หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เขาเลือกทางเดินของชีวิต ด้วยปัญญาใฝ่รู้ ค้นคว้าหาความจริง และ ปฏิบัติพิสูจน์ด้วยความเข้าใจ ก้าวย่างอย่างสมศักดิ์ศรี ตามรอยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


สมณะซาบซึ้ง สิริเตโช บันฑิตแท้...บัณฑิตทางธรรม

ประวัติ
ชื่อ-นามสกุลเดิม นายมาณพ เตชศรีสุธี
ชื่อ-นามสกุลใหม่ นายซาบซึ้ง รักพงษ์อโศก
สมญา สมณะซาบซึ้ง สิริเตโช
เกิด ๔ มีนาคม ๒๔๙๖
บิดา นายลี่กัง แซ่แต้
มารดา นางอาย้ง แซ่ตั้ง
การศึกษา ประถม-มัธยม : ร.ร.เทเวศน์ศึกษา
ปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๐

* ภูมิหลัง
อาตมาเป็นคนกรุงเทพฯ พ่อแม่เป็นคนจีน มาจากเมืองจีนทั้งคู่ อยู่ที่นั่นลำบาก จึงอพยพ มาอยู่เมืองไทย ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ก็เหมือนคนจีนส่วนใหญ่ ที่ขยันเก็บหอมรอมริบ มีลูกทั้งหมด ๑๑ คน อาตมาเป็นคนที่ ๑๐ ลูกทุกคน จึงต้องช่วยกัน ทำมาหากิน พ่อค่อนข้างดุ และมีอำนาจ ลูกๆ จะกลัว ส่วนแม่ เป็นสาย เมตตา ใจดี เวลาลูกเจ็บป่วย จะดูแลลูก และหาน้ำหายาให้กิน เอาใจใส ่ในเรื่องอาหาร เช็ดเนื้อ เช็ดตัวให้ มันเป็นความอบอุ่น ความผูกพัน ซึ่งในเวลาธรรมดา แม่ก็ไม่ค่อย เอาใจหรอก แต่ตอนป่วย จะเห็นได้ชัด จนบางครั้ง คิดอยากจะป่วยบ่อยๆ เสียด้วย

บรรยากาศครอบครัวที่ลำบาก ไม่ค่อยมีเงินมีทอง เราจะช่วยเหลือกันมาก บวกกับสภาพสังคม สมัยนั้น ยังไม่ฟุ้งเฟ้อ เพราะฉะนั้น ชีวิตหลังจาก ทำงานในบ้านเสร็จ จากเย็นถึงค่ำ เราจะมีเวลา กินข้าวด้วยกัน ได้พบปะ พูดคุยกัน สนุกสนานมีความอบอุ่นมาก แต่ต่อมา เมื่อครอบครัว สบายมากขึ้น รวมทั้งพี่ๆ ก็โตขึ้น ต่างมีครอบครัว แยกออกไป งานที่ทำก็เจริญขึ้น มีงานเพิ่มมากขึ้นๆ การพบปะพูดคุย กินข้าวร่วมกัน ก็ชักน้อยลง เพราะต่างคน ก็มีความชอบ ของตัวเอง แต่ความรัก ในหมู่พี่น้อง ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ ความรู้สึก อบอุ่น เป็นกันเอง ลดน้อยลง ซึ่งก็ทำใจยอมรับสภาพ ความเป็นจริง ของเศรษฐกิจสังคม ที่ทำให้ ชีวิตของเรา เปลี่ยนไป และเรา ก็บังคับไม่ได้

