เราคิดอะไร.

คิดคนละขั้ว- แรงรวม ชาวหินฟ้า

-พุทธศาสนา น่าจะใช้อำนาจเป็นธรรม ฤาใช้ธรรมเป็นอำนาจ?


รณีม็อบชาวพุทธพากันเรียกร้องขอจัดตั้งกระทรวงพุทธ-ศาสนา และจะพากันคว่ำบาตรถ้า ส.ว.คนใดไม่สนับสนุนก็ดี หรือกรณีพากันไปประท้วงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย เพราะมีข่าวลือไปว่า รมว.คนใหม่ สั่งให้ย้าย พระพุทธรูป ออกจากห้องทำงานก็ดี ทั้ง ๒ กรณีนี้น่าจะได้ พิจารณากันว่า เรากำลังใช้ อำนาจเป็นธรรม หรือกำลัง ใช้ ธรรมเป็นอำนาจ?
การใช้อำนาจเป็นธรรมนั้น ก็เหมือนกับการใช้อำนาจใดๆ ที่เป็นใหญ่ในโลก เข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรม หรือความสงบเรียบร้อยขึ้นในสังคม ส่วนการใช้ธรรมเป็นอำนาจนั้น คือการใช้ คุณธรรม ความเสียสละเข้าไปแก้ปัญหาทั้งหลาย โดยเฉพาะความเสียสละ ที่เลิกละจาก การแก่งแย่ง แสวงหาอำนาจ หรือการแย่งชิงความเป็นใหญ่ ซึ่งในธรรมวินัยของพระพุทธองค์นั้น ท่านให้หลักตัดสิน เอาไว้ว่า ธรรมใด วินัยใดที่เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเรา ตถาคต

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวพุทธที่มีมาอย่างยาวนานก็คือ ศาสนาพุทธ ไม่เคยทำสงครามทางศาสนา กับศาสนาใดๆ ตั้งแต่ในอดีต มาจนถึงปัจจุบัน จะมีข่าวที่ทำให้เข้าใจผิดกันอยู่บ้าง คงเป็นกรณีเล็กๆ น้อยๆ ที่กะเหรี่ยงพุทธรบกับกะเหรี่ยงคริสต์ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่าจริงๆ แล้วกะเหรี่ยงเหล่านี้ มีแต่ยี่ห้อคริสต์ ยี่ห้อพุทธ แปะเอาไว้เท่านั้น แต่คุณภาพและเนื้อหา นับถือผีสางนางไม้กันมากกว่า ซึ่งก็น่าเป็นห่วงพุทธไทย จะไปลอกเลียนแบบ กะเหรี่ยงพุทธ เพราะจะมีแต่ยี่ห้อเป็นพุทธ แต่เนื้อหาเป็นไสยศาสตร์ เดรัจฉานวิชา และเทวนิยม

กรณีที่ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งพากันเอาเรื่องเอาราวนายวันนอร์ เพราะแค่ได้ฟังข่าวลือผิดๆ เกี่ยวกับเรื่อง พระพุทธรูป ก็ได้ยิ่งเห็นคุณธรรมของนายวันนอร์ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเองพร้อมจะย้ายไปทำงาน ที่ห้องเล็กๆ ตรงไหนก็ได้ ถ้าพิจารณากันแล้วว่าสถานที่ตรงนั้น เหมาะสมที่สุด ที่จะใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูป เพราะตนตั้งใ จมาทำงานเท่านั้น... การที่นายวันนอร์ พร้อมจะยอมเสียสละได้ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นมา ย่อมถือว่าเป็นการใช้ธรรมเป็นอำนาจ ซึ่งประเสริฐกว่า เกิดสันติได้มากกว่า ที่จะเที่ยวไปจัดการ เอาเรื่องเอาราว คนนั้นคนนี้ ที่ไม่เคารพในสิ่งที่เราเคารพ หรือไม่กระทำตาม ในสิ่งที่เราได้เห็นดีเห็นงาม

แม้แต่การเรียกร้องให้จัดตั้งกระทรวงพุทธศาสนาก็ตาม เหตุผลสำคัญของฝ่ายเรียกร้องก็คือ...

"ที่ต้องเป็น 'กระทรวงพุทธศาสนาและวัฒนธรรมนั้น' ก็ด้วยเหตุที่เป็นทั้งข้อเท็จจริง ทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องนำมายืนยัน และทั้งเป็นเรื่องเนื้อหาสาระ แห่งความเป็นชาติไทย และความเป็นไทย ด้วยพุทธศาสนา เป็นศาสนาสร้างชาติไทย รักษาชาติไทย ให้รอดพ้น เงื้อมมือมาร -นักล่าอาณานิคมทางตะวันตก พร้อมทั้งพัฒนาส่งเสริม ใช้ชาติไทยเจริญรุ่งเรือง มานับพันปี ตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย พระพุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาประจำชาติไทย และประจำใจของพวกเราชาวไทยเสมอมา

