หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


สุนทร ริ้วเหลือง
ผู้ว่าฯ ติดดิน

เป็นพ่อเมืองโคราช หัวเมืองใหญ่ ที่มีประชากรมาก เป็นรองจาก เมืองหลวง แต่ก็ติดดิน สมเป็นพ่อเมืองบ้านนอก เพราะแม้วันนี้ ก็ยังไม่หลงลืมตัวว่า เขาคือชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง

* เบ้าหลอมของเด็กชายคนหนึ่ง
ผมเป็นคนชนบท แม่เป็นจีนแคะ พ่อเป็นจีนแต้จิ๋วผสมไทย มีพี่น้อง ๑๒ คน ฐานะยากจน เราจึงต้องมี อาชีพหลายอย่าง แม่ช่วยครอบครัวด้วยการเย็บเสื้อผ้า บ้านเราอยู่ริมคลอง เราไม่มีที่นาเหมือนคนอื่น อาชีพเสริม เพิ่มรายได้ของพวกเรา คือ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ หมู และห่าน เราปลูกผักเป็นแปลงไว้กิน และขาย ตลอดปี เช่น ผักคะน้า ต้นหอม ผักชี ฟักทอง บวบ ทุกเช้าผมกับพี่จะเก็บไข่เป็ดไปขาย ๗ ฟอง ๒ บาท ผักชีกำละ ๑๐ สตางค์ โดยไปขาย ที่ตลาดทุกวัน แม่สอนให้ประหยัด รู้จักทำมาหากินตั้งแต่เล็ก นอกจาก สอนให้ปลูกผักเป็นแล้ว ยังสอน ให้ขายของเป็นอีกด้วย เวลาตรุษจีน แม่จะตากขนไก่ขนเป็ด เก็บไปขาย สิ่งเหล่านี้ เป็นการบ่มเพาะนิสัย ให้เรารู้จักคุณค่า ของการเลี้ยงตัวเอง เพื่อความอยู่รอด แม่ไม่ให้ซื้อ ของกิน ของใช้ ที่ฟุ่มเฟือย ไปโรงเรียนก็เอาข้าวไปกิน บางวันแม่จะเผามัน ให้ใส่กระเป๋าไปกิน หน้าน้ำ จะมีเรือกาแฟ บีบแตรเรียกลูกค้า แม้จะพูดถึงโทษของกาแฟ และบอกว่ากาแฟมันดำ กินแล้วลูกจะใจดำ แม่สอน วิธีการประหยัด เป็นกุศโลบาย ให้เห็นว่า การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟื่อยนั้น ไม่จำเป็น สำหรับชีวิต เวลาทำงาน กลางแจ้ง แม่จะไม่ให้ใส่เสื้อ ให้นุ่งกางเกงจีน กันทุกคน เพราะว่า การใส่เสื้อ จะทำให้ไม่ร้อน เราจะได้รับรู้ว่า ความร้อนนี่ เราทนได้ไหม เป็นการสอน ให้ลูกได้ฝึก สร้างความอดทน

* จุดหักเหชีวิต
แม่เชื่อเรื่องโชคลาง ตอนผมยังเล็ก แม่พาผมไปดูหมอดู เขาบอกว่าลูกคนนี้ ต่อไป จะได้ เป็นใหญ่ เป็นโต เพราะฉะนั้น อย่าให้ไปเรียนภาษาจีน เพราะพี่ๆ ก็เรียนภาษาจีนกันหมดแล้ว จบ ป.๔ เตี่ยจึงพาผม ไปฝากวัด ที่อ่างทอง เรียนมัธยม ๑ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน ไกลพอสมควร เรียนไปรู้อย่างเดียวว่า แม่บอก จะได้เป็นใหญ่ แต่ผมไม่เชื่อหมอดูเลย เพราะช่วงเรียน ลำบาก และ อดอยากเหลือเกิน ผมแอบหนีกลับบ่อย และไม่ค่อย ตั้งใจเรียน แต่แม่คอยสอน อยู่เสมอว่า ให้ตั้งใจเรียนนะลูก ต่อไปจะได้เป็นใหญ่ แม่พยายาม ใช้กุศโลบายต่างๆ เพื่อให้ผม ตั้งใจเรียน แม่จะไหว้ปึงเถ่ากง ซึ่งเป็นธรรมเนียมคนจีน โดยมักจะอธิษฐาน ขอให้รวยๆ ให้มี ความสุข ชาติหน้า อย่าได้จนอย่างนี้ ผมก็จำไว้ ก่อนนอน จะไหว้ตามแม่ทุกวัน ไหว้เสร็จ ก็ไหว้พระ ไหว้พ่อแม่ และ พยายามตั้งใจเรียน จบจากโรงเรียนประจำจังหวัด ก็มาเรียนต่อ ที่กรุงเทพฯ สอบเทียบ ม. ๘ เข้ามหาวิทยาลัย จบได้เกียรตินิยม และได้รับคัดเลือก เป็นอาจารย์ ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

