หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


ชื่อเสียงเรียงนามของเธอ
อาจไม่เป็นที่รู้จัก
เพราะเธอทำงานปิดทองหลังพระ
แต่ในวันงดสูบบุหรี่โลก
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เธอเป็น ๑ ใน ๓ คนไทย
ที่องค์การอนามัยโลก
มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้

บังอร ฤทธิภักดี
ผู้อำนวยการสำนักงานรณรงค์พิเศษ
และสร้างกระแสสังคม

รู้จักบังอร ฤทธิภักดี
เกิดที่ อ.เขาชัยสน พัทลุง มีพี่น้อง ๕ คน เป็นลูกคนที่ ๔ เรียนหนังสือที่พัทลุงจนจบ ม.ศ. ๓ เข้ามาเรียน ม.ศ. ๔-๕ ที่โรงเรียนสายปัญญา กรุงเทพฯ ต่อระดับปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้น จึงเข้าทำงานฝ่ายบริหาร ที่โรงพยาบาลชุมชนโคราช ประมาณ ๒ ปี ในช่วงปี ๒๕๔๔-๒๕๔๕ งานสาธารณสุขมูลฐาน กำลังเป็นที่สนใจ ได้ประสบการณ์ ด้านสาธารณสุขชุมชน อย่างมาก ปี ๒๖ เรียนต่อ ปริญญาโท ที่ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ ด้านสังคม สงเคราะห์ ทางการแพทย์ เรียนจบก็เริ่ม ทำงานเต็มตัวที่ "คณะกรรมการประสานงาน องค์กรเอกชน เพื่อการสาธารณสุข มูลฐาน" (คปอส.) ซึ่งเหมือนกับ เครือข่ายเอ็นจีโอ ที่ทำงาน ด้านสุขภาพ คปอส. ทำงาน เชื่อมกับ หลายๆองค์กร เช่น หมอชาวบ้าน กลุ่มศึกษาปัญหายา กลุ่มคุ้มครอง ผู้บริโภค ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท ในทางปฏิบัติ เป็นการจับ ประเด็น ปัญหา ด้านสาธารณสุข เพื่อเคลื่อนไหวรณรงค์ ทางสังคมร่วมกัน เช่น เคลื่อนไหวเรื่อง ยาทัมใจ ยาชุด สิทธิบัตรยา การนวดไทย การคุ้มครองผู้บริโภค และเรื่องสำคัญ ที่เป็นจุดเด่นคือ การจัดตั้ง โครงการ รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ร่วมกันโดยเครือข่าย ๑๒ องค์กร

เพราะเรามองว่าบุหรี่เป็นปัญหาสำคัญของสังคม แต่ตอนนั้นไม่มีใครทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ทำไป ๒ ปีแรก ในนาม คปอส. แต่ต่อมาเมื่อเล็งเห็นว่า เรื่องนี้คงต้องทำ ระยะยาว และเต็มเวลา จะทำเป็นโครงการ เล็กๆ อย่างเดิมไม่ได้แล้ว ประกอบกับปี ๒๙-๓๐ สหรัฐอเมริกา บีบรัฐบาลไทย ให้เปิดตลาดบุหรี่ ก็เลยมา ช่วยงานโครงการ รณรงค์ ไม่สูบบุหรี่ อย่างเต็มเวลา โดยมูลนิธิ หมอชาวบ้าน รับเป็นองค์กรแม่ (องค์กรที่อยู่เบื้องหลัง) ให้ทุนสนับสนุน ในการทำงาน สถานการณ์ ที่สหรัฐอเมริกา บีบให้รัฐบาลไทย เปิดตลาดบุหรี่ ทำ ให้เรา จำเป็นต้องมีข้อมูล มีเครือข่าย การรณรงค์ ที่พร้อม และมีระบบการทำงาน ที่เข้มแข็ง เพื่อจะไปสู้กับ เขาได้ และให้ข้อมูล ฝ่ายรัฐบาลว่า เราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร รวมทั้งมีกลไก ในการประสานงานกับ สื่อมวลชนว่า ขณะนี้ เรื่องราวไปถึงไหนแล้ว รวมทั้ง มีการเชื่อมเครือข่าย ทั้งภายใน และ นอกประเทศ เพราะฉะนั้น ปริมาณงาน จึงเพิ่มขึ้น แบบก้าวกระโดด ต้องทำแบบออกหน้าเต็มที่

