หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ สมณะโพธิรักษ์ ต่อจากฉบับที่ ๑๔๙


"เจโตวิมุติ"หมายความว่า จิตของผู้ปฏิบัติได้ถูกล้างกิเลสออกไปๆๆ จนหมดเกลี้ยงจริง จากจิต กระทั่ง ถึงขั้นวิมุติ ถ้า "จิตของเรากิเลสหมด" แล้ว แต่เราเองก็ยังไม่รู้ว่า "ตนหมดกิเลส" อย่างนี้ ก็ยังไม่สมบูรณ์

แบบพุทธแท้ที่สัมมาทิฏฐินั้น ต้องรู้จัก"ตัวตนของ กิเลส" (สักกายะ) ที่จะจัดการกับมัน อย่างถูกตัวมัน ชัดเจน และกำจัด "ตัวตนของกิเลส" นั้นชนิด "ตามรู้ตามเห็นของจริง" (อนุปัสสี) ไปตลอดสายว่า ปฏิบัติถูกต้อง และ สามารถทำให้กิเลส มันลดมันจางลง (วิราคะ) อย่างตามรู้ ตามเห็น (วิราคานุปัสสี) แม้ถึงขั้น "กิเลสาสวะดับก็ตามรู้ตามเห็น" (นิโรธานุปัสสี) จากนั้นก็มี "ประสบการณ์ ทบไปทวนมา อนุโลมปฏิโลม หลากหลายแบบก็ตาม เห็นความชัดเจน ยืนยันว่า ตนดับกิเลส ได้แล้วจริง" (ปฏินิสสัคคานุปัสสี)

ตนเองต้องรู้แจ้งเห็นจริง "จิตที่กิเลสหมดแล้ว" นั้นด้วย "ปัญญา" หรือด้วย "ธาตุรู้ของตน สัมผัสกับ สภาพที่หมดกิเลส นั้นของตน" (ญาณผุสนา) การรู้ความจริงตาม "ของจริง" ที่ตนได้ ตนมีจริงนี้เอง เรียกว่า "ปัญญาวิมุติ"

สรุปอีกที "ปัญญาวิมุติ" ก็คือ ผู้ปฏิบัติที่ได้ "วิมุติ" นั้นแล้ว ตนเองก็ต้องเป็น "ผู้มีญาณ" (ญาณิก) เองด้วย ซึ่ง "ญาณ "ที่ตนมีนี้ ก็คือ "ความรู้ของตนที่เข้าไปรู้วิมุตินั้นๆ" ของตนนั่นเอง

นั่นคือ การบรรลุธรรมของพุทธนั้น ตนเองต้อง "กระทำ" ที่ภาษาทางธรรมก็ว่า "กรรม" นั่นแหละ เมื่อได้ "กระทำ" จนมีผลสำเร็จ ตนก็ได้ "พึ่งกรรมที่เป็นผลแล้ว" นั้นๆ ถ้าตน "ไม่ทำ" จนมีผลจริง เป็นของตน ตนก็ "ไม่มีที่พึ่ง" อันเป็นสิทธิที่แท้จริง ก็ต้องไปพึ่งผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ซึ่งเป็น การเบียดเบียนผู้อื่น หรือ ต้องเป็นหนี้ ไม่เรียกว่า "หนี้" ก็เรียกว่า "เป็นบุญคุณ"

ที่สำคัญคือ "ผลของกรรม" (วิบาก) ที่เป็น "นามธรรม" อันสั่งสม สังเคราะห์กัน แล้วๆเล่าๆ ซับซ้อน ลึกล้ำ จนไม่สามารถ จะคำนวณได้ (อจินไตย) ซึ่งล้วนเกิดจาก "กรรมเป็นของของตน" (กัมมัสสกะ) ไม่มีขาดหก ตกหล่น ไม่มีรั่ว ไม่มีซึมหนีหาย ไม่มีระเหย ไม่มีระเหิด ทุกกรรมที่ทำ ล้วนเป็นมวล ที่มีผลสังเคราะห์กันและกัน แล้วเป็น "พลังกรรม"นั้นๆ ให้เจ้าของกรรมต้อง รับมรดกนั้น เป็น"ที่พึ่ง" (สรณะ) ของตนไปทุกชาติ (กัมมทายาท) ไม่รับ "มรดกกรรมของตน" ก็ไม่ได้ ต้องรับ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร "ผลวิบากของกรรม ที่ทำดีทำชั่ว มีฤทธิ์ มีอำนาจ ต่อตน ทั้งสิ้น" (อัตถิ สุกตทุกกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก) สัจจะของกรรม ที่ตนทำทั้งนั้น ที่พาเกิดพาเป็น (กัมมโยนิ) ไม่ใช่มีใครบันดาล ให้เกิดอย่างนั้น อย่างนี้ ตนเองแท้ๆที่ "สร้างเชื้อแปลงพันธุ์ ให้แก่ตนเอง ด้วยกรรมของตนเอง" (กัมมพันธุ)