* เปลี่ยนเข็มทิศชีวิต
เป็นครูอยู่ไม่นาน เตี่ยก็มาขอร้องว่า อย่าเป็นเลยลูก สู้เป็นปลัดอำเภอไม่ได้หรอก แรงบันดาลใจ ตรงนี้ เกิดขึ้น เพราะเตี่ย เกือบจะต้องติดคุก เนื่องจากไม่ได้เกณฑ์ทหาร สมัยนั้น นายอำเภอใหญ่โตมาก สามารถช่วย ไม่ให้เตี่ยเข้าคุก โดยให้ไปทำงาน รับใช้นายอำเภอแทน สมัยนั้น ที่อำเภอบ้านผม มีนักเลงเยอะ ปัญหาต่างๆ ก็เยอะ ใครตีกัน หรือถูกตำรวจจับ ก็ต้องมาหาเตี่ย เพื่อให้ช่วยเจรจา แก้ปัญหา โดยไม่ต้องขึ้นศาล ไม่ต้องติดคุก เตี่ยเก็บ ความภาคภูมิใจนี้ไว้ และใฝ่ฝัน อยากให้ผม เป็นนายอำเภอ ต่อมา ผมก็สอบได้ เป็นปลัดอำเภอ สมใจเตี่ย

* ความซื่อสัตย์ของเตี่ย
เวลาเตี่ยช่วยใครต่อใครสำเร็จ บางคนจะนำเงินมาให้เตี่ย เหมือนเป็นค่าตอบแทน เตี่ยจะสอนว่า ต้องแบ่งเงิน จำนวนนี้ ให้นายอำเภอบ้าง ตำรวจบ้าง แต่เตี่ยเองไม่เอาหรอก เตี่ยเป็นคนซื่อ บ้านเรา จึงจนอยู่เหมือนเดิม เมื่อตอนผมเป็นนายอำเภอ มีคนนำเงินมาให้ ผมก็ไม่รับเช่นกัน เพราะเตี่ยเคยสอนว่า เขาให้เงิน อย่าไปเอา ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องก็ตาม เพราะเขาได้มา ด้วยหยาดเหงื่อ ดูอย่างเราซิ กว่าจะได้เงินมา บาท สองบาท เหนื่อยแค่ไหน เตี่ยบอกว่า แม่เย็บผ้าตัวละ ๕ บาท กำไร ๒ บาท วันหนึ่ง เย็บได้ ๕ ตัว ก็ได้แค่ ๑๐ บาท มันลำบากเหลือเกิน คำสอนของเตี่ย มีผลมาก ผมยึดถือมาตลอด และ จุดนี้เอง ทำให้ผม ได้เติบโตมา พร้อมกับการสร้างสม คุณงามความดี และมีความก้าวหน้า ในหน้าที่ การงาน

* ภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ภูมิปัญญาสากล
ผมเป็นผู้ว่าฯ ชัยนาท พิจิตร และก็มาสระบุรี ที่นี่ผมได้เรียนรู้เรื่องการเกษตรธรรมชาติคิวเซ และ การทำเกษตร อินทรีย์ชีวภาพ ผมลองทำอยู่ ๒ ปีครึ่ง ทำให้นึกย้อนหลังถึงเตี่ยว่า สมัยนั้น เราใช้ปุ๋ยคอก โดยไม่ได้หมัก แต่ให้ธรรมชาติหมัก ซึ่งแต่ก่อน เราไม่ได้เรียกจุลินทรีย์ เราหมัก ใส่น้ำตาล แม่ผมหมักผักเสี้ยน หรือผักกาดดอง เขาจะใส่เกลือ น้ำตาลปี๊บ และก็ฟันสับให้เป็น ๔ ซีก ตากแดดสักชั่วโมง ให้น้ำระเหย นิดหน่อย แล้วเทน้ำซาวข้าวทิ้งไว้ ตอนเย็น แม่ก็หมัก แล้วเอาไม้ไผ่ขัดแตะ ขัดปากไห ใช้ผ้ามุ้ง พันกับ ฝาจุกไห อัดไม่ให้ลมเข้า ตรงกับที่คิวเซ สอนเรื่องการหมัก โดยใช้จุลินทรีย์ ซึ่งมีอยู่ ในอากาศทั่วไป ผมเริ่มสนใจ และไปดูงานที่ญี่ปุ่น ศึกษาการใช้อีเอ็ม และจุลินทรีย์ต่างๆ แล้วนำกลับมา ขยายงาน ด้านเกษตรธรรมชาติ ทั้งปุ๋ยแห่ง ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยน้ำที่ผ่านมา เรามักจะทำกันไม่ถูกต้อง เพราะอะไรก็ตาม ถ้าเราหมัก ไม่ได้ที่ ก็เหมือนกับเราหุงข้าว ข้าวยังไม่สุก เราไปเช็ดน้ำ มันก็จะแข็ง นั่นคือ เรายังทำ ไม่ครบถ้วน เนื่องจาก ภูมิปัญญาที่เรารับมา ไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจน หรือเขาถ่ายทอด ให้เราไม่หมด เราต้องเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ ให้ครบกระบวนความ สมมุติ ถ้าเราหมักปุ๋ยคอก ๖ เดือน จะได้ปุ๋ยที่ดีกว่าหมัก ๓ เดือน หรือหมัก ๑ เดือน หรือ ถ้าหมักหนึ่งปี เราจะได้ปุ๋ยชีวภาพ ที่มีคุณภาพยิ่งดีขึ้น

ผมจับประเด็นได้ว่า การหมักทุกอย่าง ชาวจีนทำมาก่อน ในการหมัก ตั้งแต่หมักเต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เกี้ยมบ๊วย ล้วนแต่ใช้วิธีนี้ โดยใช้จุลินทรีย์ ในการหมัก เพียงแต่เราไม่รู้ว่า จุลินทรีย์ อยู่ที่ไหน มาจากไหน ซึ่งความจริง ก็คือ จุลินทรีย์ที่อยู่ในธรรมชาติ ผมเริ่มไปสอนชาวบ้าน ให้รู้จักการขยาย จุลินทรีย์เอง ผมนำโครงการเหล่านี้ มาเขียนตำรา และนโยบาย เกษตร อินทรีย์ชีวภาพ เพื่อเผยแพร่ ในอำเภอต่างๆ

เพราะฉะนั้น เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลจัดสรร ให้จังหวัดต่างๆ นั้น ผมได้มาถึง ๒๑๘ ล้าน ถือว่า เป็นจังหวัด ที่ได้รับมากที่สุด โดยใช้ในโครงการ ทำโรงปุ๋ย เป็นมูลค่า ๗๘ ล้าน ตอนนี้ กระจายไปหมดแล้ว และ ทำโรงสีชุมชนอีก ๒๓ ล้าน รวมทั้ง ทำโรงเลี้ยงหม่อนไหมอีก ๒๐ กว่าล้าน ผมจะเน้น สนับสนุน โรงสีชุมชน หรือวิสาหกิจ ที่บริหารโดยชุมชน ตามแนว เศรษฐกิจ พอเพียง ซึ่งไม่ได้มุ่งในเชิงธุรกิจ แต่เพื่อให้ ชุมชน ได้เอาภูมิปัญญาชาวบ้าน บวกกับ ภูมิปัญญาสากล อย่างจุลินทรีย์ เป็นภูมิปัญญา ชาวบ้าน แต่คนไม่รู้ ก็มองเป็น ภูมิปัญญา สากลไป