ทำงานเป็นทีม
เรามีแนวร่วมมาก ตั้งแต่ ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี ศ.นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ทีมกรรมการ หมอชาวบ้าน รวมทั้งสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งแบบที่มาร่วมลงแรง อย่างใกล้ชิด และ เชียร์อยู่ห่างๆ แต่คน ที่เป็นตัวหลัก ของโครงการ คือ ศ.นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ

อุปสรรค คือ บทฝึกฝนเพิ่มพูนศักยภาพ
จริงๆ แล้วตอนนั้นโครงการมีทุนน้อยมาก ถ้าถามว่าเป็นอุปสรรคไหม ก็คิดว่าไม่ ในเรื่องข้อมูล เราได้รับ ความร่วมมือ จากต่างประเทศ ค่อนข้างมาก รวมทั้งได้รับคำแนะนำ จากแนวร่วม ต่างๆ อุปสรรค คิดว่าเพราะ เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน เช่น คุณหมอประกิต ต้องไปให้การ ต่อวุฒิสภา ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในช่วงนั้น พวกเราทำงานหนักมาก ต้องศึกษา วิธีการต่างๆ นับเป็นความท้าทาย ที่เราต้องเรียนรู้มากกว่า

ผลการเจรจาต่อรอง

ท้ายที่สุดไทยก็ต้องเปิดตลาดตามกฎการค้าเสรี แต่จุดที่เราคิดว่าชนะ ก็คือ รายละเอียด ทางการปฏิบัติ เพราะรัฐบาลไทย ยังคงออกกฎหมายต่างๆ เพื่อคุ้มครอง สุขภาพ ของประชาชนได้ ซึ่งต่างจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เพราะรัฐบาลเขาไม่สามารถ ออกกฎหมาย คุ้มครองสุขภาพ ประชาชน ในเรื่องบุหรี่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจา และข้อสรุป ที่เรียกว่า พหุภาคี เรื่องนี้ แก็ตต์ หรือ WTO เป็นผู้ตัดสิน ในขณะญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เป็นทวิภาคี คือ เขาตกลงกัน ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เพราะฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐบาลว่า ใครต่อรอง ได้มากกว่ากัน เมื่อเป็นการต่อรอง ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ก็เป็นเรื่อง ความสามารถ ของการต่อรอง แต่สำหรับ ประเทศไทย พอเราให้แก็ตต์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ ๓ ตัดสิน เรื่องนี้ แก็ตต์เขาถือ เป็นมาตรการกลาง มีข้อสรุป ออกมาว่า ประเทศไทย ยังสามารถขึ้นภาษีบุหรี่ หรือออก กฎหมาย ต่างๆ เพื่อคุ้มครอง สุขภาพ ของประชาชนได้ ซึ่งเราประเมินไว้ ก่อนหน้านี้แล้วว่า เราคงไม่สามารถ ห้ามการนำเข้า บุหรี่ได้ เพราะขัดกับหลัก การค้าเสรี ที่รัฐบาล ไปลงนามกับเขา แต่เราเชื่อว่า รัฐบาล หรือ คน ไทยเอง มีสิทธิ ที่จะมีมาตรการ ปกป้องตัวเองได้ เพราะฉะนั้น พอได้ข้อสรุป ของแก็ตต์ ก็สอดคล้อง กับสิ่งที่ เราวางไว้