อีกประการหนึ่ง พระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน-ต้นตอบ่อเกิด เป็นดุจบิดามารดา ของสังคมธรรม ประเพณีไทยทุกชนิด การจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมโดดๆ ไม่มีคำว่า "พระพุทธศาสนา" ไปเติมข้างหน้า ก็เหมือนเด็กกำพร้า เด็กแก่แดดมีปัญหา ไม่มีพ่อแม่คงจะเลี้ยงให้เจริญเติบโตทั้งกาย ใจ อารมณ์ สังคม และปัญญาได้ยากมากๆ...Ž (น.ส.พ.ข่าวสด ๑๘ ส.ค.๔๕)

ถ้าพิจารณาในแง่หลักการและเหตุผลข้างต้น ย่อมถูกต้องพันเปอร์เซ็นต์ แต่ในแง่ความเป็นจริง ที่เกิดขึ้น ในสังคมชาวพุทธ ปัจจุบัน คุณคม คำทัปน ได้คิดคนละขั้วไว้อย่างคมชัดลึก ในหัวข้อ "กระทรวง พุทธศาสนา ส่งเสริมหรือฉุดรั้งศาสนจักร?"

อาณาจักรและศาสนาจักร ต่างฝ่ายก็ทำหน้าที่แก่ประเทศชาติ เป็นการเอื้ออำนวย พหุปการะแก่กันและกัน ฝ่ายหนึ่ง ปกครองราษฎร ด้วยพระเดช ถือกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน ฝ่ายหนึ่งใช้พระคุณ มีเมตตาคุณ ปัญญาคุณ และวิสุทธิคุณ โน้มนำจิตวิญญาณ พุทธศาสนิก คือราษฎร ให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ สร้างความสงบ ให้บ้านเมือง

กาลเวลาล่วงเลยไปไม่ว่าสถานการณ์ทางอาณาจักรจะเฟื่องฟู หรือยุคเข็ญ ประชาชนผู้มีศรัทธามั่นคง ในพระพุทธศาสนา ไม่เสื่อมคลาย ก็ยังทำนุบำรุงวัดวาอาราม บำเรอสงฆ์ เห็นได้จากแต่ละวัด มีทรัพย์สินนับร้อยล้าน บางวัดเฉพาะพระอุโบสถ ที่สร้างสวยงาม ดุจวิมานเมืองอินทร์ ราคาไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ไม่นับสิ่งก่อสร้าง และสมบัติเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่พระบรมศาสดา ทรงปฏิเสธ อีกหลายร้อยล้านบาท หมู่พระสงฆ์อยู่ดีกินดี ได้ศึกษาดีถึงกับไปต่อเมืองนอก เป็นดอกเตอร์
นับจำนวนไม่ถ้วน จากศรัทธาปสาทะ ของญาติโยม ซึ่งน่าที่จะเป็นพลังใจ ให้ภิกษุมานะสนองคุณ ค้นคว้าพระธรรม ออกจาริก ประพฤติพรหมจรรย์เพิ่มศรัทธา จำเริญพระบรมพุทธศาสโนวาท ปลอบใจและหนุนนำ ให้ประชาชนปฏิบัติ เพื่อความอยู่ดีกินดี มีสุขตามอัตภาพ

กลับเป็นที่น่าแปลกใจที่ได้ยินพระภิกษุสงฆ์ปรารภด้วยความเหนื่อยหน่ายว่า ธรรมประจำใจ ของสาธุชน อ่อนด้อยลง ประชาชนหันไปนิยมวัตถุตามที่ทางอาณาจักร สร้างสิ่งที่เรียกว่าเจริญให้ จนทำให้การเผยแผ่ พระศาสน าตามไม่ทัน ในที่สุดพระสงฆ์ก็เลยเผลอ หันไปดำเนินตาม อุบาสกอุบาสิกา จนศีลแปดศีลห้า ก็ไม่ค่อยครบ หน้าที่ของพระภิกษุ ก็ชักห่างเหินไป การสั่งสม อบรมจิตใจประชาชน ไม่เป็นผล เพราะจริยวัตร เกือบคล้ายๆ กัน ขณะเดียวกัน ชื่อเสียงของพระภิกษุสงฆ์ กลับโด่งดังขึ้น ในทางที่ตรงข้ามกับสมณวิถี เกิดภิกษุทุศีล ดาษดื่น และนับวัน ยิ่งหนาหูขึ้น แล้วหันมาติติง ฝ่ายอาณาจักร ว่าหย่อนยานความสนใจ ทางพระพุทธศาสนา ไม่สนับสนุน แต่กลับไปปรนเปรอ ทางโลกสมบัติ ให้ประชาชนเกินไป