* การเกิดขึ้นของโรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ บางขุนพรหม ที่หลายๆ คนรู้จัก
พี่ชายคนโต ชื่อชวนไชย เตชศรีสุธี เกิดที่เมืองจีน ตามพ่อแม่มาอยู่เมืองไทย ความรู้แค่ป.๔ แต่เป็นคน มีฝีมือ มีความละเอียดลออ เมื่อตั้งใจ ทำอะไรก็ทำจริง ซึ่งแต่เดิม มีอาชีพรับถ่ายรูป ต่อมามีความสนใจ เรื่องการพิมพ์ สั่งซื้อเครื่องพิมพ์ จากต่างประเทศ เป็นเครื่องเล็กๆ สมัยนั้น เมืองไทยยังไม่มี ระบบ การพิมพ์ แบบออฟเซ็ท ยังคงเป็นแบบฉับแกละ และแบบเรียงตัวตะกั่ว ก็พยายาม ฝึกพิมพ์กัน โดยแทบจะไม่มีความรู้มาก่อน อาศัยความขยัน ขวนขวายซื้อหนังสือ ภาษาอังกฤษ มาค้นคว้า ศึกษา ดูงาน จากที่ต่างๆ ปล้ำอยู่กับเครื่อง จนพอรู้เรื่อง ตอนหลังที่บ้าน จึงมีอาชีพเพิ่ม คือการพิมพ์ ภาพดาราขาย จากแต่ก่อน รับถ่ายรูป ติดบัตรทั่วๆ ไป ไปๆ มาๆ ก็เข้าไป เกี่ยวข้อง กับวงการบันเทิง กับพวกดารา เมื่อก่อนมีคนอยากได้รูปดารา ก็อัดรูปดาราขาย แต่ต้นทุนสูง เพราะ สมัยก่อน รูปต้องทำ ทีละแผ่น แต่การพิมพ์ จะพิมพ์ได้ทีละมากๆ และราคา ก็ถูกลง เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับยุคนั้น

เราเริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ จนกระทั่งค่อยๆ กลายเป็นโรงพิมพ์ขึ้นมา ชื่อโรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ ตอนแรก รับพิมพ์ภาพ จากโรงหนัง เขาจ้างพิมพ์ เพราะต้องการภาพมากๆ สำหรับไปแจก ให้คนดูหนัง เป็นการโฆษณา ต่อมาก็รับพิมพ์ ภาพดารา และ ทำหนังสือด้วย ทำอยู่ ๒ ฉบับ เป็นหนังสือเกี่ยวกับ ดาราต่างประเทศ ชื่อ "สตาร์พิคส์" (starpics) และ หนังสือดาราไทย ใช้ชื่อ หนังสือว่า "ดาราภาพ" ตอนหลัง หนังสือดาราภาพเลิกไป เพราะช่วงนั้น กระดาษ ในเมืองไทย ขาดแคลน จึงต้องเลือกทำหนังสือ เพียงเล่มใดเล่มหนึ่งเท่านั้น

* การศึกษาที่เรียนอย่างมีเป้าหมาย
อาตมาไม่ถึงกับใฝ่การเรียน หรือรักเรียน เพียงแต่รู้สึกว่าการเรียนทำให้ได้รู้อะไรอีกมาก ที่เราไม่รู้ และ โดยสภาพบังคับ ในอาชีพ ที่บ้าน ซึ่งมีการทำโรงพิมพ์ ทำหนังสือ เขาก็อยากให้เราเรียน ทางสาขา วิชาชีพ ที่สามารถช่วยงานบ้านได้ ดังนั้น พอจบมัธยมปลาย จึงเลือกเรียนคณะ ที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องศิลปะ เพื่อจะได้ นำความรู้ มาใช้กับงานโรงพิมพ์ที่บ้านได้ ตอนนั้น อาตมาเลือก คณะ สถาปัตย์ อันดับหนึ่ง และคณะครุศาสตร์ ไม่ใช่ว่าอยากเป็นครู แต่เพราะเห็นว่า มีวิชาศิลปะ อยู่ด้วย ในขณะที่เรียน จึงได้ใช้ วิชาที่เรียน ทำงานควบคู่ไปด้วย ตอนนั้น อาตมาก็เป็น ตัวหลัก คนหนึ่ง ของครอบครัว จนเรียนจบ แต่จริงๆ แล้วเรียนจบ หรือไม่จบ ก็ไม่แตกต่างกันหรอก เพราะมีงานทำ เป็นปกติอยู่แล้ว จบมาก็ทำงานเต็มวัน เท่านั้นเอง อยากเรียน ก็เรียนไป ถ้าไม่อยากเรียนต่อ ก็พัฒนาการทำงาน ให้ดีขึ้น เจริญขึ้น

