หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า

การประกาศสงคราม กับ ความยากจน
แบบคิดเก่า หรือคิดใหม่กันแน่?

ทุกวันนี้ถ้าใครป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำสงครามโรค แต่เป็น สงคราม ที่มีแต่ความพ่ายแพ้ สถานเดียว ยิ่งมุ่งฆ่าเชื้อมะเร็ง เช่น ฉายแสง หรือ ใช้ยาแรงๆ ฉีดทำลาย ส่วนใหญ่ คนป่วยจะตายก่อน ที่เซลล์มะเร็งจะตาย แต่ก็โชคดี ที่เมืองไทย ใช้แนวทาง"ชีวจิต" ทำให้มีคนรอดตาย จากโรคมะเร็งได้ โดยเน้นการรักษาแบบบูรณาการ ด้วยการสร้างภูมิต้านทานร่างกาย ให้แข็งแรง แทนการ ตั้งหน้าตั้งตา ฆ่าเซลล์มะเร็ง เมื่อคนป่วยมีอาหารดี อากาศดี อารมณ์ดี มีการออกกำลังกายดี และ มีการเอาพิษ ออกจาก ร่างกายได้ดี จึงทำให้ภูมิต้านทานร่างกายแข็งแรงขึ้น มะเร็งมะเส็ง ก็กลายเป็น องค์ประกอบ ส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ไม่มีบทบาทอะไร เหมือนบ้านเรือนที่มีตำรวจดี โจรผู้ร้าย ก็ไม่กล้า หืออือขึ้นมา แต่ถ้าตำรวจ(ภูมิต้านทานร่างกาย)อ่อนแอ เจ้าพ่อเจ้าแม่ (เชื้อโรค) ก็จะแผ่อิทธิพล เต็มไปหมด

รัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศสงครามกับยาเสพติดและความยากจน แต่ดูเหมือนว่ายิ่งปราบ ทั้งยาเสพติด คนขายยาเสพติด และ คนบริโภคยาเสพติด ก็ยิ่งเพิ่มทบทวีมากขึ้น และ ที่นักวิชาการ พากันเป็นห่วงมาก ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การหาทางเพิ่มทุนให้คนยากจน จะเป็นการเพิ่มหนี้สิน ให้แก่คนจนมากขึ้น ไปอีกหรือไม่ ดูเหมือนว่า ปัญหาความยากจน และปัญหายาเสพติดนี้ เกี่ยวเนื่องพัวพันกัน ใครๆ ก็พากันขายยาเสพติด ก็เพราะชีวิต อยากจะได้เงิน หรือเพิ่มทุนมากๆขึ้นนั่นเอง การแก้ปัญหาแบบดิ่งไป ในมิติใดมิติหนึ่ง จึงไม่สามารถ ประสบความสำเร็จได้ หากไม่แก้ปัญหาแบบองค์รวม หรือบูรณาการ

โดยเฉพาะท่านนายกฯ คนปัจจุบัน ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในระบบเศรษฐกิจ แบบทุนนิยม แนวความคิด ของท่านไปไกลถึงดวงดาว (ดาวเทียม) เป็นคนก้าวหน้า ทันสมัย ในระบบดิจิตอล แต่ประชาชน ของท่าน ยังงมงายอยู่กับ เรื่องผีปอบ ผีแถน บั้งไฟพญานาค ทุกๆ กลางเดือน และปลายเดือ นต้องไปกราบไหว้ บูชาสัตว์ประหลาด หรือ ต้นไม้ประหลาด เพื่อขอให้เกิดโชคลาภ ได้เลขเด็ดๆ ไปซื้อสลาก กินแบ่งรัฐบาล ดังนั้น ปัญหาความยากจน ของชาวบ้าน มันอยู่ตรงไหนกันแน่ ? ซึ่งมีผู้สรุป เป็นสูตรเอาไว้ ดังนี้

๑. ต้นทุนการผลิตสูง
๒. ผลผลิตตกต่ำ
๓. ภัยธรรมชาติซ้ำเติม
๔. มีแต่กู้กับกู้และกู้
๕. ขาดความรู้จริงทั้งการผลิตและการแปรรูป
๖. ขาดการพึ่งตน
๗. ขาดคุณธรรม