แม้ว่าพระภิกษุสงฆ์ส่วนหนึ่งจะได้ใช้ความพยายามเสียสละกายและใจ ทำงานด้านเผยแผ่ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะดำรง ภาระหน้าที่ของศาสนจักรไว้ แต่ไม่เป็นผลเท่าที่ควร เพราะศรัทธาของประชาชน ที่เคยมีต่อ พระภิกษุสงฆ์ ถดถอยลง การเผยแผ่ของพวกภิกษุบางเหล่า กระทำไปด้วยการแอบแฝงลาภ ยศ ส่วนตน มากกว่าที่จะทำไป ด้วยสำนึก ในหน้าที่ตัวแทน ของศาสนจักร


ดังที่พรรณนามานี้ ก็เห็นและทราบดีกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะคณะสงฆ์ แต่ไม่มีการแก้ไขที่เหตุ สงฆ์กลุ่มหนึ่ง แทนที่จะหวนกลับไปทบทวน ถึงความยิ่งใหญ่ของอดีต และรีบฟื้นฟูศรัทธาของประชาชน ให้หันมาหาธรรม ที่เทศนา ด้วยความบริสุทธิ์ กลับไปวางเครือข่าย ปลุกระดมทั้งในหมู่สงฆ์ด้วยกันเอง และ ประชาชนทั่วไป ผ่านทางสื่อต่างๆ ถึงขนาดนำรถติดเครื่องขยายเสียง ออกตระเวน ชักชวนประชาชน ให้ไปแสดง พลังชาวพุทธ เพื่อกดดันรัฐบาล ให้จัดตั้งกระทรวง พระพุทธศาสนา ในช่วงเวลาที่รัฐบาล จัดปฏิรูป ระบบราชการครั้งใหญ่ ที่กำลังดำเนินการอยู่

ความคิดดังกล่าวนี้ จึงสร้างความตกใจประหลาดใจแก่พุทธศาสนิกชน ผู้ได้ศึกษาพระธรรม ของพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ศาสนจักรมีเอกราช มีเสรีภาพเต็มที่ มีองค์ประมุข ของตนเอง มีองค์กรบริหารของตนเองโดยอนุโลม เหมือนกับอาณาจักร มีแผ่นดินของตนเอง (วิสุงคามสีมา) มีกฎหมายตนเอง คือพระวินัย แล้วมีกฎระเบียบ ของมหาเถรสมาคม ปกครองประชากรสงฆ์ มีเงินทุนคงคลัง ของตนเอง (ศาสนสมบัติกลางและศาสนสมบัติ ของแต่ละวัด ที่มีอำนาจ จัดการด้วยตนเอง อย่างเอกเทศ) มีสิทธิเสรีภาพ ภายใต้เงื่อนไขของ "บุญ" ที่จะเก็บเกี่ยว ผลประโยชน์ จากราษฎรได้ตลอด ในลักษณะของ "ภาษีสังคม" ซึ่งนับว่าพร้อมมูล ในสภาพของ อาณาจักรแห่งหนึ่ง แต่เป็นอาณาจักร แห่งพระพุทธศาสนา

แต่เหตุใดจึงมีความคิดพยายามจะนำเอาศาสนจักร อันสูงส่งด้วยศรัทธาเข้าไปซุกอยู่ภายใต้ การบริหารของอาณาจักร โดยขอเป็นเพียง "กระทรวงพระพุทธศาสนา" อยู่ภายใต้การบริหาร ของรัฐบาล เสมือนกับทรยศ ต่อพระราชศรัทธา ที่บุรพมหากษัตริยาธิราช ทรงถวายไว้ นำเอาสิ่งที่บริสุทธิ์ ไปอยู่ในสภาวะ ที่ว่ากันว่ามากด้วยกิเลสตัณหา หรือคิดว่าถึงวันนี้อะไรๆ ก็เหมือนกันเสียแล้ว ประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน จำนวนไม่น้อย กำลังคิดอย่างนี้
(น.ส.พ.มติชน ๒๙ ก.ย.๒๕๔๕)

ถ้าย้อนดูปฏิปทาของพระอริยเจ้าทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าอาจารย์มั่น ท่านพุทธทาส หลวงปู่ชา หรืออาจารย์เทสก์ก็ตาม ฯลฯ ท่านเหล่านี้ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ด้วยการอุทิศชีวิต ปฏิบัติตามคำสั่งสอน ของพระบรมศาสดา อย่างเคร่งครัดเป็นสำคัญ พุทธศาสนา จึงสำคัญขึ้นมา โดยไม่ต้องไปเรียกร้อง ให้คนมายกฐานะ หรือเข้ามารับรองว่า พุทธศาสนาสำคัญแต่อย่างใด

และแต่ไหนแต่ไรมาเมืองไทยก็อยู่กันมาได้อย่างสงบสุข โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา แต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบัน สายตาคนต่างชาตินั้น ถือว่าประเทศไทย เป็นชาติที่ปลอดภัยที่สุด เป็นดุจดัง สวิตเซอร์แลนด์ ในเอเชียน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเราทั้งหลาย ต่างก็ยึดมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอน ของพระศาสดาของ แต่ละศาสนา กันมาด้วยดีนั่นเอง.

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)