จริงๆ แล้ว ทุกอย่างต้องอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านกับภูมิปัญญาสากล ดังที่ในหลวงตรัสว่า เทคโนโลยี ส่วนที่เป็นภูมิปัญญาสากล ที่ไม่ขัดแย้งนั้น เราต้องรับเอามาผสมผสานกันด้วย และต้องคิดถึง เศรษฐกิจ พอเพียงด้วย คือ เราต้องทำวิสาหกิจชุมชน หรือท้องถิ่น อย่าเพิ่ง คิดกำไร หรือแสวงหาความร่ำรวย ควรคิดถึง การผลิต เพื่อความอยู่รอดก่อน เพื่อเราไม่ต้อง ไปซื้อหา แต่ทำใช้เอง เหลือเล็กน้อย เราก็ขาย เจือจุนกัน

เพราะฉะนั้นเรื่องปุ๋ยชีวภาพ จึงเป็นจุดกำเนิดที่สำคัญที่จะทำให้เราอยู่รอดในการทำเกษตร แต่ปุ๋ยอย่างเดียว ยังไม่พอ เราต้องรู้จักดินว่ามีกรดมีด่างอย่างไรด้วย นั่นคือต้องรู้ว่า ดินเปรี้ยว ดินเค็มหรือไม่ และยังมีน้ำ ที่เป็นปัจจัย สำคัญอีกตัว น้ำเปรี้ยว น้ำกร่อย น้ำเค็ม รู้ความชื้น ในอากาศ แห้งไปไหม ร้อนไปไหม องค์ประกอบ ต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้เรา ประสบความสำเร็จ ในการทำ เกษตรกรรมได้ ผมได้สอน ชาวบ้าน ไปด้วย รวมทั้งศึกษา เรื่องตลาด ผมเตือน ชาวบ้าน เสมอว่า อย่าคิดแต่ความร่ำรวย อย่าคิดแต่ จะเอาเร็ว ด่วนได้ ทำเหตุปัจจัยให้ดี แล้วสิ่งเหล่านั้น จะตามมาเอง เรื่องการตลาด ก็เช่นกัน ถ้าเราทำได้ดี ตลาดก็จะดีตาม

* ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว
ผมคิดว่า วันนี้ครอบครัวเราควรจะอยู่ให้ได้ด้วยการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด พ่อแม่ลูก ต้องมาคุยกัน มีความห่วงใย อาทร ซึ่งกันและกัน ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน พ่อแม่ต้องแนะนำลูก ในการดำรงชีวิต ในการทำงาน การศึกษาหาความรู้ สอนลูกให้รู้จักต่อสู้ชีวิต ให้เห็นตัวอย่าง ชีวิต ที่ดีงาม จากพ่อแม่ ผมว่าลูก จะเกิดความอบอุ่น เกิดความเข้าใจ และมีประสบการณ์ ในทางปฏิบัติจริง ไม่ใช่รู้จาก ตำราอย่างเดียว หรือ ต้องเรียนสูงๆ เพราะผมมั่นใจว่า การเรียน สูงๆ อย่างเดียว ไม่ใช่ความสำเร็จในชีวิต คนที่เรียนรู้ และ เข้าใจชีวิต ควบคู่ไปด้วย จึงจะ ประสบความสำเร็จได้ อย่างดีกว่า เร็วกว่า และยั่งยืนกว่า เพราะเขา จะได้รู้ถึง จิตใจผู้อื่น รู้ความทุกข์ยาก รู้สิ่งที่กว่าเขาจะได้มาแต่ละครั้ง แสนยากเหลือเกิน