* ความใฝ่ฝันที่มิอาจเป็นจริง
เรียนศิลปะก็มีความตั้งใจอยากจะเป็นศิลปิน ร่วมกับเพื่อนๆ วาดภาพ จัดนิทรรศการตามที่ต่างๆ ช่วงนั้น ได้พบชาวอโศก คำว่าพบ ในที่นี้ หมายถึงได้มารู้เรื่อง การปฏิบัติธรรม ของชาวอโศก และ รู้สึกคาใจอยู่ว่า การปฏิบัติอย่างนั้น ทำได้จริง หรือ ได้ดีจริงหรือ เส้นทางนี้ เป็นความสุขสบาย จริงหรือ บอกตรงๆ ว่ายัง ไม่ค่อยเชื่อ พอดีตอนที่เรียน ก็มีแฟนอยู่ แต่คิดว่า ขอทำเรื่อง ที่คาใจนี้ ให้เสร็จๆ ไปก่อน จึงตั้งใจว่า จะลอง ปฏิบัติธรรมดู โดยไม่มีใครรับรู้ทั้งสิ้น จะลองกิน อาหาร มังสวิรัติ ถือศีล ๕ ละอบายมุข ต่างๆ กะว่า ทำสักระยะหนึ่ง อาจจะปีสองปี ลองดูซิว่า ดีจริง อย่างที่ว่าหรือเปล่า

* บทพิสูจน์ที่ได้รับการยืนยัน

พิสูจน์ตามที่สมณะบอกว่า ถ้าใครปฏิบัติอย่างนี้ได้ชีวิตจะดีขึ้น มีความสุขกว่าเดิม ตอนนั้น อาตมาคิดว่า เราเองก็มี ความสุข ดีอยู่แล้ว บางทีก็เที่ยวกับเพื่อน กินเหล้า สูบบุหรี่ ดูหนัง ฟังเพลง มีแฟน ตอนนั้นเพื่อนๆ เคยเถียงกับสมณะชาวอโศกเลยว่า ใครจะสุขกว่ากัน ท่านก็ว่า ชีวิตแบบท่าน มีความสุขกว่า

เมื่อได้ลองทำก็เป็นจริง ไม่ใช่เป็นแบบความเข้าใจ แต่เป็นความรู้สึกซึ่งคนที่ทำได้ หมายถึง เมื่อเราตั้งใจ ทำจริงๆ จะได้สัมผัส ถึงความรู้สึก นั้นเอง คือเหมือนเรา จะบรรยายว่า แกงชามนี้ อร่อยอย่างไร มีรสหวาน มันเผ็ด อย่างไร แต่คนกินจริงๆ เท่านั้น จึงจะรู้รสจริงนั้น ว่าเป็นอย่างไร เมื่อได้สัมผัสรสจริง ก็ยอมรับ จากการได้สัมผัสความสุข ในทางธรรม ความอยากที่เป็นกิเลสต่างๆ ก็ลดลง รับรู้ความสุขของกายและ ใจที่เบาขึ้น จึงไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะสมณะบอกว่า ความสุข ยิ่งกว่านี้ ยังมีอีก ทำให้คิดว่า น่าจะจริง เพราะที่ลองทำมาได้ระดับหนึ่ง ยังจริงขนาดนี้เลย

* เส้นขนานของความรัก
ตอนที่เริ่มถือศีล ๕ มีแฟนอยู่ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอคิดจะขยับฐานสูงขึ้นเช่นศีล ๘ ก็ต้องงดเว้น เรื่องแฟน ไม่ควรไปข้องแวะ ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ตอนหลัง ก็ตัดสินใจ ขอพักเรื่องแฟนไว้ก่อน บอกกับ แฟนว่า ขอเวลาตรงนี้ แต่ก็ไม่อยากเห็นแก่ตัว ดังนั้น ในช่วงที่เรามา ทดลองปฏิบัติ ถ้าเขาคิดว่า อย่างเรานี่ ไม่น่าเชื่อใจแล้ว หรือเขาพบคนที่ดีกว่า จะไปมีแฟนใหม่ ก็เป็นเรื่อง ที่เขาจะทำได้ สำหรับเรา ขอปฏิบัติธรรม ที่ยังคาใจ และอยากจะลองใ ห้มันสิ้นเรื่อง สิ้นราวไป

