หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา๑ สมณะโพธิรักษ์ ต่อจากฉบับที่ ๑๔๙


๔. สัตว์พวกหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทวดาชั้นสุภกิณหา

สัตว์พวกที่ ๔ ก็ขอขยายความ สู่กันฟัง ดังนี้

"ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์"ขั้นที่ ๔ (สัตตาวาสที่ ๔) เป็น"ภพ"ภายในโดยตรง สำเร็จความเป็นสัตว์ อยู่ในภพ เรียบร้อยแล้ว ก็เหมือนขั้นที่ ๓ จึงมีแต่ "นามกาย" (กายที่เป็นนามธรรมล้วนๆ) เช่นกัน ดังนั้น เมื่อเจาะจงถึง "ความเป็นรูปพรหม" โดยแท้ จึงหมายถึง สัตว์ที่ไม่เกี่ยวกับ รูปร่างกาย ภายนอก ไม่นับเอาวัตถุภายนอก หรือความหยาบ ที่เกี่ยวข้อง ภายนอก ซึ่งแตกต่างจาก สัตตาวาส ขั้นที่ ๒ ที่ยังเกี่ยวกับ ภายนอกอยู่

เพราะฉะนั้น ในภพของ"สัตว์พวกที่ ๔" อันเป็น"ตติยฌานภูมิ"นี้ จึงเป็นตัวตนของ "รูปพรหม" โดยเฉพาะ เช่นพวกที่ ๓ รูปพรหมขั้นนี้ ก็หมายเอาสัตว์ที่มี "กาย" เป็นนามธรรมล้วนๆ คือ มี "นามกาย" หรือมี "กาย" เป็น "นาม" องค์ประชุม (กาย) ที่เรียกว่า"พรหม"ขั้นนี้ จึงเป็น "นามกาย" หรือ "นามรูป" แท้ๆอย่างเดียวกัน ก็คล้ายกับ "รูปพรหม" ขั้น ๓ นั่นแหละ ฉะนี้เอง ที่กล่าวว่า "สัตว์ขั้นนี้ "มีกายอย่างเดียวกัน" นี่ว่ากันด้วยเรื่อง ของ "สิ่งที่ถูกรู้" (รูป) อันเรียกในที่นี้ว่า "กาย"

ส่วนที่ว่า "สัตตาวาสที่ ๔" นอกจากจะมี"กาย"อย่างเดียวกันแล้ว ในเรื่องของ "สัญญา" หรือ ในภาคของ "นาม" ยังมี "สัญญา" อย่างเดียวกัน อีกด้วย ก็หมายความว่า ใน "ตติยฌานภูมิ" หรือ "ฌานที่ ๓" นี้ มี "ความกำหนดหมายกันลงไปที่ "ความรับรู้ หรือ ความรู้สึก" (นาม) ก็ เป็น "อย่างเดียวกัน" คือ จิตสามารถทำ "ความพึงใจ" (สุภ) มั่นคงอยู่ได้สำเร็จ หรือ สามารถทำ "จิตดีงาม" (สุภ) มั่นคงอยู่ได้สำเร็จ ไม่ว่า "ฌานจิต" จะเป็นอย่างไร คุณภาพของ "ความสว่าง หรือแสง หรือรัศมี" จะดีน้อยดีมาก ก็มี "ความพึงใจ" (สุภ) หรือแม้จะไม่ดีด้วยซ้ำ ก็ยังสามารถมี "ความพึงใจ" (สุภ) เป็น "อย่างเดียวกัน" สัญญาในความเป็น "รูปพรหม" ขั้นนี้ จึงมี "อย่างเดียวกัน" ทั้ง ๓ ฐานะนั่นเอง

ความเป็น"รูปพรหม" ๓ ฐานะของ "สัตตาวาสที่ ๔" นั้น ก็ได้แก่

(๑) พรหมปริตตสุภา ซึ่งหมายถึง "ความพึงใจ" (สุภ)ในผลที่ได้ เมื่อเริ่มเป็นฌานที่มี "ความสว่าง หรือ แสง หรือรัศมี" แม้จะแค่ เพิ่งมีน้อยๆ (ปริตต) ก็ตาม จิตนั้นก็มี "ความพึงใจ" ในภพแห่ง "แสงสว่าง หรือ รัศมี" ที่ได้นั้น