* นักปกครองอยู่ไหนประชาอุ่นใจ

สิ่งใดไม่ถูกต้อง ผมยอมไม่ได้ สมัยเด็กผมเห็นใครถูกรังแก แม้ผมจะตัวเล็กกว่า ผมก็พร้อม จะช่วยเพื่อน ที่ถูกรังแก ผมมองเรื่องความเป็นธรรมในสังคม เป็นสิ่งสำคัญ ผมมักพูดเสมอว่า คนที่ถูกฉกฉวยโอกาส เป็นการถูกเอาเปรียบ เพราะทุกคน ควรมีโอกาสเหมือนๆ กัน ไม่ใช่ คนรวย ได้โอกาส และปล่อยให้คนจน ขาดโอกาส หรือ บางคนมีโอกาส มีตำแหน่งใหญ่โต ก็เอาเปรียบผู้อื่น ที่ด้อยกว่า ผมเห็นภาพข้าราชการ รังแกประชาชน มาตั้งแต่เด็ก ตอนผม ขายไข่ ขายข้าวสาร แบกไปครึ่งถัง ข้าราชการบอก "ไอ้ตี๋ สิ้นเดือน มาเอาเงิน" พอสิ้นเดือน ก็บอกไม่มีเงิน ใช้หมดแล้ว ผมรู้สึกว่า ข้าราชการพวกนี้ กินข้าวร้อน นอนตื่นสาย แล้วก็ เอาเปรียบประชาชน

ผมอยู่ที่ไหนก็ตาม ข้าราชการที่ไม่ค่อยดี จะไม่ชอบผม เพราะผมเป็นอย่างนี้ ไม่ชอบการทำอะไร ไม่ถูกต้อง ผมให้โอกาส ผู้อื่นเสมอ จนบางครั้ง ผมทำอะไร ก็มีผู้ที่ไม่เข้าใจ คิดว่าผม ไปเข้าข้าง อีกกลุ่ม ผมทำงาน กับชาวบ้าน ทุกรูปแบบ มีอยู่ครั้งหนึ่ง สรรพสามิต จับเหล้าชาวบ้าน ปรับ ๗,๕๐๐ บาท ผมเคยสั่งแล้วว่า อย่าจับสาโทกับไวน์ ซึ่งชาวบ้านผลิต แต่ถ้าเหล้า ๔๐ ดีกรี จับให้หมด แต่ไม่ทราบว่าใครสั่ง ชาวบ้าน เดินขบวนมาด่าผม ผมไปพบชาวบ้าน ถามว่า ทำไมต้องมาด่าผม มีอะไร ทำไมไม่มาพูดกัน ผมเป็นคน ที่ฟังอะไร เข้าใจง่ายที่สุด ผมสงสาร คนจนอยู่แล้ว เพราะผมเอง ก็เคยจนมาก่อน มีปัญหาอะไร เล่ามา ไม่ต้องใช้ไมค์ ผมนั่งจับเข่า คุยกับพวกเข าตรงบันได ผมเรียกสรรพสามิตมาถาม เขาตอบว่า ทำตามกฎหมาย ผมแย้งว่า แล้วนโยบายผู้ว่าฯล่ะ เขาก็อึ้ง ผมบอกจะไปพูดกับอธิบดี กรมสรรพสามิตให้ แล้วผมก็ ออกคำสั่ง ห้ามตำรวจโคราช จับไวน์ สาโท ตั้งแต่บัดนั้น โดยผมขอรับผิดชอบเอง ชาวบ้าน ก็ตบมือ พอใจ มีผู้ท้วงว่า ท่านผู้ว่าฯ สั่งการโดยผิดกฎหมายนะครับ ผมบอกว่าถึงผิด แต่ขาดเจตนา ตามมาตรา ๕๙ เพราะผมไม่มีเจตนา ทำผิดอะไร จึงยังไม่ครบองค์ประกอบ ของความผิด เนื่องจาก เจตนาของผมก็คือ ช่วงนี้เป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ชาวบ้าน กำลังจะ รวมกลุ่ม เป็นสหกรณ์ เขาอยู่ระหว่าง การเรียนรู้ และ การถ่ายทอดความรู้ ก็ยังทำไม่ได้ดี ระบบความสะอาด ก็ยังไม่มี พวกเขาอยู่ระหว่าง การทดลองเรียนรู้ มากกว่า การผลิต เพื่ออาชีพ แต่ถ้าเหล้ากลั่น ๔๐ ดีกรี ผมไม่ให้ขาย พบกันคนละครึ่งทาง ชาวบ้านตกลง ผมคิดว่า ได้ชนะใจชาวบ้าน