พอเลิกจากแฟนมาปฏิบัติธรรมก็ได้ผลจริงยิ่งทำให้เราชัดมากขึ้น ส่วนทุกข์จากความรัก อาตมา เห็นตั้งแต่ บอกเลิกกับเขาแล้ว เพราะว่าจริงๆ ก็ยังรักเขาอยู่มาก แต่เราอยากทดลอง เส้นทางนี้ ซึ่งเปรียบเสมือน น้ำกับไฟ นำมารวมกันไม่ได้ สมมติความรัก เหมือนไฟ การปฏิบัติธรรม เหมือนน้ำ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเอาไฟ ออกไปก่อน เพื่อที่น้ำจะได้ไม่เดือด หรือระเหย

* เอเสวมัคโค นัตถัญโญ

เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ คราวนี้ก็เห็นผลจริงๆ ว่าใจนิ่งขึ้นเป็นสุขขึ้น พอเราลดกิเลสลง ความเห็นแก่ตัว หรือ ความรักตัวเอง ของเรา ก็ค่อยๆ ลดน้อยลง ความที่เห็นแก่คนอื่นๆ ก็เพิ่มมากขึ้น และยิ่งเรา รู้ตัวว่า ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยิ่งอยากพัฒนาตัวเอง ขึ้นไปอีก ใครที่พัฒนาศีล มาอย่างถูกทางแล้ว จากศีล ๕ ก็ต้องมา เป็นศีล ๘ และศีล ๑๐ สูงขึ้นไปถึงศีลพระ แต่ไม่ใช่ว่า ปฏิบัติศีล ๘ แล้วกลับมาศีล ๕ ซึ่งแสดงว่า คนนั้นไม่สามารถ ที่จะปฏิบัติให้พอเหมาะ หรือถูกทิศถูกทาง เพราะถ้าประพฤติ ได้ถูกทางจริง และ ไม่มีวิบากกรรมหนัก ที่จะมาบั่นทอน รับรองว่า มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีลง นอกจาก ปฏิบัติแบบ เก็บกด ข่มเอาไว้ ปฏิบัติแล้ว ไม่มีความสุข ความสบายเลย อย่างนี้ก็ไปไม่รอด แต่ถ้าปฏิบัติได้จริง จะไม่เครียด จะมีความสุข คนที่สุขสบาย มีหรือ จะกลับไป หาความทุกข์ยาก ลำบากอีก นานวันเข้า ยิ่งอยาก ที่จะปฏิบัติ ให้สูงยิ่งๆ ขึ้น จริงๆ แล้วไม่ได้คิดบวช แต่พอปฏิบัติ ดีขึ้นๆ ก็ไม่มีทางอื่น ให้เลือก มีทางนี้ ทางเดียว เท่านั้น คือ ออกมาบวช ตอนนี้ก็บวชมาแล้ว ๑๘ พรรษา

* สารัตถะแห่งการบวช
คิดว่าการบวชเพียงแค่เป็นคนที่ตั้งใจดี มีสัมมาทิฐิ มีความชัดเจนในเรื่องการบวชในศาสนาพุทธ ตามที่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ การบวช ไม่ได้เป็นไปเพื่อ ลาภสักการะ เพื่อการมีบริวาร เพื่อความมี ชื่อเสียง แต่บวชเพื่อทำตัวเรา ให้เป็นคนดีขึ้น ทำกิเลสให้ลดลง เพียงแค่นี้ คนนั้น ถึงจะอยู่ ในสังคมไหน ก็จะเป็นส่วนดี ในสังคมนั้น เพราะจะช่วยให้สภาพแวดล้อม ทั้งคนที่ได้พบเห็น คนที่ได้ พูดคุยด้วย คนที่ได้ทำงานด้วย จะได้รับส่วนดีอันนี้ไปด้วย เพราะฉะนั้น โดยประโยชน์ มันเป็น ประโยชน์ แน่นอน อยู่แล้ว ทั้งแก่ตัวเอง และคนรอบข้าง ไม่ต้องพูดถึงสังคม ที่กว้างใหญ่ ออกไป เพราะการที่เรา จะช่วย สังคม รอบกว้างได้แค่ไหน อยู่ที่บารมี การฝึกฝน ของเรา ถ้าฝึกฝน ได้ดีมากขึ้นๆ จนมีบารมี มากพอ ที่จะเกื้อกว้าง ออกไปได้เท่าไร ก็เท่านั้น แต่ถ้าเกื้อไม่ออก บารมีเรา ยังน้อย ก็คงทำได้แค่ ช่วยคนรอบๆ ตัวเท่านี้ แต่อย่างน้อยคนรอบๆ ตัวเรา เขาก็จะได้มีความสุข จากการที่มีโอกาสคบคุ้น กับบุคคล ที่ดีอยู่แล้ว