(๒) พรหมอัปปมาณสุภา หมายถึง "ความพึงใจ" (สุภ) ในฌานที่มี "ความสว่าง หรือ แสง หรือ รัศมี" นั้นอยู่อย่างเดิมนั่นเอง แม้แสงสว่าง หรือรัศมี จะมีมาก หาประมาณมิได้ (อัปปมาณ) เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็เป็นเรื่องของแสง ของรัศมี ย่อมต่างกันไปได้ ตามที่ได้รู้มาแล้วใน "สัตตาวาสที่ ๓" หรือ "ทุติยฌานภูมิ" ซึ่งก็ต้อง แตกต่างกันไปตามที่ "แสงสว่าง" (อาภา) มันจะเป็น จะมี ก็เข้าใจดีแล้ว ว่ามันมีได้ "ต่างกัน" ดังนั้น "ความกำหนดหมาย" (สัญญา) ในประเด็น "ความพึงใจ" (สุภ) ก็คงมีอย่างเดิม เป็น "สัญญา" อย่างเดียวกัน คือ "ความพึงใจ" (สุภ) แม้ความพึงใจ จะมากบ้าง น้อยบ้าง ก็ไม่ได้ไปกำหนดหมาย ในประเด็นนั้น เพราะ ไม่ได้เรียนรู้ ในรายละเอียดของ "กายในกาย.. เวทนาในเวทนา.. จิตในจิต.. ธรรมในธรรม" หรือ "ปรมัตถธรรม" อย่างมี "วิชชา" หรือมี "ญาณทัสสนะ" ตามที่ชาว "อเทวนิยม" ฝึกเพียร เรียนรู้กัน ชาว "เทวนิยม" จึงไม่สามารถ "กำหนดหมาย" อะไรได้ละเอียดมากมาย

แต่ที่กำลังสาธยายความสู่กันฟังนี้ เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด ของพระพุทธเจ้าต่างหาก แล้วพระองค์ ก็ทรงสอน สัตวโลก อาตมาเรียนรู้ ตามปฏิบัติ ให้รู้แจ้งตาม จึงสามารถรู้ได้ว่า ชาว"เทวนิยม" เขามี"ความกำหนด หมาย" (สัญญา) อย่างใด แล้วก็เอามาแจกแจง สู่กันฟังว่า เขายังเป็น "สัตตาวาส" อยู่ด้วยประการอย่างไรๆ ดังที่ได้อธิบาย อยู่ในขณะนี้ ส่วนตัวชาว "เทวนิยม"เอง หรือชาว "สัตตาวาส" (แม้ชาวพุทธก็เป็นสัตตาวาสได้) นั้น เขาเองไม่ได้รู้ ดังที่กำลัง สาธยาย ให้ฟังนี้ดอก หากยังไม่มีภาวะ "ปรมัตถ์" จนสามารถมีญาณ รู้ญาณเห็นที่แท้จริง ก็ยังไม่สามารถรู้แจ้งได้

(๓) พรหมสุภกิณหา ก็หมายถึง ผู้มีฌานที่สูงขึ้นซึ่งหมายถึงพรหมที่สูงกว่าขั้นที่ ๒ นั้นแน่นอน ก็ต้องเป็น ผู้ที่เก่งกว่า ความเป็นพรหมขั้น "อัปปมาณสุภา" ยิ่งขึ้น ไปอีก ท่านผู้รู้ทั้งหลาย จึงแปล "พรหมสุภกิณหา" ว่า "เทพพวกที่มีแสงสว่างรุ่งโรจน์ หรือ พวกมีลำรัศมี งามกระจ่างจ้า" ซึ่งก็คงหมายถึง "แสงสว่าง หรือรัศมีที่ล้นเหลือ เหนือชั้นกว่า ความสว่าง กระจ่างจ้า ที่หาประมาณมิได้" (กว่าพรหมอัปปมาณสุภา) นั้นแหละ ยิ่งๆขึ้นไปอีก

ความจริงนั้น "อัปปมาณสุภา"ก็คือ "พวกที่มีแสง สว่างงามกระจ่างจ้า หาประมาณมิได้" มันก็เป็นที่สุดแล้ว เพราะมันจะสว่างรุ่งโรจน์ หรือ จะกระจ่างจ้า ขนาดไหน ถ้ามันถึงขั้น "อัปปมาณ" มันก็สว่างรุ่งโรจน์ -สว่างกระจ่างจ้าที่สุด จนต้องกล่าวว่า "หาประมาณมิได้" (อัปปมาณ) แล้ว แล้วมันจะ "กระจ่างจ้าเกินกว่า หาประมาณมิได้" ไปอีกอย่างไร อีกตรงไหนกัน