* เสน่ห์ของชาวอีสาน
ผมอยู่ภาคนี้มานาน ได้เห็นจุดดีหลายจุด คนอีสานต่อสู้ อดทน มีความซื่อสูง คนที่นี่ ยึดและ ศรัทธาศาสนา เชื่อคุณงามความดี แต่ข้อเสียคือ มักจะเชื่ออะไรง่ายเกินไป เพราะฉะนั้น คนอีสาน จะถูกหลอกง่าย แค่บางที มีผู้ให้ข้อมูลผิดๆ เช่น ผมแนะนำว่า อย่าไปเดินขบวน ที่กรุงเทพฯ เดี๋ยวผู้ว่าฯ จะแก้ไขปัญหาให้ แต่จะมีคนหลอก ซึ่งเป็นคน บ้านเดียวกัน มาพูดว่า ถ้าเชื่อผู้ว่าฯ จะไม่ได้เงิน ขอให้เชื่อเขา และจะได้เงิน ปรากฏว่า ไปหมดเลย ไม่เชื่อผู้ว่าฯ สักคน คนนั้นจบ ป.๔ แต่เขาก็ชนะผม ผมพูดเสมอว่า เสน่ห์ของคนอีสาน คือความมีน้ำใจ แต่จุดอ่อน ของคนอีสาน คือใครพูดอะไรดีหน่อย ก็ว่าเขาเป็นคนดี ยอมเชื่อฟังเขาทันทการแยกแยะ ค่อนข้างที่จะน้อยไป ถ้าถามว่า ตรงนี้หนักใจไหม ไม่หนักใจ ตอนนี้ ผมทำความเข้าใจ ได้มากขึ้น แต่ก็คิดว่า ชาวอีสานถูกหลอกมาเยอะแล้ว จากหลายๆ เรื่อง ฉะนั้น อย่าไปหลอก เอาความจริงใจ จากชาวบ้านอีกเลย หรือให้ความหวังลมๆ แล้งๆ แก่เขา แต่ควรมอบ ความจริงใจ และ ความหวังดี ให้กับชาวบ้านเถอะครับ

* เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน
วันนี้ภาพของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือข้าราชการ ไม่ใช่ภาพของข้าราชการ ที่มีอำนาจ มีกฎหมาย ในมือ แต่ควรเป็นภาพ ของคนทำงานเสียสละ ให้คนที่ด้อยโอกาส ให้คนที่หมดที่พึ่ง ให้พวกเขา ได้พลิกฟื้นชีวิต พลิกพื้นแผ่นดิน แผ่นน้ำ ให้เขาได้มีโอกาส มีอนาคต มีเพื่อน มีญาติมิตร ที่คอยให้กำลังใจ ไม่ใช่ผู้ว่าฯ ที่คอยตำหนิ เล่นงานเขา หรือ เอากฎหมายไปข่มขู่ ข่มเหงประชาชน ภาพแบบนี้ ควรจะหมดไปได้แล้ว ข้าราชการวันนี้ ควรเป็นตัวอย่าง ทั้งในเรื่อง การวางตัว การพูดจา การแต่งกาย และการมีวิถีชีวิต ที่สะอาด ปราศจาก เรื่องคอรัปชั่น ชาวบ้านให้ผ้าขาวม้าผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯควรให้เงินเขา ตอบแทนทันที ในลักษณะ ไม่ทำให้ผู้ให้ เสียความรู้สึก ผมจะถามชาวบ้านว่า ผ้าไหมทอกี่วัน ค่าไหมราคาเท่าไร ชาวบ้าน ก็อธิบายว่า บวกค่าแรงด้วย ราคาประมาณ ๕๐๐ บาท ถ้าให้ภรรยาผู้ว่าฯ ด้วยก็ ๒ ผืน ๑,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้น ของฝาก ที่ชาวบ้านนำมาให้ ผมจะไม่คืน เพราะชาวบ้านตั้งใจให ้เป็นประเพณี ตามวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ผมจะให้กำลังใจ ตอบแทน โดยมีกองทุน เอาเงินผู้ว่าฯไป จะได้เป็น ขวัญถุง เพื่อทำการค้าขายต่อไป ผมไม่เอาของฟรี ยกเว้นแต่จะเป็นผัก ๒-๓ กำ ราคานิดหน่อย ผมก็รับไว้ แต่คืนตะกร้า ให้ชาวบ้านไปใช้ต่อ นี่คือ วิธีปฏิบัติของผม

