หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

สายใยแห่งโลกคามาภิวัตน์
- วิมุตตินันทะ -


ปัญหาโลกาภิวัตน์ เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันมากขึ้น หลังจากไทยเรา ประมาทโลดแล่น ไปตามกระแส ตั้งพักใหญ่ กระทั่งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจตกเหว นรกทันตา เราถึงค่อยเห็นทุกขสัจ กันขึ้นมาบ้าง ดังภาษิตว่า ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

ผลกระทบโลกาภิวัตน์ นับว่าช่วยขยายตัวเศรษฐกิจ ความยากจนเป็นตัวเงินลดลงแต่ไม่เท่าเทียมกัน มากขึ้น พร้อมกับเสี่ยงภัย ความผันผวนสูงขึ้น

เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวก็จริง แต่เป็นภาพลวงตา ด้วยผลเสียมากกว่าได้ ดังเช่นการลงทุน จากต่างประเทศ เขาต้องเอาเปรียบให้ได้มากกว่า เรานึกว่า การอ่อยเหยื่อ สารพัด ยกเว้น ประเคนให้ เพื่อดึงดูด เงินลงทุน จากนอก เข้ามาทำกำไรก่อนโตกลับไป อันนี้เป็น ความฉลาดแท้ ฉลาดเทียมอะไรกันแน่ ต่างด้าวหน้าโง่ หรือตัวเองงมโง่ ที่ส่งเสริมให้ใคร มาเอาเปรียบเต็มๆ สดๆ มันจำเป็นสำคัญต้องทำปานนั้น แท้แน่หรือ

* ชาวนาหายหัว หมอนวดบานเบิก
ยิ่งทุ่มทุนขยายเศรษฐกิจเกินเฟ้อ และไกลปัจจัยสี่ ทรัพยากรปัจจัยการผลิต ถูกดูดไป สนองตัณหา บริโภคนิยม ของชุมชนเมือง ผู้มีอำนาจซื้อสูง ทั้งในเมืองบางกอก หรือ เมืองนอกประเทศ จึงไม่ประหลาดอะไร ที่คนจนในหมู่บ้าน แหล่งผลิตอาหารแท้ๆ กลับต้อง ขาดแคลนอาหารหัวโต ในขณะที่คนเมือง เช่นกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร พากันกินสูบ ดื่มเสพ เสียล้น จนเป็นโรคอ้วนพุงป่องพุงปลิ้น เบาหวานกินและโรคคนรวยต่างๆ ตามฝรั่ง เพราะกินเกิน จากปากไม่มีวินัยด้วยใจตะกละ ไม่รู้จักจัดระเบียบชีวิต แม้กระทั่งทิ้งขยะ ยังไม่เป็นเลย การศึกษาไทยทำอะไรกันอยู่

ยิ่งเงินทองกักตุนอยู่กับคนเมือง ตามวิสัยมือยาวสาวได้สาวเอา เศรษฐกิจเมืองกรุง ที่ขยายตัว เพื่อทำ เม็ดเงินกำไร จึงปรากฏแหล่งผลาญเงินบานเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะบันเทิงอบายมุข นักร้องนักเต้น หมอนวดล้นหลาม ขณะที่ไร่นาหาคนช่วยดำนาเกี่ยวข้าวแทบไม่ได้ เรื่องไร้สาระ กลับเอาภาระ เป็นวักเป็นเวร เรื่องแก่นสารเพื่อเลี้ยงตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรีถาวรกลับทิ้งขว้างไม่เอาถ่าน

อนึ่ง แม้ว่ารายได้เป็นตัวเงินเหมือนจะเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้น ค่าครองชีพกลับถีบตัว บานตะไท ยิ่งกว่า สารพัดสิ่ง ต้องควักเงินซื้อ แทนที่จะหยิบฉวยเสาะหามากินใช้ได้เปล่าๆเหมือนแต่ก่อน วายวอดหมดแล้วนี่ กุ้งหอยปูปลาในน้ำ ผักหญ้าสมุนไพรไม้ซุงในป่าทุ่งไม่เหลือ เมื่อต้นทุน ล้วนพุ่งขึ้นหมด เบ็ดเสร็จ รายได้แท้จริง ของคนจนจึงตกวูบอย่างน่าใจหาย จากหลายสิบ ปีก่อน

