หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

กติกาเมือง ประคอง เตกฉัตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยทำงาน ในตำแหน่ง ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช

คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์ บังหลวง


คอร์รัปชั่น เป็นภาษาละติน ถ้าจะแปลตามตัวน่าจะแปลว่าการทำลาย หรือถ้าแปล ให้มีความหมาย ทางภาษาที่สละสลวย ก็น่าจะแปลว่า การละเมิดจริยธรรม ในการบริหารงาน ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องไม่ปล่อยให้ความสัมพันธ์ ส่วนตัว ระหว่าง ตนเอง กับผู้มาติดต่อ ก้าวล้ำเกินเลย จากความสัมพันธ์ เช่นปกติของบุคคลทั่วๆ ไป จนไปเกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติหน้าที่ หรือมีความสัมพันธ์กัน จนเอาอำนาจหน้าที่ ทางราชการ เป็นสื่อประสาน หรือ ตอบแทนกัน หรือการปฏิสัมพันธ์กัน เป็นการส่วนตัว ที่ก้าวล่วงเลย จนทำให้งานราชการต้องเสียหาย หรือจนบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติไม่เป็นกลาง ใช้อำนาจหน้าที่ เอื้อประโยชน์ ให้แก่ผู้มาติดต่อราชการ จนไม่เป็นธรรม หรือให้เกิด ความเสียหาย ต่อบุคคลอื่น หรือราชการ ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะข้าราชการ ล้วนแต่มี ญาติพี่น้อง เพื่อนบริวาร โดยเฉพาะ การตอบแทนบุญคุณกัน ในทางสังคม โดยใช้หน้าที่ การงาน เพราะเป็น การตอบแทน ที่ใช้ทุนน้อย แต่ค่าตอบแทนสูง จะเห็นได้ว่า ถ้าถือตาม ความหมาย ดังกล่าวข้างต้นแล้ว การคอร์รัปชั่น จะมีความหมาย กว้างขวางมาก เพราะการ ปฏิบัติราชการ เบี่ยงเบนออกไปจาก พฤติกรรมของข้าราชการปกติ ที่ปฏิบัติ ต่อผู้มา ติดต่อราชการ ไม่ว่าใช้อำนาจ เอื้อประโยชน์ แก่ผู้หนึ่งผู้ใด รับหรือเรียกร้อง ผลประโยชน์ ตอบแทน จากผู้อื่น เพื่อแลกกับ การที่เอาประโยชน์ จากทางการ ฉกฉวยประโยชน์มิชอบ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และพรรคพวก จากทรัพย์สินสาธารณะ เป็นต้น ทั้งรวมถึง การสร้าง บุญคุณ เพื่อหาบริวาร หรือวางเครือข่าย เพื่อความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงาน หรือ การได้รับเลือกตั้ง ในตำแหน่ง ทางราชการ หรือ ทางการเมือง ในภายภาคหน้า

การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นเรื่องที่ทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้แก่ บุคคลที่ได้รับค่าตอบแทน ในการทำงาน จากงบประมาณ ของแผ่นดิน การฉ้อราษฎร์ บังหลวง เป็นการใช้หรือแอบอ้าง ตำแหน่งหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ตอบแทน จากผู้อื่น เป็นเรื่องที่ไม่กระทำการ ตามหน้าที่ ตามปกติวิสัย หากไม่ได้รับผลประโยชน์ ตอบแทนจากผู้อื่น หรือ การกลั่นแกล้ง ถ่วงเรื่อง เพื่อทำให้ผู้อื่น ต้องให้ประโยชน์ ตอบแทน เจตนาดังกล่าว อาจแสดงออก โดยการเรียก โดยตรง หรือโดยผ่านผู้อื่น เจตนานี้ต้องพิจารณาจาก ผู้ให้ด้วย คือผู้ให้มีเจตนา ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เอื้อประโยชน์แก่ตน เป็นกรณีพิเศษ แต่หากเป็นกรณีที่ผู้อื่นพอใจ และให้ประโยชน์ แก่เจ้าหน้าที่ โดยเสน่หานั้น ยังหมิ่นเหม่ว่า เป็นการฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือไม่ แต่การให้ประโยชน์ดังกล่าว ที่ให้โดยเสน่หานั้น ก็ไม่ควรมีคุณค่า มากเกินปกติวิสัย ที่บุคคลทั่วไป จะพึงให้แก่กันด้วย ประโยชน์ที่ได้รับนั้น มีหลายอย่าง ไม่ว่าเป็นเงินทอง สิ่งของ สิทธิประโยชน์อื่นๆ การฉ้อราษฎร์ บังหลวงนั้น ไม่ว่าเป็นการคดโกง เรียกร้อง เบียดบัง หรือเอามาเป็นของตน โดยมิชอบ ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น ซึ่งประชาชน เป็นเจ้าของ ส่วนการบังหลวง เป็นการเบียดบัง ประโยชน์ทางราชการ คือเอาทรัพย์สิน สาธารณะ ไปใช้ เพื่อประโยชน์ ของตนเอง หรือผู้อื่น บางครั้งมีบุคคลภายนอก เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่า เป็นตัวแทน นายหน้า รวมไปถึงญาติบริวาร

ลักษณะของการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นไม่ว่ากระทำ โดยการใช้กฎระเบียบ ไม่คงเส้นคงวา การใช้ดุลยพินิจ ที่เอื้อประโยชน์ต่อคน บางคน บางกลุ่ม อย่างไม่เท่าเทียมกัน มีการแต่งตั้ง คนที่ไม่เหมาะสม เข้ารับตำแหน่ง มีการซื้อขายตำแหน่ง หรือวิ่งเต้น เพื่อให้ได้ตำแหน่ง โดยไม่เป็นไป ตามหลักประสิทธิภาพ และไม่พิจารณาคุณภาพ ในการทำงาน ของบุคคล การใช้ทรัพย์สิน สาธารณะ อย่างไม่มี ประสิทธิภาพ การเรียกร้อง ผลประโยชน์ตอบแทน จากการทำหน้าที่ ถ้าไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ก็จะกลั่นแกล้ง ถ่วงเรื่อง ไม่ทำหน้าที่ มีการทำสัญญา ทำข้อตกลง หรือรับจ้างภาคเอกชน หรือธุรกิจ ในลักษณะที่รัฐเสียประโยชน์ เสียค่าใช้จ่ายสูง เกินกว่าความจำเป็น ทั้งรู้เห็นเป็นใจ ไม่ออกมาตรการ หรือหรือกฎหมายใดๆ มาติดตามสอบสวน หรือบริหารเพื่อป้องกัน หรือ ปราบปราม ความประพฤติ ของผู้ใต้ บังคับบัญชา ปกปิดข้อมูล ปฏิเสธไม่อธิบาย ตัดบท คุกคาม ข่มขู่ ท้าทาย หรือกลบเกลื่อน เพื่อไม่ให้ มีหลักฐาน ปรากฏ ในการรับผลประโยชน์ การประมูลทรัพย์สิน ที่ด้อยคุณภาพ เป็นของทางราชการ การตบทรัพย์ การข่มขู่ การขูดรีด การรับเงิน ค่าบริการ เกินกว่า ที่ทางราชการ กำหนด การให้ข้อมูลเท็จ เพื่อให้ประโยชน์แก่ทางราชการ สมยอมกับพ่อค้า เพื่อประโยชน์ แก่ทางราชการ ให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทน ไม่สมประโยชน์ และ รับเงิน ช่วยเหลือ จากผู้กระทำความผิด เป็นต้น

หลายคนคิดว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีรายได้ตอบแทน จากทางราชการ ต่ำเกินไป ซึ่งผู้เขียน ไม่เห็นด้วย เป็นอย่างยิ่ง เพราะการคอร์รัปชั่น หรือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีปริมาณ สัมพันธ์กับรายได้ ของผู้ที่ กระทำความผิด ผู้กระทำความผิด ส่วนใหญ่ เป็นบุคคลที่มีอำนาจ ตำแหน่ง และมีรายได้สูง และผู้บริหาร หน่วยงาน และกระทำความเสียหาย แก่ทรัพย์สิน ของทางราชการ จำนวนมาก และมีผล ในวงกว้าง มากกว่า ผู้มีรายได้น้อย ตำแหน่งต่ำ บางครั้ง ประชาชนเข้าใจผิดว่า การกำหนด โทษประหารชีวิต ผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือลงโทษผู้ฉ้อราษฎร์ บังหลวง สถานหนัก จะทำให้ ผู้ฉ้อราษฎร์ บังหลวง เกรงกลัวจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า มีผลเพียง น้อยนิดเท่านั้น ตราบใด ที่สังคมไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ หรือให้ความสนใจ ควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างจริงจังแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ไข การฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ การมีกฎหมาย ป้องกัน และปราบปราม การฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเครื่องมือ ที่ประกันว่า จะแก้ไขปัญหา ดังกล่าว ได้นั้น ไม่ใช่แล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งกฎหมาย และ การบังคับกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ยังหละหลวม ไม่สามารถบังคับ ติดตาม การฉ้อราษฎร์ บังหลวงได้ ผู้เขียน ขอยืนยันว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวง ดังกล่าวนั้น ไม่สามารถ ที่จะปราบปราม โดยหน่วยงาน ของรัฐได้ ต้องเกิด ด้วยความร่วมใจ ของประชาชน ทั้งประเทศ สร้างค่านิยม ให้คนรุ่นใหม่ ต้องมีการ บรรจุหลักสูตร ว่าด้วยการฉ้อราษฎร์ บังหลวง ในแบบเรียนทุกระดับ เพื่อคนรุ่นใหม่

การฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุน และการพัฒนาของประเทศสูงขึ้น ภาษีของราษฎร จำนวนมาก ถูกใช้จ่ายไปอย่าง ไม่มีการคุ้มค่า และมีคนเพียงไม่กี่คน มีอำนาจ ในการตัดสินใจ ปราศจากการตรวจสอบ ผู้ประกอบการ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลเสียหาย ต่อกระบวนการประกอบการ ที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การเลี่ยงภาษี การฉ้อฉล ในวงการ ธุรกิจ และมีการผลักภาระ ให้ผู้บริโภค คือประชาชน ทั้งเป็นการทำลาย ความน่าเชื่อถือ ของประเทศชาติ โดยเฉพาะ สถาบันที่เป็น หน่วยงานของรัฐ

ปัจจุบันนี้ เรามีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งได้ให้ความสำคัญ กับการฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือ การคอร์รัปชั่น สูงกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่เคยบังคับใช้ มาแล้ว โดยเฉพาะ ในส่วนของ ศาลยุติธรรมนั้น กำหนดให้มีแผนก คดีอาญา ของผู้ดำรง ตำแหน่ง ทางการเมือง ในศาลฎีกา ได้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ไว้โดยเฉพาะ ทั้งได้กำหนด ให้มีการแสดงบัญชี รายการทรัพย์สิน และหนี้สิน ของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง รวมทั้งคู่สมรส และบุตรผู้เยาว์ และมีการเปิดเผย ต่อสาธารณชน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการ คณะหนึ่ง และผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๘ คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ครั้งละ ๙ ปี มีอำนาจหน้าที่ ไต่สวน ข้อเท็จจริง และสรุปสำนวน พร้อมทั้งทำความเห็น เสนอต่อวุฒิสภา ทั้งรวมถึง ข้าราชการ ทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง ที่ร่ำรวยผิดปกติ ไต่สวนและวินิจฉัย เจ้าหน้าที่ ของรัฐ ที่ร่ำรวยผิดปกติ ที่กระทำความผิด ทุจริตต่อหน้าที่ หรือ กระทำความผิด ต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการ หรือความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการ ตามกฎหมาย ทั้งตรวจสอบ ความถูกต้อง และความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลง ของทรัพย์สิน และหนี้สิน ของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ทั้งรายงานผล การตรวจสอบ ดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

สำหรับการดำเนินคดีอาญา กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ใช้กับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ ข้าราชการการเมืองอื่น ที่ถูกกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติ และกระทำความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวล กฎหมายอาญา หรือ กระทำความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามกฎหมายอื่น ในการพิจารณาคดี ให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ต้องยึดสำนวน ของคณะกรรมการ ป้องกัน และ ปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ เป็นหลักในการพิจารณา และไต่สวน หาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติม ได้ตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้ เรามีคณะกรรมการ ตรวจเงิน แผ่นดิน ซึ่งได้กระทำโดย คณะกรรมการ ตรวจเงิน แผ่นดิน และผู้ว่าการ ตรวจเงินแผ่นดิน ที่เป็นอิสระ และเป็นกลาง โดยมีหน่วยงานธุรการ แยกต่างหาก คณะกรรมการ ตรวจเงิน แผ่นดิน มีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ ๖ ปี

ปัจจุบันเรามีศาลปกครอง แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม พิจารณาคดี ที่เป็นข้อพิพาท ระหว่าง หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือ ในกำกับดูแล ของรัฐบาล กับเอกชน ทั้งพิจารณา ข้อพิพาท อันเนื่องมาจาก การกระทำ หรือ ละเว้นการกระทำ ที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติ ตามกฎหมาย หรือเนื่องจาก การกระทำ หรือ ละเว้นการกระทำ โดยหน่วยงานของรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ ของรัฐ อันเป็นกา รตรวจสอบ การทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกชั้นหนึ่ง

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ จะกำหนดหน่วยงานต่างๆ ขึ้นเพื่อตรวจสอบการคอร์รัปชั่น หรือ การฉ้อราษฎร์ บังหลวง จำนวนมาก และมีกฎหมาย ประกอบ ออกมาอีก จำนวนมาก แต่การปราบปราม การทุจริต คอร์รัปชั่นนั้น ไม่สามารถจะทำได้ ในระยะ เวลาอันสั้น สิ่งหนึ่ง ที่สำคัญ คือต้องสร้าง จิตสำนึก ของประชาชนทุกคน ให้ร่วมกันต่อต้าน และถือเป็นหน้าที่ ของประชาชนทุกคน ที่จะต้องกำจัดสิ่งนี้ ออกไปจาก สังคมไทย เพราะมิฉะนั้น เราจะ ไม่สามารถ พัฒนาประเทศชาติ ให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียม ประเทศอื่นๆ ได้

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)