สิ่งดีงามที่เกิดขึ้นในสังคม
ตั้งแต่เริ่มการรณรงค์อย่างจริงจัง มาถึงวันนี้ก็ ๑๕ ปี ตอนนี้โครงการเปลี่ยนสถานะมาเป็น มูลนิธิ รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อย่างเต็มตัว เป็นองค์กร ที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีทั้งทุน สำนักงาน และ อุปกรณ์ต่างๆ พร้อมเรามองว่าตรงนี้อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่ตัวชี้วัด ความสำเร็จใน ๑๕ ปี ที่ผ่านมา ก็คือ เรา สามารถผลักดัน ให้รัฐบาล ออกกฎหมายได้ ๒ ฉบับ เป็นกฎหมาย ที่ห้าม โฆษณาบุหรี่ กับกฎหมาย กำหนด ที่สูบบุหรี่ และห้ามสูบบุหรี่ อีกเรื่อง คือผลักดัน ให้รัฐบาล ขึ้นภาษีบุหรี่ ทำให้ ราคาบุหรี่แพงขึ้น ส่งผลให้เด็ก และ เยาวชน สูบบุหรี่ น้อยลง อันนี้เป็นมาตรการ ทางนโยบาย ที่มีความสำคัญ และ สามารถทำได้สำเร็จ อีกส่วน ที่เราคิดว่า เป็นความสำเร็จ คือ มาตรการทางสังคม เนื่องจากเราเอง มีแนวร่วม ทั้งดารา และสื่อมวลชน ต่างๆ ถ้ามีแต่กฎหมาย อย่างเดียว โดยสังคม ไม่ตื่นตัว เราก็คง ทำอะไรๆ ได้ลำบากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จากมาตรการ ทางสังคม ๑๕ ปี ที่ผ่านมา เราจึงประสบ ผลสำเร็จ ค่อนข้างสูง และถ้ามองในเชิงสถิติ อัตรา การสูบบุหรี่ ของคนไทย ก็ไม่ได้มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น แต่มีลักษณะเหมือนอยู่ตัว หรือชะลอตัว มีการลองคิด คำนวณ ย้อนไปดูว่า เมื่อ ๑๕ ปีที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย คนไทย ณ ปัจจุบัน จะมีอัตราการ สูบบุหรี่ สูงขึ้น อย่างแน่นอน ขณะนี้ มีคนไทยสูบบุหรี่อยู่ประมาณ ๑๐.๒ ล้านทั่วประเทศ ซึ่งหมาย ความว่า ถ้าไม่มีโครงการ รณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ อย่างที่ทำมา ขณะนี้ อัตราการสูบบุหรี่ จะสูงถึง ๑๓ ล้านคน ซึ่งเท่ากับว่า ในช่วง ๑๐ ปี เราสามารถ ป้องกัน ไม่ให้คนสูบบุหรี่ได้ ประมาณ ๒ ล้านคน

จากการรณรงค์เรื่องโทษภัยของบุหรี่ ในทางปฏิบัติการป้องกันค่อนข้างได้ผลกว่า เพราะคนที่สูบ จะเริ่มตั้ง แต่ตอน เป็นวัยรุ่น ถ้าเราสกัดกั้นได้ ก็จะช่วยให้เขาไม่ไปติด เพราะติดแล้วเลิกยาก

ส.ส.ส. คือใคร
ผลพวงจากการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เรามีข้อเสนอให้รัฐบาลขึ้นภาษี แล้วนำภาษีนั้น มารณรงค์ ในเรื่องการ ไม่สูบบุหรี่ หรือสนับสนุนงานด้าน ส่งเสริมสุขภาพ ทั้งหลาย ก็มีการร่วมกัน ผลักดัน "กองทุนสร้างเสริม สุขภาพ(ส.ส.ส.)" ขึ้น วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ เป็นวันที่กฎหมาย จัดตั้งกองทุน มีผลบังคับใช้