* แบกรับภาระรับผิดชอบ
ผู้มาบวช คือผู้มาลดละกิเลสตัวเอง เพราะฉะนั้นงานนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก่อนเลย แต่โดยสภาพ ความเป็นจริง คนเราอยู่คนเดียว ในโลกไม่ได้ ยิ่งถ้าเข้ามาอยู่ในสังคมของชาวอโศก ที่อยู่กันเป็นหมู่กลุ่ม มีการดูแลซึ่งกันและกัน ใครทำอะไร ไม่เหมาะ ไม่ควร ก็ติงเตือนกัน เพราะฉะนั้น เพียงแค่ประเด็นนี้ ก็จะเห็นว่า เราเป็นประโยชน์แก่สังคมนั้น และ เมื่อเราได้อยู่ ในสังคมที่ดี สังคมที่ดีนั้น ก็เป็นประโยชน์ สำหรับเราด้วย คือมันเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน เรามีกิจกรรม กิจวัตร ที่ต้องฟังเทศน์ ฟังธรรม จากครูบา อาจารย์ หรือไม่ก็ศึกษา จากตำรับตำราบ้าง แม้แต่มี ภาคปฏิบัติ เช่น การเดินจงกรม หรือ ฝึกทำเจโตสมถะ ซึ่งเรียกกัน ทั่วไปว่า ทำสมาธิ การบิณฑบาต รวมไปถึง การทำงานที่เกี่ยวเนื่อง กับผู้คนในสังคม ซึ่งเมื่อ ปฏิบัติตัวเราได้แล้ว ก็ต้องช่วยเหลือ ผู้อื่นด้วย อาจจะเป็น การแนะนำ หรือ เทศน์แสดงธรรม อะไรต่างๆ นอกจากนี้ ก็ต้องมีสัมมาอาชีวะ คำว่า "อาชีพ" ในที่นี้หมายถึง พฤติกรรมหลัก ในชีวิตประจำวัน ของเรา

ในส่วนของอาตมา รับงานเกี่ยวกับการทำหนังสือซึ่งส่วนใหญ่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระไตรปิฎก อาจเพราะอดีต เคยทำหนังสือ เกี่ยวกับพวกดารา หนังสือจำพวกยั่วย้อม มอมเมาเขา แต่เดี๋ยวนี้ รู้แล้วว่า อย่างนั้นเราไม่เอา งานที่จับอยู่ส่วนใหญ่ ตอนนี้ จึงใช้ประสบการณ์ ความรู้ในอดีต หันมา ทำหนังสือ ที่เป็นธรรมะแทน คำว่าหนังสือธรรมะนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า พอเปิดมา จะเป็นเหมือน บรรยากาศ ของหลวงตาแก่ๆ มานั่งบนธรรมาสน์เทศน์เอื่อยๆ หนังสือธรรมะ ควรต้องประยุกต์ รูปแบบ ให้เข้ายุคสมัย กับผู้คน ให้เขาสนใจ และรับได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในขอบเขต ที่ประเมิน ประมาณว่า ไม่เสียธรรม แม้บางที เราจะพยายาม ให้มันทันสมัยบ้างก็ตาม

ผลจากการทำหนังสือ มันเป็นเหมือนการเทศน์หรือแสดงธรรม แต่เป็นการเทศน์ด้วยตัวหนังสือ ไม่ใช่ เสียงพูด ซึ่งบางคนอยู่ไกล ก็สามารถ ให้เขาฟังได้ ส่งหนังสือไปได้ เพราะฉะนั้น เราเผยแพร่ธรรมะ ทั้ง ๒ แบบ