ผู้รู้หรือโบราณาจารย์จะแปลอย่างนั้น หมายเอาอย่างนั้น ก็เป็นภูมิจริง ที่ท่านได้ ท่านมี ของท่าน สำหรับ ของอาตมานั้น ก็เห็นตาม ที่มีที่เป็น ของอาตมาว่า ความเป็นพรหมระดับ "สุภกิณหา" นี้ คือ เป็นพรหมที่ยึด "ภพ" ได้เก่งจริงๆ อารมณ์ของผู้ยึดตาม "ความกำหนดหมาย" (สัญญา) เดิม โดยกำหนดหมายเอา "ภพแห่งความพึงใจ" (สุภ) นั่นเอง อย่างเดียวอย่างเดิม ยึดได้แข็งแรง ยึดได้ไม่เปลี่ยนไป แม้ "แสงสว่างหรือรัศมี" จะน้อย (ปริตต) จะมากหาประมาณมิได้ (อัปปมาณ) จะไม่คงที่ หรือ จะแปรไปเป็น "ไม่สว่าง" จะมัวจะคล้ำ จะดำ (กิณหา) ไปอย่างไรก็ตาม ก็ยังมี "ความพึงใจ" (สุภ) อย่างเดียวอย่างเดิม

นี้คือ ความเก่งขึ้นของผู้ที่สามารถในการปฏิบัติทาง "ฌาน" ขั้นสูงขึ้นไปอีกจริง ถือว่า "อารมณ์ฌานมั่นคง" ซึ่งก็ยังเป็นแบบ "เทวนิยม" ยังไม่ใช่แบบ "อเทวนิยม" จึงยังเสพอารมณ์ "ยินดีพึงใจ" อยู่ได้แค่นั้น เป็น "ภพ" เป็น "ชาติ" นั่นคือ "อาวาส" (ที่อยู่) ของชาว "สัตตาวาส" หรือ ชาว "เทวนิยม"

ชาว"เทวนิยม" ยังไม่รู้แจ้งรู้จริงใน "จิต..เจตสิก..รูป.. นิพพาน" เพราะไม่มีทฤษฎีปฏิบัติ ที่เรียนรู้ "กายในกาย.. เวทนาในเวทนา.. จิตในจิต.. ธรรมในธรรม" จึงไม่สามารถรู้ "ความพึงใจน้อยลง" หรือ "ความพึงใจมากขึ้น" อันเป็น "ความไม่เที่ยง - ความเป็นทุกข์" และที่สุด "ความไม่เป็น ตัวตน" ของอาการทางจิต ที่มีความต่าง (ลิงค) ทางเวทนาอารมณ์ หรือมันมี "นามรูป" ที่แตกต่าง กันไป โดยสามารถรู้ "นามรูป" ดังกล่าวนั้นได้ด้วย "อาการ-ลิงค-นิมิต-อุเทศ" ซึ่งผู้มี "ญาณทัสสนะ" หรือ "วิชชา ๙" ตามแบบ "อเทวนิยม" หรือ ตามแบบของพุทธ ก็จะสามารถ รู้แจ้ง ในอารมณ์ "สุภ" ทั้งหลายนั้น อย่างละเอียด กระจะกระจ่าง และสามารถ จะละล้าง หรือ ปลดปล่อย ปลงวาง อารมณ์ต่างๆนั้นได้ อย่าง ถูกตัวตน ถูกภาวะต่างๆของมันได้ ชนิด แม่นคม ชัดลึก หากสามารถ ก็หมดสิ้น "ภพ" จบ "ชาติ" ถึงที่สุดทีเดียว

สำหรับชาว"เทวนิยม" หรือแม้แต่ชาวพุทธที่ยังเป็น "สัตตาวาส" อยู่นั้น จึงยังไม่สามารถล้าง "ภพ" จบ "ชาติ" ก็คงเป็นผู้มี "ภพเป็นที่อยู่" ชื่อว่า "สัตตาวาส" อยู่นั่นเอง

ดังนั้น สัตว์ที่มี"กาย"เป็น"รูปพรหม"อย่างเดียวกัน และมี"สัญญา" (ความกำหนดหมาย) อย่างเดียวกัน แม้จะสูงมาได้ถึงขั้น "พรหมสุภกิณหา" ปานฉะนี้ ก็ยังเป็น "สัตตาวาสที่ ๔" หรือ ยังเป็น "สัตว์" ที่ยังมี "ภพเป็นที่อยู่" ด้วยประการอย่างนี้แล

๕. สัตว์พวกหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่เสวยเวทนา เช่น เทวดาผู้เป็นอสัญญีสัตว์