สรุปแล้ว จะเห็นเด่นชัดว่า "ตนเองกระทำทุกอย่าง ให้แก่ตนเองพึ่ง" (กัมมปฏิสรณะ) ทั้งสิ้น ตลอดกาลนาน จนกว่าผู้นั้นจะ "ดับภพจบชาติ" ของตนเอง ด้วย "ปรินิพพาน" ไปเป็นที่สุด จึงจะสูญสิ้น ไม่ต้องวนเวียนมาเกิดอีก ในวัฏสงสาร

จะเห็นได้ว่า "กรรม"นั้นเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นสำหรับชีวิตของแต่ละคนทีเดียว

เพราะ "การกระทำใดๆทั้งสิ้น เมื่อตนทำลงไป ต้องเป็นของตน จึงเป็นทรัพย์ของตนแท้ๆ" (กัมมัสสกะ) จะแบ่งให้คนอื่นคนใด ก็ไม่ได้ บิดพลิ้วเป็นของคนอื่น ก็ไม่ได้ เบี้ยวสัจจะไม่ได้ เด็ดขาด

"การกระทำใดๆทั้งสิ้น ตกเป็นมรดกของตนครบครัน ตนต้องเป็นทายาท การกระทำ ของตน ทั้งหมด" (กัมมทายาท) ไม่มีตกหล่น เรี่ยหก ไม่มีระเหย ระเหิด

"การกระทำใดๆทั้งสิ้นนั่นแหละ เป็นเหตุให้เกิดพาเราเกิด พาเราเป็น" (กัมมโยนิ) เราจะเกิด มารวย เกิดมาจน หรือ เกิดมาดี เกิดมาชั่ว เกิดมาสวย เกิดมาขี้เหร่ เกิดมาพิการ เกิดมา สมประกอบ ก็เพราะกรรม หรือ เพราะการกระทำต่างๆ ของตนๆ ที่เราทำไว้เองทั้งสิ้น

"การกระทำใดๆที่ทำลงไป คือ การสร้างเชื้อ สร้างพันธุ์ก่อเผ่าให้แก่ตนเอง" (กัมมพันธุ) เราจะมี เผ่าพันธุ์ เป็นมนุษย์ หรือมีเผ่าพันธุ์ เป็นอมนุษย์ จะมีเผ่าพันธุ์สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน หรือ เป็นสัตว์สวรรค์ จะเป็นปุถุชน หรือ เป็นอาริยชน ก็เพราะกรรม เพราะการกระทำ ของเราเอง กระทำสั่งสมมาทั้งสิ้น

"การกระทำใดๆทั้งหมด ล้วนสั่งสมกันเข้าเป็นที่พึ่งให้แก่ตน" (กัมมปฏิสรโณ) คนเราจึงมี "กรรม" โดยแท้ เป็น "ที่พึ่ง" นี้คือ สัจจะของ "อเทวนิยม"

เมื่อ..."กรรม"ที่ตนกระทำ ล้วนเป็นของตน
"กรรม"ที่ตนกระทำ ตนก็ต้องเป็นทายาทรับทั้งสิ้น
"กรรม"ที่ตนกระทำ พาเราเกิด พาเราเป็น
"กรรม"ที่ตนกระทำ ก่อเชื้อ สร้างพันธุ์ให้ตนเอง
และ..."กรรม"ที่ตนกระทำ เป็น"ที่พึ่ง"ของตน

"ตนจึงเป็นที่พึ่งของตน" ตามความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสว่า "อัตตา หิ อัตตโน นาโถ" เพื่อประกาศแก่โลกให้รู้ว่าพุทธศาสนาไม่พึ่ง"เทวะ" เป็น"อเทวนิยม" ด้วยประการฉะนี้

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๐ มกราคม ๒๕๔๖)