* สิ่งล้ำค่าที่คงทนต่อการพิสูจน์
เริ่มแรกอาตมาไม่ได้สนใจพระไตรปิฎกเลย แต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาได้ฟังสมณะชาวอโศกพูดว่า พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้ทำดี อย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้มีคำถาม ขึ้นในใจว่า ท่านพูดเอาเองหรือเปล่า เพราะพระพุทธเจ้า ก็ไม่อยู่แล้ว จะหาใครมายืนยัน หรือมีอะไร ที่พอจะเป็นหลักฐาน ยืนยัน คำกล่าว เหล่านี้ ในที่สุด ก็ได้ข้อสรุปมาลง ที่พระไตรปิฎก ซึ่งคนส่วนใหญ่ ก็ยังยอมรับ จึงขอให้พี่ ช่วยซื้อ พระไตรปิฎกมาชุดหนึ่ง และตั้งใจว่า จะอ่านไปเรื่อยๆ ตอนนั้น ค่อนข้างจะอ่าน แบบจับผิด เช่น พระไตรปิฎก กล่าวอย่างนี้ ผู้ที่มาสอนธรรมะ ทั้งหลาย กล่าวจริง หรือตีความเอาเอง นั่นคือเป้าแรก ของการอ่าน

เมื่ออ่านๆ ไป และเทียบเคียงกับที่สมณะอโศกสอน ก็ยอมรับว่าท่านพูดตรง ไม่ผิดพลาด จนตอนหลัง ปรากฏว่า ไม่สงสัย ไม่เคลือบแคลงใจว่า สมณะอโศก ปฏิบัติตาม ที่พระพุทธเจ้า สอนจริง

แต่ก็ยังมีปัญหา ต้องเถียงกับคนที่ยังไม่เข้าใจอีกมาก เพราะคงมีไม่กี่รายหรอก ที่จะศึกษาค้นคว้า อ่านพระไตรปิฎก กันจริงๆ คราวนี้อาตมา จึงเกิดความคิดว่า จะช่วยสมณะอโศก ได้อย่างไร เพื่อจะได้ ไม่ต้องเถียงกับใครๆ ให้ลำบาก เช่น การเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากิน มังสวิรัติดีกว่า ที่จริงแทบ ไม่ต้อง เถียงเลย ถ้าได้อ่านพระไตรปิฎก ซึ่งมีพระสูตรมากมาย ที่พระพุทธเจ้า ทรงยืนยันว่า ไม่ควรฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต ทั้งไม่ฆ่าเอง และก็ไม่ส่งเสริม ให้ผู้อื่นฆ่าด้วย

เมื่อมีหลักฐานในพระไตรปิฎก เขาก็จะยอมรับง่ายขึ้น ตอนหลังจึงทำเป็นหนังสือออกมา ชื่อ "พระพุทธองค์ตรัส" โดยดึงเอา พุทธพจน์ ในพระไตรปิฎกบางส่วน มาเผยแพร่ รวมทั้งนำเอาชาดก ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ถึงเรื่องราว ในอดีตชาติ เพื่อยืนยันว่า ตราบใดที่คนเรายังมีกิเลส ก็ยังต้อง เวียนว่าย ตายเกิด และ วิบากกรรมมีจริง ทำกรรมอย่างไร ย่อมได้รับ ผลกรรม นั้นจริง เพราะคน เดี๋ยวนี้ ไม่เชื่อเรื่องกรรมกันแล้ว จึงนำมาเผยแพร่ เพื่อให้ผู้ที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง รับรู้ว่า พระพุทธเจ้า ตรัสเอาไว้ โดยมีหลักฐาน ชัดเจน ในพระไตรปิฎก

* ทัศนะต่อคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นพวกวัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาว ฉาบฉวยกันมากขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อน ที่สภาพสังคม มีความฟุ้งเฟ้อ น้อยกว่านี้ เมื่อน้อยกว่า ก็จะมีเนื้อหาแก่นสาร ที่เป็นสาระมาก แม้แต่ หนังละคร หรือการละเล่นต่างๆ ก็ยังมีสิ่งเป็นเนื้อหาสาระ ของชีวิตจริงๆ แฝงอยู่มาก แต่ทุกวันนี้ เหมือนหลุด ไปจากความดีจริง หลุดออกไปมาก จนกระทั่งกลายเป็น ขยะมลพิษ แก่สังคม แม้แต่ รายการทีวี ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือหนังละครหลายเรื่อง อยากถามว่า สร้างขึ้นมา ให้คนดู ได้อย่างไร เพราะเนื้อ หาสาระดีไม่มี มีแต่ยั่วย้อมมอมเมา เลอะๆเทอะๆ บ้าๆ บอๆ ไม่มีประโยชน์ คุณค่าอะไร แต่สร้างมาให้คนดู แล้วคนดู ก็ชอบเสียด้วย เพราะฉะนั้น คนในสังคม ก็จะมีปัญญา ที่อ่อนลง พวกเขา จะดูดซับ และเก็บเอา ความไร้สาระเหล่านี้ เข้าไปไว้ เป็นแบบอย่างมากขึ้น

วัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวในสังคมจึงแทบจะไม่มีการแสวงหาเอาเนื้อแท้ที่เป็นแก่นสารที่จำเป็นของชีวิต เพราะเขาเห็น แต่ความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นสิ่งไม่จำเป็นแก่ชีวิตมากกว่า แล้วก็ยึดถือ สิ่งเหล่านั้น เป็นหลักของชีวิต เป็นความสุขของชีวิต โดนหลอก ให้ยึดว่า เป็นสุข เราจะเห็นว่า แม้แต่นักเรียน นักศึกษา ก็มั่วสุมทางเพศกัน ขายตัวกันเกร่อ เพียงเพื่อให้ได้เงินทอง มาจับจ่าย ใช้สอย ตามที่ต้องการ ข้ออ้างที่มักบอกว่า เพราะความจนจึงต้องทำ ไม่มีสิทธิ์อ้างแล้ว แต่เป็น ความอยากทำตัวรวย เฟ้อมากกว่า การทำเช่นนี้ ไม่ใช่แก้ปัญหาความจน มันเป็นความมักง่าย อยากได้เงินมา ด้วยวิธีง่ายๆ อยากได้เงิน มาเร็วๆ เพื่อมาเสพสุข สมใจ สังคมยุคนี้ จึงฉาบฉวย ไม่มีหลัก ไม่มีแก่นสาร ยิ่งไม่ต้องพูดถึง การที่จะมา สนใจธรรมะ


* อนาคตของชาติ
จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ฝากอนาคตไว้กับพวกเขาหรอก หรือแม้อนาคตจะขึ้นอยู่กับคนจำนวนมาก เหล่านี้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าเราคิดว่า มีส่วนไหนที่จะช่วยให้ผู้คนได้รู้สัจธรรม รู้ความจริง เห็นประโยชน์จริงๆ ว่า ควรจะมีคนประเภท ที่มีศีลธรรม หรือ เป็นคนดี เพิ่มจำนวนมากขึ้น เราก็ต้อง พยายามยืนหยัด ช่วยกันทำ ทั้งยืนยัน ให้เหนียวแน่น เผยแพร่ สร้างหมู่กลุ่ม เท่าที่จะทำได้ แม้จะไม่มี ทางเทียบเท่า คนจำนวนมากได้ แต่อย่างน้อยๆ ก็ได้ช่วยประคับประคองไว้ ก็ยังดีกว่า ไม่ทำอะไรเลย

* รู้จักทุกข์เพื่อพ้นทุกข์
ที่จริงคนเราเห็นทุกข์อยู่แล้ว แต่เห็นทุกข์โดยที่เป็นความไม่สมใจ หรือ อยากทำอะไร แล้วไม่เป็น ดังใจ ก็ทุกข์ วิธีแก้ก็คือ ทำให้ได้สมใจ ไม่ว่า จะโดยวิธีใดก็ตาม แม้แต่จะโกงกิน หรือ ทำทุจริตใดๆ ขอให้ได้สมใจ ถ้าสมใจ ก็คิดว่าเป็นสุข แต่ถ้าไม่ได้สมใจ ก็เป็นทุกข์ หรือ อะไรที่เกลียด ไม่ชอบ ก็ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ผลักออกไป กำจัดออกไป เมื่อทำได้แล้วก็คือสมใจ แบบนี้เขาก็คิดว่า เป็นสุข

เพราะฉะนั้น ความทุกข์ทางโลก คือทุกข์ต่อเมื่อไม่สมใจ ไม่ได้ดั่งใจเท่านั้นเอง อันนี้ไม่ใช่ทุกข์แท้ๆ ไม่ใช่ทุกข์จริงๆ เพราะตัวทุกข์ จริงๆ ที่ทำให้เขาทุกข์ เขามองไม่เห็นตัว เขาจึงไม่รู้ว่า การทำตาม ความอยาก คือ ทำตามกิเลสของใจเรานั่นเอง ซึ่งที่จริง ก็เป็นสุข ตามอำนาจกิเลสเท่านั้น โดนกิเลส หลอกไว้