ฉะนั้น ยิ่งพัฒนา คนจนยิ่งจน พร้อมกับปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะคนจนๆ มือสั้นตีนสั้น ตะเกียกตะกาย เต็มเหนี่ยวสุดแรงเกิดอย่างไร ไม่มีวันเทียบกับทุนหนา ที่ใช้เงินทำเงิน เป็นอัตราทวีคูณ ช่องว่างของรายได้ จึงยิ่งถ่างกว้างไม่มีทางหยุดยั้งไว้ได้ ผลพวงของ การขยายตัวเศรษฐกิจ ตามกระแสโลกาภิวัตน์ เลยหนีไม่พ้น กลายเป็นอุ้มคนรวย ช่วยถีบ คนจน แม้ไม่ต้องเจตนา แต่โอกาสจัดสรรมันลงตัว ให้ฉกฉวยได้ห่างกัน ปานฟ้ากับดิน ลางคนรวยหมื่นล้าน ชั่วข้ามคืน ขณะที่หลายล้านคน ทนหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน หากินทั้งชาติ ยังไม่เหลือเงิน สักหมื่นสักแสนเลย คนทำเงินกับคนทำงาน ช่างผิดกันลิบลับเช่นนี้เอง แต่เชื่อไหมว่า คนมีเงินถัง ยังต้องกินข้าวจากน้ำมือ ของชาวนาหน้าโง่นั่นเอง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเหตุปัจจัยที่มาของมีจนจะหลายนัย หากมองในองค์รวม ของความมั่งคั่ง ทั้งหมด ที่มีอยู่ประมาณหนึ่ง การที่คนใดรวยล้นขึ้น เท่ากับว่ามีคนอื่นๆ ต้องจนลง โดยเฉพาะ คนรวยทั่วไป คงไม่ได้มั่งมี เพราะดูดเงินจากคนรวยๆ ด้วยกัน ที่สำคัญ ไปดูดซับเอา จากคนจน นั่นแหละ ให้เขาต้องจน ถาวรต่อไป หลายคนคงไม่ทันคิดดอกว่า คนมีร่ำรวยด้วยคนจน...

* การค้า : ให้คุณค่าหรือฆ่าคุณ
อยากให้มองย้อนหลังไปสมัยก่อนหน้ายุคพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ตามก้นฝรั่ง ซึ่งหลอกเรา ให้หลงผิดว่า เมืองไทย เป็"นประเทศด้อย พัฒนา ทั้งๆ ที่เมืองไทยแต่ก่อน หรือแม้ตอนนั้น ก็ยังอยู่ดีมีสุข ไม่ทุกข์ร้อนสาหัส ทั่วหัวระแหงเหมือนทุกวันนี้ ตัวอย่างเช่น น้ำใจคนไทย และแดนดิน แสนอุดมสมบูรณ์ จูงใจให้จีนแขกฝรั่ง เข้ามาพึ่งใบบุญ โดยไม่ต้องป่าวร้อง เหมือนที่หลอกล่อ นักท่องเที่ยว มาเป็นเหยื่อเวลานี้

วัฒนธรรมภูมิปัญญาไทย นำพาสร้างสรรสังคมกันมาแต่โบราณด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพด้วย เกษตรไร้สารพิษ ทุกคนดำนาเกี่ยวข้าวเป็น ไม่ต้องจ้างแรงงาน แต่ลงแขก เอาแรงกัน ข้าวผ้ายาบ้าน ไม่ขาดแคลน ต่างพึ่งตนเองเป็น มีเหลือเฟื้อเอื้อ แบ่งปัน เพื่อนบ้าน อีกต่างหาก ธรรมเนียมแบบนี้ ฝรั่งเคยมีปัญญาไหม ถึงไม่ประหลาดอะไร ที่คนไทย มักค้าขาย ไม่ค่อยเป�็น เพราะถนัดให้กันไปให้กันมา แบ่งกันกินใช้ จึงคุ้นเคยแบ่งปัน มากกว่าที่ จะทำเล่ห์ ฟันกำไร