กฎหมาย ฉบับนี้ ระบุว่า
๑. ให้มีการตั้งกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ(ส.ส.ส.)
๒. เงินที่จะเข้ามาสู่ กองทุนนี้ ได้จาก ๒% ของภาษีบุหรี่และเหล้า ที่รัฐจัดเก็บเพิ่มขึ้น เพราะเรา มองว่า สินค้า ๒ ตัวนี้เป็นภัย ต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้น จึงเก็บภาษี ๒% จากสินค้า ทำลายสุขภาพ เพื่อที่จะนำ ไปใช้ประโยชน์ ในการพัฒนา ให้เกิดกระบวนการ สร้างเสริม สุขภาพ ระยะยาวต่อไป เราคิดว่า อัตรา การดื่มเหล้า สูบบหุรี่ น่าจะลดลง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คนไทย จะมีสุขภาพดีขึ้น อาจจะเรียกว่า เป็นการลงทุน ระยะยาว เมื่อมีการตั้ง ส.ส.ส. ขึ้นมา ก็ได้เข้ามา ช่วยงาน โดยดูแล เรื่องการรณรงค์พิเศษ และ สร้างกระแส สังคม รวมทั้งเรื่อง ของการทำงาน ผ่านสื่อ ทั้งหลาย เพื่อให้ แนวคิด สร้างเสริม สุขภาพ กว้างขวางขึ้น มีการนำเสนอ กิจกรรม หรือ โครงการ ดีๆ ที่ ส.ส.ส. สนับสนุน ออกสู่สังคม

ภารกิจหลักของ ส.ส.ส.
เป็นองค์กรหรือกลไกสนับสนุนองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ในการพัฒนางาน สร้างเสริม สุขภาพ ให้มากยิ่งขึ้น ส.ส.ส. ไม่ใช่หน่วยงานที่จะทำเรื่องต่างๆ แต่จะสนับสนุน ให้มีการ ทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ ให้เข้มแข็ง ยิ่งขึ้น

เป้าหมายกองทุน
ทำอย่างไรให้มีการพัฒนาการตั้งนโยบาย เช่นจะให้มีกฎหมายดีๆ เพิ่ม มากขึ้น ทำอย่างไร จะให้เกิด กลไก หรือรูปแบบกิจกรรมดีๆ ที่จะส่งผลให้เกิดการเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง อาจเป็นงานวิจัย งานพัฒนารูป แบบ พัฒนาโครงการ หรือเรื่องของการสื่อสาร การพัฒนา องค์ความรู้ เป็นต้น คือมีงาน หลายรูปแบบ ที่ทำได้ วัตถุประสงค์ท้ายสุด คือ เพื่อนำไปสู่ การทำให้คนไทย มีสุขภาพดีขึ้น อย่างยั่งยืน ในระยะยาว มิใช่แค่ผิวๆ เผินๆ หรือเพียง ชั่วครั้ง ชั่วคราว แต่เป็นการพัฒนา สร้างกลไก นโยบาย องค์ความรู้ เครือข่าย ที่จะทำให้ ้เรื่องนี้ เดินไปได้ อย่างมั่นคงถาวร

กลุ่มเป้าหมายที่ ส.ส.ส.ให้การสนับสนุน
เราทำงานกับทุกองค์กรทั้งรัฐและเอกชน มูลนิธิ ชมรม สมาคมต่างๆ ส่วนของรัฐเอง เราก็ทำงาน กับทุก กระทรวง เพราะเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่งานเฉพาะด้านของสายแพทย์ หรือสาธารณสุข เท่านั้น แต่หมายถึง สุขภาพในที่ทำงาน ที่โรงเรียน เรื่องอาหารการกิน เรื่องอุบัติเหตุ และอื่นๆ อีกมาก ขณะนี้ เราใช้คำว่าภาคี ภาคีของ ส.ส.ส.มีหลากหลายมาก ตั้งแต่ราชการ เอกชน โรงเรียน องค์กร เอกชน ชมรม ชุมชน หมู่บ้าน ต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่ ส.ส.ส. สนับสนุน มี ๓ เรื่องใหญ่ๆ คือ ๑. สนับสนุน เรื่องเครือข่าย ๒. เรื่องความรู้ วิชาการ ๓. เรื่องทุน เพราะการพัฒนา โครงการต่างๆ อาจต้อง ใช้ทุนมากบ้าง น้อยบ้าง บางโครงกา รอาจไม่ ่ต้องใช้ทุนเลยก็ได้