ทุกข์ที่เขาเห็นอยู่โดยปกติ ก็เพียงแค่ไม่ได้อะไรมาสมใจ แล้วเขาก็หาวิธีบำบัดทุกข์ ให้เบาบาง หรือหมดไป ด้วยการแสวงหา แม้จะต้อง เหน็ดเหนื่อย บางทีต้องไปแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ต้องไปโกง เขามาด้วยซ้ำ หรือบางทีได้มาแล้ว ก็ต้องระแวงระวัง หวาดกลัว คุกตะราง กลัวเสียชื่อเสียง ซึ่งอย่างนี้จริงๆ แล้ว เป็นการหาทุกข์เพิ่มขึ้น แต่เขากลับมองไม่เห็น เพราะฉะนั้น ถ้าโดยทุกข์ ธรรมดาทั่วๆ ไป คนส่วนใหญ่ จึงเห็นทุกข์ตามใจกิเลส กิเลสบอกว่าไม่สมใจ เขาเห็นทุกข์นี้ แต่ทุกข์จริง ที่พระพุทธเจ้า เรียกว่า ทุกขอริยสัจ เห็นยาก สัตวโลกทั้งหลายจึงมักมองไม่เห็น เขาก็ยัง แสวงหาความสุข แบบที่เขาอยากอยู่ ทุกเมื่อเชื่อวัน จนกว่า เขาจะเห็น ทุกขอริยสัจ ทุกข์ที่สามารถ ทำให้ ความอยาก ความปรารถนาของเขา ลดน้อยลงๆๆ เมื่อความอยากลดน้อยลง เขาก็ติดยึด น้อยลง ไม่ได้อย่างนี้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เงินเดือนสูงๆ ก็ไม่เป็นไร และเขาจะมีความเข้าใจ ตามความ เป็นจริงว่า ชีวิตไม่เห็นจะต้องเป็น ต้องอยากได้อะไร มามากๆ ให้มันลำบากลำบน เหน็ดเหนื่อย ผลาญทั้งเวลา ผลาญทั้งทรัพยากร ผลาญทั้ง ความรู้สึกที่ดีๆ ขอแค่พอมี พอกิน ไม่ฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น ชีวิตก็เป็นสุขได้ พระพุทธเจ้าคือตัวอย่างของชีวิต ที่พอดี พอเหมาะ หรือว่า มีความเป็นกลางนั่นเอง

ดังนั้นที่เราทุกข์ เพราะความต้องการที่เป็นส่วนเกินของความพอดีของชีวิต ซึ่งถ้าเขาเข้าใจทุกข์ อย่างนี้ได้ เขาก็จะไม่เพิ่มทุกข์ หรือไม่เอาทุกข์ ที่ไม่จำเป็น มาทับถมตัวเอง เพราะฉะนั้น การจะทำ ให้พ้นทุกข์ อันดับแรก ต้องเห็นทุกข์จริงได้ก่อน อย่างแรก พระพุทธเจ้า จึงสอนว่า ต้องมีสัมมาทิฐิ คือมีความเห็น ที่ถูกต้อง ชัดเจนว่า สิ่งเหล่านี้ ทำให้เป็นทุกข์ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ได้ เขาก็จะไม่ไป แสวงหาสุขหลอก (ทุกข์จริง) เขาก็จะมีชีวิตมักน้อย อยู่กับการทำงาน เสียสละแบ่งปัน ช่วยเหลือ ผู้คน ทำมาหากิน ด้วยความขยัน หมั่นเพียร ด้วยความซื่อสัตย์ มีศีลและตั้งใจทำให้ดีที่สุด ไม่คิดไป แก่งแย่งทุจริตต่างๆ เมื่อไม่ต้อง ไปแย่ง สิ่งเหล่านี้ เขาก็จะพ้นทุกข์ ออกมาได้

พวกเขาสู้เพื่อใคร
พวกเขาสู้เพื่ออะไร
พวกเขาย่อมเหนื่อยเปล่า
ถ้าพวกเขาไม่สู้เพื่อ...
ความพิสุทธิ์ แห่งชีวิตพรหมจรรย์

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๑ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)