ในเมื่อสังคมไทยเก่าก่อน ต่างมีข้าวของเหลือกินเกินใช้อะไรบ้าง จะขายแลกเปลี่ยนก็หลวมๆ ไม่เพ่ง เอาเม็ดเงิน เป็นตัวตั้ง หิริโอตตัปปะเป็นภูมิคุ้มกัน เห็นการเอาเปรียบ เป็นของ น่าละอายอดสูใจ ด้วยเศรษฐกิจ ที่พึ่งตน จนให้คนอื่นพึ่งพาได้ ฐานะคนมีที่ทำกิน จึงไม่ค่อย รวยล้น หรือ ยากจนกว่ากันมากนัก คิดดูง่ายๆ กว่าใครจะรวยกว่าเพื่อนบ้าน คงต้องขยัน ทำไร่นา เพิ่มผลผลิตอีกสองสามเท่าตัว อย่างเก่ง ก็รวยขึ้นหน้า ประมาณนั้น

ที่จะรวยล้นล้ำหน้าเป็นพันล้านหมื่นล้าน คงไม่มีชาวนาหน้าไหน เก่งกาจทำข้าว จนรวยเงิน เละเทะได้ปานนั้น จะมีก็แต่นักทำเงิน ในธุรกิจสมัยใหม่ ที่อาศัยการยักย้ายถ่ายเท เอาของน้อย ไปต่อของมาก แบบแทงพนัน หรือปั่นหุ้น ปั้นน้ำเป็นตัวลมๆ แล้งๆ แล้วรวยผิดปกติ จากวิสัยนักทำงาน สร้างสรร ผลผลิต สำหรับนักทำเงิน ที่รวยลัดแบบนี้ มีให้ดูถมไป

ดังนั้น การพลิกผันจากวิถีไท ทิ้งขว้างเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองจากที่เคยทำมาหากิน โดยทำข้าวผ้า ยาบ้าน กินใช้เอง กินน้อยใช้น้อย นุ่งเจียมห่มเจียม ก็เปลี่ยนมาทำมาหาเงิน เพื่อซื้อทุกอย่าง ที่ขวางหน้า มาผลาญพร่าเมามันฟุ้งเฟ้อ ตามลัทธิบริโภคนิยม แบบฉบับ อเมริกันชน ผลพวงแห่งการเต้น ตามคลื่น ตื่นตามกระแสโลกาภิวัตน์ ระลอกแล้ว ระลอกเล่า เราก็เจอดีขม จมนรก จนได้เป็นเสือลำบาก ทุกวันนี้

เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม สอนให้เราหลงผิดมโหฬารอันหนึ่ง คือ การแบ่งงานกันทำ เพื่อชำนาญ พิเศษ การถือปฏิบัติ ตามทฤษฎีนี้ จนสุดโต่ง ส่งผลให้คนหลุดขาด จากการยืน ด้วยขา ของตนเอง หันไปยืมจมูก คนอื่นหายใจ มันจะวิเศษ เป็นไทแก่ตัว ตรงไหนไม่ทราบ!?

เฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตอย่างขนานใหญ่ เช่นเกษตรเชิงเดี่ยว คือ ปลูกเพียงอย่างสองอย่าง เพื่อป้อนตลาด กว้างไกล

การทุ่มเททำเฉพาะอย่างอันตัวเอง ไม่ต้องกินใช้เลย ทำเพื่อแลกเม็ดเงินก้อนโตกลับมา แล้วค่อยเอาไปซื้อ ทุกอย่าง ที่จำเป็นต้องกินใช้อีกทีหนึ่ง ดูภาพรวมหลวมๆ เหมือนจะดี เพื่อประหยัดต้นทุน จากความชำนาญ พิเศษ หรือการผลิตขนานใหญ่

แต่ผลประโยชน์จากการรวมศูนย์การผลิตเชิงนั้นแง่นี้ ต่อให้มีจริง ผลดีก็ใช่ว่าจะกลับคืน สู่ผู้ผลิต หรือ ผู้บริโภค ตามควร เพราะเกิดช่องว่าง ให้ธุรกิจ ต้องเข้ามาจัดบริการนำสินค้า จากผู้ผลิตไปถึงมือผู้บริโภค การตลาด ที่ฟันกำไรสูงสุด จึงสบช่องฉวยโอกาสทอง ตักตวงกำไร ส่วนนี้เอาไว้เองเต็มๆ ทำนอง ตาอิน กะตานา หากุ้งปลามาได้คนละอย่าง แลกเปลี่ยน กับมือตนเอง ไม่เป็น ต้องส่งผ่านตา อยู่คนกลาง ช่วยบริหารให้ที