สัตตาวาสที่ ๕ นี้ ก็ยังเป็นสัตว์ที่มี"ภพ" ที่เรียกว่า "อสัญญีภพ" หรือ "ภพของผู้ไม่มีสัญญา"

"อสัญญีภพ"หรือผู้เป็น"สัตว์"ที่ยังยึด"ภพอสัญญี" ก็คือ ผู้ทำตนให้ "ไม่มีการกำหนดรู้" หรือผู้ "ไม่มีสัญญา" หรือผู้ "ไม่มีความรู้สึก" (ไม่เสวยเวทนา) อันเป็นลักษณะของ "ความดับ" ชนิดหนึ่ง ซึ่งชาว "เทวนิยม" เห็นจริงเชื่อจริง กันว่า "อสัญญี" คือ "ความดับ" โดยหลงกันถึงขั้นว่า เป็น "การดับกิเลส" ไปโน่นเลยก็มี แต่ที่จริงคือ "การดับความรู้สึก" (ดับเวทนา) หรือ "ดับความกำหนดรู้" (ดับสัญญา) ลงไปเท่านั้น ไม่ให้ตนมีความกำหนดรู้อะไร ไม่รับรู้อะไร ไม่รู้สึกอะไรเลย จะอยู่ในท่านั่ง หรือท่านอน หรืออยู่ในท่าไหนก็ตาม ขณะ "ดับ" นั้น ก็นิ่งดิ่ง ไม่รับรู้อะไร ไม่รู้สึกอะไร ไม่กำหนดรู้อะไรเลย อยู่ใน "ภพ" หรืออยู่ใน "ภวังค์"

กล่าวคือ ผู้ที่เรียนมาหรือรู้มาว่า จะต้องสร้าง"ความดับ" (นิโรธ) ให้เกิดในจิต แต่เพราะ ยังไม่รู้จัก "ความดับ" อย่างสัมมาทิฏฐิ หรือยัง "อวิชชา" อยู่ ก็เลยทำ "ความดับ" ให้เกิดในจิต ไปตามประสา ของผู้ยังไม่รู้จัก "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน" แบบอเทวนิยม หรือ แบบโลกุตระ ที่สัมมาทิฏฐิ โดยไม่รู้ว่า อะไรควรดับ อะไรไม่ควร

การทำ "ความดับ" ของชาว "เทวนิยม" หรือชาวพุทธก็ตาม ผู้ยังไม่สัมมาทิฏฐิ ส่วนใหญ่ ก็จะเข้าใจว่า "ความดับ" หรือ "นิโรธ" คือ "การดับสัญญาดับเวทนา" ลงไป ซึ่งหมายเอาว่า "ดับความกำหนดรู้ (สัญญา) หรือ ดับความรู้สึก (เวทนา)" ทั้งหมดของตน ลงไปดื้อๆ จึงพยายาม ทำการ "สะกดจิต" เข้าไปในภวังค์ โดยเรียก การกระทำนั้นว่า "ทำฌาน" หรือ "ทำสมาธิ" แบบสามัญ ตามที่รู้กันอยู่ทั่วไป

ซึ่งการ "ทำสมาธิ" ดังกล่าวนี้ บางคนทำได้ถึงขั้น "ฌาน ๔" มีอารมณ์สงบสุดขั้น "อุเบกขา" คือ จิตวางเฉยไม่ดูดไม่ผลัก ไม่เอนไม่เอียง ไปข้างไหนได้แล้ว แล้วก็เห็นว่า ตนยัง "มีความรับรู้ หรือ ยังมีความรู้สึก หรือยังมีความกำหนดรู้อะไร ต่ออะไรได้อยู่" (ยังมีสัญญา หรือ ยังมีเวทนา) และ เพราะได้เรียนมาอย่าง "มิจฉาทิฏฐิ" คือ ยังไม่ "สัมมาทิฏฐิ" แบบพุทธ หรือ แบบอเทวนิยม โดยเข้าใจว่า หากยังไม่ "ดับสัญญา และ ดับเวทนา" ให้หมด "ความรู้สึก และ หมดความ กำหนดรู้" ก็ยังไม่ใช่ "นิโรธ"

ดังนั้น ผู้ยังมีความรู้สึกแม้จะเป็น "ความวางเฉย" (อุเบกขา) เขาก็ยังรู้สึกว่า ยังไม่ใช่"ความดับ" (นิโรธ) เพราะยังมี "ความรับรู้อยู่ หรือ ความรู้สึกตัวอยู่" จึงยังไม่ใช่ "ความดับ" แน่ๆ ผู้เข้าใจ เช่นนี้ จึงมุ่งทำ "ความดับ" ก็คือ ทำให้มันไม่เหลือความกำหนดรู้ (สัญญา) และ ไม่ให้เหลือ ความรู้สึก (เวทนา) นั่นเอง ตามวิธีที่ตนได้เรียนรู้มา