จึงทำให้ทำมาห่ากินหมด (ห่าหวย ห่าเหล้า ห่าการพนัน...ฯลฯ อบายมุขเพียบ) การปล่อยให้ เกษตรกร มีแต่กู้กับกู้และกู้ ไม่ว่าวิธีใดก็ตามก็คือการเพิ่มปัญหาข้อที่ ๔ ที่ยังอยู่ในวงจรอุบาทว์ เหมือนเดิม ในเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ณัฐกฤต ดิฐวิรุฬห์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ชี้ให้เห็น วงจรอุบาทว์ ที่เกิดขึ้น ในสังคมไทยมาช้านาน เอาไว้ดังนี้

หลังจากที่รัฐบาลใช้นโยบายกระจายเม็ดเงินสู่ภาคชนบท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ ตามวิธีคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่คิดว่า ประเทศจะก้าวข้าม จากความด้อยพัฒนา ไปสู่ ความทันสมัย เฉกเช่นประเทศตะวันตกได้ ภาครัฐจะต้อง ส่งเสริม ให้เกิด การลงทุน ในการผลิต และ กระตุ้นการบริโภค ของภาคเอกชน และ ภาคประชาชน คำว่า "ทุน" (capital) จึงเป็นคำ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็น "คาถา" ที่รัฐบาล ทุกรัฐบาล โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ในรัฐบาลปัจจุบัน ยึดถือเป็นกรอบ นโยบายหลัก ในการบริหารประเทศ

ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการลงทุนให้แก่นักลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุน ในตลาด หลักทรัพย์ กองทุนต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งได้แก่กองทุนหมู่บ้าน และกองทุนอื่นๆ

ฐานความคิดของผู้บริหารประเทศที่กำหนดนโยบายรัฐ มาจากความเชื่อที่ว่า ในภาคการผลิต ขาดแคลนทุน และจะต้องหาทุนมาให้ ในรูปแบบต่างๆ ดังที่ตัวอย่างยกข้างต้น เมื่อการผลิต มีความเข้มแข็ง เกิดการบริโภค ก็จะเกิดความเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจ วิธีคิดทั้งหมดนี้ เป็นความคิดของนักธุรกิจ ที่ยึดคัมภีร์ทุนนิยม เป็นสรณะ เป็นคนในสังคมเมือง และ การดำรงชีวิต ดำเนินอยู่ตามแบบอย่าง ของภูมิปัญญาตะวันตก

ผลการวิจัยจากสำนักวิชาการต่างๆ ระบุชัดว่า ประเทศไทยยิ่งพัฒนาตามแบบภูมิปัญญา ตะวันตก นับวัน คนส่วนใหญ่ ยิ่งยากจน สูญเสียที่ทำกินเป็นมรดกตกทอดแก่นายทุน ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นับวัน จะทวีความรุนแรง มากขึ้น ช่องว่าง ระหว่างคนจน คนรวย ห่างมากขึ้นทุกที

ตลอดระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปีที่ไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก และประมาณ ๔ ทศวรรษที่ดำเนินการ พัฒนาประเทศ รับเอาภูมิปัญญาตะวันตกภายใต้อุดมการณ์ การพัฒนาชาติ ให้ทันสมัย ตามแบบอย่าง ของชาติตะวันตก มาเป็นแบบแผน ในการดำรงชีวิต ทุกด้าน อย่างจริงจัง โดยไม่มีการประยุกต์ ใช้ปรับปรุง ให้สอดคล้อง กับสภาพสังคมไทย ส่งผลให้คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น คนจนยิ่งจนลง ผู้คนอพยพย้ายถิ่นเกิด การดำรงอยู่ ที่แปลกแยก จากวิถีชีวิตดั้งเดิม ครอบครัวแตกแยก ปัญหาสังคมเกิดขึ้น มากมาย รากเหง้า ของปัญหา ที่เป็นที่มาของความยากจน จึงเกิดจากการพัฒนาประเทศ ที่แปลกแยก จากวิถีชีวิตดั้งเดิม มากกว่าการขาดแคลนทุน

กล่าวโดยสรุป การส่งเสริมให้ชาวชนบทหรือภาคการผลิตรายย่อยเป็นหนี้ โดยการกู้เงิน มาลงทุน ตลอดเวลา ลงทุนแล้วได้ผลิตผล แต่ขายไม่ได้ หรือขายได้แต่ขาดทุน ก็คงเป็นหนี้ ต่อไปอีก จนหนี้ท่วม ทรัพย์สิน ที่ทำกินถูกยึดเป็นของนายทุน สิ่งเหล่านี้เป็นวงจรอุบาทว์ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านาน และ จะยังคงมีต่อไปอีก ถ้าผู้กำหนดนโยบายรัฐ คิดได้แค่นี้ ในการแก้ปัญหาความยากจน