ด้วยเหตุนี้ คงพอมองเห็นชัดแจ๋วว่า การทำของอันตัวเองไม่ได้กินใช้ และกินใช้ ของตัวเอง ไม่ได้ทำ เท่ากับตกเป็นเบี้ยล่าง กินน้ำใต้ศอกเขา โดนเอาเปรียบ ขูดรีดทั้งขึ้นล่อง เอาของไปขาย ก็โดนกด ได้เงินมา ซื้อกินใช้ ก็โดนฟัน ครั้นจะไม่ขาย ไม่ซื้อด้วย ก็ตายอีก

นี่คือผลพวงของการแบ่งงานกันทำเพื่อเม็ดเงินลูกเดียวจนเลยเถิด กลายเป็น พวกหาเลี้ยง ตัวเอง ด้วยปัจจัยสี่ไม่เป็นแล้ว เช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ลองถูกจับไปทิ้งไว้ในป่า มีหวังหาข้าวผ้า ยาบ้าน กินใช้เองไม่เป็น สู้สัตว์นก หนู กระต่าย กระรอก ลิง ช้าง กลางป่า ไม่ได้เลย มันไม่รู้จักทิ้ง สัญชาตญาณ การหาเลี้ยง ชีพด้วยเศรษฐกิจพึ่งตนเอง ส่วนคนมักดูถูก เศรษฐกิจพอเพียงว่า กระจอกพาจน ทั้งชาติ มันต้องหันไปทำเศรษฐกิจเพื่อตลาด ถ้ายิ่งฉลาด มันต้องเล่น เศรษฐกิจ การเงินไปโน่น คนแขวนชีวิต ไว้กับใบหุ้น จะสุขเย็นยั่งยืน ไร้กังวล เท่าคนหาข้าวน้ำ ทำกับมือสดๆ เลี้ยงตัวได้หรือ...

* อีกหนึ่งฟากฟ้า
นวัตกรรมหลุดโลกทุนนิยม
น่าจะถึงเวลากลับตาลปัตร ปฏิวัติวิสัยทัศน์ ไทยกันเสียใหม่ ให้มันหลุดโลกเต็มๆ ไปเลย เหมือนอย่างที่ผู้นำ ชอบคิดใหม่ ทำใหม่ แต่อะไรที่ดูออกแผลงๆ เข้ารกเข้าพง หวังว่าท่าน คงต้องฟัง ผู้รู้อื่นด้วยสัมมาทิฐิกันบ้าง ขืนทำตัว เป็นคุณพ่อรู้ดี ไปเสียหมด มันอดเป็นห่วงไม่ได้ ยิ่งใครคิด จะทำบริษัท ประเทศไทย เหมือนอย่างบริษัท เสือเศรษฐกิจ ตามแห่กระแส โลกาภิวัตน์ อันนั้น มันไม่น่าจะใช่เป้าหมาย อันพึงประสงค์ สร้างสรรวิถีไท ที่ลงตัว

คงต้องยอมรับอย่างน่าชื่นตาบานว่า ภาพลักษณ์ของธุรกิจ มักออกเป็นเชิงลบ โน้มไปทาง น่าเกลียดน่าชัง ทั้งน่ากลัว หนักขึ้นเรื่อยๆ พอบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องธุรกิจนะครับ เหมือนต้อง แยกส่วน ขาดลอยจากน้ำใจ หรือมิตรภาพแท้ๆ เงินทองเป็นของบาดใจ ได้เปรียบ เสียเปรียบ ไม่ว่ากัน ทีใครทีมัน ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้า เอ็งอย่าร้อง ทำนองนั้นไหม ยิ่งธุรกิจการเมือง เรื่องการค้า ต่างชาติ แม้จะเปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า หนีไม่พ้นวังวน สงครามเลือดเย็น ของสัตว์เศรษฐกิจ เสือสิงห์กระทิงแรด เขี้ยวลากดิน ทั้งนั้น

ในเมื่อการค้า กลายเป็นอาวุธมหากาฬ เพื่อดูดเลือดกินเนื้อเถือหนัง จากคนเดินดิน ชนหน้า ชนตาดำๆ กันนี่แหละ มันจำเป็นอะไรนักหนา ถึงต้องร่วมวงไพบูลย์ กับบรรดา เสือเศรษฐกิจ ทั้งหลาย ซึ่งมีกติกา ชอบธรรม ฉบับทุนนิยมว่า ธรรมดาปลาใหญ่ ต้องกิน ปลาเล็ก ปลาเล็ก มิสิทธิ์กินปลาน้อย ประสาผู้แข็งแรง ย่อมรอด ผู้อ่อนแอ ปลงเสียเถอะ ยอมตายก่อน ตามระเบียบ

