครเป็น เสมียนอำเภอ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เข้าสอบชิงทุน กระทรวงมหาดไทย ได้ที่ ๑ ไปศึกษาวิชา วนศาสตร์ ที่โรงเรียนป่าไม้ ประเทศพม่า ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๒ กลับเข้ามารับราชการ กรมป่าไม้ อยู่กรมป่าไม้ ได้ตำแหน่งสูงสุดเป็น "อธิบดีกรมป่าไม้" แต่แล้วกลับเลื่อน ลงมาเป็น "รองอธิบดี กรมป่าไม้" แล้วย้ายเป็น ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรกรรม บางเขน ทำหน้าที่คณบดี คณะกสิกรรม ออกรับบำนาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

ท่านเป็นข้าราชการที่ยึดมั่น ในสุจริตธรรม ท่านไม่ดื่มสุรา ไม่เล่นการพนัน ห่างจากอบายมุข ๔ อย่างเด็ดขาด ไม่ยอมกินตามน้ำ หรือทวนน้ำกับใคร ชีวิตราชการของท่าน จึงเสมือน แกะดำในฝูง ไม่เป็นที่รักนับถือ ของเพื่อนราชการ ที่ร่วมงาน แม้แต่ผู้บังคับบัญชา ก็ไม่โปรด ในความซื่อสัตย์ สุจริตธรรม ของท่าน คือไม่ยอมกินตามน้ำ และกินทวนน้ำ แต่ท่านก็อยู่ได้ ด้วยความสุขใจ แม้ใครจะก่อภัยเวรแก่ท่าน ท่านก็ถือว่า "เขาจะต้องรับกรรม" ของเขาเอง ท่านเป็นคนจริง ทั้งต่อหน้า และลับหลัง

เขาเล่าว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านรับราชการ กรมป่าไม้ภาคใต้ เพื่อนข้าราชการ หลายคน ได้ชักชวน ให้ท่านร่วมทุจริต ยกป่าไม้เคี่ยม ไม้ยาง ๒๐,๐๐๐ไร่ โดยให้ค่าน้ำร้อนน้ำชา ไร่ละ ๔ บาท เป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท นับเป็นเงิน มีค่ามหาศาล ในสมัยนั้น แต่ท่านถือว่า ท่านไม่ยอม ขายชาติ ถูกเทศาภิบาล กล่าวโทษต่อเสนาบดี กระทรวงเกษตร แล้วท่าน ก็ต้องถูกย้าย ไปรับราชการภาคอื่น

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๔ ชีวิตท่านได้รับภัย อันเกิดจาก ไม่โกงไม่กิน รักศักดิ์ศรี ของข้าราชการ ในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้ขอสัมปทาน ป่าสัก มีไม้อยู่ ๔๙,๐๐๐ ต้น มีราคาประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท มีผู้ขอสัมปทาน ๑๖ ราย ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้ทรงอิทธิพล มีอำนาจ ล้นฟ้า ได้ยื่นขอสัมปทาน ไปทางนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ก็โยนเรื่อง ให้กระทรวงเกษตร เป็นผู้พิจารณา รัฐมนตรี ก็เรียกอธิบดีกรมป่าไม้ หลวงสมานวนกิจ ดำรงตำแหน่ง อธิบดี ก็ให้ความเห็นว่า ควรจะให้สัมปทานป่าสักนี้ แก่มหาวิทยาลัยเกษตร เพื่อเอาเงิน มาบำรุง มหาวิทยาลัยเกษตร ให้เจริญก้าวหน้า ผลที่สุด ท่านก็ถูกลดตำแหน่ง ลงเป็น "รองอธิบดีกรมป่าไม้" แทนที่จะได้เงิน ๕-๖ ล้านบาท อย่างสบายๆ

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ย้ายหลวงสมานนวกิจ มาทำหน้าที่ คณบดี เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เลื่อนเงินเดือนขึ้น ๕ ขั้น จาก ๗๐๐ บาท เป็น ๑,๑๐๐ บาท ได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมาภรณ์มงกุฎไทย และ ปริญญาบัตร ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ (คณะวนศาสตร์)

การที่เป็นข้าราชการที่สุจริต ไม่กินตามน้ำ ไม่กินทวนน้ำ ย่อมได้รับความเจริญก้าวหน้า ในชีวิต ตามกฎของกรรม ส่วนคนที่ใส่ร้าย กลั่นแกล้งท่าน ก็ได้รับเคราะห์กรรมในที่สุด เช่น รัฐมนตรี กระทรวงเกษตร รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตร ก็ถูกออกจากหน้าที่ ข้าราชการคนหนึ่ง ถูกรถยนต์ชน ตายคาที่กลางถนน บางคนก็ล้มป่วย เป็นอัมพาต รักษาตัว ทนทุกข์ทรมาน อยู่นาน ๑๐ ปี บางคนก็ระหกระเหิน ไปตายต่างประเทศ ล้วนแต่น่าสังเวชใจ ไปตามๆ กัน

ใครทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่ว ก็ต้องรับผลของกรรมฉะนี้แล
(จากหนังสือ"เขาเล่าว่า")

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๗ ตุลาคม ๒๕๔๕