รูปแบบการทำงาน
มี ๒ วิธี ในการทำงานร่วมกับภาคี คือ ๑. เปิดให้องค์กรหรือภาคีต่างๆ เสนอโครงการ เข้ามาขอรับทุน ๒.เรา มีงานเชิงรุก คือกรรมการ ส.ส.ส. ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทน จากกระทรวงต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ จะอนุมัติแผน ยุทธศาสตร์ออกมา แผนยุทธศาสตร์นี้ จะเป็นเหมือนกับแผนที่ บอกว่า ส.ส.ส. ควรทำ เรื่องอะไรบ้าง หรือ เรื่องไหนสำคัญ และ ควรมีภาคี เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เราใช้วิธี ระดมความคิด ร่วมกับภาคี เพื่อจะได้ โครงการ หรือแนวทางว่าเรื่องต่างๆ ควรมีวิธีการ หรือ แนวทางอย่างไร ลำดับใด เป็นเรื่อง ก่อนหลัง เช่น เรื่อง อุบัติเหตุ โครงการที่บางชุมชน บางองค์กร ส่งเข้ามา มีค่อนข้างน้อย บางครั้ง เป็นเรื่องเทคนิคด้วย ในขณะที่ ภาครัฐเอง ก็มีแผนงาน เกี่ยวกับอุบัติเหตุอยู่แล้ว บางส่วน รับผิดชอบ โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม

แต่ในเรื่องของอุบัติเหตุ ก็มีช่องว่างหรือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ต้องพัฒนาอยู่ส่วนหนึ่ง ดังนั้น ส.ส.ส. จะไปเติม เรื่องที่ยังมีช่องว่างอยู่ และทำให้สิ่งที่เติมเข้าไป หนุนเรื่องที่เขากำลังทำ ให้มีความเข้มแข็ง มากยิ่งขึ้น บางเรื่อง อาจไม่มีใครทำอะไรอยู่เลย เช่น เรื่องเหล้า แม้จะมี ชมรมเลิกเหล้า และ มีคนสนใจ เรื่องนี้ แต่ยังไม่มีใคร ทำจริงจัง เราจึงต้องเข้าไป ตั้งวงคุย ชวนคนนั้น คนนี้ ไปเปิดประชุม เพื่อที่จะหา แนวทางว่า ควรทำอย่างไร เพื่อ ให้คนไทย กินเหล้าน้อยลง เพื่อลด ความสูญเสีย จากการ เจ็บป่วย และ อุบัติเหตุ จากการดื่มเหล้า บางเรื่อง เป็นเรื่องใหม่ เราก็ต้อง ไปมองหา ชวนนักวิชาการ จากองค์กร ต่างๆ มาคุย เรามี ๒ ส่วน คือ ในเชิงรับ โดยเรา เชื่อว่า มีคนดี โครงการดีๆ มีกิจกรรม ที่หลายคน คิดขึ้น แต่ขาดเรื่องทุน และเครือข่าย เราก็สนับสนุนไป เราจะมี คณะกรรมการ กลั่นกรอง พิจารณาอยู่ จึงไม่ใข่ทุกโครงการ ที่ขอมาแล้ว จะได้หมด อีกส่วน คือ โครงการ เชิงรุก โดยทีมงาน ส.ส.ส. ร่วมมือกับ ภาคีต่างๆ เพื่อผลักดัน ให้แต่ละยุทธศาสตร์ เป็นจริง ขึ้นมา

เมื่อให้ทุนไป แล้ว ก็มีการติดตามดู ควบคู่ตลอดเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ การใช้เงิน ด้วยความ โปร่งใส ถูกต้อง ตามกลไก ที่เราจัดระบบขึ้นมา