ไฉนปลาเล็กปลาน้อย ไม่ชวนกันจัดระเบียบโลกใหม่ว่า ปลาใหญ่ควรอุ้มชูปลาเล็ก ผู้แข็งแรง พึงเอื้ออาทร ผู้อ่อนแอ...เมตตาธรรมสำนึกดี เช่นนี้ย่อมไม่มีในหัวของเสือเศรษฐกิจ แต่สำหรับ คน เป็นสัตว์เมือง ที่ต้องรวมตัวกัน อยู่เป็นหมู่เหล่า ขืนขาดแคลนไร้น้ำใจ เป็นต้องขายขี้หน้า สัตว์โขลง พวก ลิง ค่าง ช้าง ม้า ในป่าดง ซึ่งมันยังคงอยู่ เป็นหมู่ฝูง ไม่อุตริ กินเลือดเนื้อ ใครๆเลย

ธุรกิจการค้ายักษ์ใหญ่น้อยทั่วโลก ต่างหลงมิจฉาทิฐิ แย่งกันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ติดอันดับ พญาเสือ ตัวต้นๆ เพียงเอ่ยถึงเสือก็หนาวขนพองสยองเกล้า สมเพชตัวเอง บ้างไหมว่า เราเป็น สัตว์สังคม ที่ไม่ยอมเปลี่ยน สัญชาติจิตวิญญาณคน จะไปอยู่ ในซอกมุมไหน ในสังคมโลก ดีเอ่ย...

เคราะห์ดีที่ผู้นำรัฐบาล และหมู่นักวิชาการ ชักจะเห็นทุกข์ ของการพึ่งพา การค้าต่างชาติ มากเกินไป ไหนจะเสียเปรียบ ไหนจะเสี่ยงภัย ผันผวนโกลาหล

ในวงสัมมนา เรื่องเผชิญความท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์ จัดโดยสถาบันวิจัย เพื่อพัฒนา ประเทศไทย เมื่อกลางเดือน ธ.ค.45 ผู้เขียนของหยิบยกประเด็นสรุป ขึ้นมาอ้างถึง พร้อมข้อวิจารณ์ ส่วนตัวดังนี้

๑.การรวมกลุ่มภูมิภาค และทวิภาคีเพื่อพลังเจรจาต่อรองในระดับสากล

ใครเอาเปรียบที่ไหนเมื่อไหร่ ทุกคนไม่ชอบไม่อยากรักใคร่ด้วย เราจึงต้องไม่ยอมหลงเสียเปรียบ โดยเสียรู้ แต่อาจเสียเปรียบอย่างเต็มใจ ในกรณีที่เห็นว่าควรเสียสละ กับคู่ค้า ที่เอื้ออาทรกัน ความพยายาม รวมกลุ่มย่อย สมานฉันท์ต่างๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อคอยทัดทาน สมาคม คนรวย อย่างองค์การค้าโลก ไม่ให้เหิมเกริม ตามอำเภอใจนัก

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่จะรวมหัวผู้ทำข้าว เพื่อยกราคาแพงขึ้น ๓๐% หรือ ที่กำลังรวมตัว ผู้ทำยาง เพื่อดันราคา ไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๓๐ บาท อันนี้ไม่อยาก ให้เชื่อว่า เป็นแนวทาง ที่ดีเยี่ยม ยั่งยืน จนน่าชื่นชม เหมือนกลุ่มโอเปค รวมหัวกุมอำนาจ น้ำมันไว้ได้ เลยคิด จะเอาอย่างเขา

ต่อให้ทำได้ดังฝัน มันก็คงเสียผลตามมา จะจัดสรรอย่างไรถึงจะพอเหมาะ ไม่เบียดเบียนเขา เราเอง ก็อยู่รอด