ผมไม่กินน้ำแข็ง เพราะเชื่อที่แม่สอน ตั้งแต่เล็กว่า การกินน้ำแข็ง จะทำให้มีเสมหะเยอะ ผมไม่สูบบุหรี่ เหล้าดื่มนิดหน่อย เพื่อสังคม กาแฟไม่เด็ดขาด น้ำอัดลมก็ไม่ดื่ม ผมดื่มน้ำเปล่า อย่างเดียว ข้าวก็ใส่ปิ่นโต ไปไหน ก็หิ้วไปกินที่นั่น ผมไม่ค่อยกินอาหารนอกบ้าน ผมไม่กิน อาหาร ที่นายอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนต่างๆ เลี้ยง และ สั่งห้ามเลี้ยงเด็ดขาด ห้ามรบกวน นายอำเภอ หรือ หัวหน้าส่วนต่างๆ ผมคิดว่า เราต่างทำงาน ให้ประชาชน จึงไม่ควร เบียดเบียนกัน

เขาคิดว่าผมสร้างภาพ เพื่อเตรียมออกไปเป็น ส.ส. ผมก็ประกาศว่า ผมไม่เป็น ส.ส.หรอก ผมเป็นผู้ว่าฯ ก็พอแล้ว และจะลาออกก่อนเกษียณ เพราะผมอยากพักผ่อน ผมจะกลับบ้าน ไปทำสวน ลูกๆ ก็โตหมดแล้ว เขาบอก ให้ป๋าลาออกมาเถอะ ตอนนี้เรามีเงิน พอเลี้ยงชีวิตแล้ว

* อุปสรรคคือบทเรียนชีวิต

ผมบอกลูกว่า อย่าเรียนนิติศาสตร์ อย่าเรียนรัฐศาสตร์ และอย่ารับราชการ ถ้าเรียนสายบริหาร จะไต่เต้ายาก เพราะการทำงาน ในระบบราชการ เราอาจจะมองว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่อาจเป็นธรรม แต่เราเข้าข้างตัวเอง มากเกินไปก็ได้ ซึ่งทำให้เราหมดกำลังใจ ผมจึงแนะลูก ให้เรียนสายวิชาชีพ จะดีกว่า เพราะผมกลัว ลูกจะอดทนกับอุปสรรค ในระบบราชการได้ยาก แต่ที่ผ่านมา ผมไม่โทษ ผู้บังคับบัญชา ผมถือว่า ท่านได้ให้บทเรียน เรื่องความอดทนแก่ผม ซึ่งตอนนั้น บางทีผมก็คิดว่า เราน่าจะก้าวหน้า ได้ดีกว่านี้ ได้เร็วกว่านั้น แต่การที่เราก้าวหน้าช้า ก็ทำให้เรามีความอดทน มีความชำนาญมากขึ้น และ เป็นผลดีแก่ผม ในปัจจุบัน

* มุมมองในฐานะนักปกครอง
ผมมองคนวันนี้มี ๒ ชนชั้น คือ ชนชั้นด้อยโอกาส ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร พวกหาเช้ากินค่ำ พวกชนชั้น รายได้น้อย ซึ่งอยู่ในภาคเกษตร คนพวกนี้ควรได้รับการปลูกฝัง ในด้านวิถีชีวิต เพื่อเปลี่ยน วัฒนธรรมใหม่ ให้รู้จักใช้ ในสิ่งที่ควรใช้ ผมไม่ได้ให้กินน้อยลง ใช้น้อยลง แต่ให้รู้จักประหยัด ในสิ่งที่ควรประหยัด ไม่ว่าการกินการอยู่ การแต่งตัว เริ่มตั้งแต่ ในครอบครัว วัฒนธรรม ที่สอนให้ทุกคน รู้จักคิด รู้จักนำสติปัญญามาใช้ ให้แก้ปัญหาได้ โดยภูมิปัญญา ระดับชาวบ้านของเรา นำออกมาใช้ ให้มากที่สุด หาประสบการณ์ ด้วยการ พึ่งตัวเอง ไม่ใช่ไปดู และทำตามอย่างเขาเท่านั้น