หลายโครงการทั้งที่ทำไปแล้วและกำลังทำอยู่
มีโครงการเด่นๆ ที่ ส.ส.ส.หนุนไปแล้วหลายเรื่อง เช่น บุหรี่ เหล้า และอุบัติเหตุ สำหรับ เรื่องหลัก ที่มีเจ้าภาพ อยู่แล้ว เราจะเข้าไปสนับสนุน ให้เขาเข้มแข็งยิ่งขึ้น แต่เรื่องเหล้า ยังไม่มี เจ้าภาพ ชัดเจน เราก็พยายาม ระดมความคิดกัน เพื่อที่จะให้เกิดเจ้าภาพขึ้นมา เจ้าภาพในที่นี้ หมายถึงคน ที่จะมา เป็นหลัก ในการทำงาน เพราะ ว่า ส.ส.ส. ไม่ใช่ตัวพระเอก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องย่อยๆ ที่ทำอยู่ เช่น ทำอย่างไร ให้แม่คนไทย เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มากขึ้น เพราะมีความสำคัญมาก เป็นพื้นฐาน การพัฒนา สถาบันครอบครัว ทำอย่างไร ให้เด็กไทย กินขนมหวานน้อยลง ให้เกิด ความปลอดภัย ในเด็ก ให้เมือง หรือ จังหวัดน่าอยู่ ให้โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่ สร้างเสริม สุขภาพ เด็กไม่เครียด นี่คือตัวอย่าง โครงการที่ทำอยู่

ชีวิตส่วนตัว
มีงานเยอะต้องทำงานตลอด ๘-๑๐ ช.ม.จึงไม่มีเวลาว่าง ที่จะเป็นอิสระ ทำให้เกิด ความเครียด เมื่อทำงาน ไม่ทัน ในความหมายที่ว่า มันน่าจะเสร็จเร็วกว่านี้ ก็ไม่เสร็จ ทั้งที่พยายาม จะหลีกเลี่ยง วันเสาร์และอาทิตย์ แต่ก็มีหลายครั้ง ที่ต้องทำงาน วันหยุดนี้ด้วย จริงๆ แล้ว ส่วนหนึ่ง ตัวงาน ก็ส่งกำลังใจ กลับมาให้เราด้วย เพราะเมื่อเรา มีความสามารถ ร่วมกับภาคี ผลักดัน โครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ขึ้นมา คนทำก็เกิดปีติ กลายเป็น กำลังใจ หล่อเลี้ยง ให้เรามีแรงทำงาน ต่อไปอีก

แม้บางคนสิ้นหวังแต่มุมมองนี้ยังสวยงาม
มีความรู้สึกว่าสังคมไทยยังมีข้อดีมาก อย่างมาทำงานที่ ส.ส.ส. จะเห็นชัดว่า มีภาคีที่มีคน อยากทำ อะไรดีๆ ให้ชุมชน ให้ประเทศชาติ แล้วภาคีเหล่านี้ ก็งอกงามเพิ่มพูนขึ้น ทุกวัน โดยส่วนตัวเอง ไม่ได้รู้สึก หมดหวัง สังคมไทยยังมีความเอื้ออาทรกันมาก เพียงแต่ว่า มันคงไม่ราบรื่น เสมอไป บางที ในสังคม ก็มีความหลากหลาย มีทั้ง ๒ ด้าน ด้านบวก ด้านลบ ตัวเองมองว่า เราน่าจะนำ เอาด้านบวก มาขยาย ให้มากขึ้น เพื่อทำให้ ้ด้านลบน้อยลง

หัวโขนสำคัญไฉน
เป็นธรรมดาในความสำเร็จของงานงานหนึ่ง จะต้องมีทั้งคนที่อยู่ข้างหน้า และข้างหลัง มีทั้งพระเอก นาง เอก รวมทั้งผู้กำกับและคนเขียนบท แต่ละคน อาจมีบทบาทที่ต่างกัน คนที่อยู่ข้างหน้า ก็มีความสำคัญ เพราะเขาต้อง ทำงานหนัก และคนที่อยู่ข้างหลัง ก็ต้องทำงานหนักอีกแบบ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีอยู่หน้า หรือหลัง ก็ทำงานหนักเหมือนกัน และจำเป็น ต้องเดินคู่กันไป ขาดส่วนใด ส่วนหนึ่งไม่ได้ แต่โดยส่วนตัว จะรู้สึก มีความสุข กับการ อยู่เบื้องหลังมากกว่า