ธรรมดา การขึ้นราคาสินค้าให้แพง มันยัดเยียดให้คนกินใช้ต้องเดือดร้อนขึ้น พอต้นทุนเขาแพง เมื่อเราต้อง ซื้ออะไร จากเขาบ้าง หนีไม่พ้น ต้นทุนของเขา จะวกกลับเป็นเราจ่าย ยิ่งหากเขา เล่นวิธีเดียวกัน ตอบโต้บ้าง จะเป็นฉันใด ถึงไม่อยากให้ลืม กฎแห่งกรรม ทุกฺขโต ทุกฺขฐานํ ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว

๒.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล

ข้อนี้ อยากให้ใช้สติเจาะลึกองค์รวมของการค้าโลกว่า มันกลายเป็นสงครามสัตว์เศรษฐกิจ ธุรกรรม ดำเนินไปด้วยแรงจูงใจ ขี้โลภและโมหะ ต่างแย่งกันเอาเปรียบ เพื่อล่าเหยื่อ ผู้คุยตัวว่า เป็นชาติจำเริญ ด้วยอารยธรรม รุดหน้าไกล ไฉนถึงหลงทาง กลับไปหา สัญชาตญาณดิบ อีกเล่า การแข่งขันกัน เป็นเสือ เศรษฐกิจน้อยใหญ่ ตัวเล็กตัวน้อย คงตายก่อน หรือพิการ เลี้ยงไม่โต ในที่สุด จะเหลือเสือใหญ่ ขนาดไหน เมื่อเหยื่อหายหมด ตัวเอง ก็ต้องหมดท่า ตายอย่างเขียด เหมือนกัน

ในทางกลับกัน ลองหันหน้ามาแข่งกันเสียสละแทนเอาเปรียบดูบ้างปะไร อะไรจะเกิดขึ้น เรามีของดีร าคาถูกอันไหน ค่อยเลือกให้ค่อยเฟ้นผู้รับกับคู่ค้า ทวิภาคี ด้วยไมตรีอัธยาศัย น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ต่างเต็มใจ เสียเปรียบพอเหมาะ โดยการเสียสละที่พอดี แบบนี้ต่างรอด ด้วยกันทั้งคู่

คงไม่ต้องปวดพระเศียรเวียนเกล้าดังที่ดึงดันฟาดฟ'นกันอยู่เวลานี้

๓. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาค

หลังวิกฤต ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมากสัดส่วนของการส่งออกต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๔๐ ก่อนวิกฤติ มาเป็นร้อยละ ๖๖ ในปัจจุบันก็ตั้งเป้ากันว่าจะลดให้เหลือร้อยละ ๕๕ ในห้าปี

เป็นความจริงที่เศรษฐกิจไทย ไปแขวนชะตากรรมไว้กับการส่งออกเป็นหลัก มันคงไม่สนุกเลย จึงน่ายินดี ที่รัฐบาล หวังเน้นตลาดภายในให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะให้ถูกต้อง เราควรทำ เศรษฐกิจ พึ่งตน ข้าวถั่วงาสมุนไพร จนพอเพียง กระทั่งเหลือกินเกินใช้ ค่อยคิดส่งออก ไปเอื้ออารี กับเพื่อนบ้าน สร้างมิตรใกล้ไกล

อนึ่ง มักจะมุ่งมั่นวาดฝัน ให้เศรษฐกิจขยายตัว ห้าปีข้างหน้า กะว่าจะให้ขยายตัวร้อยละ ๖ แต่เมื่อเพิ่ม ผลผลิตแล้ว ยิ่งผลาญพร่าเป็นเงาตามตัว มันจะเหลืออะไร...?

นับว่าแปลกที่ประเทศ ย่อมไม่ผิดอะไรกับครอบครัว มัวจ้องแต่จะหารายได้เพิ่มท่าเดียว ไฉนไม่ยักคิด อุดรูรั่วเช่นอบายมุขเสียก่อน เรามองข้ามการประหยัดไปอย่างน่าเสียดาย ประหยัดลง ๑ บาท เท่ากับได้เพิ่ม ๑ บาททันที ข้อนี้คงลืมกันสนิท แต่ละคน มีทางลดรายจ่าย ได้อีกมากมายจนเกินคาด แม้นี้ก็ควรจัด เป็นวาระแห่งชาติ อันสำคัญ โดยเฉพาะ ถ้าเราไม่เข้าใจ ในหลักวิถีไท ด้วยภูมิปัญญาศาสนา เพื่อสร้าง วัฒนธรรม ปลูกฝังค่านิยม เสียใหม่ เราย่อมเป็นทาสบริโภคนิยมจมดักดานต่อไป