อย่าไปมองว่า เราจะสู้คนอื่นไม่ได้ ตรงนั้นเป็นการปิดกั้นความคิด และ ศักยภาพของเรา เราต้องทำ ด้วยใจที่มุ่งมั่น พร้อมต่อสู้ สิ่งสำคัญที่สุด คือครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ของสังคม ต้องนึกถึงลูก ให้ความรัก ความเอาใจใส่ ให้เวลา มีเป้าหมายชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่ ก้มหน้าก้มตา หาเงินให้ลูกอย่างเดียว แต่ควรบ่มเพาะ ให้ลูกเป็นคนดี มีความเมตตา กรุณาต่อผู้อื่น พ่อแม่จึงเป็นครู เป็นผู้สร้าง ผู้ต่อยอด ทุกอย่าง ผมสอนลูกเสมอ ให้เป็นคน ธรรมดา ไม่ใช่ลูกของผู้ว่าฯ แต่ทำหน้าที่ ให้ดีที่สุด ในวิชาชีพของเรา อย่าลืมตัว

ผมไม่เคยคิดว่าเป็นผู้ว่าฯแล้วใหญ่โต ผมอยู่ตรงไหนก็ได้ กินที่ไหนก็ได้ นอนที่ไหนก็ได้ อยู่กับ ดอกเตอร์ก็ได้ อยู่กับชาวบ้าน ที่ไม่รู้หนังสือ ก็อยู่ได้
ผมคิดว่า ผมคือ คนธรรมดาคนหนึ่ง


ประวัติ
เกิด ๓ มกราคม ๒๔๘๘ สถานที่เกิด ต.แสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง คู่สมรส นางทวี ริ้วเหลือง บุตร ๓ คน
๑. นายอัครวิทย์ ริ้วเหลือง จบปริญญาโทวิศวกรรม (สาขาไฟฟ้า) สหรัฐอเมริกา ด้วยทุน องค์การโทรศัพท์ แห่งประเทศไทย ปัจจุบันทำงานที่ ฝ่ายฝึกอบรม องค์การ โทรศัพท์ แห่งประเทศไทย
๒. แพทย์หญิงสุธิรา ริ้วเหลือง รับราชการโรงพยาบาลรามาธิบดี
๓. แพทย์หญิงสุวิชชา ริ้วเหลือง รับราชการโรงพยาบาลรามาธิบดี

การศึกษา
จบชั้น ป.๔ โรงเรียนวัดแสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง
จบชั้น ม.๖ โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ จ.อ่างทอง
๒๕๐๙ จบปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม)
๒๕๑๔ จบปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากสหรัฐอเมริกา

รับราชการ
๒๕๑๐ ปลัดอำเภอตรี อ.สามโก้ จ.อ่างทอง
๒๕๑๖ ปลัดอำเภอโท อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
๒๕๑๙ เข้ารับการศึกษาอบรม ร.ร.นายอำเภอ กรมการปกครอง
๒๕๒๐ นายอำเภอชาติตระการ จ.พิษณุโลก
๒๕๒๑ นายอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี
๒๕๒๓ นายอำเภอเมืองชลบุรี จ.ชลบุรี
๒๕๒๕ นายอำเภอเมืองราชบุรี จ.ราชบุรี
๒๕๒๘ นายอำเภอเมืองลพบุรี จ.ลพบุรี
๒๕๓๒ ปลัดจังหวัดชุมพร
๒๕๓๔ ปลัดจังหวัดนนทบุรี
๒๕๓๔ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา
๒๕๓๖ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี
๒๕๓๙ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท
๒๕๔๐ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร
๒๕๔๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี
๒๕๔๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

ความภาคภูมิใจ ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดจังหวัดชุมพร เพื่อช่วยเหลือ และแก้ปัญหา เมื่อเกิดพายุไต้ฝุ่นเกย

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๐ มกราคม ๒๕๔๖ )