และเพื่อเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมให้ชัดเจน ในการแก้ปัญหาความยากจน ก็ต้องขออนุญาต นำบทความของ คุณโสภณ สุภาพงษ์ ที่ตีพิมพ์ในมติชนเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ เรื่อง อย่าเปลี่ยนทุน (ที่ดิน) คนจนเป็นเงิน ควรเปลี่ยนเงินเป็นทุน (ต้นไม้บนดิน) ดังมีประเด็นสำคัญ ดังนี้


คนจนในประเทศไทยเขาไม่ได้จนโดยกำเนิด แต่เขาถูกทำให้จน
ในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา เราได้ช่วยคนจนตั้งแต่เขามีที่ดินทำกินจนไม่มีที่ทำกิน ตั้งแต่ ไม่เคย มีหนี้สิน จนมีหนี้สิน ท่วมตัว ตั้งแต่พึ่งตนเองได้จนพึ่งตนเองไม่ได้เลย การช่วยเหลือคนจน จึงต้องไม่ซ้ำเติม เพิ่มไปกว่านี้อีก หนทางที่เคยอ้างว่าช่วยนั้น เป็นหนทางที่ถูกหรือ

ทุนทรัพยากรของเกษตรกรคนจนนั้นคือ แม่น้ำ ป่า พืช ต้นไม้ ที่ดิน มีไว้เพื่อเป็นที่เกิด ที่พักพิง ที่อยู่กิน ที่ตายสำหรับเขา ครอบครัวเขา และลูกหลานภายหน้าอย่างไม่จบสิ้น

เมื่อ ๖๐ ปีก่อน พ่อแม่เกษตรกรเหล่านั้นได้รู้ที่จะออมดิน ออมน้ำ ออมป่า ออมฟ้า ออมความดี ออมน้ำใจ ออมแผ่นดิน เพื่อเป็นทุนทรัพยากรและทุนทางสังคม(วัฒนธรรม)ไว้หมุนเวียนทำกิน เงินที่ได้จาก การขายพืช เหลือกิน จึงเป็นผลจากการเพิ่ม ของทุนทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้ช่วยกันออมไว้

ในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาโดยใช้จีดีพี หรือการเพิ่มของรายได้ (เงิน) เป็นตัววัด ความเจริญเติบโต ของการพัฒนา เราได้ทำลายทุนทางสังคม ทุนทางทรัพยากร ธรรมชาติ ของชาวบ้าน เปลี่ยนเป็นเงิน มานับเป็น จีดีพี

ป่า แม่น้ำ แม่โพสพ แม่พระธรณี(ที่ดิน) ถูกทำลายมาเป็นเงิน เด็ก ผู้หญิง ลูกชาวบ้าน ถูกนำไปขายบริการ ต่างประเทศ ผู้หญิงที่เป็นแม่ ถูกส่งออกไปหาเงิน เป็นคนใช้ ที่ไต้หวัน เลี้ยงลูก คนไต้หวัน แทนที่จะเลี้ยง ลูกตนเอง เราเปลี่ยนทุนทุกอย่าง ที่มีเป็นเงิน เพื่อมาใช้ นับเป็นความเจริญเติบโต คือ จีดีพี

ทุนทรัพยากรป่าของเราลดลงจาก ๗๐% หรือจาก ๒๒๐ ล้านไร่ เหลือไม่ถึง ๒๕% หรือ ๘๐ ล้านไร่ เพื่อทำเกษตร ทำลายดิน อุตสาหกรรม และโครงการเก็งกำไรขนาดใหญ่ เกิดแม่น้ำ เน่าเสีย น้ำท่วม แห้งแล้ง ดินเสื่อมโทรม ยาฆ่าแมลง สารเคมีทับถม ที่ทำกินของคนจน หลุดไป อยู่ในมือ ของคนร่ำรวย กลุ่มคนรวย ข้างบน ที่เคยรวยกว่ากลุ่มคนจน ๘ เท่า รวยเพิ่มขึ้นเป็น ๑๖ เท่าใน ๒๐ ปี

ดังนั้นการเพิ่มคุณค่าบนทรัพยากรที่ดินสปก.ของคนจน เพื่อให้เกิดการผลิตตาม ที่รัฐบาล ต้องการ จึงต้องควรทำ แต่จะต้องไม่ลดทุนทรัพยากรของคนจน ที่มีอยู่น้อยแล้ว ลงไปอีก