๔. การปรับตัวฐานเศรษฐกิจชุมชน
หลังช่วงที่ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจตัวจริงปรากฏชัดเด่นเหนือฟ้าเมืองไทยคือข้าวผ้ายาบ้าน ปัจจัยสี่ ในภาคเกษตร มีพอเพียงเลี้ยงให้เราไม่ต้องอดอยากปากแห้งตาย เคราะห์ร้าย จึงพอทน นับเป็นบุญ ล้นฟ้าล้นแผ่นดิน

เศรษฐกิจปัจจัยสี่ ยังเพิ่มพูนได้บานเบียง โดยเฉพาะไทย ควรเป็นแดนส่งออก อาหารเลี้ยงโลก รายใหญ่

รัฐบาลกำลังเร่ง หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ น่าถามท่านก่อนว่า เศรษฐกิจพอเพียง สอบผ่าน แล้วหรือ น่าเสียดาย ที่รัฐบาล ยังทำเหมือน ไม่ค่อยประสีประสา กับการพึ่งตน เฮ็ดอยู่เฮ็ดเกิน ท่านคงชอบฟุ้งฝัน จะพาปั้นเม็ดเงิน ลอยลมตามถนัด

หนึ่งตำบล
ร้อยผลิตภัณฑ์ น่าจะต้องทำให้ได้ก่อนอื่น ต่อเมื่อมีกินใช้เหลือเฟือ ครบเครื่อง พึ่งตัวเองแล้ว ค่อยมาว่ากัน ว่าจะทำอะไรส่งออกนอกชุมชน จนออกนอกเขตประเทศไหนๆ

รวมความตามกระแสโลกาภิวัตน์ ออกชัดเจนแล้วว่าดีอย่างเสียหลายอย่าง ยิ่งไร้พรมแดน พร้อมไร้พรหมวิหารด้วย เสร็จเลย เราจึงเห็นการค้าโลก เป็นสงครามเศรษฐกิจ เดือดร้อน ไปทุกหัวระแหง เขตประเทศไม่อาจขวางกั้น เขตคามก็ถูกรุกราน กินรวบหมด หายนธรรม แบบนี้ กลายเป็นปกติวิสัย แสนธรรมดา ของสมาคมสัตว์เศรษฐกิจ อันชื่อว่าองค์การค้าโลก (WTO) นั่นเอง นี่คือวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งบรรดาเสือเศรษฐกิจใหญ่น้อย ต่างชื่นชอบหรือไม่ ก็จำนน โลกช่างก้าวไกลเหลือเชื่อ อีกหน่อยเดียว คงจวนถึงโลกาวินาศแล้ว ตอนนี้ค่อยๆ ทยอย บรรลัยไป

ประเทศไทยเคยอุตริริอ่านเป็นเสือตัวที่ห้ากะเขาบ้าง จนพังฟองสบู่แตก บัดนี้ยังไม่วาย เข็ดเขี้ยว ทั้งๆ ที่น่าจะเห็นทุกข์ ของการวางเพลิง เผากันไปเผากันมา สัมมาทิฐิ แห่งวิสัยทัศน์ น่าจะเกิด ฉุกคิดใหม่ได้แล้ว บ้างไหม

ถึงเวลาไทยควรจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในเวทีโลกแห่งการคบค้าสมาคม เพื่อแบ่งปัน หยดน้ำมือ หยาดน้ำใจ แข่งกันให้ แข่งกันเสียสละ ให้มันหลุดโลกนิยมบ้างซี แล้วจะรู้สึก วิเศษขนาดไหน

ดังนั้น เรามาจัดระเบียบชีวิตเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่เขตคามหมู่บ้านน้อยใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจ จุลภาคทั้งหลาย พึ่งตนล้นเหลือ ด้วยข้าวผ้า ยาบ้าน เศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ย่อมเข้มแข็ง ยั่งยืน ทั้งต่อทอดเกื้อกูล ภูมิภาคแห่งโลก

ขบวนการสานสายใยแห่งโลกคามาภิวัตน์ (Glocalization) ดังประสงค์ คงชวนฝัน ทำให้เป็นจริง แพร่หลายยิ่งขึ้น ในแต่ละประชาคาม

คำตอบอยู่ที่ชุมชนคนมีศาสนาบุญนิยม


(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๐ มกราคม ๒๕๔๖)