"นิโรธ"ชนิดนี้ ยังไม่ใช่"นิโรธ"สำคัญของพุทธ "นิโรธ" ของพุทธแท้นั้น ชื่อว่า "สัญญา เวทยิตนิโรธ" ซึ่งมีการ "ดับเวทนาดับสัญญา" จริง แต่ "ดับ" อย่างมีนัยสำคัญ "ดับ" อย่างมีขั้นตอน มีเป้าหมาย ชัดเจน ซึ่งต้องรู้จัก "สัญญา" รู้จัก "เวทนา" อย่างละเอียดว่า สัญญาใด เวทนาใด ควรดับ สัญญาใด เวทนาใด ไม่ควรดับ ไม่ใช่ดับเอาดื้อๆ อย่างพาซื่อ ดับไม่ให้มีความกำหนดรู้ (ดับสัญญาไปทั้งหมด) หรือ ดับไม่ให้มีความรู้สึก (ดับเวทนาไปทั้งหมด) "สัญญาเวทยิตนิโรธ" มิใช่ "ความดับ" อย่างพาซื่อเช่นนั้น

มีชาวพุทธ แม้แต่ปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รู้อีกมาก ที่เข้าใจว่า "สัญญาเวทยิตนิโรธ" อันเป็นภาวะ "นิโรธ" พิเศษสุดยอด ที่มีในศาสนาพุทธ ศาสนาเดียว เป็นความตรัสรู้ของ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะนี้ คือ การดับสัญญาและเวทนา ไปทั้งหมด อย่างพาซื่อ แล้วกลายเป็น ท่อนวัตถุนิ่งๆ เท่ากับทำคน ให้มีค่าเท่ากับ ก้อนดิน ก้อนหิน ไม่มีความรับรู้ ไม่มีความกำหนดรู้ อะไรไปเลย

นี่คือ "นิโรธอย่างพาซื่อ" อันเป็น"ความรู้ง่ายๆ" ไม่ต้องอาศัยพระปัญญาตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า ใครๆ ก็พอรู้กันได้ไม่ยาก และ การปฏิบัติฝึกฝน ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ซับซ้อนลึกซึ้งอะไร อาศัยความอุตสาหะ พากเพียร อย่างเดียว ก็สามารถทำได้

การทำให้จิต "ดับ" ลงไปดื้อๆแบบพาซื่อ จิตไม่รับ ไม่รู้อะไรได้แล้ว ไม่กำหนดรู้อะไรเลย "ภายในจิต ดับนิ่งสนิทเฉย" จึงเท่ากับ "ลดหน้าที่แท้ของจิต" ลงไป ให้มัน "ไม่ทำหน้าที่ของจิต" อย่างสามัญ ซึ่งจิตสามัญคือ "ความเป็น ธาตุรู้" โดยไปสะกดมัน หรือ มีวิธีจัดการกับมัน ให้มัน "ไม่รับรู้ - ไม่กำหนดรู้" ลักษณะดั่งนี้แล เมื่อทำได้สำเร็จ ก็คือ "อสัญญีสัตว์" หรือ สัตว์ที่ไม่มี สัญญา ไม่เสวยเวทนา ชื่อว่า "สัตตาวาสที่ ๕"

"รูปพรหมของเทวนิยม" คือ ทิฏฐิที่เรียกว่า "สัตตาวาส" ฉะนี้เอง เมื่อยิ่งฝึกฝน ยิ่งอบรมสั่งสม ย่อมสั่งสมความเชื่อ ความปักใจมั่น (confidence) ลงไปทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นชาติ ไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลง หรือ ละล้าง ความเห็น ความเชื่อ ให้มาสู่ "สัมมาทิฏฐิ" ได้ยากแสนยาก แม้จะได้พบศาสนาที่เป็น "อเทวนิยม" หรือเป็นพุทธ ได้ศึกษาสัทธรรม ได้ปฏิบัติ ก็ไม่ใช่ว่า จะบรรลุ รู้แจ้ง เห็นจริง จนรู้แจ้งความเป็น "สัตตาวาส" ต่างๆ ที่กล่าวถึง มาแล้วนั้น ได้ถ่องแท้กันง่ายๆ

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๐ มกราคม ๒๕๔๖)