ที่ดินสปก.นั้น มีเกือบ ๖๐ ล้านไร่ มีผู้ถือครองส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจน ๑.๓ ล้าน ครอบครัว หรือเกือบ ๑๐ ล้านคน การจะช่วยคนกลุ่มนี้ คือ ต้องให้เงินกู้แก่คนถือสปก. ไปทำเกษตรธรรมชาติ ไปปลูกต้นไม้ ปลูกพืชหมุนเวียน ประเภท ๓ เดือน หรือ ๖ เดือน เพื่อบริโภค ให้ปลูกพืชยืนต้นประเภท ๓-๕ ปี เพื่อให้เป็น ไม้ผล และปลูกไม้ยืนต้น ๑๐ ปีเพื่อใช้งานและแปรรูป โดยให้เขาเอาไม้ยืนต้น ที่ปลูกนั้น มาเป็น หลักประกัน ด้วยระบบนี้ จะทำให้เขามีงานทำ และไม่ต้องไปหาตลาดให้ เพราะเขาปลูก เพื่อใช้กินเอง ประมาณ ๑ ปี เมื่อดิน สมบูรณ์ขึ้น ก็จะมีผลผลิตส่วนเกิน ไว้ขายเป็นรายได้

การใช้ปุ๋ยหมักตามธรรมชาติจะเป็นการฟื้นฟูดิน ประมาณ ๓-๕ ปี ต้นไม้ผล เริ่มออกลูก (เสมือนเก็บ ดอกเบี้ยไว้) สามารถใช้กิน ใช้ขาย รวมทั้งการชำพันธุ์ไม้ขาย ขายปุ๋ยหมัก จะเริ่มนำเงิน มาคืนเงินกู้ไปได้

สัก ๑๐ ปี ต้นไม้ยืนต้นเพื่อไว้ใช้สอยและแปรรูปเริ่มขายได้ ต้นหนึ่ง จะแปรรูปได้เงิน ประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ปลูกไว้ ๑๐๐ ต้น ก็จะเป็นเงินประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ครอบครัว ก็เริ่มมั่นคงขึ้น ในกรณีนี้ ถ้าพวกเขา เกิดพลาดพลั้ง ก็ยังมีที่ดินของเขาอยู่ อย่าเอาทุนตรงนี้ ของพวกเขา ไปแปลงเป็นหนี้ อย่าให้เขาเสี่ยง เพิ่มขึ้นอีก

คำพูดที่ว่า อย่าเอาปลาไปให้ชาวบ้าน แต่ต้องสอนให้ชาวบ้านจับปลาเป็นนั้น จากประสบการณ์ ของผม ที่ทำงาน กับชาวบ้าน พบว่าพวกเขาจับปลา เป็นกันอยู่แล้ว แต่อย่าไปทำ ให้แม่น้ำเขาเน่า อย่าเอาแม่น้ำ ไปจากเขา อย่าเอาแผ่นดินไปจากเขา อย่าเอาป่า ไปจากเขา

ผมอยากเห็นนโยบายที่ดีนี้ ไม่เป็นนโยบายช่วยคนอย่างเกรี้ยวกราด เราต้องช่วยคน อย่างร่วมมือกัน ชีวิตคนเราทุกคน ควรเพิ่มทุนให้แก่ชีวิต ไม่ควรจะลดทุนชีวิต ของคนจน ลงไปเรื่อยๆ ครับ


บทสรุป การแก้ปัญหาที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง หรือมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ปัญหาด้านอื่นๆ ก็จะทะลักเข้ามา เช่น ยาบ้า ปัญหาสังคม ปัญหาเด็กและเยาวชนมั่วกาม เกษตรกร ที่มุ่งหาเงินเป็นหลัก เขาจะถูกตลาด ในระบบทุนนิยม กำหนดให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ ไม่กี่ชนิด เพียงแค่ไร่มันสำปะหลัง หรือไร่ปอ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่น่าเชื่อว่า กลุ่มกสิกรรม ไร้สารพิษที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ จะสามารถ เปลี่ยนไร่ปอ ไร่มันสำปะหลัง เป็นไร่นา สวนผสม เป็นสวนเงาะสวนทุเรียน ได้อย่างเมืองจันทบุรี เมื่อเขาหันมา ถือศีล ๕ ลดละ อบายมุข พัฒนาคุณภาพชีวิต เน้นเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตและครอบครัวของเขา ก็ได้พบกับ ความอุดมสมบูรณ์ ขึ้นมาได้ อย่างน่าอัศจรรย์

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๑ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)