รู้ว่ากำลังทำอะไร
สำหรับตัวเองจุดที่เป็นความสำคัญน่าจะเป็น ปีติจากการได้ทำงานมากกว่า คือ ถ้าอยู่ข้างหน้าแล้ว ไม่เกิด ปีติในการทำงาน ก็อาจไม่มีความสุข ตลอดเวลา ที่ทำงานมา ๑๕ ปี สิ่งที่สำคัญคือ มีปีติ ในการทำงาน คือ เราทำแล้วรู้ว่าสิ่งนั้น มีประโยชน์ และ เมื่อเราทำสำเร็จ ก็จะเกิดปีติ ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็ได้เรียนรู้ว่า ทำไมจึง ล้มเหลว ปีติในที่นี้ คือการตระหนักว่า งานที่ทำออกไปแล้ว มีประโยชน์ ต่อผู้อื่น ไม่ใช่ว่า ทำแล้ว ได้กำไรเยอะ

สมญาผู้หญิงเก่ง
ไม่ค่อยชอบคำนี้ คือมีความรู้สึกว่า ทุกคนเก่งทั้งนั้น เพียงแต่อาจเก่งไม่เหมือนกัน บางคนเก่ง เรื่องนี้ บางคน เก่งเรื่องโน้น ไม่คิดว่า จะมีใครที่เก่งกว่าคนอื่น แต่อาจจะเก่ง ในเรื่องที่คนอื่น ไม่เก่ง ที่ไม่ชอบคำนี้ เพราะมันจะกลายเป็นว่า ตั้งใครคนใดคนหนึ่ง เป็นนางเอก หรือ เป็นพระเอกขึ้นมา ยิ่งเราได้พบ ได้ทำงาน ร่วมกับคน มากมาย เราจะพบว่า คนนี้เก่ง ในเรื่องนี้ ยังไม่เคยเจอที่ว่า คนนี้เก่ง ไปเสียทุกเรื่อง และ ยังไม่เจอ คนที่ไม่เก่งสักเรื่อง

ความฝันที่ทำให้เป็นจริงได้
อยากให้ตัวเองมีความสมดุล เพื่อนคนหนึ่งเคยเตือนว่าใช้ร่างกายมากเกินไปหรือเปล่า เช่น ทำงาน จนไม่มีเวลา ออกกำลังกาย ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ถ้าใฝ่ฝันได้ ก็อยากฝัน ให้ตัวเอง มีสุขภาพ ที่แข็งแรง เพื่อที่จะได้ทำงาน ยาวนานเต็มที่ มากยิ่งขึ้น หรือไม่หมดแรงไป ในวันใด วันหนึ่ง แต่ถ้าฝัน ถึงสังคม ก็อยากจะฝัน ว่าทำอย่างไร ให้คนที่มีความคิด อยากจะทำดี ให้สังคม ได้มีการ เชื่อมโยงกัน มากยิ่งขึ้น บางคนเป็นคนดี พยายามทำอะไรที่ดี แต่โอกาส ที่จะได้ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน หรือเป็น กัลยาณมิตรกัน มีค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้น ถ้าเขา มีความเข้มแข็ง สามารถยืนหยัด ด้วยตนเองได้ ก็แล้วไป แต่การเชื่อมโยง จะเหมือน การร้อยพลัง เข้ามารวมกัน ก็ดีใจว่า มีการจัดตั้งองค์กร ส.ส.ส. เพื่อเป็น กลไก ในการเชื่อมคน หรือองค์กร ที่ตั้งใจจะทำ เรื่องดีๆ ให้แก่สังคม เข้าด้วยกัน และถ้าตรงนี้ มีพลัง มากพอ ก็จะทำให้สังคมไทย น่าอยู่ยิ่งขึ้น

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)